ผลพวงของภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งใหญ่หลวง ทุกภาคส่วนล้วนเจอเคราะห์กรรมจากอุทกภัยครั้งนี้เหมือนกันหมด โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่หมายถึงเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงประเทศไทยอีกเส้นหนึ่งก็ถูกทะลุทะลวงเสียหายไปไม่น้อย นิคมอุตสาหกรรมถูกน้ำท่วมเสียหายอย่างยับเยิน
ชีวิตที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญส่วนใหญ่ที่ขาดมิได้ นั่นคือ ‘แรงงานต่างด้าว’ ที่คนไทยโดยทั่วไปตีค่าให้เป็นแค่ ‘พลเมืองชั้นสอง’ ก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งชีวิตประจำวัน รายได้ที่ขาดหายไป และต้องกระเสือกกระสนกลับไปตั้งหลักที่ภูมิลำเนาเดิมในประเทศแผ่นดินเกิดที่พวกเขาจากมา
มีตัวเลขคร่าวๆ ออกมาว่า แรงงานอย่างชาวพม่า ชาวลาว และชาวเขมรหรือกัมพูชารวมกว่า 140,000-150,000 คน ก็อพยพกลับบ้านเกิดกันอย่างอลหม่าน ถึงแม้แรงงานเพื่อนบ้านจะได้ชื่อว่าทนทายาดอดทนสู้งานไม่ย่อท้อ ก็ถึงคราวจรลีกลับบ้านเกิดเมืองนอนเหมือนกัน เพราะแพ้น้ำท่วม
แต่อย่างไรก็ดี เมื่อสถานการณ์น้ำที่เริ่มดีขึ้น ทำให้บางครอบครัวเริ่มเดินทางกลับเข้าที่อยู่เดิมเพื่อดำเนินชีวิตต่อ แต่การกลับมาครั้งนี้ก็สร้างความกังวลใจให้หลายๆ ฝ่ายเช่นกัน อย่างเรื่องที่กังวลเรื่องต้นๆ อาทิเช่น จะกลับมามากเท่าเดิมหรือไม่? กลับมาช้าหรือเปล่า? หรือกลับมาแล้วมีอะไรติดไม้ติดมือมา? หรือจะไม่กลับมาอีก? หรือพากันลักลอบเข้าเมือง?
มาดูบางเสี้ยวบางมุมที่ ‘แรงงานต่างด้าว’ กำลังทยอยกลับมาสู้งานต่อในเมืองไทย หลังภัยพิบัติน้ำท่วม หรืออุทกภัยครั้งรุนแรงในประวัติศาสตร์ของไทยกำลังผ่านพ้นไป...
แรงงานแรงใจ พม่า+ลาว+เขมร
แรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่าประเทศไทยมีอยู่ด้วยกัน 3 ประเทศหลัก คือ พม่า ลาว และกัมพูชา โดยแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ แบ่งการเข้ามาแบบย่อยออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
กลุ่มแรกก็คือแรงงานที่ ‘พิสูจน์สัญชาติเรียบร้อยแล้ว’ มีพาสปอร์ต มีวีซ่าซึ่งถือเป็นคนเข้าเมืองถูกกฎหมาย เวลาจะกลับไปบ้านก็ยื่นเรื่องที่สถานทูตแล้วจะกลับเข้ามาใหม่ได้
กลุ่มต่อมา ก็คือกลุ่ม ‘จดทะเบียน ผ่อนผันให้อยู่ หรือทำงานชั่วคราว’ กลุ่มนี้สถานภาพยังเป็นคนหลบหนีเข้าเมือง เพื่อรอการส่งกลับ แต่ระหว่างนั้นก็ยังอนุญาตให้ทำงานตามเขตพื้นที่เฉพาะจังหวัดเท่านั้น และหากเดินทางกลับบ้านไปแล้ว ไม่สามารถกลับเข้ามาได้ หรือถ้าจะกลับมาก็ต้องทำให้ถูกกฎหมาย
และกลุ่มที่ 3 ก็คือ ‘แรงงานเถื่อน’ ที่ไม่ได้จดทะเบียน ซึ่งกลุ่มนี้กระทรวงแรงงานและกระทรวงการต่างประเทศจะต้องผลักดันออกไปอยู่แล้ว ซึ่งถ้าเกิดเล็ดลอดออกไปได้ก่อน ก็ถือว่าจบเรื่อง
แต่จากเหตุการณ์น้ำท่วมจนทำให้แรงงานหลายคนเดินทางกลับประเทศต้นทาง หากจะถามความรู้สึก ความเป็นมาใครสักคน เวลานี้จะมีใครให้คำตอบดีไปกว่าแรงงานหลักของเมืองไทย จาก 3 บ้านใกล้เรือนเคียง จากทิศตะวันตกอย่างเมียนมาร์ และสุดตะวันออกจากกัมพูชา และลาว
วิน ไนง์ อู ไพร วัน แรงงานพม่าที่เป็นลูกจ้างร้านอาหาร บอกว่า ตนทำงานอยู่ในเมืองไทยมากว่า 10 ปี และเห็นเหตุการณ์น้ำท่วมในเมืองหลวงบ่อยครั้งจนรู้สึกเคยชิน จึงไม่ได้ตกใจกับเหตุการณ์ดังกล่าวมาก ผิดกับครอบครัวที่อยู่บ้านเกิดเมืองเมาะละแหม่ง ที่พม่า เขาจับความรู้สึกถึงความเป็นห่วงของญาติพี่น้องได้จากการพูดคุยโทรศัพท์ทางไกลกัน แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อนๆ ชาวพม่าคนอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ก็เดินทางกลับบ้านเกิดกันไปเกือบหมดเช่นกัน
“ไม่ได้กลับบ้านมานานมากแล้ว เมื่อลอยกระทงที่ผ่านมาก็ครบสิบปีพอดีอยากเก็บเงินให้มากๆ ก่อนแล้วค่อยกลับไปทีเดียว ส่วนเรื่องน้ำท่วม ก็เจอมาตั้งแต่เด็กๆ ที่บ้านผมก็น้ำท่วมบ่อย ทางบ้านเขาก็รู้เรื่องน้ำท่วมที่ประเทศไทย เขาก็เป็นห่วงมากครับ แฟนผมก็ยังดูทีวีกันอยู่ทุกวัน เขาก็บอกว่าดีนะที่ไม่ท่วมตรงที่ที่ทำงานอยู่ ไม่งั้นก็จะทำงานไม่ได้ เพื่อนๆ ที่โดนผลกระทบเรื่องนี้ก็มี ก็หนีกลับไปบ้านเยอะแล้ว อีกอย่างเขาบอกว่าหลังจากปีใหม่ที่บ้านจะมีงานประจำปี ต้องกลับอยู่แล้ว เขาก็เลยคิดซะว่าน้ำท่วมพอดีเลยได้กลับบ้าน อย่างน้อยๆ ก็สักสองสามเดือน แล้วก็ค่อยกลับมาทำงานกันใหม่”
ทางด้านแรงงานพม่าจากย่างกุ้งของบริษัท ไทย - พม่า สัมพันธ์ จำกัด หล้าโทน เล่าถึงการกลับประเทศในช่วงภัยพิบัติน้ำท่วมว่า เกิดจากที่ไม่มีงานทำ ซึ่งไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษมากนักจากการกลับบ้านครั้งนี้ เพราะโดยปกติตนกลับพม่าปีละครั้งอยู่แล้ว
“เศร้านะ เพราะไม่มีงานทำ กลับไปอยู่บ้าน ตอนนี้ต้องกลับมาทำงานก็มีความยุ่งยากนิดหน่อย เรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทาง แต่นายจ้างเขาก็ช่วยเหลือทั้งหมด จริงๆ ที่พม่าก็มีน้ำท่วมอยู่ แต่ท่วมไปสองเดือนแล้ว ที่บ้านไม่มีใคร มีพี่ชายคอยดูแลย้ายของหนีน้ำคนเดียว ยังไม่ได้เตรียมตัวอะไรสำหรับอนาคตเลย นายจ้างเขาก็มีมาตรการช่วยดูแลอะไรให้แล้ว ผมเลยไม่ต้องเตรียมอะไรมาก”
แรงงานเขมรจากปอยเปต เขตชายแดนกัมพูชา-ไทย ส่อม อิม ที่มาทำงานในประเทศไทยเป็นเวลา 5 ปีแล้ว เอ่ยถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่ส่งผลกระทบต่อพี่น้องแรงงานชาวเขมรเท่าที่เขารู้จักว่า ได้มีการเดินทางกลับภูมิลำเนากันพอสมควรแล้ว ซึ่งคนทั้งหมดที่กลับไปนั้นยอมรับว่า ไม่รู้จะกลับไปทำมาหากินอะไร จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ตนตัดสินใจไม่กลับไปด้วย
“ผมมาอยู่ที่นี่ก็ดีที่มีงานทำ อยู่ที่เขมรมันไม่ค่อยมีงานทำ พวกเพื่อนทำงานก่อสร้างที่กลับไปแล้ว เขาก็โทร.มาคุยกันกับผมว่าตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะทำงานอะไร แต่น้ำท่วมที่เมืองไทยก็ทำงานไม่ได้เหมือนกัน ผมเองตัดสินใจทำงานหาเงินพอได้ส่งเงินกลับบ้านอยู่ ที่บ้านได้ยินข่าวน้ำท่วม เขาก็ห่วงเพราะมีญาติมาทำงานที่นี่เยอะ ก็ใช้โทร.มาถามข่าวคราวกัน ”
โสภา มณีวงค์ ชาวลาวเมืองจำปาสักที่อยู่เมืองไทยมากว่า 2 ปี บอกว่า ร้านอาหารแถวพระราม 5 ที่ตนทำงานอยู่น้ำท่วม แต่โชคดีที่ไม่ถึงร้านที่ตนเองอาศัยอยู่ ถึงจะมีน้ำล้อมรอบแต่เรื่องอาหารการกินก็มีอย่างไม่ขัดสนเพราะนายจ้างเป็นคนดี และดูแลไม่เคยขาดตกบกพร่อง ตนจึงอาสาอยู่ดูแลร้านอาหารที่ปิดกิจการชั่วคราวให้
“เวลาออกไปหาของกินที่เราอยากกินเอง ก็ลำบากขึ้นนิดหนึ่ง แต่เจ้านายจะซื้อของกินหลักมาไว้ให้กินอยู่แล้ว ที่บ้านก็โทร.มา แม่เป็นห่วงอยากให้กลับ แต่เรายังไม่อยากกลับ แม่บอกว่าถ้าน้ำท่วมจริงๆ ก็ให้กลับมานะ แกเป็นห่วงมาก แต่ใจเรายังไม่อยากกลับ ต้องการเก็บเงินก่อน เพราะถ้าเรากลับไป จะเข้ามาอีกทีก็ลำบากเรื่องเอกสาร ก็เลยบอกกับแม่ว่าอีกสักพักจะกลับ ยังไม่ถึงเวลา ให้รวยกว่านี้ก่อน” (หัวเราะ)
สาวแรงงานชาวลาวอีกคนที่ออกมาแสวงโชค ทองไส จันทร์บุรี ชาวเมืองสะหวันนะเขต ที่ยังไม่ได้กลับมาทำงานยังประเทศไทย หลังจากเดินทางกลับบ้านเกิดช่วงน้ำท่วมที่ผ่านมาบอกว่า ตนยังไม่มีกำหนดกลับที่แน่นอน เนื่องจากสถานการณ์ที่เมืองไทยยังไม่เรียบร้อยนัก และอีกประเด็นสำคัญคือหลังจากทำงานอยู่ร้านอาหารย่านจังหวัดนนทบุรีได้หลายปี ทำให้มีเงินเก็บอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งอาจจะหาทำธุรกิจเล็กๆ ที่ประเทศตนไปก่อน เพราะครอบครัวก็เป็นห่วงสวัสดิภาพด้วยเหมือนกัน
“ติดตามข่าวอยู่ตลอด ก็กลัวอยู่เหมือนกัน คนที่บ้านก็ยังไม่อยากให้กลับ เลยว่าจะอยู่ก่อน ยังไงก็จะโทร.ไปหานายจ้าง เพื่อไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบอยู่เสมอ”
แรงงานหายไปครึ่งประเทศ ปัญหาค้ามนุษย์จะปะทุรุนแรง
แน่นอนว่าแรงงานต่างด้าวจำนวนมหาศาล ที่กำลังเดินทางกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยย่อมสะเทือนตลาดแรงงานอยู่ไม่น้อย อดิศร เกิดมงคล เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ กล่าวถึงต้นเหตุของปัญหาแรงงานต่างด้าวในกรณีดังกล่าว เพราะสืบเนื่องจากภาครัฐไม่ได้มีการจัดการดูแลแรงงานต่างด้าวอย่างจริงจัง วิกฤตการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ ปัญหาแรงงานต่างด้าวจึงกลับมาเป็นปัญหาใหญ่อีกครั้ง
“แรงงานต่างด้าวที่เดินทางกลับประเทศในสภาวะวิกฤตน้ำท่วมประเทศไทยนั้นคือครึ่งหนึ่งของแรงงานทั้งประเทศ ผมว่าการกลับมาของแรงงานต่างด้าวคงจะเพิ่มจำนวนขึ้นไม่มาก เพราะว่าโดยทั่วไปตำแหน่งงานมันยังคงเดิม เพราะคนที่เข้ามาก็จะรู้ช่องทางดีอยู่แล้ว ปัญหาส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเรื่องของระบบการจ้างงานที่น่าจะต้องจัดระบบกันใหม่มากกว่า เพราะไม่รู้ว่าจะมีสักกี่คนที่จะกลับเข้ามาทำงาน ณ จุดเดิม ซึ่งคงมีอีกจำนวนไม่น้อยที่อาจเปลี่ยนงานไปด้วย ประเด็นต่อมาเป็นเรื่องของสถานะของแรงงานเหล่านี้ขณะที่ทำงานในไทย”
เนื่องจากแรงงานต่างด้าวทั้ง 3 กลุ่มข้างต้นนั้นจะมีปัญหา เพราะปล่อยให้เขาออกไปโดยไม่ได้จัดการในเรื่องสถานะ ทำให้คนที่ออกไปแล้วจะเข้ามาใหม่กลายเป็นคนผิดกฎหมายในทันที เพราะก่อนออกไม่มีเอกสารบันทึกตัวด้วย ทำให้เมื่อกลับเข้ามาจะลำบากเพราะไม่มีเอกสารแสดงตัวว่าตัวเองเป็นแรงงาน
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยนั้นมีปัญหาแรงงานนอกกฎหมายอยู่แล้ว ส่วนแนวโน้มนั้นมีตั้งแต่พวกเขาเริ่มออกไปแล้ว เพราะว่าโดยตัวกลไกนโยบายของรัฐมันไม่ได้เฝ้าระวังอะไร ท้ายที่สุดหากภาครัฐไม่มีการดูแลจัดการอย่างเป็นระบบปัญหาแรงงานต่างด้าวก็จะกลับมาจุดเดิมอย่างไม่จบสิ้น ดังนั้นกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่อพยพหนีน้ำท่วมและกำลังทยอยกลับเข้ามานั้น ต้องช่วยเหลือตัวเองไปพลางๆ ก่อน เพราะรัฐบาลไทยไม่ได้มีการจัดการอำนวยความสะดวกในเรื่องของการเดินทางไป-กลับประเทศ
