xs
xsm
sm
md
lg

'ทัวร์ธรรมะ' ได้เวลาจัดระเบียบท่องเที่ยวเชิงพุทธพาณิชย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ก็คงไม่ใช่เรื่องไม่แปลกที่คนไทยนิยมทัวร์ธรรมะกันมากขึ้น อย่างหนึ่งต้องยอมรับว่ารากเหง้าของชาวไทยนั้นถูกหล่อหลอมให้ศรัทธาในพุทธศาสนา การทำบุญเข้าวัดก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทุกท่านถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่ยังเยาว์ บ้างก็เพื่อสั่งสมบุญกุศล บ้างก็เพื่อทำนุบำรุงศาสนา บ้างก็เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจยามทุกข์ ฯลฯ กลายเป็นเหตุผลนานาประการที่เอื้อให้ปุถุชนชาวพุทธเดินทางเข้าสู่ร่มเงาศาสนาเชิงธุรกิจยิ่งขึ้นไปอีก

ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบกว่าปีที่แล้ว คนไทยเริ่มมีการทัวร์ทำบุญเกิดจากรวมตัวกันจัดทัวร์ทอดกฐิน, ทัวร์ทอดผ้าป่าสามัคคี ตามวัดที่ห่างไกลความเจริญ ค่ำนั้นอาจจะอาศัยวัดนอนแล้วค่อยไปต่อกันวันพรุ่ง แยกย่อยเป็นเงินทำบุญก็ส่วนหนึ่ง และเงินค่ารถก็อีกส่วนหนึ่งเฉลี่ยกันตามกำลังของเจ้าภาพ ถึงวัตถุประสงค์แท้จริงคือการทำบุญ แต่พอเสร็จสรรพก็พากันเฮไปเที่ยวยังบริเวณใกล้เคียง คงเรียกได้ว่าเป็นการ ‘ทัวร์ธรรมะ’ ในแบบโบราณ

กระทั่งการทัวร์ทำบุญของชนชั้นรากหญ้า-ชั้นกลาง ได้ผันเข้าสู่ธุรกิจทัวร์ธรรมะอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งยังมีการอำนวยความสะดวกแก่นักเดินทางผู้แสวงบุญทุกชนชั้น

หลากหลายหน่วยงานก็หยิบยกทัวร์ธรรมะเป็นตัวชูโรงกระตุ้นการท่องเที่ยว ทั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) หรือบริษัททัวร์ชั้นนำต่างๆ รวมถึงหน่วยงานรัฐและเอกชนอื่นๆ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้คงต้องยอมรับว่า มาจากเสน่ห์อันหอมหวนของทัวร์ประเภทนี้ที่สร้าง 'เม็ดเงิน' ไหลเวียนอยู่ในกระเป๋าของผู้เกี่ยวอย่างอีกมโหฬาร

ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด ก็ถือถ้อยแถลงของตัวแทนจาก ททท. ในภาคอีสานที่ระบุว่า ระยะเวลาเพียง 3 เดือนตั้งแต่เข้าพรรษาจนถึงออกพรรษา ในปี 2553 มีเงินสะพัดใน 3 จังหวัด คือสกลนคร นครพนม และมุกดาหาร มากกว่า 1,000 ล้านบาท

แต่ความนิยมอย่างล้นหลามก็ทำให้ทัวร์ธรรมะ ก็กลายเป็นช่องว่างให้ผู้ศรัทธาถูกผลาญทรัพย์ได้อย่างไม่รู้ตัว

ว่าด้วยเส้นทางทัวร์ธรรม

“มันบูม…ตูม! เดียวเลย เราหามือระเบิดไม่ได้ เพียงแต่ว่ามันจุดระเบิดเสร็จในวันต่อมาทุกที่มันก็ระเบิดพร้อมกันหมดเลย เพราะเขาเชื่อเรื่องเลขนำโชค เชื่อกันว่าเลข 9 นั้นเป็นมงคล ไหว้พระต้องไหว้ 9 วัด และการจัดทัวร์ 9 วัดมันง่ายอยู่แล้ว คนไทยก็มีพื้นในเรื่องของความงมงายกับเปลือกของศาสนา ไม่ได้มองในเรื่องของแก่นเลย ด้วยระบบทัวร์แบบนี้มันก็หลอกคนไปได้ตลอด มันเป็นวิธีการขายทัวร์โดยอาศัยศาสนามาบังหน้า อาศัยความลำบากยากจน ความคับแค้นใจ นี่คือจิตวิทยาของการขายทัวร์”

เผ่าทอง ทองเจือ เจ้าของบริษัททัวร์ระดับพรีเมียมผู้เชี่ยวชาญในเรื่องศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ไทย กล่าวถึงธุรกิจทัวร์ธรรมะในประเทศไทย ที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อ และทางเลือกเชิงจิตวิทยากิจการทัวร์ที่นำศาสนาเข้ามาค้ากำไร

อย่างไรก็ตาม หากมองถึงทัวร์ธรรมะที่ผู้ประกอบการในเมืองไทยจัดทำนั้น รูปแบบการทัวร์ก็ยังคงเป็นการนำนักท่องเที่ยวเดินทางไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ได้มีการสอดแทรกคำสอนของพุทธศาสนาหรือเนื้อหาธรรมะที่ลึกซึ้งแต่อย่างใด ภัทรานิษฐ์ วุฒิอัครไพศาล ไกด์สาวผู้คลุกคลีอยู่กับธุรกิจการทำทัวร์ เล่าให้เราฟังถึงรูปแบบของทัวร์ธรรมะว่าส่วนมากนั้นก็จะเป็นการไปเที่ยวชมไม่ได้ลงลึกเข้าไปศึกษาเนื้อหาของธรรม

“เนื้อหาของการทัวร์นั้น ก็เหมือนกับทัวร์ปกติที่มีทั้งเที่ยว ทั้งกิน ทั้งชอปปิ้ง เวลาที่ไปวัดหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ไกด์ก็จะบอกเล่าประวัติของสถานที่นั้นๆ ซึ่งมีทั้งประวัติจริงๆ และตำนาน รวมไปถึงลักษณะของศิลปะและสถาปัตยกรรม คือเป็นเรื่องทั่วๆ ไป ไม่มีหรอกที่จะพูดถึงหลักธรรมคำสอน เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ไกด์ไม่ได้ชำนาญ”

พฤติกรรมทางธรรม

กลุ่มคนที่ชอบไปทัวร์ธรรมะส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนวัย 30 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย มีระดับฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างดี และกำลังเสาะแสวงหาทางออกของชีวิต ดร.อนุ เจริญวงศ์ระยับ อาจารย์ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แสดงทัศนะถึงการที่กลุ่มคนเข้าสู่ทัวร์ธรรมะ

“การปลดปล่อยตนเองมีหลายวิธี ธรรมะก็เป็นวิธีหนึ่ง นั่นหมายความว่า คนเหล่านี้เข้าใจจิตใจของตนเอง แสดงว่าเป็นคนที่รู้จักยอมรับนับถือตนเอง คิดว่าตนเองสามารถยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นได้ เชื่อว่าสามารถทำอะไรได้ด้วยตนเอง เลยเข้าหาธรรมะ เพื่อฝึกปฏิบัติให้มีจิตใจที่เข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น

“แต่ยังมีกลุ่มคนอีกจำนวนหนึ่งที่ลุ่มหลงในเรื่องอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เชื่อว่าไปทัวร์แล้วจะได้ขึ้นสวรรค์ ถ้าไปสถานที่เหล่านั้นแล้ว จะได้บุญเพิ่มมากขึ้น เช่น พวกที่ไปอินเดียไปตามรอยพระพุทธบาท เหล่านี้ก็เลยทำให้ทัวร์ธรรมะได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่อง”

เล่ห์เหลี่ยมเหนือเมฆ

การทัวร์ธรรมะบางทีก็เป็นไปตามกระแส อาทิ การทัวร์ไหว้พระ 9 วัด ซึ่งระหว่างเดินทางไปตามจุดต่างๆ หัวหน้าทัวร์ก็มักจะทำการเรี่ยไรเงินบริจาค จนบางครั้งก็สร้างความไม่พอใจให้แก่ลูกทัวร์ ดร.อำนาจ บัวศิริ รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ขยายภาพปัญหาของทัวร์ธรรมะที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

"เวลาไปกับทัวร์พวกนี้ เขาจะมีจุดที่ให้ทำบุญ ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำค่าไฟ บางทีทำบุญจนหมดกระเป๋ากลับบ้านเลย ซึ่งแต่เดิมไม่ค่อยมีปัญหาเพราะคนที่ไปในกรุ๊ปทัวร์พวกนี้ 90 เปอร์เซ็นต์ เขารู้อยู่แล้วจะต้องทำบุญ ฉะนั้นเขาก็จะเตรียมเงินให้พร้อม ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่ได้บังคับ ใครจะทำก็ได้ แต่อย่างว่าเวลาทัวร์ที่ไป เขาก็มักจะมีจิตสำนึกว่า ได้อาศัยวัดเป็นที่ประกอบอาชีพ ดังนั้นเขาก็จะพยายามชักนำให้ลูกทัวร์ทำบุญให้มากๆ มันเลยเกิดมุมมองอีกด้านหนึ่งว่า ไปวัดแล้วเสียเงิน”

ยังรวมกรุ๊ปทัวร์ที่เน้นเรื่องการแก้กรรม หรืออวดอ้างอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่า ส่วนหนึ่งก็อาจจะมีกลุ่มที่พฤติกรรมหลอกลวงหาเงินเข้ากระเป๋าแฝงตัวเข้ามาบ้าง

"การศึกษาแก่นของศาสนา ถือเป็นสิ่งที่สืบเนื่องตามมา เพราะเราต้องเข้าใจก่อนว่า วัดแต่ละแห่งที่ไปมันถูกจริตคนไม่เหมือนกัน อย่างวัดนี้มีเรื่องการแก้กรรม เราก็มองว่ามันเป็นอุบาย ไม่ใช่ทำให้งมงาย ถ้าเรามองในหลักการ นี่คือการสร้างความสบายใจในระดับแรกก่อน แล้วค่อยไต่ระดับต่อไป"

ฉะนั้นจึงอาจจะกล่าวได้ว่า ทัวร์ธรรมะนั้นก็เหมือนดาบสองคมที่มีทั้งแง่ดี-แง่ร้าย ซึ่งขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน

แง่คิดของการทำบุญ

แม้การทำบุญจะกลายเป็นกระแส ทำให้คนสนใจหันมาทำสิ่งที่เรียกกันว่า ‘บุญ’ มากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นนิมิตหมายอันดีของพุทธศาสนา แต่หากมองโดยละเอียด เราอาจพบว่าการไปทำบุญในหลายๆ วาระโอกาสนั้นขัดกับหลักการในพระธรรมคำสอนโดยแท้จริง

พระครูปลัดสมโภชน์กวิสฺสโร หรือหลวงพ่อผัน เจ้าอาวาสวัดพระธาตุหนองสามหมื่น จ.ชัยภูมิ สอนถึงแก่นแท้ของการทำบุญว่าไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง หากแต่ทำเพื่อให้ได้ชำระความยึดติด และความตระหนี่ในใจ เพื่อให้ใจเป็นกุศลและเป็นสุขอย่างแท้จริง

“การไปทำบุญ เราไม่ได้ไปเพื่อให้ได้อะไร แต่มันได้ชำระความตระหนี่ ความยึดติดหวงแหนในใจ และมีผลลัพธ์คือความสุข หลายๆ คนที่มาทำบุญนั้นปรารถนาจะมีสุขภาพแข็งแรง มีอายุยืน ได้ลาภยศสรรเสริญ พวกนี้มันไม่ใช่เรื่องของบุญแล้ว มันเป็นเรื่องตัณหา ซึ่งเป็นเรื่องอกุศลนำสู่ทุกข์ ถ้าเราไปทำบุญอย่างเข้าใจ จะต้องทำเพื่อชำระความยึดติดหวงแหนของเรา”

