เมืองกรุงเก่า...พระนครศรีอยุธยา ถือเป็นจังหวัดหนึ่งที่ถูกปักหมุดไว้ว่าถูกท่วมน้ำหนักหนาที่สุดจังหวัดหนึ่ง
จากธารน้ำเอื่อยค่อยๆ ไหลมาในวิถีเก่าก่อน ช่วงน้ำหลากคือฤดูหนึ่งของชีวิต ที่หลากมาแล้วผ่านพ้นไป มาตอนนี้กลายเป็นมวลน้ำมหาศาล พัดโถมเพิ่มระดับเกินกว่าจะเตรียมตัว
ปลุกศิลปินหนุ่มจากเมืองหลวงตรงดิ่งกลับบ้าน ระหว่างทางยาวไกลถึงบ้านเกิดที่กรุงเก่า มาโนช พุฒตาล รำลึกถึงวิถีวัยเด็กในช่วงน้ำหลาก หรือที่เขาเรียกว่า ‘หน้าน้ำ’ ด้วยความคิดถึง และด้วยความที่ว่ามันอาจเป็นคำตอบของทางรอดแห่งยุคสมัยปัจจุบัน
วันที่เทียวไปเทียวมาระหว่าง ‘กรุงเก่า’ ที่น้ำท่วม กับ ‘กรุงปัจจุบัน’ ที่น้ำใกล้ท่วมเต็มที มีคำบอกเล่าและวิถีคิดหลากหลาย ในความคำนึงถึงภาวะน้ำ (ล้น) หลากของปัจจุบัน
วิถีชีวิตในช่วงฤดูน้ำหลากที่อยุธยาสมัยเก่านั้นเป็นอย่างไรบ้าง
คือสมัยที่ผมเป็นเด็ก เราอาจจะถูกสอนกันมาว่าภูมิอากาศมันมีสามฤดูกาล ก็คือ ฤดูหนาวเราเรียกหน้าหนาว ธันวาคม มกราคม กุมภาพันธ์ แล้วก็มาหน้าร้อนก็คือ มีนาคม เมษายน พฤษภาคม และหน้าฝนในเดือน มิถุนายน กรกฎาคม สิงหาคม กันยายน แต่ในชีวิตความเป็นจริงมันมีอีกฤดูหนึ่ง นั่นคือหลังหน้าฝนเราก็มีหน้าน้ำ ในชีวิตจริง เรามีสี่ฤดู แม้เราจะเรียนหนังสือว่ามีสามฤดูก็ตาม ในหน้าน้ำนั้นเกิดขึ้นหลังจากฝนมันตกทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่าสี่เดือน คือหลังจากฝนตกทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาสี่เดือน น้ำที่ลงจากฟ้ามายังผืนดิน โดยที่มีต้นหมักรากไม้ซึมซับไว้ ซึ่งสมัยก่อนประเทศไทยมีป่าไม้ 50 - 70 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ ต้นไม้ก็อุ้มน้ำไว้ แล้วก็ค่อยๆ คลายน้ำออกมาตามวิถีของธรรมชาติ น้ำก็ค่อยๆ เกิดเป็นลำธาร จากลำธารค่อยเป็นแม่น้ำ ฤดูน้ำหลาก น้ำมันก็หลากมามากกว่าฤดูปกติ
ทีนี้คนตั้งแต่โบร่ำโบราณ ก็เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างนี้มาตลอดว่า พอถึงเดือน ตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคม มันจะมีแบบนี้เกิดขึ้น เหมือนที่ในเพลงลอยกระทงบอกไว้ เดือนสิบสองน้ำนอง เต็มตลิ่ง ซึ่งน้ำจะเริ่มมาตั้งแต่เดือนสิบเอ็ดคือเดือนตุลาคมแล้ว ถ้าเรียกตามเดือนไทย พอเดือนสิบสองคือเดือนพฤศจิกายนน้ำก็จะเอ่อล้น ทรงอยู่กับที่ พอเดือนอ้าย น้ำก็จะรี่ไหลลงๆ คือเดือนธันวาคม มันเป็นไปตามธรรมชาติ ตามเวลา พอคนเรารู้ว่ามันเป็นอย่างนี้เสมอมา เขาก็เลยสร้างบ้านให้มันสูงพอดีกับตอนฤดูเดือนสิบสอง