“การที่ขาดการจัดการจากภาครัฐให้ชัดเจนตรงนี้ ถือเป็นช่องว่างในการเข้ามาแบบผิดๆ ตามแนวชายแดน ซึ่งปัญหาที่น่าห่วงก็คือมันจะเปิดช่องให้ระบบนายหน้าค้ามนุษย์นำพาคนเข้ามาได้มากขึ้น เพราะว่าช่องถูกกฎหมายปิดหมด แต่คนต้องการทำงานอยู่แล้ว และในไทยมีความต้องการจ้างงานสูง ฉะนั้นหากไม่มีการจัดการตั้งแต่ต้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์คือนายหน้า” อดิศรทิ้งท้าย
ภาครัฐเตรียมรับมือความโกลาหล
"การที่แรงงานจะกลับเข้ามาใหม่ จู่ๆ จะเข้ามาโดยไม่มีพาสปอร์ต ไม่มีวีซ่า หรือเอกสารรับรอง เวลาเข้าเมืองด้วยวิธีใดๆ ก็ถือว่าเป็นการหลบหนีเข้าเมืองเข้ามา แต่ถามว่าในขณะนี้เราทราบว่าใครที่หลบหนีออกไปเอง ไม่รู้ว่าไปช่องไหน แล้วเวลาเข้ากลับเข้ามาก็ไม่รู้ทำยังไง และสมมติถ้าก่อนเขาไป เขาจดทะเบียนเอาไว้ แล้วกลับไปทำงานที่เดิม เราก็คงไม่รู้ว่าเขาออกไปหรือเปล่า แบบนี้ก็คงต้องยกประโยชน์ให้จำเลย แต่ถ้าเรารู้ว่าเขาออกไปแล้ว กลับมาแบบนี้ ตรงนี้แหละที่ถือเป็นการหลบหนีเข้าเมือง เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการรายงาน"
อนุรักษ์ ทศรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน อธิบายถึงภาพแรงงานต่างด้าวในสังคมไทยว่า แรงงานต่างด้าวจำนวนมากที่สุดคือกลุ่มที่ 2 คืออยู่ชั่วคราวเพื่อถูกผลักดันกลับ แต่โอกาสที่จะตรวจสอบเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องยาก เพราะตอนที่แรงงานคนนั้นเดินทางออกไปก็ไม่มีใครรู้ ซึ่งเวลากลับเข้ามาก็ไปทำงานที่เดิมอีก แต่ถ้าเป็นกรณีที่รับทราบว่าเดินทางออกไปแล้ว และกลับเข้ามาใหม่ ลักษณะแบบนี้ก็คงต้องใช้กฎหมายเข้าจัดการ
อย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่าจากปัญหาดังกล่าวนั้นได้ส่งผลกระทบต่อจำนวนแรงงานเป็นอย่างมาก ซึ่งในเรื่องนี้ อนุรักษ์ก็ได้ชี้แจงว่า หนทางออกที่ทางสำนักฯ ทำเอาไว้ก็คือติดต่อไปยังสถานทูตต่างๆ เพื่อทำให้แรงงานที่จะกลับเข้ามาเป็นแรงงานประเภทที่ 1 หรือแรงงานถูกกฎหมาย อย่างเช่นล่าสุดได้ทำการพูดคุยกับสถานทูตพม่า เพื่อให้เกิดการทำบันทึกความเข้าใจหรือเอ็มโอยูระหว่างกัน เพื่อนำเข้าแรงงานที่ถูกกฎหมาย
