สัตว์เลี้ยงแสนแปลก แห่งทวีปแอฟริกา กระต่ายป่า “สปริงแฮร์” หลายคนอาจยังไม่คุ้นเคยกับชื่อนี้ ปัจจุบันกำลังเข้ามาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้นิยมชมชอบสัตว์แปลกที่เลี้ยงง่ายและแสนเชื่อง ทีมงาน M-Pet เห็นถึงความพิเศษในตัวสปริงแฮร์ จึงต้องขอความรู้จากกูรูผู้นำเข้าและเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงน่ารักตัวนี้ คนในวงการต่างรู้จักและเรียกเขาว่า “โอ๊ต” เจ้าของร้าน Mini Zoo Cafe' ผู้เลี้ยงสัตว์แปลกหายากหลากหลายชนิดเพื่อให้ลูกค้าเฉพาะกลุ่มได้เลือกซื้อ
สปริงแฮร์ สัตว์เลี้ยงตระกูลฟันแทะ หน้าตาละม้ายคล้ายกระต่าย ขนสีน้ำตาลอมส้ม ดวงตากลมโตสีดำสนิท สามารถกระโดดได้ไกลหลายเมตรด้วยขาอันทรงพลังทั้งสองข้าง ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะตัวของสัตว์เลี้ยงประเภทนี้ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของกลุ่มคนเลี้ยงรุ่นใหม่ต่างหมายตา เพื่อจับจองและอยากเป็นเจ้าของสปริงแฮร์สัตว์น่าเลี้ยงสายพันธุ์นี้กันแล้ว
เจ้าของร้าน Mini Zoo Cafe' ได้เริ่มทำความรู้จักกับเจ้าสปริงแฮร์โดยการนำเข้ามาเพื่อขาย สัตว์ทุกชนิดที่นำเข้ามาเขามองในมุมตัวเองว่า “คนที่คิดแบบเราน่าจะมี คือเป็นคนชอบสัตว์แปลกและไม่มีให้เห็นทั่วไป ซึ่งเขาอยากเลี้ยงแต่ว่าไม่มีโอกาสหรือไม่รู้จะไปหาซื้อที่ไหน เมื่อเรามีโอกาสนำเข้าได้ จึงอยากนำเข้ามาเลี้ยงด้วยส่วนหนึ่งและก็แบ่งปันให้กับคนที่ชอบเหมือนกันกับเราส่วนหนึ่ง”
กระต่ายป่า “สปริงแฮร์”
สปริงแฮร์ มาจากคำว่าSpring หมายถึงการกระโดดแบบเด้งๆ และ Hare คือกระต่ายป่า ดังนั้น Spring Hare จึงหมายความถึง กระต่ายป่าที่มีลักษณะการกระโดดแบบเด้งๆ จึงมีลักษณะคล้ายกระต่ายทั่วไป แต่มีหางยาวเป็นพุ่มทำให้รูปร่างเหมือนจิงโจ้มาก
สปริงแฮร์เป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ตามทุ่งหญ้าสะวันนา ทางตอนใต้และทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา ประเทศซูดาน บางครั้งอาจอยู่ในพื้นที่โล่งหรือมีหญ้าแห้งขึ้นแซมเป็นกระจุกเพื่อให้เหมาะแก่การกระโดดของมัน เนื่องจากลักษณะการกระโดดของสปริงแฮร์เป็นการก้าวกระโดดไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการเดินเหมือนสัตว์ประเภทอื่นๆ แม้การขยับเพียงเล็กน้อยก็ตาม ดังนั้นสปริงแฮร์จึงไม่อาศัยอยู่ในป่าทึบ เพราะไม่เหมาะต่อการกระโดดของมันนั่นเอง
การกระโดดจึงเป็นลักษณะพิเศษของสปริงแฮร์ เนื่องจากสัตว์ประเภทนี้ไม่สามารถเดินก้าวเท้าแบบสัตว์ทั่วไปได้ จึงต้องใช้ขาสองข้างในการกระโดด ดังนั้นการกระโดดแบบสปริงจึงเป็นลักษณะเฉพาะและเป็นที่มาของชื่อที่เรียกกันว่า สปริงแฮร์