นอกจากนี้ท่านยังได้แสดงทัศนะว่า ทัวร์ธรรมะนั้นเป็นเรื่องที่ดี เพียงแต่ในการสอนนั้น จะสอนถูกหรือผิดอย่างไร ต้องขึ้นอยู่กับพื้นฐานความรู้ในทางพุทธศาสนาของบุคคลที่จัดทัวร์ ซึ่งควรมีหน่วยงานเข้ามาดูแลในเรื่องนี้เพื่อจัดระเบียบ และสอดส่องให้การจัดทัวร์ธรรมะนั้นเป็นไปอย่างสอดคล้องกับหลักคำสอนของพุทธเจ้า

ต่างคนต่างมุมมอง

จากความเชื่อจึงเกิดแรงศรัทธาทำให้ผู้ชื่นชอบการทำบุญอย่าง อารี อ่อนนุ่น ออกร่วมเดินทางกับทัวร์ธรรมะ เพราะเธอเชื่อว่าการทัวร์ทำบุญ 9 วันนั้นจะเสริมสิริมงคลแก่ตัวเอง ล่าสุดเธอก็ร่วมทัวร์ธรรมะไปจังหวัดเชียงใหม่ ในราคา 999 บาท/คน นอกจากได้บุญยังเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้ตัวเองเพราะวัดที่ไปก็เป็นวัดใหญ่ที่ไม่เคยไปมาก่อน

“การทำบุญเข้าวัด เราเชื่อว่าทำมาค้าขึ้น ทำให้จิตใจผ่องใส จิตใจปลอดโปร่ง ที่จริงก็รู้นะว่าไม่จำเป็นต้อง 9 วัด แค่วัดเดียวก็ได้ แต่ที่ 9 วัดนั้น ก็มีหลายคนบอกว่ามันจะทำให้หน้าที่การงาน และชีวิตเจริญก้าวหน้า มันก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน อย่างบางคนก็ว่าไปทำไม 9 วัดไปวัดเดียวก็ได้เสียเวลามันก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อและความสบายใจของแต่ละคน”

แตกต่างกับ วิไล ชัยสิริรุ่งตระกูล พนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง เธอแสดงทัศนะว่า การทำบุญนั้นไม่จำเป็นต้องเดินทางไปถึงวัดหรือร่วมคณะทัวร์ธรรมะ การทำบุญนั้นเปรียบดั่งการให้ทาน เธอเชื่อว่าการมีจิตที่เป็นกุศลเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าการเดินทางเพื่อไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบวรพระพุทธศาสนา

“ในความคิดส่วนตัว มันเป็นเหมือนกระแสนะ ถึงแม้มีเวลาไปทั้ง 9 วัด แต่ถามหน่อยว่าคุณได้อะไร? มันต่างกับการไปแค่วัดเดียวหรือเปล่า? สิ่งที่คุณทำก็คือการไปไหว้พระขอพร ไปหยอดเงินในตู้บริจาค โอเค...คิดว่าต้องได้บุญแล้วก็จบ ไปต่อวัดอื่นให้มันครบ 9 วัดเร็วๆ มันได้แต่ปริมาณ มันไม่ได้ถึงแก่นแท้ของศาสนา บางที่การคิดดีทำจิตให้เป็นกุศลมันก็เพียงพอแล้ว”
..........

ก็คงต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนความคิดความเชื่อคนอื่นได้ พฤติกรรมการทัวร์ธรรมะนั้นเป็นเรื่องคาบเกี่ยวกับความศรัทธาของแต่ละบุคคล อย่างหนึ่งก็คงต้องกระตุ้นเตือนในเรื่องสติ ถือมั่นในคำสอนของพุทธศาสนา ไม่ใช่ปล่อยความศรัทธาให้เปลี่ยนเป็นความงมงาย
>>>>>>>>>>

……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK


กำลังโหลดความคิดเห็น