ถึงแม้ว่าในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาหน้าข่าวต่างประเทศในหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ และเว็บไซต์จะถูกยึดพื้นที่จากข่าวพระราชพิธีเสกสมรสระหว่างเจ้าชายวิลเลียมและเคท มิดเดิลตัน ซึ่งประชาชนทั่วโลกต่างชื่นชมและแสดงความยินดีแก่ทั้งคู่กันอย่างชื่นมื่น แต่ในช่วงเวลาใกล้ๆ กัน ข่าวต่างประเทศกรอบเล็กๆ ที่ทำให้หลายคนอดนึกถึงอดีตไม่ได้ก็คือ ข่าวการอวสานของโรงงานผลิตเครื่องพิมพ์ดีดแห่งสุดท้าย ได้ปิดตัวลงไปอย่างสงบเงียบเชียบในเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย
ช่วงสิบปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าในโลกตะวันตก เครื่องพิมพ์ดีดได้กลายเป็นเครื่องใช้ที่ล้าสมัยไปแล้วก็ตาม แต่ในประเทศอินเดียยังคงใช้กันอย่างแพร่หลาย จวบจนในช่วงปี ค.ศ.2000 ก็มาถึงยุคการเปลี่ยนแปลงของเครื่องพิมพ์ดีด เพราะความต้องการของผู้บริโภคลดน้อยลงไปหันไปใช้เครื่องใช้ใหม่ๆ อย่าง คอมพิวเตอร์เพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะยังมีคนใช้งานมันอยู่บ้างแต่ก็เหลือน้อยเต็มที จากเหตุนี้เองบรรดาผู้ผลิตทั่วโลกจึงหยุดการผลิต ยกเว้นในประเทศอินเดียคือ บริษัท Godrej and Boyce ซึ่งมียอดผลิตปีละประมาณ 10,000-12,000 เครื่อง แต่สุดท้ายก็ต้องปิดตัวลงไป
เครื่องใช้สำนักงานที่มีอายุนับร้อยปีอย่างเครื่องพิมพ์ดีดต้องหมดหน้าที่ลงไปตามกาลเวลา เมื่อมีเครื่องใช้ที่ทันยุคทันสมัยกว่ามาแทนที่
กว่าจะมาเป็นเครื่องพิมพ์ดีด
เครื่องใช้ในสำนักงานที่เคยเป็นเครื่องมือคู่ใจพนักงานสำนักงานทั่วโลกมาแล้ว กำลังจะถูกยุติการผลิต การทำงานของเครื่องพิมพ์ดีด ที่แป้นพิมพ์ ก้านพิมพ์ที่มีสลักตัวอักษรอยู่จะถูกดีดขึ้นมาเพื่อพิมพ์อักษรลงบนกระดาษทันที
ตามประวัติแล้ว เครื่องพิมพ์ดีดเครื่องแรกถูกผลิตขึ้นที่สหรัฐฯ ในปี ค.ศ.1867 ก่อนจะถูกพัฒนาจนกลายเป็นมาตรฐานของรูปแบบคีย์บอร์ดคิวเวอร์ตี (QWERTY) ซึ่งยังคงใช้ในอุปกรณ์ไอทียุคปัจจุบัน
นี่คือสิ่งยืนยันการล่มสลายของอาณาจักรเครื่องพิมพ์ดีด หลังจากช่วงยุคทศวรรษที่ 80 ซึ่งเป็นช่วงที่เทคโนโลยีประมวลผลคำ (word processor) และเครื่องคอมพิวเตอร์เริ่มพัฒนาและขยายความนิยมอย่างรวดเร็ว จนสามารถมาแทนเครื่องพิมพ์ดีดได้อย่างเบ็ดเสร็จในที่สุด ซึ่งไม่เพียงโลกตะวันตก ประเทศแถบตะวันออกก็ล้วนใช้คอมพิวเตอร์แทนเครื่องพิมพ์ดีดกันอย่างแพร่หลาย
เครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทย เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดย เอ็ดวิน ฮันเตอร์ แมคฟาร์แลนด์ ชาวอเมริกัน ซึ่งรับราชการ ในตำแหน่งเลขานุการส่วนพระองค์ ในสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ได้มีแนวความคิดที่จะสร้างเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยขึ้น ซึ่งเป็นเครื่องพิมพ์ดีดชนิดที่มีแป้นอักษรถึง 7 แถว จึงไม่สามารถใช้วิธีการพิมพ์สัมผัสอย่างในปัจจุบันได้ ต้องพิมพ์โดยวิธีใช้นิ้วเคาะทีละแป้น
ต่อมาได้ปรับปรุงเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทย ให้เป็นแบบที่สามารถเลื่อนและยกแคร่อักษรได้ (Sliding, Shifting Carriage) และลดจำนวนแป้นอักษรลงมาเหลือ 4 แถว และออกแบบจัดวางตำแหน่งแป้นอักษร เพื่อให้สามารถพิมพ์ได้ถนัดและรวดเร็ว ในปี พ.ศ. 2474 และเรียกแป้นอักษรแบบใหม่นี้ว่าแป้นเกษมณี (สุวรรณประเสริฐ เกษมณี) ตามนามสุกลของผู้ออกแบบ โดยแป้นแบบเกษมณีมีรูปแบบการจัดวางตัวอักษรในแป้นเหย้าเป็น ‘ฟ ห ก ด่า ส ว’
แป้นพิมพ์แบบเกษมณียังคงได้รับความนิยมมาจนทุกวันนี้ และได้กลายเป็นแป้นพิมพ์ภาษาไทยมาตรฐานสำหรับคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน
เมื่อกำเนิดในไทย
สมัยก่อนเครื่องพิมพ์ดีดกระเป๋าหิวของโอลิมเปียขายดีมาก ทำให้บริษัทโอลิมเปียไทยตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของโอลิมเปียแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย มีโครงการจัดตั้งโรงงานผลิตเครื่องพิมพ์ดีดในประเทศไทย แต่ภายหลังกลับถูกล้มเลิกไปด้วยเหตุบางประการ ทำให้ในประเทศไทยไม่มีโรงงานผลิตเครื่องพิมพ์ดีดแม้สักโรงงานเดียว ซึ่งการจัดจำหน่ายเครื่องพิมพ์ดีดธรรมดา และเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้า ก็จะเป็นรูปแบบการนำเข้าจากต่างประเทศมาโดยตลอด
ปัจจุบันเครื่องพิมพ์ดีดธรรมดา ครั้นจะหามือหนึ่งคงลำบาก ส่วนเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้านั้นยังพอมีสินค้ามือหนึ่งให้เลือกซื้อบ้าง หลายๆ หน่วยงานในประเทศไทยก็ยังนิยมใช้เครื่องพิมพ์ดีด เพราะตัวหนังสือเหล่านั้นเป็นอัตลักษณ์ของเอกสารที่ยากต่อการปลอมแปลง เป็นลักษณะที่พิมพ์เสร็จแล้วได้เลย ไม่ต้องรอพรินต์แบบคอมพิวเตอร์
ร้านจำหน่ายเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้าในประเทศนั้นยังมีประปราย ถ้าเป็นร้านขนาดเล็กก็เริ่มปิดตัวลง บ้างก็ผันตัวมาเป็นศูนย์ซ่อม บ้างก็นำสินค้าประเภทอื่นเข้ามาจำหน่ายแทน สำหรับเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้าที่ยังคงจำหน่ายในประเทศไทยนั้นหลงเหลือเพียงยี่ห้อโอลิมเปียเท่านั้น ซึ่งนิยมนำเข้าเฉพาะรุ่นคอมแพค 5 สนนราคา 20,000 บาทต้นๆ
ความทรงจำที่คู่ควรในการเก็บรักษา
