xs
xsm
sm
md
lg

‘...ต้องสำนึกผิดเสียก่อน...’ ‘อภัยโทษ’ ในมุมมองของ ‘บวร ยสินทร’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทันทีที่มีข่าวลือออกมาจากวงที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน 2554 อันมี ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธาน ว่ามีการพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบ 84 ปี ก็เกิดกระแสต่อต้านจากผู้คนเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นในโลกโซเชียล เน็ตเวิร์ก หน้าข่าวหนังสือพิมพ์ บทความอีกหลายฉบับ หรือแม้แต่ความเห็นของนักวิชาการอีกมากมาย

เพราะว่ากันว่าในร่างฯ นั้น มีความพิเศษกว่าปีอื่นๆ ตรงที่มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์บางประการ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งวันนี้ได้กลายเป็นนักโทษหนีคดี หลังจากที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองได้สั่งให้จำคุกอดีตผู้นำคนนี้เป็นเวลา 2 ปีเมื่อปี 2551 ที่อาจจะใช้ช่องทางตรงนี้เพื่อฟอกตัวและกลับเข้าประเทศได้อีกครั้ง โดยไม่ต้องติดคุก

โดยบุคคลแรกที่ออกมาแสดงจุดยืนต่อต้าน พร้อมกับแสดงปฏิกิริยาเคลื่อนไหวโดยทันที ก็คือ บวร ยสินทร ประธานเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบัน ที่นำรายชื่อของประชาชนกว่า 2,000 ชีวิต ถวายฎีกาต่อสำนักราชเลขาธิการเพื่อคัดค้านร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว ที่เขามองว่ามีที่มาที่ไปและวัตถุประสงค์ที่ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรมและเอื้อประโยชน์ให้แก่คนที่ทำผิดกฎหมาย

ด้วยเหตุนี้เอง จึงถือโอกาสมาพูดคุยกับบุรุษผู้นี้ ท่ามกลางกระแสเร่าร้อนเกี่ยวกับร่างพระกฤษฎีกา ซึ่งคงจะมีตามออกมาอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ และการถกเถียงในหมู่ประชาชน เพื่อจะได้รับรู้ถึงสาเหตุว่า ทำไมเขาและคณะที่ได้รีบดำเนินการอย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่ยังไม่มีประชาชนธรรมดาผู้ใดได้เห็นร่างฯ ฉบับจริงเลย รวมไปถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นและแนวทางต่อสู้ต่อไป หากพระราชกฤษฎีกาฉบับเกิดขึ้นจริง และ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้หยิบยกเอาประโยชน์ของกฎหมายไปใช้จริงๆ อย่างที่ทุกคนคาดคิดเอาไว้

ก่อนอื่นอยากให้ช่วยเล่าที่ไปที่มาของการเคลื่อนไหวครั้งนี้ให้ฟังหน่อยว่าเป็นอย่างไร

เรื่องมันเกิดในวันอังคาร (15 พ.ย.2554) ที่ผ่านมา เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่ามีการประชุม ครม. แล้วนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ได้เข้าที่ประชุม ปล่อยให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมแทน ซึ่งตรงนี้ถือเป็นเรื่องผิดสังเกต แต่เมื่อปรากฏออกมาจากแหล่งข่าวหลายๆ แห่งว่า มีการประชุมลับก่อนเลิกการประชุม แล้วก็เชิญเจ้าหน้าที่ข้าราชการออกไปทั้งหมด ซึ่งเป็นที่น่าผิดสังเกตเข้าไปใหญ่ ซึ่งทราบต่อมาว่าวาระที่มีการพิจารณาในช่วงนี้ ก็คือร่างพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ ก็ถือเป็นประเพณีปฏิบัติ เนื่องจากใกล้วันมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษาครบ 7 รอบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สำหรับข่าวออกมานั้น มีปัญหาอยู่ตรงที่มีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ เพราะตอนปี 2552 มีการกำหนดหลักเกณฑ์ของคนที่ไม่เข้าข่ายหลายเรื่อง เช่น ผู้ต้องโทษในคดีทุจริตคอร์รัปชั่น ยาเสพติด แต่ตามกระแสข่าวที่ปรากฏออกมา ก็มีการยกเลิกหลักเกณฑ์ตรงนี้ ซึ่งถือว่าไม่สมควรอย่างยิ่ง ประเด็นต่อมาก็คือ คนที่เข้าหลักเกณฑ์ต้องมีอายุเกิน 60 ปี ซึ่งข้อนี้ไม่เป็นไร แต่การไม่ระบุถึงระยะเวลาควบคุมตัว หรือเวลาที่ถูกคุมขัง แบบนี้ถือเป็นการขัดต่อหลักการที่ผ่านมา ซึ่งพอเรามาพิจารณาแล้ว ทางเครือข่ายฯ ของเราก็เล็งเห็นว่า เรื่องนี้เป็นของกฤษฎีกา ซึ่งจะนำทูลเกล้าฯ เพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธย เป็นการใช้พระราชอำนาจในการบัญญัติกฎหมายขึ้นมา หากไม่ถูกต้องหรือขัดต่อหลักกฎหมายแล้ว ก็อาจจะเป็นปัญหาได้ ซึ่งจะทำให้กระทบถึงพระองค์ท่าน

