xs
xsm
sm
md
lg

วิถีแห่ง ‘แฮกเกอร์’ ยอมตายคาโลกไซเบอร์ดีกว่าคายความลับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ถ้าโพสด้วยอารมณ์แบบการเมืองจริงๆ เขาก็ควรจะซ่อนไอพีของตัวเอง สำหรับแฮกเกอร์ทุกคนกฎเหล็กคือ จะไม่ย้ายเท้าตัวเองเหยียบเข้าไปในเขตอันตรายโดยเด็ดขาด” 
 
.........
  
            สิ่งมีชีวิตที่ได้ชื่อว่า‘แฮกเกอร์’ นั้น แน่นอนว่าต้องเป็นพวกบ้าคอมพิวเตอร์อย่างถึงระดับ โดยพื้นฐานจะต้องเข้าใจระบบการปฎิบัติการของคอมพิวเตอร์ (โปรแกรมทำงานอย่างไร) ระบบการเชื่อมต่อ (เข้าใจว่าคอมพิวเตอร์คุยกันอย่างไร) ระบบรักษาความปลอดภัย (เพื่อหาช่องโหว่) ซึ่งคนเหล่านี้สามารถประสานองค์ความรู้ทั้งสาม ประยุกต์เอามาใช้ในการแฮกได้ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนโปรแกรม หรือด้วยวิธีการใดๆ ก็ตาม แฮกเกอร์คือผู้ถืออาวุธของโลกเสมือน
 
            หากทำชั่วก็เป็นเหมือนโจร แต่ทำดีแน่นอนก็เป็นฮีโร่...ในโลกเสมือน แต่ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้โลกเสมือน ซ้อนทับกับโลกแห่งความจริงจนแทบจะแยกกันไม่ออก
 
            ยุคแห่งเทคโนโลยีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ทำให้สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว เครื่องมืออย่างโซเชียล เน็ตเวิร์ก ทำให้สามารถเผยแพร่ข้อมูล ได้ง่ายดาย ทุกวันนี้ทุกคนต่างต้องมีอีเมล์เป็นของตัวเอง ทำให้ข้อมูลมากมาย ถูกส่งไปลอยอยู่ในโลกเสมือน ข้อมูลวันเกิด ที่ทำงาน อีกมากมาย ลอยอยู่ในอีเมล์ เฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์
 
            จากข่าวทวิตเตอร์ของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกแฮกนำมาซึ่งความสงสัยถึงคำถามด้านความปลอดภัย เกิดอะไรขึ้น ตัวละครสำคัญอย่างแฮกเกอร์กระทำอหังการอย่างนั้นได้อย่างไร???!!!
 
ข่าวของ ‘แฮกเกอร์’
 
            แม้เหตุการณ์เกี่ยวกับการแฮกข้อมูลผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ในเมืองไทยนั้นที่ผ่านมาจะไม่ถือว่ามีอะไรโดดเด่นมากนัก เมื่อเทียบกับต่างประเทศ เพราะในบ้านเราส่วนใหญ่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองสักเท่าใด แถมยังไม่มีคดีแบบไหนที่จัดว่าบันลือโลกเท่ากับคดีของนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม ปัญหาแฮกเกอร์นับวันจะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น
 
            ตัวอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน ในจังหวะเดียวกับที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กำลังง่วนกับการจัดการมือแฮกทวิตเตอร์นายกรัฐมนตรี แล้วก็มีการประกาศข่าวว่า รู้ตัวมือแฮกแล้ว ไม่นานก็มีแฮกเกอร์หนุ่มวัย 20 ปี มามอบตัว โดยมีคุณแม่แฮกเกอร์หนุ่มคนนั้นเป็นผู้นำตัวมาหาตำรวจ ในช่วงเดียวกันก็มีคดี  ชินธันย์ และพิชชานันท์ อมรพรวิวัฒน์ คู่สามี-ภรรยาซึ่งทำธุรกิจค้าเครื่องเงินกับชาวต่างชาติ ถูกแฮกอีเมล์ไปทำให้ลูกค้าต่างชาติโอนเงินมาให้แฮกเกอร์ประมาณ 500,000 บาท
 
            ขณะที่ธนาคารใหญ่อย่าง ธนาคารกรุงไทยยังเคยถูกลูบคม โดยประเกียรติ บุญเหมาะ, แอนตอน ซลดาเทนคอฟ ชาวรัสเซีย และวีนู เทนโก โอเรคซานเดอร์ ชาวยูเครน ได้ร่วมกันแฮกข้อมูลธนาคาร ตรวจสอบรายชื่อลูกค้าที่มียอดเงินฝากจำนวนมาก  ทำให้เอื้ออังกูร อัครชัยไพศาลที่มีเงินฝากที่สาขาอุตรดิตถ์ถึง 6.5 ล้านบาท ถูกปล้นผ่านระบบการเงินบนเครือข่ายเสมือนโดยที่ตัวเองไม่รู้เนื้อรู้ตัวใดๆ
 
            อีกหนึ่งที่เห็นบ่อยๆ ก็คือ การที่จู่ๆ จะมีอีเมล์ของคนรู้จัก (พร้อมอ้างอิงชื่อด้วยซ้ำ) เขียนมาขอความช่วยเหลือว่า ตอนนี้ตัวเองกำลังลำบากอยู่ในต่างประเทศ เพราะถูกคนหลอกลวงเงินไปจนหมด จึงอยากจะให้โอนเงินมาช่วยโดยด่วน และถ้าใครหลงเชื่อ ก็เสร็จ เสียเงินให้อาชญากรแบบฟรีๆ
 
            ส่วนในต่างประเทศ เรื่องการแฮกนั้นถือว่า ระบาดหนักกว่าประเทศไทยหลายเท่า อย่างในประเทศอังกฤษ ผู้ถูกแฮกข้อมูลนั้นเป็นถึสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 และ กอร์ดอน บราวน์ อดีตนายกรัฐมนตรี โดยจำเลยของคดีนี้คือบริษัทนิวส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งมีหนังสือพิมพ์อยู่ในเครือทั้ง 'นิวส์ ออฟ เดอะ เวิลด์' 'เดอะ ซัน' ฯลฯ โดยถูกกล่าวหาว่าแฮกในการหาข่าว
 
            นอกจากนี้การแฮกข้อมูลยังเกิดขึ้นแบบข้ามประเทศอีกด้วย โดยเมื่อ 4 ปีก่อนเจ้าหน้าที่กองทัพปลดแอกประชาชนของจีนถูกกล่าวหาว่าเข้าไปเจาะระบบล้วงข้อมูลลับจากคอมพิวเตอร์ของรัฐบาลเยอรมนี ทั้งจากสำนักงานนายกรัฐมนตรี กระทรวงต่างประเทศ และอีกหลายกระทรวงที่อยู่ในกรุงเบอร์ลิน
 
            เหล่านี้เป็นภาพที่เห็นได้ว่าการแฮกข้อมูลเป็นเรื่องที่นับวันจะยิ่งทวีความน่ากลัวมากขึ้น เพราะยิ่งเทคโนโลยีในประเทศก้าวหน้ามากขึ้น มีการทำธุรการทางการเงินผ่านอินเทอร์เน็ต มีการส่งผ่านข้อมูลสำคัญผ่านทางอินเทอร์เน็ตมากขึ้น อันตรายที่แฮกเกอร์จะโดดเข้ามาอยู่ตรงกลาง ขโมยข้อมูลไปทุกอย่าง ก็ยิ่งจะมีมากขึ้น
 
วิถีแฮกเกอร์
 
ยิ่งนับวันการแฮกเกอร์ยิ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวของเรา สำหรับยุคสมัยแห่งความเร่งรีบ บางครั้งการกรอกรหัสบัตรเครดิตไปบนอินเทอร์เน็ตในการซื้อของก็จำเป็นจะต้องทำ ยิ่งกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างการแฮกทวิตเตอร์นายกฯ ต่อไปนี้คือบางวิธีการที่แฮกเกอร์ใช้ในการเอาข้อมูลของเรา
 
-          ยุคแรก แฮกจากต้นทาง แฮกเกอร์ยุคแรกนั้นจะแฮกจากต้นทาง จะเอาเงินบัตรเครดิตก็แฮกเข้าระบบธนาคาร หรือบริษัทนั้นโดยตรง เป็นการโจรกรรมข้อมูลโดยใช้วิธีอย่างการส่งอีเมล์ไปหลอกล้อให้พนักงานกรอกรหัส หรือการหาช่องโหว่จากตัวระบบโปรแกรม หรือการเชื่อมต่อเข้าไปแฮกระบบควบคุม ด้วยเพราะระบบในสมัยนั้นยังไม่มีการป้องกันอะไรมากนัก
 
-          ยุคแฮกผู้ใช้งาน ยุคนี้จะยาวนานมาถึงปัจจุบัน เนื่องด้วยระบบรักษาความปลอดภัยของบริษัทใหญ่ๆ เริ่มมีการลงทุนกันมากขึ้น ระบบโปรแกรมใหม่ๆ เริ่มหาช่องโหว่ได้ยาก ทำให้เหล่าแฮกเกอร์ต้องหันไปเล่นงานตัวผู้ใช้งานที่มีระบบความปลอดภัยที่ต่ำกว่า
 
-          ยุคของโปรแกรมแฮก คือการแฮกเกอร์โดยการเขียนโปรแกรมขึ้นมาให้ทำการแฮกอัตโนมัติ ส่งเข้าไปในเครือข่าย เมื่อผู้ใช้งานเข้ามาคลิกจะทำให้โปรแกรมเข้าไปสแกนเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อพาช่องว่างแล้วฝังตัว จากนั้นทำแบบเดิมซ้ำไปเรื่อยๆ เมื่อก่อนคอมพิวเตอร์ที่ติดไวรัสแบบนี้ตัวไวรัสจะประกาศตัว แต่เดี๋ยวนี้จะไม่เป็นแบบนั้น ไวรัสจะฝังตัวอยู่เงียบๆ คอยเก็บข้อมูลส่งกลับไปให้แฮกเกอร์ ซึ่งต่อมาพัฒนาจนสามารถฝังบอทเน็ตทำให้แฮกเกอร์สามารถควบคุมคอมพิวเตอร์เหล่านั้นได้ โดยวิธีนี้ยังใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน แฮกเกอร์จะใช้บอทเน็ตควบคุมคอมพิวเตอร์ในการทำงานต่างๆ อย่างการรบกวนเซิร์ฟเวอร์ตามใบสั่งอีกที
 
-          ยุคบลูทูธ เมื่อโทรศัพท์สามารถใช้บลูทูธได้ ซึ่งยุคแรกเริ่มนั้นยังไม่มีระบบรักษาความปลอดภัยใดๆ และผู้คนก็เปิดบลูทูธกันแบบเปิดไว้เฉยๆ ทำให้มีการแฮกข้อมูลผ่านทางการบลูทูธ ซึ่งเคยมีแฮกเกอร์คิดค้นปืนบลูทูธ ซึ่งสามารถยิงสัญญาณบลูทูธเข้าไปแฮกเป้าหมายได้ไกลถึง 800 เมตร
 
-          ยุคไวเลส การให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สาย หรือไวเลสเริ่มเป็นนิยม การแฮกรหัสไวเลสเพื่อนำมาขายก็เป็นอีกช่องทางการหาเงินให้กับแฮกเกอร์อย่างง่ายๆ ด้วยการดักข้อมูลรหัสเน็ตมา จากนั้นก็รวมขายเป็นไวเลสอินเทอร์เน็ต
 
-          แอพฯ หลอก จากความนิยมของโซเชียล เน็ตเวิร์ก อย่างเฟซบุ๊ก ทำให้มีการสร้างแอพพลิเคชั่นหลอกบนเฟซบุ๊กขึ้นมา ซึ่งจะเหมือนกับเกมจริงๆ ทำให้สามารถดึงข้อมูลไปได้ แต่ก็สามารถแก้ไขได้ง่ายด้วยการคลิกเลิกใช้งานแอพพลิเคชั่นนั้นบนเฟซบุ๊ก และเปลี่ยนรหัสผ่าน
 
-          ฟิชชิ่ง แฮกเกอร์จะเปิดหน้าหลอกขึ้นมา เหมือนเป็นการหย่อนเบ็ดตกปลา ซึ่งจะใช้ไอพีที่ใกล้เคียงเพื่อให้ผู้ใช้งานหลงเข้ามา จากนั้นเมื่อกรอกข้อมูลในหน้าเว็บฯ หลอก จะทำให้ข้อมูลไปอยู่ที่แฮกเกอร์แทน วิธีนี้เคยใช้กับธนาคารกสิกรไทยจนเป็นข่าวมาแล้ว เพราะช่วงนั้นเริ่มมีการทำอี - แบ็งกิ้ง ขึ้นมาครั้งแรกๆ
 
เบื้องหลังการจับกุม แฮกเกอร์ 
 
           จากการที่ทวิตเตอร์ของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ถูกแฮก นำมาโพสข้อความ ต่อมาภายในสองวัน ตำรวจสืบตามรหัสไอพีแอดเดรสไปถึงคนร้าย ติดต่อคนร้ายผลคือยินดีมอบตัวในวันนั้น พร้อมคำสารภาพทำไปด้วยอาการคึกคะนอง ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ยิ่งทำให้เกิดเป็นคำถาม ซึ่งศุภเดช สุทธิพงศ์คณาสัย พิธีกรรายการแบไต๋ไฮเทค บอกกับเราโดยรวบรวมข้อมูลจากทั้งวงนอกวงในว่า
 
            “เหตุการณ์ทั้งหมด ตามที่ผมได้รับทราบข่าวมา คือมันไม่เมกเซนท์เลย”
 
            มองในรายละเอียดแล้ว สำหรับผู้ครำหวอดด้านวงการไอที การแฮกทวิตเตอร์ไม่สามารถทำได้ ต้องไปแฮกเมล์ซึ่งในกรณีของนายกฯ คือต้องแฮกจีเมล์ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ด้วยระบบรักษาปลอดภัยของจีเมล์ไม่มีแฮกเกอร์คนไหนเสี่ยงเข้าไปจัดการ อีกเหตุผลคือต่อให้เจาะเข้าไปได้ ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะหาข้อมูลอีเมล์ที่นายกฯ ใช้งาน
 
            “ยากมาก การเจาะกูเกิล และถึงเจาะเข้าไป ก็ไม่รู้ว่าเมล์ของนายกฯ ไปอยู่ตรงไหน คือคอมพิวเตอร์ของกูเกิล มันเป็นลิงก์เน็ตเวิร์กของมหาคอมพิวเตอร์ ประมาณ 6-7 แสนเครื่อง ไม่รู้ว่าอยู่เครื่องไหน”
 
            ดังนั้น เขาจึงตั้งสมมติฐานถึง 2 กรณีที่เป็นไปได้คือ กรณี ‘คนใน’ ขายข้อมูลเอง หากเป็นแบบนั้นเด็กที่จับมา แน่นอนว่าต้องเป็นแพะ กรณีที่ 2 คือแฮกเกอร์อัจฉริยะ ดักตามชีวิตนายกฯ แล้วดักเอารหัสอีเมล์ผ่านทางคลื่นสัญญาณไวเลส นั่นแปลว่า เด็กคนนี้เก่งจริง
 
            “แต่พอเก่งมันต้องไม่โดนจับง่ายๆ หรอก ตามตรรกะ ถ้าเก่งจริงก็จะแอบดูพฤติกรรมของอีเมล์นั้นอยู่เงียบๆ แล้วขโมยข้อมูล หรือถ้าโพสด้วยอารมณ์แบบการเมืองจริงๆ เขาก็ควรจะซ่อนไอพีของตัวเอง สำหรับแฮกเกอร์ทุกคนกฎเหล็กคือ จะไม่ย้ายเท้าตัวเองเหยียบเข้าไปในเขตอันตรายโดยเด็ดขาด”
 
            หากเป็นแฮกเกอร์ทั่วไป จะทำการแฮกคอมพิวเตอร์อ้อมโลก จากไทยไปยังญี่ปุ่น อินโดนีเซีย แอฟริกา ประเทศใดก็ได้ในโลก แล้วกลับมาที่ไทย แฮกให้โพสข้อความ จากนั้นเมื่อตามรอยไปในแต่ละประเทศ ครบรอบกลับมาถึงประเทศไทย ไอพีหรืออะไรก็ตามของแฮกเกอร์ผู้กระทำจะหายเข้ากลีบเมฆ
 
            “แต่หากไม่ใช่ทั้ง 2 กรณีนี้ ก็ยังมีกรณีที่ 3 นั่นคือเดารหัสผ่านอีเมล์ถูก ซึ่งโอเค เริ่มแรกไปได้อีเมล์มาจากไหนก็ไม่รู้แหละ จากนั้นก็เดารหัสได้ ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นก็แสดงว่าเด็กนี่ไม่เก่ง เมื่อจับได้มันก็ตลกที่ว่าจะเอาไอ้เด็กนี่มาร่วมงานทำไม”
 
    ในส่วนของวงการแฮกเกอร์ในประเทศไทยนั้น ศุภเดชมองว่า ยังไม่ถึงกับเป็นปัญหาต่อสังคมไทย ด้วยเพราะคนไทยไม่ได้มีการใช้จ่ายผ่านอินเทอร์เน็ตกันมากนัก
 
            “คือแฮกเกอร์ไทยไปปล้นประเทศอื่นจะได้มากกว่า”
 
 
กำแพงจริงบนสิ่งเสมือน 
 
           แน่นอนว่าแฮกเกอร์นั้น มีอยู่จริงในสังคมไทย สิ่งที่บุคคลธรรมดาอย่างเราๆ พอจะทำได้นั้น ศุภเดชแนะนำไว้ง่ายๆว่า
 
            “อย่าตั้งรหัสผ่านให้เดาได้ง่ายนัก อย่าตั้งวันเกิด เบอร์โทร. หรืออะไรที่ง่ายๆ แค่นี้ก็ช่วยได้เยอะมากแล้ว”
 
            นอกจากนี้อุปนิสัยในการเล่นอินเทอร์เน็ตอย่างการคลิกโอเคทุกครั้งที่มีอะไรขึ้นมาบนหน้าจอ จะเป็นอีกปัจจัยทำให้ถูกแฮกข้อมูลได้ หรือการเข้าเว็บเถื่อนอย่างเว็บโป๊เปลือยก็มีส่วน
 
            “ทำแค่นี้ก็ป้องกันได้ 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว คือเราเป็นคนธรรมดา แฮกเกอร์จะเล่นงานแบบสุ่มเท่านั้น ไม่ได้เจาะจงมาที่เราก็ไม่เป็นปัญหา”            
 
            ขณะที่ในแง่ของกฎหมายที่จะเป็นกำแพงอีกชั้นคอยป้องกันเรา ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศอย่าง อิทธิพล ปรีติประสงค์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็ก และครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความคุ้มครองทางกฎหมายในการใช้งานพื้นที่สาธารณะบนโลกเสมือนว่า
 
“จะเห็นได้ว่าการใช้พื้นที่สาธารณะ และด้วยตัวผู้ใช้เองไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ในแง่ของการดูแลคุ้มครองในเรื่องการดูแลระบบด้วยตัวเองถือเป็นเรื่องสำคัญ ฉะนั้นข้อมูลไม่ว่าจะเป็นเรื่องของใครก็ตาม แต่มันเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่ได้รับความคุ้มครอง ปัญหาตรงเรื่องการเป็นเจ้าของทรัพย์สินดาต้า ซับเจ็คท์ (data subject - เจ้าของข้อมูล) ข้อมูลทั้งหลายแหล่ควรได้รับความคุ้มครองโดยไม่จำกัดว่าจะเป็นคนดังหรือไม่ก็ตาม ทุกคนมีสิทธิได้รับการคุ้มครองเท่าเทียมกัน อย่างน้อยที่สุดต้องมีภาคนโยบายที่ดูแลเรื่องกฎหมายเข้ามาบังคับใช้ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
“อย่างกรณีนี้แฮกทวิตเตอร์คุณยิ่งลักษณ์ ถามว่าทำไมถึงรู้ตัวแฮกเกอร์เร็วมาก? ก็เพราะด้วยความที่เป็นผู้นำประเทศการบังคับใช้กฎหมายจึงมีความศักดิ์สิทธิ์ในทันที ในขณะที่ถ้าเป็นคนธรรมดาสามัญก็ควรได้รับความคุ้มครอง แน่นอนว่าใช้กฎหมายฉบับเดียวกันแต่ระยะเวลาในการบังคับใช้กฎหมายของผู้บังคับใช้จะสั้นยาวแค่ไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง”
 
            อย่างไรก็ตาม กรณีการแฮกทวิตเตอร์คนดังระดับผู้นำประเทศ ก็ถือว่าสั่นคลอนความเชื่อมั่นของชาวไทยจำนวนไม่น้อย เพราะพื้นที่สาธารณะที่ตนเป็นเจ้าของยังดูแลรักษาไว้ไม่ได้ แต่ถือว่ายังโชคดีที่ข้อความที่ปรากฏบนพื้นที่สาธารณะนั้นสร้างความเสียหายไม่มากนัก ซึ่งคงส่งผลในเรื่องภาพลักษณ์เสียมากกว่า
 
            “การงานบนโซเซียล เน็ตเวิร์ก แน่นอนว่าถึงจะมีกติกาพื้นฐาน อย่าง เปลี่ยนรหัสบ่อยๆ แต่ในความเป็นจริงก็คือว่ามันเป็นมาตรการระดับต้นของผู้ใช้งาน ซึ่งมันก็เป็นความรู้เบื้องต้นที่ไม่ได้หมายความว่าคนทุกคนจะต้องทราบ และสามารถป้องกันการแฮกเกอร์ได้เสมอไป”
 
จากกรณีดังกล่าวนั้นถือเป็นโทษที่ระบุตามกฎหมายใน พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตรงนี้เองเป็นเรื่องที่ศาลต้องไปพิสูจน์ว่าต้องลงโทษอย่างไร
 
ท้ายที่สุดแล้ว ภาครัฐนั้นก็ถือเป็นหัวหอกสำคัญในการกระตุ้นเตือนและให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยในการใช้งานบนโลกออนไลน์ อิทธิพล กล่าวเพิ่มเติมถึงแผนไอซีที 2020 ของกระทรวงไอซีทีที่จะเข้ามาสร้างความเท่าเทียมทางโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี สนับสนุนให้ประชาชนรู้เท่าทันเทคโนโลยี โดยเฉพาะเรื่องของการดูแลเบื้องต้นถึงความปลอดภัยของตัวเองในอินเทอร์เน็ต
 
                                                          .......... 
 
เมื่อได้เห็นถึงหลายแง่มุมของแฮกเกอร์แล้ว ทั้งภาพสะท้อนจากหลายกรณี รวมถึงกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศไทยล่าสุด กับการรักษาความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของภาครัฐ หรือในส่วนของตัวเอง แน่นอนว่าจำเป็นจะต้องระมัดระวัง และให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น
 
อนาคตจะไล่ล่าคุณคือคำกล่าวหนึ่ง ที่กระตุ้นเตือนถึงความเปลี่ยนแปลงของโลก ทุกคนไม่มีทางเลือกนอกจากปรับเปลี่ยนตัวเอง เริ่มหันมาระมัดระวังตัวเอง เปลี่ยนพฤติกรรมมักง่ายในการใช้งาน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ บอกได้เลยว่าเส้นแบ่งระหว่างโลกจริงกับโลกเสมือนได้หายไปแล้วโดยสิ้นเชิง.
                                                >>>>>>>>>>>
 
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
 
ภาพ : ธนารักษ์ คุณทน




กำลังโหลดความคิดเห็น