xs
xsm
sm
md
lg

ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ในวันที่ว่างงานที่สุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คงไม่ต้องขยายความกันมากถึงบุตรชายของอดีตนายกรัฐมนตรีที่คนไทยจดจำมากที่สุดคนหนึ่ง คือ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ แม้จะหายหน้าหายตาไปนาน สำหรับ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ หรือคนในแวดวงการเมือง วงการสื่อ และทั่วไป ต่างเรียกกันติดปากว่า ‘อาจารย์โต้ง’

การเก็บตัวเงียบๆ กันตัวเองออกจากวงสังคมกระแสหลัก มาทุ่มเวลาให้มูลนิธิต่างๆ ที่ตัวเองดูแลอยู่ พร้อมกับใช้ชีวิตให้ว่างมากที่สุด เพื่อทำในสิ่งที่ตัวเองชอบและพักผ่อนไปในตัว

มาฟังกันว่าวันนี้ของ ไกรศักดิ์มีความสุขแค่ไหน...

ช่วงนี้ห่างหายไปจากกระแสการเมือง
ตอนนี้เรื่องการเมืองก็ไม่ทำอะไรมากแล้ว ผมหมดวาระของการเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แล้วก็ไม่ได้ลงเลือกตั้ง ก็หันมามีชีวิตเป็นราษฎรธรรมดาคนหนึ่ง ก็มีกิจกรรมที่ยังต้องรับผิดชอบในงานของมูลนิธิต่างๆ ผมก็มีเยอะพอสมควร

แล้วในส่วนของการเมืองภาคประชาชน ยังเข้าร่วมอยู่ไหม
หลังจากการเลือกตั้งมา ผมก็ไม่ได้ทำการเมืองเท่าไหร่ ก็พยายามอยู่ในกลุ่มที่เขาเรียกกันว่า กลุ่มเพื่อปรองดองทางการเมือง ก็พยายามจะหาจุดทางปรองดอง ทีนี้ตรงจุดปรองดองทางความหมายของเพื่อไทยกับความหมายของผมมันอาจจะต่างกัน คือความหมายของเพื่อไทยนี่อาจจะว่า เมื่อพฤษภาฯ มีการฆ่ากัน 91 ศพ บอกเขาต้องลงโทษเจ้าหน้าที่ ที่ต่างกันคือเขาไม่ได้พูดเลยว่า เขาฆ่าเจ้าหน้าที่กี่คน ทำเจ้าหน้าที่บาดเจ็บกี่คน ไม่ใช่คนเสื้อแดงอย่างเดียว แล้วไม่ยอมรับว่ามีเสื้อดำที่ใช้อาวุธสงครามต่อประชาชนแล้วก็ต่อเจ้าหน้าที่ด้วย อันนี้ก็เป็นจุดต่างค่อนข้างจะมากเลย
และตราบใดเรายังไม่ยอมรับบทบาทของแต่ละฝ่าย...ก็ลำบาก จุดไหนที่สองฝ่ายยอมกันได้น่าจะเป็นจุดที่ปรองดอง แต่เมื่อฝ่ายหนึ่งไม่ยอมรับในพฤติกรรมของตัวทั้งหมดเลย อดีตรัฐบาลหรืออะไรทำนองนี้จุดยืนเขาก็มองว่าสิ่งที่ได้กระทำลงไป ได้กระทำอย่างถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมดทุกครรลองของการปราบปรามจลาจลที่มีการใช้ความรุนแรงและอาวุธสงคราม จำนวนคนตายก็เยอะ วิธีการมองเหตุการณ์มันมองกันต่างจุดสูงมาก

มองว่ารัฐบาลชุดนี้เป็นอย่างไร
คือการชนะทางการเลือกตั้ง มันค่อนข้างจะชัดเจน ไม่สามารถปฏิเสธได้ ถ้าเอาเรื่องนี้เป็นตัวตั้งนะ ผมคิดว่าต้องให้โอกาสรัฐบาลนี้เขาทำงาน ตามประเพณีก็ในราว 3 เดือน มีเรื่องที่จะต้องทำกันอย่างเร่งด่วนก็คือเรื่องมหาอุทกภัยตอนนี้ที่ระบาดไปทั่วประเทศเลย ในจำนวนจังหวัดมันมากกว่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ ผมว่าอาการหนักแล้ว ก็เรื่องที่ประชาชนเขาติดใจอยู่ จริงๆ แล้ว ก็ต้องเป็นเรื่องที่คุณยิ่งลักษณ์ แสดงให้เห็นว่ามันไม่เป็นจริง ก็คือว่าเขาเป็นเพียงหุ่นเชิดของคุณทักษิณ คนที่ทำธุรกิจมาตลอดชีวิตไม่เคยทำการเมืองเลยก็มักจะพลาดได้ แล้วก็น่าเสียดายที่พลาดในเรื่องใหญ่ๆ เรื่องน้ำท่วมนี่ ทำอะไรมากไม่ค่อยได้ นอกจากว่าเอาของไปให้คน โยกย้ายคนออกจากพื้นที่ ช่วยเหลือในด้านสาธารณสุข ในด้านอาหารการกิน ที่อยู่อาศัย เงินทอง

อยากให้พูดถึงมูลนิธิต่างๆ ที่ดูแลอยู่
มูลนิธิพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นมูลนิธิที่ทำเรื่องเกี่ยวกับการกู้ระเบิด ส่วนใหญ่กู้ระเบิดในประเทศ แต่เคยไปทำหลายแห่งเหมือนกัน ที่โคราชก็เคย ต้องไปเก็บระเบิดที่มันมีอุบัติเหตุ คลังแสงระเบิดอะไรอย่างนี้เป็นต้น เราเชี่ยวชาญในด้านนี้ ทำเรื่องนี้มา 9 ปีแล้ว เป็นหน่วยเอกชนหน่วยแรกเลยที่กู้ระเบิดมากที่สุดในประเทศไทยมากกว่ากองทัพบกอีก แต่ตรงภาคใต้กู้ไม่ได้เพราะระเบิดมันคนละชนิด อันนั้นเขาระเบิดเลย วางปุ๊บระเบิดปั๊บ ที่เรากู้เป็นระเบิดที่วางไว้แล้วคนไปเตะไปเหยียบมัน
ส่วนของมูลนิธิฟรีแลนด์ เป็นมูลนิธิที่สนับสนุนการปราบปรามในเรื่องเกี่ยวกับการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย ก็คือสัตว์ป่าที่มีอนุสัญญาที่จะต้องอนุรักษ์ สัตว์ป่าทั่วไปนะ ลิสต์ของมันยาวมาก ก็ในราวเกือบพันกว่าชนิดที่มีการค้ากันในโลกนี้ เมืองไทยที่ค้ากันหลักๆ ก็เป็นตัวนิ่ม งู หมี เสือ นอแรด งาช้าง อย่างนี้เป็นต้น สัดส่วนของสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะสัตว์ที่อยู่ในไซเตส (CITES - อนุสัญญาระหว่างประเทศที่มีเป้าหมายในการควบคุมไม่ให้การค้าสัตว์ป่าและ พืชพรรณระหว่างประเทศเป็นภัยคุกคามความอยู่รอดของสัตว์ป่าและพืชพรรณใน ธรรมชาติ โดยเฉพาะสัตว์ป่าและพืชพรรณที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ และดำรงไว้เพื่อสืบพันธุ์ต่อไป ข้อตกลงครั้งนี้ได้ร่วมกันลงนามเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 1973 ณ กรุงวอชิงตัน และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1975 ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกเข้าร่วมโครงการกว่า 170 ประเทศทั่วโลก)
ทางมูลนิธิฟรีแลนด์จะเชื่อมโยงกับไซเตส คือเราทำงานกับตำรวจของอาเซียนทั้งหมด เราช่วยเขาตั้งหน่วยงาน เป็นเครือข่ายของอาเซียนที่จะปราบปรามเรื่องพวกนี้ แล้วก็มูลนิธิเป็นมูลนิธิที่ฝึกแล้วก็ทำเทรนนิ่ง ทำการศึกษา ทำระบบเน็ตเวิร์กกิ้ง ระหว่างเอ็นจีโอกับเจ้าหน้าที่ในการปราบปราม กับชุมชนในป่าต่างๆ ที่อินโดนีเซีย ที่เขมร ที่ลาว อย่างนี้เป็นต้น

มูลนิธิศิลปวัฒนธรรมตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง
มูลนิธิศิลปวัฒนธรรมของเรานี่ก็เป็นมูลนิธิแรกนะ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อจะทำหอศิลป์กทม. ทีนี้เราก็เป็นมูลนิธิที่จัดเทศกาล เพิ่งจัดแจ๊ซเสร็จไป มาจาก 12 ประเทศ ก็ได้การสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม แล้วก็สำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ดร.อภินันท์ (ดร.อภินันท์ โปษยานนท์) ก็ช่วยเราในเรื่องงบประมาณ แล้วก็สถานทูตเกือบ 10 สถานทูตมีงบประมาณของเขาให้เรา

แล้วหอศิลป์ฯ จากอดีตถึงวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง
ตอนนั้นผมเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ พิจิตร รัตตกุล เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ผมกับอาจารย์พิพัฒน์ (พิพัฒน์ พงศ์รพีพร) และอาจารย์อีกหลายๆ คน เป็นฝ่ายริเริ่มที่จะทำหอศิลป์ แต่พอคุณสมัคร (สมัคร สุนทรเวช) มาเป็นผู้ว่ากรุงเทพฯ ก็จะแปรรูปมาเป็นห้างสรรพสินค้า เราก็ประท้วงกันจนกระทั่งคุณสมัครต้องออกไป แล้วก็คุณอภิรักษ์มาเป็นก็ได้สร้างหอศิลป์อันนี้ ตอนนี้หอศิลป์ก็ไปได้ดีแล้ว ได้เป็นอิสระจากทางกทม. แล้วก็ตั้งเป็นมูลนิธิที่มีบอร์ดบริหารของตัวเองใช้เงินอย่างไม่ต้องผ่านกทม. แต่กทม.นั้นสนับสนุนด้วยงบประมาณก้อนหนึ่ง หอศิลป์ก็บริหารตามงบประมาณอันนั้นก็มี ผอ.ของตัวเอง แล้วก็ทีมการงานของตัวเองแล้วตอนนี้ แล้วก็มีรายได้เพิ่ม มีเล็กๆ น้อยๆ ทางธุรกิจก็มีบ้างแต่ไม่มาก แต่ว่าใครจะมาแสดง องค์กรไหนจะมาแสดงก็ต้องมีชาร์ทแต่ไม่มาก เป็นการคิดค่าพื้นที่ซึ่งไม่มากขึ้นอยู่กับองค์กรที่มาจัดด้วย องค์กรสิทธิมนุษยชนเป็นส่วนใหญ่ที่มาจัด องค์กรสิ่งแวดล้อม สถาบันต่างๆ ของศิลปวัฒนธรรมต่างประเทศและภายในประเทศ การศึกษา กลุ่มสมาคมพวกนักดนตรี นักแสดงละคร อย่างนี้เป็นต้น ก็มีกิจกรรมตลอดปี คึกคัก

ช่วงอยู่บ้านทำงานอะไรบ้าง
โอ้ย! งานผมเยอะ เพียงงานที่จะวิเคราะห์สถานการณ์ แล้วก็เขียนจดหมายถึงคนในเว็บไซต์เนี่ย มันก็เยอะแล้วนะ ผมว่านะ ซึ่งพูดจริงๆ แล้วเป็นช่วงที่ผมว่างงานที่สุดซึ่งสบาย ผมรู้สึกสบายอกสบายใจที่มีโอกาสได้ไปต่างจังหวัดตามใจชอบ ใช้เวลาส่วนตัว ดูแลในงานบางงานที่เราดูแบบผิวเผินมาในอดีตก็ได้เข้ามาดูให้มันมากขึ้น

อย่างนี้แสดงว่าน่าจะมีมูลนิธิอื่นๆ นอกเหนือจากที่ทำมาในอดีต
ตอนนี้ผมก็เป็นประธานมูลนิธิที่ชื่อ การพัฒนาและการศึกษาพังงา เป็นมูลนิธิที่พังงา ดูแลเด็กชาวพม่า 800 กว่าคน ในจำนวนนั้นราว 300-400 คนเป็นเด็กกำพร้า ต้องลงไปดูอยู่เรื่อยๆ แล้วเป็นมูลนิธิที่มีชาวพม่าเป็นฝ่ายบริหาร ส่วนใหญ่ประกอบด้วยชนกลุ่มมอญ ชาวกะเหรี่ยง มุสลิมก็มีนะ ชาวพม่าด้วย โรฮิงญารู้สึกเคยมีแต่ไม่มีแล้ว โรฮิงญาเขามาต่างหากเลย พวกมอร์แกนก็ไม่ได้อยู่กับเรา พวกมอร์แกนจะมีกลุ่มที่เขาไม่ยินยอมจะเรียนหนังสือ เคยเข้าไปคุยแล้ว มีของเรานี่ก็เด็กที่พ่อแม่ตายไปในช่วงสึนามิด้วย ตอนนี้ก็เริ่มโตแล้ว เราก็ไม่รู้จะเอาไปไว้ที่ไหน การศึกษาไทยก็ต้องมีสตางค์ เขาไม่รับฟรี เป็นเด็กพม่าด้วยอยากจะหากองทุนให้เขา ให้เขาได้เรียนที่มหาวิทยาลัยอย่างมหิดล ธรรมศาสตร์ อะไรบ้าง
พูดแล้วค่อนข้างจะกลุ้มใจเพราะว่า เราไม่รู้ว่าจะเอาบัตรประจำตัวเขายังไง จดทะเบียนยังไง มีแต่ทะเบียนเกิด หรือว่าทะเบียนที่เราจดไว้ในโรงเรียน มีประกาศนียบัตรการศึกษาอะไรอย่างนี้ มากกว่านั้นไม่มี ขับรถก็ไม่ได้ ขี่มอเตอร์ไซค์ก็ไม่ได้ เป็นเจ้าของอะไรไม่ได้เลย อันนี้เป็นชนกลุ่มที่มาจากพม่า เรื่องเด็กพม่าที่ไม่มีที่เรียน ผมคิดเรื่องนี้มากเพราะว่าผมไปดูที่มหาชัยเป็นแสนเลยนะ แล้วก็ไม่รู้อีกกี่ล้านคนที่ตาก ระนอง เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย ลำปาง ลำพูน

ตอนนี้ยังเล่นดนตรีอยู่
ชอบเล่นกีต้าร์ เล่นกลอง เล่นเบส เล่นสตริงเป็นส่วนใหญ่ ไวโอลินนิดหน่อย เปียโนนิดหน่อย

สะสมกีต้าร์หรือเปล่า
สะสม (พาเข้าไปดูห้องดนตรี) ผมเปิดเพลงแล้วก็เล่นกลองในทำนองที่ผมชอบ ช่วงนี้เข้ามาบ่อยเหมือนกันเพราะค่อนข้างมีเวลา แล้วผมก็นั่งเล่นของผมไปเรื่อย

มีหนังสือเยอะมาก มีเล่มโปรดไหม
‘Lineages of the Absolutist State’ ของ Perry Anderson (เป็นนักทฤษฎีทางประวัติศาสตร์ในแนวมาร์กซิสม์) เรื่องเกี่ยวกับรากเหง้าของเผด็จการ ของรัฐต่างๆ ถามว่าทำไมรัสเซียไม่ว่าจะพัฒนาไปในทางไหนก็ยังเป็นเผด็จการอยู่ หรือจีนเป็นต้น เพราะว่าจุดเริ่มต้นของการก่อตัวของรัฐเขาเป็นเผด็จการสูงมาก ไม่เคยอรอมชอมหรือปล่อยอำนาจให้มันมีการย่อยสลายของการผูกขาดอำนาจ

แล้วกีฬายามว่าง...ชอบกีฬาอะไร
ผมชอบขี่ม้า ผมชอบขี่จักรยาน ที่ปากช่องส่วนใหญ่ ขี่ม้าขี่ขึ้นเขา แล้วก็ขี่จักรยานวิบาก ขี่มอเตอร์ไซค์ จะถือว่ามอเตอร์ไซค์เป็นกีฬารึเปล่าไม่รู้นะ แต่ขี่เสร็จก็เหงื่อซิกเหมือนกัน ชอบมอเตอร์ไซค์สปอร์ตเป็นส่วนใหญ่ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยขับรถแล้ว

เห็นรูปวาดเยอะมากรอบๆ บ้าน ช่วงนี้คงได้วาดรูปเยอะขึ้น
ใช่! ซึ่งมีความสุขที่สุด วาดรูปบ่อย เยอะเหมือนกัน ข้างบนอีก ผมมีอีก 2 ห้องอีกที่เขียนรูป ห้องนอนผมก็เขียน (หัวเราะ) นอนไม่หลับก็ตื่นมาเขียน

เคยผ่านการเรียนวาดรูปมาก่อนไหม
เริ่มต้นชีวิตของผมเป็นนักศึกษาก็มาทางด้านศิลปะแต่ว่ามันไม่สำเร็จ ก็ไปเรียนทางประวัติศาสตร์ เรียนทางสังคมศาสตร์ การเมืองเสียจนมองว่า การวาดรูปมันเป็นเรื่องไร้สาระไปในช่วงตั้งหลายปี ไปๆมาๆ พอเริ่มต้นที่จะวาดรูปก็ได้เห็นว่ามันไม่ได้ไร้สาระนะ การวาดภาพ การทำงานศิลปะ มันไม่ใช่ไร้สาระเลย แต่มันเป็นงานที่ต้องใช้สมาธิ ต้องใช้เทคนิค ต้องใช้ทักษะต่างๆ จินตนาการ คณิตศาสตร์ คอมโพซิชัน เพอร์สเป็กทีฟ สี ฟอร์ม อะไรอย่างนี้ ก็วาดตามใจเรา เพราะว่าเราไม่ได้กะจะขาย แต่ว่าให้คนอื่นดูแล้วก็ไม่น่าเกลียด
ตอนนี้มีเจ้าหนึ่งเข้ามาพยายามจะสั่งงาน ให้ผมเขียน ซื้อผลงานหมด ผมขายไปจำนวนเยอะแล้วไม่ขายแล้วตอนนี้ เพราะว่าเขาเริ่มที่จะมาทำให้ผมทำงานไม่ได้ คือบอกว่าอยากได้ภาพอย่างนี้ถึงจะซื้อ

ชอบวาดรูปแนวไหน
(พาเดินชมภาพวาดในบ้าน) ผมชอบธรรมชาติ นี่ผมเขียนคนก็ต้องมีผีเสื้อมาเกาะ ผมชอบสีอะคริลิก คือสีน้ำนี่มันแก้ไม่ได้ (หัวเราะ) สีอะคริลิกนี่บางทีทาทับได้ ส่วนสีน้ำมันนี่มันจะเหม็นไปสำหรับผม ไม่ดีต่อสุขภาพ อันนี้เป็นภูเขาที่กระบี่ ไม่เหมือนเลย (ชี้ให้ดูรูป พร้อมกับเอาภาพที่ถ่ายมาเทียบกับภาพวาด) แต่ผมอยากจะทดลองสีสัน ทดลองจินตนาการของตัวเองให้ต่างไปเลย
(พาเดินดูที่ห้องลูกสาว) ผมก็เอารูปมาติดให้เขา (ชี้ให้ดูรูปวาด) ผมมีลูกสาวผมเลยเขียนรูปเด็กผู้หญิงเยอะมากเลย แต่ลูกสาวไม่ยอมเป็นแบบให้ผม เรียนกันทั้งคู่ไม่ว่าง

เห็นว่าช่วงที่ป่วยทำให้ได้วาดรูปมากขึ้น
ผมไม่ได้วาดมา 30 กว่าปี 40 ปีแล้วมั้ง ตอนผมป่วยหนักเข้าโรงพยาบาลก็ทำให้ดีขึ้น ในช่วงที่ผมป่วยผมวาดทุกวันในโรงพยาบาล เพราะรู้สึกว่าในช่วงที่วาดเนี่ย สมาธิเราต้องอยู่ที่การวาด ร่างกายที่มันเจ็บปวดมันจะหายไปช่วงนั้น แต่ข้อสำคัญคือการตั้งสมาธิที่จะวาด เพราะบางทีมันปวดแล้วก็ไม่มีสมาธิ แต่ต้องเอาชนะความปวดแล้วมามีสมาธิในด้านศิลปะ มันก็ช่วยได้ 3-4 ชั่วโมง แต่มากไปกว่านั้นก็ไม่ไหวเหมือนกัน

หลังจากนี้คิดว่าจะกลับเข้าวงการการเมืองอีกไหม
ผมว่ามันหมดยุคแล้วสำหรับผมนะ ก็จะใช้ช่วงพักนี้ไปตลอดชีวิต

>>>>>>>>>>>

………

เรื่อง: ณัฏฐา เทพบำรุง
ภาพ: พลภัทร วรรณดี







กำลังโหลดความคิดเห็น