“ด้วยลำแข้ง ขอนำเสนอ...”
เป็นประโยคฮิต ติดหูที่เราคุ้นเคย และได้ยินอยู่เป็นประจำผ่านทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 7 ช่วงก่อนข่าวภาคค่ำ เวลา 17.30 น. ที่มีนักข่าวอารมณ์ดี มากฝีมือ อย่าง คำรณ หว่างหวังศรี เป็นผู้ดำเนินรายการ
หากแต่ในวันนี้ จะไม่มีเสียงชื่อรายการที่คุ้นหู แต่การนำเสนอข่าวที่มีเนื้อหาสะท้อนถึงวิถีชีวิตของชุมชน ยังคงมีอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอผ่านทางรายการ “เกษตรโลก เกษตรเรา” อยู่ในช่วงเกษตร ฮอท นิวส์ ที่ออกอากาศผ่านทางครอบครัวข่าว 3 ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ซึ่งถือเป็นบ้านหลังใหม่ และรายการใหม่ของคำรณ หว่างหวังศรี หลังจากที่เป็นนักข่าวสังกัด กองทัพบก ช่อง 7 มานานกว่า 25 ปี
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น วันนี้ คำรณ หว่างหวังศรี จะมาเปิดเผยตัวตน ในฐานะพิธีกรรายการข่าวผู้บุกเบิก วิถีข่าวชุมชน ให้ได้ทำความรู้จัก เพราะฉะนั้น อย่าเสียเวลา ไปรู้จักตัวตนของผู้ชายคนนี้กันดีกว่า…
รู้ตัวว่าอยากเป็นนักข่าวตั้งแต่เมื่อไหร่
ตอนนั้นอยู่ ป.7 ครูจะให้หาสมุดบันทึกคนละเล่ม เอาไว้บันทึกว่าชีวิตประจำวันเราทำอะไรบ้าง ก็ไปซื้อสมุดมาเล่มหนึ่ง หัวปกสมุดด้านในเป็นสีขาวดำ ซึ่งมีรูปพระธาตุช่อแฮ บึงสีไฟ พระธาตุดอยสุเทพ สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ พอมองตรงนั้นแล้ว เราคิดว่า เอ๊ะ! จะมีโอกาสไปตามสถานที่เหล่านี้ไหม พอเรียนชั้นมัธยมฯ ก็ค้นหาว่าเป็นอาชีพอะไร ที่สุดเราก็เลือกอาชีพนักข่าว
อย่างกับช่อง 7 นี้ถือเป็นที่ทำงานแห่งแรกเลยหรือเปล่า
(ส่ายหน้า) พอจบผมไปทำงานหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นสักครึ่งปี แต่พอไปทำ เจ้าของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับนั้นพูดว่าคุณไม่ต้องมาทำที่นี่หรอก คุณไปเลยกรุงเทพฯ พร้อมกับหยอดคำหวานว่า วันหนึ่งผมจะได้ยินชื่อของคุณปรากฏอยู่ทั่วประเทศ ผมก็เลยเข้ามากรุงเทพฯ
แล้วพอดีปี 2529 ตอนนั้นช่อง 7 เขาเปิดรับนักข่าวสายทหาร ก็เลยมาทำที่นี่ ตอนหลังช่อง 7 เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะว่าเรามีโอกาสได้เดินทางไปทั่วเลย ทั้งขึ้นเหนือ ล่องใต้ มันก็เริ่มเกิดความรู้สึกว่า ข่าวทีวีมันเขียนง่าย ใครทำอะไรที่ไหน เมื่อไหร่ ปล่อยภาพ ปล่อยเสียง จนเรารู้สึกว่าเอียนละ ก็ถามตัวเองว่าเขียนได้แค่นี้หรือ ประกอบกับเราได้เดินทางเจอวิถีชีวิตของชาวบ้าน ยิ่งไกลกรุงเทพฯ เรายิ่งได้เห็นความศิวิไลซ์ของบ้านเมือง ชาวบ้าน ประเทศไทยไม่ได้อยู่แค่ในกรุงเทพฯ ประเทศไทยไม่ได้มีแค่ส่วนบนคือยอดแหลม
ก็เลยหันมาทำ 'ข่าวชุมชน' แทน
ใช่! ผมคิดว่าฐานของประเทศไทยเนี่ยกว้างใหญ่ เต็มไปด้วยคนยากคนจน เต็มไปด้วยชาวบ้าน ก็เลยคิดว่าทำไมคนรวยคนมีโอกาสเท่านั้นถึงจะมีโอกาสออกทีวี คนจนไม่มีโอกาส ก็เลยคิดว่ากลุ่มเป้าหมายเราคือชาวบ้านดีกว่า เพราะชาวบ้านเขาสนุกสนาน เขาไม่ต้องไปคิดอะไรมากมาย คิดกอบโกย กำไว้เยอะ เพื่อ 10-20 ปีข้างหน้าเขาไม่คิด เพราะนั้นต้องทำตามวิถีชาวบ้านที่เขาสนุก
แต่ขณะนั้นข่าวทีวีไม่มีการเล่นแบบนี้ ไม่มีผู้ประกาศเล่นแบบนี้ คนไม่ได้สนใจมากมาย แต่เราคิดว่าทำอย่างไร จะเอาวิถีที่ชาวบ้านมีมานำเสนอแบบที่ชาวบ้านเป็น นั่นแหละก็เกิดแนวคิดก็ทำในรูปลักษณ์ที่คนอื่นไม่ทำ
ผลการตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง
โดนด่า (ตอบทันที) หาว่าเราบ้า เอาข่าวมาเล่นทำให้ข่าวเสีย แต่แท้ที่จริงแล้ว ชาวบ้านกลับยอมรับ ชาวบ้านชอบ เพราะเขาสนุก เมื่อชาวบ้านรับได้ ทุกภาคส่วนยอมรับ แรงต่อต้านแรงเสียดทานต่างๆ มันก็ลดลง ก็เลยได้ทำแบบเป็นเรื่องเป็นราว
ต่อมาเมื่อคุณแสงชัย สุนทรวัฒน์ กลับจากการไปเป็นโรบินฮูดอยู่ที่สหรัฐฯ เขาก็เข้ามาช่วยคุณชาติเชื้อ กรรณสูต ที่ช่อง 7 เขาบอกว่าพี่คำรณ ที่อเมริกามีนะที่เรียกว่า “ออนเดอะโรด” เขาพบเห็นตรงนั้นตรงนี้แล้วก็เอามานำเสนอเป็นวันต่อวัน ชอบช่างภาพคนไหน เอาไปเลยเอาไปทำมา จะให้เวลา 2 นาที หลังข่าวการเมือง 2 ทุ่ม ช่วงนั้นก็เป็นช่วงของการเลือกตั้งของรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ มันก็เลยมีเวลาออกที่ชัดเจน จากนั้นมามันก็อยู่ในความสนใจของผู้ชมแล้วก็ทำเรื่อยมาจากลุยเลือกตั้ง ลุยคนภูธร จากนั้นก็มาเรื่อง คุณสุรางค์ เปรมปรีดิ์ ให้ปรับเปลี่ยนเป็น ‘แปลกจริงหนอ’ ที่สุดปี 2540 เศรษฐกิจตกคุณสุรางค์ก็บอกว่า ลองคิดรายการมา แกก็ให้ชื่อรายการมาว่า “ด้วยลำแข้ง” จริงๆ เราคิดไปว่า ลำแข้งของเรา ก็ใช้คำว่า ด้วยลำแข้ง
