xs
xsm
sm
md
lg

'อัตลักษณ์' เพศที่ 3 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ว่ากันว่า ประเทศไทยคือประเทศที่มีเสรีภาพเกี่ยวกับเรื่องเพศมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เห็นได้จากแหล่งท่องเที่ยวที่ว่าเป็นศูนย์รวมของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่เมื่อมาพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว แม้สังคมไทยในปัจจุบันจะให้การยอมรับถึงการมีอยู่ของบุคคลเหล่านี้มากขึ้น ตลอดจนไม่ได้แสดงท่าทางรังเกียจเดียดฉันท์เหมือนเมื่อยุค 30-40 ปีก่อน แต่มาย้อนดูถึงการยอมรับตามสถานภาพการมีอยู่อย่างเป็นทางการหรือตามกฎหมายแล้ว กลับไม่เคยเกิดขึ้นได้จริงแม้แต่ครั้งเดียว แม้จะมีข้อเรียกร้อง และเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นมากมายขนาดไหนก็ตาม

จากเรื่องที่ทับถมอยู่ในใจมาเนิ่นนานนี้เองได้นำมาสู่ข้อเรียกร้องจากกลุ่มเพศที่ 3 เกี่ยวกับเรื่องสิทธิเสรีภาพที่ควรจะได้รับ โดยเฉพาะประเด็นของสถานภาพที่พวกเขาต้องการให้ความชัดเจนทางตัวบทกฎหมายเสียที

นี่คือปัญหาของ 'คนไม่เข้าพวก'

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุผลหนึ่งที่กลุ่มเหล่านี้ ต้องการยอมรับในเรื่องกฎหมายให้มากกว่านี้ ก็คือ การขาดแคลนสิทธิเสรีภาพที่จะดำเนินชีวิตไปได้อย่างปกติ แน่นอนว่าตัวอย่างที่แสดงว่าขั้นต้น แท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงน้ำจิ้มเล็กๆ น้อยๆ ที่กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศต้องเผชิญเท่านั้น อย่าง ณิชากร ทับพุ่ม ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายโฆษณา บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง สาวประเภทสองหรือกะเทยที่ได้ผ่านการผ่าตัดแปลงเพศมาแล้ว ที่เล่าถึงสภาพชีวิตของกะเทยคนหนึ่งว่า แม้ทุกวันนี้คนจะเข้าใจและยอมรับมากขึ้น แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ยังมองว่า พวกเธอเป็นกลุ่มที่แตกต่างจากปกติอยู่ดี

“ต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้เหมือนมีคนมองเราว่าไม่ได้แตกต่างมากยิ่งขึ้น แต่มันก็ยังไม่เต็มร้อยอยู่ บางที่ก็ยังจำกัดสิทธิ์ เหมือนว่ากะเทยยังไม่ถูกยอมรับ”

ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด ก็คือการสมัครงาน ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาอย่างมาก เพราะมีอาชีพหลายอย่างที่รับเฉพาะคนที่มีเพศสภาพต่างกับเพศที่แท้จริงเท่านั้น เช่น อาชีพข้าราชการ หรือแม้แต่การประกอบธุรกรรมหลายๆ อย่างก็ไม่สามารถทำได้ เพราะข้อจำกัดเรื่องเพศสภาพ

“มีหลายๆ เรื่องเลยที่เราถูกจำกัดขอบเขต ไม่สามารถทำได้ เช่น สมมติว่าเราจะซื้อบ้าน เรามีแฟน ก็อยากกู้ร่วมกับแฟน ก็ทำไม่ได้ อยากจะรับเลี้ยงเด็กเป็นบุตรบุญธรรมก็ทำไม่ได้”

แน่นอนว่า เรื่องเหล่านี้ได้กลายภาพสะท้อนที่สำคัญซึงแสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมของคุณค่าความเป็นมนุษย์ในสังคมไทย ซึ่งในทัศนะของ ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ ผู้ประสานงานกลุ่มสะพานแล้ว ถือว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่มากสำหรับพวกเธอ เพราะมันคืออคติที่ฝังรากลึกมานานนับพันๆ ปี และยากที่จะเยียวยา ไม่ว่าจะเป็นการดูถูกเหยียดหยามว่าเป็นโรคจิต รวมไปถึงค่านิยมดั้งเดิมที่มองว่า ผู้หญิงกับผู้ชายนั้นเป็นของคู่กันเท่านั้น หากใครมองแตกต่างไป ก็จะถูกตีตราว่าเป็นพวกผิดธรรมชาติ เพราะฉะนั้นทางออกทางกฎหมายจึงเป็นหนที่ดีที่สุดที่น่าจะนำไปสู่ข้อยุติได้

“ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศควรได้รับสิทธิ์ทางกฎหมายตามที่เขาต้องการ เช่น กะเทยก็ต้องการคำนำหน้าชื่อ เพราะมันมีความจำเป็นต่อชีวิตและความรู้สึกของเขาที่อยากเป็นผู้หญิงแบบสมบูรณ์ ส่วนกลุ่มหญิงรักหญิง หรือชายรักชาย เขาก็สนใจในเรื่องกฎหมายการแต่งงาน ซึ่งมันมีความจำเป็นต่อการทำนิติกรรมต่างๆ ทางกฎหมายของเขาอย่างสมบูรณ์”

หลากมุมมองของความจำเป็น

เมื่อข้อเรียกร้องออกมาเช่นนี้ คำถามที่ตามมาก็คือ จะแก้ไขปัญหากันอย่างไรกันดี

แน่นอนว่า สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ จะทำอย่างไรถึงจะฝ่าวิกฤตสังคมที่มีคนทั้งเห็นด้วยและต่อต้าน เพราะต้องยอมรับความจริงว่า ถึงอย่างไรเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และคนอีกไม่น้อยก็รับเรื่องนี้ไม่ได้ อย่างเช่นข้อคิดเห็นของ จันทวิภา อภิสุข ประธานมูลนิธิส่งเสริมโอกาสผู้หญิง (เอ็มพาวเวอร์) ที่มองว่า ถึงตอนนี้ก็ยังไม่เห็นความจำเป็นที่เมืองไทยต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับเพศที่ 3

“โดยประเพณีแล้วคนก็ยอมรับกันว่าเกิดมาต้องมี 2 เพศ เป็นธรรมชาติของทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้ มีกลางวันมีกลางคืน มีเพศหญิงเพศชาย ธรรมชาติของโลกเราเป็นแบบนี้ ทีนี้เมื่อเราปรุงแต่งธรรมชาติแก้ไขธรรมชาติ เราอยากจะเปลี่ยนมันก็เปลี่ยนได้ แต่ถ้าไปออกกฎหมายหรือไปรับรองกันอย่างสมบูรณ์แล้ว คนส่วนใหญ่ยังมีปัญหาอยู่นะ สมมติในทางสังคมทั่วไป คนที่แปลงเพศ...ไม่ใช่ทุกคนแปลงมาแล้วจะได้เป็นเพศอีกเพศหนึ่งอย่างสมบูรณ์แบบ แต่วันหนึ่งถ้าอยากจะกลับไปเป็นเพศเดิม อย่างเป็นนางสาวอยู่พักหนึ่งกลับรู้สึกไม่ดีแล้ว เพราะว่าหน้าตาหรือรูปร่างไม่ได้แสดงออกถึงความสมบูรณ์ที่จะเปลี่ยนไปอีกเพศหนึ่ง ถ้าเปลี่ยนสลับไปมาระหว่างนายกับนางสาวจะได้หรือเปล่า เพราะว่าเรายังไม่ผ่านกระบวนการที่มันสมบูรณ์แบบ กระบวนการที่จะให้คนคิดที่จะตัดสินใจจริงๆ ที่จะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ของเขาไปอีกเพศหนึ่งมันได้สมบูรณ์แบบหรือยัง”

