xs
xsm
sm
md
lg

พิราบไทยในกรง เสรีภาพสื่อที่ถดถอยในสายตานานาชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 ในความรู้สึกของคนทั่วไป คำว่า 'สื่อมวลชน' นั้นเป็นถ้อยคำที่อยู่เคียงข้างกับคำว่า 'เสรีภาพ' เสมอมา

เพราะไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใด บทบาทของสื่อมวลชนก็คือ การนำเสนอความจริงอย่างไม่เกรงกลัวหน้าอินทร์หน้าพรหม อีกทั้งยังเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เกิดสังคมที่มีความยุติธรรมและเท่าเทียม

ซึ่งทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นในสังคมที่เรียกตัวเองว่าสังคมประชาธิปไตย

ย้อนไปเมื่อปี 2543 ประเทศไทยกับฟิลิปปินส์ เป็นเพียง 2 ประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของประเทศที่สื่อมวลชนมีเสรีภาพเต็มที่ (จัดอันดับโดยองค์กรฟรีดอมเฮาส์ ที่ทำงานด้านการประเมินเสรีภาพของสื่อ) แต่พอมาในปี 2553 ประเทศไทยกลับถูกลดชั้นลงเป็นเพียงประเทศในกลุ่มกึ่งเสรี แต่ก็ยังดี เพราะประเทศที่มีอาณาบริเวณติดกับเราอย่างลาว พม่า เขมร มาเลเซีย ล้วนถูกจัดอยู่ในกลุ่มไม่มีเสรีภาพทั้งสิ้น

สำหรับปี 2554 นี้ ประเทศไทยกลับถูกลดอันดับจัดไว้ในกลุ่มของประเทศที่ไม่มีเสรีภาพสื่อ เหมือนกับประเทศเพื่อนบ้านเสียอย่างนั้น นั่นชี้ให้เห็นว่าตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเสรีภาพของสื่อในเมืองไทยรังแต่จะถดถอยลง

ทว่ามันเป็นเช่นนั้นจริงๆ หรือ?
 
 ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนจัด

รศ.ดร.วิทยากร เชียงกูล คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นเกี่ยวกับการจัดอันดับสื่อของกลุ่มฟรีดอมเฮาส์ว่า โดยส่วนตัวแล้วไม่ทราบว่า ทางองค์กรนั้นมีวิธีอันดับอย่างไร และใช้อะไรเป็นตัวตัดสินใจ ซึ่งหากให้สันนิษฐานก็คงเป็นเพราะชาติตะวันตกนั้นมีวิธีมองปัญหาที่แตกต่างกับประเทศไทย เช่น มองว่าเมืองไทยมีการทำรัฐประหาร หรือมองว่ามีปัญหาเข้มงวดเกี่ยวกับคดีพระบรมเดชานุภาพ เวลาจัดอันดับก็เลยได้ต่ำ

"ผมว่าเรื่องนี้อาจจะเกี่ยวกับความเข้าใจที่แตกต่างกัน คือไม่รู้ว่าเขาคะแนนยังไง หรือว่าสัมภาษณ์ใคร เพราะให้คำว่าเสรีภาพมันเป็นเชิงเปรียบเทียบ มันวัดยาก ไปเปรียบเทียบกับอะไรล่ะ ถ้าเป็นสมัยก่อนเปรียบเทียบกับเผด็จการ ก็ไม่เลวร้าย หรือเปรียบเทียบกับพม่าหรือเขมร เราก็ดีกว่า แต่ถ้ามองในยุค 10 ปีหลัง ยุคคุณทักษิณ (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) ก็จะใช้สื่อเพื่อการเมืองเยอะ มีการพยายามเล่นงานบ้าง ฟ้องบ้าง ไม่ให้สปอนเซอร์บ้าง เป็นการบีบทางอ้อมแต่ยังไม่เหมือนยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มีการปิดสื่อ ยังไม่ถึงขั้นนั้น ขณะที่ยุคนี้ก็ถือว่ามีการบีบคั้นน้อยลงอีก แต่อาจจะมีช่วงหลังที่มีเสียงเรียกร้องเกี่ยวกับเว็บฯ หมิ่นบ้าง ซึ่งในมุมของตะวันตก ก็อาจจะมองว่านี่เป็นการปิดกั้นเสรีภาพ"
 

ซึ่งเมื่อเทียบกับสื่อตะวันตกแล้ว ต้องยอมรับว่าไทยอาจจะยังไม่เสรีแบบนั้น ขณะเดียวกันคุณภาพการเรียนรู้ของประชาชนของที่นั่นก็มีมากกว่าประชาชนไทย ดังนั้นโอกาสการปิดสื่อจะไม่เกิดขึ้น เพราะประชาชนจะดูแลกันเอง หากสื่อไหน ไม่รับผิดชอบ คนก็จะไม่อุดหนุน แต่ทั้งนี้ การให้สิทธิเสรีภาพภาพก็ต้องมาควบคู่กับความรับผิดชอบ ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า สื่อบางทีก็มีเสรีภาพมากเกินไปจนมองข้ามสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ดังนั้นจึงต้องเป็นหน้าที่ของสมาคมสื่อต่างๆ ที่ต้องเข้ามาควบคุมดูแลกันเองให้มากขึ้น
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดคุยถึงทิศทางในอนาคตของสื่อไทยว่าจะเป็นเช่นใด รศ.ดร.วิทยากร ก็กล่าวว่า

“น่าจะอยู่ในขั้นที่พอใช้ได้ เพราะสื่อทุกวันนี้ไม่ได้มีเพียงแค่หนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์อีกแล้ว แต่ยังมีสื่ออินเทอร์เน็ตที่ค่อนข้างแพร่หลายง่ายกว่า ดังนั้นการควบคุมการสื่อสารนั้นคงทำไม่ได้เหมือนสมัยก่อน แต่ก็มีข้อที่ต้องพึงระวังอยู่อย่างว่า เมื่อมันเผยแพร่ง่าย ผู้ที่มีอำนาจทางการเมืองหรือทางเงินทุนก็จะสามารถใช้สื่อเป็นเครื่องมือได้มากขึ้น”

คล้ายกับมุมมองของ เสด็จ บุนนา อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่มองว่าเสรีภาพของการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในปัจจุบันนั้นยังมีอยู่เช่นเดิม แต่สิ่งที่ลดลงนั้นคือ จรรยาบรรณของสื่อมวลชน

“ขณะนี้สื่อมวลชนค่อนข้างจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในสถานการณ์ทางด้านการเมืองและสังคม ปัญหาจริงๆ ก็คือสื่อมวลชนจะต้องมีความรับผิดชอบในหน้าที่การงานให้มากขึ้น สื่อมวลชนยังมีเสรีภาพอยู่ ยังไม่มีใครสามารถมาลิดรอนสิทธิเสรีภาพของเราได้”
แต่ทั้งนี้การใช้เสรีภาพของสื่อ ณ วันนี้จะต้องดูว่ามันอยู่ขอบเขตมากน้อยแค่ไหน ต้องรับผิดชอบต่อสังคมมากน้อยเพียงใด

“ส่วนของหนังสือพิมพ์นั้นยังไม่ใครมาแทรกแซง อย่าง ASTVผู้จัดการผมก็เข้าใจว่าเป็นแนวอย่างนี้ มติชน ข่าวสดเป็นแนวแบบนี้ หรือแม้แต่ไทยเรดนิวส์ก็จะเป็นแนวของเขาไป สิ่งสำคัญมันมองได้ว่านี่คืออิสระในการทำสื่อ ตราบใดที่มันไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง ผมยังมองว่าเป็นเสรีภาพที่สื่อยังมีอยู่เต็มเปี่ยม แต่ถ้ามันเป็นการเสนอที่ขัดจรรยาบรรณจริงๆ ก็ต้องมีบทลงโทษ อย่างการปิดตัวลงไปของไทยเรดนิวส์ที่เนื้อหาปลุกระดมให้เกิดความขัดแย้ง”
  
ประสบการณ์ของคนทำสื่อ

ในเรื่องของเสรีภาพสื่อในมุมมองของคนทำงานเองนั้น นวรัฐ พรวนสุข บรรณาธิการข่าวการเมืองหนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน ที่ทำหน้าที่สื่อมวลชนมานานกว่า 27 ปี อธิบายว่า หากเปรียบเทียบอดีตกับปัจจุบันแล้ว ตอนนี้ถือว่าสื่อมวลชนมีเสรีภาพ 100 เปอร์เซ็นต์ ภายใต้กฎหมาย เพราะหากเมื่อย้อนกลับไปเมื่อครั้งเขามาทำหน้าที่ใหม่ๆ ในปี 2526 นั้น ในรัฐบาลของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งถือว่าเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ เป็นรัฐบาลทหาร ซึ่งทหารเป็นอำนาจหนึ่งที่ค้ำจุนรัฐบาล หากใครเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล รัฐบาลก็จะมีแอ็กชันทันที
 
“บางครั้งแอ็กชันก็มาถึงสำนักพิมพ์ ทุบแท่นพิมพ์ ในกรณีที่มีแท่นพิมพ์ มาใช้โซ่คล้องไม่ให้พิมพ์ได้ แสดงอำนาจข่มขู่ มีการจับกุมสื่อ ยัดข้อหาคอมมิวนิสต์ ให้ฝั่งที่อยู่ตรงข้าม คอยแฉและเปิดโปงรัฐบาล ถึงขั้นเอาชีวิตก็มี”

เมื่อมาถึงปัจจุบันการข่มขู่บังคับสื่อไม่ให้เปิดโปงผู้มีอำนาจหรือคนในรัฐบาล ก็มีให้เห็นบ้าง แต่น้อยมาก อย่างกรณีที่กลุ่มคนเสื้อแดงไปล้อมตึกเนชั่น
 
“ตอนนี้เสรีภาพสื่อมีเต็มร้อย ทุกสื่อมีการแสดงความเห็นอย่างอิสระเสรี เว้นแต่ว่าเรื่องนั้นผิดกฎหมาย อันเป็นอุดมการณ์ของชาติ ตามพระราชบัญญัติ 112 คือเรื่องเกี่ยวกับการดูหมิ่นจาบจ้วงสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นกฎหมายอาญาที่ได้กำหนดมาไว้ตั้งนาน ท่านอยู่เหนือความขัดแย้ง และไม่เกี่ยวการเมือง ไม่มีใครที่จะสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ และสื่อก็รับรู้ตรงนี้ดี สื่อก็ไม่ทำกัน”

แต่หากว่าหลังๆ มีประเด็นทางการเมืองมากขึ้น มีการจาบจ้วงเพิ่มขึ้น คุกคามไปทุกสื่อ เปิดเผยอย่างชัดเจน

โดยเฉพาะสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งนี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลออก พรบ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ด้วย ทำให้ฟรีดอมเฮาส์ จำกัดว่าประเทศไทยเป็นมีเสรีภาพสื่อน้อยลง
 
“ฟรีดอมเฮาส์ใช้เกณฑ์ในการวัดที่ไม่เป็นธรรมนะ สำหรับสังคมไทย เราว่ามีเสรีภาพพอสมควร แต่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบทางกฎหมาย อย่างเมืองนอกกฎหมายแพ่งรุนแรง คุณจะเขียนถึงใครที่เป็นเรื่องส่วนตัวและเป็นผลลบต่อคนนั้น ให้เขาเสื่อมเสียก็จะถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนมาก สื่อก็จะระวังเรื่องนี้เอง บ้านเราไม่เหมือนเขาอย่างหนึ่งก็คือ มีโทษทางอาญาคือมีโทษการจำคุก แต่ที่อื่นเขาลงโทษทางเศรษฐกิจ คือชดใช้ค่าเสียหายอย่างเดียว แต่ก็นับว่ามีเสรีภาพเท่ากัน

ซึ่งความเห็นของนักข่าวรุ่นใหม่ถอดด้ามอย่าง ชนิกานต์ พุ่มหิร์ญ ก็มองไปในทางเดียวกัน
 

“โพลที่ออกมาจัดอันดับให้ประเทศเราไม่มีเสรีภาพนั้น เราไม่รู้ว่าเขาวัดจากอะไร แล้วทำไมเราได้คะแนนมากกว่ากัมพูชาคะแนนเดียว ถ้าหากว่าวัดจากโลกโซเชียล เน็ตเวิร์ก แน่นอนที่เราจะต้องตกอยู่อันดับท้ายๆ อาจเพราะเรามีกฎหมายคุ้มครองเยอะแยะมากเกี่ยวกับสื่ออินเทอร์เน็ต คือเราไม่รู้ขั้นตอนที่เขาวัดว่าวัดจากสิ่งไหน เราเลยตอบไม่ได้ว่ามันไม่มีเสรีภาพจริงไหม"
 
 
เซ็นเซอร์ตัวเองก่อนที่คนอื่นจะมาเซ็นเซอร์
 
ถึงแม้ว่าในมุมมองของคนทำสื่อไม่รุ่นเก่าหรือใหม่จะมองว่าตนมีเสรีภาพเต็มที่ แต่ในความเห็นของคอการเมืองอย่างปรมัษฐ์ ช่างสุพรรณ ซึ่งเป็นประชาชนธรรมดาคนหนึ่งที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองมาตลอดกลับมองว่าเสรีภาพของสื่อทุกวันนี้น้อยลงจนน่าตกใจ

“ทุกวันนี้สื่อมีสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอน้อยลงอยู่แล้ว เป็นเรื่องที่เห็นกันอยู่ แต่ทั้งหมดมันไม่ได้เกิดจากการบีบบังคับจากรัฐโดยตรง หรือการใช้กำลังอำนาจบังคับ แต่ว่ามันเป็นการกดดันในทางอ้อม ให้สื่อมวลชนเลือกที่จะเซ็นเซอร์ตัวเองตั้งแต่เริ่ม คือสื่อจะคิดเอาเองแล้วว่าข่าวไหนพูดได้ ข่าวไหนพูดไม่ได้ ซึ่งตรงนี้ผมว่ามันอันตรายกว่าการโดนเซ็นเซอร์โดยตรงอีก”

ทั้งหมดเลยกลายเป็นว่า รัฐจะไม่มีการใช้อำนาจบาตรใหญ่มาบีบบังคับสื่อมวลชนให้พูดหรือไม่พูดอะไรอีกต่อไป ทั้งนี้ก็เพราะสื่อมวลชนส่วนหนึ่งรู้แล้วว่าอะไรบ้างที่ควรพูดและมีอะไรที่ไม่ควรพูด
…......

จะว่ากันตามตรง สื่อในบ้านเราก็ยังนับว่ามีเสรีภาพมากกว่าสื่อในอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก หากแต่เมื่อเอาสายตาของตะวันตกมาจับและเอาบรรทัดฐานของฝรั่งซึ่งมีวัฒนธรรมต่างกันมาเป็นเกณฑ์ในการพิพากษา เสรีภาพของสื่อมวลชนในประเทศไทยจึงออกมาน้อยไปโดยปริยาย
>>>>>>>>>>
………

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : อดิศร ฉาบสูงเนิน



กำลังโหลดความคิดเห็น