ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คงไม่มีข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ที่น่าตื่นตระหนกไปกว่าข่าวคราวของเหตุระเบิดของพลุในงานฉลองตรุษจีนเมืองสุพรรณฯ ในช่วงค่ำของวันที่ 24 มกราคมอีกแล้ว ซึ่งผลจากการระเบิดแบบผิดคิวครั้งนี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ถึง 4 คนและมีผู้บาดเจ็บหลายสิบคน แถมยังเกิดไฟไหม้อันเนื่องมาจากสะเก็ดไฟกับบ้านและกุฏิพระอีก 50 กว่าหลังซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับที่เกิดเหตุ
เรียกได้ว่าความสูญเสียครั้งนี้ มันเป็นเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้นเลยจริงๆ
แต่จะว่าไป เหตุการณ์ภัยพิบัติโดยน้ำมือมือมนุษย์อันเนื่องมาจากการจุดพลุและดอกไม้ไฟนั้น มันก็มีข่าวให้เห็นอยู่เนืองๆ แม้จะไม่วินาศสันตะโรเท่ากับเหตุการณ์ครั้งล่าสุดนี้ก็ตาม เอาเฉพาะในปี 2554 ที่เพิ่งผ่านพ้นไปก็มีอุบัติเหตุจากดอกไม้ไฟปรากฏให้เห็นเป็นข่าวเกือบ 10 ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์เล็กๆ อย่างเหตุการณ์ที่สามเณรในจังหวัดลำปาง หรือจะเป็นเหตุการณ์ที่เด็กในจังอุดรธานีต้องมานิ้วขาดเพราะประทัดยักษ์ระเบิดใส่มือ หรือจะเป็นเหตุการณ์ใหญ่ๆ อย่างโรงงานทำดอกไม้ไฟระเบิด ในปีที่แล้วก็มีให้เห็นถึง 3 แห่งด้วยกัน ทั้งในพระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี และสระบุรีตามลำดับ
จะว่าไปแล้วของจำพวกพลุ ดอกไม้ไฟต่างๆ มันก็คือวัตถุระเบิดดีๆ นี่เอง แต่ก็แปลก เพราะที่ผ่านมาดูเหมือนว่าจะไม่มีหน่วยงานไหนหรือใครเข้ามาดูแลควบคุมเรื่องนี้อย่างจริงจังเลย
ดอกไม้ไฟ ทำไม?
ก่อนอื่น เราคงจะต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า แท้แล้ว การจุดพลุในงานพิธีต่างๆ นั้นมันมีที่มาจากไหนกันแน่
ในเรื่องนี้ เผ่าทอง ทองเจือ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องวัฒนธรรมไทย กล่าวว่าความสัมพันธ์ระหว่างดอกไม้ไฟกับสังคมไทยนั้นมีมาตั้งครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแล้ว โดยมีหลักฐานปรากฏอยู่ศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ที่มีพูดถึงการเผาเทียนเล่นไฟ ซึ่งวัฒนธรรมตรงนี้น่าจะมีอิทธิพลมาจากจีน เพราะสุโขทัยกับราชวงศ์หยวนของจีนก็มีความสัมพันธ์กันเป็นอย่างดี พอมาถึงในสมัยกรุงศรีอยุธยา ดอกไม้ไฟก็ถูกใช้กับเทศกาลเฉลิมฉลองต่างๆ
