xs
xsm
sm
md
lg

'ตื่นทอง' ร่อนแร่แห่งความหวัง ‘ความหลัง’ การขุดทองของไทยในอดีต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จากกรณีที่ชาวบ้านแห่กันเข้าไปขุดร่อนแร่หาทองคำจนเกิดเป็นขุมทรัพย์ 'ลำน้ำวัง' ที่จังหวัดลำปาง เมื่อเจ้าหน้าที่ลงตรวจพบว่าเป็นแร่จริง เกิดเป็นปรากฏการณ์ 'ตื่นทอง' ตามติดมาด้วยอีกระลอก เมื่อมีการพบสินแร่คล้ายทองที่จังหวัดสุพรรณบุรี แม้ต่อมาจะหักมุมเจ็บเมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่า ทองที่ขุดพบนั้นเป็นเพียงแร่ไฟไรต์ หรืออีกชื่อว่า 'ทองคนโง่'

กระนั้นก็ตาม กระแสการตื่นทองที่แพร่ไปอย่างรวดเร็ว ทำให้สงสัยว่า ที่ผ่านมาการขุดร่อนแร่ทองในเมืองไทยนั้นเป็นมาอย่างไร?

เมื่อมีคนพบแร่ทองครั้งแรก เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นตาม สิ่งที่เกี่ยวพันอย่างแยกไม่ขาดการทอง อย่าง อำนาจ เงินตรา ความร่ำรวย และความโลภ สะท้อนเป็นเงาวูบวาบแบบใดจากเนื้อทองที่ตกหล่นอยู่ในธรรมชาติกันแน่

ประวัติศาสตร์ย่นย่อของการขุดทองในเมืองไทย

ประเทศไทยในอดีตนั้นมีอีกชื่อหนึ่งว่าสยาม ซึ่งตั้งอยู่ในบนแผ่นดินที่ถูกขนานนามว่า 'สุวรรณภูมิ' แปลว่า 'แผ่นดินทอง' แม้นัยอาจหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ ความสงบสุข หากแต่ในด้านของความเป็นจริงทางธรณีวิทยาแล้ว แผ่นดินนี้ก็ถือเป็นแหล่งทองคำใหญ่แห่งหนึ่งเลยทีเดียว

การขุดทองในประเทศไทย หรือผืนแผ่นดินไทยนั้นก็มีความเป็นมาที่ยาวนานนับแต่โบราณกาลในสมัยอาณาจักรเชียงแสน โดยมีหลักฐานเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองคำซึ่งมีศิลปะแบบเชียงแสนอยู่ ในยุคนั้นแน่นอนว่ายังไม่มีวิทยาการในการขุดเจาะสำรวจเหมือนอย่างในปัจจุบัน การขุดค้น หรือการสำรวจหาทองนั้น อาศัยการเจอโดยบังเอิญจากชาวบ้าน

“ในสมัยสุโขทัยเราก็มีตำนานเกี่ยวกับการขุดทองตามจดหมายเหตุต่างๆ ตามบันทึกใบลาน ซึ่งมีพูดถึงบ้างแต่ประปรายไม่มากนัก ในสมัยนั้นจะใช้การเจาะด้วยหินชะแลงเซาะหินให้แตกออก ซึ่งการขุดแร่จะแยกก็เป็นสองแบบ คือการขุดแร่ในหินแข็ง กับแร่ในท้องน้ำ” รศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการขุดทองในเมืองไทยตั้งแต่สมัยโบราณ

โดยในส่วนของวิธีการนั้น ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบันชาวบ้านก็ยังคงมีวิธีหาแร่ทองคำในแบบเดิมๆ นั่นคือหากเป็นการขุดหาแร่ในหินแข็ง ซึ่งจะหาได้ยาก เพราะทองคำจะอยู่ในชั้นหินทำให้สังเกตพบได้ยาก ชาวบ้านจะต้องนำหินมาทุบ โดยมากแล้วจะเป็นแหล่งหินเกือบแข็ง เมื่อทุบหินออกมาก็นำไปบดในน้ำแล้วร่อนเพื่อหาทอง

ขณะที่ถ้าเป็นการหาแร่ในท้องน้ำ ชาวบ้านจะไปยังจุดที่มีทอง ซึ่งจะเรียกว่ามาร่อนหาทองในธารไหลของน้ำแบบนี้ว่า 'เรียง' ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับจานที่ใช้สำหรับเรียงทองโดยเฉพาะด้วย โดยชาวบ้านในพื้นที่จะมีความชำนาญตรงนี้อยู่

“เมื่อชาวบ้านได้ทอง เขาก็จะนำไปขายให้กับพ่อค้าคนกลางที่รับซื้อตามพื้นที่ต่างๆ ซึ่งการขายก็จะไม่เป็นไปตามมูลค่าจริง จะถูกกดราคาไว้ ดังนั้นกำไรส่วนใหญ่แล้วจะไปตกกับพ่อค้าคนกลาง”

โดยแหล่งขุดทองในอดีตนั้น ที่ใต้สุดจะอยู่ที่แหล่งแร่ทองคำที่โต๊ะโมะ อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ขณะที่ในเมืองเลยมีแหล่งขุดที่เรียกว่าภูทองแดง คือแหล่งที่มีทองผสมกับทองแดง อีกแถบหนึ่งที่มีชื่อเสียงไม่น้อยคือที่จังหวัดกาญจนบุรี เพราะคำว่า กาญจนะ นั้นก็แปลว่า ทองนั่นเอง

“แต่พอเวลาผ่านไป วิทยาการมันพัฒนาขึ้น แหล่งทองที่ค้นพบได้ง่ายอย่างสมัยก่อนมันแทบไม่เหลือแล้ว ยุคนี้จึงต้องมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเสาะแสวงหาแหล่งทอง”

กรรมวิธีการค้นหาทองในปัจจุบันนั้น เริ่มจากการหาพื้นที่ที่ 'คาดว่าน่าจะมีแหล่งทอง' โดยอาจใช้แผนที่ทางธรณีวิทยาซึ่งอาจได้จากการภาพถ่ายจากดาวเทียม ซึ่งหลายครั้งเข้าใจผิดกันว่าสามารถใช้ดาวเทียมเพื่อค้นหาทองคำใต้ดิน แต่แท้จริงแล้ว สามารถหาได้เฉพาะพื้นที่ที่มีความเหมาะสมที่จะมีทองเท่านั้น โดยพื้นที่เหล่านี้จะถูกชี้เป้าหมายจากการวิเคราะห์ของนักธรณีที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านหาทองเท่านั้น

“ต้นทุนในการขุดเจาะทำเหมืองมันสูงมาก ดังนั้น การขุดค้นจึงจำเป็นต้องได้รับการคาดการณ์เตรียมการมาอย่างดี นักธรณีวิทยาที่ชำนาญการจะต้องลงพื้นที่สำรวจเพื่อดูเปอร์เซ็นต์ของทองในพื้นที่ จากนั้นต้องลองให้นักวิศวกรธรณีมาขุดสำรวจเพื่อดูว่าในแหล่งทองนั้นมีทองปริมาณสำรองมากพอที่จะคุ้นค่าในการสร้างเหมืองหรือเปล่า”

โดยในขั้นตอนแรกๆ นั้น เมื่อนักธรณีพบพื้นที่เหมาะจะมีทองคำอยู่ ซึ่งจะเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะของรอยแยก หรือการทับกันของแร่ต่างๆ จากนั้นจะขออนุญาตจากกรมทรัพยากรธรณีที่เรียกว่า ใบอาชญาบัตร เพื่อขอสำรวจ และเมื่อสำรวจพบก็จะต้องยื่นของใบอนุญาตเปิดเหมืองจึงจะเปิดเหมืองได้ ทั้งนี้นักวิศวกรธรณีจะต้องสำรวจและรู้ปริมาณทองที่มีอยู่ในพื้นที่ทั้งหมดแล้ว เพื่อคำนวณว่าคุ้มค่าต่อการสร้างเหมือง

“การสำรวจหาทองคำนั้นก็มีปัจจัยหลายอย่าง ทั้งความชำนาญของนักวิศวกรธรณี เทคโนโลยีของเครื่องมือสำรวจ หรือความทันสมัยของเครื่องวิเคราะห์หาแร่ ซึ่งการสำรวจแล้วไม่พบ หรือไม่สามารถทำเหมืองได้ก็ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น เพราะพื้นที่ที่คาดว่าน่าจะมีทองอยู่ อาจจะไม่มีทองอยู่เสมอไป”

ปรากฎการณ์ ‘ตื่นทอง’

‘ตื่นทอง’ เป็นพฤติกรรมอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นได้ในทุกที่ที่มีทอง ไม่ว่าจะมาในรูปแบบของข่าวลือ ของความเชื่อ ของตำนาน หรือใดๆก็ล้วนแล้วแต่นำพาความหวังที่อาจเจือปนอยู่ด้วยความโลภอันหอมหวานที่ล่อหลอกให้นักแสวงโชคมาค้นหาโชคของตน ยิ่งในยุคสมัยที่ราคาทองพุ่งสูงขึ้นทุกวันแล้วด้วย ยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่าคนเราจะมีอาการตื่นทองมากขึ้นขนาดไหน

และจากข่าวการพบสินแร่ทั้งสองข่าวนั้น ทำให้ผู้คนส่วนหนึ่งในสังคมไทยเกิดสภาวะตื่นทองในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หลายๆ คนชักชวนพ่อแม่พี่น้องเดินทางไปปักหลักขุดทองกัน ซึ่งพฤติกรรมเหล่านั้นมันย่อมมีสาเหตุที่มาทั้งสิ้น

“ทองนั้นมันเป็นสิ่งที่สามารถสร้างแรงจูงใจให้แก่คนได้ และมันไม่ใช่สิ่งจูงใจพื้นฐาน เหมือนกับข้าว ปลา อาหาร แต่เราสามารถเอาทองไปเปลี่ยนเป็นเงินแล้วเอาเงินไปแลกข้าว ปลา อาหาร หรือเสื้อผ้าได้ พื้นฐานของมนุษย์ต้องการที่จะแสวงหาของเหล่านี้ให้ตัวเอง” เอื้ออนุช ถนอมวงษ์ อาจารย์ประจำสาขาจิตวิทยาคลินิก คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงสาเหตุของพฤติกรรมแตกตื่นเกินเหตุของคนไทยที่มีต่อข่าวการขุดพบทอง

“แต่ทั้งนี้ มันก็มีบางคนไป บางคนก็ไม่ไปนะ ขึ้นอยู่กับพื้นฐานของการศึกษาหาข้อมูล บางคนเขารู้สึกว่าตัวเองสามารถหากินในทางอื่นได้ดีกว่า เขาก็ไม่ไปเห่อกัน แต่กับบางคนเขาก็เลือกที่จะไปตรงนั้น เพราะมันดูง่ายกว่าการทำอย่างอื่นในชีวิต”

เอื้ออนุช กล่าวต่อไปว่า ความแตกตื่นที่เกิดขึ้นนั้นมันมักจะแปรผันตรงกับมูลค่าของสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ

“การไปหาสิ่งที่มีค่ามากอย่างทองผู้คนก็จะดูแตกตื่นมากกว่าปกติ สมมติถ้าไปแย่งกันไปเก็บดอกไม้ ซึ่งมีค่าไม่มากก็จะไม่เป็นขนาดนี้ ถ้าหากว่าบ้านเราเป็นเมืองที่มีทองมาก ไปไหนก็เจอแต่ทองรับรองว่าไม่มีใครจะแตกตื่นขนาดที่เห็นกันในทุกวันนี้แน่ อีกอย่างนิสัยพื้นฐานของคนไทย มักจะคิดว่าตนเองเป็นคนโชคดี ดังนั้นจึงพร้อมที่จะไปเสี่ยง ก็ลองไปเผื่อเจอ ถึงแม้จะรู้ว่ามันไม่ใช่ทองก็ตาม คือยังหวังลึกๆ ว่าในแร่เหล่านั้นน่าจะมีทองปนอยู่และตนก็จะเป็นคนโชคดีที่ไปเจอ

“กรณีนี้ ในประเทศอื่นถ้าหากเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ขึ้น ปฏิกิริยาของคนที่มีก็จะแตกต่างออกไปตามวัฒนธรรม ถ้าเขามีสติ มีการคิดไตร่ตรองก่อนออกมาทำอะไร มันก็อาจจะไม่แสดงอาการตื่นตระหนกออกมามากเหมือนบ้านเรา ดูตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นดูก็ได้ คือคนของเขามีวัฒนธรรมอีกแบบ ถูกฝึกมาให้เป็นคนมีระเบียบ ในช่วงสึนามิ มีเงินลอยตามน้ำมาเขายังไม่เอาเลย เพราะเขารู้สึกว่าไม่ใช่ของเขา”

กฎหมาย ‘ขุดทอง’

การพบสินแร่ในธรรมชาติ บนผืนดินของประเทศ กับปรากฏการณ์ที่ตามมาของการเข้าไปแสวงโชค หรือผลประโยชน์ของผู้ตื่นทองนั้น น่าสงสัยว่าการกระทำเหล่านี้นั้นผิดกฎหมายหรือไม่ รศ.ทัชชมัย ทองอุไร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็น การร่อนแร่ หรือการขุดแร่รายย่อย ซึ่งไม่จำเป็นต้องขอใบประทานบัตร หรือใบอาชญาบัตรใดๆ ทั้งสิ้น เพราะกฎหมายไม่ได้ควบคุมอะไรตรงนี้มาก เนื่องจากไม่ได้เป็นทำในเชิงอุตสาหกรรมหรือในรูปบริษัทซึ่งต้องมีเงื่อนไขอะไรพอสมควร เพียงแต่ต้องลงทะเบียน หรือยื่นขอใบอนุญาตต่อนายอำเภอท้องที่ ตามมาตรา 89-90 ของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 เท่านั้น ซึ่งตามข่าวกรมทรัพยกรธรณีนั้นขอเก็บลงทะเบียนแค่ 20 บาทเท่านั้นเอง

"ตามกฎหมายนั้นแบ่งผู้ประกอบกิจการแร่เป็นระดับๆ ส่วนแรกก็คือพวกอุตสาหกรรมหรือระดับใหญ่ซึ่งต้องมีการขออนุญาต อย่างจะไปสำรวจก็ต้องขอใบอาชญาบัตร อีกส่วนก็คือชาวบ้านทั่วไป ซึ่งภาครัฐเองก็ต้องการให้คนที่รายได้น้อยสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้เหมือนกัน โดยเขาจะใช้วิธีการขึ้นทะเบียนเท่านั้นเอง เพื่อจะได้รู้ว่าใครเป็นใคร เพราะถ้าไม่ทำมันจะเกิดจราจรวุ่นวายได้ แต่ไม่ได้มีการเก็บใบเสร็จเหมือนที่ทำกับพวกอุตสาหกรรม”

โดยหลักสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่ “ใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ดังกล่าว” ซึ่งหากเป็นพื้นที่สาธารณะ แค่ลงทะเบียนก็เป็นเสร็จสิ้น แต่ถ้าเป็นที่ที่มีเจ้าของชัดเจน มีโฉนดถูกต้อง ชาวบ้านทั่วไปก็ไม่มีสิทธิ์ แต่ก็ใช่ว่าจะทำได้อิสระเสรี เพราะการขุดต่างๆ นั้นย่อมกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเข้ามาดูแลด้วยส่วนหนึ่ง

"สมมติว่าถ้าเป็นที่ของคุณเอง หากไม่ใช่การร่อนแร่ แต่เป็นการลงเจาะลงไปลึก คุณต้องขออนุญาตแล้ว เพราะการทำแบบนี้ เราก็ไม่รู้ว่าจะไปกระทบโครงสร้างที่อื่นหรือเปล่า แล้วถ้าขุดลงไปมันจะมีอันตรายกับคนหรือไม่ คือเราต้องเข้าใจก่อนว่า กฎหมายที่ออกมานั้นไม่มีอะไรมาก นอกจากการคุ้มครองคนที่เกี่ยวข้อง และคุ้มครองสิ่งแวดล้อมไปด้วย ซึ่งอะไรที่มีผลกระทบต่อคนน้อย รัฐก็จะควบคุมน้อย แต่ถ้าไปเกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก กฎหมายก็จะเริ่มมีควบคุมมาก"

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่พบสายแร่มากขึ้น และน่าจะมีประโยชน์ต่อระบบอุตสาหกรรม ทางกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรมก็จะเข้ามาจัดการ โดยอาจจะเปิดให้มีการสัมปทานหรือขอใบประทานบัตร เพื่อให้เอกชนเข้ามาขุดแร่ในพื้นที่ดังกล่าว แต่ส่วนมากก็จะยังอนุญาตให้ชาวบ้านในพื้นที่ เข้ามามีส่วนในการใช้ประโยชน์ อย่างการร่อนแร่เหมือนเดิม

>>>>>>>>>>

……….

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK




กำลังโหลดความคิดเห็น