น้ำมันทรงแค่ไหน เขาก็จะทำพื้นบ้านให้สูงพอดี โดยที่น้ำไม่ท่วมไปถึง ส่วนใต้ถุนบ้านก็จะเป็นที่โล่งว่าง สำหรับใช้ในกิจกรรมของชีวิตในยามหน้าแล้งหรือฤดูอื่น ก็เป็นที่เก็บถ่าน เก็บปลาแห้ง เลี้ยงไก่ เก็บเรือ เพราะว่าชีวิตคนอยู่กับน้ำ มันจะต้องมีเรือ จะสัญจรไปไหนมาไหนมันก็ต้องใช้เรือ หน้าแล้งเราไม่ได้ใช้ แต่พอเราเห็นน้ำเริ่มหลากมา ซึ่งมันจะเห็นเอง มันไม่ได้มาขึ้นเลยแบบทุกวันนี้ จะมาวันละนิ้วๆ คนก็ปรับตัวทันรู้ว่าได้เวลาที่จะยาเรือ เอาหมันตอกเรือ เอายาชันเรือ ให้เรือพร้อมที่จะใช้งาน ข้าวของที่อยู่ใต้ถุนบ้านก็ย้ายขึ้นมาไว้บนบ้าน พอน้ำมาก็พายเรือไปไหนต่อไหน แทบจะเป็นชีวิตปกติ
ส่วนของอาหารการกินเป็นอย่างไร
ส่วนของอาหารการกินกลับยิ่งอุดมสมบูรณ์กว่าเดิมอีก เนื่องจากว่าคนในยุคโบราณ ในสมัยที่ผมเป็นเด็กนั้น เราพึ่งตัวเองกันเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่คนสมัยนี้พึ่งศูนย์การค้า จะกินจะอยู่ก็กินอยู่กับศูนย์การค้า ร้านสะดวกซื้อ พอน้ำท่วมไปซื้อของไม่ได้ ขนส่งสินค้าไม่ได้ ก็เกิดปัญหา แต่สมัยก่อนน้ำท่วม น้ำหลากมามันหมายถึงมีก๋วยเตี๋ยวมาให้รับประทานถึงบ้านกันเลยนะ เพราะเขาพายเรือมาขายได้ถึงบ้านเราเลย จากฤดูปกติที่เราต้องเดินออกจากบ้านไปชายคลอง ไปนั่งรอชายคลองกว่าเรือก๋วยเตี๋ยวจะพายมาถึง เรือข้าวโพด เรือข้าวเม่า เรืออาหารนานาชนิด เราต้องเดินไปรอที่คลอง แต่ในฤดูน้ำหลาก ยิ่งสะดวกกว่าอีก เขาพายมาถึงตีนบันไดบ้าน มาถึงชานบ้าน เราแค่รอสั่งซื้อ เรารู้เวลานี่ว่าอะไรจะมาตอนไหน
และเรื่องอาหารที่อุดมสมบูรณ์ขึ้นนั้น เพราะว่ากุ้ง หอย ปู ปลา มันก็มาพร้อมกับน้ำ เราก็ตกปลาจากบนบ้านได้เลย วางข่าย เอาตาข่ายมาวางดักปลา มีปลาหลายชนิด กุ้งหลายชนิด สามารถจับได้ด้วยมือเปล่า ด้วยความที่มันเยอะมาก เอามือควานไปตามรากไม้ ควานไปตามเสาบ้าน มือเปล่าก็จับกันได้ ไม่งั้นจะมีคำว่า จับปลาสองมือเหรอ ไม่งั้นจะมีคำว่า หากินด้วยสองมือเหรอ นี่คือหากินด้วยสองมือ นี่คือเรื่องจริง ไม่ใช่แค่คำพังเพย มันคือเรื่องจริงของชีวิต
แล้วตอนเด็ก วิถีชีวิต การเล่นสนุกกับช่วงน้ำหลากเป็นอย่างไรบ้าง
