กระแส “โซเชียลเน็ตเวิร์กกิ้ง” ฟีเวอร์ ทำให้คนกรุงเทพฯ ซิวตำแหน่งเล่นเฟซบุ๊กอันดับ 5 ของโลกมาครอง ท่ามกลางสายตาของคนทั่วโลกที่ร่วมเป็นพยาน แม้วันนี้ บนโลกไฮเทคทำให้ทุกอย่างเล็กลงทันตา แต่ขณะเดียวกันกลับสร้างระยะห่างระหว่างความสัมพันธ์ของคนมากขึ้น เมื่อใดที่พฤติกรรมคุณเข้าใกล้อาการเสพติดเทคโนโลยีแล้ว สมองจะถูกแทนที่ด้วยโปรแกรม Chat BB, MSN, What's App, Facebook, Twitter, Hi5, Google+ และสารพัด Applications ใช้ชีวิตอยู่กับการอัป โหลด แชร์กันจนภาษาวิบัติ และทำซ้ำๆ อยู่อย่างนั้นเป็นประจำ แต่เชื่อหรือไม่ว่าปัญหาเหล่านี้ในอีก 10 ปีข้างหน้าจะไม่เกิดขึ้นในสังคมไทยอีกต่อไป...
“เฟซบุ๊ก” ฟีเวอร์ กรุงเทพฯ ติดอันดับ 5ของโลก
โลกยุคการสื่อสารไร้พรมแดน ทำให้ผู้คนมากมายฝังตัวเองอยู่ในระบบโซเชียลเน็ตเวิร์กแบบกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ด้วยความจำเป็นต้องใช้ทั้งในเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว สถานะความเป็นจริงบนโลกออนไลน์นั้นไม่มีอะไรคงที่ ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตาม Content ที่เกิดขึ้นมาและก็หายไป แต่รู้ไหมว่า Content นี่แหละ! เป็นตัวขุดสัญชาตญาณของมนุษย์ที่ต้องการอยากรู้อยากเห็นไปซะทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน
“Facebook” จึงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสนับสนุนความอยากรู้อยากเห็นของคนทั้งโลก และดูเหมือนว่า Mark Zuckerberg รู้ใจกลุ่มลูกค้าของตัวเองเป็นอย่างดี ซึ่งเห็นได้จากยอดตัวเลขผู้ใช้ที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว จากการรายงานของ Thailand Facebook Statistics - Socialbakersในปี 2554 ทำให้เห็นสถิติสาวกเฟซบุ๊กทั่วโลกที่ตอนนี้มีจำนวน 800 ล้านคนแล้ว
ถ้ามาดูกันอย่างละเอียด ขณะนี้ทั่วโลกมีจำนวนผู้ใช้งาน Facebook ถึง 800 ล้านคน (ที่กล่าวไว้ข้างต้น) โดย 50% มีการใช้งานในแต่ละวัน มีจำนวนเพื่อนเฉลี่ยต่อคน 130 คน สำหรับกิจกรรมที่คนสนใจคือ pages, groups, event และ community pages ซึ่งมีการใช้งานถึง 70 ภาษา และจำนวน 75% เป็นคนนอกประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนกลุ่มสาวก Facebook คนไทย จากสถิติจะเห็นได้ว่าตอนนี้มีผู้ใช้งานกว่า 13 ล้านคน ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 16 ของโลก และที่น่าสนใจคือกรุงเทพมหานครของเราติดอันดับเมืองที่มีคนใช้ Facebook มากที่สุดในโลกเป็นอันดับที่ 5 ทั้งยังมีแนวโน้มจะขยับอันดับลดลงมาเรื่อยๆ
ที่น่าสังเกต คือคนทั่วโลกใช้ Facebook ผ่านโทรศัพท์มือถือ 350 ล้านคนเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีตัวนี้จึงเข้ามาสนับสนุนความต้องการเข้าถึงโลกออนไลน์โดยไม่มีขอบเขต โทรศัพท์ไร้สายอย่างมือถือจึงเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งที่ผู้ผลิตโทรศัพท์แต่ละค่าย พยายามทำสินค้าของตัวเองออกมาสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด ยุคสมาร์ทโฟนที่มี Applications ครบเครื่อง จึงเกิดขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็ว และเมื่อมีผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นจำนวนมาก จึงไม่แปลกที่จะเกิดปัญหาขึ้นได้
“มือถือ” อวัยวะที่ขาดไม่ได้
เชื่อเลยว่าในอนาคตไม่ว่าคุณจะหยิบจับอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีชนิดใด ทุกคนจะเห็นสัญลักษณ์เป็นรูปอักษรตัว F และตัว T ที่หมายถึง Facebook และ Twitter ก็เป็นได้ อย่างที่บอกไว้ความรวดเร็วเพื่อการใช้งานในทุกๆ ที่เป็นเป้าหมายสำคัญในการเข้าถึงโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งมาเป็นตัวสนับสนุนให้คนสมัยนี้รู้สึกว่า “โทรศัพท์มือถือ กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้ ราวกับว่าเป็นอวัยวะที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อร่างกาย ขาดไปคงต้องตาย...”
