xs
xsm
sm
md
lg

'แดนซ์' บำบัดเครียด "ดุจดาว วัฒนปกรณ์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากเอ่ยถึงศาสตร์การบำบัดจิตที่เรียกว่า "Dance Movement Psychotherapy" หรือ "การบำบัดจิตด้วยการเคลื่อนไหว" หลายคนคงยังไม่ค่อยคุ้นหูนัก เพราะถือว่าเป็นศาสตร์ใหม่ และ ณ ตอนนี้มีนักบำบัดจิตด้วยการเคลื่อนไหวเพียงคนเดียวเท่านั้นในประเทศไทยนั่นคือ "ดุจดาว วัฒนปกรณ์" สาวสวยทันสมัยผู้หลงรักในศิลปะการเคลื่อนไหว ถึงขั้นไปศึกษาต่อ Movement Therapy จากมหาวิทยาลัย Gold Smith ที่ประเทศอังกฤษ และนำความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีความบกพร่องทางด้านต่างๆ ในการฝึกทักษะใช้ร่างกายสื่อสารกับใจ

M-Healthy นัดพบกับนักจิตบำบัดด้วยการเคลื่อนไหวคนแรกและคนเดียวของประเทศไทย ที่ “มีรักคลินิก" คลินิกเล็กๆ บรรยากาศอบอุ่น ย่านติวานนท์ ซึ่งเธอเป็นนักจิตบำบัดประจำอยู่ที่นี่ เธอเป็นสาวสวย ร่างเล็ก ที่มีบุคลิกโดดเด่น น้ำเสียงฉะฉาน วันนี้เธอจะมาไขความลับของการอ่านภาษากายผ่านการเคลื่อนไหว ซึ่งบางเรื่องก็เป็นเรื่องง่ายๆ ที่คนส่วนใหญ่ละเลย อย่างการนั่ง การเดิน การยืน หากลองหันมาฟังเสียงของร่างกายว่ากำลังบอกอะไร และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพียงเล็กน้อยก็จะได้รับประโยชน์ และพัฒนาศักยภาพของร่างกายและจิตใจตัวเองได้อย่างมหาศาล

หลงรักการเต้นตั้งแต่เด็ก
ด้วยความที่หลงรักการเต้นมาตั้งแต่เด็ก ระหว่างเรียนปริญญาตรีอยู่ที่คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน สาขาวิทยุและโทรทัศน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอก็ได้เข้ากลุ่มละครเวทีที่ชื่อว่า ดรีมบอกซ์ และ บี-ฟลอร์ ได้แสดงละครเวทีควบคู่ไปด้วย ซึ่งสิ่งที่เธอสนใจมาโดยตลอดคือเรื่องของ Body Movement
 

“เราชอบเล่นละครมาก ชอบตั้งแต่เด็ก พอโตขึ้นมาก็เลยเข้ากลุ่มละครเวที ใช้บอดี้เล่าเรื่องไม่ต้องพูดมาก ฝึกใช้ร่างกายให้คล่องแคล่ว และหาความหมายจากร่างกาย เราได้โจทย์มาว่าเคลื่อนไหวแบบนี้ เราไม่ต้องพูดเลยนะ แต่มันมีผลต่อสภาวะจิตใจ คล้ายๆ ทดลองในแล็บกับเพื่อนหลายๆ คน เราก็รู้สึกว่าข้างในเราเริ่มเปลี่ยนแปลงแล้ว เรารู้สึกว่าการเคลื่อนไหวมันมีผลกับข้างในเรามากเหลือเกินก็เลยตัดสินใจที่จะไปเรียนต่อโท ตอนนั้นก็หาอะไรที่เราอยากเรียนจริงๆ นั่งเสิร์ชกูเกิ้ลพิมพ์ Dance + Movement ชอบจิตวิทยา ก็ใส่ Psychology หา MA คอร์ส มันก็ขึ้นมา Dance Movement Psychotherapy เราคิดว่าเรียนสาขาวิชานี้ต้องตอบคำถามเราได้แน่
  

