ศิลปะนั้นอยู่คู่กับประเทศไทยมาช้านาน 'งานช่างสิบหมู่' เอง ก็ถือเป็นประณีตศิลป์ที่มีลักษณะวิจิตรงดงามทรงคุณค่า เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่น่าภาคภูมิใจ ซึ่งในจังหวัดเพชรบุรีก็มีการสืบสานอัตลักษณ์ทางศิลปกรรมดังกล่าวจากรุ่นสืบรุ่น ด้วยเอกลักษณ์อันโดดเด่นของงานศิลปะโบราณที่สืบทอดกันมา ร่วมทั้งช่างฝีมือที่มีเป็นจำนวนมากในตัวเมืองจึงเกิดการขนานนามจำเพาะ 'สกุลช่างเมืองเพชร'
งานสกุลช่างเมืองเพชรนั้นก็แบ่งแยกออกเป็นหลายๆ แขนง ตามความถนันดของช่างฝีมือแต่ละคน ได้แก่ งานแทงหยวก, งานปูนปั้น, งานลงรักปิดทองประดับกระจก, งานลายรดน้ำ ฯลฯ ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่อยู่ในงานช่างสิบหมู่ที่คุ้นหูกันดี
ถือเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งยวดที่ศิลปะอันงดงามเหล่านี้ไม่ได้ดับสูญไปตามกาลเวลา วิถีชีวิตของชาวเพชรบุรียังดำเนินไปโดยไม่ขาดศิลปะ หากพูดว่าศิลปะนั้นถือเป็นรากฐานสำคัญของชาวเมืองนี้ก็คงจะไม่ผิด
ซึ่งในปัจจุบันหลายๆ ภาคส่วน ก็เล็งเห็นความสำคัญของศิลปะโบราณเหล่านี้มากขึ้น มีทั้งการส่งเสริมด้านเผยแพร่ เรียนรู้ และอนุรักษ์
สะท้อนจาก 3 ครูช่างเมืองเพชร
กว่าจะมาเป็นครูช่างชั้นนำของเมืองเพชร ก็คงต้องสั่งสมประสบการณ์กันมาไม่ใช้น้อย ซึ่งศิลปะแต่ละแขนงนั้นก็ล้วนแต่มีความวิจิตรประณีต เป็นที่แน่นอนว่าช่างฝีมือแต่ละท่านคงต้องสร้างสรรค์ด้วยความรักและความอดกลั้นเพื่อให้ได้ชิ้นงานอันทรงคุณค่า
ครูช่างงานตอกกระดาษ พิทยา ศิลป์ศร เล่าว่า ตนได้รู้จักงานตอกกระดาษเมื่อครั้งบวชเรียน เพราะมีพระผู้ใหญ่ทำงานตอกกระดาษเพื่อประดับเมรุ ประดับโกศ ก็เข้าไปช่วยงาน และเกิดความสนใจจึงศึกษาปฏิบัติจนมีความชำนาญมาจนปัจจุบันนี้
“ความภาคภูมิใจ เราได้สืบทอดและได้อนุรักษ์งานชิ้นนี้ไม่ให้สูญหายจากสกุลช่างของเมืองเพชรไป คนรุ่นใหม่ก็ควรจะศึกษางานศิลปะทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นงานแกะสลักไม้ ปูนปั้น ตอกกระดาษ และอีกหลายอย่าง ถ้าเด็กรุ่นใหม่ไม่ศึกษาก็จะไม่รู้จักกันเลย”
งานตอกกระดาษนั้นถือเป็นศิลปะหนึ่งในช่างสิบหมู่ แม้จะดูๆ แล้วมีวิธีการที่ไม่ยุ่งยาก แต่เมื่อทดลองทำจริงๆ ก็คงต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่กันเลย อุปกรณ์สำคัญนอกจาก กระดาษ ก็มี สิ่ว เครื่องมือที่นำมาตอกให้เป็นลวดลาย อย่างลายไทย, ลายนักษัตร ฯลฯ ซึ่งงานตอกกระดาษนั้นนิยมนำไปติดประดับลูกโกศขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังนำมาใช้ในงานบุญต่างๆ ทั้งงานบวชหรืองานแต่งงานด้วย โดยจะตอกกระดาษที่มีสีสันสดใสแล้วทำเป็นธงราว ประดับประดาเคียงคู่กับพวงมะโหตร งานหัตถกรรมพื้นบ้านที่นำกระดาษมาพับและตัดเป็นชั้นๆ เมื่อคลี่ออกมาก็จะจะมีลักษณะเป็นพวงระย้าดูสวยงาม
อ.พิทยา ยังเล่าต่อว่าปัจจุบันแม้งานตอกกระดาษจะไม่ถือว่าได้รับความนิยมแบบเมื่อก่อน แต่ทุกภาคส่วนก็ให้ความสนใจต่องานฝีมือประเทศนี้อยู่ไม่น้อย มีหน่วยงานราชการ และทั้งสื่อมวลชนเข้ามาส่งเสริมเผยแพร่ ซึ่งเขาก็มีการเปิดสอนงานตอกกระดาษโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายด้วย เพื่อส่งเสริมให้คนรุ่นหลังหันมาใส่ใจและร่วมกันอนุรักษ์เอาไว้
“จะเป็นอาชีพมันก็ยาก ถือว่าเป็นงานเสริมจะดีกว่าครับ เป็นรายได้พิเศษเพราะมันยังไม่เป็นที่นิยมมากมาย เพราะตอนนี้เหมือนกับงานตอกกระดาษยังประคองๆ กันอยู่ ให้คนรู้จัก”
ด้าน ธานินทร์ ชื่นใจ ครูช่างลายรดน้ำ แห่งสกุลช่างเมืองเพชร ก็เล่าให้ฟังว่าชื่นชอบศิลปะลายรดน้ำมาตั้งแต่เด็กๆ จากนั้นก็เข้าศึกษาที่วิทยาลัยเพาะช่าง พอจบมาก็เข้ามาทำงานศิลปะลายรดน้ำอย่างจริงจัง ซึ่งงานฝีมือประเภทนี้มักพบเห็นตามบานประตูหน้าต่างวัดวาอาราม บานประตูตู้พระไตรปิฏก
ซึ่งกระบวนการผลิตชิ้นงานนั้นถึงแม้ว่าจะค่อนข้างซับซ้อน แต่ถ้าตั้งใจปฏิบัติกันจริงๆ ก็ไม่ได้ยากเกินความสามารถเลย เขาเล่าถึงขั้นตอนการทำคราวๆ โดยเริ่มตั้งแต่การทำน้ำยาหรดาลที่ใช้ในสร้างสันลวดลายบนชิ้นงานบริเวณพื้นที่ซึ่งไม่ต้องการให้ทองติด จากนั้นค่อยๆ เช็ดด้วยยางรักเพื่อให้ทองติด และนำทองคำเปลวมาปิดให้ทั่ว สุดท้ายก็ใช้น้ำรดและถูอย่างเบามือเพื่อขจัดส่วนเกินให้หลุดลอกไป ซึ่งตรงนี้ก็เป็นที่มาของคำว่า ‘ลายรดน้ำ’ นั้นเอง
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันก็เริ่มมีคนนำเอาศิลปะลายรดน้ำเขาไปประดับในบ้านเรือนกันมากขึ้น แน่นอนว่าหากต้องการให้ศิลปะประเภทนี้ดำรงอยู่ ก็คงต้องมีการจัดให้เข้ากับยุคสมัย
“เพราะว่าเราอยากให้ลายรดน้ำอยู่คู่เมืองไทย ทุกวันนี้ยิ่งทองแพงศิลปะลายรดน้ำก็เริ่มถดถอยลงไป ตอน
นี้ก็เริ่มคิดค้นหาวิธีให้ลายรดน้ำมันอยู่ได้ อาจทำเป็นธุรกิจเชิงพาณิชย์ถึงจะอยู่ได้ต่อไป ไม่งั้นศิลปะตรงนี้มันก็จะหายไป
“ตอนนี้คิดว่ามันบูมขึ้นนะ เพราะว่าผมไม่ได้ทำงานพวกนี้ในวัดอย่างเดียว บ้านคนก็ทำ คนเขากล้าติดที่บ้านมากขึ้น กล้าที่จะเอาไปไว้ที่บ้านมากขึ้น เมื่อก่อนคนเขาจะคิดว่าภาพลายรดน้ำจะต้องอยู่ในวัดไม่ใช่อยู่กับบ้าน ผมก็เลยเริ่มทำเป็นเรื่องราวราวจากเขียนเทพ เขียนสวรรค์ ก็ไปเขียนเรื่องราวปีเกิดของเจ้าของบ้าน เพราะเป็นงานชิ้นเดียวในโลก เขาก็เลยอยากติดบ้านเข้ามาขึ้น”
จะว่าไปแล้ว ธานินทร์ก็ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับงานลายรดน้ำแก่ผู้สนใจด้วย เริ่มจากการทำงานชิ้นเล็กๆ เช่น บนหินทับกระดาษ หรือจาน ให้ผู้เรียน อย่างเด็กๆ หรือผู้สนใจ รู้สึกสนุกสนาน และเข้าใจว่างานประเภทนี้ยังสามารถนำมาขายเป็นของที่ระลึก และอาจต่อยอดกันได้ต่อไป เขากล่าวถึงความภาคภูมิใจกับการเป็นหนึ่งในสกุลช่างเมืองเพชร
“จริงๆ สกุลช่างเมืองเพชร มันมีมากกว่าช่างสิบหมู่ มันเป็นสิบสองหมู่ด้วยซ้ำ แต่เรามีความภูมิใจว่า เดี๋ยวนี้คนรู้จักเพชรบุรีมากขึ้น และสกุลช่างเมืองเพชรได้เป็นศิลปินแห่งชาติแล้วด้วย ทองร่วง เอมโอษฐ์ (ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2554 สาขาทัศนศิลป์) ก็ทำให้พวกเรามีความภูมิใจ การที่ศิลปะจะอยู่คู่กับเราต่อไปมันทำให้รู้สึกภูมิใจมากที่เกิดเป็นคนเมืองเพชร และจะถ่ายถอดศิลปะตรงนี้ให้อยู่ไปยาวนาน”
งานสกุลช่างเมืองเพชรที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ งานปูนปั้น เพราะศิลปกรรมแขนงนี้ได้สร้างชื่อเสียงแก่ชาวเมืองเพชรเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะฝีมือการบูรณะวัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวังเมื่อครั้งเก่าก่อน ครูช่างปูนปั้น ทองร่วง เอมโอษฐ์ ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2554 สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ศิลปะปูนปั้น) เปิดเผยว่าสนใจในงานปูนปั้นเพราะเห็นจากครูบาอาจารย์เขาทำกัน ก็เลยเข้าไปขอเป็นลูกศิษย์
เขายังกล่าวถึงเอกลักษณ์ของงานปูนปั้นในแบบของเขาว่า มีความเฉพาะตัวทั้งการออกแบบลวดลาย วิธีการทำงาน รวมถึงวัสดุที่ยังคงยึดตามยุคโบราณ อาทิ กรรมวิธีการนำหินปูนมาเผาและหมัก ผสมน้ำตาล กาว กระดาษฟาง ฯลฯ ซึ่งส่วนผสมเหล่านี้นอกจากจะมีคุณภาพสูงยังสามารถเก็บไว้ได้นาน ซึ่งลวดลายของงานปูนปั้นเมืองเพชรจะไม่นิยมทำให้ซ้ำกัน มีลวดลายที่แตกต่างและหลากหลาย
“ผมใส่ความคิดเห็นลงไปในงานปูนปั้น เช่น เคยปั้นรูป ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กำลังแบกฐานพระ แสดงถึงการแบกความดีที่ท่านได้ทำไว้กับแผ่นดิน เป็นต้น เมื่องานประเภทนี้ออกสู่สายตาประชาชน ทำให้คนในวงการอื่นๆ นอกจากวงการช่างและวงการสงฆ์ เช่น คนวงการสื่อ วงการศึกษา รู้จักงานปูนปั้นในฐานะที่รับใช้สังคม ในเรื่องของงานปูนปั้นล้อการเมือง งานปูนปั้นที่แฝงธรรมมะ งานปูนปั้นที่บันทึกประวัติศาสตร์ นี่คือเนื้อหาที่เราใส่เข้าไปในงานปูนปั้น”
ทองร่วงกล่าวว่า งานสกุลช่างเมืองเพชร จะมีการถ่ายถอดจากรุ่นสืบรุ่นเป็นธรรมดา หรือใครสนใจก็เข้ามาร่ำเรียนกันได้ไม่มีการหวงวิชา
“ก็มีถ่ายทอดกันตามธรรมดา ช่างปั้นก็จะสอนลูกสอนหลานกันไป มันเป็นอาชีพอย่างหนึ่งเหมือนช่างไม้ ช่างอ๊อกเหล็ก เพราะฉะนั้นมันก็มีอยู่เรื่อยๆ เพียงแต่ว่ามันไม่ได้เป็นสถาบันการศึกษา กลุ่มนอกก็มีบ้างแต่ไม่ได้มาเรียน แต่มาเป็นคนงานแล้วก็จะค่อยๆ ศึกษาไป ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะทำได้ อย่างน้อยๆ ถ้าจะทำงานปั้นได้ จะไปเป็นลูกน้องช่างคนนู้นคนนี้ได้ก็ 5 ปี แต่ถ้าอยากรับงานเองคิดเองเขียนแบบเองก็ต้อง 10 ปีขึ้นไป”
ศิลปะนั้นไม่ได้ถูกสร้างสันเพื่อให้ลิ้มรสความงดงามเพียงอย่างเดียว แต่ศิลปะยังมีเรื่องราวมีความหมายอันทรงคุณค่าที่หลบซ่อนอยู่ เพียงแต่ว่าพร้อมจะเปิดหัวใจศึกษาเนื้อแท้ของมันหรือเปล่า
หากชนรุ่นหลังรับความงามด้วยดวงตาแล้วละทิ้งไปง่ายๆ ศิลปะครั้งโบราณกาลก็คงค่อยเลือนหายไป...
>>>>>>>>>>
………
เรื่อง+ภาพ : ณ