คงจำกันได้เมื่อช่วงเปลี่ยนผ่านปีใหม่ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์สัญญาณ Dtac ล่มติดต่อกัน 3 ครั้ง ทำให้หลายคนไม่เป็นอันกินอันนอน ติดต่อใครไม่ได้ โลกเสมือนจริงถูกตัดขาดอย่างฉับพลัน แทบใกล้ลงแดงตายไปทีละน้อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป หลังจากที่มีชีวิตอยู่แบบติดๆ ดับๆ เป็นช่วงๆ Dtacได้กลับมาต่อลมหายใจให้อีกครั้ง วันนั้นทุกคนกระจ่างเลยว่าสิ่งสำคัญไม่ใช่โทรศัพท์มือถือ แต่เป็นสัญญาณเครือข่ายที่เชื่อมต่อกับมือถือต่างหาก ทันใดที่ไม่มีสัญญาณก็เหมือนกับว่าได้ตายไปจากโลก และทำให้เจ้าอุปกรณ์สี่เหลี่ยมชนิดนี้ดูไร้ค่าไปในทันที
ไปไหนไปด้วย...มือถือในโลกยุคนี้ที่ทุกคนมี โดยเฉพาะมือถือยี่ห้อดัง อย่าง BlackBerry หรือ BB อุปกรณ์สื่อสารที่ทรงอิทธิพล ก่อนที่ iPhone กำลังเข้ามาแทรกแซง ซึ่งวัยรุ่นวัยเรียนนิยมใช้แชตคุยกัน แชตจนไม่เงยหน้ามองทาง และไม่แยแสผู้คนรอบข้างที่เดินผ่านไปมา จะเดินชนใครก็ไม่ได้สนใจ สนใจแค่เครื่องสี่เหลี่ยมที่อยู่ในมือเท่านั้น ไม่ว่าจะทำอะไรต้องมีอุปกรณ์ชนิดนี้ร่วมเดินทางไปด้วยเสมอ เดินก็แชต กินก็แชต ขึ้นรถลงเรือก็แชต ใช้ชีวิตอยู่ในโลกออนไลน์อย่างสมบูรณ์แบบ
เมื่อคิดว่าโทรศัพท์มือถือกลายเป็นปัจจัยที่ 5 และเปรียบเสมือนอวัยวะที่ขาดไม่ได้ จึงแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุด เวลานี้จึงเป็นโอกาสของ iPhone อุปกรณ์ไร้สายที่คนทั่วโลกยอมรับ ซึ่งสร้างขึ้นมารองรับคนวัยทำงานอย่างแท้จริง และเริ่มมีอิทธิพลต่อเด็กนักเรียน นักศึกษาบ้านเรามากขึ้น สังเกตได้จากยอดจอง iPhone 4s รุ่นล่าสุดภายในประเทศไทยเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา มีทั้งสาวกแอปเปิลเก่าและใหม่เข้าจอง iPhone 4s ทั้ง 3 เครือข่ายหลักในประเทศอย่างถล่มทลาย
จากผลสำรวจของ Effective Measure เรื่องการใช้อุปกรณ์ไร้สายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำเดือนตุลาคม 2554 ประกอบด้วย ประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม ทำให้เราทราบว่าผู้บริโภคในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ปัจจุบันใช้สินค้าแบรนด์แอปเปิลสูงมากถึง 53.1% และถ้าขยายสัดส่วนของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตจากอุปกรณ์ไร้สายออกมาเป็นแต่ละประเทศ ไทยใช้อุปกรณ์ไร้สายแบรนด์แอปเปิลในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต สูงถึง 79.6% จากผู้ใช้อุปกรณ์ไร้สายทั้งหมดในประเทศ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก และเชื่อได้ว่าจะสามารถขยายตัวได้อีก
