xs
xsm
sm
md
lg

‘นาแล้งน้ำเมืองสุพรรณ’ อาเพศสั่งได้...นัยมหานทีวิปโยค 54?!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กลายเป็นพื้นที่ที่ถูกจับจ้องอย่างเลี่ยงเสียไม่ได้ ก็เมืองที่ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘อู่ข้าวอู่น้ำ’ อย่างจังหวัดสุพรรณบุรีที่มีรายได้หลักมาจากการเกษตรกรรม โดยเฉพาะการปลูกข้าวที่กินอาณาบริเวณนับล้านไร่ กลับกลายเป็นพื้นที่แล้งน้ำขั้นวิกฤต ขาดแคลนน้ำในการทำนาอย่างหนัก!

แน่นอนว่าการทำนาปลูกข้าวน้ำ’ นั้น ถือเป็นหัวใจหลักที่ทำให้เกิดผลิตผลทางการเกษตร สุพรรณฯ เองก็เป็นพื้นที่การผลิตข้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่ง ฉะนั้นการขาดแคลนน้ำในการทำนาของทั้ง 5 อำเภอ ซึ่งได้แก่ อ.อู่ทอง อ.ดอนเจดีย์ อ.เดิมบางนางบวช อ.ศรีประจันต์ และอ.เมือง จึงก่อความเดือดร้อนแก่ชาวนาอย่างยิ่งยวด

งานนี้ร้อนถึงอดีต รมว.เกษตรฯ ‘ประภัตร โพธสุธน’ ที่ขึ้นแท่นเป็นแกนนำ พาม็อบชาวนานับพันลุกฮือออกมาเรียกร้องให้กรมชลประทานปล่อย ‘น้ำ’ สู่ทั้ง 5 อำเภอที่ประสบภัยขาดแคลนน้ำในการทำกิน

น่าแปลก…ขณะที่หลายอำเภอในจังหวัดสุพรรณฯ ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ แต่ทำไมที่พื้นที่ใกล้เคียงอย่าง อุทัยธานี, ชัยนาท, นครสวรรค์, กรุงเทพฯ (รวมถึงบางอ.ในสุพรรณฯ เช่น อ.บางปลาม้า อ.สองพี่น้อง อ.สามชุก) ฯลฯ กลับจำต้องเผชิญภัยพิบัติน้ำท่วมขั้นวิกฤติสร้างความเสียหายโดยไม่ได้นัดหมายไปตามๆ กัน

ซึ่งข้อสงสัยตรงนี้ก็คงสะท้อนกลับไปยังข่าวลือที่ผู้มีอิทธิพลทางการเมืองสั่งปิดประตูระบายน้ำพลเทพ ซึ่งเป็นประตูน้ำที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำท่าจีนในจังหวัดสุพรรณฯ อันส่งผลให้แม่น้ำเจ้าพระยาจำต้องระบายน้ำเพียงสายเดียว และมวลน้ำมหาศาลก็เข้าท่วมจังหวัดที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ สิงห์บุรี, อ่างทอง, อยุธยา, ปทุมธานี, นนทบุรี ฯลฯ ตามลำดับ

เมื่อ ‘น้ำ’ เดินทางมาไม่ถึง ‘นา’
อนึ่ง การที่ที่นาทั้ง 5 อำเภอของเมืองสุพรรณฯ กลับกลายเป็นพื้นที่ขากแคลนน้ำ ก็คงต้องย้อนกลับมามองกันที่ต้นสายปลายเหตุว่า แท้จริงแล้วเกิดเหตุเภทภัยอะไรกับเมืองสุพรรณฯ ถึงได้มีปริมาณน้ำขาดๆ เกินๆ สร้างความเดือดร้อนแก่กลุ่มชาวนา

“แต่เดิมสุพรรณฯ มีน้ำทำนาทั้งปี จะมีปีนี้ที่ขาด สาเหตุจากกรมชลประทานเขาบอกมาว่าเรานั้นใช้น้ำเปลือง และทำให้เกิดโรคเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาด ดังนั้นจึงต้องทำลายวงจรของมันซะ ซึ่งในข้อนี้ชาวบ้านไม่เห็นด้วย เพราะชาวบ้านเขาก็ปลูกแบบนี้มาตลอดก็ไม่เห็นเป็นอะไร ถ้าห้ามทำไมไม่ไปห้ามสนามกอล์ฟ ห้ามรีสอร์ตด้วยล่ะ ทำไมชาวนาต้องมารับกรรมฝ่ายเดียว”

เดชา ศิริภัทร ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี สะท้อนถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำของสุพรรณฯ ในปีนี้ ซึ่งเกิดจากการทำงานของกรมชลประทาน และนโยบายด้านเขื่อนของ กฟผ.