"การละเล่นดอกไม้ไฟนั้นมีหลายชนิด อย่างที่ยิงขึ้นไปบนฟ้าก็เช่น พลุ หรือตะไล ลูกหนู แล้วก็มีดอกไม้ไฟที่ลงไปในน้ำ เช่น ปลาดุก ปลาช่อน แล้วก็มีดอกไม้ไฟที่ปักอยู่กับพื้นที่ เช่น ระทา ซึ่งการเล่นพวกนี้เราไม่เคยมีการควบคุม ในสมัยโบราณก็แบบนี้แหละ คือไม่ว่าประเทศไหน กฎระเบียบกฎหมายจะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อเกิดเหตุขึ้นมาก่อน เรื่องดอกไม้ไฟก็เช่นกัน แต่ที่ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมามันยังไม่เกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงเท่าไหร่ เพราะเมื่อก่อนสังคมไทยเป็นสังคมเล็กๆ เพราะฉะนั้นการเฉลิมฉลองนิดเดียวก็ดูว่าใหญ่แล้ว แต่ปัจจุบันคนตั้ง 65 ล้าน การเฉลิมฉลองก็ต้องใหญ่ขึ้น เพราะผู้ชมมันเยอะขึ้น จะทำดอกไม้ไฟเล็กๆ คนก็มองไม่เห็น จะทำเตี้ยๆ ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเวลาเกิดอุบัติเหตุขึ้นจึงรุนแรงขึ้น"
และเนื่องด้วยความส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม และไม่เคยมีอะไรที่ร้ายแรงมากนัก ก็จึงทำให้หลายคนรู้สึกย่ามใจและประมาทได้ง่าย แต่อย่างว่าเมื่อของแบบนี้เป็นสิ่งที่คู่อยู่กับวัฒนธรรม ดังนั้นก็คงจะให้เลิกไม่ได้ง่ายๆ ด้วยเหตุนี้เอง ทางออกที่ดีคือจะต้องมีการหามาตรการควบคุมตามมาหลังเหตุการณ์
“อย่างเช่นในสมัยรัชกาลที่ 1 ที่มาการสร้างหอพระไตรปิฎกในวัดพระศรีรัตนาราม แล้วมีการฉลอง เพียงวันเดียวเท่านั้น ตะไลที่ยิงขึ้นฟ้าก็ไปติดกับหลังคา ไฟไหม้หอพระไตรปิฎกมา หลังจากนั้นก็มีการป่าวประกาศไปทุกบ้านว่า เวลาจะจุดดอกไม้ไฟให้เตรียมภาชนะใส่น้ำ ใส่ทราย มีตะขอไม้เวลาที่ดอกไม้ไฟไปติดที่หลังคา แต่เมื่อโลกมันเปลี่ยนแปลง บ้านเรือนจากที่ทำด้วยไม้ก็มาเป็นปูนหรือซีเมนต์แทน มาตรการพวกนี้ก็ย่อมหย่อนยานเป็นธรรมดา เช่นกันเมื่อเกิดเหตุการณ์ใหม่ขึ้น ระเบียบแบบแผนก็ต้องปรับปรุงให้เข้ากับสภาพสังคมในปัจจุบัน”
หนทางการควบคุม
จริงๆ แล้วในแง่ของการผลิตพลุ - ดอกไม้ไฟนั้น มันก็มีกฎหมายควบคุมอยู่บ้างเหมือนกัน เพราะถ้าหากคิดจะเปิดโรงงานเป็นเรื่องเป็นราวก็จะต้องไปขออนุญาตจากกรมอุตสาหกรรมทหาร กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกระทรวงมหาดไทยเสียก่อน แต่ก็อย่างว่าของแบบนี้ ถ้าอยากจะทำแบบเถื่อนก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นอะไร แล้วไอ้โรงงานส่วนมากที่ระเบิดกันก็เป็นโรงงานเถื่อนเกือบทั้งนั้น
“สำหรับการผลิตนั้น การควบคุมดูแลโรงงานผลิตดอกไม้เพลิงนั้น เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน โดยจะต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน คือเรื่องของโรงงานนั้น ดูเหมือนว่ามันจะมีทั้งโรงงานที่ขออย่างถูกต้องผลิตแบบมีมาตรฐานและโรงงานเถื่อนแบบที่นั่งทำกันหลังบ้าน แต่นั่นก็เป็นแค่เรื่องของต้นทางของการผลิตเท่านั้น แต่กับการขายและการใช้เราก็ไม่แน่ใจว่าเขามีมาตรการอย่างไรในการควบคุม”
รศ.สุชาตา ชินะจิตร ที่ปรึกษาโครงการฐานความรู้เรื่องความปลอดภัยด้านสารเคมี ผู้ซึ่งมีบทบาทเกี่ยวการรณรงค์เรื่องการควบคุมการใช้ดอกไม้ไฟมาโดยตลอดเล่าให้ฟังถึงปัญหา ที่มีทั้งมาจากต้นทางและกระบวนการจำหน่าย
“เรื่องของการใช้ กับการซื้อขายนี่ ไม่เห็นว่าจะมีการบังคับใช้กฎหมายกันจริงจังเสียทีนะ ส่วนมากก็จะออกไปทางการรณรงค์มากกว่า อย่างงานปีใหม่ที ลอยกระทงที ก็ขอความร่วมมือกันที แต่สำหรับการจุดพลุใหญ่ๆ และจำนวนมากๆ นั้น เข้าใจว่าต้องมีการขออนุญาตก่อน ซึ่งมันจำเป็นในกระบวนการควบคุมความปลอดภัย คือคนที่จะมาจุด มาใช้พลุ - ดอกไม้ไฟพวกนี้ ควรจะเป็นผู้รู้ เป็นผู้เชี่ยวชาญที่ไปดูแลการติดตั้งดำเนินงาน แต่เอาเข้าจริงมันก็ยังไม่มีการควบคุมมาตรฐาน ยังไม่มีการให้ใบอนุญาต มีแต่การสอนต่อๆ กันมา
สุชาตายังกล่าวต่อไปอีกว่าในความเป็นจริง ทั้งพลุและดอกไม้ไฟอื่นถือว่าเป็นวัตถุระเบิด และโดยตัววัสดุแล้วควรอยู่ห่างจากความร้อน ไฟ การสั่นสะเทือนหรือกระแทก ซึ่งเอาเข้าจริงพวกพลุทั้งหลายนี้มันระเบิดง่ายกว่าระเบิดที่ใช้ในการทหารมาก
“การทำวัตถุระเบิดที่ใช้ในการทหารนั้น เขามีการควบคุมอย่างดีมีสัดส่วนของส่วนผสมที่แน่นอน จนสามารถที่จะเคลื่อนย้ายไปไหนมาไหนได้ ถ้าจะใช้ก็ทำให้มันแอคทีฟขึ้นมา แต่กับพวกดอกไม้ไฟผลิตเองนั้น ส่วนผสมก็อาจจะแค่สอนๆ กันมา อาจจะไม่มีความปลอดภัยในการเก็บรักษาหรือขนย้ายมากพอ ข้อเสียอีกมุมหนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครมองกัน ก็คือการจุดพลุนั้นสร้างให้เกิดมลพิษในอากาศ เพราะสิ่งที่ออกมาหลังจุดคือ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซพิษ เมื่อก่อนนั้น อาจจะจุดกันเล็กๆ น้อยๆ แต่เดี๋ยวนี้มากันเป็นมหกรรม ราคาเป็นล้านๆ บาท ซึ่งมันก็ก่อให้เกิดมลพิษมากขึ้นเป็นเงาตามตัว”
ดอกไม้ไฟในเชิงปฏิบัติ
เชื่อเถอะว่าสักพักหลังจากอุบัติเหตุที่สุพรรณบุรีผ่านพ้นไป ทางภาครัฐก็จะต้องออกมากล่าวถึงแนวทางควบคุมและป้องกันภัยจากพลุ ดอกไม้ไฟแน่นอน ซึ่งตามธรรมชาติแล้วมันน่าจะขลังอยู่พักหนึ่ง ก่อนที่จะหย่อนยานกันไป
