หากย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ชื่อของ ‘สุกี้’ กมล สุโกศล แคลปป์ เชื่อว่าหากใครได้ยินแล้วรับรองว่าต้องร้องอ๋อ!!! เพราะนอกจากบทบาทในฐานะนักธุรกิจเจ้าของค่ายเพลงขวัญใจวัยรุ่น (ที่ตอนนี้เริ่มกลายเป็นผู้ใหญ่กันหมดแล้ว) ‘เบเกอรี่ มิวสิก’ แล้ว เขายังเป็นมือกีตาร์ของวงดนตรียอดนิยม (ในสมัยนั้น) อย่าง ‘พรู’ อีกต่างหาก
แต่เมื่อเขาตัดสินใจลาออกจากเบเกอรี่ มิวสิก เมื่อปี 2547 บทบาททางด้านดนตรีของเขาก็ดูจะเงียบลงไปเรื่อยๆ ก่อนที่จะหายไปเลยเมื่ออัลบั้มสุดท้ายกับพรู ในปีถัดมา เหลือไว้แต่เพียงการทำรายการโทรทัศน์ ‘ดรีมเชสเซอร์ ซิ่งล่าฝัน’ ซึ่งเป็นเรียลริตี้การเดินทางของเขาบน 2 ล้อมอเตอร์ไซค์ ซึ่งทำเอาไว้ถึง 2 ปีติดต่อกัน และการทำจดหมายท้วงติงการนำเสนอข่าวของซีเอ็นเอ็น ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในกรุงเทพมหานครเมื่อปี 2553
แต่วันนี้สุกี้ตัดสินใจหวนมาจับงานดนตรีอีกครั้ง ผ่านคอนเสิร์ต LIFE AFTER MUSIC A Charity Acoustic Concert ในวันที่ 17 ธันวาคม 2554 ณ สมบัติเพิ่มพูน แกลอรี่ ถนนสุขุมวิท ซอย 1 ซึ่งจัดพร้อมกับงานนิทรรศการภาพถ่ายฝีมือของเขาเอง ซึ่งจะเริ่มแสดงตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2554 จนถึงวันที่ 5 มกราคม 2555 ซึ่งแน่นอนว่า การกลับมาครั้งนี้ สุกี้ยอมรับว่า อะไรหลายๆ อย่างในตัวของเขานั้นเปลี่ยนแปลงไปมาก ไม่ว่าจะความคิด การทำงาน รวมไปถึงทัศนคติด้านดนตรีที่เขาบอกได้คำเดียวว่า
“มันไม่มีทางเหมือนเดิมอีกแล้ว”
หลังจากที่ออกจากวงการบันเทิงไปนาน ตอนนี้ชีวิตของคุณเป็นอย่างไรบ้าง
ชีวิตผมเปลี่ยนไปเยอะ สมัยที่ทำเบเกอรี่ ผมทำงานอย่างเดียว 7 วันไม่พักเลยพอ 3 ปีหลังจากหยุด ก็พักเยอะเกินไป (หัวเราะ) รู้เลยว่าชีวิตคนเกษียณเป็นยังไง คือผมเชื่อว่าทุกอย่างในชีวิตนั้นมีจุดสมดุล เพียงแต่ต้องหามันให้เจอ คือที่ผ่านมาเราหามันไม่เจอเลยไง อย่างช่วงเบเกอรี่ก็โห!...ไปทางหนึ่งเลย พอช่วงหลังจากทำรายการทีวี พอตื่นมาก็ไม่รู้จะทำอะไร แต่ด้วยความที่ผมเป็นคนค้นหาชีวิตไปเรื่อย ผมก็เลยเพิ่งมารู้ว่า ผมต้องหาจุดกลางของชีวิตให้เจอ
จุดกลางที่คุณบอกว่าค้นเจอเป็นแบบไหน
ผมไม่แน่ใจว่าตอบคำถามหรือเปล่า แต่ถ้าลองยกตัวอย่างนะ สมมตินี่เป็นสมัยก่อนผมกำลังเตรียมงานเอ็กซิบิชัน (นิทรรศการ) เตรียมงานคอนเสิร์ต ถ้ามีสิ่งไหนที่ผมสรุปไม่ได้ เสาร์-อาทิตย์ ผมก็ต้องพยายามทำให้ได้ แต่เดี๋ยวนี้ผมหักเลย เสาร์-อาทิตย์ผมไปขี่มอเตอร์ไซค์แล้ว วันจันทร์ค่อยไปลุยใหม่ มันไม่แย่ ไม่ตายหรอก ไม่ใช่หรอก ตัดเลย (หัวเราะ) แต่อย่างว่าของแบบนี้มันก็ทำยาก เพราะเราชินกับแบบเดิม มันต้องค่อยๆๆๆ จนกว่าเราจะล็อกได้