เพราะฉะนั้นการทำความเข้าใจให้ตรงกันจึงเป็นเรื่องที่ โตมร ศุขปรีชา บรรณาธิการนิตยสารจีเอ็ม ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องเพศ บอกว่าสำคัญ แม้ต่อจะให้ใช้เวลานานขนาดไหนก็ตาม เพราะต้องยอมรับว่า เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังถูกกำกับด้วยวัฒนธรรมและอะไรอีกหลายอย่าง ตัวอย่างในสหรัฐอเมริกาก็ไม่ใช่ว่าทุกรัฐจะทำได้ ต้องมีการพัฒนาอยู่เรื่อยๆ

“พัฒนาการของสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นเส้นตรง อย่างในแคลิฟอร์เนียเอง ก็มีการต่อต้านเรื่องเหล่านี้อยู่ ถึงแม้ว่ารัฐนี้จะเป็นรัฐที่ก้าวหน้าที่สุดของอเมริกาก็ตาม ทุกที่ก็มีแรงต้านกันอยู่ทั้งนั้น เรื่องเพศเป็นเรื่องที่ซับซ้อน คือมันไม่ได้หมายถึงการร่วมเพศอย่างเดียว แต่มันยังรวมถึงการแต่งตัว การสมาทานตัวเองเข้าไปอยู่ในกรอบของเพศต่างๆ ด้วยการแสดงออก และกิริยาท่าทาง มันมากเสียจนเราไม่สามารถจะแบ่งได้ด้วยซ้ำ

“สังคมไทยเป็นสังคมชนชั้น ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเพศเพียงอย่างเดียว คือเรายอมรับการกำกับจากคนอื่นค่อนข้างง่าย ตามลำดับชั้นของอำนาจ ดังนั้นในเรื่องเพศเราค่อนข้างจะยอม แต่เรื่องเพศเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวตนของเราโดยตรง มันจึงเป็นเรื่องแรกๆ ที่คนจะลุกขึ้นมาทำเพื่อตนเอง”

อย่างไรก็ตาม นพ.แท้จริง ศิริพานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กลับมีมุมมองที่แตกต่างออกไป โดยเขาชี้ให้เห็นว่า การทำกฎหมายนี้ถือเป็นจำเป็นและต้องทำอย่างเร่งด่วน เพราะบุคคลเพศที่ 3 ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการถูกละเมิดในรูปแบบต่างๆ ประกอบกับตามรัฐธรรมนูญได้ระบุเอาไว้ว่า ไม่ว่าผู้นั้นอยู่ในฐานะของเพศใดๆ ก็ตาม ก็ต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย รวมถึงสิทธิ และเสรีภาพขั้นพื้นฐานด้านอื่นๆ ที่มนุษย์ควรจะได้รับ

"จากปัญหาของกลุ่มคนเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยขาดความรู้ความเข้าในในเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศหรือสภาวะทางเพศ ผู้ที่เกิดมาแล้วมีสิทธิที่จะเลือกเป็นเพศใดก็ได้ และมีสิทธิที่จะใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไปได้อย่างเท่าเทียมกัน ปัญหาพวกเขาถูกละเลยและขาดองค์กรภาครัฐที่จะเข้ามาสนับสนุนอย่างจริงจัง เพราะฉะนั้นการผลักดันให้เกิดกฎหมายเกี่ยวเพศที่ 3 ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับสังคมไทย

“ขณะนี้ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เร่งให้มีการรวบรวมกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศกลุ่มต่างๆ มาถกประเด็นที่สำคัญต่างๆ และอาจจะมีการจัดตั้งเป็นสมาพันธ์หรือองค์กร ทั้งนี้เพื่อให้เป็นตัวกลางและเป็นพลังในการขับเคลื่อนให้เกิดกฎหมายเหล่านี้ขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม”

