xs
xsm
sm
md
lg

นักขุดไดโนเสาร์ ผู้แสวงหาองค์ความรู้จากผืนพิภพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ก่อนจะมีมนุษย์ ก่อนจะมีโลกอย่างทุกวันนี้ ย้อนกลับไปในสายทางวิวัฒนาการของชีวิตบนโลก ยุคสมัยหนึ่งไดโนเสาร์ได้ครองพื้นที่ของโลกมาอย่างยาวนาน นานขนาดที่ว่ายุคสมัยของมนุษย์เป็นเพียงแค่เสี้ยวเล็กจิ๋วของยุคไดโนเสาร์ หากทว่าบนพื้นปูนคอนกรีตเหมือนอย่างที่เราเหยียบย้ำกันอยู่ทุกวันนี้ มันคงยากที่จะจินตนาการถึงการมีอยู่ของมัน

แต่เขาคือคนหนึ่งที่เดินดุ่มเข้าไปในพื้นที่ซึ่งมีเบาะแส พื้นที่ซึ่งมีฟอสซิล เพื่อบรรจุความรู้เข้าไปยังช่วงเวลาดำมืดของพื้นที่ประวัติศาสตร์โบราณในมหายุคมีโซโซอิกของประเทศนี้ (145-251ล้านปีก่อน) เพื่อบอกให้รู้ว่าในภาคอีสานของประเทศไทยนั้นเป็นแผ่นดินโบราณที่เคยมีไดโนเสาร์มากมายอาศัยอยู่ ไดโนเสาร์พันธุ์ที่ยังไม่เคยได้รับการค้นพบมาก่อน

และเป็นหนทางอันยาวไกลจากนักธรณีคนหนึ่งกว่าพิสูจน์ วิจัยเพื่อให้ฟอสซิลที่ค้นพบเป็นไดโนเสาร์ชนิดใหม่ของโลก ดร.วราวุธ สุธีธร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยาคือนักธรณีคนนั้นที่ใช้เวลากว่า30ปีเพื่อพิสูจน์ในสิ่งเหล่านั้น

มีอะไรเกิดขึ้นในช่วงเวลากว่า 30 ปีนั้นบ้าง นับจากก้าวแรกที่ศาสตร์ของบรรพชีวินเข้ามาในประเทศ จนสามารถค้นพบไดโนเสาร์ชนิดใหม่ของโลกได้ถึง 5 ชนิด และมีพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับไดโนเสาร์ตั้งขึ้นในประเทศไทยได้สำเร็จ ไม่ใช่เรื่องง่ายแน่ๆ สำหรับนักบรรพชีวินในเมืองไทยที่ตอนนี้ก็ยังมีบุคลากรด้านนี้อยู่ไม่ถึง 20 คน

ก้าวแรกของการขุดซากดึกดำบรรพ

ซากดึกดำบรรพแท้จริงแล้วถูกค้นพบมานานมากแล้วในอดีต อาจถูกค้นพบโดยชาวบ้านตามพื้นที่ ซึ่งมาถึงตอนนี้ภาคอีสานคือพื้นที่ที่มีการค้นพบกันมากที่สุด ด้วยลักษณะทางธรณีในอดีตที่เหมาะสมกับการมีอยู่ของไดโนเสาร์ซึ่งการพบฟอสซิลแล้วเก็บตัวอย่างเพื่อศึกษาชั้นหินก็เป็นงานปกติของนักธรณีทุกคน ไม่เว้นแม้แต่ตัวดร.วราวุธเองด้วย ที่ในตอนนั้นเป็นนักธรณีของกร ทรัพยากรธรณี

ครั้งแรกที่ถือเป็นการค้นพบครั้งใหญ่ และเป็นจุดเริ่มต้นของบรรพชีวินในเมืองไทยก็คือการค้นพบซากดึกดำบรรพส่วนปลายหางของไดโนเสาร์กินพืชซอโรพอดขนาดยาวกวา 3 ฟุตที่จังหวัดขอนแก่นเมื่อปีพ.ศ.2519 ขณะที่นักธรณีกำลังสำรวจแร่ยูเรเนียม

