โดยปกติแล้วหากพูดถึงผลไม้นำเข้า แน่นอนว่าต้องไปเดินดูกันตามแผงขายผลไม้บนห้างระดับพรีเมียม แอปเปิ้ลจากแอฟริกาใต้ สาลี่หิมะจากญี่ปุ่น องุ่นจากออสเตรเลีย หรือจะเป็นส้มแคลิฟอร์เนียจากสหรัฐอเมริกา แต่ทว่าในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ดูเหมือนตามแผงผลไม้ข้างทาง ตามตลาดข้างบ้านของหลายๆ คน จะเริ่มมีผลไม้นำเข้ามาวางแผงให้เป็นตัวเลือกด้วยเช่นกัน
ที่ปรากฏการณ์ของช่วงนี้เลยก็คือ ส้มจีน ส้มลูกเล็กที่ขายอยู่ 3 กิโลกรัม 100 บาท ซึ่งแม้ลูกจะเล็กแต่ฤทธิ์เดชก็ร้ายเหลือ เพราะเข้ามาตีตลาดจนทำให้ส้มเขียวหวานของไทยต้องหลีกทางให้
นอกจากนี้ตัวเลขการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศของไทยตั้งแต่ปี 2551-2554 ก็พุ่งสูงขึ้นถึง 1 ใน 3 เป็นตัวเลขมหาศาลคือจาก 25,000 ล้านบาทเป็น 37,000ล้านบาท! ถือว่าโตเร็วและต่อเนื่องมาก คำถามคือเหตุใดประเทศเกษตรกรรมอย่างประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้าผลไม้มากขนาดนั้น หรือสิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นเพียงแค่กระแสการบริโภคผลไม้นำเข้าเท่านั้น
สีสันของตลาดบน
ตลาดผลไม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตลาดบนหรือพรีเมียมที่มีกำลังซื้อจะนำเข้าผลไม้หลากหลายประเภทที่ไม่มีในเมืองไทย และมีราคาแพงโดดเว่อร์ชนิดคนธรรมดาไม่คิดแตะต้อง คงไม่แปลกที่กลุ่มลูกค้าของตลาดเหล่านี้จะเป็นผู้ที่มีฐานะ ซึ่งจะบริโภคจากความชอบส่วนหนึ่ง และจากฐานะส่วนหนึ่ง โดยลูกค้ากลุ่มนี้จะต้องการคุณภาพ ความสดใหม่ แม้ผลไม้เหล่านี้จะต้องนั่งเครื่องบินข้ามน้ำข้ามทะเลมาให้บริโภคก็ตาม
การเลือกบริโภคผลไม้จากต่างแดนนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือรสชาติที่แตกต่างจากผลไม้ที่มีอยู่ในประเทศ นี่จึงอาจเป็นสีสันของการรับประทานอาหาร แต่ก็ไม่ใช่กระแสที่มาแล้วไปเสียทีเดียว จากปากคำของ กาจญนวดี โกมลมาลย์ ผู้จัดการร้านบิ๊กน๊อต ร้านขายผลไม้นำเข้าที่ตลาดบองมาเช่ ซึ่งค้าขายผลไม้นำเข้ามานานกว่า 16 ปี เล่าว่า มีลูกค้ากลุ่มประจำที่เข้ามาจับจ่ายซื้อผลไม้เหล่านี้อยู่เสมอ
“อับดับหนึ่งเลยคือ แอปเปิ้ล คือของมาแล้วก็ขายได้เรื่อยๆ นอกจากนี้จะเป็นสตรอเบอร์รี่ องุ่น เชอรี่ ลูกพลับ ราคาจะเป็นไปตามผลผลิต ซึ่งก็ค่อนข้างแพงอยู่ แต่ถ้าเทียบกับผลไม้ไทยช่วงที่ราคาขึ้นมากๆ แล้ว ก็ถือว่าราคาใกล้เคียงกันเลย”
เมื่อเรียงตามลำดับความนิยมแล้ว แอปเปิ้ลพันธุ์ฟูจิจากแอฟริกาใต้จะมาเป็นอันดับหนึ่ง ตามติดคือแอปเปิ้ลพันธุ์เอ็นวี่จากนิวซีแลนด์ ส่วนแอปเปิ้ลจากญี่ปุ่นที่มีสีแดงสวยผลใหญ่จะไว้ใช้ประดับกระเช้าเป็นของขวัญ สำหรับแอปเปิ้ลเขียวส่วนมากจะมาจากฝรั่งเศส นิยมทานกับสลัดซึ่งจะมีรสออกเปรี้ยวสำหรับผู้ที่ทานหวานมากไม่ได้ โดยทั้งหมดนี้มีราคาอยู่ที่ลูกละ 40-70 บาทตามขนาด
“แอปเปิ้ลนี่เข้ามาหลายปีแล้ว ยิ่งขายราคายิ่งแพง เพราะยิ่งมีมาจากประเทศอื่นด้วย แต่รสชาติไม่เหมือนกัน ก็ยิ่งทำให้ของเดิมมันราคาแพงขึ้น”
นอกจากนี้ยังมีผลไม้ที่เป็นนิยมอื่นๆ อาทิ องุ่นไร้เม็ดลูกโตสีแดงเข้มจากออสเตรเลีย, สตรอเบอร์รี่จากอเมริกาและเกาหลี ก็เป็นที่นิยมด้วยรสชาติออกหวาน ราคาจากอเมริกาอยู่ที่แพคละ 500-550 บาท ขณะที่ของเกาหลีอยู่แพคละ 300-350 บาท และลูกพลับจากญี่ปุ่นและอเมริกานิยมทานแบบยังดิบอยู่ด้วยรสชาติหวานกรอบ แต่ถ้าสุกแล้วจะนิ่มซึ่งนิยมในหมู่ผู้สูงอายุราคาลูกละ 100 บาทขึ้นไปตามขนาด
ทว่าราคาที่ดูจะแพงมากของผลไม้เหล่านี้ แท้จริงแล้วถือเป็นราคาปกติของตลาดบน เพราะยังมีผลไม้ที่ราคาแพงอย่างน่าเหลือเชื่อขายอย่างสาลี่หิมะของญี่ปุ่นที่ราคาลูกละ 1,200-1,400 บาท! หรือเชอรี่จากนิวซีแลนด์ที่กิโลกรัมละ 1,300 บาท
“ลูกค้ากลุ่มนี้จะเน้นของคุณภาพ ต้องสด อร่อย หวาน กรอบ ก้านต้องเขียว ลูกต้องแข็ง ดังนั้นจึงมีการคัดเกรดก่อนวางขาย นอกจากนี้ระหว่างการขนส่งสินค้าก็อาจมีความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย ซึ่งผลไม้ที่ขนส่งมานี้จะทำกำไรได้ก็ต่อเมื่อขายได้เร็ว เพราะของพวกนี้เก็บไว้ได้ไม่นาน”
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ลูกค้ากลุ่มบนนี้มีรสนิยมการทานในแบบสากลที่เน้นคุณภาพโดยไม่สนใจราคาว่าแพงเท่าไหร่ ซึ่งไม่ค่อยกระทบกับผลไม้ไทยที่อยู่ในตลาดล่างของชีวิตคนไทยทั่วไปนัก
ตลาดล่างถูกรุกราน
อย่างที่รู้กันแล้ว ส้มจีนเป็นหัวหอกนำทัพที่เข้ามาตีตลาดผลไม้ไทยอย่างเห็นผล กระนั้นในส่วนของผักชนิดต่างๆ รวมไปถึงผลไม้ชนิดอื่น สินค้านำเข้าก็เป็นทางเลือกที่ทำให้ผู้บริโภคต้องหันมาดูด้วยราคาที่ถูก และรสชาติที่สามารถทดแทนกันได้
แม้ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จะมีข่าวของสินค้านำเข้าที่มาพร้อมโรคอย่างเชื้อ ‘อี.โคไล’ (Escherichia coli - เอสเชอริเชีย โคไล หรือ เอเชอรีเกีย โคไล หรือเรียกโดยย่อว่า E. coli - อี. โคไล) จากยุโรป ซึ่งเป็นแบคทีเรียในกลุ่มโคลิฟอร์ม เป็นตัวชี้การปนเปื้อนของอุจจาระในน้ำ มีอยู่ตามธรรมชาติในลำไส้ใหญ่ของสัตว์และมนุษย์ แบคทีเรียชนิดนี้ทำให้เกิดอาการท้องเสียบ่อยที่สุด ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ทำให้ถ่ายอุจจาระเหลว หรือเป็นน้ำ แต่อาการมักไม่รุนแรง เพราะทั้งเด็ก และผู้ใหญ่มักมีภูมิต้านทานอยู่บ้างแล้ว เนื่องจาก ได้รับเชื้อนี้เข้าไปทีละน้อยอยู่เรื่อยๆ เชื้อนี้มักปนเปื้อนมากับอาหาร น้ำ หรือ มือของผู้ประกอบอาหาร ปกติเชื้อเหล่านี้อาจพบในอุจจาระได้อยู่แล้วแม้จะไม่มีอาการอะไร มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
หรือการตรวจพบเชื้อราอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) จากผักและผลไม้นำเข้าหลายชนิด ซึ่งเป็นสารพิษชนิดหนึ่งซึ่งมักพบเจือปนอยู่ในอาหาร เกิดจากเชื้อจุลินทรีย์ประเภทเชื้อรากลุ่ม Aspergillus flavus, A. parasiticus และ A. nomius แต่ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อราชนิด Aspergillus flavus ที่เจริญเติบโตอยู่บนเมล็ดถั่วลิสงและข้าวโพดและอาจพบในข้าวโอ๊ต ข้าวสาลี มันสำปะหลัง หอม กระเทียม พริกแห้ง มีสีเขียวหรือสีเขียวแกมเหลือง มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า สามารถทนความร้อนสูง การต้มหรือทอดไม่สามารทำลายสารนี้ได้ เมื่อบริโภคจำนวนมากทำให้อาการท้องเดิน อาเจียน ถ้าบริโภคแบบสะสมจะเป็นสารก่อมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งตับ ซึ่งข่าวเหล่านี้ก็ดูจะไม่ทำให้อัตราการบริโภคลดลง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม
เมื่อลงไปสำรวจในตลาดผลไม้ริมทาง ก็ทราบถึงสาเหตุจาก เกียรติศักดิ์ กัณฑา พ่อค้าจากร้านบ็อบบี้ผลไม้
“ง่ายๆ ครับ อันไหนถูกและดีหน่อย ผู้บริโภคก็เลือกอันนั้น”
ซึ่งจากการขายผลไม้มาหลายปี และพบกับความผันผวนของราคาที่เกิดขึ้น ที่บางช่วงเล่นเอาราคาส้มเขียวหวานโดดขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 120 บาท ด้วยเพราะยังไม่มีการนำเข้า ทำให้เขามองเรื่องนี้ว่า มีส่วนช่วยในการถ่วงราคาของสินค้าในประเทศ
“ผมว่ามันดี คือผมไม่รู้เรื่องต้นทุนนะ แต่ก็ต้องยอมรับถ้าขายแพงกว่าคนก็ไม่ซื้อ เพราะช่วงที่ไม่มีการนำเข้า ผลไม้มันราคาแพงมากจนต้องไปขึ้นห้าง แล้วที่มาขายตามตลาดก็เป็นของไม่ดี แบบที่กินไม่ค่อยได้ ผมเลยว่าแบบนี้ดีแล้ว”
โดยผลไม้นำเข้าในตลาดล่างนั้นนอกจากส้มจีนแล้ว ยังมีผลไม้อีกหลายอย่างที่นำเข้าจากจีน ซึ่งเป็นสัดส่วนถึงครึ่งหนึ่งของมูลค่าผลไม้นำเข้าทั้งหมด และเมื่อคิดรวมกับมูลค่าของผลไม้นำเข้าที่มาตีตลาดล่างจากประเทศอื่นๆ อย่าง อินโดนีเซีย เวียดนามแล้ว จะว่าเป็นสัดส่วนถึงกว่าร้อยละ 60 หรือ 2 ใน 3 เลยทีเดียว
ดูเหมือนผลไม้ในประเทศจะพบปัญหาใหญ่เสียแล้ว
ยิ่งมองไปถึงอนาคตในอีกไม่นานที่จะมีการเปิดเสรีการค้าอาเซียนขึ้น สินค้านำเข้าคู่แข่งมากหน้าหลายตาในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน ซึ่งดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ค่อนข้างเป็นห่วงต่อโครงสร้างตลาดที่อาจจะแปรเปลี่ยนไปในอนาคต
“ตอนนี้ผลไม้ไทยยังมีข้อได้เปรียบอยู่ที่ความคุ้นรสติดปากของคนไทย ซึ่งผลไม้ที่นำเข้ามานั้นส่วนใหญ่ที่เข้ามาตีตลาดก็ด้วยรสชาติที่ใกล้เคียงกัน แต่ราคาถูกกว่าค่อนข้างมาก ทำให้ผู้บริโภคยอมทานของที่รสชาติอาจจะอร่อยน้อยกว่า แต่ราคาถูกกว่าแทน ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่น่ากลัวคือ รสนิยมของคนเป็นอะไรที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เมื่อเกิดการทำซ้ำ เพราะฉะนั้นเมื่อคนไทยบริโภคผลไม้นำเข้านานๆ มันจะกลายเป็นความเคยชิน จนทำให้กลายเป็นกินผลไม้ไทยในโอกาสพิเศษแทน ถึงตรงนั้นก็แก้ไม่ทันแล้ว โครงสร้างตลาดทุกอย่างจะเปลี่ยนหมด”