เรื่องนี้ต้องทำเร่งด่วน

นอกจากเรื่องการทำความเข้าใจแล้ว อีกเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กัน ก็คือเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะอย่างที่อธิบายมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าเพศที่ 3 นั้นมีเสี่ยงต่อการถูกละเมิดและความไม่เท่าเทียม เพราะฉะนั้นเรื่องสำคัญต้องถูกหยิบยกมาสนทนา ก็คือหากมีการร่างกฎหมายออกมาจริงก็คือ เรื่องอะไรบ้างที่ถือเป็นปัญหา

ซึ่งประเด็นหนึ่งที่ถูกยกเข้ามาพูดอยู่บ่อยที่สุดก็คือ 'คำนำหน้าชื่อ' ที่พวกเขาควรมีเลือกจะใช้ได้เพศสภาพที่เป็นอยู่ เพราะอย่างที่ฉันทลักษณ์ได้บอกเอาไว้ว่า เรื่องนี้เกี่ยวกับสภาพจิตใจของบุคคลผู้นั้นโดยตรง ฉะนั้นก็ควรจะเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะเลือกได้ โดยอาจจะมีการกำหนดลงไปก็ได้ว่า สาวประเภทสองที่ผ่าตัดแปลงเพศเรียบร้อยแล้ว สามารถใช้คำว่านางสาวได้เพื่อประกอบอาชีพและดำเนินชีวิตได้ในสังคมได้อย่างผู้หญิงทั่วไป

“เรื่องของการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ ถือเป็นเรื่องของสิทธิในการนิยามตัวเองว่าตนเองเป็นอะไร ไอย่างนั้น เราก็ต้องนั่งรอนิยามจากรัฐ หรือนิยามจากสังคม ว่าคุณมีเพศแบบนี้ ก็ต้องมีคำนำหน้าชื่อแบบนี้แบบนั้น คนบางคนที่พยายามเป็นผู้หญิงมากๆ เขาพยายามมากกว่าผู้หญิงหลายๆ คนด้วยซ้ำ ถ้าเขามีความพยายามขนาดนั้น ก็ควรจะยกให้เขาก็ได้นะ” โตมรอธิบายเสริม

อีกเรื่องหนึ่งที่ถูกพูดถึงไม่แพ้กันก็คือ เรื่องสิทธิการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน ซึ่ง นพ.แท้จริงบอกว่า จริงแล้วๆ กฎหมายไม่จำเป็นต้องระบุด้วยซ้ำว่าจะต้องเป็นชายกับหญิงเท่านั้น เพราะนี่คือเสรีภาพที่ทุกคนควรจะได้รับ

“การที่เรากำหนดให้มีกฎหมายการแต่งงานของเพศที่ 3 เนื่องจากกรณีที่เมื่อคู่สมรสของเพศที่ 3 เสียชีวิตลง สิทธิของคู่สมรสคือการได้รับมรดกจากการคู่สมรสของตน แต่ในทางปฎิบัติ เพศที่ 3 ไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์สินเหล่านี้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายมารองรับ ทำให้ทรัพย์สินตกเป็นของทายาทผู้สืบสกุล”

อย่างไรก็ดี ประเด็นทั้ง 2 เรื่องนี้ก็ถือว่า เป็นเรื่องของสภาพจิตใจ และสะท้อนถึงความเป็นอัตลักษณ์เป็นหลักเท่านั้น ยังไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพเท่าใดนัก เพราะฉะนั้นกฎหมายที่ออกมานั้นจึงจะต้องมีเนื้อหาที่ให้สิทธิที่เน้นเรื่องความเสมอภาคเป็นสำคัญเพื่อที่พวกเขาจะได้มีจะดำรงชีวิตตามอัตลักษณ์ของตัวเองอย่างสมภาคภูมิ ทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา การสาธารณสุข การสื่อสารมวลชน ประเพณี วัฒนธรรม ตลอดจนการเข้าถึงบริการต่างๆ ของรัฐอย่างเท่าเทียมกัน

ความวุ่นวายของเรื่องหลากเพศ

แต่ทั้งนี้ ก็ใช่ว่า เรื่องทั้งหมดนี้จะทำได้ง่ายๆ เพราะต้องยอมรับว่า การจะแก้ไขอะไรสักอย่างในบ้านเมือง ก็ย่อมจะส่งผลกระทบบ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งในเรื่องนี้ รศ.ดร.อภิรัตน์ เพ็ชรศิริ คณบดีสำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้ให้ความเห็นไว้ หากเป็นกรณีของปัญหาเรื่องการถูกลิดลอนสิทธิ เช่น การรับบุตรบุญธรรม หรือสวัสดิการต่างๆ นั้นไม่น่าจะเป็นส่งผลกระทบอะไรตามมา เพราะประเด็นพวกนั้นคือสิทธิขั้นพื้นฐานที่พลเมืองควรได้รับอย่างเท่าเทียมกัน

โดยเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากไปกว่านั้น คือการระบุถึงเพศ และคำนำหน้าชื่อ ซึ่งอาจจะสร้างความวุ่นวายให้แก่อนาคตได้ เพราะเรื่องเพศนั้นเป็นเรื่องของธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องสังคมหรือสภาพจิตใจ เพราะฉะนั้นหากเกิดความเปลี่ยนแปลงในประเด็นนี้ขึ้นมาจริง ก็คงเกิดความสับสนวุ่นวายขึ้นมาในสังคมอย่างแน่นอน

“ผมคิดว่าเรื่องเพศมันถูกกำหนดตอนเมื่อเกิด เป็นเรื่องทางแพทย์ คุณจะเป็นชายหรือหญิง แพทย์เขากำหนด เป็นลักษณะทางกายภาพ ไม่ใช่กฎหมายกำหนด หรือสังคมกำหนด เขาไม่ได้สนใจว่าจิตใจจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นต่อมาหากคุณไปแปลงเพศ มันก็ไม่ได้หมายความคุณจะไปแก้ตอนเกิดได้

“ดังนั้น หากมีการเปลี่ยนเรื่องนี้จริง ก็จะเกิดผลกระทบทางกฎหมายค่อนข้างเยอะ เพราะตอนที่เราทำกฎหมาย เราเชื่อว่ามีเพศแค่สองเท่านั้น แต่ถ้าต้องทำใหม่ขึ้นมา กฎหมายทั้งหลายต้องปรับหมด เอาง่ายๆ เช่นคำว่าชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน มันจะหมายรวมไปถึงคนอื่นที่ไม่ใช่ชายหรือหญิงหรือเปล่า”

เพราะฉะนั้น ทางออกที่น่าจะเป็นไปได้ของเรื่องนี้ ก็คือการแก้ไขปัญหาเฉพาะจุดไป จุดไหนที่รู้สึกว่า เป็นปัญหาก็แก้ไขเฉพาะเรื่องนั้นๆ ไป โดยไม่ไปยุ่งกับสิ่งที่ธรรมชาติเป็นผู้กำหนดมา เพราะนั่นคือสภาพความเป็นจริงที่ทุกคนต้องยอมรับ
……….

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกวันนี้กลุ่มคนที่มีหลากหลายทางเพศนั้นกลายเป็นเรื่องที่ปกติ และปะปนอยู่ในทุกวงการของสังคมไทย แต่การที่เราไม่มีแม้แต่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบุคคลเหล่านี้ บางครั้งก็อาจจะสร้างความรู้สึกว่าเรากำลังมองข้ามการมีอยู่ของพวกเขาหรือไม่

แน่นอนว่า เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับแค่ว่า บุคคลผู้นั้นจะเป็นอะไรเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นเรื่อง 'ศักดิ์ศรี' ในฐานะของความเป็น 'มนุษย์' ค้ำคออยู่อีกด้วย เพราะฉะนั้นการสร้างความชัดเจนนี้ให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับสถานภาพของบุคคล จึงเป็นความท้าทายที่สังคมไทยจะต้องเผชิญหน้าและต้องไปให้ถึง เพื่อให้ผ่านพ้นการถูกจำกัดด้วยกรอบของค่านิยมเดิมๆ นั่นเอง
>>>>>>>>>>
………
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK




กำลังโหลดความคิดเห็น