“คือเขื่อนของบ้านเรานั้น อยู่ในความควบคุมของ กฟผ. ไม่ว่าจะเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนอุบลรัตน์ ทีนี้เขาก็ต้องการเอาน้ำไปทำไฟฟ้า เพราะต้นทุนมันถูก ยิ่งเก็บน้ำไว้มากเท่าไหร่เขาก็ทำไฟได้มากเท่านั้น น้ำท่วมที่ผ่านมาก็เนื่องมาจากเขื่อนด้วยเหมือนกัน”

ตามสภาพทางภูมิศาสตร์แล้ว พื้นที่ที่ขาดน้ำในการทำนาทั้ง 5 อำเภอนั้น ล้วนเป็นที่ดอนทั้งสิ้น ส่วนพื้นที่ที่ต่ำมากๆ ก็ยังคงอยู่ในภาวะน้ำท่วมเช่นเดิม เดชา กล่างเพิ่มเติมว่าชล ประทานส่วนหนึ่งก็สร้างมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้ชาวนาทำนาหน้าแล้งกันอยู่แล้ว ปกติในพื้นที่เมืองสุพรรณฯ ก็จะปลูกข้าวนาปีและข้าวนาปรัง ซึ่งข้าวนาปีนั้นจะเป็นพวกข้าวพื้นเมือง ส่วนข้าวนาปรังจะเป็นพันธุ์ข้าวที่ส่งเสริมมาตั้งแต่ปี 2512 อาทิ กข 31 หรือ ปทุม 80 ซึ่งจะได้ผลผลิตที่สูง

ด้าน มาลี น้อมระวี ชาวนา อ.ดอนเจดีย์ พื้นที่ดอนของเมืองสุพรรณฯ ที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ กล่าวสะท้อนภาพความเป็นจริงที่กำลังเกิดกับชาวนาบางส่วนในสุพรรณฯ

“เป็นอะไรไม่ปล่อยน้ำมาให้ เราก็ไม่รู้เหมือนกัน ปกติเราก็ทำนาได้โดยไม่ต้องไปวิดจากคลองขึ้นมา เขาคงไม่ได้ปล่อยน้ำมาล่ะมั้ง ส่วนมากยิ่งบนๆ ของอำเภอ เขาก็ต้องใช้น้ำวิดน้ำมาเข้านา เพราะน้ำชลประทานไม่ยอมไหลมาทางท่อ นี่ก็เพิ่งจะดำนามา โชคดีตรงที่ยังไม่ต้องใช้น้ำมาก ยังพอมีน้ำให้ตีเครื่อง (ตีเครื่อง เป็นภาษาของชาวบ้าน หมายถึงขั้นตอนการเตรียมดินในนาข้าวที่ต้องเอารถไถพรวนดิน ซึ่งต้องอาศัยน้ำเพื่อให้ปั่นดินได้)”

มาลีกล่าวเพิ่มเติมว่า การทำนาในจังหวัดสุพรรณฯ นั้นจะมีรายละเอียดของแต่ละพื้นที่ต่างกันไป ขึ้นอยู่กับลักษณะภูมิประเทศ ซึ่งทำให้การทำนาที่นี่ (โดยเฉพาะหลักๆ อ.ดอนเจดีย์) ไม่ได้แบ่งออกเป็นนาปี และนาปรัง แต่จะเริ่มทำการปักดำทันที่หลังเก็บเกี่ยว ซึ่งมีระยะเวลาที่กระจัดกระจายไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม เธอได้ให้ข้อเสนอแนะสำหรับชาวนาในพื้นที่ขาดแคลนว่าปีนี้น้ำน้อยกว่าปกติคงต้องใช้วิธีวิดน้ำจากแหล่งธรรมชาติ จะมามัวรอการไหลของน้ำตามท่อของระบบชลประทานไม่ได้

ว่าด้วยระบบชลประทานในสุพรรณฯ

ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าถึงแม้สุพรรณฯ จะมีพื้นที่ของระบบชลประทานอยู่มาก แต่ก็ไม่ได้ครอบคลุมทุกตารางนิ้ว เพราะนั้นหมายถึงจำนวนเงินมหาศาลที่ต้องนำไปลงทุน ซึ่งก็คงต้องกลับมาดูว่ามันคุ้มค่าหรือไม่ สำหรับ 5 อำเภอที่ประสบภัยแล้งท่ามกลางปัญหาน้ำท่วมรุมเร้าคนไทยทั่วประเทศ ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำอย่าง หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการ บริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ แสดงทัศนะว่า

“สุพรรณฯ มีพื้นที่เยอะมากกว่าระบบชลประทาน ต้องเข้าใจก่อนว่ามันไม่ได้มีน้ำใช้ทุกพื้นที่ เรื่องการใช้น้ำในพื้นที่การเกษตรอาจจะไม่มีศักยภาพมากพอที่จะส่งน้ำไปถึงได้ ประเทศเราเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว เรามีพื้นที่ระบบชลประทานที่มีประสิทธิภาพยังไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ จากพื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 15 ล้านไร่ แต่มีพื้นที่ชลประทานไม่เกิน 4 ล้านไร่ ยกตัวอย่างหลายๆ จังหวัดที่มีเขื่อนเยอะแยะไปหมด แต่ระบบชลประทานมันก็ไม่สามารถส่งถึงได้ คือมันมีทั้งพื้นที่ที่อยู่ในชลประทาน กับพื้นที่ที่อยู่นอกชลประทาน

“ฉะนั้น ถ้าถามว่าจังหวัดสุพรรณฯ มีพื้นที่อยู่นอกชลประทานไหม...มี เพราะว่า 5 อำเภอไม่ใช่ว่าทุกอำเภอจะมีระบบชลประทาน พื้นที่ส่วนใหญ่ของทั้ง 5 อำเภอตามปกติจะเป็นพื้นที่ที่ไม่มีน้ำเพียงพอในช่วงรอยต่อระหว่างหน้าฝนกับหน้าแล้งอยู่แล้ว บางส่วนยังเป็นพื้นที่อับฝนด้วยซ้ำ”

หาญณรงค์อธิบายขยายภาพเส้นทางเดินของน้ำในจังหวัดสุพรรณฯ ว่า สุพรรณฯ เป็นพื้นที่รับน้ำจากแม่น้ำท่าจีน จากประตูระบายน้ำพลเทพ จ.ชัยนาท ที่ผันมายังแม่น้ำท่าจีน ซึ่งพื้นที่บางส่วนนั้นรับน้ำจากชลประทานแม่น้ำท่าจีน ส่วนอีกด้านหนึ่งคือลุ่มน้ำห้วยกระเสียวที่อยู่ในจังหวัดสุพรรณฯ เอง นอกจากนี้ยังมีส่วนที่มาจากโครงการชลประทานของแม่กลอง คือผันน้ำมาจากทางจังหวัดของทางฝั่งของกาญจนบุรี

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ทั้ง 5 อำเภอของสุพรรณฯ แล้งน้ำ นั้นย่อมเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำโดยตรง ยิ่งในช่วงสภาวการณ์น้ำท่วม ก็เลยมีข้อกังขาในเรื่องการปิดประตูน้ำที่จะส่งไปยังระบบชลประทานบางส่วน

“กรณีของจังวัดสุพรรณฯ ที่เห็นในภาพข่าว มันก็คือในคลองระบบชลประทานน้ำไม่เต็ม ตามความเข้าใจผมมันก็คือว่าน้ำในระบบมันอาจไม่สามารถส่งไปถึงปลายน้ำเหมือนกับที่เคยเป็นอย่างที่ผ่านมา เพราะคำว่าน้ำท่วมมันไม่ได้ท่วมทั้งจังหวัด บางพื้นที่มันก็แล้ง เพราะหนึ่ง-แรงดันน้ำไม่พอ สอง-ต้นน้ำอาจจะใช้น้ำมาเกินไป แล้วก็มีการใช้น้ำไปก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งเคยมีงานวิจัยว่าแม้คจะมีระบบชลประทานก็จริง แต่ปริมาณน้ำที่จะส่งไปผลสำเร็จถึงที่มีไม่ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งระบบ ช่วงหลังก็มีความขัดแย้งไม่ต่างกับบิ๊กแบ๊กเท่าไหร่”

หาญณรงค์แสดงทัศนะทิ้งท้ายถึงการปิดประตูระบายน้ำเพื่อไม่ให้น้ำท่วมในบางส่วนว่า หากไม่ทำการศึกษาอย่างรอบคอบ อาจกระทบระบบชลประทาน และก่อความเสียหายต่อเกษตรกรรมอย่างที่ชาวนาสุพรรณฯ กำลังเผชิญ