ที่ทางของตลาดผลไม้ไทยนั้น เมื่อมองไปข้างบนแน่นอนว่าต้องเจอกับแบรนด์ผลไม้พรีเมียมที่จับจองลูกค้าชั้นบนไว้หมด ขณะเดียวกันเมื่อมองมาข้างล่าง การรุกไล่ตลาดจากต่างประเทศที่มีเทคโนโลยีการเกษตรที่ดีกว่าก็ช่วงชิงพื้นที่ตลาดไปอย่างไม่หยุดหย่อน ดูเหมือนที่ทางที่เหมาะสมของผลไม้ไทยน่าจะอยู่ที่ตลาดระดับกลางที่ราคาไม่แพงจนเกินไป แต่ก็มีคุณภาพในตัวสินค้า ทว่าปัญหาก็อยู่ที่ว่า ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ได้เป็นแบบนั้น เมื่อคุณภาพของสินค้าอยู่ในระดับกลาง แต่ราคากลับถีบตัวไปแตะถึงระดับบน
ในส่วนของทางแก้ไข้นั้น ดร.เกียรติอนันต์เห็นว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ของผลไม้ไทยนั้น เพียงเกษตรกรฝ่ายเดียวไม่สามารถรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ แต่จำเป็นต้องมีภาครัฐ และงานด้านวิชาการเข้าช่วยเหลือ ซึ่งต้องดำเนินไปพร้อมกับการตลาดในประเทศ
“ตอนนี้ถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างเบ็ดเสร็จและยาวนาน หนึ่ง ภาครัฐต้องมาปรับโครงสร้างการผลิตและมาดูโครงสร้างการผลิตผลไม้ไทย ดูว่ามีจุดไหนที่จะช่วยเรื่องโครงสร้างได้ ซึ่งตรงนี้ต้องมีการวิจัยเศรษฐศาสตร์ เชิงลึกบวกกับวิทยาศาสตร์การเกษตรร่วมกัน พอรู้เรื่องโครงสร้างต้นทุน เราจะระบุได้ว่าต้องไปแก้ตรงไหนให้ราคาต้นทุนลดลงมา แล้วอีกด้านตอนนี้เรามีงานวิจัยและพัฒนาด้านคุณภาพผลไม้อยู่เยอะแล้ว ก็ต้องนำมาใช้ในการปรับปรุงจริงๆ ซึ่งตรงนี้ผมว่าเงินก้อนแรกรัฐบาลควรจะลงให้ เพื่อใช้ในการพัฒนา ทีนี้ในระยะสองปีข้างหน้า ผลไม้เมืองไทยจะพัฒนาร่วมกันคือ คุณภาพดีขึ้น และต้นทุนต่ำลง ระหว่างนั้นก็ต้องทำการตลาดภายในประเทศ ผลไม้ไทยแพงกว่าหน่อยแต่ชื่นใจกว่า ลักษณะนี้ ให้เขารู้ว่าการบริโภคผลไม้ไทยมันอยู่ในชีวิตประจำวัน”
แต่ปัญหาตอนนี้คือยังไม่มีใครลุกขึ้นตื่นตัวกับสิ่งที่เกิดขึ้น และเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างลงไป
ในมุมหนึ่งแน่นอนว่า การนำเข้าผลไม้มีส่วนทำให้เกิดสีสันและความหลากหลายในการรับประทาน อีกส่วนหนึ่งก็ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีขึ้น ซึ่งประโยชน์ก็ตกอยู่กับผู้บริโภคที่ได้รับประทานผลไม้ในราคาถูก แต่ทว่าอีกมุมหนึ่ง การแข่งขันที่รุนแรงและเลือดเย็นของระบบปลาใหญ่กินปลาเล็กนั้น จากการที่ระบบโครงสร้างทางการเกษตรที่ยังมีปัญหาของประเทศไทย ต้องไปแข่งกับระบบทางการเกษตรที่สามารถประหยัดต้นทุนได้มากกว่า ควบคุมคุณภาพสินค้าได้มากกว่าแล้ว แม้ว่าผลไม้ไทยจะเป็นผลไม้ที่อร่อย พันธุ์ดี แต่ก็อาจจะไม่มีทางเลือก และที่ทางในตลาดมากนัก
อีกไม่นานตลาดผลไม้ในเมืองไทยจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล จากผลไม้นำเข้าที่มากับการค้าเสรีที่จะไม่มีพรมแดนเหมือนในอดีตอีกต่อไป...
>>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : อธิเจต มงคลโสฬศ