หรือเวลาที่เราทะเลาะกัน สมมติคุณบอกว่าร้อย ผมบอกว่าห้าสิบ ถ้าเป็นสมัยก่อน ผมจะต้องมาจับเข่าคุยกัน คุยให้จบ แต่เดี๋ยวนี้ผมไม่แคร์ ก็แค่พูดว่าขอโทษครับ ผมไม่เห็นด้วย ไม่จำเป็นต้องเห็นเหมือนกัน แล้วเราก็ไม่โกรธกันด้วย เพราะผมรู้สึกไม่จำเป็นที่ต้องทำให้คนคิดเหมือนเรา ทำไปทำไม ผมทำแบบเดิมเฉพาะครอบครัวกับเพื่อนจริงๆ คนอื่นไม่สำคัญ ทำไมต้องไปหนักใจด้วย
เริ่มใช้ชีวิตแบบนี้มานานหรือยัง
เพิ่งเริ่ม เมื่อเดือนแปด (สิงหาคม) ปีนี้เอง
ชีวิตต่างไปเลยไหม
ต่างมาก ทุกคนที่รู้จักผมมานานจะพูดกันหมดว่า นิสัยเปลี่ยนไปเยอะ ไม่เครียดเท่าสมัยก่อน เพราะเมื่อก่อนมันจะมีหลายเรื่องในชีวิตที่ไม่จำเป็นต้องเครียด ซึ่งตรงนี้ผมเชื่อว่าเกี่ยวกับเรื่องวัยด้วย เนื่องจากต้องไม่ลืมว่าผมเริ่มเบเกอรี่ตอนอายุ 22 ปี เด็กมาก แต่ตอนนี้อายุ 41 แล้ว (หัวเราะ)
คือรู้ว่าอยากจะทำอะไรในชีวิตมากขึ้น
ใช่ เพราะก่อนที่ผมจะค้นเจอคำตอบ ไฟในตัวผมมันหายไปนานมาก มันไม่มีแรงบันดาลจะไปสร้างโน้นสร้างนี่ แล้วผมเป็นพวกคนที่ใช้แรงบันดาลใจในการทำงานไง ผมทำอะไรไม่เคยเอาธุรกิจนำ ผมเอาแรงบันดาลใจนำตลอด แล้วธุรกิจมันจะตามมาเอง ผมเชื่อแบบนั้น ของให้เราทำของให้มันดีก่อนแล้วกัน แต่ปัญหาคือ ไม่มีไฟ ไฟมันดับ (หัวเราะ)
อย่างนี้ช่วยเล่าวิธีหาไฟของคุณให้ฟังหน่อย
คนเราชอบคิดแต่ไม่กล้าทำ ผมก็เป็นอยู่ช่วงหนึ่งนะ แต่มาวันนี้ผมเชื่อว่า บางทีเราก็ต้องทำเลย ไม่ต้องไปคิดไกล ไม่ต้องไปคิดว่าผลมันเป็นไง ต้องมีแอ็กชัน ไม่เริ่มก็ไม่รู้ มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผมพยายามกลับมาทำเพลงใหม่ แต่ชนวนมันจุดไม่ขึ้น คือมันเป็น อื้ดดดด.... (ยกมือขึ้น) แล้วก็หายไปเลย ผมก็เลยโทร.ไปคุยกับพี่โอ๋ (ธีร์ ไชยเดช) แกก็บอกมาว่า สุกี้ ยูต้องเซ็ตโกลดิ เพราะถ้ายูไม่มีโกล ยูก็ไม่รู้ว่าต้องเดินไปทางไหน เพราะมันไม่มีจุดเป้าหมายไง
แล้วเมื่อปีก่อน ผมไปเจอเต็ด (ยุทธนา บุญอ้อม) เขาก็เลยว่าจะจัดงานบิ๊กเมาน์เทน พรูจะเล่นไหม ผมก็เลยบอกว่า เล่นก็ได้ ไม่มีอะไรเสียหาย ซึ่งตอนที่เราไปเล่นคอนเสิร์ตนั้น ช่วงที่ต้องเตรียมงาน มันมีจุดประสงค์แล้วไง มีจุดที่เราต้องเตรียมงาน ซึ่งพอกลับไปคิดถึงคำพูดของพี่โอ๋ ก็ถือว่าถูก เพราะต้องมีโกล
แต่ถ้าคิดในมุมกลับกัน มันอาจจะเป็นเพราะคุณพักมากเกินไปหรือเปล่า ทำให้ที่ผ่านมาก็เลยไม่ค่อยคิดเรื่องเป้าหมายสักเท่าใด
มันเกี่ยวกับนิสัยผมมากกว่า ผมเป็นคนเอ็กตรีมทำอะไรเต็มที่ แล้วทำแบบนี้กับทุกอย่างในชีวิต อย่างเรื่องปล่อยวาง ผมก็ไปปล่อยวางทุกอย่างมากเกินไป แล้วในที่สุดก็ไปชินกับการปล่อยวาง แต่มันไม่ดี เพราะพอนานไปมันก็เลยกระทบกับชีวิต แล้วทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า
ซึ่งเรื่องนี้ก็มาจากตอนที่ผมออกมาจากเบเกอรี่ เพราะผมบอกตัวเองว่า ไม่เอาแล้วเราจะไม่ทำแบบนั้นอีกแล้ว ไม่ได้ใช้ชีวิตเลย ไปอยู่กับตรงนั้นอย่างเดียว ก็เลยคิดว่าต้องปล่อยวาง ซึ่งพอคิดมากมันก็ไปกันใหญ่แล้ว (หัวเราะ) แต่ตอนนี้ผมเริ่มมีไฟ เริ่มอยากทำนู้นทำนี้ แต่ครั้งนี้ ผมจะไม่อยากให้มันมาแล้วมันใหม่ไปหมดอีกแล้ว
ตกลงว่าคอนเสิร์ตที่วงพรูกลับไปเล่นนั้นก็คือตัวจุดไฟให้คุณ
ไม่ใช่ ไฟไม่ได้กลับมาเลย เล่นเสร็จก็กลับไปขี่มอเตอร์ไซค์ต่อ แต่การที่เราได้ไปเล่นบิ๊กเมาน์เทน มันทำให้ผมตอบโจทย์ตัวเองได้ว่า ตอนที่เราขึ้นไปเล่นนั้นคนดู 30 เปอร์เซ็นต์ไม่รู้จักเราเลย แล้วตอนแรกผมรู้สึกแย่เลยนะ พอวันต่อมาผมถึงเพิ่งคิดว่า 5 ปีก่อน เด็กพวกนี้ยังวิ่งเตะบอลที่โรงเรียนอยู่เลย เพราะฉะนั้นเขาไม่รู้จักเราหรอก คือเราก็ยังรู้สึกไม่ดีอยู่ แต่มันยังตอบโจทย์ให้ตัวเองได้ด้วยว่า ถ้าให้ผมไปทำเพลงแล้วต้องแข่งกับเด็ก ผมไม่เอา โง่ด้วยซ้ำ ยังไงก็เราก็แพ้เด็ก
สิ่งที่ผมเรียนรู้ก็คือ เราต้องโตไปกับแฟนเรา เหมือนกับซานทานามาเล่น คนดูมีแต่วัย 50 ขึ้น ผมก็เลยมานั่งคิดว่าถ้ากลับมาทำเพลง ก็ต้องเป็นแบบนั้น จะให้ไปทำพ็อพแข่งกับเด็กมันไม่ใช่
สรุปว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้ไฟของเรากลับมา
(นิ่งคิด) เรื่องนี้ดูถามง่ายแต่ตอบยากนะ (หัวเราะ) เพราะมันเป็นนามธรรม คือผมเริ่มรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง “กูทำอะไรวะ” เพราะเมื่อก่อนเราแทบไม่ทำอะไรเลย แล้วผมก็จำคำพูดของพี่โอ๋ได้ ว่าต้องมีโกล ผมก็เลยทำเอ็กซิบิชันขึ้นมา ซึ่งมันแปลกมากมาก เพราะตอนทำคอนเสิร์ตมันก็โอเคนะ แต่ไม่ใช่แบบนี้ มันไม่ตื่นเต้น ไฟไม่ใช่แบบนี้ เหมือนมาได้แค่ครึ่งทาง แต่ตอนนี้มันเป็นหนแรกในรอบ 5 ปีที่ผมอยากกลับไปบ้านไปดีดกีตาร์ ซึ่งสำหรับผมนั้นถือเป็นเรื่องใหญ่มาก
เพราะตอนนั้นคุณขายกีตาร์ไปหมดแล้ว
ใช่! ขายไปหมดเลย 50 กว่าตัว ต้องไปซื้อมาใหม่ ทุเรศมาก (หัวเราะ) ที่สำคัญมันเป็นความรู้สึกกับช่วงที่ทำพรู โอเคผมต้องไปซ้อม แต่มันไม่ใช่ความรู้สึกว่าอยากจะไปซ้อม มันไม่เหมือนกัน แต่ตอนนี้ผมแฮปปี้มาก ไม่ต้องมีใครบังคับเรา เราอยากจะไปเอง เพราะผมมองตัวเองเป็นศิลปิน แล้วหน้าที่ของศิลปินก็คือการสร้างสรรค์นั่นเอง
อย่างนี้พอจะพูดได้ไหมว่า ไฟของคุณนั้นมาจากการได้ทำอะไรใหม่ๆ
(ส่ายหน้า) โน! มันไม่เกี่ยวกับของใหม่ สำหรับผมจะถ่ายภาพ ทำดนตรี รายการทีวี ก็เหมือนกันหมดในฐานะศิลปิน ผมมองทุกอย่างเป็นศิลปะแล้วเราสร้างมันขึ้นมา อย่างนิทรรศการที่ทำมานี้ก็ถือว่าใช่ เพราะถือเป็นงานแรกที่ผมทำในรอบ 3 ปี หลังจากรายการทีวีที่ผมทำ เพราะหลังจากนั้นผมก็ออกจากบันเทิงเลย เพราะฉะนั้นผมคงตอบไม่ได้หรอกว่า ทำไมไฟ จู่ๆ ถึงกลับมา (หัวเราะ)
การกลับเข้าสู่วงการบันเทิงอีกครั้ง รอบนี้ถือว่ากลับมาแบบจริงจังเลยไหม
ผมอยู่วงการเพลงมาทั้งชีวิต แล้วผมรู้ว่าตัวเองพลาดอะไร ผมรู้ว่าที่ผ่านมาไปฝืนตัวเองมากเกินไป ครั้งหนึ่งผมเคยพูดว่า ถ้าจะกลับมา ก็ต้องกลับมาตามกฎผม ถ้าทำตามกฎคนอื่น ผมไม่ทำ เพราะมันผ่านจุดนั้นมาหมดแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อผมมีความอยาก ผมก็จะเล่นตามวิธีผม ให้ไปเล่นเกมคนอื่น ผมไม่เอา
แล้วจุดไหนในอดีตบ้างที่คุณรู้สึกผิดพลาด
โอ้ย! เยอะ มันเด็กมากนะตอนนั้น สิ่งที่ผมรู้สึกผิดพลาดมากสุดในเบเกอรี่คือ การจะให้ไปเป็นเจ้านายกับเพื่อนในเวลาเดียวกันมันยาก เหนื่อยมาก แล้วกลายเป็นว่าเรามาชกตัวเองตลอด มันเป็นเรื่องวัยด้วยแหละ คือเรื่องนี้ต้องแยกให้ออก บางทีเราก็คิดไปเอง ศิลปินเขาไม่ได้คิดแบบนั้น ในเชิงธุรกิจไม่ต้องว่านะ มันเป็นเรื่องในเชิงมุมมองมากกว่า หรือบางอย่างที่ผมไม่อยากทำ แต่คิดว่าต้องทำ เช่น ผมจับสูทมาใส่ ซึ่งมาตอนหลังจากเบเกอรี่ 6 เดือน ผมไปอ่านบทสัมภาษณ์ของเจ้าของโมทาวน์ ซึ่งคนชอบเปรียบเทียบเราว่าเหมือนกับเขา ซึ่งเบอร์รี กอร์ดี ก็ให้สัมภาษณ์ว่าตอนเปิดโมทาวน์ใหม่ๆ เขาทำศิลปะ 90 เปอร์เซ็นต์ ทำธุรกิจ 10 เปอร์เซ็นต์ มาตอนหลังเขาทำธุรกิจ 99 เปอร์เซ็นต์ ทำศิลปะเปอร์เซ็นต์เดียว ผมอ่านแล้วร้องไห้เลย เหมือนกับชีวิตเราเป๊ะๆ เลย อ่านแล้วน้ำตาซึม นั่นแหละที่ผมจะไม่เขาแบบนั้นอีก
แสดงว่าคุณอยากจะกลับมาใช้ชีวิตแบบช่วงแรกๆ ที่ทำเบเกอรี่อีก
ตอนนั้นไม่ได้วางไว้เลย คิดแบบเดียวว่า พวกมึงห่วย กูจะทำให้ดีกว่ามึง!!! (หัวเราะ) โคตรอวดเก่งเลย แต่ว่าตอนนี้เรากลับมาคิดว่า ธุรกิจก็ต้องทำ ไม่ทำไม่ได้ แต่ทุกอย่างบาลานซ์ด้วย อย่างจะให้ผมกลับไปเปิดค่ายแล้วให้มาบริหารค่ายอย่างเดียว โน! ทำทำไม แต่ถ้าผมเปิดค่าย เพราะไม่อยากอยู่ค่ายอื่น ก็ต้องบาลานซ์ คืออย่าเข้าใจผมผิดนะ ธุรกิจยังไงก็ต้องทำ คือต้องหาจุดทำ หาจุดสมดุลให้เจอ
อย่างนี้ถ้าลองมองตลาดดนตรีในปัจจุบันถือว่าได้ดั่งใจไหม
มันพังไปแล้ว ที่พูดนี้หมายถึงวงการนะ แต่ดนตรีไม่ได้พัง วงการมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว เทปมันขายไม่ได้แล้ว และประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่ว่า เราชอบหรือไม่ชอบแบบนี้ แต่มันอยู่ที่ว่า มันมาทางนี้แล้ว ศิลปินหรือคนเบื้องหลังที่บ่นคือ โง่! เพราะมันมาทางนี้ แล้วยูทำไงล่ะ ถ้ายูไม่ปรับตัวก็ต้องไปขายก๋วยเตี๋ยวแทน ที่สำคัญมันจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมอีก
อย่างสมัยก่อน ทุกอย่างเริ่มที่อัลบั้ม ทำเพลงขึ้นมาแล้วไปแตกที่คอนเสิร์ต แล้วก็จัดโชว์ แต่ตอนนี้ในมุมมองผม มันต้องเริ่มที่อีเวนต์ แล้วก็ทำเพลงขึ้นมาสำหรับให้คอนเสิร์ต แล้วค่อยไปแตก มันเป็นแบบนั้นแล้ว เพราะถึงวงการจะพัง แต่มิวสิกมาร์เก็ตติ้งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่มาก และพวกผม หมายถึงเบเกอรี่นะ โชคดีมากที่เราได้เรือลำสุดท้ายของวงการเอาไว้ เป็นยุคที่คนรักเพลงจริงๆ จำได้ไหมช่วง 5 ปีก่อน คนบอกเราฉลาดขายบริษัท แต่จริงๆ เราไม่ฉลาด จังหวะมันบังเอิญ เพราะพอเราขายไป วงการมันตกเลย
คือถ้าสมมติเบเกอรี่ (ยุคดั้งเดิม) ยังอยู่ถึงวันนี้ก็คงเจ็บ
ใช่! อยู่ไม่ได้หรอก เอาง่ายๆ ลองคิดดูก็ได้ 5 ปีหลังมานี้มีใครที่ดังบ้าง
ไม่ค่อยมี....
แน่นอน เด็กสมัยนี้มันไม่ค่อยฟังเพลง ลูกชายผมอายุ 17 ก็ไม่ฟังเพลง ทุกอย่างมันอยู่บนอินเทอร์เน็ตไปหมดเลย ส่วนเพลงนั้นเป็นเบื้องหลัง
เปิดเอาไว้คลอ
จริงๆ (พูดทันที) ซึ่งผมก็ไม่ห่วงจริงๆ เพราะตลาดไปทางนั้น
ถ้าอย่างนั้น ตอนนี้คุณวางแผนอนาคตทางด้านดนตรีของคุณไว้อย่างไร
ก็อย่างที่ผมบอกว่า ต้องเริ่มที่โชว์ เพราะทุกคนไปดูโชว์ เพลงไม่ได้ตายแต่เปลี่ยน ส่วนวิธีการก็แค่เปลี่ยนจากเดิมที่ทำยังไงก็ได้ให้คนมาฟังอัลบั้ม ก็มาเป็นทำยังไงก็ให้คนมาดูคอนเสิร์ตแทน ที่สำคัญเราต้องโตไปกับแฟน และถ้าเราได้แฟนใหม่ก็ถือว่าเป็นโบนัส
แสดงว่าคุณยังเชื่อว่าแฟนเพลงเก่าๆ ยังเหลืออีกเยอะ
ผมเชื่ออย่างนั้น ผมเชื่อว่าทุกผับที่ผมไปเล่นเพลงเบเกอรี่อย่างน้อย 40 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งต่างจังหวัดด้วยนะ สิ่งหนึ่งที่ผมภูมิใจเกี่ยวกับเบเกอรี่มากก็คือ เราสร้างอะไรไม่เคยฉาบฉวย จุดยืนเราแทบไม่เขว เราจะทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ
แต่ปัญหาคือตอนนั้นเราใช้ใจอย่างเดียวไง ธุรกิจไม่สน ครั้งหนึ่งผมกับอ่านหนังสือที่ตัวเองเขียน (Bakery & I) ผมหัวเราะมาก คอนเสิร์ตสุดท้ายของชุดแรกโมเดิร์นด็อก ซึ่งจัดที่สนาม ทบ. เราใช้เวลา 3 อาทิตย์ตัดสินใจ ซึ่งไม่มีใครเขาทำกัน แต่อย่างว่าช่วงนั้นมันก่อนวิกฤต เงินมันดี ทำอะไรก็ได้ตังค์ตลอด เราก็นึกว่าเก่ง แต่จริงๆ แล้วไม่ ตอนนั้นมันฟองสบู่ ซึ่งพอถึงปี 1997 (พ.ศ.2540) เราก็เลยลำบากที่สุด ต่อมาอีกช่วงหนึ่งผมก็ไปฟังสายการเงินมากเกินไป แล้ววันหนึ่งผมก็เพิ่งมารู้ว่าจริงๆ พวกนี้ก็ทำไม่เป็นเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเมื่อมาถึงวันนี้ ผมยังใช้แพสชัน (Passion - อารมณ์) เหมือนเดิม แต่จะไม่ลุยๆ ไปอีก ผมจะทำภาพขึ้นมา แล้วเอาธุรกิจมารองรับ เอาทฤษฎีต่างๆ มาใช้ ถ้าสมมติคำนวณแล้วเข้าเนื้อ ก็ต้องหาสปอนเซอร์มาช่วย นั่นคือการทำงานที่ผมจะทำ เพราะคนเราตอนขึ้นมันไม่เรียนรู้หรอก แต่เราจะเรียนรู้ตอนเราตก
ที่สำคัญ ผมมองว่าในช่วงนี้ชีวิตผมดีที่สุดในรอบ 10 ปี 6 โมงเช้าตื่นแล้ว แรงเยอะ (หัวเราะ) ไฟมันเริ่มกลับมา ตอนนี้ผมมีโปรเจ็กท์อยู่ในหัวประมาณ 10 อัน ต้องมานั่งเลือก แต่ในเวลาเดียวกันผมก็เข้าใจตัวเองมากขึ้น เช่น ผมมี 10 แต่ถ้าจะให้ทำหมด คงตายแน่ เพราะฉะนั้นผมอาจจะเลือกทำแค่ 5 อันเท่านั้น คือเราเริ่มรู้จักตัวเองมากขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้น แล้วเวลาปัญหาอะไรก็ตามแต่ วันเสาร์-อาทิตย์ ผมไปขี่มอเตอร์ไซค์ (หัวเราะ)
ถามจริงๆ การขี่มอเตอร์ไซค์มันสร้างมุมมองชีวิตให้คุณอย่างไรบ้าง
สำหรับผมมันคือการกายภาพบำบัดทางสมอง คือผมรู้สึกว่าคนนั้นชอบอยู่ในอดีต หรือไม่อนาคต แต่การขี่มอเตอร์ไซค์มันบังคับให้เราอยู่ในปัจจุบัน ตรงนี้โคตรพุทธเลยนะ (หัวเราะ) แต่ผมชอบนั้น เพราะมันคือการตั้งสมาธิของผม คือวิธีที่ทำทุกอย่างให้สมดุล อีกอย่างก็คือการอยู่ในกรุงมันวน ถ้าเราขี่ออกไปมันเปิดโลกให้เรา
ตอนนี้ไปมาแล้วกี่จังหวัดแล้ว
ไปมาหมดแล้ว ตอนนี้ผมเปลี่ยนขี่ที่ป่าแทน เพราะถนนไปหมดแล้วไง ก็เลยหันมาขี่วิบากแทน สนุกมาก แล้วมันถือเป็นคนละเรื่องกับวิ่งบนถนนเลยนะ เหมือนกับยูเล่นปิงปองกับเทนนิส อย่างรถก็ต้องเป็นอีกแบบหนึ่ง ชุดก็ต้องอีกแบบหนึ่ง ทักษะก็ต้องไปเรียนใหม่ เพราะตอนขี่แรกๆ คว่ำเละเลย ขี่ไม่เป็น ถือเป็นของเล่นใหม่ และที่สำคัญคือ เราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น อย่างล่าสุดผมไปมาเขาปลาน้อย เขาเต่าดำ ที่กาญจนบุรีมา 3 อาทิตย์ แล้วฝนตกต้องข้ามแม่น้ำ น้ำสูงเท่านี้ (ชี้ไปที่ท้อง) เละเลย มอเตอร์ไซค์พังไปคันหนึ่งต้องแอบไว้ในป่า เดี๋ยวต้องกลับไปเอา ซ่อมไม่ได้ (หัวเราะ)
อย่างนี้ไปทุกเสาร์-อาทิตย์ รู้สึกบ้างไหมว่าไม่อยากจะกลับมากรุงเทพฯ เลย
เมื่อก่อนรู้สึก แต่ตอนนี้ไม่รู้สึกว่า อยากเล่นกีตาร์แล้ว มันมีอะไรให้ต้องกลับมา พูดง่ายๆ คือสมัยก่อน ผมมีแฟน 2 คน คือกีตาร์กับมอเตอร์ไซค์ แล้วมีช่วงหนึ่งที่กีตาร์ไม่จับเลย แต่ตอนนี้ผมแฮปปี้ที่ได้ทำทั้ง 2 อย่าง แต่ตอนนี้มีปัญหาอยู่นิดตรงที่มอเตอร์ไซค์มันเริ่มใจน้อยแล้ว (หัวเราะ)
เป็นการรักษาสมดุลของชีวิต
ใช่
กลับมาจับกีตาร์อีกทีต้องรื้อฟื้นเยอะไหม
เยอะเลย เพราะช่วง 4-5 ปีมานี้ผมไม่เล่นเลย ดังนั้นแม้เราสมองสั่ง จำได้หมดแต่นิ้วไม่ไป (หัวเราะ) อันนี้เป็นสาเหตุที่ผมทำอะคูสติกคอนเสิร์ต ทั้งๆ ที่ผมเล่นไฟฟ้ามาตลอด เพราะมันง่าย ไม่ต้องเสี่ยง แล้วก็เล่นได้เลย อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ การฝึกนิ้วมันยากกว่ากีตาร์ไฟฟ้าเยอะ เพราะเส้นมันใหญ่กว่า ผมก็เลยตั้งใจเพื่อทำให้กล้ามเรากลับมา ซึ่งพอเล่นไปเราก็อินกับตรงนี้ เริ่มสนุกกับอะคูสติก
อย่างนี้ถ้าให้กลับไปอัลบั้มหรือเปิดค่ายเพลงแบบเบเกอรี่จะยังทำอีกไหม
เรื่องอัลบั้ม คงไม่แล้ว เพราะอัลบั้มเต็มเดี๋ยวนี้คงไม่เวิร์ก เราเลยเปลี่ยนเป็นคอนเสิร์ตแทน เหมือนอัลบั้มแรกล่ะ แต่เปลี่ยนฟอร์แม็ตเป็นอีกแบบแทน
ส่วนเรื่องค่ายเพลง เมื่อก่อนผมเคยพูดบ่อยๆ นะว่าผมไม่อยากกินของเก่า ผมว่ามันน่าสมเพช จนกระทั่งวันหนึ่งผมไปกินข้าวกับคุณแม่ ท่านก็บอกว่า ยูโง่! ไม่กินของเก่าได้ไง (หัวเราะ) ผมก็ฟัง เออ!...มันเป็นอีโก้ไง เป็นศักดิ์ศรี แล้วรู้ไหมอะไรที่ช่วยเปลี่ยนมุมมองผม มันคือการที่ ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน กลับไปทำแรมโบ้กับร็อกกี้ แล้วมันก็ดังขึ้นอีก คือมันไปกินของเก่าอีก หลังจากที่ในช่วงยุค ‘90 มันหายมันเลยนะ เพราะทำแล้วเจ๋ง หลังจากนั้นมีการต่อยอดอะไรเต็มไปหมด ซึ่งก็ไม่มีใครด่านะ ก็ร็อกกี้อ่ะ
แต่ถ้าจะกลับไปทำแบบนั้นคงไม่ใช่ เพราะภาพพจน์ผมในวงการเพลงคือคนชอบทำอะไรใหม่ๆ ให้แก่วงการเพลง เพราะฉะนั้นผมคงพยายามทำอะไรใหม่ แต่ที่ใหม่นี้เพื่อตัวผมนะไม่ใช่ให้คนดู อย่างตอนนี้ถ้ามีอะไรจะพุช (Push-ผลักดัน) ผม ก็คงเป็นเพราะตอนนี้ความครีเอทีฟมันหายไปจากวงการเยอะ เชื่อไหมผมไม่ดูทีวีมา 3 ปี แต่เมื่อกลับมาทำใหม่ก็เลยเอาต้องอัปเดตหน่อย ซึ่งวิธีการที่ผมใช้ก็คือเอาเคเบิลทีวีมาติด แล้วดูช่องเพลง ซึ่งมันไม่ค่อยมีอะไรเลย ซึ่งเรื่องนี้แหละที่ผมอยากจะดึงกลับมา แต่ก็ไม่รู้ว่าจะทำสำเร็จหรือเปล่า
เพราะช่วงที่ยังไม่ไฟ ผมเคยคุยกับป๊อด (ธนชัย อุชชิน) เขาก็บอกว่ายูก็ไปหาวงมาโปรดิวซ์แบบสมัยหาพวกเราซิ แต่พอหาแล้วมันไม่มีใครที่เรารู้สึกว่าอยากปั้น เชื่อไหมที่ผ่านมาผมปั้นแค่ 5 วงเท่านั้น ผมปั้นน้อยมาก ต้องชอบจริงๆ แต่ผมหาไม่เจอ
เป็นเพราะคุณภาพศิลปินยุคหลังๆ เปลี่ยนไปหรือเปล่า
ไม่ใช่หรอก คนชอบบอกว่าเป็นเพราะศิลปิน แต่ในมุมผมคนเบื้องหลังนั้นแหละผิดด้วย เขาทำไม่เป็น คนที่เป็นมิวสิกแมนมันหายไป เท่าที่ผมรู้ตอนนี้มีแค่ 2 ค่ายที่มีมิวสิกแมนเป็นหลักคือ สมอลล์รูมกับเลิฟอิส คือคนทำต้องเป็นคนทำเพลง จะเอานักธุรกิจมาทำค่ายเพลงไม่ได้หรอก
อีกอย่างที่เปลี่ยนไป ก็คือตอนที่ผมไปดูงานดนตรีแห่งหนึ่ง ผมสงสัยว่าเขาให้เอาวงแบบนี้ขึ้นเวทียังไง มันสมัครเล่น มาตรฐานมันไม่มี คือถ้าให้ผมทำนะ โอเคคุณมีเวทีของสมัครเล่น แต่คุณจะเอาสมัครเล่นไปอยู่กับตัวจริง มันไม่ได้ มันทุเรศ ขนาดสายกีตาร์ยังไม่ตั้งเลย มันไม่มีสแตนดาร์ด จะไปโทษศิลปินไม่ได้ ต้องโทษคนเบื้องหลัง
แล้วศิลปินแบบไหนที่คุณอยากจะปั้น
อันนี้ต้องเจอกัน ไม่เจอคงไม่พูด ของแบบนี้มันก็เหมือนกับผู้หญิงแหละ สมมติคนนี้ที่เป็นอินสไปร์ (แรงบันดาลใจ) ของเราก็คงไปจีบ แต่ถ้าไม่ชอบไม่ถูกสเปก แล้วจะเข้าไปจีบทำไม
อีกอย่าง ผมมองว่าเด็กหลายคนแม้จะเก่ง จะมีฝีมือหลายอย่าง แต่เขาก็ยังไม่เข้าใจหลายอย่าง บางวงมีโซโล่ 5 นาที ซึ่งเขาต้องเข้าใจ แล้วสมัยเบเกอรี่ผมปั้นใคร ผมไม่เคยทำให้เขาเลยนะ ทุกคนทำเอง ผมเป็นคนเข้าไปตบ ให้มันเข้าที่เท่านั้นเอง
คิดว่าฝีมือเรื่องนี้ยังมีอยู่เต็มที่
แน่นอน เพราะผมไม่ได้ไปทำให้เขานี่ แต่ผมมั่นใจว่าเราตบได้ คือเรื่องนี้มันถือเป็นมิวสิกมาร์เกตติ้ง แบบนี้แหละผมถึงบอกว่าหลายค่ายเขาไม่มี เพราะเขาตบไม่เป็น ยุคนี้ต้องเข้าใจทั้งทางด้านดนตรีและมาร์เก็ตติ้ง และนี่คือสิ่งที่เบเกอรี่สำเร็จ ผมยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ อย่างโมเดิร์นด็อกชุดแรก ผมเป็นคนมิกซ์เอง แล้วผมเป็นคนเกลียดเสียงร้องดัง ผมชอบเสียงร้องเท่ากับดนตรี แต่ตอนที่ผมมิกซ์เพลง ‘ก่อน’ ผมคิดว่าเพลงนี้น่าจะฮิต เพราะฉะนั้นเสียงร้องจะดังกว่าดนตรี หรือแม้แต่พอส หลายคนไม่รู้ว่าเป็นวงฟังก์ แต่โจ้ (อัมรินทร์ เหลืองบริบูรณ์) เสียงเขาเพราะ เพราะฉะนั้นน่าจะทำชุดอะคูสติก ซึ่งทำแล้วดังเลย นี่คือการตบ ซึ่งผมมั่นใจว่า ผมยังทำแบบนั้นเป็น แต่ต้องมีอะไรให้ผมตบ (หัวเราะ)
แต่สิ่งที่สำคัญมากไปกว่านั้นก็คือ ตัวของเขาเองต้องได้ด้วยนะ เนื่องจากเราไม่เคยทำให้เขาไง เพราะเราถือว่าขี้ยังไงก็เป็นขี้สร้างขึ้นมาไม่ได้ ถ้าคุณมีก้อนขี้เอาสตรอว์เบอร์รีไปใส่มันก็เป็นขี้ (หัวเราะ) มันต้องเป็นของดี ซึ่งผมมั่นใจมากกว่า เรื่องนี้ผมถูก
อย่างนี้มีเรื่องไหนบ้างไหม ที่คุณคิดว่าจะต้องทำให้ได้กับวงการดนตรีบ้านเรา
ตอนนั้นหลายคนบอกว่าเบเกอรี่มันพลิกวงการ ใช่ไหม
ถือว่าใช่...
ต้องให้คนอื่นเขาพูดนะ ตัวเองพูดเองไม่ได้ ไม่แฟร์ (หัวเราะ) ก็ถือว่าระดับหนึ่ง ซึงถ้ามาเป็นตอนนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะทำได้หรือเปล่านะ เพราะมันยาก แต่ถ้าเราทำอะไรที่มันพลิกจะเป็นคอนเสิร์ตก็ได้ อีเว้นท์ก็ได้ แต่เป็นอะไรผมยังไม่รู้ อีกอย่างต้องยอมรับว่าช่วงที่ทำเบเกอรี่ มันคือเก่งกับเฮง ถ้ามาก่อน 3 ปีย้อนหลัง หรือ 3 ปีจากนั้นไม่ได้ จังหวะมันไม่ใช่ เพราะเมื่อย้อนกลับไปดูตอนนั้น มันเป็นจังหวะที่ทุกอย่างดาวน์มาหมดเลย
แล้วจังหวะนี้ถือว่าเวลาได้หรือยัง
เรื่องเวลาผมคงไม่รู้ แต่ถ้าพูดการมองวงการเพลง หากเป็น 3-4 ปีก่อนผมยังมองไม่ก่อน แต่ตอนนี้มองออกว่าจะไปยังไง แต่คงไม่บอกหรอก เดี๋ยวมีคนเอาไปใช้ (หัวเราะ) อีกเรื่องหนึ่งซึ่งผมไม่รู้ว่าถูกหรือเปล่า แต่ผมเชื่อว่า เพลงดีของดี แล้วอื่นๆ จะตามมาเอง
กลับมาอยู่วงการดนตรีอีกรอบ รู้สึกกลัวบ้างไหม
(ยิ้ม) ผมว่ามันไม่ยากหรอก ถ้าเราเคยเรียนรู้ เรารู้ว่าชอบอะไร พลาดอะไร สมัยก่อนถ้ามีน้ำร้อนไปจับ แต่ถ้าเป็นตอนนี้คงไม่จับ เหมือนกับที่เขาชอบบอกกันว่าปะสบการณ์ใช้เงินซื้อไม่ได้ ต้องผ่านเอาเอง
ขณะเดียวกัน เราก็ต้องทำใจของเราให้เป็นเด็กเหมือนเดิม ตรงนี้สำคัญ เหมือนที่สตีฟ จ็อบส์บอกว่า เราต้องเป็นเด็กตลอดเวลา ไม่อย่างนั้นไม่คงสร้างสรรค์ไม่ได้
คาดหวังไหมว่า งานชิ้นใหม่จะต้องประสบความสำเร็จเหมือนกับในอดีต
ความคาดหวังคงต้องมีอยู่แล้วแหละ แต่เราต้องรู้ตัวเราเอง ยกตัวอย่างตอนที่เราไปเล่นที่บิ๊กเมาน์เทน ถ้าเป็นสมัยก่อนผมคงรู้สึกไม่ดี ที่คนไม่รู้จักเราถึงขนาดนี้ อันนี้ใช้ความรู้สึกวัด แต่ถ้าใช้สมองวัด ก็ต้องบอกว่าเด็กไม่รู้จักแล้ว แล้วอย่างน้อย 2 ใน 3 เขายังรู้จักเรา ตรงนี้ไม่ใช่ทำใจด้วยนะ แต่เป็นความเข้าใจ ซึ่งถ้าเราเข้าใจ เราก็จะไม่เจ็บ ไม่เฮิร์ทอะไรทั้งสิ้น (หัวเราะ)
ถามจริงๆ กว่าที่คุณจะเข้าใจตัวเองชัดเจนมากขนาดนี้ ก็อายุ 40 เข้าไปแล้ว ถือว่าช้าไปไหม
โน! หากมีอาชีพใหม่ได้ ผมอยากเป็นหมอโรคจิต (หัวเราะ) เพราะคนส่วนใหญ่ไม่รู้จักตัวเองหรอก แล้วก็ไม่พยายามที่จะรู้จัก เพราะฉะนั้นผมไม่ถือว่าสาย ผมเจอคนวัย 60 ตั้งเยอะที่ไม่รู้จักตัวเอง
จริงๆ ผมว่าเรื่องพวกนี้เราต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ข้อดีอย่างหนึ่งในช่วงที่ปล่อยวางตัวเอง ก็คือมันทำให้เรามีเวลาได้มองตัวเอง และผมก็จะเป็นคนที่พยายามพัฒนาแก้ตัวเองตลอด รู้ไหมผมเกลียดคนที่พูดว่าอะไรมากที่สุด ผมเกลียดคนที่ชอบพูดก็ ไอเป็นแบบนี้ ก็ผมเป็นแบบนี้ แล้วทำไมคุณไม่เปลี่ยนล่ะ เพราะรู้อยู่แล้วว่าเป็นสิ่งที่ผิด ทำไมไม่พยายามแก้ ผมถือว่าคนแบบนี้เป็นมนุษย์ที่ไม่มีคุณภาพ
>>>>>>>>>>>
………..
เรื่อง : สุทธิโชค จรรยาอังกูร
ภาพ : ธัชกร กิจไชยภณ