แต่ถึงอย่างไรเรื่องของการจุดพลุก็ยากที่จะแยกออกจากสังคมไทย ดังนั้นสิ่งที่ทำกันเองได้โดยไม่ต้องรอให้รัฐมาสั่ง ก็ต้องทำกันไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความระมัดระวังในการใช้หรือเรื่องของการเก็บรักษา เพราะเอาเข้าจริงแล้วคนที่มีอาชีพด้านพลุ - ดอกไม้ไฟนั้น เขาไม่อยากให้เกิดอะไรขึ้นมาหรอก
“โกดังที่ผมเก็บของนี่ เป็นโกดังที่ถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่างเพราะตอนที่ไปขอใบอนุญาตต้องทำตามกฎทุกอย่าง โกดังของจึงผมอยู่กลางทุ่ง ห่างจากบริเวณบ้านคนกว่า 4 กิโลเมตร ต้องขุดบังเกอร์ เหมือนทหาร เพราะตอนที่ไปขอใบอนุญาตเขามีกฎมาว่าต้องทำอะไรบ้าง ต้องไปซื้อที่กลางทุ่ง อากาศต้องถ่ายเทได้ดี มีช่องระบาย และมีลมผ่านตลอด”
กรณ์พงษ์ ชมเดช ผู้ประกอบการรับจุดพลุรายใหญ่ในพื้นที่ภาคกลางเล่าให้ฟังถึงระบบรักษาความปลอดภัยที่เกี่ยวเนื่องกับอาชีพของเขา
“ส่วนเรื่องคนมาซื้อเนี่ย ส่วนใหญ่ผมขอจะไปจุดให้เอง ส่วนคนมาขอซื้อไปจุดเองไม่ค่อยขายให้ จริงๆ คนทำพลุเขาจะปฏิบัติตามกฎหมายมากนะครับ อย่างเด็กมาซื้อ เราไม่ขายแน่นอน ผู้ใหญ่เองตอนที่คุยกัน ก็ต้องดูว่าเขาสามรถทำตามที่เราพูดได้ไหม”
โดยหากเกิดความจำเป็น ที่ลูกค้าต้องซื้อไปจุดเองเขาจะกำชับให้อ่านป้ายกำกับวิธีให้ละเอียด และมีข้อบังคับว่าต้องจุดในที่โล่งกว้าง ห่างจากบ้านคนประมาณอย่างน้อย 50 เมตร
“คืออุบัติเหตุเรื่องพลุระเบิดมันมีมาเนืองๆ ทั้งหมดก็เป็นเรื่องความประมาททั้งนั้น เท่าทีดูข่าวมา พอพลุระเบิด ทางหน่วยราชการที่ต้องรับผิดชอบจะเอาแต่โทษที่ผู้ผลิตอย่างเดียว แต่ถามย้อนกลับไปว่า คนทำเขาไม่ได้อยากทำให้พลุระเบิดหรอก ที่ระเบิดมันอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายแล้ว คือตอนจุด ถ้าทำอย่างที่แนะนำไว้ โอกาสน้อยครับที่จะพลาด”
..........
อุบัติเหตุครั้งใหญ่เนื่องมาจากพลุและดอกไม้ไฟที่เพิ่งเกิดขึ้นนั้น แม้มันจะเป็นความสูญเสียที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่ถ้ามองในอีกแง่ เหตุการณ์ครั้งนี้ มันก็เหมือนกับการส่งเสียงเรียกให้คนสังคมหันมามองและใส่ใจกับปมปัญหาเรื่องของการควบคุมดูแลการจุดพลุ - ดอกไม้ไฟ ที่แม้ผ่านมามันจะไม่ได้รุนแรงอะไรมาก แต่มันก็เกิดขึ้นซ้ำๆ อยู่เสมอ
อย่างน้อย หลายชีวิตที่ต้องสูญเสียไป รวมไปถึงทรัพย์สินที่เผาไหม้เป็นจุลไปพร้อมกับไฟก็ควรถูกนำไปใช้เป็นบทเรียน เพื่อในวันพรุ่งนี้จะไม่ต้องมีใครต้องสูญเสียอะไรในลักษณะเดียวกัน
>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : วรวิทย์ พานิชนันท์