"Dance Movement Psychotherapy" เป็นการบำบัดรูปแบบหนึ่งโดยใช้การเคลื่อนไหว ผสานกับเครื่องมือที่เป็นsymbolicเป็นตัวช่วยบำบัด ระหว่างเรียนก็ได้ฝึกงาน จบมาก็ได้ใบรับรองเป็นนักบำบัดด้วยการเคลื่อนไหวอย่างถูกต้องจากประเทศอังกฤษ มันเป็นวิทยาศาสตร์ที่ใช้เครื่องมือของศิลปะมาทำงาน
  

ทักษะด้านสื่อสาร ทักษะการแสดงละคร เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเราในการเรียนมากเลย ตอนเรียนก็ไม่ได้สบายนะ ร้องไห้บ่อยมาก รู้สึกว่าเราเป็นเด็กสายศิลป์โง่ๆ ต้องเรียนรู้ทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติ ส่วนของปฏิบัติแค่ไหนมาเลย แต่ทฤษฎีมันไม่ง่าย เป็นเรื่องเครียด แต่เราไม่เคยยอมแพ้ เรารู้สึกถึงความเครียดจนถึงจุดต่ำสุดแล้ว แต่ต้องผ่านให้ได้
  

ทุกวันนี้ดาวเป็นนักบำบัดจิตโดยใช้ศิลปะการเคลื่อนไหว เป็นหนึ่งในสหวิชาชีพอยู่ที่มีรักคลินิก มีนักศิลปะบำบัด นักละครบำบัด จะอยู่ในรูปแบบของการเต้น การเล่นละคร วาดรูป ดาวมองว่าการที่จะเยียวยาผู้ป่วย การพบจิตแพทย์หรือรับประทานยาอย่างเดียวมันไม่พอ มันต้องมีการทำจิตบำบัดควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้เขาเข้าใจตัวเอง มีความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน และสามารถพึ่งพาตัวเองได้”

กระบวนการบำบัดจิตด้วยการเคลื่อนไหว
ดาวเล่าถึงกระบวนการบำบัดจิตด้วยการเคลื่อนไหวผ่านห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ สีเหลืองนวลสบายตา คลอเคล้าไปด้วยเสียงเพลง มีภาพวาดบนฝาผนัง มีอุปกรณ์ที่เป็นตัวช่วยในการสื่อสาร อาทิ ลูกบอลพลาสติก บอลยางขนาดใหญ่ ผ่านการสังเกตความเคลื่อนไหวของผู้ป่วย เรียนรู้ ทำความเข้าใจ และพัฒนากระบวนต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน
  

“ผู้ป่วยที่นี่ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่มีปัญหา บางคนเป็นเด็กออทิสติก มีความบกพร่องทางพัฒนาการ หรือเด็กสมาธิสั้น บางคนมีปัญหาทางด้านพฤติกรรม มีอารมณ์ฉุนเฉียว ก้าวร้าว หรือเด็กที่มีปัญหาเรื่องการเรียน
  

ดาวจะเรียกว่า sessions พอมาเจอคนไข้ จะอยู่บนความสัมพันธ์แบบคนไข้กับนักจิตบำบัด เราบอกเขาว่าเราเป็นนักบำบัดนะ เริ่มสร้างความสัมพันธ์ สร้างความคุ้นเคย ห้องนี้มีอะไรบ้าง ทำให้เขาไว้ใจ ทำให้เขาอยากคุยกับเรา เราต้องสังเกตว่าเขามีความกังวลอะไร หรือมีอะไรอยู่ในหัว ค่อยๆ ดู ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ สังเกต แล้วถึงจะเริ่มกระบวนการบำบัด นักบำบัดต้องมีความอดทนต้องคอย รอว่าเขาพร้อมไหมที่จะรับอะไรบางอย่าง
  

เริ่มจากการพูดคุยก่อน แล้วให้เขาวอร์มอัป ทำอะไรที่เกี่ยวกับ body ปลุกกล้ามเนื้อ เพื่อจะดึงเอาสมาธิทุกอย่างมาไว้ที่ตัว สัมผัสถึงกระดูก กล้ามเนื้อ เราได้สังเกตข้อมูลคนไข้จากการเคลื่อนไหว แล้วเราก็สร้าง link เหมือนสร้างสะพานเพื่อเชื่อมต่อ ถ้าสะพานเป็นอย่างนี้จะเป็นอย่างไร แล้ว processจะเป็นอย่างไร ดูว่าเขาพร้อมที่จะไปตรงนั้นไหม หรือเขากังวลกับอะไรมากกว่า เราก็ทำงานตรงนั้นไป โดยใช้เพลง ใช้อุปกรณ์ทุกอย่างจะผ่าน symbolic อย่างลูกบอลยางมันเป็นอะไรมากกว่าที่เห็น มันสามารถกอดได้ เล่นได้ ลูกบอลสามารถเป็นเครื่องมือสื่อสารได้ โยน-รับระหว่างกัน มีการมองตากัน มันมีวิธีการหลายๆ อย่างซ่อนอยู่ในอุปกรณ์ในห้องนี้
  

ห้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย เราจะยื่นเครื่องมือให้เขา สร้างความศรัทธาในใจผ่านการเคลื่อนไหว หรือการวาดรูป การเล่นเกม ทำให้เกิดเสียงปึ๊ง! ในหัวของเขา ช่วยให้เขาได้เรียนรู้รูปแบบพฤติกรรมตัวเอง ค้นหารูปแบบพฤติกรรมใหม่ๆ คิดกระบวนการยืดยุ่น การยืดยุ่นจะตอบสนองต่อเราอย่างไร ถ้าอยู่ข้างนอกอาจจะโกรธ แล้วเปรี้ยง! เลย ยอมไม่ได้ แต่เมื่ออยู่ในห้องนี้จะมีทางเลือกว่าโกรธแล้วทำอย่างนี้ได้ไหม ทำอย่างนั้นได้ไหม ผ่านการเล่นเกม เขาจะไม่รู้ตัว แต่จะรู้สึกสนุก และค่อยๆ ซึม พอไปที่โรงเรียนเขาก็จะมีวิธีปรับตัวมากขึ้น
  

สิ่งที่เขาได้รับจากการบำบัดคือช่วยให้เกิดความไม่รู้สึกโดดเดี่ยว เกิดความมั่นใจในตัวเอง เกิดความเข้าใจร่างกายและจิตใจตัวเอง ปรับพฤติกรรม ได้ผ่อนคลาย มีคนคุยด้วยคลายเครียด ค่อยๆ เข้าใจพฤติกรรมตัวเอง จนถึงรื้อโครงสร้างของพฤติกรรมตัวเอง
 

นอกจากเราจะได้ทำความเข้าใจกับคนไข้แล้ว ยังทำให้เราเห็นโลกใบใหม่ ในห้องนี้ เป็นโลกของคนไข้ ทำให้เราได้ท่องไปไกลมากในใจคน มันเหมือนอยู่ในดินแดนมหัศจรรย์ ทุกครั้งที่เขาแชร์โลกของเขาให้เราดู เราเห็น แล้วเราเชื่อมโยงให้เขา มันสนุก”

การเคลื่อนไหวบำบัดจิตได้อย่างไร
การบำบัดจิตด้วยศิลปะการเคลื่อนไหว ด้วยการใช้กระบวนการของการเต้น และการเคลื่อนไหว การวาดภาพบำบัดจิตใจ ซึ่งในกระบวนการเหล่านั้นจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางด้านอารมณ์ การรับรู้ ความคิด ทั้งทางกายภาพ และทางสังคม
 

"ศิลปะบำบัดแขนงนี้อยู่บนพื้นฐานของความเชื่อที่ว่าการเคลื่อนไหวของร่างกายสะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบทางความคิดและอารมณ์ความรู้สึกของแต่ละบุคคลได้ และนักจิตบำบัดสามารถส่งเสริมให้ผู้เข้ารับการบำบัดมีความเปลี่ยนแปลง มีพัฒนาการและเกิดการบูรณาการรูปแบบการเคลื่อนไหวแบบใหม่ด้วยการเพิ่มการตระหนักรู้และเสริมสร้างกำลังใจพร้อมไปกับประสบการณ์ทางอารมณ์ที่ผู้เข้ารับการบำบัดได้รับระหว่างกระบวนการ
 

ร่างกายและจิตใจมันแยกออกจากกันไม่ได้ จิตใจมันอยู่ในร่างกายเรา ถ้าเรารู้สึกอะไรมันต้องรู้สึกผ่านทั้งตัว มันไม่ได้รู้สึกในเชิง Thinking อย่างเดียว เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากรู้เรื่องของใจ เราจะพุ่งตรงไปที่ใจเลยมันยาก เพราะใจมันเป็น Apstract มันลอยอยู่ในอากาศ มันเหมือนเป็นขนมโดรายากิที่โดเรมอนชอบกิน ทั้งสองด้านมันแปะกัน ถ้าอยากทำงานกับแผ่นขวา ลองขยับแผ่นซ้าย อีกแผ่นก็ขยับมันมีความเชื่อมกัน
 

การเคลื่อนไหวร่างกาย มันมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับจิตใจแน่นอน มันเป็นศาสตร์ที่ค่อนข้างอธิบายถึงกระบวนการลำบากเหมือนกัน แต่มันมีโครงสร้างที่ต้องพิจารณา คือ ความปลอดภัยของคนไข้ เพราะทุกความเคลื่อนไหวมันจะลิงก์ไปสู่จิตใจ บนพื้นฐานของอวัจนภาษา หรือ Body Language มันเป็นภาษาแรกที่เราใช้ก่อนที่เราจะพูดเป็นด้วยซ้ำ เด็กพูดไม่เป็นก็ยังสื่อสาร ยิ้ม อยากกอดแม่ แม่ก็ตอบสนองลูกด้วยกิริยาท่าทางต่างๆ เหล่านี้
 

ดาวยังเชื่ออีกด้วยว่าการเลี้ยงดูตั้งแต่เด็กมีผลมาถึงทุกวันนี้ ภาษากายมันไปได้ไกลว่าภาษาพูด มันทำให้รู้สึกได้มากกว่าพูดออกมา การที่เขาไม่ได้พูดไม่ได้แปลว่ามันไม่มีอะไรเกิดขึ้น เราเลยมองว่าภาษากายมันมีความหมาย แล้วเราฟังตรงนั้น เราแคร์ แล้วเราจะรู้สึก”

ลุกขึ้นเต้น
หากเกิดสภาวะทางอารมณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ หรือเกิดความเครียด ดาวแนะนำวิธีง่ายๆ ว่าลองจินตนาการถึงเพลงสนุกๆ แล้วจินตนาการว่าเราเต้นอยู่ในใจ หรือหาเวลาแอบไปขยับร่างกาย จะช่วยทำให้รับมือกับความเครียด หรือปัญหาต่างๆ ได้ดีขึ้น
 

“เวลาเครียดๆ ลองนึกถึง MV ที่เคยดู เขาเต้นไปถึงที่ทำงานได้ เขาเดิน เขาหลบคน เขาขึ้นรถ เขานั่ง เขาขยับขา ลองคิดว่ามีเสียงเพลงอยู่ในใจ แค่นึกภาพที่เราวาดในใจขึ้นมา แล้วลองมาปรับใช้กับชีวิตประจำวัน เราต้องเต้นเพื่องาน เต้นเพื่อเพื่อน เต้นเพื่อเจ้านาย เต้นเพื่อลูก เต้นเพื่อครอบครัว เราลองมาเต้นเพื่อตัวเองดูบ้าง มันทำให้ชีวิตสมดุล
 

อย่างดาวคิดงานไม่ออกดาวก็ลุกมาเต้น เพราะดาวรู้สึกว่าขุมทรัพย์มันอยู่ข้างใน เพียงแต่เราไม่เคยปล่อยออกมา มันไม่มีที่ทางปล่อย แค่ขยับนิดขยับหน่อย เดี๋ยวความรู้สึกดีๆ มันก็มา

การเคลื่อนไหวมันอยู่กับเราอยู่แล้ว ถ้าเราไม่มองมันให้มีค่า ก็เหมือนคนที่ถือเครื่องมือหนักๆ แต่ไม่ใช้มันไม่เปิดมันออก คุณใช้เครื่องมือที่จะทำความเข้าใจกับใจคุณ เขียนรายงาน ยกของ รู้สึกว่านั่นคือสิ่งที่ร่างกายทำได้ สิ่งที่ร่างกายทำงาน พาคุณไปสู่เป้าหมาย แต่คุณไม่เคยมองว่าร่างกายกำลังบอกอะไรบ้าง ใจมันกำลังสื่อสารอะไรบางอย่างกับร่างกาย เมื่อปิดกั้นไม่ฟังเสียงของร่างกาย มันน่าเสียดาย แล้วไปค้นหาว่าเราคืออะไรจากโลกภายนอก จริงๆ มันอยู่ข้างในตัวเอง”




วางตำแหน่งของร่างกายให้ถูกที่ ถูกท่า
ท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่านเดิน ท่ารอ ท่าก้ม ท่าฟัง ท่าสั่ง ท่าออกแรง ถ้าไม่เจ็บ ไม่ไข้ ไม่เหนือบ่ากว่าแรง ให้อยู่ในท่าที่ควบคุมสิ่งที่ทำได้เอง อย่าปล่อยให้ใครทำให้ แม้แต่แรงโน้มถ่วงของโลก
ท่านั่งตัวไหล หัว คอ ไหล่ เลียบแผละไปกับพนักพิง มีค่าเท่ากับถูกแรงโน้มถ่วงลากร่วงลงไปพึ่งพิงเก้าอี้
 

ท่ายืนเอนเลื้อยระนาบไปกับแนวกำแพง มีค่าเท่ากับ แกนร่างกายปฏิเสธการรับน้ำหนักตัวตามแนวดิ่ง ทิ้งภาระให้แก่แนวข้างฝาของสิ่งก่อสร้าง
 

ท่าเดินทอดน่องปล่อยน้ำหนักตัวโยกย้ายซ้ายขวาไปที่สะโพกทีละข้าง มีค่าเท่ากับ ไม่ใช้ความสามารถในการยึดน้ำหนักตัวไว้ที่แกนกลางหลักของร่างกาย ปล่อยให้โยกย้ายไกลศูนย์ที่มั่นคง
“อุ้มหน่อย ดึงหน่อย ทำให้หน่อย” การร้องขอแบบนี้มีค่าเท่ากับ ศิโรราบกับสภาวะการณ์ทำไม่ได้
ใครที่รู้ตัวว่าร่างกายตัวเองอยู่สภาวะเป็นผู้ถูกกระทำจากแรงโนมถ่วงของโลก พอรู้ตัวก็รีบแก้ไข ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสม เพื่อเพิ่มสภาวะที่ส่งเสริมความสามารถในการควบคุมร่างกาย ช่วยพัฒนาความมั่นใจและบุคลิกภาพให้ดีขึ้นได้

ข่าวโดยทีมข่าว M-Lite/ASTV สุดสัปดาห์

ภาพโดย พงษ์ศักดิ์ ขวัญเนตร

ขอบคุณภาพประกอบจาก facebook















กำลังโหลดความคิดเห็น