xs
xsm
sm
md
lg

'ปิดถาวร' ความล่มสลายของสถาบันนักเรียนนักเลง ที่่ความรักและกฎหมายมิอาจเยียวยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรณีข่าวกลุ่มนักเรียนอาชีวะก่อเหตุทะเลาะวิวาทนั้น จัดว่าทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังเป็นปัญหาที่คาราคาซังจัดการแก้ไขกันไม่ได้เสียที แถมแต่ละครั้งที่เกิดเหตุก็ตามมาซึ่งความสูญเสีย ทั้งชีวิต และทรัพย์สิน อีกทั้งไม่ได้จำกัดเพียงเฉพาะผู้ร่วมก่อเหตุ แต่กลับกลายเป็นว่าความสูญเสียนั้นกระจายวงกว้างไปกระทบประชาชนผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลยแม้สักนิด

เหตุการณ์ยกพวกตีกัน หรือดักลอบทำร้ายคู่อริของกลุ่มนักเรียนอาชีวะ อาจเป็นเพียงความคึกคะนองชั่วครู่ชั่วคราวของพวกเขา แต่หารู้ไม่สิ่งที่พวกเขากระทำนั้นนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่สังคมไทย ทั้งความผิดพลาด รวมถึงคำสาปแช่งของผู้คนที่ได้รับผลกระทบก็ตามติดตัวตลอดไป

ผ่านมาก็ดูเหมือนไม่มีหน่วยงานใดออกตัวมากำราบอย่างเด็ดขาด ทั้งผู้ใหญ่ในสถาบันการศึกษาเองก็ยังขาดการการควบคุมดูแลอย่างเต็มที่ อีกนัยหนึ่งคงเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของนักเรียนนักศึกษาสายอาชีพบางกลุ่มที่จำต้องก่อเหตุทะเลาะวิวาทกัน เหล่านี้จึงมีภาพข่าวเหตุรุนแรงของสถาบันอาชีวะปรากฏให้เห็นกันอย่างต่อเนื่อง

แต่ดูเหมือนว่าหลังผ่านการครุ่นคิดมาสักระยะหนึ่ง วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ก็ได้คลอดมาตรการขั้นเด็ดขาดที่ว่า
'หากสถาบันใดปล่อยให้นักเรียนนักศึกษาก่อเหตุทะเละวิวาทกันอีกจะทำการสั่งปิดโรงเรียนแบบถาวรทันที' 
 
ด้านผู้บริหารโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชนในโดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ที่ถือว่ามีเหตุการณ์นักเรียนตีกันให้เห็นกันบ่อยครั้งก็ร่วมรับทราบกันทั่วหน้า

ตีกันครั้งหน้าสั่งปิดโรงเรียนแน่ๆ!?
หากจะว่าไปแล้ว เรื่องราวของเด็กช่างกลอาชีวะนั้น ถือว่าตำนานที่สุดแสนจะคลาสสิกระดับขึ้นหิ้งของวงการการศึกษาก็ว่าได้ เท่าที่ผ่านมามีหลากหลายวิธีที่คัดกรองมาจากผู้บริหารบ้านเมืองว่ามาจัดการแก่ 'นักเรียนนักเลง' เหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นการจับ-ปรับ ที่ถือเป็นวิธีการที่คลาสสิกสุดๆ การส่งเข้าสถานพินิจเด็กและเยาวชนหรือคุกเด็ก ยกเลิกการใช้หัวเข็มขัด และเข็มกลัดโรงเรียน พักการเรียน-ไล่ออก จับมือกันต่อหน้าสื่อ ส่งตัวไปบำเพ็ญประโยชน์ ส่งตัวไปช่วยทหารที่ภาคใต้ ฯลฯ รวมถึงการสั่งปิดโรงเรียนชั่วคราว แต่ก็ดูเหมือนว่าไม่ได้ทำให้เหล่านักเรียนเกรงกลัวกันแต่อย่างใด

ดูๆ แล้วพวกเขาล้วนเป็นนักเรียนที่รักสถาบันยิ่งชีพ แต่เมื่อใช้ความรุนแรง (ไม่ว่าจะอาศัยแค่ร่างกายหรือเครื่องทุ่นแรงก็ตาม) ก็นับว่าเป็นความผิดอยู่ดี ทั้งในแง่ของศีลธรรมอันดี หรือแม้แต่กฎหมายบ้านเมือง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่บรรดาผู้มีอำนาจรัฐ ถึงมักจะรีบยื่นมือยาวๆ มาช่วยสางปัญหานี้อย่างเร่งด่วน แต่ทว่าด้วยเหมือนมาตรการที่ถูกหยิบนำมาใช้นั้น ส่วนใหญ่มักจะถูกหาว่าไร้น้ำยา หรือไม่ก็รุนแรงเกินไป จนต้องเลิกล้มโครงการก่อนใช้จริง

ถึงแม้มาตรการการปิดโรงเรียนจะมองว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ อนึ่ง ที่ผ่านมาทางผู้บริหารรับปากว่า สามารถแก้ไขปัญหานักเรียนตีกันได้ แต่ในความเป็นจริงก็ไม่สามารถแก้ไขได้จึงเกิดปัญหาขึ้นซ้ำซาก จึงน่าจะถึงเวลาแล้วที่จะต้องใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดแก่ผู้บริหารโรงเรียนบ้าง เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหานักเรียนทะเลาะวิวาทกันอย่างยั่งยืนเสียที ชาญวิทย์ ทับสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ผู้สานต่อนโยบายกรณีนักเรียนก่อเหตุทะเลาะวิวาทจะสั่งปิดโรงเรียนจาก ศธ. กล่าวถึงการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวว่า

“ถ้าโรงเรียนเหล่านี้มีนักเรียนตีกันต้องปิดอย่างถาวร แต่อย่างไรก็ตามการปิดโรงเรียนถาวรมันไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง ซึ่งทางนักเรียนอีกส่วนหนึ่งก็จะได้รับผลกระทบด้วย เราก็จะแก้ปัญหาโดยการทำข้อตกลงแก่ทางโรงเรียนอาชีวะศึกษาของรัฐว่า จะให้เกลี่ยนักเรียนส่วนหนึ่งไปเรียนโรงเรียนของรัฐ อีกส่วนหนึ่งก็จะเกลี่ยไปโรงเรียนอาชีวะศึกษาของเอกชน ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในกรุงเทพฯ ตามที่เขาประสงค์อยากจะเรียน”

ในขณะนี้ทุกโรงเรียน รับทราบแก่การแก้ปัญหาตรงจุดนี้ และยอมรับว่าหากไล่ให้นักเรียนที่ก่อเหตุทะเลาะวิวาทออกจากโรงเรียน พวกเขาก็จะกลายเป็นปัญหาของสังคมต่อไป จึงได้มีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อรองรับ

“มีการจัดตั้งคณะทำงาน ซึ่งต้องใช้มาตรการจูงใจเด็กเหล่านี้ไปเข้าคอร์สระยะสั้น 7 วัน, 1 เดือน, 3 เดือน เพื่อไปฝึกอาชีพ เพราะเขาอาจจะมีความคิดว่าเรียนไม่ค่อยได้ก็ดูว่าเขาอยากเรียนอาชีพอะไร ให้เขาไปฝึกอาชีพ เพื่อให้เขาได้มีงานทำ หรือเพื่อให้เขาพร้อมที่จะทำประโยชน์ให้แก่สังคม สิ่งสำคัญคือ ต้องถามเด็กลุ่มนี้ให้ชัดเจนว่าอยากจะฝึกอะไร จะได้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา แต่ถ้าให้ทำกิจกรรมเพื่อให้เกิดความสำนึก เข้าวัด ฟังธรรม มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร”

ชาญวิทย์กล่าวทิ้งท้ายว่า พร้อมกันนี้ทางสถาบันอาชีวะต่างๆ ก็รับทราบถึงมาตรการการแก้ปัญหาตรงจุดนี้แล้ว และต่างก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี คราวนี้คงถึงเวลาการเยียวยานักเรียนนักศึกษาสังกัดอาชีวะให้มีระบบระเบียบกันอย่างจริงจังเสียที

แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
สังคมไทยนั้นถือเป็นสังคมที่พร้อมให้โอกาสแก่ผู้ที่เคยพลาดพลั้งกระทำผิด การปลูกฝังในเรื่องคุณธรรมจริยธรรมก็จะช่วยหล่อหลอมในเรื่องความรู้สึกผิดชอบชั่วดียิ่งขึ้น พันตำรวจโท ดร.ศิริพงษ์ เศาภายน หัวหน้าภาควิชาบริหารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า การสั่งปิดโรงเรียนนั้นเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ทางที่ดีควรจะเริ่มแก้ไขที่ระบบการศึกษา

“เรื่องอาชีวะตีกันมันเป็นเรื่องของศักดิ์ศรี เป็นเรื่องของระบบโซตัส (ระบบอาวุโส) เพราะฉะนั้นก็ต้องไปแก้แล้วทำความเข้าใจตรงนั้นกันใหม่ มันต้องเริ่มตั้งแต่การที่เด็กเข้ามาเรียนใหม่ๆ แล้วปลูกฝังเรื่องค่านิยม เรื่องจิตวิญญาณ แล้วพยายามให้ในเรื่องของความรู้เรื่องของคุณธรรมจริยธรรม และเรื่องของการรักตัวเอง อย่าเชื่อรุ่นพี่มากจนเกิดไป ก็คือต้องกระตุ้นผู้ใหญ่ในสถานศึกษาให้เอาจริงเอาจัง เริ่มตั้งแต่ตัวผู้บริหารต้องให้กำหนดนโยบาย และที่ครูอาจารย์ก็ต้องสานต่อ”

เช่นเดียวกัน ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข อาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่แสดงทัศนะว่า การลงโทษโดยการสั่งปิดสถาบันถาวรนั้นถือเป็นการลงโทษสถาบัน ผู้บริหาร และผู้สอนในสถาบันที่ปล่อยปะละเลยในการดูแลเด็ก ซึ่งตนเห็นด้วยแก่มาตรการดังกล่าวหากมีการจัดการที่เหมาะสมรองรับ

“ปัญหามันอยู่ที่ระบบการศึกษาด้วยส่วนหนึ่ง คือไม่ได้ทำหน้าที่ในเชิงป้องกันอย่างเต็มที่ เพราะระบบยุติธรรม ตำรวจ หรือสถานพินิจนั้นล้วนแต่เป็นการแก้ปัญหาปลายทาง ไม่ใช่ที่รากเหง้าของปัญหา อาจารย์ที่ปรึกษาหรือผู้บริหารต้องหันกลับมาศึกษาปัญหาว่าทำไมนักเรียนถึงตีกัน แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมาโรงเรียนละเลยบทบาทนี้ ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนที่เรื้อรังมานาน การปิดโรงเรียนจะเป็นการลงโทษและสร้างความตระหนักให้แก่โรงเรียนและครูหันกลับมาใส่ใจนักเรียนมากขึ้น ที่ใหม่ที่จะรับนักเรียนเหล่านี้ไปก็จะต้องเตรียมความพร้อมที่รับนักเรียนเหล่านี้ไปด้วยเช่นกัน ทั้งการศึกษาและการบริหารจัดการนักเรียน”

ทั้งนี้การดูแลเด็กที่มีปัญหานั้นต้องทำเป็นมาตรการระยะยาว และได้รับการใส่ใจจากทุกฝ่ายอย่างจริงจัง ไม่ฉาบฉวย ไม่ใช่เฉพาะในช่วงที่เป็นข่าวและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยไม่กลับไปแก้ที่สาเหตุที่แท้จริง

ถึงสุภาพบุรุษอาชีวะ
มาตรการปิดโรงเรียนถาวรดังกล่าวก็คงส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของผู้เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกหลานเรียนโรงเรียนสายอาชีพไม่น้อย ปรียานุช อุทธิยา ผู้ปกครองของนักเรียนวิทยาลัยพณิชยการธนบุรี กล่าวว่า

“ลูกเรียนอาชีวะก็ห่วงลูกนะ แม้ก่อนส่งลูกเรียนก็เลือกที่เรียนไว้ก่อนแล้ว คิดว่าเรียนที่นี่น่าจะดี ใกล้บ้าน มีเงินพอจะส่งเรียนได้ บอกตามตรงเลยว่าไม่ได้ห่วงกลัวว่าลูกเราเป็นเด็กเกเร หรือยกพวกตีกัน แต่กลัวที่ลูกเราจะโดนลูกหลง โดนอันธพาล หรือเด็กโรงเรียนคู่อริที่ไหนก็ไม่รู้ตีหัว เป็นห่วงที่เขาเป็นอะไรโดยที่เขาไม่ได้ทำ”

อย่างไรก็ดีในส่วนของมาตรการสั่งปิดโรงเรียนถาวร เธอแสดงความไม่เห็นด้วยเพราะเป็นเรื่องการทะเลาะวิวาทของนักเรียนบางกลุ่ม ทำไมต้องโยนความรับผิดชอบแก่เด็กทั้งโรงเรียน

“มันเป็นการแก้ที่ปลายเหตุมากกว่า อย่างแรกถ้ารู้ว่าเกิดเรื่องบ่อยๆ ทำไมโรงเรียนไม่จัดระเบียบสถาบันใหม่ ออกกฎที่เข้มงวด รัดกุมกว่าเดิม หรือไม่ก็คัดเลือกนักเรียนที่มีประวัติดี พฤติกรรมดีเข้ามาเรียนแทน ดีกว่าพอเกิดเรื่องขึ้นก็สั่งปิด”

ด้านศิษย์เก่าสถาบันเทคโนโลยีสยาม (ช่างกลสยาม) อย่าง กิติพัฒน์ ชัยฤกษ์ ยอมรับว่าตนก็เคยก่อเหตุทะเลาะวิวาทพร้อมเปิดเผยว่า การที่นักเรียนอาชีวะทะเลาะกันนั้นเป็นเรื่องของการตามกระแสเพื่อน การยุแหย่จนทำให้มีปากเสียง ซึ่งสมัยกว่าสิบปีที่แล้วความรุนแรงของมันไม่มากเท่ายุคนี้ ที่มีการขับรถไล่ล่าฆ่ากัน อย่างไรก็ตามเมื่อล่วงผ่านเข้าอีกช่วงวัยหนึ่งความคิดความอ่านของเราก็จะเปลี่ยนไป

“คนต่างสถาบัน แต่พอเข้าสังคมทำงานจริงๆ ก็เป็นเพื่อนกันทั้งนั้น คนที่โตขึ้นพอมองลงไป ก็ไม่น่าเชื่อตัวเองว่าจะเป็นไปได้ ส่วนเรื่องที่ถึงแก่จะปิดสถาบัน มันไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นตอ เพราะบางที่เพิ่งเคยตีกันแบบยังไม่รุนแรง ส่วนสถาบันที่ตีกันบ่อยๆ น่าจะมีการลงโทษก่อน ผมยอมรับว่าเรื่องนี้พูดลำบาก จริงๆ ก็แก้ยาก แต่เรื่องปิดสถาบัน ผมไม่เห็นด้วย น่าจะตักเตือนเป็นรายคน เพราะสถาบันเราก็ต่างมีชื่อเสียงอยู่แล้ว ผมคิดว่าสถาบันไหนๆ ก็ต้องมีเด็กตีกันอยู่แล้ว ขึ้นอยู่แก่ความมากน้อย”
……….

อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายคงต้องร่วมมือกันปฏิรูประบบการศึกษาของประเทศไทยต่อไป แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาตรการขั้นเด็ดขาดถึงขั้นปิดโรงเรียนถาวร หากเกิดหากทะเลาะวิวาทของนักเรียนกันอย่างหนาหู หรือว่าการแก้ปัญหาต่างๆ ที่ทำให้มองเห็นความรักเพื่อนมนุษย์และกฎหมายมิอาจเยียวยาอะไรได้เลยสำหรับสถาบันการศึกษานักเรียนนักเลงเหล่านี้

>>>>>>>>>>>


………
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK

ย้อนรอยกลเม็ดจัดการนักเรียนนักเลง 

ที่ผ่านมาก็มีหลายต่อหลายมาตรการที่ผู้หลักผู้ใหญ่เข็ญกันออกมาจัดการแก่เหล่านักเรียนนักเลง แต่ก็เหมือนจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะดูๆ ไปแล้วยอดการตีกันกลับไม่ได้ลดลง แถมยังทวีความรุนแรงให้ผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ได้เกรงกลัวลูกหลงกันอีก ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้นมาดูกัน


I. จับ-ปรับ ต้องถือเป็นวิธีการที่คลาสสิกสุดๆ สำหรับประเทศที่มีนิติรัฐนำหน้าเยี่ยงประเทศไทย เพราะอย่างที่รู้ๆ อยู่ว่าการทำร้ายร่างกายนั้นเป็นเรื่องผิดกฎหมายเต็มประตู ดังนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะผู้รักษากฎหมายมีหรือที่ยอมปล่อยให้เรื่องแบบนี้หลุดลอดมือไปได้

II. ส่งเข้าสถานพินิจเด็กและเยาวชนหรือคุกเด็ก วิธีการนี้ถือเป็นการต่อยอดจากขั้นแรก คือต้องจับให้ได้ก่อนถึงจะทำได้ แน่นอนว่าหลักๆ ที่ทำก็เพื่อขัดเกลานิสัยของบรรดาวัยโจ๋เหล่านี้ให้มีความรู้ผิดรู้ชอบ

III.ยกเลิกการใช้หัวเข็มขัด และเข็มกลัดโรงเรียน วิธีการนี้นับว่าตรงประเด็นสุดๆ เพราะส่วนใหญ่เป้าหมายการตีกันของ 2 โรงเรียนก็คือการแย่งชิงสัญลักษณ์ของอีกฝ่ายมาอยู่ในความครอบครองให้จงได้

IV. พักการเรียน-ไล่ออก อันนี้ถือมาตรการที่โรงเรียนใช้แก่เด็กตัวเอง เพราะถือว่าเป็นพฤติกรรมที่สร้างความเสื่อมเสียให้แก่โรงเรียนอย่างรุนแรง

V. ส่งเข้าค่าย วิธีนี้ก็คล้ายๆ แก่การเข้าสถานพินิจฯ นั่นเอง แต่ดีกว่าหน่อยตรงที่มีการฝึกและสั่งสอนถึงการประพฤติตัวอย่างไรให้ดี ซึ่งโดยส่วนมาก คนฝึกก็คือทหาร และใช้หลักสูตรทหารในการฝึกกันเลยทีเดียว

VI. จับมือกันต่อหน้าสื่อ แน่นอนเมื่อใช้กฎหมายไม่ได้ผล การใช้กฎสังคมก็อาจจะช่วยได้ ซึ่งวิธีการก็ง่ายๆ คือเอาคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายมาออกทีวีด้วยกันเสียเลย แล้วคนที่ทำหน้าที่เป็นประธานซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการก็ทำทีเป็นว่ากล่าวตักเตือนกันนิดๆ หน่อยๆ ก่อนจะบีบบังคับให้คู่กรณีจับมือกัน พร้อมมอบดอกไม้เพื่อเป็นสัญญาของสัมพันธไมตรีและยุติศึกระหว่างกัน

VII. ส่งตัวไปบำเพ็ญประโยชน์ เช่นซ่อมรถ ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ วิธีการนี้แม้จะไม่ได้ผลในระยะยาว แต่ถือว่ามีประโยชน์ต่อสาธารณชนไม่น้อย เพราะถือเป็นการนำความรู้ที่พวกเขาร่ำเรียนมาให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ที่สำคัญยังถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กลับมาแก่เด็กอาชีวะอีกต่างหาก

VIII. ส่งตัวไปช่วยทหารที่ภาคใต้ วิธีการนี้ต้องบอกเลยว่าหลายคนชูรักแร้เห็นด้วย เพราะส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า เมื่อคุณเป็นผู้กล้าและผู้รักสถาบันยิ่งชีพแล้ว ก็ควรจะนำความกล้าและความรักไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองบ้าง

IX. ยกเลิกป้ายรถเมล์ คนที่คิดวิธีการนี้ได้ต้องขอยกนิ้วให้งามๆ เลย เพราะนอกจากจะเป็นแก้ปัญหาจากต้นเหตุแล้ว ยังนับว่ามองการณ์ไกลจริงๆ เพราะอย่างที่รู้ๆ กันอยู่ว่า โรงเรียนคู่อริกันนั้นมักจะอยู่ในละแวกเดียวกัน แค่นั่งรถเมล์ 3-4 ป้ายก็ถึงแล้ว ดังนั้นเพื่อให้เรื่องนี้ win-win ทั้ง 2 ฝ่าย ทางผู้เกี่ยวข้องก็เลยยกเลิกป้ายรถเมล์เสียเลย ซึ่งนับว่าค่อนข้างได้ผลพอสมควร

X. สังห้ามรับนักเรียน 1 ปีการศึกษา อันนี้ก็ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะถึงเป็นการไล่น้ำเสียออกไปก่อน แล้วจึงค่อยเติมน้ำดีเข้าไป เป็นการตัดตอนวัฒนธรรมค่านิยมการใช้ความรุนแรงด้วยไปในตัว

XI. สั่งปิดโรงเรียนชั่วคราว อันนี้ถือเป็นมาตรการที่กระทรวงศึกษาใช้ลงโทษโรงเรียนในฐานะที่ควบคุมเด็กไม่ได้ โดยปิดกี่วันกี่เดือนก็แล้วบางแห่งโทษน้อยก็เปิด 7 วัน บางแห่งโทษมาก็เปิดไปเลยครึ่งเดือน อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนวิธีนี้จะถือว่าไม่ค่อยได้ผลเท่าที่ควร แถมยังมีเสียต่อต้านอีกต่างหาก

กำลังโหลดความคิดเห็น