xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องนี้ถึงครูอังคณาแน่! วลีเด็ด...เด็กเกรียน เหน็บถึงนายกฯ ปู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เด็กชายโต๊ด เจ้าของวลีเด็ด
ช่วง1-2 วันที่ผ่านมาบรรดาคนใช้อินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะชาว facebook 10 ล้านกว่าคน พอเปิดหน้าแรกคงอดแปลกใจและตั้งคำถามว่า ประโยคนี้มันคืออะไร? เมื่อเจอวลีแปลกๆ “เรื่องนี้ถึงครูอังคณาแน่!” ซึ่งกลายเป็นวลีฮอตฮิต โด่งดังชั่วข้ามคืนจนถูกส่งต่อและแพร่กระจายอย่างรวดเร็วบนโลกออนไลน์ รวมถึงโซเชียลเน็ตเวิร์กอื่นๆ อย่าง twitter และ youtube
 

สงสัยไหมว่า ทำไมแค่คำพูดไม่กี่ประโยคของเด็กเกรียนคนหนึ่งที่ออกมาระบายความคับแค้นใจผ่านสื่อสังคมออนไลน์จึงกลายเป็นประเด็นทางสังคมได้ในชั่วเวลาเพียงแค่ข้ามคืน หลายคนมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ แต่ก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่สนุก และให้ความบันเทิง คลิปวิดีโอดังกล่าวจึงส่งต่อๆ กันไป จนกลายเป็นกระแสทางสังคมและเรื่องถูกกล่าวถึงมากที่สุด

เด็กเกรียนอยากระบาย
เด็กชายในคลิปวิดีโอดัง ซึ่งต่อมาทราบว่าชื่อ “เด็กชายพงศธร” หรือ “โต๊ด” ถูกเพื่อนในกลุ่มไล่ออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่ม ม.1/9 ในเว็บไซต์ facebook เนื่องจากสมาชิกของกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะโพสต์ปรึกษาหารือเรื่องงาน บางครั้งก็มีอาจารย์เข้ามาโพสเรื่องวิชาที่จะออกสอบ แต่เด็กชายโต๊ดจะโพสต์เพียงคำว่า จุด...จุด...จุด... เป็นร้อยๆ จุด จนดันให้ข้อความที่เพื่อนๆ โพสต์บนหน้า wall หายไป อาการเหมือนอยากป่วนเพื่อนๆ จนเพื่อนในกลุ่มลงมติให้ลบชื่อเด็กชายโต๊ดออกจากลุ่ม

หลังจากนั้นเด็กชายโต๊ดจึงเกิดอาหารน้อยใจ ถ่ายคลิปตนเองลงบนเว็บไซต์ youtube จนกลายเป็นกระแสดัง
 

เนื้อความในคลิปวิดีโอชื่อดัง “เรื่องนี้ถึงครูอังคณาแน่” ถูกโพสต์โดยสมาชิกชื่อ Chintakoza ผ่านเว็บไซต์ youtube เป็นการระบายความแค้นใจออกมาด้วยน้ำเสียง และคำพูดเชิงตัดพ้อเพื่อนว่า “ไอ้บอล...ทำไมต้องไล่กูออกด้วย เพราะเรื่องกะโหลกกะลาแค่นี้เหรอ” ต่อมาเด็กชายใช้วลีเด็ดด้วยสีหน้าขึงขังและน้ำเสียงจริงจัง ประกาศกร้าวว่า “เรื่องนี้ถึงครูอังคณาแน่!” เป็นที่มาของวลีฮิตดังกล่าว ซึ่งหลังจากเผยแพร่เพียงแค่ 2 วันก็มียอดคนคลิกเข้าไปดูในเว็บไซต์ยูทิวบ์เกือบ 7 แสนวิวแล้ว
 
ต่อมาเด็กชายบอลซึ่งเป็นหัวหน้าห้อง และเป็นคู่กรณีของเด็กชายโต๊ด ออกมาชี้แจงบนเว็บไซต์ facebook ผ่านโทรศัพท์มือถือ มีข้อความว่า “ผมบอลนะครับ เรื่องมันมีอยู่ว่าผมเป็นหัวหน้าห้อง 1/9 ในกลุ่มมีอยู่ 28 คน แล้วพงศธรเนี่ยเวลาเขาคุยงานกันก็ไม่ออกความเห็น แต่พอเวลาเขามีงานกัน พงศธรก็จะจุดๆๆ สักทีละร้อยจุดได้ เพื่ออะไรไม่รู้ ก็รู้อยู่ว่าในเฟซตันแค่ 99 ข้อความ แล้วเขาเกินร้อยทีนี้มันก็ค้างสิครับ งานก็หายแล้ว คนในกลุ่มเลยรวมความเห็นกัน แล้วบอกให้ผมที่เป็นแอดมินไล่ออกจากกลุ่ม …เรื่องมันก็เป็นอย่างนี้แหละครับ ทุกคนก็ดูกันเองว่าใครถูกใครผิด”
  

ตัวละครหลักๆ ในเรื่องล้วนดังในชั่วข้ามคืนไม่แพ้กัน เริ่มจาก “เด็กชายพงศธร” (โต๊ด) คือเจ้าของวลีเด็ด “เรื่องนี้ถึงครูอังคณาแน่!” ตัวละครต่อมา “ไอ้บอล” คือหัวหน้าห้อง ม.1/9 ซึ่งเป็นคนที่เด็กชายโต๊ดเข้าใจว่าเป็นคนปลดตนออกจากกลุ่ม และ “ครูอังคณา” ซึ่งเป็นชื่อของครูประจำชั้นห้อง 1/9 ก็กลายเป็นบุคคลที่มีคนอยากรู้จักมากที่สุด บ้างก็ตามหาว่าเธอเป็นใคร มีตัวตนอยู่จริงหรือเปล่า แม้กระทั่งชื่อของเธอยังถูกนำไปตั้งเป็นแฟนเพจ และมีคนแต่งเพลง “ครูอังคณา” ตามมาอีกหลายเวอร์ชัน ซึ่งก็เป็นกระแสดังในเว็บไซต์ยูทูบอยู่ในขณะนี้

ฟ้อง “ครูอังคณา” ฮิตกระจายไปทั่วเมือง
หลายคนอาจจะมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องไร้สาระ บางกลุ่มก็มองว่าเป็นเรื่องขำขัน และนำวลีเด็ดไปใช้เป็นคำพูดเฮฮาในกลุ่มเพื่อนฝูงอย่างสนุกปาก ยกตัวอย่างเช่น
 

“ใครที่ชอบทะเลาะกัน เรื่องนี้ถึงครูอังคณาแน่”

“ใครไม่กด like เรื่องนี้ถึงครูอังคณาแน่”
 
“สงกรานต์นี้ใครไม่ไป ฟ้องครูอังคณาแน่”
  

ณ ตอนนี้ไม่ว่าอะไรๆ ก็เกี่ยวข้องกับครูอังคณาแทบทั้งนั้น แถมยังแพร่กระจายไปถึงแวดวงการเมือง อย่างกรณีภาพของนายกยิ่งลักษณ์ ที่กำลังกดโทรศัพท์อยู่ในงานพระราชพิธี ซึ่งถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในอินเทอร์เน็ตว่าไม่เหมาะสม ทั้งนี้นายพานทองแท้ ก็ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กแจงภาพนายกฯ กดโทรศัพท์ว่าแค่ปิดเครื่องก่อนเริ่มงานพระราชพิธี พร้อมเหน็บว่า “..หรือว่าจะให้เรื่องนี้ถึงครูอังคณาครับ”
  

“เหตุเกิดจากในงานพระราชพิธีเพลิงพระศพเมื่อวานนี้ครับ เป็นภาพท่านนายกฯ ที่กำลังถือโทรศัพท์อยู่ในงาน ผมเองเห็นภาพครั้งแรกยังแอบสงสัยเลยโทร.ไปสอบถามเรื่องราวทันที ได้คำตอบว่าท่านนายกกำลังปิดโทรศัพท์ก่อนเริ่มงานพิธีครับ ตลกดีนะครับ คนเราช่างว่างจับผิดกันจัง แต่ทุกคนก็มีสิทธิ์คิดได้ เพราะภาพตอนแรกที่ออกมามีแค่ภาพท่านนายกถือโทรศัพท์ ไม่ได้มีภาพในมุมกว้างออกมาด้วย จึงง่ายต่อการเข้าใจผิดกัน หรือว่าจะให้เรื่องนี้ถึงครูอังคณาครับ” ข้อความจาก facebook/Oak Panthongtae Shinawatra

“ครูอังคณา” ...ไขข้อข้องใจ

กระแส “เด็กชายโต๊ด” กับวลีเด็ด “เรื่องนี้ถึงครูอังคณาแน่” กลายเป็นกระแสฮิตข้ามคืนบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก ถึงขนาดมีคนตั้ง facebook fanpage “เรื่อง นี้ ถึง ครู อังคณา แน่” ซึ่งมียอดคนกด Like กว่า 2 หมื่นแล้ว นอกจากนั้นยังมีเพจของครูอังคณาตัวปลอมออกมาอย่างแพร่หลาย แถมชื่อครูอังคณายังเป็นแรงบันดาลใจให้แก่นักแต่งเพลงบนโลกออนไลน์สามารถแต่งเพลงออกมาได้ภายในชั่วข้ามคืนอย่างคลิปเพลง “ครูอังคณาครับ” ซึ่งใช้เรื่องราวของเด็กชายโต๊ดเล่าเรื่อง ประกอบกับวลีเด็ด “เรื่องนี้ถึงครูอังคณาแน่” มาแต่งเป็นเพลงที่มีเนื้อหาและท่วงทำนองน่ารักในจังหวะฟังสบายๆ ความยาว 3:42 นาที
  

หลายคนอยากรู้ว่าครูอังคณาเป็นใคร มีตัวตนจริงหรือเปล่า ซึ่งเธอถือว่าเป็นตัวละครสำคัญที่จะมาไขความกระจ่างในประเด็นต่างๆ ที่คนสงสัยได้
 

ครูอังคณากล่าวถึงประเด็นดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า “เรื่องที่เป็นประเด็นนี้เกิดขึ้นประมาณช่วงเดือนมกราคม พอครูทราบเรื่องก็เรียกสมาชิกในห้องมาเคลียร์กันว่าไม่ให้มีปัญหาแบบนี้เวลาเล่นเฟซกัน หลังจากที่เคลียร์กันจบแล้ว ครูก็ให้หัวหน้าห้องลากเด็กชายโต๊ดกลับเข้ามาในกลุ่ม สำหรับคลิปของเด็กชายโต๊ดซึ่งโพสต์ลงเว็บไซต์ยูทิวบ์เมื่อเร็วๆ นี้ ครูก็ยังงว่ามันเกิดอะไรขึ้น ใครเป็นคนโพสต์ เพราะว่าเรื่องนี้จบไปนานแล้ว เด็กชายโต๊ดก็ยืนยันว่าไม่ได้เป็นคนเอาไปลง ตอนนี้ทุกคนในห้องก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกัน
 

การใช้เฟซบุ๊กมีทั้งแง่ดีและแง่เสีย ครูก็จะมีการบอกกับเด็กว่าการเล่นที่ถูกต้องเป็นยังไง สามารถใช้อะไรจากเฟซบุ๊กได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพที่ไม่สมควรเอามาลง ครูจะพูดกับเด็กๆ เสมอว่า หนูพิมพ์อะไรลงไปมันเป็นชื่อเสียงของห้องด้วยนะ เวลาจะพิมพ์อะไรสักอย่างหนึ่ง ชื่อหนูก็ขึ้น ชื่อห้องก็ขึ้น และครูอังคณาจะตั้งกฎในกลุ่มนี้ว่า หนึ่งห้ามใช้คำหยาบ สองห้ามโพสต์ในเชิงชู้สาว และใครที่ไม่มี facebook เล่น ถ้ามีเรื่องด่วน เรื่องสำคัญก็ให้ใช้วิธีโทรศัพท์แจ้งกัน
 

สื่อออนไลน์ถ้าจะใช้ในเชิงสร้างสรรค์ก็เป็นเรื่องที่ดี บางครั้งก็มีให้ส่งงานทางเฟซ หรือมีข่าวอะไรก็จะแจ้งทางเฟซ ก็สามารถรู้กันทั่วถึง คือรู้กฎ กติกา มารยาทในการใช้ ครูก็ต้องสอนเขาค่ะ”
 

แม้ว่านานๆ ครั้ง เธอถึงจะเปิดคอมฯ เพื่อเข้าไปเช็กเว็บไซต์เฟซบุ๊ก เพราะที่บ้านไม่ได้ติดอินเทอร์เน็ต แต่พอเข้าไปแล้วเห็นอะไรไม่เหมาะสมครูอังคณาก็โพสตักเตือนเด็กๆ ทันที “บางทีครูเข้าเฟซเห็นอะไรไม่เหมาะสมก็จะตักเตือนบ้างว่า เดี๋ยวนี้เด็กๆ พูดไม่เพราะเลยนะ เขาจะตอบครับ..ค่ะ แต่นานๆ จะเข้าไปทีค่ะ
 

ล่าสุดก็มีเด็กโทร.มาบอกว่าครูรู้ไหมว่าตอนนี้มีคนสร้างเพจปลอมโดยใช้ชื่อครู ครูก็บอกว่าครูยังไม่ทราบเลย ยังไม่เปิดคอมเลย เด็กก็บอกอีกว่ามีทั้งบอลปลอม โต๊ดปลอมเกิดขึ้นมาเยอะเลยค่ะ บางคนก็บอกว่าครูไปด่าบอล แต่พวกที่เป็นข่าวยังไม่รู้เรื่องอะไรเลย” 
 

ทำไมถึงต้องฟ้องครูอังคณา?

“ไม่ได้เข้าข้างตัวเองนะคะ ครูอังคณาเป็นคนที่ค่อนข้างใจดีมาก ไม่ใช่ครูที่ดุเลยค่ะ ครูคิดว่าที่เขาใช้คำว่าเดี๋ยวฟ้องครูอังคณาแน่ น่าจะหมายถึงว่า เวลามีเรื่องอะไรก็ตามใน 1/9 ครูอังคณาจะบอกเลยว่าในฐานะครูที่ปรึกษา ครูขอรู้จากพวกเรา อย่าให้ครูไปรู้จากคนอื่น ครูจะรู้สึกแย่มากเลยนะ ถ้าเรื่องที่เกิดขึ้นในห้องครูแล้วมีคนอื่นมาบอก ไม่ว่าจะมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นในห้องเด็กๆ เขาก็จะบอกทุกเรื่องน่ะค่ะ ก็เลยคิดว่าน่าจะเป็นประเด็นนี้ ที่เขาพูดว่าถึงครูอังคณาแน่”

สำหรับเรื่องที่เป็นกระแสอยู่ตอนนี้ทั้งเฟซบุ๊กแฟนเพจ ตัวจริง ตัวปลอม ครูอยากจะบอกว่าเป็นเรื่องสนุกของคนอื่น แต่เป็นเรื่องทุกข์ของคุณครู ทุกข์ของเด็กด้วย เพราะเขายังเด็กกันอยู่ คนที่มีความรู้มีความสามารถด้านนี้ก็อยากจะให้เอาไปใช้ในเชิงสร้างสรรค์มากกว่า” ครูอังคณาเปิดใจบนเว็บไซต์ soundcloud.com/peerapon-anutarasoat

วลีเด็ดมาเร็ว...ไปเร็ว
อย่างไรก็ตาม วลีฮิตเหล่านี้ก็คงเป็นกระแสในช่วงสั้นๆ ดังเช่นที่วลีเด็ดๆ ที่ผ่านมา ซึ่งรูปแบบประโยคจะคล้ายคลึงกัน คือเป็นประโยคลอยๆ ขึ้นมา ฟังดูไร้สาระ แต่จะมีคนตั้งคำถามว่ามันคืออะไร? หลังจากนั้นคนก็จะค้นหาที่มาที่ไป และความหมายเพื่อไขความกระจ่าง จนกระทั่งถูกนำมาดัดแปลงกลายเป็นประโยคฮิต กลายเป็นวลีเด็ดที่ถูกส่งต่อกันอย่างแพร่กระจายภายในระยะเวลาอันรวดเร็วยิ่งกว่าเชื้อไวรัส
 

“จนกระทั่งโดนธนูปักที่เข่า” หนึ่งในวลีที่เคยฮิตถึงขนาดมียอดคนกด Like กว่า 3 หมื่น ซึ่งวลีประหลาดๆ นี้ เริ่มฮิตมาจากในกลุ่มคนเล่นเกม The Elder Scrolls V:Skyrim ซึ่งมีตัวละครที่เป็นเหล่าทหารยามประจำเมืองต่างๆ ที่มักจะชอบพูดประโยค ที่ว่า "I used to be an adventurer like you, then I took an arrow in the knee" แปลเป็นไทยประมาณว่า “เมื่อก่อนฉันก็เคยเป็นนักผจญภัยอย่างคุณ จนกระทั่งโดนธนูปักที่เข่า เลยต้องมาเป็นยาม”

“อาจจะมีพลังงาน หรือวิญญาณอยู่ก็เป็นได้” อันนี้เป็นวลีแนวๆ ล้อเลียนคำพูดของพิธีกรรายการ “คนอวดผี” ซึ่งจะมีพิธีกรที่มีความสามารถพิเศษด้านจิตสัมผัส “ริว จิตสัมผัส” และ “เจน ญาณทิพย์” ซึ่งจะชอบพูดด้วยน้ำเสียงอันเป็นเอกลักษณ์เมื่อแขกรับเชิญเจอเหตุการณ์แปลกๆ ว่า “อาจจะมีพลังงาน หรือวิญญาณอยู่ก็เป็นได้” ก็เลยกลายเป็นประโยคที่เล่นใน Facebook แล้วก็แพร่กระจายมาเรื่อยๆ ซึ่งเพจ “อาจจะมีพลังงานหรือวิญญาณอยู่ก็เป็นได้” ก็กลายเป็นเพจยอดนิยมติดอันดับ มีคนกด Like พุ่งไปถึง 5 หมื่น
















นายกปู กดโทรศัพท์แบบนี้ ฟ้องครูอังคณาแน่!
เด็กนักเรียนห้อง ม.1/9
หน้าเพจของครูอังคณาตัวปลอม
เด็กชายบอลออกมาชี้แจงถึงกรณี เรื่องนี้ถึงครูอังคณาแน่

การ์ตูนล้อเลียนจาก 9GAG Thai
ครูอังคณา ดังชั่วข้ามคืน
กำลังโหลดความคิดเห็น