xs
xsm
sm
md
lg

'ซีเอ็นเอ็นโก' ผู้พิพากษาศิลปวัฒนธรรมกินดื่มเที่ยวเอเชียแปซิฟิก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


'แกงมัสมั่นไทย" สุดยอดอาหารอันดับ 1 ของโลก
'สำเนียงอังกฤษแบบไทยๆ' ติดอันดับ 11 เสียงสุดเซ็กซี่ของโลก
'ชาเย็นไทย' คว้าอันดับ 27 เครื่องดื่มยอดนิยมขวัญใจชาวโลก
สุดผิดหวัง 'ตลาดน้ำดำเนินสะดวก' ติดชาร์ทสถานที่ท่องเที่ยวน่าผิดหวัง

นี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของผลสำรวจที่ออกมาแทบรายวัน โดยทั้งหมดนี้ต่างมาจากแหล่งที่มาเดียวกัน นั่นคือเว็บไซต์ CnnGo.com ซึ่งว่ากันว่าเป็นเว็บไซต์ที่ใช้สำหรับรวบรวมข้อมูลและคำแนะนำด้านไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็นการกิน ดื่ม เที่ยว หรือแม้แต่ศิลปะและวัฒนธรรมจากเมืองใหญ่ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

แต่ถ้ามองกลับกัน หลายคนอาจจะรู้สึกฉงนในการจัดอันดับเหล่านี้ไม่น้อย เพราะหลายๆ อันดับก็ไม่ตรงกับความรู้สึกของผู้คนสักเท่าไหร่ เช่น ทำไมแกงมัสมั่นถึงอยู่อันดับ 1 ในขณะที่ต้มยำกุ้ง ซึ่งโด่งดังไปทั่วโลกกลับอยู่ที่อันดับ 8 ซะงั้น หรือแม้เรื่องสำนึกภาษาอังกฤษที่ไทยก็ติดอันดับด้วยนั้น ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า สำนักโพลที่ว่านี่ เขาแอบไปสำรวจกันที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร

ดังนั้นเพื่อขจัดข้อสงสัยออกไปให้หมด ก็จะมาทำความรู้จักกับเว็บไซต์ซีเอ็นเอ็นโกกันแบบใกล้ชิดว่า ตกลงคือโพลอะไร มีไว้ทำไม และมีเบื้องหลังอะไรกันแน่

รู้จักกันก่อน!!!

สำหรับประวัติความเป็นมาของเว็บไซต์นี้ เพียงแค่เห็นชื่อคุณก็รู้แล้วว่า เจ้าของเว็บไซต์นี้จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก ซีเอ็นเอ็น เครือข่ายโทรทัศน์แบบเคเบิลที่เผยแพร่และนำเสนอรายการไปทั่วโลก ซึ่งเนื้อหาหลักๆ ก็จะเป็นเรื่องข้อมูลข่าวสาร ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมทั่วทุกมุมโลก จนมีคำกล่าวติดปากว่า ซีเอ็นเอ็น คือสำนักข่าวที่ใหญ่ที่สุดในโลก

และแน่นอนว่า เว็บไซต์ซีเอ็นเอ็นโกนั้น ก็ถือเป็นผลผลิตของซีเอ็นเอ็นนั่นเอง เปิดตัวครั้งแรกในเดือนกันยายน 2552 โดยมีวัตถุประสงค์อยู่ที่การให้ข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยว สังเกตได้จากในเว็บฯ ที่มีแซ็กชันที่ครอบคลุมเรื่องเหล่านี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว ไลฟ์สไตล์ โดยเน้นไปที่กลุ่มประเทศที่อยู่ในเอเชียและแปซิกฟิก 8 แห่งเท่านั้นคือ กรุงเทพ (ไทย) ฮ่องกง (จีน) ดูไบ (สหรัฐอาหรับฯ) โซล (เกาหลีใต้) เซี่ยงไฮ้ (จีน) สิงคโปร์ ซิดนีย์ (ออสเตรเลีย) และโตเกียว (ญี่ปุ่น)

ซึ่งการนำเสนอจะเน้นเทรนด์ฮิตที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในแต่เมืองด้วย เช่นในประเทศไทยเคยมีการพูดถึงเพลง ‘คันหู’ ซึ่งมีท่าเต้นอันบาดตาบาดใจนักศีลธรรมทั้งหลาย จนยอดผู้ชมที่คลิกเข้าไปในเว็บไซต์ยูทิวบ์ขึ้นหลักล้านอย่างรวดเร็ว ก็ยังถูกนำไปรายงานในเว็บไซต์นี้ด้วย

แต่สิ่งที่น่าสนใจมากไปกว่านั้น ก็คือรูปแบบการนำเสนอ โดยมีเฉพาะการจัดลำดับเป็นหัวข้อ เช่น 50 เหตุผลที่ทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองลำดับที่ 1 โดยทางกองบรรณาธิการก็จะหยิบเหตุผลต่างๆ ที่เป็นข่าวเล็กข่าวใหญ่ หรือถูกพูดถึงในกรุงเทพฯ มานำเสนอเช่น ประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถที่สุด, มีร้านขายโปสเตอร์หนังที่เจ๋งที่สุดในเอเชีย, เคาน์เตอร์ขายอาหารแสนอร่อยที่ไม่เคยปิด ได้นั่งเล่นกับอาแปะ ดูคนแก่เถียงกัน จั่วไพ่ สูบบุหรี่ จับนก สูบบุหรี่ จิบกาแฟ, ขากสเลดแล้วก็สูบบุหรี่ต่อ, มีพริตตี้ที่ขายของได้ทุกอย่าง, มีระบบขนส่งมวลชนที่ราคาถูกและน่าตื่นเต้น หรือนักการเมืองที่แรงได้ใจสุดๆ (ชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์) ฯลฯ

หรือไม่ก็มีการจัดอันดับสิ่งที่ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน เครื่องดื่ม ภาษาและสถานที่ ซึ่งบ่อยครั้งที่สถานที่ในประเทศไทยเข้าไปติดอันดับด้วย แกงมัสมั่น ชาเย็น จนถึงภาษาอังกฤษสำเนียงไทย แต่ทว่าเรื่องที่น่าฉงนการวัดผลหลายๆ อย่างนั้นแทบไม่ปรากฏว่าใช้วิธีใดเป็นเครื่องวัดผล หรือบางที่มีก็จะเป็นการบอกคร่าวๆ ว่า เป็นการสำรวจความเห็นจากเฟซบุ๊ก ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นใครบ้าง สัญชาติอะไร อายุเท่าไหร่ เพศไหน และน่าเชื่อถือหรือไม่ แถมบางชิ้นจัดอันดับไปแล้ว ก็ยังมีการลงเครดิตชื่อผู้เขียนอีกต่างหาก ราวกับว่าเป็นผู้จัดอันดับเอง เพราะฉะนั้น จึงอาจจะกล่าวได้ว่า โพลของซีเอ็นเอ็นโก อาจจะอยู่ในขั้นมีปัญหาไม่มากก็คงน้อย แต่ใครจะเชื่อว่าถึงจะเป็นอย่างนี้ มันก็ยังได้รับการนำเสนออย่างต่อเนื่อง

แบรนด์ 'ซีเอ็นเอ็น'

