xs
xsm
sm
md
lg

ปรากฏการณ์ “ดาวเคียงเดือน” ความเชื่อของคนเล่นดวง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อเงยหน้ามองฟ้าท่ามกลางความมืดดำของราตรีที่ปกคลุม แล้วได้เห็นดาวสองดวงที่ผุดพราวอยู่บนจันทร์เสี้ยวในรูปหงายของปรากฏการณ์ ‘พระจันทร์ยิ้ม’ หรือ ปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน หากเป็นผู้หลงใหลในความโรแมนติกส์ ปรากฏการณ์นี้ก็คงเป็นภาพสวยติดตราตรึง แต่หากทว่าเป็นผู้มุ่งมั่นมาดหมายจะกระทำการใดๆอยู่แล้วละก็ เมื่อได้เห็นรอยยิ้มดวงกว้างบนผืนฟ้านี้ ไม่จำเป็นต้องศึกษาโหราศาสตร์ ก็คงรู้สึกได้ว่า นี้เป็น ‘ฤกษ์งามยามดี’

ฤกษ์ตามพื้นความหมายแล้ว คือ คราวหรือเวลา ความปลอดภัยหรือความสำเร็จสมประสงค์ อำนวยความเป็นศิริมงคลแก่ผู้ประกอบการนั้น ๆ ด้วยตามเชื่อของคนไทย เมื่อคิดการใหญ่ไม่ว่าสิ่งใด สิ่งหนึ่งจะขาดไม่ได้ก็คือการดูฤกษ์ดูยาม

ไม่ว่าจะเพื่อความสบายใจ มั่นใจ หรือเพื่อให้สมความประสงค์ด้วยหวังจากฤทธิ์ของฤกษ์ดาวบนท้องฟ้า การดูฤกษ์ยามก็ถือว่าอยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน

สารพัดฤกษ์สารพัดเรื่อง

ความเชื่อของคนไทยเรื่องของฤกษ์นั้น นอกจากผูกอยู่กับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ อย่างปรากฏการณ์จันทร์ทรุปราคา อาทิตย์ทรงกลด พระจันทร์เต็มดวง (จันทร์เพ็ญหรือขึ้น 15 ค่ำ) หรือดาวเคียงเดือนแล้ว ยังผูกอยู่กับศาสตร์การทำนายดวงอย่างโหราศาสตร์อีกด้วย

ฤกษ์ในการจะทำสิ่งต่างๆ นั้น ก็คือฤกษ์ในทางโหราศาสตร์ที่จะให้การผูกดวงชะตาของผู้ที่จะทำนาย เข้ากับวงโคจรของดวงดาวตามหลักโหราศาสตร์ที่มีวิธีคำนวณดูดวง โดยฤกษ์จะแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกัน คือฤกษ์บนและฤกษ์ล่าง

“ฤกษ์บน” เป็นชัยมงคลเบื้องสูง โดยถือตำแหน่งของพระจันทร์และดาวพระเคราะห์ต่าง ๆ เป็นหลัก ในทางโหราศาสตร์ได้กำหนดฤกษ์ไว้ 9 ฤกษ์ด้วยกัน

1.ทลิทโทฤกษ์ แปลว่า ผู้มักน้อย ผู้ขอ เป็นฤกษ์ที่เหมาะสำหรับ การขอสิ่งต่างๆ เพราะถือว่าเป็นฤกษ์ของชูชก จะทำการขอสิ่งใดก็ง่าย เช่น การขอหมั้น ขอแต่งงาน ทวงหนี้ กู้ยืม ร้องทุกข์ การทำการใดๆ เพื่อให้ผู้อื่นสงสารกรุณาซึ่งรวมไปถึงการเปิดร้านหรือสมัครงานด้วย

2.มหัทธโณฤกษ์ แปลว่า คนมั่งมี ผู้รุ่งเรือง เป็นฤกษ์สำหรับ งานมงคลต่างๆ เช่น ขึ้นบ้านใหม่ แต่งงาน ปลูกสร้างอาคาร ธุรกิจการเงิน การค้าอุตสาหกรรม เปิดห้างร้าน

3.โจโรฤกษ์ แปลว่า โจร นักเลง ผู้ใช้กำลัง เป็นฤกษ์ที่เหมาะสำหรับ คนโบราณใช้ในการปล้นค่าย จู่โจมโดยฉับพลัน ข่มขวัญ เป็นงานเสี่ยงในระยะสั้นๆ เช่น การปฏิวัติ งานของบุคคลที่ใช้กำลัง

4. ภูมิปาโลฤกษ์ แปลว่า ผู้รักษาแผ่นดิน เป็นฤกษ์ที่เหมาะสำหรับ งานที่ต้องการความมั่นคงถาวร งานเกี่ยวกับที่ดิน การเกษตร การเช่าซื้อ ก่อสร้าง ปลูกเรือน ยกศาลพระภูมิ หรือลงหลักปักฐานอย่างการแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ก็ถือเป็นการทำให้มั่นคงในระยะยาวเช่นกัน

5. เทศาตรีฤกษ์ แปลว่า ข้ามท้องถิ่น นักท่องเที่ยว เป็นฤกษ์ที่เหมาะสำหรับ งานการติดต่อการค้าระหว่างถิ่น เกี่ยวกับความสนุกสนานชักชวนคนเข้าออกมาก เช่น เปิดโรงมหรสพ สถานเริงรมย์ ซ่องโสเภณี โรงแรม โรงหนัง ตลาดและศูนย์การค้า

6. เทวีฤกษ์ แปลว่า นางพญา ความงามหรูหรา และโชคลาภ เป็นฤกษ์ที่เหมาะสำหรับ การเข้าหาผู้หลักผู้ใหญ่ การหมั้นหมายและสมรส การทำกิจการที่ต้องการชื่อเสียง งานมีเกียรติ และงานเชิงศิลปะ

7. เพชฌฆาตฤกษ์ แปลว่า ผู้ทำหน้าที่ฆ่า เป็นฤกษ์ที่เหมาะสำหรับ การฟันผ่า อันตรายและอุปสรรค ต่อสู้เสี่ยงภัยต่างๆ อาสางานใหญ่ ทำกิจปราบปรามศัตรู ตัดสินคดีความ โดยรวมคืองานที่ใช้การตัดสินใจอย่างเด็ดขาด แต่ก็ยังรวมไปถึงการประกอบพิธีไสยศาสตร์ด้วย

8. ราชาฤกษ์ แปลว่าผู้ยิ่งใหญ่ ผู้มีอำนาจวาสนา พระเจ้าแผ่นดิน เป็นฤกษ์ที่เหมาะสำหรับ งานราชพิธี งานราชการงานเมือง สร้างที่ประทับ งานที่ต้องการชักจูงให้ผู้อื่นดำเนินตาม การเข้ารับตำแหน่งงาน การแสวงหาชื่อเสียงเกียรติยศ

9. สมโณฤกษ์ แปลว่า สงบเรียบร้อย นักบวช เป็นฤกษ์ที่เหมาะสำหรับ ทำพิธีกรรมทางศาสนา และทางนักบวช เช่น การทำขวัญนาค การอุปสมบท หล่อพระและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทั้งยังรวมการเข้ารับการศึกษา และ การกระทำทุกอย่างเพื่อความสงบร่มเย็นเป็นสุข

“ฤกษ์ล่าง” ซึ่งเหมาะเป็นชัยมงคลทางเบื้องใต้ฟ้า หรือเบื้องต่ำบนพื้นดิน โดยมนุษย์เป็นผู้กำหนดขึ้น โดยให้วันทั้ง 7 ประกอบด้วยดิถี ขึ้น แรม และเดือน ปี เป็นหลักในการคำนวณนับเป็นวันธงชัย วันอธิบดี วันอุบาทว์ และวันโลกาวินาศ รวมแล้วเรียกว่า ‘ฤกษ์ล่าง’

โดยทั้งหมดนี้ สุขี สิงห์บรบือ หรือมหาแซม เว็บมาสเตอร์ ของมหาหมอดูดอทคอม แหล่งรวมรวบข้อมูลการทำนายรวดด้วยโหราศาสตร์กล่าวว่า อาจมีข้อแตกต่างระหว่างโหราศาสตร์ของแต่ละสำนัก ซึ่งช่วงเวลาไหนตรงกับฤกษ์อะไรนั้นก็จำเป็นต้องใช้การคำนวณที่ผูกโยงตำแหน่งดาว กับตัวเลข โดยแต่ละปีและช่วงเวลาจะมีฤกษ์ที่แตกต่างกันไป

อย่างวันอธิบดี คือวันสูงสุด ทำอะไรก็ประสบความสำเร็จ ช่วงนี้จะตรงกับวันศุกร์ วันธงชัยเป็นวันแห่งชัยชนะ วันโลกาวินาศ และวันอุบาศก์

“เรื่องฤกษ์นั้นเป็นสิ่งที่อยู่กับคู่สังคมไทยมาช้านาน จะดูเพื่อเป็นที่พึ่งทางใจ มันก็แสดงถึงความเคารพในธรรมชาติอยู่ด้วย แต่ก็ไม่ควรเชื่อมากจนงมงาย ไม่เป็นอันทำมาหากิน ศาสตร์พวกนี้ต่อให้ดูดวงได้ว่าจะประสบผลสำเร็จ แต่ไม่ลงมือทำอะไรก็ไม่มีทางสำเร็จขึ้นมาได้”

ทั้งนี้ ฤกษ์อย่างวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาบางครั้งหากนำมาผูกกับดวงด้วยศาสตร์แห่งดวงดาวในการทำนายแล้วก็อาจไม่ใช่ฤกษ์ที่ดีก็เป็นได้ แม้ว่าวันนั้นจะเป็นวันแรมขึ้นที่ได้ชื่อว่าทำให้ดวงขึ้นก็ตาม
ความเชื่อกับวิถีชีวิต

หากจะว่ากันวิถีชีวิตที่ร้อยเรียงอยู่บนความเชื่อ ที่หากเป็นคนยุคนี้ก็อาจมองว่าเป็นเรื่องงมงาย ทว่าในชนบทห่างไกล ส่วนหนึ่งอาจถือว่าเป็นเช่นนั้นจริง หากทว่าสำหรับ สมทรง ขวัญทองห้าว ชาวบ้านอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองดาย มองว่าเรื่องนี้เป็นความเชื่อที่ก่อให้เกิดความสุขทางใจเท่านั้น ซึ่งมันเป็นความเชื่อแรงกล้าในระดับที่เรียกว่า ศรัทธาด้วย

ด้วยเพราะในเธออาศัยอยู่ ริมฝั่งน้ำโขง ด้วยวิถีชีวิตที่ผ่านหนาวร้อนมาถึง 65 ปี แน่นอนว่าฤกษ์ขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 หากเป็นชาวพุทธทั่วไป วันนี้ก็ถือเป็นฤกษ์ทำบุญของวันเข้าพรรษา แต่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ มันเป็นวันที่จะเกิดปรากฏการณ์ ‘บั้งไฟพญานาค’

“ส่วนมากจะเป็นฤกษ์งานบุญนะ อย่างวันพระใหญ่ วันอาสาฬหบูชา นานทีจะขอฤกษ์จากพระท่านเวลาจะทำอะไรใหญ่โต คือวิถีเราก็ทำบุญบ้าง ก็จะถือพวกวันพระใหญ่นี้ทำบุญ ร่วมงานบุญ”

โดยชีวิตปกติที่อาจพกหนังสือเล่มโปรดอย่างนิตยสาร อาชญากรรม พร้อมเหล้าขาวที่หมอสั่งห้าม แต่เมื่อถึงฤกษ์งานยามบุญ สิ่งเหล่านั้นก็จะถือเป็นวาระลดละไว้บ้าง

ขณะที่เมื่อย้อนกลับเข้ามาในเมือง ท่านกลางความทันสมัยที่ดูเหมือนทุกคนก็หลงลืมรากเหง้า กระทั่งเรียกได้ว่า ศรัทธาใดๆก็สูญสิ้นไปด้วยการเข้ามาของความเจริญแล้ว แม้จะเป็นแบบนั้นแต่ พีระ บุญวงศ์ พนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีชีวิตท่ามกลางกระแสของโซเชียลมีเดีย มากกว่านั่งอยู่ในวัด หรือฟังเสียงสวดมนต์ หากเขาก็ยังมีความเชื่อในเรื่องการดูฤกษ์ดูยามเมื่อคิดการใหญ่ ที่ผุดคิดขึ้นมาในวัยทำงานของเขาคือ “การออกรถ”

“อันนี้ก็ทำเพื่อความสบายใจนะ และเราเชื่อว่ามันจะทำให้เราปลอดภัยด้วย เพราะว่าการจะซื้อรถมันไม่ได้ซื้อกันง่ายๆ มันเป็นสิ่งที่สามารถวางแผนได้ ความเชื่อตรงนี้มันก็แล้วแต่บุคคล ที่สำคัญคืออย่าไปงมงายกับมัน เพราะฤกษ์ที่ดีที่สุดมันต้องเป็นฤกษ์ที่เราสะดวกด้วย เป็นฤกษ์ที่เราพร้อมแล้วทั้งจิตใจ ทั้งการกระทำ”

มาจนถึงตอนนี้สมทรงยังคงเชื่อมั่นในช่วงวันของงานบุญและฤกษ์ ขณะที่พีระยังขับรถไปทำงานอย่างไม่เป็นจำต้องดูฤกษ์ยามในทุกครั้งที่ทำอะไร คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าความศรัทธาเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนดำเนินไปของวิถีชีวิต หากทว่าสิ่งที่เรียกกันว่า ‘ฤกษ์’ ก็เป็นแต่เพียงตัวแปรภายนอกเท่านั้น
เพราะจันทร์ที่ยิ้มบนฝืนฟ้ากว้างคงไม่สำคัญเท่ารอยยิ้มที่ผุดขึ้นในใจของเราเอง...




กำลังโหลดความคิดเห็น