หลังวิปรัฐบาลเพื่อไทยชูนโยบายปราบยาเสพติด โดยเฉพาะมาตรการปราบปรามยาเสพติดในเรือนจำ ก็ดูเหมือนว่าประชาชนเองจะได้รับข่าวสารการทำงานสู้รบกับยาเสพติดอย่างเอาจริงเอาจังของรัฐบาลชุดนี้อย่างเสียไม่ได้
หากพิจารณาตามจริงแล้วผู้กระทำความผิดทางคดียาเสพติดเอง ก็มีอยู่ไม่ใช่น้อย มิหนำซ้ำการถูกคุมขังในเรือนจำของนักโทษคดียาเสพติดก็กลายเป็นแหล่งพบผู้ค้าระดับบิ๊ก ซึ่งต่อยอดสู้ธุรกิจยานรกนอกเรือนจำได้ไม่ยาก
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นปฏิบัติการดังกล่าวจะไม่สามารถลุล่วงได้เลย หากไม่มีได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ ดังกรณีตัวอย่างที่เป็นข่าวครึกโครมกันเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ตรวจสอบพบเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 3 คน จากเรือนจำรัตนบุรี จ.สุรินทร์ ที่ลักลอบนำโทรศัพท์มือถือเข้าไปเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักโทษ กระทั่งถูกจับกุม ให้ออกจากราชการ และต้องรับโทษในคดีอาญา
ฟากรัฐบาลที่ดูท่าจะสร้างภาพปราบยาเสพติดให้ติดตาประชาชน มีหัวหอกคนสำคัญอย่าง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ (ศพส.) รีบผุดมาตรการจัดการปัญหายาเสพติดในเรือนจำ ซึ่งที่น่าจับตามองที่สุดก็คงจะเป็นแนวคิดการสร้าง 'เรือนจำ Super Max' คุกสำหรับนักโทษคดียาเสพติดโดยเฉพาะ ที่มีการนำเทคโนโลยีระดับสูงมาใช้ควบคุม ใช้งบประมาณกว่า 3.5 พันล้าน และคาดการณ์ว่าจะดำเนินการสร้างเสร็จในระยะเวลา 3 ปี
แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ เพราะดูๆ แล้วปัญหายาเสพติดในเรือนจำนั้นล้วนเกิดจากตัวบุคคล แต่ทำไมรัฐฯ ถึงก้าวกระโดดมาแก้กันที่สถานที่คุมขัง และอีกอย่างหนึ่งประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์ยาเสพติดที่รุนแรงอย่างในประเทศเม็กซิโก หรือแถบอเมริกากลาง ฯลฯ จนถึงขั้นต้องสร้างคุกยาเสพติดมารองรับกันเชียวหรือ?
เทียบเคียงคุกยาเสพติดต่างชาติ
จริงๆ แล้วในส่วนของต่างประเทศ ไม่เพียงแต่มีคุกยาเสพติดเท่านั้น แต่มีแม้กระทั่งศาลเฉพาะที่พิจารณาคดียาเสพติด นั่นก็เพราะว่าประเทศเหล่านั้นมีคดียาเสพติดมากเสียจนที่ศาลปกติ หรือหน่วยงานปกติรับไม่ไหว ส่วนอีกเหตุผลก็คือสถานการณ์มันรุนแรงกว่าบ้านเรามาก แต่มันก็จำกัดในเฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น ส่วนบ้านเราเองมันยังไม่รุนแรงขนาดนั้น รศ.ดร. เดชา สังขวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาอาชญาวิทยาและกระบวนการยุติธรรม คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ แสดงทัศนะ
“ในบ้านเราสถานการณ์ยาเสพติดนั้น มันก็เป็นอย่างนี้มาตลอด แต่ช่วงนี้มันเหมือนกับการตีปี๊บเร่งระดมโชว์ผลงานว่ามาทำงานในด้านนี้ ซึ่งมันอาจจะเป็นการชดเชยความผิดพลาดในการทำงานด้านอื่นของรัฐบาลก็ได้ เพื่อที่จะให้ได้ใจของประชาชน
“คือในเหตุผลเรื่องการควบคุมตัวเพื่อไม่ให้มีการติดต่อจากภายนอก หรือทำความผิดซ้ำซ้อน มันทำจากสถานที่ที่มีอยู่ได้ แต่ต้องมีมาตรการเพิ่มขึ้นมา แต่การสร้างเรือนจำแบบพิเศษที่มีระบบรักษาความปลอดภัยสูงขึ้นมา มันไม่ได้เอาไว้ขังนักโทษจากคดียาเสพติดเพียงอย่างเดียว แต่มันไว้สำหรับพวกคดีอุกฉกรรจ์ หรือใช้คุมนักโทษที่มีพฤติกรรมอันตรายต่อนักโทษด้วยกันและผู้คุมด้วย”
การจัดตั้งคุกยาเสพติดนั้น มีเหตุผลหลักอยู่ที่เรื่องของการควบคุมตัวเพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำ เพราะว่ากันว่านักโทษเหล่านี้ แม้จะเข้าไปอยู่ในเรือนจำแล้วก็ยังคงทำธุรกิจต่อเนื่องได้ สำหรับการสร้างคุกยาเสพติดในประเทศไทย รศ.ดร. เดชา ยังมีความคิดเห็นว่ายังไม่เหมาะสมสักเท่าไหร่
“ผมว่ามันตลกนะ เพราะถ้ายังคนที่ตกอยู่ในความควบคุมของตนแล้วยังทำไม่ได้ แล้วจะไปสร้างเรือนจำใหม่โดยที่ยังมีระบบการควบคุมเหมือนเดิมทำไม คือถ้าจะเอาจริงนั้น ที่เดิมก็ทำได้ อย่างกรณีที่ญาติมาเยี่ยมแล้วเอาซิมโทรศัพท์เข้าไปให้ก็จัดการง่ายๆ โดยการไม่ต้องอนุญาตให้มีของเยี่ยม เพราะเรือนจำนั้นเป็นหน่วยงานที่มีทุกอย่างอยู่ในนั้นโดยสมบูรณ์อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกินหรืออะไรก็ตาม ดังนั้นการจะตัดขาดจากโลกภายนอกเลยก็ทำได้
“จริงๆ แล้วการบริหารงานของราชทัณฑ์นั้น ก็มีเรือนจำที่แยกผู้ต้องขังยาเสพติดไว้อยู่แล้ว ทั้งจำหน่ายและเสพปกติเขาจะเอาไว้ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษ ซึ่งมีในหลายพื้นที่ไม่ใช่แค่ส่วนกลาง และถ้าบริหารจัดการดีๆ มันก็ยังคงใช้ได้อยู่”
‘ไทย’ พร้อมมีคุกยาเสพติดหรือยัง?
หากวิเคราะห์ตามหลักรัฐศาสตร์แล้ว คุกที่มีลักษณะเฉพาะอย่างคุกยาเสพติด, คุกการเมือง ฯลฯ นั้นจะเป็นเรื่องที่ดีต่อระบบการจัดการเป็นอย่างมาก รศ.ยุทธพร อิสรชัย คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า อย่างไรก็ตามต้องดำเนินการที่ตัวโครงสร้างควบคู่กับระบบราชฑัณฑ์ ในแง่ของตัวบุคคลหรือเจ้าหน้าที่เองต้องมีความโปร่งใสในการทำงาน สุจริต ไม่รับสินบนต่างๆ จากนักโทษ
สำหรับสถานการณ์ยาเสพติดในประเทศไทยนั้น รศ.ยุทธพร กลับมองต่างว่า ค่อนข้างจะมีความรุนแรงใกล้เคียงกับในบางประเทศอย่าง ประเทศสหรัฐฯ, เม็กซิโก ฯลฯ แต่แตกต่างกันตรงที่วิธีการจัดการปัญหาที่เขามีมาตรฐานมากกว่า ซึ่งไม่เพียงแก้ไขปัญหาโดยปลายเหตุอย่างการสร้างคุกยาเสพติด
“สหรัฐฯ และเม็กซิโก เรื่องของกระบวนการในการปราบปรามยาเสพติดเขาไม่ได้ทำแค่ปลายทางอย่างเดียว เขาเริ่มตั้งแต่ทำอย่างไรจะปกป้องยาเสพติดไม่ให้เข้าประเทศ และมาตรการการบังคับใช้กฎหมายที่มีความรุนแรงในเรื่องยาเสพติด หรือแม้กระทั่งการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการตรวจค้น นอกจากนี้ระบบพิจารณาคดีของเขาใช้วิธีการแบบลูกขุน เพราะฉะนั้นการพิจารณาคดีแบบลูกขุนทำให้เกิดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมในการที่จะเข้ามาตัดสิน ไม่จำเพาะว่าเป็นหน้าที่ของระบบราชการ เมื่อสังคมไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมก็เหมือนกับว่าฝ่ายรัฐเป็นผู้ดำเนินการกับฝ่ายผู้กระทำความผิดอย่างเดียว ฉะนั้นก็เท่ากับว่าเรามีเพียงการใช้กฎหมาย แต่ภาคสังคมไม่ได้เข้ามาติดตามหรืเป็นหูเป็นตา ก็เลยทำให้สถานการณ์ยาเสพติดไม่ได้รับการคลี่คลาย
