xs
xsm
sm
md
lg

'ฝึกงาน' รอยต่อของชีวิตนักศึกษาและโลกแห่งการทำงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถ้าจะถามถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดในช่วงชีวิตของการเป็นนักศึกษา เชื่อว่าคนร้อยทั้งร้อยคงจะตอบว่าเป็นเรื่องของการเรียน ซึ่งถ้าจะรุกถามต่อไปอีกว่าทำไมถึงคิดว่าการเรียนเป็นเรื่องสำคัญล่ะ คำตอบที่ได้ก็คงจะออกไปในทำนองว่า เพราะความรู้ที่ศึกษามานั้นจำเป็นในการเอาไปทำงานหาเลี้ยงชีพในช่วงชีวิตของการเป็นผู้ใหญ่น่ะสิ

และในเมื่อการทำงานจริงๆ ในโลกของผู้ใหญ่คือเป้าหมายที่คนที่อยู่ในวัยเรียนต้องการจะไปถึง หลักสูตรการศึกษาในระดับอุดมศึกษาส่วนใหญ่ จึงได้เล็งเห็นและยื่นมือเข้ามาช่วยในจุดนี้ ด้วยการบรรจุเรื่องของการ 'ฝึกงาน' เข้ามาในหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว นักศึกษาจะต้องเข้าไปทำงานจริงในองค์กรที่มีลักษณะงานเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับสาขาที่นักศึกษาเรียน หรืออย่างน้อยก็ต้องเฉียดๆ หรือว่ามีความเกี่ยวข้องอยู่บ้าง

สำหรับเรื่องของระยะเวลานั้น ส่วนมากนักศึกษาจะต้องออกจากรั้วมหาวิทยาลัยมาฝึกงานกันในช่วงเทอม 2 ของชั้นปีสุดท้าย แต่ก็อาจจะมีบางคณะ ของบางมหาวิทยาลัยที่มาฝึกตอนเทอมหนึ่งหรือไม่ก็ตอนปีสาม ซึ่งลักษณะงานที่นักศึกษาฝึกงานจะมีโอกาสได้ทำนั้น ก็แล้วแต่ว่าองค์กรต้นสังกัดจะให้ทำอะไร บางแห่งก็อาจจะให้ทำงานจริงกันแบบเต็มสูบ แต่ในบางองค์กรนักศึกษาก็อาจจะมีโอกาสทำได้แค่การถ่ายเอกสารและส่งแฟกซ์เท่านั้น

แต่ถึงอย่างไร การฝึกงานก็นับเป็นช่วงระยะเวลาที่สำคัญอยู่ดี เพราะอย่างน้อยมันก็คือรอยต่ออย่างเป็นรูปธรรมระหว่างโลกของวัยเรียนและโลกของผู้ใหญ่วัยทำงาน

“การศึกษาในระดับปริญญาตรีหรืออุดมศึกษานั้น มันเป็นการฝึกบุคคลเพื่อที่จะนำไปประกอบอาชีพนั่นเอง ฉะนั้น การฝึกงานก็มีความจำเป็น เพราะเป็นการฝึกให้มีความเชี่ยวชาญ ก่อนที่จะออกไปทำงานจริงๆ เพราะไม่ว่าจะเป็นวิชาชีพใดก็ตามความชำนาญในลักษณะงานนั้นๆ เป็นเรื่องที่สำคัญอยู่แล้ว”

ดร.วีรพล แสงปัญญา จากภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความสำคัญของการฝึกงานที่จะส่งผลไปถึงการทำงานจริงในอนาคต

“คือสังคมนั้นต้องการคนที่มีคุณภาพออกไปทำงาน ซึ่งเรื่องนี้มันมีมานานแล้วในระบบการศึกษาไทย ในสมัยโบราณคนที่เขาอยากทำงานใดๆ ไม่ว่าจะเป็นงานช่างหรืออะไรก็ตาม เขาก็ต้องไปฝากตัวฝึกงานตามแขนงอาชีพที่เขาอยากทำ มันก็คล้ายๆ กัน ทั้งหมดก็เพื่อความพร้อมในการทำงานจริงนั่นเอง

“ส่วนในเรื่องของทักษะการเข้าสังคมและเรียนรู้วัฒนธรรมองค์กรก็เป็นอีกเรื่องที่ได้จากการฝึกงาน มันเป็นรอยต่อระหว่างโลกของเด็กวัยเรียนและโลกของความจริง ซึ่งในประเด็นนี้นักจิตวิทยาการศึกษาพยายามจะเชื่อมโยงมันเข้ามาหากันโดยตลอดอยู่แล้ว”

แต่กระนั้นแต่ปัจจุบันก็มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่อยู่ในภาวะสับสน ไม่รู้ว่าตนเองอยากจะทำอะไรกันแน่ ซึ่งนักศึกษาเหล่านั้น อาจจะไม่ได้มองว่าการฝึกงานเป็นโอกาสในการฝึกฝนอาชีพเพียงอย่างเดียว แต่มองว่าการฝึกงานเป็นโอกาสที่จะเข้าไปทดลองว่าตนเองนั้นชอบหรือไม่ชอบอาชีพนั้นๆ หรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ ดร.วีรพลมองว่า

“อันที่จริงถ้าจะให้ถูกต้อง การฝึกงาน มันไม่ใช่การเข้าไปลองทำงานว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบงานนั้นๆ เพราะในมุมมองของนักจิตวิทยาการศึกษานั้น การที่จะเลือกว่าตนเองจะสนใจอาชีพนั้นๆ หรือไม่ มันไม่ใช่มาทำตอนนี้ แต่มันจะต้องรู้เป็นเรื่องแรกๆ ตั้งแต่ระดับมัธยมฯ ด้วยซ้ำไป ดังนั้นคนที่เกี่ยวข้องกับบริบทของการศึกษา จะต้องช่วยให้ผู้เรียนรู้ถึงความต้องการของตนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาแล้ว”

ส่วนในมุมมองขององค์กรที่รับนักศึกษาเข้าไปฝึกงานนั้น ศิวนันท์ คล้อยสวาสดิ์ senior product executive ของบริษัททรูดิจิตอล คอนเท้นท์แอนด์มีเดีย จำกัด ในฐานะตัวแทนองค์กรเจ้าภาพมีความเห็นว่าไม่ใช่แต่นักศึกษาที่ได้ประโยชน์จากการโอกาสในการทดลองทำงาน แต่ทางองค์กรก็ได้ประโยชน์ในแง่มุมอื่นๆ เช่นกัน

“การเข้ามาฝึกงาน นักศึกษาจะได้ศึกษาการทำงานในองค์กรว่ามีขั้นตอนหรือวิธีการทำอย่างไร เพราะการทำงานแต่ละชิ้นต้องมีหลายฝ่ายมาคอยสนับสนุนและแก้ไขงานให้ออกมาดีที่สุด สามารถนำความรู้ที่ได้มาเป็นประโยชน์ในการทำงานที่อื่นๆ ได้ค้นพบความชอบในการทำงานของตัวเองว่าชอบทำงานในด้านไหนมากที่สุด จะได้รู้สึกมีความสุขกับงานที่ทำ นอกจากนั้นทางเรา (องค์กร) ก็ยังได้แนวคิดหรือแนวทางใหม่ๆจากนักศึกษา ฝึกงาน อาจได้รับความคิดใหม่ๆ ของวัยรุ่นมา ครีเอทในงานหรือโปรเจคท์อื่นๆ ขององค์กรต่อไปอีกด้วย”

และแน่นอนว่าในการฝึกงานนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องขององค์กรต่างๆ จะเลือกนักศึกษาแต่เพียงฝ่ายเดียว หากแต่ตัวนักศึกษาก็สามารถมีสิทธิ์ในการที่เลือกองค์กรที่ตนเองอยากไปฝึกด้วย ซึ่งถ้าเลือกได้ถูกกับความต้องการของตนก็นับได้ว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะนอกจากจะได้ฝึกฝนทักษะในการทำงานอย่างที่ควรจะเป็นแล้ว อาจจะยังได้ความสุขเล็กๆ น้อยๆ เป็นกำไรชีวิตแถมมาด้วยดังที่ ณิชา จันทร์ศิรีพรชัย นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตเล่าให้ฟัง

“มีโอกาสมาฝึกงานในส่วนของกิจกรรมพิเศษของบริษัทจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ก็ทำพวกงานอีเว้นท์ ออกกองถ่ายรายการ จัดบูธ ที่ได้ทำมาก็ชอบนะ คิดว่าเป็นการฝึกประสบการณ์ก่อนจะได้ไปทำงานจริงๆ เพราะมันมีเหคุการณ์เฉพาะหน้าให้แก้ปัญหาเรื่อยๆ มีความกล้าตัดสินใจ ส่วนเหตุผลอีกอย่างก็เพราะชอบผลงานกับชอบนักร้องในเครือแกรมมี่อยู่แล้วค่ะ”
ส่วน ชมชนก สมสกุล นักศึกษาฝึกงานจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งได้มาฝึกงานที่บริษัทบีอีซี-เทโร เอนเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ก็บอกกับเราว่า การมาฝึกงานนั้น ทำให้ได้รู้อะไรๆ มากขึ้นมากกว่าตอนเรียนในห้องมากมายจริงๆ และได้รับรู้ถึงข้อดีข้อเสียของงานในฝันอีกด้วย
“ที่เลือกมาฝึกที่นี่ก็เพราะว่าชอบในการผลิตรายการโทรทัศน์ อยากรู้ว่ามีขั้นตอนการผลิตยังไง แล้วพอได้มาฝึกงานก็รู้สึกมีความสุข คิดว่าน่าจะเป็นประสบการณ์ที่ดีในการนำไปใช้ในชีวิตการทำงานจริงๆ ถ้าได้ทำงานด้านในด้านนี้นะ แต่บางทีก็อุปสรรคพวกเรื่องเวลา อย่างเวลาออกกอง เราต้องทำงานให้ทัน เพราะเวลามันมีจำกัด ทุกอย่างต้องพร้อม เราก็ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ได้”

ท้ายที่สุดแล้วการฝึกงานนั้น มันก็ยังเป็นการเปิดประตูให้นักศึกษาที่สามารถทำงานได้จริง มีโอกาสได้เข้าไปเป็นสมาชิกขององค์กรนั้นๆ อีกด้วย ซึ่งที่ผ่านมาก็มีให้เห็นอยู่ไม่น้อย ดังที่ ดร.วีรพลให้ข้อสังเกตเอาไว้ว่า
“การฝึกงานนั้น มันเกี่ยวข้องกับเรื่องโอกาสในการหางานด้วยนะ เพราะการเลือกคนมาทำงานในสมัยนี้มันขึ้นอยู่กับความชำนาญและคุณภาพในการทำงาน ซึ่งการฝึกงานมอบสิ่งนี้ให้ได้ คนบางคนเรียนมาดีมากได้เกียรตินิยม แต่พอประเมินจากสภาพงานจริงแล้วกลับใช้ไม่ได้ คือเก่งมากเลยในตัวเนื้อหาการเรียน แต่พอมาเจอการทำงานจริงอาจจะทำได้ไม่ดี ซึ่งมันจะต้องอาศัยการฝึกฝนและการทดลองมาอยู่ในสภาพแวดล้อมของการทำงานจริง ดีไม่ดีก็อาจจะได้เข้าทำงานในองค์กรนั้นๆ เลยก็ได้”

ซึ่งความเห็นในเรื่องนี้ก็เป็นไปในทำนองเดียวกับความเห็นของศิวนันท์ ที่บอกว่า ถ้านักศึกษาคนใดทำงานได้จริง ทางองค์กรก็จะรับไว้ทำงานแน่นอน

“นักศึกษาฝึกงานได้มีการลองงานในช่วงสามเดือนแล้ว เมื่อเห็นแววว่าทำงานได้ดี ก็จะรับไว้ อีกอย่างองค์กรของเรารับบุคลากรเยอะอยู่แล้ว ถ้าเห็นว่าน.ศ.ฝึกงานมีความสามารถในการทำงานก็จะรับเข้าทำงานแน่นอน”
>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : Call Me Bond
ภาพ : ทีมภาพ CLICK
กำลังโหลดความคิดเห็น