ทันทีที่ข้อความจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยโพสต์ถึงประชาชนชาวลุงแซมในกรุงเทพฯ ‘Recall : Emergency Message to U.S. Citizens: Possible Terrorist Threat’ ปลิวว่อนอยู่ในโลกโซเซียล เน็ตเวิร์ก เมื่อวันศุกร์ที่ 13 มกราคม 2555 ก็ทำเอาสถานการณ์ต่างๆ ในเมืองหลวงแห่งนี้วุ่นวายกันทีเดียว เพราะถ้อยคำสั้นๆ นี้ได้ระบุถึงเมืองไทยกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะมีผู้ก่อวินาศกรรมภายในประเทศ
ซ้ำร้ายคล้อยหลังอีกไม่กี่วัน ก็มีสถานทูตอีก 11 ประเทศคือ อังกฤษ ออสเตรเลีย ออสเตรีย อิตาลี ญี่ปุ่น ไอร์แลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และแคนาดา ที่ออกมาประกาศเตือนประชาชนในลักษณะเดียวกันเป๊ะๆ สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นอย่างยิ่ง เพราะข้อความที่ออกมาทั้งหมดนี้ สถานทูตไม่ได้มีการปรึกษาหารือกับตัวเองเลยแม้แต่น้อย แถมยังทำให้ความเชื่อมั่นของผู้คนที่จะเดินทางเข้าประเทศต่ำอีกด้วย
แต่ทว่า เรื่องนี้คงไม่ใช่ปัญหาอะไรมาก หาก ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีไม่ไปให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ว่า รู้เรื่องนี้มาก่อนปีใหม่แล้ว และก็ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่เข้ามาดูแลพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสถานที่ท่องเที่ยว เช่นตรอกข้าวสาร เพราะนั่นหมายความ เมื่อรัฐบาลรู้เรื่องมาเกือบครึ่งเดือน แต่เหตุไฉนถึงไม่ยอมออกมาประกาศแจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบหรือระมัดระวางตัวเลย หรือว่ารัฐบาลกำลังห่วงเรื่องอื่นมากกว่าความปลอดภัยของประชาชนกันแน่
[1]
จริงอยู่ แม้ที่ผ่านมา มีผู้รู้หลายคนออกมาวิเคราะห์ว่า ไทยมีความเสี่ยงเพราะชาวอิสราเอล หรือชาวยิว ซึ่งถือเป็นคู่แค้นของชาวอาหรับ ที่ถูกหาว่าเป็นผู้ก่อการร้ายมาเที่ยวเยอะ แล้วในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไทยยังได้เกียรติจากสหรัฐอเมริกาประกาศให้เป็นพันธมิตรนอกนาโต้อีก แถมเวลาสงครามเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอัฟกานิสถาน หรืออิรักก็ยังมีทหารเข้ามาช่วยในพื้นที่อีกต่างหาก เพราะฉะนั้นคงไม่ใช่เรื่องแปลก หากชาติคู่แค้นของตะวันตกเกิดคิดจะแก้แค้น ไทยก็มีโอกาสเป็นตัวเลือกแรกที่กลุ่มการก่อร้ายจะลงมือ
แต่เมื่อย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ระยะใกล้แล้ว ก็จะพบว่าแม้ในช่วงที่โลกกำลังตื่นเรื่องการก่อร้ายอยู่ ไทยกลับไม่เคยเผชิญเหตุการณ์แบบนี้จริงๆ สักครั้ง เพราะสิ่งที่เกิดในเมืองไทย ส่วนใหญ่หากไม่ใช่เป็นทางผ่าน ก็มักจะเป็นที่หลบส่วนตัวเสียมากกว่า เช่น กรณีของ วิคเตอร์ บูท อดีตเจ้าหน้าที่กองทัพรัสเซีย ซึ่งเปลี่ยนอาชีพมาคนค้าอาวุธสงครามระดับโลก หรือแม้แต่ แอททิส ฮุสเซ็น ชาวเลบานอนและสมาชิกก่อการร้ายฮิซบอลเลาะห์ที่พึ่งถูกจับได้ ก็เข้าเมืองไทยมาแล้ว 11 ครั้งในรอบ 2 ปี โดยไม่ได้ทำอะไรเลย
จะมีที่เสี่ยงสุดก็คงจะเป็นกรณีของ ริดวน อิซามุดดิน หรือที่รู้จักกันในชื่อ 'ฮัมบาลี' แกนนำกลุ่มก่อการร้ายเจไอที่ลักลอบเข้ามาเมืองไทยทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก่อนที่จะถูกทางการไทยและซีไอเอจับกุมได้ พร้อมกับระเบิดและคอมพิวเตอร์ ซึ่งไว้สำหรับโจมตีสายการบินพาณิชย์และโรงแรมชื่อดัง 2 แห่งในกรุงเทพฯ ที่บริหารโดยนักธุรกิจชาวอเมริกัน ระหว่างช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก ที่กำลังจะมีขึ้นนที่ 20-21 ตุลาคม 2546 เพียงเท่านั้น
คำถามก็คือ เพราะเหตุใดประเทศไทยถึงมีผู้ก่อร้ายทั่วโลกแวะเวียนเข้ามามากมายเช่นนี้ แน่นอนในเรื่องชัยภูมิที่ไทยนั้นตรงอยู่ท่ามกลางประเทศที่มีความขัดแย้งเรื่องนี้สูง ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย จีน รัสเซีย หรือมาเลเซีย ก็คงเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ แต่นั่นคงไม่เท่ากับปัญหาที่สั่งสมมานาน ก็คือความอ่อนแอของนโยบายชาติที่มีต่อด้านการก่อการร้าย
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องการก่อการร้าย ชี้ให้เห็นว่า ที่ผ่านมาไทยมองปัญหานี้เป็นเรื่องไกลตัวมาตลอด โดยเฉพาะการก่อการร้ายข้ามชาติในกรุงเทพฯ ด้วยแล้วยิ่งเป็นไปไม่ได้ ถ้าจะมีก็คงเป็นเฉพาะพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภายใต้เท่านั้น ขณะเดียวกัน การวางบทบาทของตัวเองในฐานะของเมืองท่องเที่ยวเป็นหลัก ส่งผลให้มาตรการด้านการรักษาความปลอดภัยที่มีต่อชาวต่างประเทศหย่อนยานตามไปด้วย
ซึ่งตรงนี้ถือเป็นปัญหาหลักที่สั่งสมมานาน และเป็นช่องทางที่ทำให้ผู้ก่อร้าย ซึ่งหมายรวมทั้งกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ พ่อค้าอาวุธ และยาเสพติดต่างเข้ามาใช้พื้นที่ของประเทศไทยในการติดต่อเชื่อมโยง เพราะมั่นใจว่าโอกาสที่จะรอดพ้นสายตาของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองไปได้มีสูงมาก
“แม้ไทยจะเป็นพันธมิตรของอเมริกา แต่ไทยเองก็ไม่ได้สนับสนุนอย่างโจ่งแจ้ง ยิ่งนโยบายไหนที่อ่อนไหว ไทยก็ค่อนข้างระมัดระวังมาก ทำให้เราไม่ตกเป็นเป้าดังกล่าว แต่ปัญหาคือไทยมักจะถูกใช้เป็นทางผ่านอยู่เสมอ เนื่องจากเป็นประเทศเปิดและมีการเดินทางเข้าออกได้ง่าย เพราะรัฐบาลมองว่าการท่องเที่ยวเป็นรายได้หลัก ฉะนั้นหากใช้มาตรการการควบคุมมากๆ ก็จะเกิดปัญหา สังเกตได้จากสนามบินสุวรรณภูมิ เวลามีผู้โดยสารต่างประเทศเดินทางเข้าก็เข้ามาเลยแทบไม่มีการตรวจอะไรเท่าไหร่ กระเป๋าอะไรพวกนี้ก็ไม่ค่อยตรวจ ซึ่งก็ทำให้พวกสินค้าผิดกฎหมายเล็ดลอดเข้ามา แต่ยังดีที่พวกมาตรการบางอย่างเช่นการเอ็กซเรย์ตัวคนก็ยังอยู่ในระดับมาตรฐานสากล”
ขณะเดียวกัน มาตรการต่อเนื่องอย่างการติดตามนักท่องเที่ยวก็แทบจะไม่มี เช่นเมื่อนักท่องเที่ยวออกจากสนามบินก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่จำเป็นจะต้องแจ้งให้ใครรู้ว่าจะไปไหน หรือไปกี่วัน ดังนั้นโอกาสที่ทางการจะทราบความเคลื่อนไหวของคนต่างชาติจึงเท่ากับศูนย์
[2]
อีกปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ ที่มาและความน่าเชื่อถือของข่าว ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาไทยมีจุดด้อยตรงนี้อย่างมาก เพราะเราแทบจะไม่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้เลย ข่าวที่ได้เกือบทั้งหมดก็รับจากต่างประเทศเป็นหลัก หรือไม่ก็เป็นการทำงานร่วมกับหน่วยราชการของประเทศต่างๆ
สังเกตได้จากคำพูดของ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่ามีการติดต่อกับประเทศต่างๆ ถึงเหตุการณ์เหล่านี้อยู่ตลอด อย่างอิสราเอลเองก็มีการพูดคุยกันตั้งแต่ปี 2537 และเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง ทั้งตำรวจ กองทัพ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และตามแนวชายแดนก็ต้องมีความเข้มข้นในการตรวจสอบอย่างมาก เพราะฉะนั้นประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นห่วงหรือกังวลอะไร
หรือแม้แต่เหตุการณ์การจับตัวฮัมบาลีได้เมื่อ 8 ปีก่อน ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากซีไอเอจึงจะจับตัวได้ถึงจะจับตัวได้ แค่นี้ก็คงสะท้อนภาพว่า ศักยภาพในการติดตามข้อมูลของเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยเป็นเช่นใด
“เรื่องการก่อการร้ายเป็นการร่วมมือของหน่วยงานข่าวกรองของแต่ละประเทศที่ร่วมมือกันอยู่ โดยข้อมูลเหล่านี้มีการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนกันตลอดเวลา เราก็จะมีลิสต์รายชื่อของแต่ละประเทศ บุคคลที่ต้องการตัวที่เป็นเป้าหมายของต่างประเทศ รวมทั้งมีการเฝ้าระวังบุคคลต้องสงสัย ไม่ว่าจะเป็นสำนักการตรวจคนเข้าเมืองก็จะมีบัญชีรายชื่ออยู่ ฉะนั้นการตรวจสอบก็จะพบว่าบุคคลต้องสงสัยเคลื่อนย้ายไปที่ไหน โอนเงินเข้าบัญชีไหน ก็จะมีการติดตามกันระหว่างประเทศผ่านทางสันติบาลหรือไม่ก็หน่วยงานความมั่นคง” พ.ต.ต.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ประธานบริหารหลักสูตรอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม วิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตอธิบาย
แถมไทยยังมีข้อจำกัดทางด้านกฎหมายที่ว่า ตราบใดที่ผู้ต้องสงสัยเดินทางเข้ามาในประเทศแล้วยังไม่กระทำความผิดตามกฎหมายไทย เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่สามารถควบคุมตัวได้ พูดง่ายๆ ก็คือทำได้แค่สังเกตการณ์เท่านั้น
และเมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานก็จะพบว่ามีปัญหามาก สัมผัสได้จากเนื้อข่าวในช่วงนี้ องค์กรที่ดูแลเรื่องยุทธศาสตร์ อย่างสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นผู้รับผิดชอบอยู่ กับหน่วยงานที่ดูแลภาคปฏิบัติอย่าง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กลับพูดจากันไปคนละทิศทาง เช่น กรณีของนายแอททิสที่ สตช.ยืนยันว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ขณะที่ สมช.กลับแสดงท่าทีไม่แน่ใจ หรือแม้แต่คำเตือนของ ขจัดภัย บุรุษพัฒน์ อดีตเลขาธิการ สมช.ที่ส่งไปยัง สตช.ว่า ไม่ควรโฉ่งฉ่างในการแถลงข่าวผลงานมากเกินไป หากไม่มีข้อมูลหลักฐานที่ชัดเจน เพราะจะส่งผลกระทบทางการเมืองระหว่างประเทศในอนาคตได้
จากความลักลั่นระหว่างองค์กร ความเชื่อถือของข่าวสาร การห่วงภาพลักษณ์ประเทศมากเกินไป และความเชื่อมั่นของเจ้าหน้าที่ไทยที่มั่นใจอยู่ตลอดว่า ถึงอย่างไทยเองก็ไม่ใช่แหล่งที่จะเกิดวินาศกรรมกลางเมือง จึงทำให้นโยบายเกี่ยวกับการปกป้องภัยจากผู้ก่อการร้ายข้ามชาติของไทยไม่อยู่ในความสนใจของผู้มีอำนาจ หรือมองว่าเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องรับทราบ ทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่
และเมื่อเกิดความแตกขึ้นมาทีหนึ่ง ก็ถึงค่อยออกมาแสดงบทบาทกันสักที แถมบางครั้งก็ทำมากเกินความจำเป็น เพื่อสะท้อนให้ประชาชนเห็นว่าตัวเองก็ทำงานเต็มที่เหมือนกัน
[3]
เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ คำถามก็คือ สังคมไทยจะจัดการอย่างไรกับปัญหานี้อย่างไรดี ซึ่งถ้าพิจารณาถึงจุดอ่อนที่ผ่านมาก็จะพบว่า หลักๆ นั้นมีอยู่ 2 เรื่องด้วยกัน
เรื่องแรกคือ ความชัดเจนทางนโยบายและแผนงานปฏิบัติ โดย ผศ.ดร.ศรีสมภพบอกว่า ทุกวันนี้รัฐจะต้องถามตัวเองให้ชัดก่อนว่า ตอนนี้จัดวางประเด็นเรื่องการก่อการร้ายข้ามชาติว่าอยู่ในระดับเช่นใด เนื่องจากปัจจุบัน เราแทบไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้เลย โดยเฉพาะเมื่อไปเทียบกับประเทศข้างเคียง
“ตอนนี้ผมว่า ต้องย้อนกลับมาถามตัวเองว่า ท่ามกลางกระแสโลกแบบนี้ เราระมัดระวังกลุ่มอาชญากรข้ามชาติ เครือข่ายยาเสพติดข้ามชาติ หรือกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติมากกว่าเดิมหรือเปล่า ทุกวันนี้ผมว่ายังไม่ชัดเจน ทั้งที่ประชาคมโลกเขายกระดับความคิดไปหมดแล้ว เรื่องนี้สภาความมั่นคงฯ ต้องกลับไปคิดว่าจะทำอย่างไรและออกเป็นนโยบายที่ชัดเจนมากขึ้น ทั้งการเฝ้าระวังการติดตาม เพราะถ้าเป็นภาษารัฐศาสตร์เขาถือว่า เราเป็น 'รัฐอ่อน' ทั้งด้านการเมืองและกฎหมาย”
และเมื่อรู้ว่าตัวเองไม่มีประสบการณ์เพียงพอ ก็ควรจะหาตัวอย่างจากต่างประเทศซึ่งมีการวางระบบที่ดีไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะใช้วิธี 'สกัดตั้งแต่ต้นทาง'
โดยเฉพาะการสกรีนคนและข้าวของที่เข้ามาในประเทศ ซึ่งต้องทำให้รัดกุมมากขึ้นกว่านี้ แม้จะไปจำกัดสิทธิของผู้เดินทางบ้างก็ตาม เช่นเดียวกับการระบุตัวตนและติดตามของคนที่เข้ามาก็สำคัญ ซึ่งรัฐควรจะทำระบบตรงนี้ให้ชัดเจน เพื่อจะได้ง่ายต่อการตรวจสอบและแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า
“ที่ฝรั่งเศสซึ่งเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวอันดับ 1 ของโลก เขาก็มีวิธีการจัดการที่ดี คือไม่ได้เข้มงวดจนน่าเกลียด แต่คนที่เดินทางมาก็แจ้งว่าจะไปที่ไหนบ้าง มีสถานที่ที่คุณจะไปอยู่ให้ชัดเจน อย่างไปอยู่โรงแรม ต้องมีหนังสือตอบรับด้วยว่าอยู่จริง แล้วคนที่ไปก็ต้องพร้อมจะโชว์อยู่ตลอดเวลา แต่เมืองไทยเราไม่มีแบบนั้น เพราะฉะนั้น หากไทยจะปรับเข้ามาใช้ ก็อาจจะทำในลักษณะการมีบันทึกว่าอยู่ที่ไหน เพื่อเป็นหลักฐาน ซึ่งไม่ได้ยุ่งยากมาก และไม่ได้ละเมิดสิทธิ เวลาติดตามจะได้สามารถค้นหาได้”
หรือแม้แต่การจัดการพื้นที่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งตรงนี้สังเกตจากเวลาที่ดูภาพยนตร์ต่างประเทศ สิ่งหนึ่งที่เราจะพบก็คือ เขาจะมีมาตรการรองรับเต็มไปหมด ตั้งแต่การแจ้งเตือน การอพยพ หรือการกั้นพื้นที่ เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะสามารถปฏิบัติงานได้สะดวก และลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นได้
ส่วนประเด็นที่ 2 ก็คือการจัดการกับมวลชน โดยเฉพาะการแจ้งเตือน โดยก่อนอื่นรัฐจะต้องมองก่อนว่า ความปลอดภัยของประชาชนถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด มากกว่าเรื่องตัวเลขทางเศรษฐกิจหรือการท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเกิดเหตุขึ้นหรือไม่ ก็ต้องมีการแจ้งเตือนอยู่เสมอ
“ผมมองว่ากรณีที่สหรัฐอเมริกาแจ้งเตือน เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะเขามองว่าเป็นความจำเป็นเพราะเขาต้องคุ้มครองคนของเขา แต่ของเรามันหลุด เพราะกลัวผลกระทบ ทั้งที่การแจ้งเตือนเป็นสิ่งที่ดีกว่า เนื่องจากเราจะสามารถป้องกันและป้องปรามได้ และยังทำให้ประชาชนเองรู้จักที่ดูแลตัวเองด้วย ไม่ใช่หวังพึ่งแต่รัฐบาล เช่น ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภายใต้ เขาประกาศเลยว่า อันตรายห้ามเดินทางมา แต่ถ้าคุณจะมาก็ต้องรับผิดชอบเอง”
และที่สำคัญการรัฐบาลไม่ยอมแจ้งเตือน โดยความห่วงว่าประชาชนจะแตกตื่นสุดท้าย เรื่องนี้ก็จะวกกลับมาทำร้ายตัวรัฐบาลเองดั่งเช่นกรณีเรื่องน้ำท่วมที่ผ่านมา ซึ่ง ผศ.ดร.ชัยยนต์ ประดิษฐ์ศิลป์ อาจารย์พิเศษภาครัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพาบอกว่า ประชาชนจะสูญเสียความไว้วางใจกับรัฐบาลไม่มากก็น้อย
“ถ้าตามภาษารัฐศาสตร์ เขาเรียกว่า ความชอบธรรมในการปกครองมันลดลง เพราะการที่รัฐบาลทำตัวเป็นพ่อแม่อุปถัมภ์ มองประชาชนเป็นเหมือนกับเด็กๆ ถ้าบอกความจริงแล้วจะแตกตื่น ถือเป็นการมองที่คับแคบไปหน่อย และอาจจะนำไปสู่ความรู้สึกสะสม และลุกลามเป็นสถานการณ์ที่รุนแรง เช่น การประท้วง หรือการโค่นล้มรัฐบาล”
แม้เรื่องคำแจ้งเตือนของสหรัฐอเมริกาจะสร้างความตกตระหนกให้แก่คนทั่วประเทศ แต่ถ้ามองในมุมอย่างที่ ผศ.ดร.ศรีสมภพบอกก็จะพบว่า มันเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งที่รัฐบาลต้องทำเพื่อประชาชนต่างหาก
………
น่าแปลกใจไม่น้อย โดยเฉพาะกับท่าทีของรัฐบาลไทยที่วันนี้กลับมุ่งสนใจจะเรียกหามารยาทจากการทำหน้าที่ของต่างชาติ มากกว่าจะมุ่งสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประชาชนในการรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น
และถ้ายังปล่อยให้เป็นเช่นนี้เรื่อยไป สุดท้ายก็เชื่อได้เลยว่า เวลาที่เจอปัญหาจริงๆ คนไทยก็คงใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการตื่นตระหนก มากกว่าจะหาทางแก้ปัญหาอย่างแน่นอน
>>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : พงศศักดิ์ ขวัญเนตร