ความผูกพันของเครื่องใช้ในสำนักงานอย่างเครื่องพิมพ์ดีด กาลเวลาทำให้มันเสื่อมถอยการใช้งานลงไป แต่เพิ่มมนต์ขลังสำหรับใครบางคนที่ต้องการเก็บรักษามันไว้ในความทรงจำดีๆ
ดร.อาทร จันทวิมล อดีตกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่สะสมเครื่องพิมพ์ดีดไว้จำนวนมาก ได้เล่าถึงเสน่ห์ของอุปกรณ์การพิมพ์นี้ว่า มันจัดเป็นเครื่องมือกลชนิดหนึ่งที่มีประวัติมายาวนาน เนื่องจากถูกคิดค้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และพัฒนามาพร้อมๆ กับรถยนต์และเครื่องบิน และที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นเครื่องพิมพ์ดีดยังถือเป็นอุปกรณ์สำคัญที่สามารถแปลงความคิดหรือคำพูดของคนออกมาเป็นตัวหนังสือได้ แทนที่จะอาศัยเพียงแต่การเขียนด้วยมือเพียงอย่างเดียวอีกด้วย
"ตอนคิดค้นขึ้นใหม่ๆ มันซับซ้อนมากเลย โดยชุดแรกๆ ไม่มีอักษรบนไม่มีอักษรล่าง แล้วมันก็พัฒนามาอย่างรวดเร็ว และมันยังเป็นต้นกำเนิดของคอมพิวเตอร์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ก่อนที่จะมาถึงรุ่นไอแพด หรือไอโฟน เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นประดิษฐกรรมที่มีคุณค่าสำหรับมนุษย์อย่างมาก
"ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่โชคดีมาก เพราะหลังจากที่มีการคิดค้นพิมพ์ดีดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา เวลาประมาณ 10 กว่าปีเท่านั้นเอง เรามีพิมพ์ดีดภาษาไทยแล้ว แล้วหลังจากนั้นเราก็มีโทรพิมพ์ภาษาไทย มีคอมพิวเตอร์ภาษาไทยตามมา ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้เทคโนโลยีทางด้านการพิมพ์ของเราก้าวไปเร็วมาก เพราะถ้าไม่มีพิมพ์ดีดภาษาไทย ก็ต้องใช้เวลาอีกนานมากเลย เพราะตัวหนังสือของเรามีอักษรบนอักษรล่าง มีไม้เอก ไม้โท มีสระอุ สระอู ซึ่งไม่เหมือนของฝรั่ง ดูอย่างพิมพ์ดีดภาษาเวียดนาม ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่นนั้นเกิดหลังเราหลายๆ ปี"
นอกจากนี้ ดร.อาทร ยังมีความผูกพันกับสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้สูงมาก ในฐานะของนักสะสม ซึ่งมีเครื่องพิมพ์ดีดอยู่ในการครอบครองมากถึง 20-30 เครื่อง
"ผมเป็นช่าง ก็เลยมีความสนใจในเรื่องเครื่องยนต์กลไกอยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้สะสมรถยนต์หรือเครื่องบิน เราก็ไม่มีสตางค์ (หัวเราะ) ก็เลยมองหาอุปกรณ์ตัวเล็กๆ ก็เลยเจอเครื่องพิมพ์ดีด ผมก็เลยมีเครื่องพิมพ์ดีดตั้งแต่รุ่นแรกทั้งของไทย ของฝรั่ง แล้วก็มีพวกหน้าตาประหลาดๆ แบบรูปกลมบ้าง ซึ่งเป็นรุ่นแรกๆ ที่เขาทำ ซื้อจากอเมริกาบ้าง ซึ่งจากประเทศไทยบ้าง บางทีก็เอาสองเครื่องมาผสมกันให้ใช้งานได้"
อย่างไรก็ตาม การที่เครื่องพิมพ์ดีดกำลังจะหายไป เพราะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็ถือเป็นเรื่องที่เข้าใจกันได้ เนื่องจากเวลาผ่านไป มีประดิษฐกรรมชิ้นใหม่ๆ ซึ่งมีคุณภาพและประสิทธิภาพดีกว่า ของเก่าย่อมมีความล้าสมัยและต้องหลบไปเป็นธรรมดา
ครั้งหนึ่งเมื่อยังรุ่งเรือง
อีกหนึ่งความทรงจำเก่าๆ ของคนรุ่นก่อนๆ ที่ยังคงพอมีอยู่บ้างกับการสัมผัสเครื่องพิมพ์ดีด ประสบการณ์การเรียนพิมพ์ดีดในยุคก่อนๆ ยังพอได้เป็นเรื่องเล่าให้เด็กสมัยใหม่ฟังได้บ้าง ครั้งหนึ่งนั้นการเรียนพิมพ์ดีดได้รับความนิยมอย่างมาก
“ตอนนี้ที่โรงเรียนไม่ใช้พิมพ์ดีดแล้ว เมื่อก่อนมีนักเรียนเป็นร้อย ผมมีพิมพ์ดีดอยู่ 20 กว่าเครื่อง นักเรียนก็ต้องมารอคิวกันเรียน ทีนี้พอเวลาผ่านไป มันก็เริ่มน้อยลงเรื่อยๆ เพราะมีคอมพิวเตอร์เข้ามา ตำแหน่งพนักงานพิมพ์ดีดก็หายไปนะ จะกลายเป็นพนักงานบันทึกข้อมูลมาแทน”
บุญธรรม เอนไชย เจ้าของโรงเรียน 'รัชดาพิมพ์สัมผัส' สถาบันสอนพิมพ์ดีดเก่าแก่ย่านห้วยขวาง เล่าให้ฟังถึงอดีตที่เคยรุ่งเรืองของพิมพ์ดีด
“ในปัจจุบันรัฐเน้นให้คนใช้คอมพิวเตอร์ แต่ไม่เน้นเรื่องของการหัดพิมพ์สัมผัส บางคนพิมพ์ไม่เป็นเลย มีแต่จิ้มเอา ทีนี้เรื่องของการหัดพิมพ์โดยให้โรงเรียนสอนก็วนมาอีก แต่โรงเรียนที่สอนพิมพ์นี่แทบจะไม่เหลือแล้วนะในกรุงเทพฯ มีอยู่ไม่กี่ที่”
บุญธรรมได้กล่าวต่อไปอีกว่า พิมพ์ดีดนั้นเป็นสิ่งที่มีเสน่ห์ในตัวมันเองมากกว่าคอมพิวเตอร์เป็นไหนๆ
“ถ้าเราพิมพ์เป็น เรื่องของตัวหนังสือที่ออกมามันจะเป็นเอกลักษณ์ของมัน แล้วลักษณะของคนเวลาที่พิมพ์ดีดนี่จะมองรู้ถึงนิสัยของเขาได้เลยนะ ดูออกว่าคนคนนี้ใจร้อน ใจเย็น เห็นแก่ตัวหรือเห็นแก่สังคม มันสะท้อนออกมาได้ ตอนนี้ผมก็ยังเก็บเครื่องพิมพ์ดีดเอาไว้นะ เก็บไว้เป็นมรดก มีทั้งโอลิมเปีย เรมิงตัน ฯลฯ ผมเองก็ใช้พิมพ์ดีดอยู่บ้าง คือมีคนมาจ้างให้ผมพิมพ์เวลาเขาจะมาจดทะเบียนบริษัท”
บุญธรรมได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า แม้เครื่องพิมพ์ดีดมันจะหายไปเราก็ไม่ได้ว่าอะไร จะใช้คอมพิวเตอร์ก็ได้ แต่อย่างไรก็ขอให้พิมพ์สัมผัสกันให้เป็นก็พอแล้ว
……….
ถึงแม้การผลิตเครื่องพิมพ์ดีดจะเลิกล้มกันไปตามสภาพสังคมที่นิยมเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่มนต์เสน่ห์ของเครื่องพิมพ์ดีดก็ยังคงมีมนต์ขลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลา ยิ่งนานยิ่งเพิ่ม...
>>>>>>>>>>
.........
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK