xs
xsm
sm
md
lg

'ข้าวถุง' ราคาพุ่ง ความแพงที่คนเมืองต้องจ่าย!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการขับเคลื่อนของสังคมนั้นจะมาพร้อมค่านิยมใหม่ๆ อย่างตลาด 'ข้าว' เองก็มิวายถูกกลไกทางการตลาดเข้ามาแทรกแซง ปรับเปลี่ยนทัศนคติ และพฤติกรรมของผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มคนเมือง จากอดีตที่เคยเลือกซื้อข้าวสารนานาพันธุ์ในรูปแบบตวง บรรจุกระสอบ กลับหันมาให้ความสำคัญในเรื่องบรรจุภัณฑ์เลือกซื้อ 'ข้าวสารบรรจุถุง' ที่ถูกบรรจุอยู่ในบรรจุภัณฑ์จำพวกถุงพลาสติกปิดผนึกมิดชิด และมีหลายขนาดตั้งแต่ 1 , 2 และ 5 กิโลกรัม มาบริโภคแทน

ทั้งนี้คงเป็นเพราะความเชื่อที่ว่าข้าวบรรจุถุงนั้นสะอาดกว่าข้าวกระสอบ มีตราสินค้าการันตีคุณภาพ ฯลฯ ผนวกกับค่านิยมที่นักการตลาดหยิบยื่นให้ก็เลยทำให้ข้าวบรรจุถุงได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เมื่อเจ้าแรกตีตลาดได้สำเร็จได้ในระดับหนึ่ง งานนี้ก็เลยดึงดูดนักลงทุนทั้งหลายให้เดินทัพเข้าตีตลาดข้าวบรรจุถุงกันอย่างถ้วนทั่ว ไม่ว่าจะเป็นข้าวหอมมะลิ, ข้าวขาว, ข้าวเหนียว, ข้าวเพื่อสุขภาพจำพวกข้าวกล้องฯลฯ ก็ต่างถูกบรรจุลงถุงพร้อมเสิร์ฟแล้ว

ในปัจจุบันตลาดข้าวบรรจุถุงนั้นจัดว่ามีการแข่งขันกันร้อนแรงทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตรายใหญ่หรือรายเล็กต่างก็งัดกลยุทธ์มาประชันกันอย่างไม่มีใครยอมใคร ทั้งการลดแลกแจกแถม, โฆษณาผ่านสื่อต่างๆ, บริการจัดส่งถึงบ้าน ฯลฯ

หากมองทางด้านราคาก็จะเห็นว่ามีการปรับตัวสูงขึ้นเป็นระลอกๆ อย่างล่าสุดก็มีข่าวออกมาว่าผู้ประกอบการข้าวบรรจุถุงเตรียมขอปรับราคาขึ้นอีก 10-15 เปอร์เซ็นต์ แม้งานนี้อาจมีผลกระทบต่อผู้บริโภคบ้าง แต่ท้ายที่สุดแล้วผู้บริโภคหลายๆ ท่านก็ต้องยอมควักเงินอย่างเต็มใจ

'ข้าวถุง' ยุคบุกเบิก-ปัจจุบัน

ย้อนกลับไปราวปี 2527 คนไทยได้ชิมลางบริโภคข้าวสารบรรจุถุงเป็นครั้งแรกโดยบริษัท มาบุญครองมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ได้ริเริ่มจัดจำหน่ายข้าวสารบรรจุถุงพลาสติก ขนาด 2 และ 5 กิโลกรัม ภายใต้แบรนด์ ‘ข้าวมาบุญครอง’ ซึ่งในขณะนั้นถือเป็นต้นแบบของโรงสีข้าวขนาดใหญ่และทันสมัยแห่งหนึ่ง ในส่วนของโรงบรรจุข้าวถุงเองก็ได้รับการรับรองในด้านระบบประกันคุณภาพ ด้านความปลอดภัยของอาหาร (HACCP) และได้รับการรับรองในด้านระบบการจัดการ ควบคุมการผลิตอาหารให้ปลอดภัย(GMP)

ต่อมาก็มีผู้ประกอบเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดข้าวบรรจุถุงมากขึ้น อาทิ ข้าวตราหงษ์ทอง ของบริษัท เจียเม้งมาร์เก็ตติ้ง จำกัด, ข้าวตราฉัตร ของบริษัท ซี.พี. อินเตอร์เทรด จำกัด, ข้าวตราพันดี ของบริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ฯลฯ ปัจจุบันส่วนแบ่งทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ข้าวบรรจุถุงโดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้นอยู่ที่ประมาณ 43 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้นเป็นส่วนแบ่งของข้าวตวงชนิดอื่นๆ

เป็นที่น่าสังเกตว่า ถึงแม้ข้าวบรรจุถุงจะอยู่ในรูปแบบ Niche Market (การตลาดแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย) แต่กลยุทธ์ที่ถูกปล่อยออกมานั้นเรียกได้ว่าเริ่มเข้าถึงกลุ่มคนที่หลากหลายมากขึ้น จากเดิมที่กระจุกตัวอยู่เพียงกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ๆ แต่ตอนนี้ตามต่างจังหวัดก็เริ่มนิยมบริโภคข้าวถุงด้วย

ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า ในเชิงพฤติกรรมแล้วคนเหล่านี้ไม่ได้ซื้อเพียงข้าวถุง แต่ซื้อความสะดวก ซื้อคุณค่าที่ตามมากับข้าวถุง เช่น เรื่องความสะอาด คุณภาพข้าว ซึ่งเดิมเรื่องพวกนี้จะถูกจำกัดอยู่หมู่ในคนกรุง ดังนั้นการขยายตัวของข้าวถุงจึงเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงวิถีชีวิตของผู้คนในประเทศที่เปลี่ยนไปนั่นเอง

"คนที่สนใจเรื่องความสะดวกก็คือคนกรุงนั่นเอง และเหตุที่ข้าวถุงเกิด ก็เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคนกรุง แต่คนต่างจังหวัดไลฟ์สไตล์ก็เปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นมันจึงเริ่มจากกรุงแล้วขยายจากต่างจังหวัด ที่สำคัญนอกจากความสะดวกแล้ว คนยังอยากได้สุขภาพ อยากได้อะไรเบ็ดเสร็จ เพราะคนไม่มีเวลาไปร้านขายของชำ แล้วซื้อเฉพาะข้าวหรอก คนจึงไปซื้อข้าวตามซูเปอร์สโตร์ (ห้างสรรพสินค้า) เพราะมันเป็นวันสตอปชอปปิง (จุดเดียวซื้อได้ทุกอย่าง) ก็คือข้าวถุงไปด้วย ไม่ได้ซื้อข้าวแบบเดียว"

เมื่อข้าวถุงเกิดการขยายตัวเช่นนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บริษัทใหญ่ยักษ์จำนวนไม่น้อยต่างก็ลงเข้ามาเล่นเกมในตลาดนี้ รวมไปถึงข้าวที่ยี่ห้อตามห้างสรรพสินค้า ซึ่งทุกวันนี้ถือว่าขายดีกว่าข้าวที่มียี่ห้อดังๆ เสียอีก เพราะฉะนั้นหากพูดถึงทิศทางในอนาคต การแข่งขันเรื่องข้าวถุงก็น่าจะรุนแรงมากขึ้น

"การแข่งขันต่อไปคงจะมาในเรื่องของแพกเกจ เพราะในแง่ของคุณภาพตัวสินค้ามันตามกันทันแล้ว เพราะฉะนั้นต่อไปนี้นอกจากเรื่องความสะดวก ต้องขายในเรื่องสุขภาพ ประเภทที่เป็นข้าวที่มีคุณค่าโภชนาการ หรือไม่ก็ผสมโน่นผสมนี้มากขึ้น เช่น คอลลาเจน กินแล้วลดน้ำหนักด้วย"

แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การเติบโตของข้าวถุงนั้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คงหนีไม่พ้นร้านค้าปลีกที่ขายข้าวแบบแบ่งขาย ซึ่งจะมีลูกค้าลดลงมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ ดร.วิเลิศมองว่า คงจะต้องมีการปรับตัวมากขึ้น เพื่อต่อสู้กับตลาดข้าวถุงให้ได้

"ข้าวถุงมันสามารถทำให้คนเชื่อหรือรับรู้ว่า สะอาดกว่า มีคุณภาพมากกว่า ซึ่งถือเป็นคุณค่าของแบรนด์ ไม่ใช่ตัวสินค้าแล้ว แต่การที่คุณขายแบบตักขายๆ คนจะเริ่มคิดแล้วว่ามันใช่หรือไม่ ซึ่งตรงนี้ก็คงถึงเวลาร้านค้าจึงจะต้องหาวิธีการปรับตัว ด้วยการสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง และทำให้คนเชื่อว่าสินค้าของตัวเองนั้นมีคุณภาพไม่ด้อยไปกว่าแบรนด์ที่อยู่ตามห้างหรือซูเปอร์สโตร์"

อนึ่งในทางโภชนาการเอง ศิริพร สีแตงอ่อน นักกำหนดอาหาร โรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล พหลโยธิน ก็ได้ยืนยันว่าหากเป็นข้าวในเกรดเดียวกันมาจากแหล่งเดียวกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นข้าวที่อยู่ในกระสอบป่านแบ่งขายหรือข้าวถุงที่เป็นแพกเกจสวยงามตามห้างร้านก็ไม่ได้มีความแตกต่างกันแต่อย่างใด

“อย่างตามห้างที่รับจากผู้ผลิตรายย่อย เขาก็เอาไปใส่แบรนด์ไปใส่แพกเกจ ไปทำให้ดูดีขึ้น แต่ชาวบ้านก็ส่งขายกับพ่อค้าคนกลางกับตลาดชั้นกลางๆ ด้วยเหมือนกัน แต่ข้าวที่มาจากแหล่งผลิตเดียวกัน พอไปอยู่ในสถานที่ขายที่ต่างกัน เราก็จะมองว่าแหล่งขายที่ชั้นนำกว่ามีคุณภาพกว่า ซึ่งจริงๆ แล้วมีที่มาจากที่เดียวกัน คุณภาพก็ไม่แตกต่างกัน อย่าไปมองว่าเป็นแบบแบ่งขาย หรือว่าแบบที่อยู่ตามห้างเป็นแพกเกจแล้ว”

วันนี้คุณกินข้าวหรือยัง?

วัฒนธรรมการรับประทานอาหารของคนไทยนั้นจำต้องมีข้าวร้อนกรุ่นๆ เป็นตัวชูโรง ครั้นจะกินแต่กับข้าวเพียงอย่างเดียวก็คงไม่ใช่ที่ สำหรับคนกรุงเทพฯ เอง ปัจจัยในการซื้อข้าวคงต้องคำนึงถึงความสะดวกสบายเป็นอย่างแรก ด้าน พัศวีศิริ ภวังคนันทร์ หนึ่งในกลุ่มคนกรุงที่เลือกบริโภคข้าวถุง กล่าวว่า ถึงแม้ราคาของข้าวถุงจะขึ้นราคาก็ไม่มีผลกระทบต่อการเลือกซื้อข้าวของครอบครัวตนเองมากนัก เนื่องจากเข้าใจว่าสินค้าทุกอย่างก็ต้องขึ้นไปตามกลไกทางตลาดของมัน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นสินค้าประเภทใดก็ต้องมีราคาขึ้นสูงตามไปเช่นกัน

“เหตุผลที่เลือกซื้อข้าวบรรจุในถุงสำเร็จ ก็เพราะว่าเป็นสินค้าที่หาซื้อง่าย เวลาที่เร่งรีบสามารถหยิบจับได้อย่างสะดวกตามห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อ ซึ่งปัจจัยอีกอย่างที่ต้องยอมรับสำหรับข้าวสารบรรจุถุงสำเร็จรูปคือการมีแพกเกจจิ้งที่ดี มียี่ห้อและก็เลือกได้ตามความต้องการ ยิ่งสมัยนี้มีให้เลือกข้าวทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นข้าวกล้อง ข้าวหอมมะลิเกรดดี ไปจนถึงข้าวธรรมดาก็มีให้เลือกซื้อทั้งหมด แต่เรื่องของคุณภาพสำหรับตนเองคิดว่าคงไม่ได้หนีจากข้าวสารที่ซื้อเป็นกิโลกรัมมากนัก แต่ข้าวถุงจะภาษีดีกว่าตรงที่ ดูดีกว่า เม็ดเรียวสวย คัดจนสะอาด และมีตราทำให้น่าเชื่อกว่า”

แต่ในมุมของผู้หนุ่มต่างจังหวัดเจ้าของนาปลูกข้าว นั้นช่างสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นอยู่อย่างพอเพียง เขาแบ่งข้าวส่วนหนึ่งไว้บริโภคภายในสำหรับครอบครัวอย่างเพียงพอ และยังนำผลผลิตบางส่วนออกจำหน่าย ทองรินทร์ ยาทองไชย เกษตรกร จ. สกลนคร เล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่ของตนว่า

“ทำนาเสร็จ พอถึงเวลาเก็บเกี่ยวข้าว เราก็แบ่งข้าวว่าส่วนไหนจะเอาไว้ขาย ส่วนไหนจะเอาไว้กินก็แบ่งเก็บเอาไว้ ก็เป็นแบบนี้มาโดยตลอด ถ้าข้าวในตลาดขึ้นราคา เราก็ไม่เดือดร้อน ข้าวบางส่วนที่นำไปขาย เรามีความจำเป็น ต้องเอาเงินไปไว้ใช้จ่ายในครอบครัว แต่ข้าวที่เก็บเอาไว้กิน เรามีเหลืออยู่แล้ว”

ทองรินทร์ แสดงทัศนะทิ้งท้ายว่า ถ้าเกษตรกรทำนาตามกำลังของตนไม่ไปกู้ยืมนายทุนมาทำยังไงก็มีเงินไว้ใช้ และมีข้าวไว้กิน สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือเราต้องรู้จักพึ่งพาตนเอง และไม่ทำลายธรรมชาติ
……….

แม้ในอนาคตข้าวสารบรรจุถุงอาจปรับราคาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง แต่การบริโภคข้าวของคนไทยนั้นคงไม่ลดน้อยลง ยิ่งในยุคที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบของสังคมเมืองและการเข้าถึงของซูปเปอร์สโตร์ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ นั้นก็เอื้อต่อการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ข้าวถุง แต่จะซื้อหรือไม่ก็คงขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ของแต่ละครัวเรือนว่ามีวิถีการดำเนินชีวิตอย่างไร สุดท้ายแล้วถ้าข้าวนั้นมาจากแหล่งเดียวกันไม่ว่าจะอยู่ในบรรจุภัณฑ์ประเภทใด คุณภาพที่ได้ก็ไม่ได้แตกต่างกันแม้แต่น้อย ขึ้นอยู่กับมายาคติของผู้บริโภคแบบไหนเท่านั้นเอง
>>>>>>>>>>

……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK




กำลังโหลดความคิดเห็น