"วิธีการที่เรากำลังจะใช้ก็คือ ให้นายจ้างเดิมนั่นแหละทำรายชื่อขึ้นมาแล้วก็ส่งทางสถานทูต จากนั้นสถานทูตก็ทำรายชื่อขึ้นมาว่า มีใครบ้างที่จะเดินทางเข้ามา จากนั้นประเทศพม่าก็ออกพาสปอร์ตให้ แบบนี้ก็จะเป็นการนำเข้าแบบถูกกฎหมายและแก้ปัญหาแรงงานหลบหนี ซึ่งแรงงานที่เข้ามาพวกนี้จะได้รับการคุ้มครอง มีสัญญาจ้างเรียบร้อย ที่สำคัญวิธีการนี้ก็ทำได้เร็ว เพราะของแบบนี้อยู่ที่การประสานงานระหว่างเรากับพม่า แล้วก็ผู้ประกอบการก็ต้องให้ความร่วมมือ ทางกระทรวงเองก็เร่งรัดทำให้ แต่ที่ผ่านมามันเกิดปัญหา เพราะมันไปช้าอยู่ที่ประเทศพม่า ซึ่งทำหน้าที่หาคนเข้ามา เราแจ้งความต้องการเป็นแสนๆ คน เขาส่งเข้ามาหลักพันหลักหมื่น แต่ตอนนี้ก็ดีขึ้นแล้ว เพราะจากการคุยภายหลัง พม่าเขาเปลี่ยนผู้รับผิดชอบจากกระทรวงการต่างประเทศเป็นกระทรวงแรงงาน"
"เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ อย่างลาวหรือกัมพูชา ตอนนี้ก็มีปัญหาคล้ายๆ กัน แต่ผมคิดว่าของแบบนั้มันเหมือนวิชาหลักการตลาด หากพม่าส่งแรงงานเข้ามาได้เยอะ คำถามก็คือแล้วลาวกับกัมพูชาจะรักษาตลาดตัวเองไหม ถ้ารักษาเขาก็ต้องปรับวิธีการให้มันรวดเร็วกว่านี้ ผมเชื่อถ้าเขาแก้ตรงนี้ เขาก็ต้องปรับตัว ไม่อย่างนั้นก็จะเสียตลาด"
จากการแก้ไขปัญหาแบบนี้ จะทำให้ปัญหาแรงงานหลบหนีหมดไป แล้วถ้าในอนาคตระบบนำเข้าทำได้อย่างรวดเร็วและประหยัดก็เชื่อว่านายจ้างส่วนใหญ่คงจะเลือกแรงงานแบบถูกกฎหมายนี้เป็นหลัก ส่วนคนหลบหนีเข้ามาก็ไม่ใช่ หรือถ้าเกิดไปรับเข้ามาก็สามารถใช้กฎหมายมาเล่นงานได้อย่างรุนแรง ซึ่งทำแบบนี้ปี 2555 สถานการณ์แรงงานหลบหนีนี้ก็คงดีขึ้นเยอะ
……….
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่เวลาที่ต้องมานั่งโทษกันไปโทษกันมา ว่าเป็นความรับผิดชอบของใครคนหนึ่ง แต่หากทุกหน่วยงานยอมช่วยรับผิดชอบร่วมกัน ย่อมส่งผลดีกว่าโยนให้เป็นหน้าที่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งอย่างแน่นอน ซึ่งบทเรียนการอพยพกลับบ้านของแรงงานต่างด้าวในครั้งนี้ ก็คงทำให้ใครหลายๆ คนตระหนักว่า เรื่องของการพึ่งพาอาศัยเป็นสิ่งที่ไม่เว้นวรรณะ เชื้อชาติ และภาษา ภัยธรรมชาติอุทกภัยครั้งนี้ ทำให้มองเห็นเรื่องที่เคยผ่านๆ ตา เกิดเป็นมุมมองดีๆ ขึ้นหลายๆ เรื่องเลยทีเดียว ไม่เว้นแม้แต่แรงงานแรงใจจากเพื่อนบ้านย่านถิ่นติดกับประเทศไทย
>>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK