xs
xsm
sm
md
lg

'เชิดสิงโต' วัฒนธรรมที่ยังมีลมหายใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เทศกาลกว่อชุนเจี๋ย หรือที่เราๆ ท่านๆ รู้จักกันดีในนามของเทศกาลตรุษจีนนั้น ถือได้ว่าเป็นการเฉลิมฉลองการขึ้นปีใหม่ของคนเชื้อสายจีนทั้งในและนอกประเทศ และถ้าหากกล่าวถึงสัญลักษณ์ของวันตรุษจีนแล้วล่ะก็ หลายๆ คนคงนึกถึงสีแดง เสียงประทัด ซองอั๋งเปา ฯลฯ

แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยในเทศกาลเฉลิมฉลองแบบนี้ ก็คือ ‘ขบวนแห่สิงโต’ ซึ่งคนจีนถือว่าเป็นสัตว์มงคลที่จะนำโชคลาภมาให้

ซึ่งในความจริงแล้ว ไม่ใช่แต่เพียงในเทศกาลตรุษ-สารทเท่านั้น ที่จะมีโอกาสได้เห็นการเชิดสิงโต แต่งานใดก็ตามที่ถือเป็นงานมงคลของชาวไทยเชื้อสายจีน ไม่ว่าจะเป็นงานขึ้นบ้านใหม่ เปิดโรงงานกิจการ คณะสิงโตก็มักจะเข้าไปมีบทบาทอยู่เสมอ
 
ดังนั้น ที่ผ่านมาการเชิดสิงโตจึงกลายเป็นศาสตร์แขนงที่สามารถประกอบเป็นอาชีพได้ แต่ทว่า ในยุคที่กระแสวัฒนธรรมตะวันตกหลั่งไหลถาโถมเข้ามาผสมปนเปกับวัฒนธรรมตะวันออกเช่นทุกวันนี้ เหล่าคณะสิงโตนั้นยังคงสายดีอยู่ไหม? และมีการปรับตัวอย่างไรบ้าง

ต้นกำเนิดการเชิดสิงโต

เป็นที่ทราบกันดีว่า วัฒนธรรมการเชิดสิงโตนั้นย่อมมีจุดเริ่มต้นมาจากประเทศจีน เพราะเดิมทีสิงโต (หม่งไซ หรือ ไซ) นั้น เป็นสัตว์วิเศษในจินตนาการของชาวแดนมังกร

ซึ่งความเป็นมาเชิดสิงโตนั้น เริ่มต้นในรัชสมัย พระเจ้าเคี่ยนหลงกุน (หลี่ซื่อหมิน) แห่งราชวงศ์ชิง ที่วันหนึ่งขณะเสด็จออกมายังท้องพระโรง ก็เกิดเหตุประหลาดขึ้น คือท้องฟ้าที่สว่างๆ กลับมืดสลัวลง และจู่ๆ ก็ปรากฏสัตว์ประหลาดรูปร่างคล้ายกับสุนัขตัวใหญ่ ลอยลงมาจากฟ้า ก่อนจะหยุดตรงหน้าที่ประทับ แล้วหมอบลงก้มศีรษะทำความเคารพพระองค์ และลอยหายไปบนฟ้าในที่สุด
สัตว์ประหลาดตัวที่ว่าก็คือ ‘สิงโต’ นั่นเอง

เมื่อเรื่องนี้ก็ได้ร่ำลือกันต่อๆ ไป ประชาชนจึงพากันจัดหารูปสิงโตมาตั้งเคารพบูชาไว้ที่บ้านของตน จนกระทั่งวันหนึ่งมีชาวจีนไม่ทราบชื่อ แต่แซ่โง้ว ได้คิดทำหัวสิงโตขึ้นและใช้เชิดเพื่อคาราวะคนที่มีบุญญาธิการ และทำให้การเชิดสิงโตกลายเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความเป็นมิ่งมงคลในที่สุด

แต่ถึงแม้ว่าการเชิดสิงโตจะเป็นวัฒนธรรมของชาวจีนก็จริง แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว การเชิดสิงโตกลับนำเข้ามาโดยผ่านทางญวนหรือเวียดนามต่างหาก

“เรื่องนี้มีหลักฐานในพระราชพงศาวดาร ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่า องเชียงสือ (จักรพรรดิแห่งเวียดนาม) ได้ฝึกหัดคนญวนให้เล่นสิงโตล่อแก้ว และสิงโตคาบแก้ว เพื่อใช้ในการเล่นถวายตัวแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งท่านก็โปรดให้มีการเล่นที่หน้าพลับพลาที่ประทับเลย”
วัชระ มานิตราษฎร์ ประธานชมรมส่งเสริมกีฬาเชิดสิงโต-มังกรประเทศไทย เล่าให้เราฟังถึงประวัติความเป็นมาของการเชิดสิงโตในประเทศไทย

แต่ทว่า สิงโตที่เชิดกันในทุกวันนี้กลับเกิดจากชาวจีนหัวเฉียว (จีนโพ้นทะเลที่อพยพออกมาจากจากประเทศจีน) เป็นส่วนมาก เพราะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ประเทศจีนมีการปฏิวัติวัฒนธรรม ทำให้วัฒนธรรมเก่าถูกโละทิ้งหมดเลย แต่คนจีนโพ้นทะเลที่อพยพมายังเมืองท่าของประเทศอื่นๆ นั้นก็ยังพยายามจะรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเองไว้ จากนั้นก็จะเริ่มแสดงความเป็นชาตินิยมในลักษณะที่เรียกว่า ค่อยๆ น้อมนำให้คนอื่นทำตาม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกว่า ทำไมมาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนามจึงมีวัฒนธรรมเหล่านี้อยู่เช่นกัน

ไม่เพียงแค่นั้น เมื่อมองไปถึงรูปแบบและท่าทางของการเล่นสิงโต ก็จะพบว่าแท้จริงมันยังมีเคล็ดลับวิชามวยของจีนซุกซ่อนอยู่ด้วย โดยว่ากันว่า คนสมัยก่อนจะใช้การเชิดสิงโตเป็นอุบายหนึ่งในการสอนและถ่ายทอดวิชา โดยเฉพาะวิชามวยเท้า ฉะนั้นการเชิดสิงโตแบบจีนดั้งเดิม จึงต้องมีท่าเท้าที่ถูกต้องก่อน

“ท่าเท้าของการเชิดสิงโตแบบดั้งเดิมนั้นมี 18 ท่า แต่คนไทยไม่ได้รับตรงนั้นมา คือสิงโตบ้านเราเป็นการเรียนการถ่ายทอดกันแบบมุขปาถะ แต่ชาวจีนโพ้นทะเลที่มาอยู่ในบ้านเราเขาก็มีวิชาอยู่เหมือนกันแต่เขาก็มาสอนไม่ได้เต็มที่ เนื่องจากว่าคนจีนในสมัยก่อนยังไม่ได้รับการยอมรับ อีกอย่างในสมัยนั้นคนจีนก็จะออกมาเล่นสิงโตกันตอนตรุษจีน แต่พอออกมาเสร็จก็มักจะตีกัน รัชกาลที่ 5 ท่านก็เลยบอกว่า ถ้ามีปัญหานักก็ให้เลิกเล่น ซึ่งกว่าจะกลับมาเล่นกันอีกทีก็ในสมัยรัชกาลที่ 7-8 ไปแล้ว คือหายไปช่วงหนึ่งความรู้ที่ถ่ายทอดกันก็ขาดช่วงไป

“แต่ต่อมา คนไทยก็รับสิงโตแบบแต้จิ๋วเล่น มีการต่อตัว คือคนแต้จิ๋วหรือกวางตุ้งนั้นเข้ามาทำงานเป็นกรรมกร เป็นช่างไม้ในไทย ดังนั้นจึงเอาวิถีในอาชีพเขามาสร้างวัฒนธรรม เขามีมีห้างนั่งร้าน มีกระบอกไม้ไผ่ เขาก็เอามาเป็นอุปกรณ์การเชิด ก็ประยุกต์เป็นการก่อตัว ออกไปทางกายกรรมไป”

อย่างไรก็ดี แม้ทุกประเทศชาวจีนโพ้นทะเลอพยพเข้าไปอาศัยไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ จีน เวียดนามหรือไทยจะมีการเชิดสิงโตเหมือนกัน แต่ถ้าจะพูดถึงการเชิดสิงโตที่เป็นกีฬาแล้ว การเชิดสิงโตแบบที่ถือว่ามาตรฐานกลับไปอยู่ในพื้นที่มาเลเซีย ซึ่งเป็นของชาวมลายู

“เมื่อเวลาผ่านไป การเชิดสิงโตในแต่ละที่มันก็มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมขึ้น อย่างที่มาเลเซียเขาไม่ยึดถือท่าเท้าแบบดั้งเดิมกันแล้ว แต่คนมาเลเซียบอกว่าต้องเชิดให้มีลีลาเหมือนกับหมาพันธุ์พุดเดิ้ล หรือไม่ก็เหมือนแมว ก็คือยิ่งทำเป็นหมาพุดเดิ้ลมากเท่าไหร่ คะแนนก็ยิ่งดีเท่านั้น ทีนี้ก็เกิดปัญหาขึ้นมาแล้วครับว่า คนจีนจะยึดถือท่าเท้า เป็นหลักแต่คนมาเลเซียไม่ยึดท่าเท้า และมาเลเซียเขาก็ทำเป็นมาตรฐานการแข่งขันกีฬาขึ้นมา มีการคิดการเล่นบนเสาดอกเหมยขึ้น (เสาต่างระดับที่มีฐานกลมเล็กๆ อยู่ตรงปลาย เพื่อให้ผู้เชิดปีนป่าย) ตอนนี้ก็ส่งผลให้ตอนนี้คนไทยเราพยายามหันมาเล่นสไตล์มาเลเซียกันแล้ว”

ชีพจรของคณะสิงโตในไทยในปัจจุบัน

ถึงแม้ว่าในขณะนี้ คณะสิงโตใหญ่ๆ หลายคณะในประเทศไทย จะมีหันไปเล่นสิงโตเพื่อการแข่งขันระดับโลกกันบ้างแล้วแต่ คณะส่วนมากก็ยังต้องอยู่กับงานรับจ้างในประเทศเป็นหลัก ซึ่งจะว่าไปก็จัดได้ว่าไม่ถึงขั้นขัดสน

“ตอนนี้ถ้านับดูก็จะมีคณะสิงโตอยู่ในประเทศไทยประมาณ 150คณะ แต่ถ้านับคณะเล็กๆ ด้วยก็จะมากกว่านั้น คือคณะสิงโตใน กทม. นั้นจะอยู่ที่ย่านตากสิน, วงเวียนใหญ่, ตลาดพลูเกือบทั้งหมด ช่วงนี้งานก็จะเยอะมาก ซึ่งโดยปกติแล้วก็จะมีงานมาอยู่เรื่อยๆ เพราะพวกงานมงคลงาน ขึ้นบ้านใหม่เปิดโรงงาน แต่งงานเขาก็จะจ้างสิงโตไปทั้งนั้นเพราะคนจีนถือว่าเป็นสัตว์มงคล แต่ก็ไม่ใช่ทุกคณะนะ อย่างช่วงหน้าฝนนี่บางคณะที่ไม่เป็นที่รู้จักมากงานก็จะน้อยหน่อย แต่กับคณะที่มีชื่อเสียงก็จะมีงานตลอด เพราะมีฐานลูกค้าเก่าอยู่” อรุณ พึ่งยนตร์ ทีมงานของเวปไซท์ สยามไลอ้อนแดนซ์ ซึ่งเป็นสื่อกลางของคณะสิงโตในประเทศไทยกล่าวถึงสภาวการณ์ของการจ้างงานในปัจจุบัน

“ในการแสดงชุดหนึ่งๆ นั้น อย่างต่ำก็จะมีคนตีกลอง 1 คน คนตีฉาบ 2 คนตีถาดเหล็กคนนึง คนเชิดสิงโตก็ใช้ 2 คนที่หัวกับหางรวมแล้วก็ 6 คน ซึ่งคณะเล็กๆ คณะหนึ่งก็จะมีคนอยู่ในนั้นสัก 15 คนขึ้นไป เพราะบางทีต้องออกแสดงหลายชุดพร้อมกัน ส่วนคณะใหญ่ๆ นี่มี 70 - 80 คนหรือมากกว่านั้นเลย อย่างชุดเล็กนั้นราคาโดยทั่วไปในกรุงเทพก็อยู่ที่ 7000 - 8000 บาท เล่นสัก 20 นาทีถึงครึ่งชั่วโมง เช่นพวกงานเปิดป้ายต่างๆ ส่วนงานที่ใช้ชุดใหญ่มีทั้งมังกรทั้งสิงโต ราคากลางๆ ก็จะอยู่ที่ประมาณ 7 หมื่น แต่ถ้าไปเล่นต่างจังหวัดในช่วงตรุษจีนที่งานชุกๆ อย่างถ้าไปภูเก็ตนี่ก็ประมาน 2 แสนบาท มันอยู่ที่ช่วงเวลาด้วย”

อรุณเล่าต่อไปอีกว่าคนที่จะเข้ามาในคณะสิงโตได้นั้น ส่วนมากก็มักจะเป็นเด็กในชุมชนหรือคนที่รู้จักกันอยู่แล้ว ซึ่งมีหลายคนที่เข้ามาทำอาชีพนี้เต็มตัว และหลายคนก็มีงานประจำแต่มีใจรักก็จะเข้ามาฝึกซ้อมในเวลาว่าง แต่ถ้าเป็นตามงานของสมาคมหรือศาลเจ้าในต่างจังหวัด คนที่เข้ามาเชิดก็มักจะรับสมัครกันเป็นงานๆ ไป แต่ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน การฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอก็เป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้

“การฝึกซ้อมต้องมีวินัยในการฝึกนะ บางคนเล่นตั้งแต่เป็นเด็กยอดจนโตมาไล่มาเป็นตัว 2 ตัว 3 ต้องออกกำลังกายทุกวันนะ ถ้าไม่แข็งแรง ไม่ซ้อมก็แสดงไม่ได้ ถึงแม้บ้านเราจะเป็นสิงโตพื้นมาก่อน ที่สอนสืบทอดกันมาจากคนเก่าคนแก่ และต่อให้ไม่ใช่การแสดงแบบผาดโผน ถ้าไม่ฝึกท่ามาก่อน ไปจับหัวก็เชิดไม่ได้ ต้องรู้ว่าเดินอย่างไร คำรามอย่างไร”
และเนื่องจากสิงโตเป็นตัวแทนที่สื่อถึงความเป็นมงคล ดังนั้นคนที่อยู่ในรุ่นเก่า หรือกลางเก่ากลางใหม่ก็มักจะนิยมชมชอบการเชิดสิงโตอยู่ไม่เสื่อมคลาย อย่าง ชูศรี แต้มบุญนาค แม่ค้าวัยกลางคนเชื้อสายจีนก็บอกว่า

“สิงโตเป็นสัตว์มงคล เมื่อมีเทศกาล อย่างตรุษจีนนี้เนี่ย ก็จะมีสิงโตมาเชิด เขามาอวยพรให้เราเฮงๆ รวยๆ โชคดีตลอดปี แถมยังสร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่เด็กๆ ด้วย ทำให้งานดูสนุกสนานมากขึ้นอีก”

แต่กระนั้นคนรุ่นใหม่ที่ไม่ชอบดูการเชิดสิงโตเลยก็มีอยู่ไม่น้อย
“ไม่ชอบดูเชิดสิงโต เพราะเสียงมันดัง อีกอย่างที่บ้านก็ไม่มีใครดู แล้วปัจจุบันมันก็หาดูยากทำให้เราไม่ได้สนใจ หรือใส่ใจที่จะดู เดี๋ยวมีมันมีการแสดงอื่นๆ ที่น่าสนใจกว่าอีกเยอะ อย่างพวกละครเวที อะไรแบบนี้ ดูแล้วได้อารมณ์ที่หลากหลายกว่า” ชนัญญา ลิมป์กาญจนวัฒน์ สาวนักศึกษากล่าวถึงความรู้สึกที่มีต่อการแสดงเชิดสิงโต

แต่สำหรับคนที่อยู่กับสิงโตมาทั้งชีวิตอย่างอรุณนั้น ก็ยังเชื่อมั่นว่า การแสดงสิงโตจะอยู่คู่กับวิถีชีวิตของชาวไทยเชื้อสายจีนไปอีกนาน เพราะนอกจากมันจะมีมิติทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาแล้ว การแสดงชนิดนี้ยังมีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยอยู่เสมอ
“ถ้าลองมาดูในแถบฝั่งธนฯ ความนิยมในคณะสิงโตนั้นก็ไม่ได้ลดลงไป นอกจากช่วงตรุษจีนแล้ว ในช่วงเข้าพรรษาตามวัดเขาก็จะมีแห่สิงโตด้วย มันผสมผสานกันไปหมดแล้ว ทั้งคนไทยคนจีนก็นั้นก็อยู่ร่วมกันไปหมด งานเปิดโรงงานของคนไทยก็มีสิงโตไปแสดงเหมือนกัน และเดี๋ยวนี้วิวัฒนาการของสิงโตมันก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย มีการปรับตัว อย่างเมื่อก่อนไม่มีการโดดเสาดอกเหมย แต่ตอนนี้ก็มี มีการเล่นผาดโผนมากขึ้น มีการไปแข่งที่ต่างประเทศ มันสามารถปรับตัวให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจได้ ผมเชื่ออย่างนั้นนะ”

**********

เรื่อง เอกชาติ ใจเพชร
ขอบคุณภาพประกอบจาก คุณอรุณ พึ่งยนตร์ และคุณนพดล เย็นสมใจ







กำลังโหลดความคิดเห็น