“ผมก็เก็บพวกซากดึกดำบรรพพวกนี้ตามหน้าที่ ก็เห็นว่ามันมีไม่เยอะนัก แต่พอนักวิจัยจากฝรั่งเศสที่เขาทำวิจัยเกี่ยวกับสัตว์มีกระดูกสันหลังเข้ามาพบหลักฐานตรงนี้ เขาก็ว่าน่าสนใจ จากนั้นพอผมพาเขาไปสำรวจ ปรากฏว่าจากเดิมที่ผมเห็นว่ามีไม่เท่าไหร่ เขาเข้ามาเห็นเยอะเลย”ดร.วราวุธเล่าย้อนถึงช่วงแรกที่ตนเองยังไม่มีความรู้ด้านบรรพชีวิน

ทว่าแรกเริ่มของสำรวจนั้นนักบรรพชีวินชาวฝรั่งเศสที่เข้าหาก็เอาแต่สำรวจเดินดูอยู่นาน2-3ปี จนดร.วราวุธในตอนนั้นนึกสงสัยว่าเมื่อไหร่จะเริ่มสักที

“ผมก็ถามเขาทำไมไม่ขุดที เขาก็ถามกลับมาว่าแล้วจะให้ขุดที่ไหนล่ะ? แล้วจากนั้นเขาก็บอกให้ใจเย็นๆ ไม่นานเราก็พบ จุดที่กระดูกเรียงกันและต่อเนื่องไป และนั่นคือวิธีการประเมินแหล่งขุดที่น่าสนใจ”

และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่เต็มไปด้วยคำถามในศาสตร์ของบรรพชีวินวิทยา และเขาใช้เวลาในช่วงแรกไปกับการเรียนรู้กระบวนการทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ร่วมทีมวิจัยขุดหาในประเทศ จนเมื่อโอกาสเหมาะสมเขาก็ถูกส่งไปเรียนที่ฝรั่งเศส นับจากที่เริ่มขุดสำรวจในปี 2523 จนเขากลับจากฝรั่งเศสปี2530 ทำความสะอาดตัวอย่าง พร้อมวิจัยและตีพิมพ์ผลการวิจัยออกมาจาก เสร็จสิ้นทำให้ซากดึกดำบรรพเป็นการค้นพบไดโนเสาร์ชนิดใหม่คือ ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน ใช้เวลาทั้งหมดสิบปีพอดีจึงจะเห็นผล

“นักบรรพชีวินที่ดี ต้องมีความอดทน มันเป็นงานที่กินระยะเวลายาวนานกว่าจะเห็นผล และต้องอึดเวลาลงพื้นที่ ที่สำคัญอีกอย่างคือการรู้จักแสวงหาความรู้ใหม่อยู่ตลอดเวลา”

เกียรติของการแสวงหา

กระบวนการค้นหาไดโนเสาร์เพื่อค้นหาองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์โบราณ เริ่มตั้งแต่การออกสำรวจ กำหนดพื้นที่โดยต้องมีองค์ความรู้ว่าสภาพทางธรณีวิทยาแบบใดที่จะมีโอกาสค้นพบหลักฐานหรือซากดึกดำบรรพได้บ้าง

“ในช่วง10ปีแรก หลังจากเรารู้แล้วว่าแหล่งมันอยู่ที่ภาคอีสาน เราก็ลงพื้นที่สอบถามชาวบ้านในพื้นที่ว่ามีการพบซากพวกนี้บ้างมั้ย ซึ่งปรากฏว่ามันมีเยอะมาก ดังนั้นเมื่อมีหลายพื้นที่ จุดสำคัญต่อมาคือการประเมินพื้นที่ว่าจะขุดตรงไหน ซึ่งช่วงแรกเราก็ยังมีพลาด เจอหลักฐานแล้วขุดลงไปแค่อาทิตย์เดียวก็ไม่เจออะไร ตอนนั้นก็มีท้อบ้างเพราะหลายหลุมเหมือนกัน”

เขาต้องพื้นที่สืบเสาะหาแหล่งพบเจอกระดูกกลายเป็นหินหรือซากดึกดำบรรพ ส่วนหนึ่งก็ต้องประสานงานสื่อสารกับชาวบ้านเพื่อให้รู้ว่า เขาไม่ได้ลงมาเอาของในพื้นที่ไป หากนำไปทำวิจัยไม่ใช่นำไปขายหรือนำไปเป็นของตัวเอง

“มันคือจรรญาบรรณของนักขุดซากดึกดำบรรพทั่วโลกที่จะไม่ซื้อขายฟอสซิล”

แน่นอนว่าหากพูดฟอสซิลมันก็ถือว่าเป็นของโบราณ เป็นสิ่งหายาก เศรษฐีหลายคนอาจจะต้องมีไว้เพื่อสนองกิเลสการเป็นเจ้าของในบางส่วน หากแต่คุณค่าของการมีอยู่ของฟอสซิลสำหรับนักบรรพชีวินแล้วก็คือการเอามาวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ และเก็บรักษามันไว้ในที่ที่เหมาะสมอย่างพิพิธภัณฑ์โดยมีข้อกำหนดว่า นักวิทยาศาสตร์ทุกคนสามารถเข้าถึงเพื่อศึกษาได้

“ดังนั้นในอเมริกาจะมีช่องให้บรรดาเศรษฐีเป็นเจ้าของสิ่งเหล่านี้โดยเป็นก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้น ซึ่งพิพิธภัณฑ์จะเป็นของมูลนิธิที่เป็นนิติบุคคล ซึ่งซากดึกดำบรรพเหล่านี้ก็ถือเป็นสมบัติของสาธารณะอยู่”

หลังจากขั้นตอนของการพบพื้นที่น่าสนใจ ก็มาถึงขั้นตอนของการขุดค้นลงไซส์ขุดเพื่อหาหลักฐาน แล้วนำมาทำความสะอาด นำมาวิจัยเขียนข้อเปลี่ยนเทียบความแตกต่าง ความสมบูรณ์ของตัวอย่างที่เจอ ซึ่งในขั้นตอนเหล่านี้ก็จำเป็นต้องประสานงานกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศหรือในสาขาอื่น

“ในการขุดเราอาจต้องประสานกับนักธรณีที่เชี่ยวชาญด้านการขุดเป็นพิเศษ ขณะที่ในการเปรียบเทียบตัวอย่างเราอาจต้องประสานงานกับผู้เชี่ยวชาญในตัวอย่างแต่ละชนิดเพื่อหาข้อเปรียบเทียบ เพื่อเขียนงานวิจัยออกมา”

มาถึงตรงนี้แล้ว ดูเหมือนงานบรรพชีวินจะไม่ใช่งานที่ง่าย และจากเวลาที่ยาวนานกว่าจะเห็นผล มันก็ไม่ใช่งานที่สบายนัก จนเมื่อถามถึงรายได้ ดร.วราวุธก็ยิ้มพร้อมบอกว่า มีแบบพออยู่ได้อย่างมีเกียรติ มีรายได้จากการเป็นอาจารย์ จากการทำงานวิจัยขอทุนเท่านั้น นี่เองที่อาจทำให้หลายคนไม่เลือกที่จะเดินทางมาเส้นทางสายนี้ แต่ทว่าชีวิตของนักบรรพชีวินก็เป็นชีวิตแห่งการค้นหา สำรวจ และการเดินทางที่หลายอาจทำให้หลายคนแอบอิจฉาอยู่

“ผมก็มีโอกาสไปร่วมขุดกับหลายที่บนโลก ทั้งในฝรั่งเศสที่เรียนไปร่วมวิจัย ที่แคนาดามีไปฝึกงาน ไปดูไซส์งาน ที่จีนมีเยอะมาก หลังๆจีนพบตัวอย่างเยอะมากจนกลายเป็นแหล่งรวมนักบรรพชีวินที่มากที่สุดในโลกเลย และญี่ปุ่นก็เคยไปมา ญี่ปุ่นจะมีตัวอย่างไม่มาก แต่เขาให้ความสำคัญกับองค์ความรู้มาก ทุนเขาหนา ทุ่มงบเทียบกับเราแล้วมากกว่าเป็นร้อยเท่าได้”

จากฝรั่งเศสที่เป็นจุดเริ่มต้น บินไปฝึกงานถึงแคนาดา มาพบเห็นความยิ่งใหญ่ของจีน และมหาอำนาจของญี่ปุ่น เอ็กโปรไดโนเสาร์ที่ญี่ปุ่นใช้เงินทุนในการจัดที่สูงจนแทบจะจินตนาการไม่ออก เมื่อมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ทำให้คิดว่าอาจจะหนทางพอสร้างพิพิธภัณธ์ได้บ้าง

ปลายทางของการขุดค้น

ขั้นตอนสำคัญหนึ่งหลังจากงานวิจัยได้ถูกตีพิมพ์เผยจนเป็นที่ยอมรับแล้ว ก็คือการนำองค์ความรู้ที่ได้นั้นมาสื่อสารไปสู่ประชาชนคนทั่วไป สื่อสารผ่านนิทรรศการอย่างการตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ นอกจากรวมรวบตัวอย่างฟอสซิสที่ขุดหามาได้แล้ว ยังได้ให้ผู้คนมาดูศึกษา

จากขุดค้นจนองค์ความรู้ได้รับการยอมรับ ทว่าการตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นในประเทศนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อมือของนายทุนยินดีจะโยนให้สร้างศูนย์การค้ากว่า200ล้าน มากกว่าจะสร้างพิพิธภัณฑ์เพียง50ล้าน ทำปัจจุบันพิพิธภัณฑ์สิรินธรต้องไปตั้งอยู่ไกลถึงจังหวัดกาฬสิน

“ที่ในกรุงเทพฯ มันแพงมาก และในการสร้างพิพิธภัณฑ์งบมันก็สูงมากอยู่แล้ว เป็นร้อยล้านก็เลยไม่มีทุนที่จะทำในกรุงเทพได้”

หนแห่งแรกที่พิพิธภัณฑ์เกิดขึ้นคือในไซส์ขุดฟอสซิลที่ภูกุ้มข้าวซึ่งเป็นแหล่งขุดใหญ่ สร้างเป็นหลังคาตามจุดที่ขุดค้นพบ ใช้งบประมาณ3-4ล้านบาท ผลปรากฏว่าปีแรกที่เปิด แม้จะตั้งอยู่ไกลก็มีผู้คนเข้าชมกว่า 2 แสนคน บอกได้ว่าไดโนเสาร์เป็นสิ่งที่คนในสังคมสนใจอยู่แล้ว แต่ใครจะลงมาเล่นเท่านั้น

“เราก็ไม่เก็บเงิน แต่ทำเป็นสนุกเยี่ยมชนเพื่อให้รู้ว่ามีคนเข้าชมมากน้อยแค่ไหน มันเป็นผลงานเพื่อจะได้ของบได้”

ต่อมานั้นเองที่พิพิธภัณฑ์ได้เริ่มก่อร่างสร้างรูปขึ้น จากอาคารร้างในปีแรกมาสู่การตกแต่งทั้งหมด มันฟันผ่าอุปสรรคในเชิงนโยบายหลายครั้งจนแล้วเสร็จในงบประมาณ 500 ล้านบาท แต่มันคุ้นทุนแทบจะทันทีเมื่อประเมินกันว่าช่วง3ปีแรกน่าจะได้สัก 5 แสนคน ทว่าเพียงปีแรกเท่านั้นก็มีผู้เข้าชมกว่า 4 แสนคนแล้ว

“มันถือเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ที่เราขุดค้นพากันมาตลอดนะ”ดร.วราวุธเล่าถึงวันที่พิพิธภัณธ์เปิดตัวขึ้น

มาตอนนี้เมื่อมองไปข้างหน้า บรรพชีวินในเมืองเหมือนจะเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น แต่บุคลากรก็ดูจะยังน้อยมากเมื่อเทียบกับงานที่ยังคงมากมายอยู่ในพื้นที่การทำงานที่ดร.วราวุธเอ่ยว่า เป็นงานที่ไม่มีวันจบ

“มันเป็นงานที่ต้องใช้เวลา ระยะเวลายาวนาน งานด้านนี้นอกจากขุดหาแล้วยังต้องดูแลพิพิธภัณฑ์ สื่อสารองค์ความรู้ด้านนี้ ว่าไปความฝันหลายอย่างที่จะทำมันก็สำเร็จแล้ว ทั้งพิพิธภัณฑ์ การค้นพบไดโนเสาร์ แต่สิ่งอยากให้มีต่อไปก็คือคนรุ่นใหม่ที่จะมาสานต่องานตรงนี้”

เรื่อง: อธิเจต มงคลโสฬศ

ภาพ: คมสัน เพ่งพิศ



กำลังโหลดความคิดเห็น