มันเยอะแยะไปหมด คือเด็กกับน้ำนี่มันเป็นของคู่กันอยู่แล้ว คนที่มีชีวิตอยู่ริมน้ำต้องมีทักษะในการว่ายน้ำก่อน ไม่งั้นก็ตกน้ำตาย ทีนี้ผมเป็นคนอยู่ริมแม่น้ำก็เลยว่ายน้ำเป็นมาตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งเด็กริมแม่น้ำจะต้องว่ายน้ำเก่งว่ายน้ำแข็ง ก็จะมีแข่งกันว่ายน้ำข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา อย่างฤดูน้ำหลากหรือไม่หลาก เราก็ว่ายน้ำเล่นเสมอ อย่างหนึ่งที่เล่นกันก็คือเรือโยง เรือที่โยงสินค้า ถ้าเรือโยงที่โยงล่องไปตามน้ำเราจะไม่เกาะ เราจะเกาะเรือที่ขึ้นเหนือทวนน้ำไปเพราะว่าเราไปเกาะเรือแล้วทวนน้ำไปไกลๆ พอขากลับเราโดดลงน้ำแล้วปล่อยให้ตัวลอยกลับมา ไม่ต้องว่ายทวนน้ำ สนุก เป็นการละเล่นอย่างหนึ่ง
อีกอย่างที่เล่นกันคือ หมาเน่าลอยน้ำ เอาผ้าขาวม้ามา มัดหัวมัดท้าย แล้วเราก็เอาเท้ายันท้าย อีกด้านใส่หัว ดีดตัวเองขึ้นจากใต้น้ำ ให้เพื่อนตบตีลมเข้าไป มันก็จะป่องจะสามารถลอยได้ เราเรียกว่าหมาเน่าลอยน้ำ แล้วแต่เราจะเล่นกันนะครับ ต้นกล้วยเราก็ตัดมาเล่น กลายเป็นทุ่น ยางรถยนต์ ก็ทำเป็นห่วงยาง ตกปลาหาปลา ปิกนิก ทำกับข้าวใส่เรือแล้วไปกินกลางทุ่ง ตามทุ่งนาน้ำจะท่วมถึงหมด และต้นข้าวมันจะแทงยอดขึ้นมาเหนือน้ำ โดยบริเวณนั้นจะมีพืชน้ำพวกสายบัว พวกผักที่กินได้ เราก็พายเรือไป เราตำน้ำพริกกะปิไป ทอดแต่ปลาทูไป มีแต่แกงไปกับข้าวสวย แล้วเราไปเด็ดผักสดกินในน้ำ น้ำดื่มเราก็ไม่ต้องเอาไป เราสามารถวักน้ำดื่มได้เลย สมัยก่อนเราดื่มน้ำจากเหล่งน้ำนี้เลย เพราะสมัยก่อนสิ่งปฏิกูลไม่ได้เยอะเหมือนทุกวันนี้ คนเขาก็ถ่ายลงน้ำได้ ด้วยเพราะความที่คนมันน้อย พื้นที่มันเยอะ มันก็ชะล้างไป อีกอย่างคือการเกษตรสมัยก่อนก็ไม่ได้พึ่งดีดีที ไม่ได้พึ่งสารเคมี ฉะนั้นแหล่งน้ำก็สะอาด ร่างกายของคนเราที่อยู่กับน้ำ มันปรับตัวอยู่แล้ว ฝรั่งมาแวะกินอย่างนี้ก็ท้องเสีย เพราะว่าในร่างกายของคนมันปรับตัวได้ ในร่างกายของคนที่อาศัยกับน้ำจะมีจุลินทรีย์ซึ่งสามารถดูแลลำไส้ กับน้ำที่บริโภคเข้าไปได้
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลายปีมานี้เป็นอย่างไร
ต้องบอกก่อนว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้น ในแบบที่สามารถอธิบายได้ง่ายๆ เพราะมันไม่ได้เกิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มันเกิดขนานใหญ่มาก มีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะแยะมาก เช่น ต้นไม้เรามีน้อยลง สภาพป่าเราย่ำแย่มากขึ้น ทำให้การอุ้มน้ำของป่ามีประสิทธิภาพน้อยลง จากที่ป่ามันน้อยลง แต่ปริมาณน้ำมันยังหมุนเวียนเท่าเดิม ซึ่งนี่อาจเป็นปัญหาใหญ่อันดับหนึ่งเลย ประการที่สองวิถีชีวิตของเราเปลี่ยน เราไม่ได้พึ่งแม่น้ำ ไม่ได้พึ่งเรือ เรามาพึ่งรถยนต์ เราเปลี่ยนการสัญจรทางน้ำมาเป็นการสันจรทางรถเสียมาก เกิดถนนขึ้นมามาก อย่างชนิดที่ ไม่สามารถจะจินตนาการได้เลยจากตอนนั้น จินตนาการไม่ไหวเลยว่าถนนมันผุดขึ้นมาเยอะแค่ไหน ซึ่งถนนก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีการกั้นทางเดินของน้ำด้วย
นอกนั้นก็ยังมีอาคารบ้านเรือน โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มันเกิดขึ้น เอาแค่อยุธยาก็ได้ อยุธยาเมื่อก่อนนั้นถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ เป็นแหล่งน้ำ แหล่งปลูกข้าว ปัจจุบันอยุธยาได้กลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมใหญ่แห่งหนึ่ง มีนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง ซึ่งแต่ละนิคมอุตสาหกรรมก็สร้างพื้นที่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ต้องมีการสร้างถนนขึ้นมาเพื่อขนส่งสินค้า คนที่มาทำงานในนิคมอุตสาหกรรมเหล่านี้ก็เป็นคนที่มาจากต่างถิ่น ซึ่งไม่คุ้นเคยกับวิถีชีวิตแบบน้ำ ซึ่งมีจำนวนคนอยู่นิคมละประมาณสองสามแสนคน แค่นี้ก็มีคนประมาณครึ่งล้านแล้วที่ไม่รู้จักวิถีชีวิตที่อยู่ร่วมกับน้ำ แถมโรงงานอุตสาหกรรมยังปล่อยสิ่งปฏิกูล ปล่องของเสียลงน้ำอีก ขณะที่บ้านเมืองยิ่งมากขึ้น ส่งผลให้ยิ่งเกิดของเสียในแหล่งน้ำ ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงไปหมด วิถีชีวิตก็เปลี่ยนแปลงไป เดี๋ยวนี้คนหุงหาอาหารไม่ค่อยเป็นแล้ว ต้องพึ่งร้าน พึ่งศูนย์การค้า ทุกคนมียานพาหนะ เช่น รถยนต์เป็นของส่วนตัวเยอะไปหมด
พอน้ำหลากมาในคราวนี้ ปัญหาหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ ทุกคนต้องหาที่จอดรถ จะเห็นว่ารถขึ้นไปจอดตามที่สูงหมด จอดตามสะพานหมด เป็นภาพที่แปลกตามาก ทุกคนพึ่งรถและไม่มีเรือ พอน้ำท่วมปับก็เหมือนติดเกาะไปไหนมาไหนไม่ได้ ต่อให้มีเรือก็พายเรือไม่เป็น เพราะเรือไม่ใช่อยู่ๆ คนจะพายเป็น เรือก็หายากกว่าแต่ก่อน แต่ก่อนเรือทำจากไม้ เดี๋ยวนี้ป่าไม้น้อยลง เอาไม้มาทำเรือก็ไม่ได้ กลายเป็นเรือเหล็ก หรือพลาสติกซึ่งพายยากกว่า ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปหมดจนทำให้เกิดปัญหาหนักหนาเหล่านี้ขึ้น
คนอยุธยาในปัจจุบันสามารถอยู่กันน้ำได้ไหม
คนเก่าๆจะอยู่ได้ แต่คนรุ่นใหม่ลำบากแล้ว และมันก็ส่งผลให้คนรุ่นเก่าลำบากตามไปด้วย เพราะว่าคนรุ่นเก่าก็ไม่สามารถฝืนสภาพที่มันเปลี่ยนไป เรือที่มีอยู่ก็ใช้การยากแล้ว เพราะว่ามันไม่ค่อยมีแม่น้ำเหลือให้พาย เหลือแต่ถนน
ยิ่งคราวนี้น้ำมันสูงกว่าปกติ สูงกว่าที่ผมเคยโตมา คือสมัยก่อนน้ำมันค่อยๆ มา ประกอบกับมีต้นไม้ดูดซึมเอาไว้ แล้วค่อยๆ คลายออกมาตามธรรมชาติ สมัยนี้น้ำถูกกักโดยเขื่อน พอเขื่อนกักไม่ไหวก็ปล่อย มันเลยมาเร็วเกินไป ผมก็ไม่รู้ว่าเขื่อนนี่มันจะมีประโยชน์อะไรนอกจากสร้างกระแสไฟฟ้าแล้ว ถ้าในแง่ชลประทานบอกได้เลยว่า พูดกันยาก ถ้าในแง่สร้างพลังงานกระแสไฟฟ้ายังโอเค เขื่อนทำหน้าที่ของมัน แต่ในแง่การบริหารจัดการน้ำ ผมว่าเขื่อนมันทำได้ยาก เพราะผมว่าเขื่อนไม่สามารถควบคุมปริมาณน้ำตามธรรมชาติได้ พอเยอะเกินเขื่อนก็ต้องปล่อย พอตอนปล่อยนี่แหละ ที่ทำให้ทุกคนลำบากกัน
คิดอย่างไรกับปรากฏการณ์กระแสช่วยเหลือที่เยอะมากในช่วงนี้
ก็เป็นเรื่องที่ดีงามแล้วที่เป็นอย่างนี้ ในยามที่ผู้อื่นทุกข์ คนที่สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ก็ช่วยเหลือกันไป อันนี้มันเป็นเรื่องดีอยู่แล้ว แต่คุณรู้ปล่าว ความช่วยเหลือบางทีก็เยอะนะ บางคนแต่มันไปไม่ทั่วถึง บางคนที่ได้บอกว่าไม่มีที่นอน เพราะไม่รู้จะเก็บของช่วยไว้ตรงไหน ของช่วยมันมาเยอะมาก และของช่วยบางทีก็ไม่ตรงตามความต้องการ อันนี้พูดลำบาก เพราะว่ามันแล้วแต่ มันอยู่ที่รายละเอียด บางทีมันแยกแยะลำบาก
อย่างนี้มันจะเป็นกระแสที่แป๊บเดียวรึเปล่า
ไม่หรอก เรื่องการช่วยเหลือ ผมว่าคนต่อคน มันก็ช่วยเหลือกันตลอดกาลอยู่แล้ว แต่สิ่งที่จะต้องทำคือ มันต้องทำเยอะมากเลย หนึ่งต้องกลับไปปลูกป่า สองต้องกลับไปรื้อบ้านจัดสรรทิ้งบางส่วน รื้นถนนบางส่วนทิ้ง ไปขุดคลองเพิ่ม ไปจัดเส้นทางการระบายน้ำใหม่ และต้องรู้ด้วยว่า ระดับน้ำมันสูงกว่าเดิม คนที่อยู่ทะเลเขาจะรู้ อย่างเพื่อนผมอยู่ไรเลย์ที่กระบี่ บอกว่าห้าปีมานี้ระดับน้ำสูงขึ้นทุกปี นี่เป็นเรื่องจริงไม่ใช่เรื่องโกหกกัน เรื่องเป็นปัญหาในระยะยาวที่เราจะต้องคิดกันแล้วว่าจะทำยังไง ผมยังคิดเลยที่บ้านผมจะทำยังไง ผมอยู่ที่รามอินทรา คิดว่าจะทุบบ้านชั้นล่างทิ้ง ทำใต้ถุนสูงเหมือนอย่างที่อยุธยา เหมือนอย่างที่ผมอยู่ตอนเด็กๆ แล้วผมก็คิดว่าทุกคนต้องหัดว่ายน้ำให้เป็น ต้องหัดหาปลาให้เป็น ได้ปลามาแล้วต้องทำปลาให้เป็นด้วย ขอดเกล็ดให้เป็นด้วย ผ่าท้องล้างไส้ปลา คือต้องเตรียมพร้อมที่จะพึ่งตนเองในวันข้างหน้า
ลึกๆ แล้ว คิดว่าวิถีชีวิตในแบบสมัยเด็กที่อยู่ร่วมกับน้ำจะสามารถกลับมาได้ไหม
มันควรจะกลับมาแล้วนะ ถ้าเกิดพิจารณากันอย่างนี้ ใน 16 ปีที่ผ่านมา ท่วมหนักสุดคือปี 2538 มาถึงปีนี้ 2554 ก็ 16 ปีมาแล้ว มันท่วมคล้ายกันมาตลอด มันนานเกินกว่าเราจะไม่ขยับแล้ว ผมว่ามันต้องขยับและปรับเปลี่ยนอะไรกันบางอย่าง…
>>>>>>>>>>
………
เรื่อง : อธิเจต มงคลโสฬศ
ภาพ : ธนารักษ์ คุณทน