xs
xsm
sm
md
lg

‘หญิงก็ไม่ได้ชายก็ไม่ดี’ ชีวจริยธรรมกับการเลือกเพศลูก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากย้อนไปหลายๆ ศตวรรษ คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ‘ธรรมชาติ’ นั้นเป็นตัวกำหนดอารยะของสิ่งมีชีวิต ‘มนุษย์’ เองก็เช่นเดียวกัน ธรรมชาติได้ตีตราเพศสภาพของบุคคลตั้งแต่ครั้งเกิดการปฏิสนธิระหว่างเชื้ออสุจิเซลล์สืบพันธุ์ตัวผู้ กับไข่เซลล์สืบพันธุ์ตัวเมียไว้เป็นที่เรียบร้อย แต่ความต้องการที่ไม่มีขีดจำกัด รวมถึงความเชื่อในเรื่องของเพศทารกแรกกำเนิดก็กลายเป็นตัวกลางให้เทคโนโลยีเข้ามาปลดพันธนาการของการเลือกเพศโดยธรรมชาติลงไป

เรื่องแบบนี้คงไม่ผิดแผกอย่างที่เขาว่ากันว่า ‘คุณอนันต์ย่อมมาพร้อมโทษมหันต์’ ก็เพราะเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เอื้ออำนวยสำหรับผู้ที่มีบุตรยาก ได้กลายมาเป็นเครื่องมือในการเลือกเพศลูกอย่างเสรีที่ดูเหมือนจะขัดกับจรรยาบรรณแพทย์และหลักมนุษยธรรมของสังคม

ความน่าสนใจที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ และมีประเทศไทยเข้ามาเกี่ยวข้องถึงเรื่องชีวจริยธรรมทางการแพทย์ เนื่องจากมีรายงานข่าวเว็บไซต์หนังสือพิมพ์อาซาฮีของญี่ปุ่น ที่นำเสนอกรณีของคู่สมรสหรือสามีภรรยาชาวญี่ปุ่นเดินทางมาประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น เพื่อเลือกเพศบุตรผ่านกระบวนการวิเคราะห์ไข่ที่ผ่านการปฏิสนธิแล้ว ซึ่งในญี่ปุ่นอนุญาตให้ทำได้กรณีที่มีความเสี่ยงแท้งบุตรหรือตรวจหาโรคทางพันธุกรรมร้ายแรงเท่านั้น

โดยสภาพการณ์ปัจจุบัน มีสถาบันการแพทย์ราว 15 แห่งในไทย ที่มีบริการเลือกเพศบุตร และจำนวนสามีภรรยาชาวญี่ปุ่นที่มาใช้บริการเพิ่มสูงขึ้นในระยะ 2-3 ปีมานี้ โดยปีที่แล้วมีประมาณ 30 คู่ ส่วนค่าบริการและค่าใช้จ่ายทั้งหมดตกประมาณ 1.5 ล้านเยน (ประมาณ 5.88 แสนบาท) ซึ่งอาซาฮีอ้างข้อมูลจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ว่ามีการตรวจวิเคราะห์ไข่ปฏิสนธิแล้วประมาณ 600 รายต่อปีในไทย และ 60-70 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนนี้ ทำเพื่อเลือกเพศบุตร แม้ว่าตามหลักปฏิบัติ ไม่อนุญาตให้ทำได้ยกเว้นเพื่อตรวจโรคพันธุกรรม แต่หลักปฏิบัติที่ว่าไม่มีผลผูกมัดต่อแพทย์ อีกทั้งไม่มีบทลงโทษกรณีไม่ปฏิบัติตาม

สำหรับ ‘กระบวนการวิเคราะห์ไข่ปฏิสนธิ’ ซึ่งเป็นเรื่องน่าตะขิดตะขวงใจในเรื่องมาตรฐานของจริยธรรม เพราะประเทศญี่ปุ่นนั้นอนุญาตให้ทำได้เฉพาะกรณีตรวจความผิดปกติทางพันธุกรรมของทารกเท่านั้น ซึ่งตรงนี้สามารถตรวจสอบได้ว่าทารกนั้นจะเป็นเพศใด และแพทย์ก็จะทำการคัดกรองเพศของทารกให้สมดั่งใจปรารถนา โดยกำจัดตัวอ่อนที่ไม่พึ่งประสงค์ออกไป!

เพราะฉะนั้น จากรายงานข่าวชิ้นนี้จากญี่ปุ่น ก็พอน่าจะอุปมาอุปไมยได้ว่า ไทยเปรียบประดุจศูนย์กลางในเรื่องเพศบุตรไปโดยปริยาย ทั้งที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อมาตรฐานทางศีลธรรม และหลักชีวจริยธรรม

วาทกรรม ‘การเกิด’ ในเชิงปรัชญา
"ในทางปรัชญานั้นเรื่องของสภาวะการเป็นบุคคลก็ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ พวกหนึ่งบอกว่าการเป็นบุคคลนั้น เกิดขึ้นเมื่อบุคคลมีอวัยวะครบถ้วน แต่อีกพวกบอกว่าความเป็นบุคคลเริ่มตั้งแต่การปฏิสนธิแล้ว ดังนั้นเรื่องของการเป็นเจ้าของชีวิตตัวเองมันแล้วแต่ว่าใครมอง การมองเรื่องร่างกายครบอวัยวะทำงานแล้วนี่จะเป็นพวกสสารนิยม ส่วนพวกจิตนิยมจะเป็นแบบหลังที่นับการมีชีวิตตั้งแต่ปฏิสนธิ แล้วก็ยังมีอีกพวกที่มองว่า ทารกเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายของแม่ด้วยนะ และแม่ก็มีสิทธิเหนือร่างกายตนเองเต็มร้อย"

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์จากภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงข้อถกเถียงในวงการปรัชญาในเรื่องของการให้กำเนิดชีวิตใหม่บนโลก และดูเหมือนว่าการเลือกเพศลูกในเชิงปรัชญานั้น ยังไม่สามารถชี้ชัดว่าเป็นการกระทำที่ผิดหรือไม่อย่างไร เพราะมีหลายองค์ประกอบแถมยังเป็นนามธรรมที่ยากจะจับต้อง

“ส่วนในทางการแพทย์และศาสนานั้นก็จะมองแตกต่างกันไป การเลือกเพศลูกนั้นมันย่อมเป็นการกระทำที่ฝืนธรรมชาติแน่นอนอยู่แล้ว แต่จะว่าไปในสมัยโบราณเขาก็มีเรื่องแบบนี้อยู่เหมือนกันนะ แต่วิธีการมันจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อ การทำพิธีกรรม ในการเลือกเพศลูก ซึ่งมันก็ไม่ได้ผล 100 เปอร์เซ็นต์หรอก

"ส่วนการกระทำในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์นั้น ในเชิงปรัชญามันเป็นเรื่องที่ตัดสินชี้ชัดลงไปไม่ได้หรอกว่าผิดหรือไม่ผิด เพราะการทำนั้น มันทำในขั้นตอนที่ยังไม่นับเด็กที่จะเกิดขึ้นเป็นชีวิต คือจะพูดถึงเรื่องสิทธิเหนือชีวิตตนเองก็คงไม่ได้ แต่ถ้ามองในทางศาสนานี่ผิดแน่ เพราะการทำแบบนี้เป็นการยื่นมือเข้าไปยุ่งกับหน้าที่ของพระเจ้า"

แต่หากมองในมุมของพุทธศาสนา พระครูชาญฉลาด พระวิทยากรสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้แสดงทัศนะว่า การเลือกเพศลูกนั้นไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดศีลธรรมทางพุทธศาสนา เพราะการเลือกเพศดังกล่าวยังอยู่ในขบวนการที่ไม่ครบองค์ 3 ซึ่งหมายความว่า ถึงแม้ว่าจะมีตัวอ่อนที่วิ่งเข้าสู่ท้องของแม่แล้วก็ตาม แต่ยังไม่เกิดการปฏิสนธิ ถือว่าองค์ที่ 3 ที่สมบูรณ์นั้นยังไม่ได้เกิดขึ้น แต่เมื่อใดที่เกิดการปฏิสนธิเป็นรูปร่างที่สามารถฝากร่างกายไว้กับครรภ์แม่ได้แล้วไปทำลายส่วนนั้น จึงจะถือว่าเป็นเรื่องผิดหลักธรรม

“การเลือกโดยระบุเพศหญิงชายที่ยังไม่ได้ฝังตัวไปในร่างกายแม่ ถือเป็นเรื่องที่ไม่เกิดบาป เพราะถือว่าการเป็น มนุษย์นั้นยังไม่สมบูรณ์ ไม่ผิดศีลข้อ 5 แต่อย่างใด เพราะยังไม่ได้รวมกันครบองค์ 3 คือ ทั้งตัวของพ่อผสมกับไข่ของแม่ จึงจะเป็นคนได้ ปกติหลักของวิทยาศาสตร์ตัวสเปิร์มของพ่อที่วิ่งเข้าไปถือเป็นสิ่งมีชีวิตแล้ว แต่ของพุทธศาสนาจะต้องมีเรื่องวิญญาณจิตผสมเข้าไปด้วย ถึงแม้ว่าทั้งจุดกำเนิดจากของพ่อแม่ผสมกันแล้วแต่วิญญาณยังไม่เข้ามา ก็ถือว่าฝ่อไปแล้ว เหมือนยังไม่ติดลูกนั่นเอง ถ้ามีการปฏิสนธิทางรูป และปฏิสนธิทางจิตพร้อมกันเมื่อไหร่จึงถือว่าเป็นสิ่งมีชีวิต หรือมนุษย์เกิดแล้ว ตรงนี้เองไม่ถือว่าเป็นการทำบาปเพราะเป็นการก่อให้เกิด เรียกว่าเป็นบุญมากกว่า ตามหลักในทางโลกเรียกว่า โลกียกุศล หมายถึงทำให้วิญญาณเกิดขึ้น การให้ชีวิตเป็นสิ่งที่ดี มันตรงข้ามกับการทำลายซึ่งเป็นเรื่องบาป”

สิทธิของผู้ป่วยกระทบจรรยาบรรณแพทย์
“ตัวอย่างเช่นว่าคู่สมรสมีลูกเพศเดียวกัน 3 คนแล้ว ถามว่าเป็นสิทธิส่วนตัวของเขาไหมที่จะเลือกอีกเพศหนึ่งเพื่อให้ครอบครัวมีความสมดุลย ส่วนทางแพทย์สภานั้นมองในส่วนของจริยธรรม ทีนี้ในแง่จริยธรรมมันมีข้อพิจารณาในเรื่องที่ว่าถ้าเราเลือกเพศสมมุติมีตัวอ่อนปกติเป็นเพศหญิงและเพศชาย เราเลือกเพศใดเพศหนึ่งเข้าไปตัวอ่อนที่เหลือก็ต้องทิ้ง ทั้งที่ตัวอ่อนนั้นปกติถ้าใส่กลับไปอาจจะเจริญเป็นเด็กได้ มันก็เลยเป็นแง่มุมในด้านจริยธรรมว่า ทำไมตัวอ่อนที่ปกติแต่ไม่ตรงกับเพศที่ต้องการถึงต้องทำลายทิ้ง”

ศ.นพ. สมบูรณ์ คุณาธิคม ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ขยายภาพของการนำเทคโนโลยีการวิเคราะห์ไข่ปฏิสนธิมาใช้ในการเลือกเพศบุตร ที่ทั้งคาบเกี่ยวกับศีลธรรมจริยธรรม และสิทธิอันชอบธรรมของตัวผู้ป่วยเอง

ถ้าพิจารณาตามประกาศของแพทยสภานั้น ก็มีการห้ามนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในการเลือกเพศลูก เพราะจริงๆ แล้วตรงนี้เป็นกรรมวิธีในการช่วยเหลือผู้มีบุตรยากไม่ใช่เพื่อเลือกเพศลูกตามใจชอบ ซึ่งถ้ามองตามบริบทของแพทย์สภาก็ถือว่าผิดในแง่ศีลธรรมเต็มๆ และได้มีการกำหนดโทษของความผิดทางด้านจริยธรรมไว้อย่างชัดเจน แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการร้องเรียนจากใครจึงถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องใช้ดุลพินิจถกเถียงกันพอสมควร

“ตรงนี้เราไม่มีกฎหมายควบคุม ถ้าผิดก็จะผิดในแง่ของจริยธรรมของแพทยสภา ไม่ใช่ผิดกฎหมายอาญา ทีนี้ความผิดทางจริยธรรมของแพทย์สภานั้นมีอยู่ 4 หลัก คือ ภาคทัณฑ์ ว่ากล่าวตักเตือน งดใช้ใบประกอบวิชาชีพแพทย์เวชกรรมเป็นช่วงๆ และเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพแพทย์เวชกรรม ตรงนี้เองที่เป็นการลงโทษทางจริยธรรมของแพทยสภา”

ถ้ามองในส่วนของแพทย์นั้น ก็จะมีการชั่งน้ำหนักอยู่ 2 ทาง ทั้งส่วนของจริยธรรมทางการแพทย์ กับความเมตตาสงสารที่ต้องการช่วยเหลือผู้ป่วย ศ.นพ.สมบูรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า แพทย์บางท่านที่ทำนั้นเพื่อช่วยเหลือด้วยความเมตตา ไม่ได้ทำเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ใดๆ ซึ่งเชื่อว่าคนเป็นแพทย์ส่วนใหญ่นั้นไม่ได้มองในเรื่องของผลประโยชน์ไปมากกว่าสิทธิของผู้ป่วย

สำหรับผู้มีบุตรยากอย่าง รัชนี บุตรสี เธอก็เปิดใจว่า เพศของลูกนั้นไม่ได้มีความจำเป็นสำหรับคู่ของเธอเลยแม้แต่น้อย เพียงแค่หวังให้เขามาเกิดเป็นลูกที่ดีเป็นคนดีของสังคมก็พอ

“ไม่คาดหวังนะ เพศหญิงหรือชายก็ได้ ถึงในเมืองไทยโดยปกติจะอยากมีลูกชายกัน แต่โดยส่วนตัวแล้วถ้ามีโอกาสให้เลือกได้ ก็อยากได้ลูกผู้หญิง เพราะคิดว่าน่าจะเลี้ยงง่ายกว่า”

ในเรื่องของการเลือกเพศลูกโดยการตรวจวิเคราะห์ไข่ปฏิสนธินั้น รัชนี กล่าวเพิ่มเติมว่าเป็นสิทธิเฉพาะบุคคล

“ส่วนหนึ่งมันก็เป็นสิทธิของเขา แต่เมื่อมันผิดจรรยาบรรณมันก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ การเลือกเพศลูกมันอาจจะเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับเขา แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอยู่ดี”

