xs
xsm
sm
md
lg

'สายลับ' ศาสตร์การสอดแนม โลกจริง-โลกมายา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากจะนิยามคำว่า 'สายลับ' ใครต่อใครคงคิดถึงปฏิบัติการลับสุดยอดของจารชนผู้นิรนามหาตัวจับยาก แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ภารกิจของพวกเขาไม่ได้ลุล่วงไปได้ง่ายๆ เหมือนการปอกกล้วยเข้าปากอย่างในภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่แสนจะตื่นเต้น

เมื่อความลับแตกดังเปรี้ยง! ไม่นานมานี้เองทุกสายตาต่างจับจ้องไปยัง 'สายลับเขมร' ซึ่งลักลอบเข้าแผ่นดินไทยบริเวณ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ และถูกจับกุมเพราะหลักฐานชี้ชัดว่า พวกเขาเข้ามาเพื่อค้นหาพิกัดฐานที่ตั้งทหารไทย จึงทำให้ใครๆ ต่างใคร่รู้ถึงความเป็นสายลับ
หากย้อนมองตามประวัติศาสตร์ของโลก คงต้องบอกว่า การจารกรรมข้อมูลหรือล้วงข้อมูลของฝ่ายตรงข้ามในลักษณะนี้ถือว่าเป็นที่แพร่หลายมาอย่างยาวนาน เรียกได้ว่าเป็นขบวนการที่นำเอาข้อมูลต่างๆ มาปรับแผนยุทธศาสตร์-ยุทธวิธีของฝ่ายตนเอง โดยเฉพาะทางการทหารและความมั่นคงของประเทศ

แต่ยุคสมัยที่เปลี่ยน เทคโนโลยีก็ถูกนำมาใช้กับงานประเภทนี้ ยิ่งมีความทันสมัย สะดวกสบาย และอำนวยต่อการปฏิบัติการล้วงข้อมูลลับยิ่ง ผู้ที่รับบทบาทเป็นสายลับเอง ก็มีกรณีศึกษาจากประวัติศาสตร์ที่นำมาปรับแก้ให้ทันท่วงที คราวนี้ก็อยู่ที่ว่าการเอาตัวรอดปฏิภาณไหวพริบของเขาเองว่า เข้าถ้ำเสือแล้วจะออกมาได้อย่างไร

บางทีความลึกลับของผู้ที่ถูกเรียกว่า 'สายลับ' อาจเป็นเพียงเปลือกบางๆ ที่เมื่อกะเทาะออกมาก็พบว่าเนื้อแท้ของพวกเข้าเป็นเหมือนคนธรรมดาทั่วไป ต่างกันตรงที่ว่าอาจมีการฝึกฝนให้ช่ำชองในกลวิธีจารกรรมข้อมูล

สงครามเย็นสร้างนักจารกรรม

ย้อนกลับไปในช่วงสงครามเย็น เป็นสงครามที่เกิดจากการปะทะกันระหว่างฝ่ายสหรัฐอเมริกา (เสรีประชาธิปไตย) และ สหภาพโซเวียต (คอมมิวนิสต์) เป็นลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ช่วงปีค.ศ.1945-1991 ที่กลุ่มประเทศโลกเสรีและกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ ต่างพยายามต่อสู้โดยวิธีการต่างๆ ยกเว้นการทำสงครามกันโดยเปิดเผย เพื่อขัดขวางการขยายอำนาจของกันและกันเป็นการต่อสู้กันระหว่างกลุ่มประเทศ 2 กลุ่ม ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองและระบบการเมืองต่างกัน ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวทั้งสองฝ่ายได้แข่งขันในด้านการสะสมอาวุธ เทคโนโลยีอวกาศ การจารกรรม เศรษฐกิจ และทำสงครามผ่านสงครามตัวแทน

กระบวนการสายลับนั้นฮิตมากในระยะเวลาเกือบครึ่งศตวรรษที่สงครามเย็นดำเนินไป โดยมักถูกใช้เป็นเครื่องมือในการล้วงลับข้อมูลทางด้านความมั่นคงของประเทศ เพื่อให้รู้เท่าทันความเคลื่อนไหว เตรียมตั้งรับ และตอบโต้ได้ทัน ผศ.ดร.วิบูลย์พงศ์ พูนประสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าในช่วงสงครามเย็นถือเป็นช่วงที่ทุกฝ่ายนั้น ต่างชิงไหวชิงพริบในสงครามจิตวิทยา และการส่งสายลับสอดแนมจะได้ข้อมูลเชิงลึกเพื่อปฏิบัติการทางยุทธศาสตร์ ถือเป็นปฏิบัติการลับในช่วงสงครามเย็นที่สำคัญอย่างมาก

