xs
xsm
sm
md
lg

จังหวะ และทำนอง ชีวิตดนตรี..รถ... ดร.อเล็กซานเดอร์ เพาฟเลอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พริตตี้ถอยไป!... ประธานบริหารเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทยขอลุยเอง นั่นคือภาพที่สร้างความฮือฮา จากการวาดลวดลายจังหวะและทำนองบนเปียโน ประชันกับนักดนตรีมืออาชีพ “โก้ Mr.Saxman” ประกอบการพรีเซนต์ผลิตภัณฑ์ของค่ายรถยนต์ตราดาว ในการเปิดบูทบางกอกฯ มอเตอร์โชว์ 202 ที่ผ่านมา แต่เรื่องราวชีวิตดนตรีของ “ดร.อเล็กซานเดอร์ เพาฟเลอร์” ไม่ใช่มีอยู่เพียงแค่ 15 นาทีนั้นไม่…

“ดนตรีสามารถเข้ากันได้ดีกับศาสตร์ต่างๆ เราสามารถใช้ดนตรีให้เกิดความรู้สึก อารมณ์ และมีสปิริตสูง ฉะนั้นดนตรีจึงเข้ากันได้ดีกับงานอีเว้นต์ต่างๆ ดังเช่นในงานมอเตอร์โชว์ที่เราเพิ่งแสดงไป และในฐานะนักดนตรี เราแค่ต้องการทำนองเพลงที่ใช่ และนักดนตรีคู่หูที่ใช่เช่นกัน อาทิ คุณโก้ Mr. Saxman ผู้ซึ่งเต็มไปด้วยความสามารถและเป็นนักดนตรีคนพิเศษของผม”

นั่นเป็นมุมมองต่อดนตรีของ “ดร.อเล็กซานเดอร์ เพาฟเลอร์” ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด และยังได้อธิบายว่า ในวันเปิดงานเมอร์เซเดส-เบนซ์ต้องการมอบความบันเทิงสนุกสนานให้ผู้ชมแบบเป็นกันเอง พร้อมร่วมสัมผัสกับยนตรกรรมเมอร์เซเดส-เบนซ์ และพบกับนักออกแบบภายนอก Mr. Robert Lesnik ที่จะสร้างสรรค์ผลงานโดยสเก็ตภาพรถ ขณะบรรเลงเพลงไปพร้อมกัน

“ดนตรี ศิลปะ และแด๊นเซอร์ จะผสมผสานกันอย่างลงตัวสมบูรณ์แบบ เสมือนดั่งความงดงามพริ้วไหวในลายเส้นรอบตัวรถ และความเคลื่อนไหวอย่างมีพลัง ของยานยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์”
แน่นอนการเข้าใจและเข้าถึงอารมณ์ของดนตรี และถ่ายทอดออกมาได้อย่างกลมกลื่นเหมาะสมดังกล่าว ดร.เพาฟเลอร์” ย่อมไม่ใช่แค่ “ผู้เล่นดนตรีได้” เท่านั้น...

“ผมเริ่มเล่นเปียโนตั้งแต่อายุ 11 ขวบ หลังจากที่ได้ฟังคุณแม่เล่นดนตรีคลาสสิกให้ฟังบ่อยๆ เช่นเพลงของชูเบิร์ต (Schubert) และเบโทเฟ่น (Beethoven) ซึ่งคุณแม่ผมท่านเป็นนักเปียโนเพลงคลาสสิกตัวยงเหมือนกัน” นั่นคือจุดเริ่มบนเส้นทางชีวิตดนตรีของประธานบริหารค่ายรถหรูรายใหญ่ ผู้ซึ่งมีบุคลิกท่าทางภายนอก ยังกับอาจารย์มหาวิทยาลัยมากกว่า

“อันที่จริงผมเริ่มต้นด้วยการเป่าฟรุต (Flute) ก่อน ต่อมาเปลี่ยนมาเล่นเปียโน ด้วยได้รับแรงบันดาลใจจากคุณแม่โดยตรง ประกอบกับเปียโนเป็นเครื่องดนตรีทั่วไปชิ้นแรกๆ ที่นักดนตรีมักเริ่มใช้ฝึกระดับเบสิก สำหรับผมแล้วเครื่องดนตรีชิ้นนี้ จะให้ ‘จังหวะ’ (rythm) จากมือซ้าย พร้อมกับให้ท่วง ‘ทำนอง’ เพลง (melody) จากมือขวา”

แต่นั่นไม่ใช่เครื่องดนตรีที่ดร.เพาฟเลอร์เล่น เพราะในตอนวัยรุ่นขณะเป็นลูกเสือ เขาได้เล่นอะคูสติคกีตาร์ และต่อมาเมื่ออายุ 16 ปีก็เริ่มเป่าคลาริเน๊ต (clarinet) แต่ความรู้สึกเปียโนหรือคีย์บอร์ดยังเป็นสิ่งที่ชอบมากกว่า จนภายหลังจากเข้าเรียนมหาวิทยาลัย และเมื่อจบมาทำงาน ทำให้เขาไม่ได้ฝึกเปียโนนานกว่า 25 ปี

“เมื่อปี 2000 ที่กรุงโตเกียว วันหนึ่งที่ป้ายรถเมล์ ผมบังเอิญเจอโฆษณาสอนเปียโน และมีที่อยู่ของอาจารย์ Ken Sakurai นั่นเป็นจุดเริ่มและอาจารย์เป็นผู้จูงใจให้ผมกลับมาเล่นเปียโนอีกครั้ง”

จากวันนั้นดร.เพาฟเลอร์ก็ได้กลับมาใกล้ชิดกับเสียงดนตรีและเปียโนเช่นเดิม และเมื่อย้ายมาอยู่เมืองไทย ก็มักไปชมการแสดงเปียโนของคุณเดวิด เป็นประจำทุกวันอาทิตย์ที่ห้อง ‘living room’ ที่โรงแรมเชอราตันเช่นกัน และไม่เพียงฟังแต่ยังร่วมเล่นดนตรีกับ Jazz Club ที่ห้อง living room โรงแรมเชอราตันเป็นประจำ และที่ “Three Sixty lounge” โรงแรมฮิลตัน มิลลิเนียม และตอนนี้ยังเล่นขลุ่ยที่เป็นเครื่องดนตรีไทยเพิ่ม นอกจากเปียโนและแซกโซโฟนอีกด้วย

“ผมชอบที่จะได้เรียนรู้กับระดับมืออาชีพทั้งหลาย ดังนั้นผมจึงรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมาก ที่ได้รับเชิญจากคุณโก้ให้ร่วมเล่นดนตรีด้วยกัน ...ซึ่งทำให้รู้สึกสนุกและยังเป็นแรงจูงใจที่จะฝึกฝนต่อไป”

ดร.เพาฟเลอร์ยังให้เหตุผลว่า... “มนุษย์เราทุกคนต้องการมีวิถีชีวิตที่พัฒนาขึ้น ด้วยประสบการณ์ใหม่ๆที่ผ่านเข้ามา ผมชอบที่จะหาประสบการณ์ใหม่ๆ และสนุกไปกับมัน ไม่ว่าจะเป็น บทเพลงต่างๆ แฟชั่น ภาพวาด คอนเสิร์ต F&B, R&B, เพลงคลาสสิก เพลงแจ๊ส รวมถึงการได้รู้จักและสนทนากับเพื่อนกลุ่มใหม่ๆ ซึ่งอาจให้เราได้ไอเดียสร้างสรรค์ใหม่ๆ ไปด้วย”

“การอ่านหนังสือ เล่นกีฬาที่เราชอบ หรือการได้สัมผัสความงดงาม และซาบซึ้งในธรรมชาติ ทำให้เราผ่อนคลายขึ้น เกิดความเงียบสงบในจิตใจ ตรงกับบทเพลงล่าสุดที่ผมเพิ่งแต่งเสร็จ มีชื่อว่า ‘All that is left - is the wind in the pines’ (สิ่งสุดท้ายที่เหลือไว้ - เป็นเพียงสายลมพัดผ่านในต้นสน) ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากกวีชาวญี่ปุ่นชื่อ จุน ทากะมิ ให้ลองนึกถึงมโนภาพของหญิงและชายคู่หนึ่ง ที่สนทนากันด้วยภาษาดนตรี ในตอนสุดท้ายจบด้วยเพลงดังกล่าว”

ฟังดูอาจจะออกแนวโรแมนติกไปบ้าง สำหรับระดับผู้บริหารระดับสูงบริษัทรถยนต์ แต่สำหรับดร.เพาฟเลอร์ที่ใช้ชีวิตยาวนานถึง 16 ปีในญี่ปุ่น ถือว่านานพอที่ได้รู้จักกับคนญี่ปุ่นมากมาย ทำให้คล้อยตามแนวคิด “nutsukashii” หรือการหวนคิดถึงบ้านแบบญี่ปุ่นพอสมควร

เมื่อถามถึงแบรนด์เมอร์เซเดส-เบนซ์ ดร.เพาฟเลอร์บอกว่า... “เมอร์เซเดส-เบนซ์ไม่ใช่เป็นเพียงแค่รถยนต์เท่านั้น...แต่เป็นไลฟ์สไตล์ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายในชีวิตประจำวันของเรา และนี่เป็นสิ่งที่ผมรู้สึกดีที่ได้ทำงานให้กับแบรนด์นี้ และหวังว่าความลงตัวอันหลากหลายนี้ จะสามารถชนะใจคนไทย และผมมีความสุขในประเทศไทย ดินแดนที่เปี่ยมไปด้วยดนตรี ที่ซึ่งเราสามารถหาสมดุลในชีวิต ได้ด้วยการสร้างสรรค์งานครีเอทีฟใหม่ๆ ตามแนวทางของอริสโตเติล”

ก่อนจะนิยามให้เห็นภาพชัดแบบไทยๆ ระหว่างดนตรีและเมอร์เซเดส-เบนซ์ปิดท้ายว่า...

“เมอร์เซเดส-เบนซ์และดนตรีเปรียบเสมือนคู่ ‘พริกกับเกลือ’ ซึ่งเป็นเครื่องจิ้มที่ทำให้เกิดความอร่อยในรสชาติแก่ผู้บริโภค เป็นคู่ผสมที่ลงตัว ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้”




กำลังโหลดความคิดเห็น