รายการก็ดูน่าจะมีทิศทางที่ดี อย่างนี้ทำไมถึงย้ายมาอยู่ช่อง 3 ล่ะ
ก็เมื่อปี 2554 ที่สึนามิเข้าญี่ปุ่น ก็เป็นจุดจบของเรา (หัวเราะ) คือช่อง 7 สั่งถอดรายการ โดยเราก็ไม่ทราบว่าเหตุผลกลใด เพราะเราอยู่ช่อง 7 มาถึงปีที่ 25 พอดี พอถอดรายการปั๊บก็คงรู้ตัวเองว่าไม่มีพื้นที่ข่าวละ เราก็ไปช่อง 3 ก็ให้ทำรายการ เขาคงมองเห็นว่า เราน่าจะมีศักยภาพทำข่าว เกี่ยวกับเกษตรก็ไปทำข่าวเกษตรก็เลย ก็ไปคิดคอลัมน์ว่า “เกษตรโลก เกษตรเรา” ขึ้นมาอยู่ในช่วงเกษตร ฮอท นิวส์ เวลา 16.10 น. ในช่วงครอบครัวข่าว 3
เท่าที่สังเกตมาหลายปี จุดเด่นอย่างหนึ่งของรายการ ก็คือจะเน้นความสนุก และปิดท้ายด้วยการร้องรำทำเพลงกับชาวบ้าน ทำไมถึงเป็นเช่นนี้
สิ่งนี้มาจากวิถีชาวบ้านเราเป็นลูกชาวบ้าน อยู่ต่างจังหวัด จะรู้ว่าชาวบ้านเขาไม่ได้คิดเรื่องอะไร เอาเรื่องความสุข ความสนุกเป็นที่ตั้ง บางทีที่อีสาน เรื่องงานบุญก่อนงานบุญ 1 สัปดาห์ กินข้าว งานการไม่ทำ เอาความสุขเป็นที่ตั้ง และวิถีเขาสนุก เขาไม่คิดมาก เพราะฉะนั้น เราจับได้ว่าความสนุก คือ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ มีความสนุก จิตใจคนไทยนั้นเต็มเปี่ยมไปด้วยความสนุกสนาน เพราะนั้นเราจับตรงนี้ได้ปั๊บ แล้วตอนช่วงข่าวนี้เกิด เพลงลูกทุ่งถูกกดทางเอฟเอ็ม เปิดได้แต่ทางเอเอ็ม พอเราเห็นว่าชาวบ้านยังฟังเพลงลูกทุ่ง เราก็เอาเพลงลูกทุ่งไปใส่ในข่าวนิดหนึ่ง ให้เข้าแก่จังหวัดนู้นจังหวัดนี้ ให้เข้ากับข่าวหรือความเป็นไป เราก็เอามาใส่
เพลงที่เรานำเสนอนั้น ก็มาจากเจอครูเพลงลูกทุ่งที่เขาแต่งเพลงเหล่านี้ พอไปเจอปั๊บเขาก็มาร่วมในรายการของเรา แล้วเขาก็ร้องสด ด้นสดตรงนั้น เราก็เลยเห็นว่านี่มันเป็นวิถีอย่างแท้จริงของคนชนบท คนต่างจังหวัดเลยที่ชื่นชอบเพลงประเภทนี้ ทีนี้เราไปในพื้นที่ที่เขาอยู่เขาก็ร้องให้เราได้ แต่ถ้าเราไปในพื้นที่ที่เขาไม่อยู่ใครจะร้องให้ เราก็เริ่มครูพักลักจำ จำเอาที่ครูแต่ง จำเอาที่ครูสอน ตรงนั้นเอามา แล้วทีนี้ครูเพลงบางคนก็ตายไปแล้ว ข้อมูลเรามีทั้งหมดนี่ เพลงลูกทุ่งมันก็ง่ายๆ แค่ กลอนแปด ใช่ไหม แต่งเป็นกลอนแปดออกมา แล้วก็ใส่เนื้อ ใส่ทำนองมันก็ซ้ำกันบ้าง 3 ช่า รำวง เพลงไทยเดิม หรือเป็นแร็ป เป็นอะไรอย่างนี้