“มันเป็นการรักษาบรรยากาศของการเป็นสงครามเย็นไว้ คือไม่เป็นสงครามร้อน เหตุที่ไม่เป็นสงครามร้อนเพราะไม่มีการเผชิญหน้า และการทำสงครามแบบไม่เผชิญหน้าได้ก็จำเป็นต้องใช้สายลับ หรือหน่วยจารกรรมเพื่อสืบความคืบหน้า แผนนโยบายของแต่ละฝ่ายให้ทันกัน เพราะฉะนั้นอาจจะมีกรณีแบบสายลับซ้อนสายลับ (double spy) คือ เป็นสายลับของฝ่ายหนึ่ง เมื่อเข้าไปจารกรรมข้อมูลอีกฝ่ายกลับถูกจ้างให้กลับมาจารกรรมข้อมูลฝ่ายเดิมของตน”

แต่ในปัจจุบันสงครามสงบลงแล้ว เพราะฉะนั้นสายลับในลักษณะแบบสมัยสงครามเย็นคงไม่ค่อยมีในตอนนี้ ถ้าจะมีตอนนี้ก็จะเป็นสายลับที่จารกรรมข้อมูลทางด้านความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ และวิทยาศาสตร์มากกว่า เพื่อจะนำไปทำให้ประเทศของตนเกิดการพัฒนาเสียมากกว่า

สายลับในประเทศไทย

“สายลับชาติไทย ถ้าใครจะไปเป็นสายลับบุคคลผู้นั้น ไม่ว่าหญิงหรือชายจะต้องมีสภาพที่กลมกลืนอยู่กับพื้นที่ที่เขาทำงานอยู่ ตั้งแต่รูปร่างหน้าตา ท่าทาง การแต่งตัว เพื่อไม่ให้เป็นที่สงสัย จะแต่งตัวเท่ๆ มันมีแต่หนังฮอลลีวูดเท่านั้น พวกสามล้อหรือวินมอเตอร์ไซค์ก็เป็นสายลับได้ แต่เป็นสายลับชั่วคราวมันขึ้นอยู่กับการได้รับการฝึกหัดอบรมมาแค่ไหน”

น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงลักษณะสายลับในรูปแบบการปฏิบัติงานจริง เปิดเผยว่าสายลับนั้นเป็นคำเรียกของผู้ที่มีหน้าที่รวบรวมข่าวสารแล้วมาทำการสังเคราะห์เป็นข่าวกรองเพื่อดำเนินการต่อไป

“คือเราต้องเข้าใจก่อนว่า คำว่าสายลับมันเป็นคำเรียกของคนที่มีหน้าที่ของการรวบรวมข่าวสาร เราไปใช้คำว่าสายลับฟังดูมันลึกลับพิกล แต่ว่ามันก็มีความลึกลับต่างๆ ก็เพื่อความปลอดภัยเพื่อประโยชน์ในการทำงานของเขา แต่สำหรับผมคิดว่าในงานข่าวกรอง คืองานที่ต้องมีผู้ที่ทำการรวบรวมข่าวสารเพื่อเอาไปผลิตเป็นข่าวกรอง เพราะข่าวสารทั้งหมดมันเป็นเหมือนกับข้าวดิบ ซึ่งเอาไปกินไม่ได้ต้องเอาข้าวดิบไปหุงต้มเสียก่อน ฉะนั้นผู้รวบรวมข่าวสารเขาก็มีหน้าที่รวบรวมข้าวดิบมาให้ต้นสังกัดของเข้ามาผลิตเป็นข่าวกรอง เอามาข้าวดิบนั้นมาหุงเสียนั่นเอง”
ข้อมูลเหล่านั้นมีทั้งที่มาจากข่าวแบบเปิดที่ของสื่อมวลชน และข่าวแบบปิดที่ต้องใช้เทคนิควิธีการมากมาย ฉะนั้นต้องใช้การเรียนรู้ โดยเฉพาะการทำงานทางด้านข่าวกรองเป็นข่าวกรองทางทหาร

“วิธีการหาข่าวไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ เราจะปลอมตัวเข้าไป เขามีวิธีการในการจัดตั้งเอเยนต์หรือแหล่งข่าว เพื่อเป็นตัวแทนในการรวบรวมข่าวสารที่อยู่ในหน่วยงานต่างๆ สมมติผมเป็นเจ้าหน้าที่รวบรวมข่าวสารหรือเรียกว่าสายลับก็ได้ผมก็ต้องมีเอเยนต์ของผม ผมจะไม่เข้าไปดำเนินการด้วยตนเองจะใช้เอเยนต์เข้าไป ซึ่งมีทั้งการว่าจ้างคนที่เข้าออกพื้นที่ หรือหาทางเข้าถึงคนที่ทำงานในองค์กรนั้นๆ มันมีขั้นตอน มีวิธีการที่ต้องฝึกโดยเฉพาะ ต้องฝึกจากหน่วยข่าวกรองของแต่ละแห่งที่มีโรงเรียนข่าวกรอง โดยเฉพาะที่ต้องผ่านการฝึกอบรม และการปฏิบัติการจริง”

ทั้งหมดล้วนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพจริงในโลกของสายลับ ที่คนทั่วไปยากจะรับรู้ถึงเนื้องานและตัวตนของพวกเขา แต่ภาพที่คนทั่วไปจับต้องได้คงเป็นประสบการณ์เหนือจริงของสายลับที่โลดแล่นผ่านทางจอแก้ว

มายาคติบนแผ่นฟิล์ม

สายลับในภาพยนตร์ล้วนเป็นตามสูตรสำเร็จของภาพยนตร์กระแสหลัก ที่เน้นความบันเทิงเป็นหลัก ซึ่งความสมจริงก็อาจไม่ใช่องค์ประกอบที่สำคัญของภาพยนตร์ คงไม่แปลกอะไรที่สายลับซึ่งเป็นตัวละครเอก อย่าง เจมส์ บอนด์ ที่รับบทโดยพระเอกมาดหล่อคมเข้มมาหลายต่อหลายคน ยุคหลังที่โด่งดังก็มี ทอม ครูซ จากภาพยนตร์เรื่อง ‘Mission Impossible’ ในหลายต่อหลายภาค พระเอกสายลับมีสูตรที่ตายตัวคือ จะต้องหล่อ เท่ เก่งกาจ รวมทั้งมีเสน่ห์ทางเพศ ดร.ภัสสร สังข์ศรี อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า ในอดีตนั้นภาพยนตร์ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อโน้มน้าวจิตใจผู้ชมเช่นกัน

“อย่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ฮิตเลอร์ ก็ให้เลนี ไรเฟนสตัลห์ สร้างภาพยนตร์ ‘Triumph of the will’ เพื่อเป็นการโฆษณาชวนเชื่อของพรรคนาซี หากใครได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้ จะทำให้รู้สึกว่าฮิตเลอร์เป็นคนที่สง่างาม ยิ่งใหญ่ และเป็นผู้นำที่ดี ในขณะเดียวกัน ชาร์ลี แชปลิน ก็สร้างภาพยนตร์เรื่อง ‘The Grate Dictator’ เพื่อล้อเลียนภาพยนตร์ เรื่อง ‘Triumph of the will’ โดยเฉพาะภาพของฮิตเลอร์ กลายเป็นตัวตลก ตัวเล็กๆ ซึ่งแสดงโดยเขาเอง และภาพยนตร์ของชาร์ลี แชปลิน จะมีการเผยแพร่ทั่วโลกทำให้คนทั่วไป มักคิดว่า ฮิตเลอร์ เป็นคนตัวเล็กตามแบบชาร์ลี แชปลิน”

ด้าน สรัญวุฒิ ศรีวารีกุล ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่รับรู้บทบาทหน้าที่ของสายลับผ่านทางจอเงิน เขามองว่าจริงๆ แล้วสายลับก็คงคนธรรมดาทั่วไปที่คนอื่นไม่รู้หรอกว่าจริงๆ แล้วคุณกำลังทำอะไรอยู่ ส่วนภารกิจนั้นก็แล้วแต่ที่จะได้รับมอบหมายมา

“พวกสายลับในหนังอย่างซีไอเอ (CIA - Central Intelligence Agencies / หน่วยสืบราชการลับกลางแห่งสหรัฐอเมริกา) หรือเคจีบี (KGB - Komitet Gosudarstvennoi Bezopasnost'i / คณะกรรมาธิการเพื่อความมั่นคงแห่งรัฐของสหภาพโซเวียต) ก็เก่งเกินไปนะ ผมว่าสายลับจริงๆ ไม่ใช่ยอดคนเหมือนอย่างที่ในหนังแสดง โดนยิงได้ ตายได้ บางทีแค่รถคว่ำก็ตายได้แล้ว ไม่ใช่รถระเบิดแล้ววิ่งฝ่ากองไฟออกมาได้แบบในหนัง”

แต่ถ้าพูดถึงสายลับประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง สรัญวุฒิก็บอกว่า นึกไม่ออกว่าจะออกมารูปแบบไหนเพราะไม่เคยคิดมาก่อน อาจจะเป็นแบบพวกตำรวจนอกเครื่องแบบ แต่นั่นก็ยังดูไม่เหมือนสายลับของพวกเมืองนอกที่ทำงานด้านการข่าวอย่างจริงจัง
..........

แม้จะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัยสายลับก็ยังคงต้องปฏิบัติภารกิจอำพรางกันต่อไป ทั้งในโลกความเป็นจริงและโลกภาพยนตร์ ซึ่งเทคโนโลยีในปัจจุบันก็น่าจะเอื้อยุทธวิธีจารกรรมข้อมูลของพวกเขาให้เหนือชั้นขึ้นไปอีก บางทีสายลับคงไม่ต่างจากสื่อมวลชนที่นำข้อเท็จจริงมาแพร่ต่อมวลชน เพียงแต่ก้าวพวกเขาเข้าสู่ความอันตรายที่มีมากกว่าสื่อฯ และล้วงข้อมูลเชิงลึกได้อย่างประชิดตัวโดยที่ทุกอย่างยังเป็นความลับ...
 


ล้อมกรอบ
สุดยอดองค์กรลับระดับโลก

MOSSAD - The Institute for Intelligence and Special Operations - หน่วยปฏิบัติการลับต่อต้านการก่อการร้ายของอิสราเอลที่ดีที่สุดของโลก โดยหลักการของมอสซาจนั้น ก็คือการทำงานแบบเด็ดขาดและหมดจดเรียบร้อย โดยไม่มีใครโดนลูกหลง ซึ่งผลงานที่โดดเด่นของหน่วยนี้ก็คือ การลอบสังหารนั่นเอง

MI6 - Military Intelligence,Sectipn 6 - หน่วยสืบราชการลับเพื่อความมั่นคงในและนอกราชอาณาจักรของประเทศอังกฤษ ซึ่งนอกจากจะมีบทบาทโลดแล่นอยู่ในโลกจริงแล้ว ในโลกของภาพยนตร์ ก็เป็นที่รู้จักไม่แพ้กัน เพราะสายลับชื่อดังจากเมืองผู้ดีอย่างเจมส์ บอนด์ ก็สังกัดอยู่ที่หน่วยงานนี้

CIA - Central Intelligence Agencies - หน่วยสืบราชการลับที่มีผลต่อความมั่นคง ของประเทศสหรัฐอเมริกา ในโลกจริง พวกเขาทำงานด้านข่าวกรองเป็นหลัก ส่วนในโลกภาพยนตร์ CIA มักจะมีภาพของนักบู๊ติดมาอยู่พอๆ กับการทำงานด้านข่าว หรือไม่ก็มีบทบาทกลายเป็นผู้ร้ายของเรื่องไปเสียเอง

KGB - Komitet Gosudarstvennoi Bezopasnost'i - คณะกรรมาธิการเพื่อความมั่นคง องค์กรข่าวกรองแบบรวมศูนย์ แห่งรัฐของสหภาพโซเวียต ว่ากันว่า สายลับในโลกของคอมมิวนิสต์ล้วนแต่ผ่านหลักสูตรของ KGB มาแทบทั้งสิ้น แต่เมื่อม่านเหล็กทลายลง โลกคอมมิวนิสต์ล่มสลาย KGB เก่าทั้งหลายก็ขายข้อมูลลับที่อยู่ในมือให้กับคนที่ต้องการซื้อ ทำให้เกิดการตามล้างตามเช็ดครั้งมโหฬารในหมู่สายลับด้วยกันเอง 

สำหรับประเทศอื่นๆ ในโลกก็ล้วนมีหน่วยสืบราชการลับของตนเองทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นDGSE ของประเทศฝรั่งเศส หน่วยBUN ของเยอรมัน, ISI ของประเทศโปรตุเกส, RAW ของประเทศอินเดีย และหน่วย KCIA ของประเทศเกาหลีที่ว่ากันว่ามีประสิทธิภาพในอันดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเชีย
>>>>>>>>>>


……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK

กำลังโหลดความคิดเห็น