“การปิดประตูน้ำเพื่อจะแก้ไขปัญหาน้ำไม่ให้ท่วมในบางส่วน มันทำให้ประตูในระบบบางอันถูกปิดหรือเปล่า มันต้องแบ่งน้ำในพื้นที่น้ำท่วมไปสู่พื้นที่ชลประทานบางส่วนเพื่อลงนา ส่วนที่เป็นคลองที่สามารถแบ่งน้ำได้ ไม่ใช่ปิดประตูตายตามคำสั่งของผู้ใหญ่บางคนที่ไม่ได้ดูว่ามันจะเป็นอย่างไร จังหวัดนี้มันมีผู้มีอำนาจเหนือรัฐมนตรี เวลาเขาสั่งอะไรมาก็ปิดเลย ไม่ได้มาดูว่ากระทบกับระบบชลประทานคนอื่นหรือเปล่า”

ทางด้านประชาชาชนที่ติดตามข่าวสารบ้านเมือง บุญชู ภู่ผึ้ง ก็ร่วมแสดงความคิดว่าทั้ง 5 อำเภอนั้นอาจเป็นที่ดอน ซึ่งตามธรรมชาติของน้ำจะไหลจากที่สูงลงที่ต่ำเสมอ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็เป็นเรื่องที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบต้องวางแผนชัดเจนตั้งแต่แรก

“การที่ 5 อำเภอนี้แห้งแล้งไม่มีน้ำมาทำนา อาจจะเป็นเพราะการบริการน้ำไม่ดีมาตั้งแต่แรก จึงทำให้มีสภาพเป็นอยู่อย่างทุกวันนี้ เราจะต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ว่าจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร มันไม่ใช่หน้าที่ใครคนใดคนหนึ่ง มันคือสิ่งที่ต้องช่วยกัน เริ่มตั้งแต่ผู้ว่าฯ ลงมา จนถึงผู้ใหญ่บ้าน กำนัน คนในชุมชน ว่าเรามีความคิดเห็นอย่างไร จะช่วยกันแก้ปัญหานี้อย่างไร”

ขณะที่ คนึงนิจ นาคมงคล พนักงานบริษัทเอกชน ก็แสดงความสงสัยในการบริหารจัดการน้ำในปีนี้ของจังหวัดสุพรรณฯ

“มันก็แปลกนะ ตรงอื่นเขาท่วมกัน แต่มีสุพรรณฯ นี่แหละที่แห้งจนไม่มีน้ำปลูกข้าว เพราะปกติทุกปีจังหวัดสุพรรณบุรีท่วมตลอด คือท่วมเยอะกว่านี้ เพราะพื้นที่ตรงนั้นเป็นที่ราบลุ่ม เป็นที่สำหรับปลูกข้าว ทำไร่ทำสวน ซึ่งปีนี้น้ำมันก็ยังท่วมแต่ท่วมน้อยกว่าเดิม ทั้งๆ ที่แม่น้ำที่ไหลผ่านก็เป็นแม่น้ำสายเดียวกันคือแม่น้ำท่าจีน แต่ตลกดีที่แม่น้ำท่าจีนตอนบนแถวสุพรรณฯ มันไม่ท่วม มันกลับมาท่วมตรงแม่น้ำท่าจีนตอนล่างก็คิดว่าน่าจะเกิดจากการที่คนตั้งใจจะไปกั้นน้ำหรือเปล่า กลายเป็นว่าจังหวัดอื่นๆ ตอนล่างลงไป ทั้งปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่รับน้ำไปแทน”
..........

ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าพื้นที่เกษตรกรรมใดจะประสบภัยแล้ง หรือภัยน้ำท่วม ก็สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศทั้งสิ้น ซึ่งตัวเลข ณ ขณะนี้ผลผลิตข้าวนาปีก็หายไปทันที 5 ล้านตัน ประมาณความเสียหายเฉพาะนาข้าวก็กว่า 72,000 ล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้คงกลายเป็นโจทย์ใหญ่ระดับประเทศที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไขอย่างบูรณาการ มิเช่นนั้นวิกฤตการณ์สลับขั้ว น้ำท่วม-ขาดน้ำ ก็จะกลับมาสร้างความคลางแคลงใจแก่ชาวไทยอย่างไม่จบสิ้น
>>>>>>>>>>
………

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK




กำลังโหลดความคิดเห็น