พอคิดถึงกระแสโซเชียลเน็ตเวิร์กกิ้งที่กำลังแทรกซึมสู่เราโดยไม่รู้ตัว ทำให้นึกถึงเพลงๆ หนึ่งที่ชื่อว่า "ระบายเฉยๆ" ซึ่งสามารถสะท้อนสังคมโลกในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี จึงขอตัดทอนเนื้อเพลงบางส่วนมาฝากให้คิด และขอบอกก่อนเลยว่าเพลงนี้โทรศัพท์มือถือ (iPhone) ไม่ได้ผิด แค่เจ้าของเพลง (Room 39) อยากระบายเฉยๆ
เธอก้มหน้าอมยิ้มและหัวเราะตลอดเวลา
ไม่ว่าเรานั้นจะไปใกล้ไกลแค่ไหน?
เดี๋ยวซ้ายกด เดี๋ยวขวากด และยังไม่พอยังไม่หมด
ต้องถ่ายรูปก่อนกินอาหารทุกครั้งไป...
ฉันก็ได้แต่รอ แต่รอ รอเธอนั้นเงยหน้า
เพื่อเพียงจะได้สบตาและได้สื่อสารกันบ้าง...
ทำไมต้อง iPhone หลายคนอาจสงสัย เรามาฟังความเห็นของสาวกผู้คลั่งไคล้แอปเปิลเป็นชีวิตจิตใจเลยดีกว่า ชาวเว็บพันทิปบอกให้ฟังว่า “มันไม่ได้ดีที่สุด แต่มันลงตัวกับผม ขนาดไม่ใหญ่ไม่เล็กกำลังเหมาะมือ รูปร่างหน้าตาดีไซน์สมส่วนเป็นแบบที่ชอบ รองรับความต้องการได้ทุกอย่างที่ผมต้องการใช้ กลุ่มเพื่อนส่วนใหญ่ใช้อยู่ก็คุยกัน มีปัญหาปรึกษากันได้ นอกจากใช้งานแล้วมันยังเป็นเหมือนเครื่องประดับสวยๆ ชิ้นนึง”
“เราก็ใช้นะคะ iPhone 4 เนี่ย...นี่คุณแฟนก็กำลังจะซื้อ iPhone 4s อ่ะ...จริงๆ แล้ว มันใช้ร่วมกัน สร้างกิจกรรมให้ได้นะคะ ไม่ว่าจะเป็น App Line หรือ What's Appช่วยให้ติดต่อกันได้ทั้งวัน คิดถึงก็ถ่ายรูป หรือไม่ก็ Tango Facetime หากันก็ได้ค่ะ อยากให้มองในแง่ดี และเอาเทคโนโลยีมาใช้ให้คุ้มค่า”
กับดักเทคโนโลยี
Application ที่หลากหลาย ล่อใจให้ชวนเข้าไปท่องโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กอาจโดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม แต่พอมารู้ตัวอีกทีก็ติดมันอย่างจั๋งหนับ แบบว่าสายตาไม่ละออกจากหน้าจอ ส่วนมือก็ติดอยู่กับปุ่มกดหรือคีย์บอร์ดอย่างเหนียวแน่นราวกับติดกาวเอาไว้ สุดท้ายจึงกลายเป็นอีกคนหนึ่งที่เข้ามาติดกับดักเทคโนโลยีเสียแล้ว
นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลศรีธัญญา กล่าวว่า อินเทอร์เน็ต จริงๆ แล้วมันมีข้อดีที่เยอะมาก สามารถใช้ในการติดต่อกัน การสื่อสารสังคม เปิดโลกความรู้ให้กว้างขึ้น แต่ปัญหามันจะเกิดถ้าใช้งานไม่เป็นและใช้ไม่ถูก อย่างการพูดคุยกับคนในอินเตอร์เน็ต เราไม่รู้จักเลยว่าคนที่เราคุยอยู่ด้วยนี่เป็นใคร เขาเป็นคนยังไง เป็นคนดีอย่างที่เราคิดหรือเข้าใจรึเปล่า จึงเกิดการหลอกลวงกันได้ง่าย
การโดนหลอกจากการไว้เนื้อเชื่อใจคนในโลกออนไลน์ มีตัวอย่างให้เห็นมานักต่อนักไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ หรือแม้แต่คนมีการศึกษาสูงก็ตาม คนที่ไม่ระวังตัวย่อมไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมคนที่คิดจะหลอก จึงเกิดเป็นปัญหาสังคมตามมา อย่างน้อยๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นสำหรับคนที่มัวแต่หมกมุ่นมากเกินพอดี เวลาไปทำกิจกรรมอย่างอื่นจะทำให้สมาธิให้การทำกิจกรรมต่างๆ นั้นแย่ลง เพราะคิดแต่อยากไปแซต เล่นเฟซบุ๊ก ไปคอย up status อยู่ตลอดเวลา สุดท้ายก็เกิดเป็นปัญหาบานปลายวนเวียนเป็นวัฏจักรซ้ำรอยเดิมไม่ต่างกันอยู่ดี
“โดยเฉพาะเด็กวัยเรียน การอยากมีเพื่อน อยากจะได้รับการยอมรับของกลุ่ม อย่างพวกเฟซบุ๊ก หรือโปรแกรมต่างๆ เหล่านี้ ทำให้เขาเปิดโอกาสตัวเองและได้รับการยอมรับหรือสนับสนุนจากคนอื่นมากขึ้น ฉะนั้นการเล่น BB หรือ What's App สำหรับตัวเด็กเองอาจคิดว่ามันเป็นเรื่องสำคัญมาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นพ่อแม่ควรให้เขาเห็นว่าการที่ต้องการมีจุดยืนในสังคมสามารถทำได้หลายวิธี ไม่ใช่วิธีนี้วิธีเดียว และวิธีที่ดีที่สุดคือผู้ปกครองควรให้คำแนะนำแก่เด็ก ต้องชี้ประโยชน์และโทษของมันให้เขาเห็น”
นอกจากนี้การชิตแชตในโลกออนไลน์ยังเกิดปัญหาเรื่องการใช้ภาษาไทยที่ไม่ถูกต้อง และระบาดอย่างรวดเร็ว กลายเป็นเทรนฮิตคิดคำใหม่ๆ มาใช้ แต่ตั้งใจเขียนไม่ถูก จนเกิดความเคยชินและคุ้นเคยกับการเขียนผิดมาตลอด หรือที่เรียกกันว่า “ภาษาวิบัติ”
ดร.กาญจนา นาคสกุล อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทย ราชบัณฑิตยสถาน กล่าวเตือนว่า ถ้าเขียนผิดหลัก โดยเฉพาะคำควบกล้ำ การเขียนวรรณยุกต์ที่ผิดเพี้ยนไป สุดท้ายมันก็จะเกิดการเขียนผิดๆ เป็นผลเสียกับตัวเราเอง ถ้าสะกดอย่างหนึ่งแล้วเขียนอีกอย่างหนึ่งต่อไปเรื่อยๆ จะทำให้เกิดการจำไปเขียนอย่างผิดๆ ฉะนั้นออกเสียงอย่างไรต้องเขียนให้ตรงตามนั้นจะดีกว่า
“ไม่ว่าจะเป็นการเขียนจมหมายด้วยกระดาษและการส่งอีเมล์ ทั้งสองมันเป็นการสื่อสารได้ทั้งหมด แต่ที่สำคัญเมื่อเราสื่อสารแล้ว ตัวอักษรนั้นมีคุณค่า มีลักษณะ มีกฎเกณฑ์ที่เราใช้มาแต่โบราณ เราควรยึดกฎเกณฑ์ของเราไว้ อย่าให้เสียไปโดยที่ไม่มีหลักเกณฑ์อะไรเลย และถ้าไม่มีหลักเกณฑ์ต่อไปเรื่อยๆ แล้วก็จะอ่านหนังสือไทยไม่ออก จนกลายเป็นภาษาวิบัติไปในที่สุด”
ถ้าเคยสังเกตจะเห็นว่า iPad ของ Steve Jobs มีขนาดเท่ากระดานชนวนของคนไทยสมัยโบราณ กระดานชนวนมีไว้เพื่อจดบันทึกข้อความแทนสมุดที่เราใช้กันอยู่ปัจจุบันนี้ เมื่อวิวัฒนาการของโลกเปลี่ยนไป จากกระดานชนวน กลายเป็น iPad แปลกตรงที่ขนาดเท่ากันเป๊ะ! หรือว่าที่จริงแล้ว คนไทยพบขนาดที่จะใช้ได้อย่างเหมาะมือก่อนเกิด iPad เสียอีก (ช่างน่าคิดจริงๆ)
ไว้อาลัย...คนไทยยุคโลกาภิวัฒน์
ปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเราใช้เทคโนโลยีเป็นปัจจัยที่ 5 ไปเสียแล้วนอกจากปัจจัย 4 ที่จำเป็น ซึ่งในสังคมไทยไม่เฉพาะผู้ใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยีสำหรับการทำงานเท่านั้น ขณะเดียวกันวัยรุ่นวัยเรียนไม่สามารถแยกส่วนออกจากเทคโนโลยีได้เช่นกัน เทคโนโลยีมันเป็นตัวเสริมซึ่งเกิดขึ้นมาในทศวรรษนี้ และทุกคนได้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ทั้งนโยบายภาครัฐก็ออกมาอย่างชัดเจนที่จะให้เด็กไทยใช้เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการศึกษาในอนาคต
ถึงอย่างไรแล้วอย่างที่บอกไว้เทคโนโลยีไม่ได้เอื้อประโยชน์เพียงด้านเดียว ซึ่งแนวโน้มในอนาคตข้างหน้าอาจจะพอเดาได้ว่าโลกหลังยุคโลกาภิวัฒน์ได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และผู้คนต้องปรับตัวเพื่อให้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวัน
ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า ขณะที่เรานำเทคโนโลยีเข้ามา เราขาดการเตรียมพร้อมรับมือกับมันในการที่จะใช้ ต้องรู้จัก Do & Don't การเลือกปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติสิ่งที่เข้ามา คือทุกอย่างมันมีเหรียญสองด้าน เทคโนโลยีเราขาดในเรื่องความรู้ความเข้าใจ ถ้าผู้ใหญ่บางครอบครัวยังกลัวเทคโนโลยี ไม่รู้เรื่องเทคโนโลยีแล้วให้เด็กเรียนรู้เอง มันจึงเกิดเป็นช่องว่าง
“เมื่อคนใส่ Content มากมายลงไปทั้งเกม โปรแกรมแชต เว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม การอัพโหลด ดาวน์โหลดสิ่งที่ไม่ควร เราไม่สามารถป้องกันได้หมด เพราะมันไม่มีกุญแจปิด พ่อแม่ก็ทำไม่เป็นว่าจะทำยังไงไม่ให้เด็กเข้าไป และยิ่งบางครอบครัวซ้ำเติมเข้าไปอีกที่ว่าพ่อแม่ไม่มีเวลาให้เขา ต้องออกไปทำงานอยู่ในโลกทุนนิยม จึงออกไปหาเงินอย่างเดียวเพื่อซื้อของเข้าบ้าน ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ”
“มันเป็นระหว่างรอยต่อของคนเก่าและคนใหม่ เชื่อว่าเด็กสมัยนี้ต่อไปอีกสัก 10 ปีข้างหน้า พ่อแม่เขาจะรู้เท่าทันลูกแล้ว เพราะเด็กสมัยนี้ใช้เทคโนโลยี อนาคตเขาจะบอกลูกต่อไปได้ว่าสิ่งไหนดี ไม่ดี แต่ตอนนี้คนที่อายุ 50 ปีขึ้นไปไม่มีทางรู้ทันลูกวัยรุ่นเลย ฉะนั้นอนาคตข้างหน้าจึงมีแนวโน้มว่าปัญหาการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กและลดลง เพราะคนเริ่มเรียนรู้และหาทางออกเจอ อีกอย่างหนึ่งเทคโนโลยีทำขึ้นมาเพื่อประโยชน์ ถ้ารู้จักการใช้มัน โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ มัน All in 1 ทั้งพูดคุยได้ ถ่ายรูปได้ เล่นอินเทอร์เน็ตได้ แค่โทรศัพท์อันเดียวสามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย”
โซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กอาจทำให้คนเสื่อมเสียได้ในชั่วพริบตา แต่ใช่ว่ามันไม่สร้างประโยชน์มหาศาลอย่างที่ผ่านมาเรื่องน้ำท่วม ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเฟซบุ๊กช่วยได้มาก ซึ่งเป็นการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กให้เกิดพลังสามัคคี พอเห็นข่าวอะไรในเฟซบุ๊ก คนจะคอยติดตามและไปช่วยในทันที โลกเสมือนจริงมันไม่ต่างอะไรจากโลกแห่งความเป็นจริง ถ้าเราใช้อย่างถูกทาง
การเข้าไปในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กจึงเหมือนการเลือกคบคน อาจต้องเจอทั้งเรื่องดีและไม่ดี ให้กลับนำมาคิด พิจารณา และบอกกับตัวเองว่าเราจะเรียนรู้จากมันได้อย่างไร ที่สำคัญคือต้องรู้จักใช้อย่าง “พอเพียง” จะได้เกิดความพอดี แล้วจะรู้สึก “พอใจ” กับการใช้ชีวิตเพื่อประโยชน์ในโลกออนไลน์
ผลวิจัย Cisco เผยแพร่รายงาน Connected World Technology Report ประจำปี 2011 ซึ่งไปสอบถามความเห็นจากนักศึกษามหาวิทยาลัยและพนักงานใหม่ที่เพิ่งสมัครงานใน 14ประเทศ ทั้งยุโรป เอเชีย และอเมริกา ผลการวิจัยมีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น
- ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากระบุว่า “มือถือ” เป็นเทคโนโลยีที่เขา/เธอเห็นว่าสำคัญที่สุดในปัจจุบัน
- 7 ใน 10 บอกว่าเป็นเพื่อนกับหัวหน้าใน Facebook
- ผู้ตอบเกือบทั้งหมดมี Facebook และเข้าไปใช้งานอย่างน้อยวันละครั้ง
- 77% บอกว่าพกพามือถือมากกว่าหนึ่งเครื่อง
- ผู้ตอบครึ่งหนึ่งบอกว่ายินดีทำกระเป๋าเงินหายมากกว่าทำมือถือหาย
- นักศึกษา 2 ใน 5 บอกว่าไม่ได้ซื้อตำราเรียนที่เป็นกระดาษเลยในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา
ด้านThailand Facebook demographics ได้บอกถึงจำนวนผู้ใช้ Facebook ในปัจจุบัน โดยแบ่งตามสัดส่วนอายุในแต่ละช่วงวัย จะเห็นได้ว่ากลุ่มที่มีจำนวนผู้ใช้สูงสุด คือกลุ่มอายุระหว่าง 25-34 ปี คิดเป็น 31% ของจำนวนผู้ใช้ทั้งหมด
ขอบคุณข้อมูลจาก Socialbakers
ข่าวโดยทีมข่าว M-Lite/ASTV สุดสัปดาห์