xs
xsm
sm
md
lg

ราตรีชีวิต : 'อาหารงานศพ' สัมพันธภาพของความเศร้ายามค่ำคืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ช่วงเวลาราตรี หลายคนคงรู้สึกคึกครื้นและปลดปล่อยตัวเองอย่างเต็มที่ หลังจากที่ต้องแบกรับภารกิจมากมายนับไม่ถ้วนในแต่ละวัน แต่ในมุมหนึ่ง ช่วงเวลานี้อาจจะเป็นช่วงเวลาแห่งความเศร้าสร้อย หากมันคือการอำลาคนที่รักซึ่งต้องจากกันชั่วนิรันดร์

เพราะอย่างทราบว่า การเกิด แก่ เจ็บ ตาย นั้นเป็นวัฏจักรที่มนุษย์หน้าไหนๆ ยากจะหลีกพ้นได้ โดยเฉพาะการตายซึ่งรับประกันได้เลยว่า อย่างไรก็ต้องพบเจอ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ไม่ว่าคุณจะเป็นคนชาติใด นับถือศาสนาไหน ก็มักจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ

อย่างในทางพุทธศาสนาเอง ก็มีพิธีมากมาย ตั้งแต่สวด 3 วัน 7 วัน 50 วัน หรือ 100 วันก็แล้วแต่เจ้าภาพจะศรัทธา รวมไปถึงการฌาปนกิจ โดยมีเหตุปัจจัยสำคัญเพื่อเปิดโอกาสให้บุตรหลาน ญาติพี่น้อง มิตรสหายมาร่วมไว้อาลัยเป็นครั้งสุดท้าย และที่สำคัญยังเพื่อเป็นการส่งวิญญาณให้ไปสู่ภพภูมิที่ดีนั่นเอง

พิธีสวดศพ เป็นค่ำคืนแห่งความเศร้าโศกและไว้อาลัย และยังพ่วงไว้กับความห่วงใยของคนเป็นที่มีต่อผู้มาร่วมแสดงความเสียใจครั้งสุดท้าย ในนามปู่ย่าตายายพ่อแม่ญาติพี่น้อง เครือญาติเพื่อนพ้องคนสนิทที่มีความสัมพันธ์กันเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ ไม่ว่าช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ดีหรือเลว สุขหรือทุกข์ร่วมกัน

และภายใต้แง่มุมเล็กๆ นี้เอง 'การเลี้ยงอาหารในงานศพ' ได้กลายเป็นวัฒนธรรมสำคัญ ที่ทุกงานอวมงคลนี้จำเป็นต้องมี และต้องกระทำทุกวัน เช่นสวด 3 วัน เจ้าภาพก็เลี้ยงทั้ง 3 วัน

โดยสาเหตุที่ต้องทำเช่นนี้ ก็เพื่อการขอบคุณแขกผู้มีเกียรติทั้งหลายที่เสียสละมาร่วมงาน แถมบางคนมารอตั้งแต่เย็น ก่อนพระสวดเสียด้วยซ้ำ ยังไม่ได้รับประทานอาหารเลย และกว่าจะถึงบ้านก็เลยช่วงเวลารับอาหารปกติไปแล้ว เพราะฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของเจ้าภาพที่ควรจะจัดอาหารเบาๆ ไว้รองท้องให้ด้วย

ซึ่งอาหารที่นิยมนั้นก็มีหลากหลายประเภทและรูปแบบ แต่ทุกวันนี้ จะเน้นที่ความสะดวกสบายเป็นหลัก โดยผู้เชี่ยวชาญอย่าง อนามัย แก้วศรี แม่ค้าซึ่งทำอาหารเลี้ยงงานศพที่วัดตลิ่งชันมาแล้วหลายปีบอกว่า หากเป็นวันแรกๆ อาหารที่เจ้าภาพนิยมจับมาบริกามากที่สุด ก็คือ 'อาหารกล่อง' ซึ่งภายในก็จะบรรจุ อาหารกินง่ายๆ เช่น น้ำส้มหรือน้ำดื่ม (ที่เป็นแก้ว) นม ขนมปัง แซนวิส ซาลาเปา โดยมีทั้งแบบจัดเอง หรือไม่ก็ใช้บริการจากร้านอาหารที่มีชื่อ เช่น เอสแอนด์พี หรือสีฟ้า ซึ่งมีบริการแบบนี้

"อาหารกล่องนี้มันสะดวกจะแจกกี่กล่องก็ไปหยิบได้เลย แถมไม่วุ่นวายต้องมีคนล้างจานล้างชามอะไรอีก โดยของพวกนี้ ร้านเบเกอรี่จำนวนมากก็รับทำ ถ้าสั่งมาแบบสำเร็จรูป มียี่ห้อก็แพงหน่อย แต่ถ้าสั่งแบบแยกแล้วมาจัดเองก็จะถูกหน่อย โดยราคาขั้นต่ำก็ประมาณ 30 บาท แต่ถ้าอย่างดีมียี่ห้อก็ 40 บาท"

อย่างไรก็ตาม บางคนก็ไม่นิยมอาหารกล่อง และใช้อาหารทำใหม่ๆ สดๆ ซึ่งราคาถูกกว่า ซึ่งอันดับหนึ่งยังคงหนีไม่พ้น 'ข้าวต้ม' ไม่ว่าจะข้าวต้มหมู ข้าวต้มปลา ข้าวต้มไก่ ข้าวต้มกุ้ง หรือแม้แต่ข้าวต้มทะเล ต้องมีทุกงาน บางงานให้ทุกวัน หรือบางงานที่ตั้งใจจะแจกอาหารกล่องเป็นหลักก็ยังต้องสลับด้วยข้าวต้มเลย เพื่อหลีกหนีความจำเจ เพราะอย่างที่ทราบ ข้าวต้มนั้นทำง่าย กินก็สะดวก แถมยังทำได้เยอะอีกต่างหาก จนมีคำพูดติดปากเวลาไปงานศพว่า 'ไปกินข้าวต้มงานศพ' แต่ก็มีบ้างที่อาหารธรรมดาอย่าง พวกข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง แต่ไม่ที่นิยมเท่าใดนัก เพราะใช้เวลาทำหรือเสิร์ฟมากกว่าข้าวต้มที่แค่ตักก็เรียบร้อยแล้ว

และที่ถือเป็นไฮไลท์สุดๆ ในงานศพที่มีเกือบทุกงานก็คือ 'กระเพาะปลา' ซึ่งโดยมากจะเลี้ยงแค่วันเดียวเท่านั้น และมักจะเลี้ยงในช่วงวันกลางๆ เช่น สวด 7 วันก็จะเลี้ยงในวันที่ 3 หรือ 4 เพราะราคาของอาหารแบบนี้จะสูงกว่าข้าวต้มหรืออาหารกล่องหลายเท่า

"ที่ทำกันมากๆ ส่วนใหญ่เขาจะสั่งเป็นหม้อ อย่างหม้อแขกซึ่งเป็นหม้อใหญ่ ตักได้ประมาณ 200-300 คน ราคาก็ตกอยู่ที่ 4,000-5,000 บาทเลย ซึ่งเจ้าภาพเขาจะระบุมาเลยว่าต้องการเท่าไหร่ กี่หม้อก็ว่าไป"

แต่ถ้าเป็นวันฌาปนกิจศพ อาหารก็จะแตกต่างออกไปอีก เพราะวันเผาส่วนมากจะทำกันในช่วงบ่ายหรือเย็น เพราะฉะนั้น เวลาเลี้ยงก็จัดเป็นสำรับชุดใหญ่เลย และมักจะเป็นอาหารชุดเดียวก็กับที่เลี้ยงพระ โดยอาหารก็จะเป็นพวกกับข้าว อย่างอาหารแกงทั้งหลาย ปลาทอด ไข่ชะอม และเสิร์ฟพร้อมกับข้าวสวย รับประทานกันหลังพระฉันเพลเรียบร้อยแล้ว โดยจับกลุ่มล้อมเป็นวงรับประทาน บ้างก็จัดเป็นโต๊ะจีนก็มี

อย่างไรก็ดี ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะสามารถนำมาบริการ เพราะอาหารบางประเภทก็ไม่นิยมเช่นกัน โดยเฉพาะอาหารประเภทเส้นทั้งหลาย อย่างก๋วยเตี๋ยว ผัดหมี่ เจ้าภาพจำนวนไม่น้อยจะไม่สั่งมาเด็ดขาด เพราะถือว่าจะทำให้มีคนตายยืดยาวออกไป และหากต้องการจะเสิร์ฟอาหารประเภทนี้จริงๆ ก็มักจะเป็นพวกเกี๊ยวเป็นลูกๆ มากกว่า

สำหรับช่วงเวลาในการแจกนั้นจะตรงกัน ก็คือหลังพระสวดจบที่ 2 เสร็จแล้ว เพราะถือเป็นช่วงกึ่งกลางของงาน เนื่องจากปกติพระจะสวด 4 จบ และภาชนะที่บรรจุ หากเป็นอาหารที่ต้องตักเสิร์ฟ ก็มักจะเป็นถ้วยขนม ซึ่งมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก และใครจะกินอีกก็ค่อยเติมกันที

แม้งานศพจะเป็นสัญลักษณ์แห่งความเศร้า การลาจาก แต่ในทางหนึ่งก็เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เกียรติซึ่งกันและกันด้วย เพราะผู้เสียชีวิตนั้นต่อให้ไม่ใช่คนสนิทชิดเชื้อกันแล้ว แต่ถ้ารู้จักกัน คนโดยมากก็มักจะไปร่วมเสมอๆ ฉะนั้นการเลี้ยงอาหารในงานศพในเวลาหัวค่ำ จึงสะท้อนมุมมองแง่มองแบบไทยๆ ออกมาได้อย่างมาก

เพราะนี่คือเป็นเครื่องหมายแสดงความขอบคุณ แม้มันจะมีค่าเพียงเล็กน้อยก็ตาม..
>>>>>>>>>>
………
เรื่อง : The Old Dog
ภาพ : อดิศร ฉาบสูงเนิน








กำลังโหลดความคิดเห็น