ความคลาดเคลื่อนของประชากร
อย่างไรก็ตามการเลือกเพศบุตรนั้น สร้างผลกระทบต่อโครงสร้างประชากรแน่นอน ศ.ดร.ภัสสร ลิมานนท์ อดีตคณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า ตามปกติแล้วสัดส่วนทารกแรกคลอด จะมีเพศชายมากกว่าเพศหญิงเล็กน้อย ก็คือชาย 105 คนต่อหญิง 100 คน เพราะตามหลักฐานทางสถิติเด็กผู้ชายจะอ่อนแอกว่าเด็กผู้หญิง ตรงนี้ก็เหมือนกับธรรมชาติก็เลยเผื่อเอาไว้ เผื่อให้สัดส่วนนั้นสมดุล แต่หากมีการเลือกเพศบุตรเกิดขึ้น ความสมดุลตรงนี้จะหายไปทันที ซึ่งตัวอย่างที่ยืนยันได้เป็นอย่างดี แม้ตอนนั้นจะยังไม่วิทยาการอะไรมากมายนัก ก็คือในประเทศเอเชียตะวันออกหรือเอเชียใต้ เช่น จีน อินเดีย ไต้หวัน ปากีสถาน ฯลฯ ซึ่งนิยมการมีบุตรชายมากกว่าบุตรสาว เพราะฉะนั้นถ้ามีลูกสาวเกิดขึ้นก็จะทำลายทิ้งเสีย เพื่อรอให้มีลูกชายเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การที่มีชาวญี่ปุ่นมาใช้บริการแพทย์ไทยเพื่อเลือกเพศบุตรมากขึ้น และบางคนก็เลือกบุตรเป็นเพศหญิงนั้น ศ.ดร.ภัสสร มองว่าคงไม่มีผลกระทบอะไรมากนัก และน่าจะเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลมากกว่า เพราะปัญหาของคนที่นั่นจริงๆ แล้วคือน่าจะเป็นภาวะการเจริญพันธุ์ที่ถดถอยลงมากกว่า

"คนญี่ปุ่นคงไม่ได้กังวลเรื่องเพศบุตรเท่าใดนัก แต่สิ่งที่กังวลมากกว่าภาวะเจริญพันธุ์ของเขามันต่ำจนติดลบ เช่น สมมติคนรุ่นพ่อรุ่นแม่มีลูก 2 คน แล้วเนื่องจากเขามีลูกน้อยลง ในอนาคตก็จะเหลือแค่คนเดียว แต่ถามว่าการทำแบบนี้มันจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของเขาหรือไม่ ตรงนี้คงต้องดูที่ตัวเลขว่ามันมีสักเท่าไหร่ ถ้ามีแค่หลักพันก็อาจจะเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล แต่โดยส่วนตัวแล้วเชื่อว่าคงไม่รุนแรงเท่ากับจีน ซึ่งมีนโยบายให้มีลูกแค่คนเดียว"

แต่สำหรับเมืองไทย ศ.ดร.ภัสสร มองว่าไม่มีแนวโน้มที่จะเลือกเพศบุตร เพราะค่านิยมความต้องการมีบุตรชายหรือบุตรสาวนั้นไม่ได้มีมากเท่าใดนัก เพราะคนสมัยเก่าเชื่อว่า ถ้ามีบุตรชายก็ให้บวชเรียน ส่วนบุตรสาวที่บวชไม่ได้ ก็ให้ทำหน้าที่ดูแลปรนนิบัติพ่อแม่แทน ฉะนั้นคุณค่าของเพศจึงมีความเท่าเทียมกัน
..........

ถึงแม้มนุษย์เราจะฝืนกฎของธรรมชาติได้ในหลายๆ เรื่อง แต่ท้ายที่สุดทุกชีวิตบนโลกก็ต้องสูญสลายไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติอยู่ดี หากหลักชีวจริยธรรม (bioethics) ซึ่งหมายถึงการปฏิบัติต่อสิ่งมีชีวิตอย่างมีคุณธรรม ไม่ทำร้าย หรือทำอันตรายต่อสัตว์หรือมนุษย์เพื่อการศึกษาหรือการวิจัย การเลือกเพศลูกโดยกรรมวิธีทางการแพทย์อาจกำหนดเพศของลูกในครรภ์ของคู่สมรสได้ตรงตามต้องการ อาจจะเพื่อความสมดุลของสมาชิกในครอบครัว หรือความปรารถนาอันแรงกล้าก็คงถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล ตรงนี้ก็คงเป็นที่ถกถียงกันต่อไป เพราะผลประโยชน์ในทางธุรกิจเชิงแพทย์พาณิชย์และความพึงพอใจของผู้ที่อยากมีบุตรให้ตรงกับที่ต้องการกับจรรยาบรรณของแพทย์ย่อมสวนทางกัน.
>>>>>>>>>>>

………..
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพCLICK


กำลังโหลดความคิดเห็น