เพราะฉะนั้นเราก็เลยพิจารณาศึกษาดูแล้วก็เห็นว่า ตามหลักเกณฑ์ของการอภัยโทษนั้น ข้อสำคัญประการหนึ่งก็คือ ผู้กระทำผิดต้อง ‘สำนึกผิด’ ตรงนี้เป็น ‘หัวใจ’ เลย ถ้าสำนึกผิดด้วยใจ เราก็เห็นว่าไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะการสำนึกผิดด้วยใจนั้นต่างกับการขอพระราชทานอภัยโทษแบบเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ใช่ว่าจู่ๆ จะเห็นว่ารับผิดแล้วก็จบ แต่จิตใจไม่ยอมรับคือยังถือว่าตัวเองทำถูก คนชนิดนี้ถือว่า ไม่สำนึกผิด

ซึ่งพอเรามาดูก็เห็นว่า ตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามารับตำแหน่ง ก็พยายามอย่างยิ่งที่จะช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พ้นจากคดี โดยเฉพาะคดีที่ตัดสินไปแล้วและหนีคดีไปจากต่างประเทศ เพราะฉะนั้นในกรณีนี้จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่มีเจตนาแอบแฝงในเรื่องเหล่านี้ และการที่นายกรัฐมนตรีไม่ได้อยู่ในที่ประชุมก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องไม่รับผิดชอบ เพราะนายกรัฐมนตรีนั้นจะต้องเป็นผู้รับสนองพระราชโองการ จำเป็นจะต้องรับผิดชอบ และบุคคลที่จะเป็นผู้รับผิดชอบนั้น เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่รู้ร่างพระราชกฤษฎีกาที่เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. อย่างน้อยก็คงต้องผ่านตา และไม่ยอมมอบสิทธิ์ให้คนอื่นมาตัดสินว่า เอาหรือไม่เอาอย่างไรในรายละเอียด แล้วตัวเองต้องมารับผิดชอบ อันนี้เป็นการปฏิเสธที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง จึงเชื่อได้ว่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงที่จะไม่เข้าประชุม เพราะคิดว่าจะเกิดประโยชน์ทับซ้อน ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะหากการกระทำนั้นตรงไปตรงมา แม้จะมีผลพลอยได้ให้ญาติพี่น้องก็ไม่เป็นไร

อีกเรื่องนอกจากการสำนึกผิดแล้ว ยังต้องคิดกลับตัวกลับใจไม่คิดจะทำผิดเรื่องนั้นอีก เพราะฉะนั้นโดยหลักแล้ว เขาถึงต้องให้คนคนนั้นถูกคุมขังมาสักระยะหนึ่งก่อนวันที่จะออกพระราชกฤษฎีกา มีความประพฤติที่ดี มีความสำนึกที่จะกลับตัวกลับใจ ไม่ใช่มาอยู่แค่ 2-3 วัน หรือ 1 อาทิตย์ก็แล้วแต่ เพื่ออาศัยประโยชน์จากพระราชกฤษฎีกา แบบนี้ก็ไม่เข้าเกณฑ์ที่เหมาะสม เพราะฉะนั้นการที่ร่างฯ เขียนแบบนี้แสดงว่ามีธงอยู่แล้ว เป็นการเขียนเพื่อให้คนบางคนได้รับประโยชน์ แถมยังพาเอาคนเลวๆ อีกจำนวนมากที่ไม่สมควรได้รับประโยชน์ไปด้วย แล้วแบบนี้ต่อไปจะมีใครเคารพกฎหมาย โกงเท่าไหร่ก็ได้ แล้วเดี๋ยวก็ถูกอภัยโทษ เดี๋ยวก็มีการล้างมลทิน

ค่อนข้างเชื่อว่า เรื่องนี้คุณทักษิณเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังหรือทำเพื่อคุณทักษิณ

แน่นอน เพราะพฤติกรรมที่ผ่านมา ตั้งแต่วันแรกของการเป็นรัฐบาล สิ่งเหล่านี้เขาก็ทำมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการออกข่าวเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม การถวายฎีกา ซึ่งในกรณีก็น่าจะเช่นเดียวกัน เพราะมีการเตรียมวิธีการอยู่หลายๆ วิธีเพื่อจะช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ

อย่างนี้มองได้ไหมว่านี่เป็นการโยนหินถามทางของฝ่ายรัฐบาล

จะโยนหรือไม่ คงไม่สำคัญ เพราะถ้าทำผิดเราก็ต้องคัดค้านอยู่แล้ว เราไม่ได้สนใจว่าเขาทำเพื่ออะไร แต่สิ่งที่เขาทำไม่ถูก เราจะปล่อยคงไม่ได้ ถ้าทำ 10 ครั้งเราก็ต้องท้วงทั้ง 10 ครั้งเหมือนกัน ไม่ว่าเขาจะทำเล่นหรือทำหลอกก็ตาม

แล้วจำเป็นแค่ไหน ที่จะต้องถวายฎีกาด้วย

จำเป็นครับ เพราะจากภาพทั้งหมดที่เกิดขึ้น ทางเครือข่ายฯ จึงเห็นว่าต้องถวายฎีกา เพราะการถวายฎีกามีทั้งหมด 3 ลักษณะด้วยกัน คือถวายเพื่อร้องทุกข์ ถวายเพื่ออภัยโทษ และถวายเพื่อแสดงความคิดเห็นต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นประมุขของแผ่นดิน โดยจะถวายได้หากประชาชนเห็นว่ารัฐบาลกำลังทำผิดกฎหมาย หรือบ้านเมืองกำลังวิกฤต เพราะฉะนั้นเราจึงมองว่าการกระทำของเราไม่ได้เป็นการทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท แต่เป็นการใช้สิทธิ์ในฐานะของพสกนิกรที่จงรักภักดี และไม่อยากนำเอากฎหมายที่ผิดทั้งหลักนิติธรรมและธรรมเนียมประเพณีเข้าสู่สถาบันพระมหากษัตริย์ให้เป็นที่หนักพระทัย จึงเสนอความเห็นแย้งเพื่อประกอบพระราชวินิจฉัยของพระองค์ ซึ่งไม่ว่าจะออกมาอย่างไร เราก็น้อมรับ แต่เราคงไม่นิ่งเฉยเมื่อเห็นว่าเกิดกระทำผิด เพราะรัฐบาลเป็นแค่ผู้บริหารประเทศ ไม่ใช่ผู้ปกครองประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงมีพระราชอำนาจเต็มในการให้ความเป็นธรรมแก่พสกนิกรของประเทศ เราจึงได้แจ้งข้อความนี้แก่สมาชิกในเครือข่ายในตอนดึกวันที่ 15 พ.ย. แล้วนัดพบกันในวันที่ 16 พ.ย. เช้า 10 โมงถึงเที่ยง เพื่อรวบรวมรายชื่อผู้ที่จะเข้าร่วมถวายฎีกาในครั้งนี้

ปรากฏว่า พอกำลังจะเลิกเที่ยง คนก็ยังเดินทางจำนวนมาก คือตอนที่เราเปิดมีคนเข้าร่วมประมาณ 200-300 คน แต่ก็ทยอยมาเรื่อยๆ จนในที่สุดเราก็ต้องเปิดรับรายชื่อถึงบ่าย 2 โมงครึ่ง ได้รายชื่อทั้งหมด 2,800 กว่ารายชื่อ แล้วจริงๆ มีคนอยากเป็นตัวแทนไปยื่นรายชื่อด้วยจำนวนมาก แต่เราขอว่าอย่าทำแบบนั้น เพราะเราไม่มีเจตนามาชุมนุม ซึ่งอาจจะถูกคนนำมาอ้างว่าเรามากดดันพระมหากษัตริย์ และเนื้อหาในฎีกาเราก็ชัดเจนแล้วว่า เราแค่เสนอความคิดเห็นไม่ใช่เอามวลชนมากดดัน แล้วเราก็ได้มีตัวแทนไปยื่นตั้งแต่บ่าย 3 โมงของวันที่ 16 พ.ย. และก็มีคนมารับเรียบร้อยแล้ว

แต่ที่ผ่านมา ตัวร่างพระราชกฤษฎีกาที่ชัดเจนก็ยังไม่มีใครเห็น

ไม่จำเป็นครับ เพราะเราทราบจากแหล่งข่าวหลายแหล่งที่ยืนยัน และถ้าเรารอตรงนั้นให้ออกมาเป็นพระราชกฤษฎีกาก็คงจะแย้งไม่ได้ เพราะพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และปกติจะไม่เห็นร่างก่อน แต่ก็ไม่ถึงกลับลึกลับขนาดนี้ แต่ตรงนี้ไม่ใช่ประเด็นในเวลานั้น เพราะเรื่องสำคัญคือ ทำไมรัฐบาลไม่แถลง จริงไม่จริง แต่รัฐบาลกลับหลีกไปพูดว่าจะได้ประโยชน์แก่คน 26,000 กว่าคน ขณะที่เราไม่ได้พูดถึงคนทั้งหมด เพราะคนที่ได้รับประโยชน์จากประเพณีปฏิบัตินั้นมีอยู่แล้ว แต่เราเป็นห่วงคนที่อาศัยหลักเกณฑ์เหล่านี้มาเป็นประโยชน์แก่ตัวเอง ซึ่งเรามองว่าไม่ถูกต้อง และถ้าปล่อยให้เกิดหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องไปในวันนี้ อนาคตจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อีก มันจะเหมือนกับว่าทำไปแล้วก็จะยิ่งผ่อนผันมากขึ้น และไม่มีทางที่จะหวนกลับมาได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่จะปล่อยให้เป็นอำนาจของรัฐบาลแต่ละชุด หรือฉันมีอำนาจฉันทำได้ ชุดหน้าเธอมีอำนาจ ไม่เอาตรงนี้ แบบนี้ไม่ได้เพราะเป็นหลักกฎหมาย

ต้องมีมาตรฐาน?

เขาเรียกว่า Customary rule of law เป็นหลักกฎหมายจารีตประเพณี เพราะถ้าเราทำแล้ว คราวหน้าคนอื่นเขาจะอ้างว่า ทำไมตอนนี้ถึงได้ คือมันจะผ่อนปรนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถือเป็นภาระของรัฐบาลต่อๆ ไปในอนาคต แถมยังเป็นพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเช่นกัน

แสดงว่าปัญหาของรัฐบาลชุดนี้คือความชัดเจน

เรียกว่าไม่มีความชัดเจนในสิ่งที่ถูกต้อง แต่ชัดเจนในสิ่งที่ผิดมากกว่า เรื่องทำผิดนี่ชัดมาก อย่างเรื่องถุงยังชีพก็เห็นอยู่ว่า ขณะที่คนประสบภัยก็ยังฉกฉวยได้

ถ้าเกิดสุดท้ายเรื่องนี้เป็นความเข้าใจผิดล่ะ คุณบวรจะทำอย่างไร

ก็ไม่เสียหายอะไร เพราะสิ่งที่เราถวายฎีกาก็เป็นการตั้งข้อสังเกตว่า หากเป็นตามที่เป็นข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ เรามีความเห็นอย่างไรบ้าง

แล้วมองอย่างไรที่ ดร.สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ออกมาบอกว่า เป็นเรื่องที่ทำได้ เพราะประชาชน 15 ล้านเสียงมอบฉันทานุมัติให้แล้ว

ไม่มีความหมายครับ เพราะ 15 ล้านเสียงได้มาจากการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งกระบวนการตรงนี้เป็นประชาธิปไตยจอมปลอม เน้นแต่กับเรื่องการโฆษณาหาเสียง แล้วบางทีประชาชนก็เลือกไปกับสิ่งที่เรียกว่าโฆษณา โดยไม่รู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร แล้วสิ่งที่รัฐบาลทำอยู่วันนี้ มันไม่ได้อยู่ในช่วงของการหาเสียง รัฐบาลหาเสียงหรือเปล่า ถ้าผมเป็นรัฐบาล ผมจะออกพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษให้คุณทักษิณ ถ้าพูดแบบนี้แล้วยังมี 15 ล้านเสียงเรายอมครับ แต่เขาไม่ได้พูดสิ่งเหล่านี้ เขาพูดอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้คนลงคะแนนให้เขา เพื่อให้เขาเป็นรัฐบาล แล้วก็ใช้อำนาจนั้นมาทำในสิ่งที่ไม่พูดเลย เพราะฉะนั้นคุณจะมาอ้าง 15 ล้านเสียงสำหรับกรณีนี้ไม่ได้

อย่างนี้คิดว่ารัฐบาลควรจะทำอย่างไร กับร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ดี เพราะถึงอย่างไรก็ต้องออกมาอยู่แล้ว

จริงๆ ผมว่าเขาอาจจะออกมาแบบเดิมที่เคยออกมาแล้วก็ได้ แต่เนื่องจากปีนี้เป็นปีสำคัญ ก็อาจจะเพิ่มหรือลดหลักเกณฑ์บางอย่าง เช่น เพิ่มในบางคดีที่ปีที่แล้วไม่มี แต่ไม่ใช่กระโดดก้าวข้ามเอาคดีร้ายแรง หรือรู้อยู่แล้วว่าจะสร้างความแตกแยกให้แก่สังคม ไม่ควรกระทำ โดยเฉพาะในเวลานี้ที่มีเรื่องภัยพิบัติของชาติ ประชาชนยังต้องมารับรู้ในเรื่องแบบนี้ ซึ่งแทนที่เราร่วมมือร่วมใจกันฝ่าวิกฤต กลับต้องมานั่งทะเลาะกัน กับเรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ หรือประโยชน์ของคนคนเดียว

แต่ถ้าเกิดมันออกมาแล้ว เราก็ต้องมาดูว่าการกระทำใดที่ผิดกฎหมาย ซึ่งตรงนี้ก็คงต้องรอไปก่อน เพราะมันยังไม่มีเอกสารออกมา เนื่องจากเขาอ้างว่าเป็นความลับ แต่ถ้าปรากฏออกมาก็ชัด ถ้าเป็นความผิดทางด้านปกครอง เราก็ต้องไปฟ้องที่ศาลปกครอง แต่ถ้าผิดในลักษณะอาญา ก็ต้องไปฟ้องที่ศาลอาญาในกรณีละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของตรงนั้นเป็นอย่างไร โดยจุดหนึ่งที่จะบอกให้เห็นได้ก็คือ มันออกมาแล้วสอดรับการเจตนารมณ์ของการอภัยโทษหรือเปล่า ถ้ามันขัดกับหลักเกณฑ์ที่ว่าคนนั้นสำนึกผิด หรือพร้อมจะกลับตัวกลับใจหรือไม่ ถ้าไม่สอดรับก็แสดงว่ามันใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องการก็คือ ให้เวลาเขาไปฉุกคิดใหม่ถ้าทำไม่ถูก ก่อนที่จะเสนอทูลเกล้าฯ รัฐบาลอาจเอากลับมาแก้ไข ก็โอเค แต่ถ้ามั่นใจว่าดีแล้ว และทำต่อไป เมื่อปรากฏออกมาแล้ว เราก็ต้องดำเนินการในสิ่งที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งถ้าประกาศมาในราชกิจจานุเบกษา ผู้ที่รับผิดชอบก็คือ นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ก็ต้องไปว่ากัน ไม่ได้หมายความว่ามันจบ

ตอนนี้ ผมคิดว่านายกฯ กำลังถูก ร.ต.อ.เฉลิมหลอก เพราะการที่เขาเป็นประธานในที่ประชุม ไม่ได้หมายความเขาจะเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะนายกฯ เป็นผู้รับสนอง เฉลิมลอยตัว

แต่ก็มีบ่อยครั้งที่รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

สำหรับคุณเฉลิมคงไม่ลงนามหรอก เพราะเขาเป็นตัวอย่างของนักการเมืองที่เอาตัวรอด (หัวเราะ) เป็นคนปากกล้า แต่เอาตัวรอดทุกสถานการณ์ เพราะฉะนั้นการที่เขาตัวทำเสมือนทำตัวเป็นผู้รับผิดชอบ ก็เพื่อเรียกคะแนน ทำเป็นกล้าชน แต่จริงๆ เปล่าหรอก ให้เฉลิมลองเป็นผู้รับสนองสิ กล้าหรือเปล่า (หัวเราะ)

กลับมาที่เรื่องความรับผิดชอบบ้าง ประเด็นไหนบ้างที่คิดว่ารัฐบาลต้องมีส่วนด้วยแน่ๆ หากเกิดพระราชกฤษฎีกาฉบับที่เป็นข่าวนี้มีขึ้นมาจริงๆ

หลักๆ เลยก็คือถ้ากฎหมายฉบับนี้ออกไม่ได้หรือล่าช้า คนสองหมื่นกว่าคนไม่ได้รับประโยชน์ในเวลาที่ควรจะได้ ต้องโทษรัฐบาลเพราะรัฐบาลเป็นคนหาเรื่องขึ้นมาเอง รับผิดชอบที่ 2 คือถ้าออกมาแล้วเกิดขัดกับประเพณีและทำให้เกิดบรรทัดฐานที่ไม่ดีกับสังคม รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบ และรับผิดชอบที่ 3 คือถ้าเกิดมันขัดกับกฎหมาย ทำเกินอำนาจหรือกดดันพระราชอำนาจ รัฐบาลต้องรับผิดชอบไม่ว่าจะวันนี้หรือวันหน้า เพราะเรื่องแบบนี้คงไม่ยอมกัน

สมมติถ้าคุณทักษิณเกิดได้หรือรับประโยชน์จากพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ทางเครือข่ายคิดหรือยังว่าจะทำอย่างไรต่อไป

ก็ไว้ให้ถึงวันนั้น แต่ผมว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับหรอก เรื่องแบบนี้ไม่ต้องไปคิดล่วงหน้า หลายคนบอกว่ารวมพลังเยอะๆ ไม่จำเป็น เราถือว่าเราเสนอความเห็นให้เขาคิด แต่ถ้าดันทุรังออกมา การที่มวลชนจะออกมามันใช้เวลาเดี๋ยวเดียวเอง เพราะมันเป็นเรื่องร้อนอยู่แล้ว

อีกอย่างผมเชื่อว่า ถึงเขาจะเข้ามาได้ ก็คงต้องไม่มีความสุขนักหนา อาจจะมาแบบหลบๆ ซ่อนๆ เพราะเขายังมีคดีอีกเยอะ ตอนนี้เขาต้องการมาแบบที่ไม่ใช่นักโทษหนีคดีเท่านั้นเอง แล้วตอนที่เข้ามาคงไม่ใช่เพียงแต่คนเสื้อแดงเท่านั้นที่จะไปต้อนรับ แต่คงมีกลุ่มอื่นๆ ที่จะไปต้อนรับเหมือนกัน (หัวเราะ)

แล้วโดยส่วนตัว คุณบวรคิดว่าคุณทักษิณต้องทำตัวอย่างไรถึงควรจะได้รับอภัยโทษ

ต้องเข้าใจก่อนว่า การที่คนเราไม่ติดคุกแล้วไม่ได้หมายความว่าจะอภัยโทษไม่ได้ เพราะอย่างที่บอกว่าหลักสำคัญของเรื่องนี้คือ สำนึกผิด อย่างครั้งหนึ่งผมเคยเขียนเฟซบุ๊ก โดยนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เคยไว้ในกรณีของนิสิตคณะวิศวฯ จุฬาฯ ที่เคยไปถวายฎีกาที่หน้าวัง เมื่อปี 2506 ซึ่งเมื่อเสด็จฯ ไปทรงดนตรีที่จุฬาฯ ก็ทรงกล่าวว่า คนเหล่านี้สำนึกผิดด้วยใจ แล้วไม่เคยทำผิดอย่างอื่นมาก่อน ก็น่าจะอภัยให้แก่เขา ก็เป็นการอภัยโทษสดๆ ในวันเดียวกัน เพราะฉะนั้นคำว่าสำนึกผิดจริงๆ ด้วยใจนั้นสำคัญ ไม่ใช่ด้วยลายลักษณ์อักษร หรืออย่างเรื่องของพันท้ายนรสิงห์ก็เหมือนกัน นั่นก็เป็นการสำนึกผิด จะขอให้ลงพระราชอาญาตลอดเวลา พระเจ้าเสือก็เห็นเป็นคนดี อภัยโทษให้ พันท้ายนรสิงห์ก็ไม่ยอม แต่ก็มีคนไปบอกว่าพันท้ายไม่ต้องโทษยังถูกอภัยโทษด้วย ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ เพราะเขารับการอภัยเนื่องจากสำนึกผิดต่างหาก

เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจตามหลักนี้ มันจะตีโจทย์ได้หมดว่าคุณทักษิณหนีคดี แล้วยังไปทำเรื่องไม่ดีอีก สองแม้ว่าจะกลับมาติดคุก 7 วันเข้าเกณฑ์ไหม ก็ไม่ได้อยู่ดี เพราะแสดงว่ามาด้วยเล่ห์เพทุบาย รู้ว่ามีกฎหมายจะให้ ฉันมาให้ครบองค์ประกอบแต่ใจไม่เคยนึกว่าทำผิด หรือเซ็นสำนึกผิดก็เซ็นไปอย่างนั้น ไม่ได้ทำด้วยใจ เพราะฉะนั้นคนนั้นต้องอภัยโทษด้วยใจและมีความพร้อมที่จะไม่ทำผิดอีก ซึ่งหากคุณทักษิณสำนึกผิดจริงๆ ก็ต้องกลับเข้ามาโดยไม่ต้องรอพระราชกฤษฎีกาหรือไม่

อย่างนี้ถ้าสมมติคุณทักษิณยอมติดคุกสักปีหนึ่ง แล้วปีหน้าค่อยขอพระราชทานอภัยโทษใหม่จะดีกว่าไหม

ก็ลองดู เพราะการที่เขามาอยู่ในคุกนั้นดีแล้ว เนื่องจากเขายังมีคดีอยู่ เวลาศาลพิจารณาคดีจะได้ตามตัวง่ายๆ ไม่มีเหตุที่จะต้องไปที่อื่น เรื่องแบบนี้ต้องแสดงเจตนา ผมเชื่อว่าสังคมสงบ เพราะที่ผ่านมา ทุกคนก็ยังเชื่อว่าเขาอยู่เบื้องหลังความไม่สงบหลายๆ อย่าง นั่นแหละคือประเด็น เพราะในเมื่อเขายังทำเรื่องไม่ดีกับบ้านเมืองตลอดเช่นนี้ แล้วเราจะเรียกว่า สำนึกแล้วได้อย่างไร?
>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : พลภัทร วรรณดี และทีมภาพรายวัน





กำลังโหลดความคิดเห็น