ปัจจัยสำคัญ ก็คือเมื่อขึ้นชื่อว่าการจัดอันดับแล้ว มีหรือบรรดาสื่อทั้งกระแสหลักกระแสรอง หรือแม้แต่จะไม่รีบตะครุบข้อมูลที่ได้รับ แทบบางข้อมูลก็เรียกว่า โดนใจสุดๆ เพราะไทยคว้าอันดับ 1 หรืออันดับต้นๆ บางอันก็เซ็งสุดๆ เพราะแม้จะไม่ติดอันดับสูงๆ แต่ก็เป็นเรื่องเชิงลบ เช่น เรื่องตลาดน้ำดำเนินสะดวก หรือบางอันพอฟังแล้วก็อดหัวเราะไม่ได้ เพราะไม่คิดว่า เรื่องแบบนี้จะมีด้วย ที่เห็นชัดๆ ก็คงจะเป็นสำเนียงภาษาอังกฤษสุดเซ็กซี่ ซึ่งทั้งหมดนี้น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญประการแรกๆ ที่ทำให้ข่าวแบบนี้ถูกนำเสนอ

ประการต่อมาก็คือ การแปะแบรนด์ของซีเอ็นเอ็นเอาไว้กับตัวโลโก้ เพราะฉะนั้นก็ย่อมนำมาสู่ความสนใจได้ไม่มากก็น้อย โดย ผศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า นี่คือการนำจุดแข็งที่ซีเอ็นเอ็นมีอยู่มาใช้ให้เกิดมีประสิทธิภาพมากที่สุด ไม่ว่าจะในแง่ข้อมูลเพราะต้องยอมรับว่าในยุคนี้เทคโนโลยีใหม่อย่างอินเทอร์เน็ตกำลังเติบโต เมื่อข้อมูลพร้อม การขยายฐานงานออกไปก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็น

"ถ้าเราสังเกตจุดยืนของซีเอ็นเอ็นจะเห็นได้ชัดว่า เขาพยายามสร้างโกลบอล เน็ตเวิร์ก (การเชื่อมโยงโลกเข้าไว้ด้วยกัน) เพราะฉะนั้นเป้าหมายหลักของก็ต้องเป็นโกลบอล พีเพิล ไม่ว่านักธุรกิจที่ไปรอบโลก นักลงทุนหรือนักท่องเที่ยว ดังนั้นจึงอาจจะปากได้ว่า ซีเอ็นเอ็นโกก็คือ การทำข้อมูลนั่นแหละ แต่แค่เปลี่ยนรูปแบบช่องทางในการออกอากาศเท่านั้น ลองคิดดูง่ายๆ ก็ได้ ข้อมูลที่เขาทำมา พอฉายผ่านทีวีไปแล้ว มันก็หมดไป แต่ตัวข้อมูลก็ยังมีคุณค่าอยู่ เพราะฉะนั้นเป้าหมายหลักๆ ก็คือเขาน่าจะพยายามทำตัวให้เป็นวัน สตอป เซอร์วิส ทางด้านข้อมูล"

ขณะเดียวกัน การใช้แบรนด์ของซีเอ็นเอ็นนั้น ก็ทำให้โอกาสที่คนจะเข้ามาตรวจสอบว่าหรือให้ความสนใจว่า เรื่องนี้จริงเท็จประการใด โดย ผศ.ดร.ธีรพันธ์ โล่ห์ทองคำ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ธรู เดอะ ไลน์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด อธิบายว่า สำหรับความรู้สึกของคนทั่วไปแล้ว ซีเอ็นเอ็น คือหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ เพราะฉะนั้นในการที่เขาจะออกโพลหรืออะไรมา แต่ก็มีความเสี่ยงเพราะออกโพลมาอย่างไม่น่าเชื่อถือ ซีเอ็นเอ็นก็จะพลอยไม่น่าเชื่อถือไปด้วย ถึงแม้ซีเอ็นเอ็นจะมีการเก็บข้อมูลไม่ตรงหลักวิชาการ คนก็จะรู้สึกว่านี่คือกระบวนการสร้างสีสันให้แก่ข่าวมากกว่า ซึ่งก็เหมือนกับหนังสือหลายฉบับที่ทำงานวิจัยของตนเองออกมา หรือการมอบรางวัลดารายอดนิยมที่ใช้มาตรฐานของตัวเองเป็นหลัก

ที่สำคัญต้องยอมรับว่า การนำเสนอรูปแบบเป็นอันดับนั้นเป็นสื่อที่ทำให้คนเข้าใจได้ง่าย และทำให้ผู้รับสารเห็นภาพชัด เช่นหากต้องการจะไปเที่ยวที่ไหน ควรจะเลือกไปในสถานที่ใดถึงจะไม่พลาด

มาตรฐาน 'ซีเอ็นเอ็น' = 'ซีเอ็นเอ็นโก'

พอเข้าใจเรื่องเหตุผลที่มีแล้ว ก็มาถึงเรื่องความน่าเชื่อถือกันบ้าง ซึ่งต้องยอมรับว่า น่ากังขาไม่น้อย เพราะข้อมูลหลายๆ อย่างนั้นแทบจะไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดในการจัดอันดับว่าทำเช่นใด ดังนั้น จึงมีความเสี่ยงไม่น้อยที่ผู้คนจะอดตั้งข้อสงสัยในประเด็นนี้

ซึ่งในมุม ผศ.พิจิตรา ก็มองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการกำหนดอันดับไว้เรียบร้อยแล้ว เช่น ตัวนักข่าวเองอาจมีข้อมูลอยู่ในมือแล้ว พอส่งมาที่ส่วนกลางก็จะค่อยนำเรียงลำดับอีกที โดยแยกกลุ่มประเทศให้มีความเหมาะสม

"โอกาสที่จะเซท อเจนดา (Set Agenda - การกำหนดวาระของการสื่อสาร) ก็คงมีอยู่แล้ว เหมือนกับสื่อทั่วไป โดยกำหนดด้วยการเรียงลำดับว่าอะไรเป็นอะไร แต่เป้าหมายคงไม่ได้มุ่งที่จะทำกำไรจากร้านอาหารที่เข้าไปทำสำรวจมากเท่าไหร่ แต่น่าจะมุ่งไปที่แชร์ประสบการณ์ของนักข่าวพูดง่ายๆ เหมือนเป็นการให้มุมมองของคนระดับโลก ลงไปในพื้นที่ต่างๆ ได้ ซึ่งบางครั้งการให้ข้อมูลอาจจะไม่ตรงกับความรู้สึกของคนในพื้นที่"
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการจัดอันดับโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องเท่าใดนัก คำถามต่อมาก็คือ แล้วเว็บฯ นี้จะมีความน่าเชื่อถือได้อย่างไร เพราะถ้าสังเกตดูจะพบว่าสื่อที่ในเครือเดียวกับซีเอ็นเอ็นอย่างไทม์ ก็ถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านธุรกิจ ดังนั้นโอกาสที่เว็บไซต์ดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ในด้านนี้ก็น่าจะมีสูงโดยเฉพาะในหน่วยงานท่องเที่ยวของแต่ละประเทศ ซึ่งในแต่ละประเทศก็ใช้งบประมาณตรงนี้สูงอยู่แล้ว อย่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่ได้งบมากกว่า 6,000,000,000 บาท ก็นำเงินมาใช้ในการประชาสัมพันธ์มากกว่า 25 เปอร์เซ็นต์

ในประเด็นนี้ ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ แต่คงไม่ได้ทำอย่างโจ่งแจ้งหรือชัดเจน เพราะถึงอย่างไรซีเอ็นเอ็นโกก็ยังมีกรอบของตัวเองอยู่อีกชั้น โดยเฉพาะในแง่ของความมีชื่อเสียงที่ในเรื่องการทำข่าวระดับโลก เพราะถ้ายอมปล่อยให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นจริง ก็จะกลับไปทำลายภาพลักษณ์ของธุรกิจแม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

"ด้วยความที่เขาเป็นสื่อ ก็ต้องมีความน่าเชื่อถือในตัวเอง เพราะฉะนั้นถ้ามีคนชงมาเยอะๆ หรือให้เงินแล้วโปรโมทได้ มันก็จะทำให้ความน่าเชื่อมันลดลง ซึ่งเรื่องแบบนี้คงมีอยู่บ้าง แต่คงไม่ถึงขั้นมีโฆษณาแฝงมากกว่า เพราะด้วยความที่เป็นสื่อแบบอินเทอร์แอกทีฟ (สื่อสาร 2 ทาง) ถ้าโฆษณาแบบยัดเยียดมากเกินไป คนจะไม่รับ เพราะฉะนั้นข้อมูลส่วนใหญ่ก็น่าจะมาจากตัวนักข่าวของเขาเองที่ชงขึ้นมา แล้วเขาก็เรียงลำดับเอง ซึ่งก็ถือว่าน่าเชื่อมากกว่า เพราะฉะนั้นเรื่องนี้น่าจะเป็นการต่อยอดในเรื่องข้อมูล มากกว่าการยอดทางด้านโฆษณา"

ถึงเวลาของท่องเที่ยว?

เมื่อความถูกต้องไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ในขณะที่การรับรู้ได้เข้าถึงตัวบุคคลเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งหลายอย่างก็สร้างผลกระทบไม่มากก็น้อย เช่น การจัดอันดับสถานที่ท่องเที่ยวที่ไปแล้วผิดหวัง หรือแม้แต่ประเด็นเรื่องอาหารน่ารังเกียจ ที่ซีเอ็นเอ็นโกระบุว่า อันดับ 1 คือไข่เยี่ยวม้าของจีน และถูกคนจีนร้องเรียนจนต้องทำหนังสือขอโทษ

เพราะฉะนั้นในเมืองไทยที่มีทั้งสถานที่และเรื่องราวติดอันดับในซีเอ็นเอ็นโก จะต้องปรับตัวเช่นใดบ้าง ซึ่งในมุมของ วุฒิชัย มากวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท หนุ่มสาวทัวร์ จำกัด ก็ยอมรับว่า แม้เว็บไซต์นี้จะมีอิทธิพลบ้าง แต่ก็คงไม่มากจนเกินไป

“ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า เว็บฯ พวกนี้เป็นเว็บฯ ที่ให้ข้อมูล ซึ่งแน่นอนว่าต้องส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวที่ไม่มีข้อมูลและประสบการณ์ในสถานที่นั้นๆ ดังนั้นข้อมูลนี้จึงเป็นพื้นฐานเบื้องต้นเท่านั้น เพราะฉะนั้น การจัดอันดับสำหรับในมุมของคนที่อยู่วงการเที่ยวจริงๆ แล้วจึงไม่ใช่เรื่องที่สำคัญมากนัก"
 
เพราะของแบบนี้มีทางเลือกให้มากมาย และข้อมูลดังกล่าวก็ไม่ได้มีความน่าเชื่ออะไรมากไปกว่า ความเห็นของตัวนักเขียนเอง ซึ่งบางครั้งก็ไม่ได้สะท้อนความเห็นที่เห็นจริงของคนอ่าน

“ในอินเทอร์เน็ตมันสามารถสื่อสารสองทาง ถ้าที่เขารีวิว (แนะนำ) มันดีจริงก็จะมีการบอกต่อๆ กันไป หรือถ้าไม่ดีผู้บริโภคก็จะบอกต่อเหมือนกัน ซึ่งจะว่าไปเว็บไซต์เหล่านี้ก็สามารถให้ภาพสะท้อนในมุมมองที่นักท่องเที่ยวเขามองเราได้ ซึ่งถ้าหน่วยงานหรือกลุ่มธุรกิจด้านการท่องเที่ยวในบ้านเราเก็บเอาภาพสะท้อนตรงนั้นมาใช่ก็ถือได้ว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง”
>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK



กำลังโหลดความคิดเห็น