สปริงแฮร์สามารถกระโดดได้สูงเป็นเมตร โดยเฉพาะเวลาตกใจ ด้วยแรงสปริงของขาสร้างมาเพื่อใช้สำหรับการกระโดดโดยเฉพาะ ซึ่งการกระโดดเพียงครั้งเดียวสามารถไปได้ไกลถึง 3 เมตรเลยทีเดียว
“อาวุธในการป้องกันตัวของเขาคือขา โดยใช้กระโดดหนีและดีดเพื่อป้องกันศัตรู เวลาเราจับเขา เขาจะดีดด้วยขาเจ็บเหมือนกันนะ แต่ว่าเป็นสัตว์ที่กัดไม่เป็น มีฟันไว้เพื่อแทะอย่างเดียว ฉะนั้นเขาจะกัดคนไม่ได้และกัดสัตว์ไม่เป็น”
แต่ก่อนสปริงแฮร์เป็นศัตรูอันร้ายกาจของชาวบ้านในประเทศซูดาน เนื่องจากชอบเข้าไปทำลายกัดกินพืชผลที่เกษตรกรปลูกไว้ ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด หัวมันสำปะลัง มันเทศ ฯลฯ รัฐบาลจึงกำหนดฤดูกาลล่า เพื่อลดจำนวนลง จนถึงทุกวันนี้สปริงแฮร์เริ่มน้อยลงกว่าแต่ก่อนมาก และอนาคตอาจเกิดการสูญพันธุ์ได้ ดังนั้นรัฐบาลประเทศซูดานจึงสั่งห้ามล่าสปริงแฮร์ ปัจจุบันจึงไม่มีการล่าสัตว์ชนิดนี้แล้ว เพื่อปล่อยให้มันเพิ่มจำนวนขึ้นเองตามธรรมชาติ
“สปริงแฮร์จะหลบนอนอยู่ในรูใต้พื้นดิน ซึ่งจัดแบ่งห้องอย่างเป็นสัดส่วน อย่างเช่น ห้องน้ำ ห้องเลี้ยงลูก ห้องเก็บอาหาร ห้องนอน คือจะแบ่งเหมือนเป็นบ้านคนเลย และยังมีรูหนีอีกด้วย”
ลักษณะและพฤติกรรม
สปริงแฮร์มีลักษณะนิสัยคล้ายกับกระต่ายทั่วไป สำหรับคนที่เคยเลี้ยงกระต่ายแล้วจึงไม่ยากที่จะเลี้ยงสปริงแฮร์ เพราะนอกจากลักษณะนิสัยบางอย่างจะเหมือนกันแล้ว พฤติกรรมการหากินของเจ้าตัวนี้ยังกินง่าย อยู่ง่าย เอาเป็นว่าถอดแบบจากกระต่ายมาเลยทีเดียว
“มันเป็นสัตว์ที่เข้ากับคนได้ ไม่ก้าวร้าว ไม่ขี้ตกใจด้วย เขาจะกินง่ายอยู่ง่าย จะเลี้ยงปล่อยหรือเลี้ยงขังในกรงก็ได้ กินอาหารประเภท หัวมัน มันเทศ มันสำปะหลัง มันแกว และเมล็ดพืชต่างๆ ซึ่งหาง่ายในเมืองไทย ไม่ต้องไปซื้ออาหารเม็ดสำเร็จรูป อะไรก็ได้ที่เป็นพืชซึ่งขึ้นอยู่ใต้ดินเขาจะชอบกินมาก ดังนั้นถ้าอยู่ตามธรรมชาติ ลักษณะพื้นดินร่วนๆ จึงเหมาะแก่การขุดหาอาหาร เขาจะขุดด้วยมือที่มีเล็บยาวๆ หากสังเกตเราจะเห็นอุ้งเท้าหน้าสั้น เหมาะสำหรับขุดดินและจับอาหารโดยเฉพาะ”
อาหารสำหรับสปริงแฮร์มีหลายอย่าง เช่น เมล็ดพืช ทานตะวัน คะน้า แครอท ฯลฯ จริงๆ แล้วสามารถกินอาหารกระต่ายสำเร็จรูปได้ แต่ด้วยความที่เป็นสัตว์นำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งปกติแล้วมันจะหากินอาหารที่อยู่ตามธรรมชาติ ฉะนั้นสปริงแฮร์จะคุ้นเคยกับการกินผลไม้ พืชผักสดๆ มากกว่า ดังนั้นเมื่อนำมาเลี้ยงในไทยจึงต้องปรับเรื่องการกินอาหาร โดยเฉพาะเรื่องของเวลาให้อาหาร เนื่องจากสปริงแฮร์เป็นสัตว์หากินกลางคืน
“เขาจะหากิน 2 เวลา คือ ช่วงเช้าที่เขาออกมาตากแดดประมาณ 06.00 น. - 10.00 น.เป็นช่วงที่แดดแรงไม่มาก และช่วงกลางวันเขาจะหลบแดด แล้วมาหากินอีกทีช่วงหัวค่ำเมื่ออากาศเย็นลง และเข้านอนเวลาประมาณ 22.00 น. - 24.00 น. จึงไม่ได้หากินตลอดทั้งคืน”
เนื่องจากสปริงแฮร์เป็นสัตว์หากินตอนกลางคืน ส่วนตอนกลางวันจะใช้เวลาเพื่อนอนหลับ เวลานอนจะขดตัวกลมๆ นั่นคือท่าเตรียมพร้อมหลับ และหากหลับไปจริงๆ จะอยู่ในท่านอนหงายท้อง ลักษณะสัตว์ที่หากินเวลากลางคืนเราสามารถสังเกตได้จากดวงตาที่มีขนาดใหญ่เพราะว่าตอนกลางคืนไม่มีแสงสว่าง ฉะนั้นเขาจะมีดวงตาดำกลมโตเพื่อใช้สำหรับหากินในช่วงหัวค่ำจนถึงประมาณเที่ยงคืน ในตอนกลางวันตาของสัตว์ประเภทนี้จะสู้แสงไม่ค่อยได้ จึงต้องอาศัยอยู่ในโพรงมืดๆ เพื่อนอนหลับ
“ข้อดีสำหรับสัตว์ที่หากินในตอนกลางคืน คือสภาพอากาศที่ไม่ร้อน เพราะจริงๆ ในธรรมชาติที่เขาอยู่มันร้อนมาก การที่มันจะไปขุดหัวเผือก หัวมัน กลางแดดจึงค่อนข้างลำบาก และอีกอย่างหนึ่งในเวลากลางคืนจะมีนักล่าค่อนข้างน้อย เช่น เสือ ไฮยีนา พวกนี้จะหลับตอนกลางคืน ดังนั้นจึงลดอัตราการเสี่ยงที่จะโดนกินได้เยอะ”
การผสมพันธุ์และข้อควรระวัง
สปริงแฮร์ไม่ใช่ทั้งกระต่ายและหนู แต่เป็นสายพันธุ์เฉพาะที่เรียกว่าสปริงแฮร์ เขาจะออกลูกคล้ายๆ ชินชิลา คือออกมาก็สามารถวิ่งได้เลย ผู้เลี้ยงจึงควรศึกษาพฤติกรรมของสปริงแฮร์ก่อนเพื่อเป็นความรู้ในการเลี้ยงต่อไป
ช่วงเวลาในการผสมพันธุ์ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับสปริงแฮร์ คืออยู่ในช่วงอายุ 8 เดือน ถึง 1 ปี มีระยะเวลาตั้งท้องประมาณ 3 เดือน จะออกลูกได้ครั้งละ 1 ตัวเท่านั้น และลูกที่ออกมาสามารถลืมตาได้ทันที ใช้เวลาหย่านมไม่เกิน 2 เดือน เมื่อโตเต็มวัยแล้วจะมีน้ำหนักเฉลี่ย 3-5 กิโลกรัม อายุขัยประมาณ 8-10 ปี ถือได้ว่าอายุมากที่สุดในสัตว์กลุ่มตระกูลหนู ฟันแทะ
จะเห็นได้ว่าสปริงแฮร์ใช้ระยะเวลาตั้งท้องนานเพราะอวัยวะสามารถเจริญเติบโตอยู่ในท้องได้อย่างสมบูรณ์ มีฟันครบ เล็บครบ และตาลืมได้ทันทีเมื่อคลอด ฉะนั้นเมื่อออกมาจึงมีครบสมบูรณ์หมดทุกอย่าง ครั้นโตเต็มที่สีขนจะออกเป็นสีน้ำตาลแก่อมส้มและมีสีเดียวตามธรรมชาติ
สิ่งที่ควรระวังในการเลี้ยงคือ เรื่องอาหารการกิน เนื่องจากสปริงแฮร์เป็นสัตว์ที่สามารถเลี้ยงด้วยผลไม้ได้แต่ถ้ากินในปริมาณมากเกินไปหรือผลไม้ที่มีน้ำเยอะก็จะทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ ทั้งนี้จึงขึ้นอยู่กับผู้เลี้ยงที่ต้องระวังเรื่องอาหารอย่างมาก รวมถึงลักษณะของสถานที่เลี้ยงโดยเฉพาะผู้ที่เลี้ยงอยู่ในกรง ควรระวังเรื่องขาติดกรง เพราะถ้าเกิดขาหักจะทำให้ส่งผลกระทบต่อการกินอาหารของสัตว์ได้เช่นกัน
“ผลไม้ที่มีน้ำเยอะเกินไปจะทำให้สัตว์เกิดท้องเสียได้ จำพวกแตงโม ส้ม ฯลฯ จึงไม่ควรใช้เลี้ยงสปริงแฮร์ และก็ต้องระวังเรื่องขา เนื่องจากสปริงแฮร์ใช้ขาในการกระโดด ดังนั้นขาเขาจะไม่มีนิ้วแต่จะมีเล็บยื่นออกมาเป็นลักษณะของกีบเท้า เพราะฉะนั้นถ้าเลี้ยงในกรงต้องระวังเรื่องขาติดซี่กรง พอพวกนี้ขาหักแล้วมันจะเริ่มไม่หาอาหารกิน เริ่มโทรม เริ่มนอนอยู่เฉยๆ สุดท้ายจึงเป็นภาระของผู้เลี้ยงที่ต้องมานั่งป้อนอาหาร ซึ่งสัตว์พวกนี้ถ้าป่วยแล้วค่อนข้างป้อนลำบาก”
“นอกจากนี้ต้องระวังเรื่องอาหารประเภทเนื้อสัตว์ สัตว์พวกนี้เขาจะกินโปรตีนไม่ได้ เนื่องจากระบบร่างกายไม่สามารถย่อยได้ ดังนั้นโปรตีนที่เขากินมากที่สุดก็คือมูลของพวกหมาป่า เสือ สิงโต เขาก็จะเอาแคลเซียม เอาโปรตีนที่ได้รับการย่อยแล้วครั้งหนึ่ง พอเขากินเข้าไปก็จะเกิดการย่อยซ้ำ ย่อยกระดูก ขน เนื้อ เพื่อให้ได้โปรตีนในระดับที่เขาสามารถนำไปใช้ได้”
โรคภัยสำหรับสปริงแฮร์จึงเกิดจาก 2 ปัจจัยนี้เป็นหลัก ผู้เลี้ยงจึงควรศึกษาให้ดีก่อนการเลี้ยง เพราะเมื่อเกิดโรคขึ้นแล้ว กระบวนการรักษาจึงเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยาก หายช้า เนื่องจากได้ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมด้านอื่นๆ ของสัตว์ด้วย โดยเฉพาะพฤติกรรมการกินอาหาร อาจทำให้เกิดอาการไม่อยากกินอาหาร จนกระทั่งไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติและสุดท้ายเกิดการสูญเสียขึ้นได้
นำเข้าเพื่อขาย
สปริงแฮร์เป็นสัตว์นำเข้าประเภทนอนไซเตท คือสามารถนำเข้าได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยต้องยื่นเสียภาษีการนำเข้าสัตว์เลี้ยงตามที่รัฐบาลได้กำหนดไว้
ขณะนี้ร้าน Mini Zoo Cafe' ได้นำเข้าสปริงแฮร์มาทั้งหมด 15 ตัว ซึ่งมีทั้งตัวผู้และตัวเมีย แต่ยังไม่มีการเพาะพันธุ์เนื่องจากสัตว์มีขนาดเล็กจึงยังไม่พร้อมต่อการผสมพันธุ์ “ตอนนี้เราก็ขายไปแล้ว 6 ตัว 3 คู่ ลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะซื้อกันไปเป็นคู่ผู้เมีย เนื่องจากว่าคนที่ซื้อไปนอกจากเลี้ยงเล่นแล้วเขาก็อยากขยายพันธุ์ของเขา ความภูมิใจของคนที่เลี้ยงสัตว์พวกนี้ก็คือได้เห็นลูกตัวเล็กๆ ที่เกิดมา ไม่ว่าจะเป็นเลี้ยงหมา เลี้ยงแมวก็คงอยากเห็นลูกๆ ของมันเหมือนกันว่าสามารถขยายพันธุ์ต่อไปได้แล้ว ถ้าขยายพันธุ์ได้เขาก็ถือว่าสัตว์ที่เขาเลี้ยงนั้นประสบความสำเร็จแล้ว”
“สมัยก่อนที่มีคนนำเข้ามาก็กระจายไปอยู่คนละตัวสองตัว มันยังไม่มีข้อมูลเยอะในการเลี้ยงและการเพาะพันธุ์ แต่หลังๆ ที่นำเข้ามาก็พยายามจะขยายพันธุ์ให้ได้ เพราะว่าในแง่ของคนเลี้ยงเขาอยากได้ตัวเล็กๆ เลี้ยง เพราะมันน่ารักและเชื่องกว่า เราก็พยายามขยายพันธุ์ให้เยอะขึ้นเพื่อที่จะไม่ต้องนำเข้ามา เพราะการนำเข้ามาในแต่ละครั้งมันเสี่ยงต่อการเสียหายและอาจได้ตัวที่ไม่สมบูรณ์"
“กลุ่มลูกค้าก็จะเป็นกลุ่มคนชอบเลี้ยงสัตว์แปลก หรือคนที่ชอบสะสมสัตว์เลี้ยงแปลกๆ ซึ่งหายากและไม่ค่อยมีขายทั่วไป ถ้าลูกค้าอยากเลี้ยงก็จะซื้อไป ส่วนอีกกลุ่มก็มองถึงความน่ารักของสัตว์ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มของนักศึกษาที่เลี้ยงเพื่อขยายพันธุ์เอง อยู่ในกลุ่มฐานะปานกลาง และมีกำลังทรัพย์พอสมควรที่อยากเลี้ยงสัตว์แปลกแหวกแนวไปจากสัตว์เลี้ยงเดิมๆ ที่เคยมีอยู่แล้ว ซึ่งราคาขายอยู่ที่ตัวละ 20,000 บาท ถ้าซื้อคู่หนึ่งคิดราคา 35,000 บาท ราคานั้นขึ้นอยู่กับลักษณะนิสัยของสัตว์ ยิ่งเชื่องง่ายราคาก็ยิ่งสูงขึ้น”
คนเลี้ยงสปริงแฮร์จะเป็นลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ซึ่งอาจเคยเลี้ยงกระต่ายหรือหนูมาก่อน จะเห็นว่าสปริงแฮร์หนึ่งตัวมีราคาเท่ากับกระต่ายพันธุ์ดีที่นำเข้าจากต่างประเทศ และมีราคาถึง 30,000 - 40,000 บาท “ผมเห็นว่ากระต่ายนำเข้ามันแพงเหมือนกัน ถ้าเป็นเรามีเงินอยู่ 50,000 บาท ผมคงไม่ซื้อกระต่าย เพราะกระต่ายมันก็เห็นๆ อยู่ทั่วไป ผมคงนำมาซื้อสัตว์เลี้ยงพวกนี้ดีกว่า ตอนนั้นเราคิดแบบนี้ก็เลยนำเข้ามาขายดู จริงๆ แล้วสัตว์พวกนี้มีเข้ามาหลายปีแล้ว แต่ยังมีไม่เยอะในเมืองไทย”
ตอนนี้สปริงแฮร์จึงครองใจสำหรับคนชอบเลี้ยงสัตว์แปลกในไทย ซึ่งร้าน Mini Zoo Cafe' มีขายเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น และมีทุกขนาด ตั้งแต่เล็ก-ใหญ่ ขึ้นอยู่กับการนำเข้ามาได้ ส่วนใหญ่แล้วก็จะมีอายุระหว่าง 6 เดือน - 2 ปี
ถ้าใครสนใจเลี้ยงเจ้ากระต่ายป่า “สปริงแฮร์” สามารถติดต่อหรือขอคำปรึกษาได้ที่ร้าน Mini Zoo Cafe' โซน D ซอย 7 โทร. 08-1567-4299 หรือทางอีเมล oatmix@hotmail.com
ช่วงชีวิต เฉลี่ย8 - 10 ปี
น้ำหนักโตเต็มวัย 3 - 5 กิโลกรัม
ขนาด 35 - 43 เซนติเมตร
วัยเจริญพันธุ์ 8 - 12 เดือน
ระยะตั้งท้อง 3 เดือน
ขนาดครอก 1 ตัว
อายุหย่านม 1.5 - 2 เดือน
**********************************************************
ข่าวโดยทีมข่าว M-Lite/ASTV สุดสัปดาห์
ภาพโดย พลภัทร วรรณดี