ก็ทำได้ก็ลองๆ ดูก่อน แล้วก็หาดนตรีชิ้นหนึ่ง เช่น แซกโซโฟน หามือกลองไปแล้วก็แต่งเป็นเนื้อ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องง่าย คือเราไม่ได้เกิดมาเป็นนักร้อง แต่เป็นสิ่งที่ชาวบ้านชื่นชอบ แล้วชาวบ้านก็ชอบร้อง ชอบรำพอเราร้อง เขาก็มารำด้วย บางทีเขาก็มีเพลงพื้นที่เขา ถ้าเขามีเพลงพื้นที่ของเขาร้องเลย
เพราะฉะนั้น หลักการนำเสนอของเราง่ายๆ ก็คือ เอาจากวิถีของเขานั่นแหละมานำเสนอ เราดูเขาเป็นยังไง เราก็เป็นอย่างงั้น เราเอาวิถีของเขาตรงนั้นขึ้นมา แทนที่จะเอาของเราครอบลงไป ใช่ไหม เหมือกับวัฒนธรรมของ เรามันจากเบื้องสูงไปครอบเบื้องต่ำ จากเมืองนอก มืองนาไหลมาครอบพวกนี้ พอคนรุ่นนี้หมด มันก็เลยหมดไปหมดไป แต่เราเอาจากเบื้องลึกเนี่ย ดันขึ้นมาไง เหมือนเอาวิถีของผู้คนเบื้องล่างดันขึ้นมา แทนที่จะครอบเขา แต่ลงไปเรียนรู้
นึกว่ามาจากการที่เป็นคนสนุกสนานเฮฮาอยู่แล้ว
นั่นก็ใช่ เพราะถ้าพูดถึงเพลงประเภทเพลงลูกทุ่งเนี่ย เราจะชอบมากเพราะในชีวิตช่วงเด็กๆ สัก 40 -50 ปีก่อนถือเป็นยุคทองของเพลงลูกทุ่งไทย ยิ่งถ้าอยู่ในชนบทด้วยแล้ว มันจะอยู่ในตัวเราหมดนั่นแหละ ทั้งเนื้อ ทั้งทำนอง ดังนั้นวันนี้เราชอบ ก็เอาสิ่งนั้นใส่เข้าไป ช่วงร้องเพลงลูกทุ่ง เราก็ได้เต็มที่เห็นรายการออกอากาศเกือบทุกวันนี้ (ออกอากาศจันทร์-ศุกร์) แต่มันจะมีทั้งส่วนการตัดต่อ การลงพื้นที่ การทำข้อมูล
แล้วอุปสรรคล่ะ มีบ้างไหม
มันก็มีอยู่ทุกที่นั่นแหละ แต่เป็นเรื่องของปัญหาเล็กๆ องค์กรการทำงานอาจจะมีปัญหาความขัดแย้ง แต่ก็พยายามลดความขัดแย้ง ภายในองค์กร เพราะเราทำสิ่งนี้ เพื่อไปสู้กับคนโน้นคนนี้เรื่องการนำเสนอใช่ไหม มันไม่น่าจะมีปัญหาอะไรมากมาย เพราะว่าเขารู้แนวทางการทำข่าวของเรา นำเสนอในสิ่งที่มันสร้างสรรค์ไง สร้างสรรค์กับสังคม จุดนี้จุดนั้นเขาก็อยากนำเสนอ บางทีก็มีติดต่อผิดพลาด ไปทางนั้นแล้วไม่ได้อย่างที่คิดก็เบี่ยงไปประเด็นอื่น ใช้เวลาทุกนาทีมองอะไรให้มันเป็นประโยชน์ เหมือนท่านพุทธทาสบอกว่า ดูให้ดีมันจะมีแต่ได้ อย่างกรณีที่สูญเสียก็ดูในมุมสูญเสียนั้น คิดให้ดีนั้นเราได้
นอกจากทำรายการที่อัดเป็นเทปให้กับช่อง 3 แล้วมีธุรกิจอื่นอีกไหม
ยังไม่มีอะไรเลย แต่คาดหวังไว้หลายอย่าง ว่าจะรวมตัวกันทำยาหม่อง (หัวเราะ) คือยาหม่อง มันเป็นเหมือนสินค้าที่อยู่ในครัวเรือนเป็นยาสามัญประจำบ้าน แล้วคนที่สูงอายุหน่อยจะใช้ เช่น แฟนข่าวแฟนรายการของเราที่เป็นคนสูงอายุ อีกอย่างที่ทำตอนนี้ คือ ปุ๋ย ซึ่งเป็นปุ๋ยยี่ห้อของเราเอง
แล้วสำหรับอาชีพในวงการล่ะ ไม่คิดจะต่อยอดกว่านี้หรือ
(หัวเราะ) ทำอาชีพข่าวมาเกือบ 30 ปี ตั้งต้นแค่ว่าต้องการเป็นนักข่าวแค่นั้น หรืออย่างการทำข่าวชุมชนแบบเพียวร์ๆ ก็เพราะเราต้องการแค่นั้นไง ณ วันนี้บรรลุความสำเร็จตรงนั้นแล้ว ที่ได้ทำตรงนั้น และจากนี้ไปก็อย่างที่บอกว่าอาจจะหาธุรกิจอะไรเล็กๆ ไว้ทำ ในบั้นปลายของชีวิตได้บ้าง
แต่กรณีของการเป็นนักข่าว มันก็ยังเป็นได้ตลอดชีวิตนี้ ถ้าเราชอบก็จะพบเห็นสิ่งดีดี ก็ช่วยกันในชุมชน นำเสนอในรูปแบบต่างๆ เพราะเดี๋ยวนี้ สื่อไม่ได้มีแค่เฉพาะวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ สื่อไอทีอะไรต่างๆ ก็มากมาย เพราะฉะนั้น สิ่งที่เรารักเราชื่นชอบจะอยู่ติดตัวเอาตลอดไป เพราะเราชอบ คนอื่นอาจจะถามว่าอายุก็มากแล้ว เดินทางไปไหน เหนื่อยหรือยัง ถ้าเหนื่อยจะมาเป็นทำไมละนักข่าวเนี่ย ก็เรารู้ไง
หรือจะเอารายการนี้ไปทำเป็นธุรกิจ อย่างที่คนอื่นเขาทำไง ทำเป็นรายการธุรกิจมีสปอนเซอร์ เราก็ไม่เอา เพราะไม่ชอบไง คือมองอย่างเดียวว่าการเป็นนักข่าวเพียวๆ ไม่ชอบที่จะไปทำธุรกิจ แต่สุดท้ายคนเราพอปั้นปลายเนี่ย ไม่มีอะไรมันก็เริ่มนึก ถ้าเราทำธุรกิจแต่แรกเราไม่มีตังค์หรือ แต่ถ้าทำตรงนั้นเราไม่ชอบ ไม่ชอบตั้งแต่สมัยเด็ก
อย่างไรก็ตามแต่ เราก็ผูกพันกับสิ่งนี้ แม้ว่าบั้นปลาย เราไม่มีอะไรเราก็อาจจะมีธุรกิจอะไรของเราเล็กๆ ตามแต่ที่ใจต้องการ นี่คือสิ่งที่วางไว้ ส่วนนักข่าวนั้นก็คงเป็นไปตลอดชีวิต.
>>>>>>>>>>>>>>>>>>>
เรื่อง : นันทวดี วิเวกจวง
ภาพ : พงศ์ศักดิ์ ขวัญเนตร