“ในแง่ของการจัดการในต่างประเทศ อย่างเม็กซิโกเขาก็มีปัญหาคล้ายๆ กับประเทศไทย ในเรื่องของยาเสพติดก็ยังมีเครือข่ายของผู้ค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นเครือข่ายมาเฟียระดับโลกเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในอเมริกากลาง อเมริกาใต้ ดังนั้นกระบวนการที่เกิดการซื้อขายออกมาจากในคุก หรือว่าช่วยเหลือนักโทษ หรือให้สินบน ก็ไม่ต่างจากประเทศไทยเท่าไหร่ แต่ในหลายๆ ประเทศ ในยุโรป ในสหรัฐฯ เรื่องของยาเสพติดจะป้องกันตั้งแต่กระบวนการต้นทาง”
สำหรับประเทศไทย แนวคิดการนำขาใหญ่วงการยาเสพติดมากักขังรวมกันในคุกจำเพาะของรัฐบาล ถามว่าจะสามารถปราบปรามปัญหายาเสพติดในเรือนจำได้จริงหรือ รศ. ยุทธพร ก็ได้แสดงทัศนะว่า ตรงนี้การบริหารจัดการของภาครัฐเป็นทิศทางกำหนดที่สำคัญ
“มันขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ ถ้าเอาเครือข่ายใหญ่ๆ เหล่านี้มารวมกัน ถ้าบริหารจัดการไม่ดีก็จะเกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆ ในคุก และท้ายที่สุดเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่เข้าไปควบคุมไม่ถึง อาจกลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญของเครือข่ายเหล่านี้เลยด้วยซ้ำ ในการที่เป็นตัวประสานกับทีมงานที่อยู่นอกคุกในการขับเคลื่อนค้าขายยาเสพติด
“แต่ที่สำคัญก็คือการบริหารราชการแบบไทยทุกอย่าง มันกลับกลายเป็นปัญหาเป็นอุปสรรคและมีข้อจำกัด ฉะนั้นถ้ามีการแยกคุกต้องมีการระมัดระวัง อย่าให้ลักษณะการทำงานแบบระบบราชการไทยหรือวัฒนธรรมองค์กรที่มีการทำงานที่ไม่ได้เน้นความมีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดปัญหาอีก เราต้องป้องกันไม่ให้เกิดการบริหารแบบไทยๆ การบริหารจัดการในการส่งคนเข้าไปบริหารจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดการครอบงำด้วยระบบวัฒนธรรมเดิม? ถ้ายังมีอีก ไม่มีความจำเป็นที่ต้องแยกคุกออกมาเลย มันเป็นเพียงการขยายฐานราชทัณฑ์ออกไป โดยมุ่งขยายฐานให้มีเรือนจำเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่ได้ตอบโจทย์ประสิทธิภาพของระบบก็คงไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง”
………..
ถึงจะมีการสร้างเรือนจำสำหรับนักโทษคดียาเสพติดที่มีเทคโนโลยีทันก้าวล้ำนำสมัยสักเพียงไร ก็เป็นเพียงการปรับขยายฐานโครงสร้างสำหรับรองรับผู้กระทำความผิด ซึ่งชนวนเหตุที่แท้จริงนั้นมาจาก 'คน' หรือ ‘เจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์’ ทั้งระดับบนสุดถึงล่างสุด
การปราบปรามยาเสพติดในเรือนจำก็คงเป็นการบ้านที่รัฐบาลต้องระดมสมอง พยายามหาคำตอบกันมากกว่านี้ เพราะเท่าที่เห็นๆ นั้น ปัญหากับแนวทางแก้ไขนั้นไม่ตรงกันสักเท่าไหร่ เหมือนกับว่าจะถลุงงบประเทศไปเสียดื้อๆ โดยมรรคผลที่จะตามมาเป็นความว่างเปล่า และช่วยทำให้ปมปัญหายาเสพติดในเรือนจำยิ่งยุ่งเหยิงเป็นปมที่แก้ไม่ออกต่อไปในอนาคต
>>>>>>>>>
……..
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK