คงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจอะไร ที่ใครจะแชร์ภาพถ่ายของตนเองและเพื่อนๆ บนอินเทอร์เน็ตผ่านเว็บไซต์เครือข่ายทางสังคม อย่างพวกเฟซบุ๊ก ทวิตเทอร์ ฯลฯ และภาพถ่ายเหล่านั้นโดยมากก็จะเป็นภาพที่เจ้าของภาพคิดว่าตนเองดูดี หรือไม่ก็เป็นภาพที่เก็บช่วงเวลาแห่งความประทับใจเอาไว้
แต่ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ภาพถ่ายที่แชร์กันบนอินเทอร์เน็ตในอิริยาบถตัวนอนคว่ำและทำตัวแข็งเป็นท่อนไม้ กลับกลายเป็นที่นิยม และแพร่หลายไปทั่วในโลกไซเบอร์สเปซ
โดยกิจกรรมยอดฮิตอันนี้ มีชื่อเรียกที่รู้จักกันทั่วไปว่า การทำ ‘แพลงกิ้ง’ (Planking)
แน่นอน หลายๆ คนก็คงจะไม่เข้าใจว่า การนอนคว่ำทำตัวแข็งและถ่ายรูปมาโพสต์บนอินเทอร์เน็ตนั้น...สนุกตรงไหน หรือทำไปเพื่ออะไร
ดังนั้น จะเดินทางเข้าไปสำรวจโลกของการแพลงกิ้งกัน ในหลากหลายมิติและมุมมอง
มันคืออะไร...ดูดูไปแล้วยังไม่เข้าใจ?
คำว่าแพลง (Plank) นั้น จริงๆ มันแปลว่าแผ่นกระดาน ดังนั้นก็พอจะอนุมานได้ว่าการทำแพลงกิ้ง (Planking) ก็คือการทำตัวให้เป็นแผ่นกระดานนั่นเอง ซึ่งถ้าจะพูดถึงลักษณะโดยรวมของการทำแพลงกิ้งที่ได้รับการยอมรับและนิยมในหมู่ประชากรชาวเน็ตนั้น ก็จะมีกติกาอยู่ว่า เพียงแค่นอนคว่ำลงไป มือและแขนจะต้องแนบชิดติดลำตัว จากนั้นก็ถ่ายรูปและเอาไปโพสต์บนอินเทอร์เน็ตก็เป็นอันเสร็จพิธี
อันที่จริง การแพลงกิ้งนั้น เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2540 แล้ว โดยตอนนั้นมันมีชื่อเรียกว่า 'Lying Down game' ซึ่งเป็นผลผลิตความพิเรนทร์ของ เกรย์ คลาสสัน และ คริสเตียน แลงดอน สองหนุ่มที่อาศัยอยู่ในอังกฤษ และมันก็ได้รับความนิยมในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอังกฤษ ก่อนที่จะกลายเป็นที่นิยมไปทั่วไป จากการเล่นแบบนี้นั้นก็ลามไปทั่วโลก อย่างในเกาหลีใต้ก็เรียกการละเล่นนี้ว่า การเล่นแกล้งตาย ที่ฝรั่งเศสก็เรียกว่า à plat ventre, ในอเมริกาเรียกว่า facedowns ส่วน คำว่าแพลงกิ้งนั้น เป็นคำเรียกที่ใช้ในออสเตรเลีย ซึ่งมันฮิตมากเสียจนทำให้ที่อื่นๆ ในโลกที่เพิ่งรู้จักการละเล่นแบบนี้ ใช้คำว่า แพลงกิ้ง แทนที่จะเรียกว่าอย่างอื่น
การละเล่นแบบนี้นั้น ถึงแม้มันจะเริ่มจากการนอนคว่ำหน้าและถ่ายรูปมาโพสต์บนอินเทอร์เน็ตเฉยๆ แต่ปัจจุบันรูปแบบของมันก็ได้พัฒนาเข้าไปใกล้กับกีฬาเอ๊กซ์สตรีมมากขึ้นเรื่อยๆ กล่าวคือ ในการนอนคว่ำนั้น ถ้าได้ไปนอนในที่ที่ไม่ควรนอนมากเท่าไหร่ ก็นับว่าเป็นการแพลงกิ้งที่เจ๋งมากขึ้นเท่านั้น จนบางครั้ง มันก็ก่อให้เกิดอันตรายแก่คนที่กระทำการแพลงกิ้งเอง อย่างเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2554 ที่ผ่านมา หนุ่มชาวออสเตรเลียวัย 20 ปีคนหนึ่ง ก็เพิ่งตกลงมาจากระเบียงชั้น 7 จนเสียชีวิต เหตุเพราะเขาพยายามปีนขึ้นไปแพลงกิ้งนั่นเอง
เท่าที่เห็น ในบ้านเรา ก็มีหลายคนที่พยายามจะแพลงกิ้งแบบเสี่ยงอันตรายอยู่ไม่น้อย
รู้ว่ามันมาจากไหน แต่ไม่รู้ใครเอามันเข้ามา
สำหรับโลกยุคไซเบอร์ มันคงไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าหากว่าแฟชั่นที่ได้รับความนิยมอย่างมากในอีกมุมโลกหนึ่ง จะเดินทางมาถึงอีกมุมโลกหนึ่งในชั่วข้ามคืน
พิชชภา กาเตชะ ผู้ก่อตั้งเว็บเฟซดาวน์ (Facedown.in.th) ซึ่งเป็นเว็บไซต์แห่งแรกๆ ของไทยที่เปิดพื้นที่ให้คนทั่วไปอัปโหลดภาพถ่ายการแพลงกิ้งมาแชร์กัน ซึ่งพิชชภาบอกว่า เธอเริ่มรู้จักการแพลงกิ้งจากเว็บไซต์ของต่างประเทศนั่นเอง และรู้สึกว่ามันทั้งเจ๋งทั้งน่าสนใจ
“ดูแล้วก็อยากลองทำบ้าง ตอนแรกก็เริ่มถ่ายกันเองและโพสต์ลงเฟซบุ๊กก่อน”
เมื่อเห็นว่าในประเทศไทยยังไม่มีเว็บที่ทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ และตัวของพิชชาเองก็พอมีความรู้ด้านเกี่ยวกับการเขียนเว็บฯ อยู่บ้าง เลยทำเป็นเว็บไซต์ขึ้นมา ตอนแรกไม่ค่อยได้รับความนิยม แต่ต่อมามันก็กลายเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ลองทำกัน ส่วนการที่จะบอกให้ชัดว่า ใครเป็นคนนำเข้ามาคนแรกนั้น คงยาก เพราะมันเป็นกระแสที่ก่อตัวมากจากโซเชียลเน็ตเวิร์ก
“ตอนแรกที่ทำเว็บฯ ยังไม่มีใครส่งรูปเข้ามา ก็จะมีคนรู้จักเราเองส่งมาเล่นด้วย ตอนนี้มันฮิตมากก็จริง แต่จะว่าไปมันก็เหมือนกับกระแสแต่งตัวเกาหลีนั่นแหละ ที่เราเห็นเขาทำก็อยากทำบ้าง เอาซะหน่อย แต่พอสมใจแล้วก็เลิก”
ซึ่งหากถามว่าเราชอบการแพลงกิ้งตรงไหน หรือว่ามันเป็นศิลปะ? พิชชภาตอบว่า มันไม่ใช่ศิลปะหรอก มันก็แค่คนคนหนึ่งไปทำท่าแปลกๆ ในที่ใดที่หนึ่งก็เท่านั้น แต่ที่ชอบก็ตรงที่ไอเดีย
“ชอบความกล้าของเขา รู้สึกว่ากล้าไปนอนตรงนั้นได้ยังไง นอนแล้วถ่ายรูปด้วย เพราะบางที่มันไม่ใช่ที่ที่คนจะไปนอนคว่ำหน้าอยู่ตรงนั้น”
แต่กระนั้น นักแพลงกิ้งมืออาชีพอย่างพิชชภา ก็ยังยอมรับว่าการกระทำที่ว่า บางครั้ง มันก็ก้ำกึ่งระหว่างความสนุกสนานและความไร้สาระ
“บางคนเขาอาจจะมองว่าตรงนี้มัน ไร้สาระ อันตราย บางทีก็บอกว่ามันเกะกะขวางทางชาวบ้าน เราก็อยากให้คนที่จะนอนถ่ายรูปนั้นพิจารณาก่อน ดูว่าไปนอนขวางทางเขาหรือเปล่า ส่วนคนอื่นจะมองว่า สิ่งนี้ดีหรือไม่นั้นมันก็ขึ้นอยู่กับการมองของแต่ละคนว่าคิดยังไง เพราะคนที่ส่งรูปถ่ายเข้ามาส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนที่อยู่ในระดับอายุที่มากแล้ว โตพอที่จะรู้ว่าตรงไหนอันตรายหรือไม่อันตราย ดังนั้นก่อนทำจึงควรดูให้ดีก่อน”
แล้วแพลงกิ้งไปเพื่ออะไร?
การทำแพลงกิ้งในที่สาธารณะ อาจจะถือเป็นเรื่องธรรมดาของประชากรชาวเน็ต แต่ในสายตาของคนที่ไม่ได้อินไปกับมัน การแพลงกิ้งคงเป็นเรื่องที่น่างงงวยไม่น้อย ว่าจะทำไปเพื่ออะไร หรือทำไปให้มันได้อะไรขึ้นมา
และกับบางคนก็สงสัยเสียจนอยากจะลองทำดูบ้าง
สุทธาวดี เนติมานนท์ พนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง ก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยเธอกล่าวถึงกระแสแพลงกิ้งว่า ส่วนตัวคิดว่าเฉยๆ ไม่ได้รู้สึกอะไร อาจเป็นเพราะ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้วในต่างประเทศ แต่ครั้งแรกที่ได้รับรู้เกี่ยวกับกระแสนี้ก็รู้สึกแปลกๆ และสงสัยว่าทำไปเพื่ออะไร แต่ตอนนี้เริ่มรู้สึกอยากทำบ้างแล้ว เพราะเห็นกระแสคนอื่นทำกันเยอะขึ้น
“ครั้งแรกที่ได้รู้เกี่ยวกับแพลงกิ้งของต่างประเทศที่ทำกันมาก่อนรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่แปลก คิดว่าเขาทำไปเพื่ออะไร แต่พอนานๆ เข้าเริ่มรู้สึกเฉยๆ แต่พอกระแสมันเริ่มเยอะขึ้น เราก็อยากทำบ้างนะ ซึ่งถ้าถามว่าความแปลกของแพลงกิ้งอยู่ที่ตรงไหน น่าจะเป็นการคิดเรื่องของอุปกรณ์ต่างๆ ที่นำมาประกอบการถ่าย และสถานที่ถ่าย เพราะต้องคิดว่าจะไปทำท่านี้แล้วถ่ายที่ไหนดี”
ส่วนคนที่ลองทำแพลงกิ้ง เท่าที่สอบถามมา มักจะเริ่มทำเพราะเห็นว่ามันคือ แฟชั่น โดยตอนที่ทำก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไรกันแน่
“ก็เห็นเขาทำก็เลยลองทำดู ตลกดี ไม่มีอะไรหรอก จะเรียกว่าตามกระแสก็ว่าได้ แต่ไม่ได้ไปไกลถึงขั้นที่ว่าต้องทำแบบผาดโผนหรือไปทำกลางถนนแต่อย่างใด”
นันทนัท เถรพันธุ์ พนักงานออฟฟิศสาว ซึ่งถือเป็นมือใหม่หัดแพลงกิ้ง เล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นของเธอ
”ทำไปแล้วก็สนุกดี เอารูปไปโพสต์ เจ้านายเรามาเห็นก็เอารูปเราไปโพสต์ต่อ จากนั้นก็มีคนมาคอมเมนท์ บางคนเขาไม่เคยเห็นก็เข้ามาถามกันว่ามันคืออะไร มีคนทำตามด้วยนะ แล้วเขาก็โพสต์และแทกเรามา บอกว่าไปทำตามมาแล้วนะ
“ตอนก่อนทำ ก็ไม่รู้หรอกว่าเขาทำไปเพื่ออะไร ทำเสร็จแล้วก็ไม่รู้อยู่ดี (หัวเราะ) ที่ได้มาก็เป็นเรื่องของความสนุกและการพูดคุยกันบนสังคมออนไลน์เท่านั้น คือในกลุ่มเพื่อนยังไม่มีใครรู้ถึงกระแสนี้ แต่พอเรารู้ก็ทำเลย ประมาณว่าอินเทรนด์ก่อนเพื่อนๆ เรา”
ชอบโชว์ ชอบแชร์ พฤติกรรมสามัญของคนในโลกสมัยใหม่
แม้สุดท้ายแล้ว คนที่ประกอบการแพลงกิ้งเอง ก็ยังคงตอบไม่ได้ว่าทำไปเพื่ออะไร แต่ข้อสังเกตหนึ่ง ที่มีต่อวัฒนธรรมการแพลงกิ้งก็คือ มันอาจจะเป็นเพียงความต้องการในการโชว์ให้คนอื่นๆ เห็นว่าฉันยังมีตัวตนอยู่เท่านั้น โดยที่ไม่มีความหมายใดๆ ที่ซับซ้อนไปกว่านั้น
วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ นักเขียนผู้คร่ำหวอดในวงการโซเซียลเน็ตเวิร์ก กล่าวว่า อินเทอร์เน็ตกลายเป็นช่องทางที่เอื้อต่อกิจกรรมประเภทการแชร์และโชว์ ซึ่งที่ผ่านมามันไม่ได้มีเพียง Planking เท่านั้น แต่มันยังเคยมีอีกหลายกิจกรรมที่ได้รับความนิยมแล้วก็สูญหายไป อาทิ Happy slapping (การถ่ายคลิปวิดีโอการตบหน้ากัน แล้วโพสต์ลงยูทูบ)
“จริงๆ แล้วมันคือการแชร์และการโชว์ ในโลกยุคโซเซียลมีเดีย ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทุกคนต่างมีสื่ออยู่ในมือ ทุกคนก็สามารถเผยแพร่ภาพ หรือคลิป บทความ ความเห็น หรืออะไรก็ได้ในโซเซียลมีเดีย แพลงกิ้งเนี่ย เขาก็สามารถโชว์การแพลงก์ได้ ยิ่งเทคโนโลยีเปลี่ยน ยิ่งสื่อเปลี่ยน รูปแบบการใช้งานเปลี่ยน มันจะยิ่งทำให้คนเราต้องการแชร์ และต้องการโชว์ออฟมากขึ้นไปเรื่อยๆ
“ผมเชื่อว่าเมื่อมาถึงยุคสมัยที่มีอินเทอร์เน็ต มีโทรศัพท์มือถือ มีกล้อง มันก็ยิ่งกระตุ้นให้เราทำในสิ่งที่เป็นรูปแบบเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ ทุกอย่างมันเหมือนกับเป็นการพยายามพาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์ที่แปลกใหม่ หรือคาดหวังว่าคนอื่นเขาจะต้องชอบ เสร็จแล้วเราก็แชร์มันเท่านั้นเอง มันเหมือนเป็นปรากฏการณ์ เหมือนแฟชั่นที่จะมีช่วงที่มันคูล พอผ่านไปเรื่อยๆ มันก็จะเน่าไป”
แต่หากมีหน่วยงานออกโรงมาประกาศต่อต้าน มันก็จะกลายเป็นการปลุกกระแสให้คนหันสนใจยิ่งขึ้น วุฒิชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า วัฒนธรรมของโลกไซเบอร์นั้นอำนวยต่อกิจกรรมประเภทการแชร์-การโชว์ ซึ่งไม่นานมันก็จะเลิกฮิตจะหายไปเอง
“สมมติว่ามีกระทรวงวัฒนธรรมมาบอกว่ามันไม่ดี หรือมีกรมศาสนาออกมาด่าว่าห้ามทำมันก็จะยิ่งคูลมาขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าความคูลมันคือการต่อด้านกระแสไง ถ้ากระแสหลักมองว่า มันไม่ดี Pแพลงกิ้งก็จะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าทุกคนก็จะอยากทำสิ่งที่ไม่ดี เพราะว่าทุกคนจะรู้สึกว่าเมื่อทำสิ่งที่ไม่ดีแล้วเอามาเผยแพร่อย่างนี้แล้วมันสนุก”
..........
สุดท้ายเรื่องราวของการแพลงกิ้ง ก็เป็นเพียงแค่แฟชั่นบนโลกไซเบอร์ ที่ไม่มีเหตุผลที่ชัดเจนมาอธิบาย หากแต่มันกลับได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง นั่นก็เป็นเพราะมันคือหนึ่งในช่องทางที่คนทั่วไปสามารถใช้ในการสำแดงตัว ตนและประกาศให้โลกรู้ว่าฉันยังอยู่เท่านั้นเอง
และถึงแม้ว่าการแพลงกิ้งก็คงจะเหมือนกับแฟชั่นอื่นๆ ที่ต้องสูญสลายไปตามกาลเวลา แต่กระนั้น ก็เชื่อได้เลยว่า ในอนาคตมันจะต้องมีกิจกรรมรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเป็นตัวตายตัวแทนแน่นนอน ตราบใดที่มนุษย์ยังคงต้องการการยอมรับ และต้องการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในสังคม.
>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK