xs
xsm
sm
md
lg

ล้วงลับเงาโปลิศใน 'ตู้แดงอิเล็กทรอนิกส์'

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตู้แดงอิเล็กทรอนิกส์ (E - Red box) ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่เสริมสร้างสมรรถนะการทำงานของตำรวจไทย

หากเอ่ยถึงตู้แดงแบบดังเดิม คงถือเป็นเพียงสัญลักษณ์ว่าพื้นที่บริเวณนี้เป็น ‘จุดตรวจ’ ที่ตำรวจ(ละเลย)เพียงผ่านมาแล้วก็เลยผ่านไป แถมยังมีเล่ห์กลซนๆ หลบเลี่ยงการลงพื้นที่ตรวจสอบอีกต่างหาก

จากตู้แดงที่สร้างความเกรงขามแก่บรรดาโจรผู้ร้าย ก็ไร้ความเกรงกลัว เพราะความหละหลวมในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา แม้บางบ้านจะมีตู้แดงติดตั้งอยู่บริเวณหน้าบ้านกลับเกิดเหตุเข้าปล้นทรัพย์อย่างง่ายดาย

โดยตู้แดงแบบดั้งเดิมจะทำงานรูปแบบไมนวล ใช้การจดบันทึกด้วยมือโดยตำรวจจะแวะเวียนเปลี่ยนเวรไปเซ็นชื่อและลงเวลาตรงจุดนั้นๆ แต่ตู้แดงอิเล็กทรอนิกส์นั้น ถือเป็นการปฏิรูปวงการตำรวจสายตรวจให้มีมาตรฐานยิ่งขึ้น โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาตรวจสอบการทำงาน พร้อมกระตุ้นให้ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เข้าถึงประชาชนมากยิ่งขึ้น

การริเริ่มโครงการตู้แดงอิเล็กทรอนิกส์ของตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรี เมื่อปี 2551 หากมองผลสัมฤทธิ์ในวันนี้ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เพราะอัตราการก่ออาชญากรรมลดลง และพฤติกรรมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีตัวตนยิ่งขึ้น

ซึ่งถือเป็นโมเดลหรือแบบอย่างที่ได้รับการยอมรับในวงการตำรวจไทย ทั้งมีการจดสิทธิบัตร และทยอยติดตั้งตู้แดงอิเล็กทรอนิกส์กระจายทั่วประเทศ ส่วนพื้นที่การติดตั้งนั้นก็เป็นบริเวณบ้านบุคคลสำคัญ บริเวณชุมชุน บริเวณจุดเสี่ยง ฯลฯ

แรกๆ ตำรวจก็ต่อต้าน

“อย่างหนึ่งผู้บังคับบัญชาต้องมีความเข้าใจการทำงานของตู้แดงอิเล็กทรอนิกส์พอสมควร ในตอนแรกที่ดำเนินงานปรากฏว่า ตำรวจต่อต้านพอสมควร เพราะว่าเขาขาดอิสระ พูดง่ายๆ ว่า เมื่อก่อนเขามั่วได้ แต่ระบบตู้แดงอิเล็กทรอนิกส์นั้น มีการตรวจสอบอย่างจริงจัง”

ผู้ริเริ่มโครงการตู้แดงอิเล็กทรอนิกส์ อย่าง พล.ต.ต.คำรบ ปัญญาแก้ว รอง ผบช.ภ.7อดีต ผบก.ภ.จ.นนทบุรี กล่าวถึงข้อเท็จจริง พร้อมเล่าถึงที่มาของตู้แดงอิเล็กทรอนิกส์ว่าทางผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ต้องการปรับยุทธศาสตร์จังหวัดให้นนทบุรีเป็นที่อยู่อาศัยชั้นดีของคนทุกระดับ จึงคิดแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพรักษาความปลอดภัย โดยมีการจัดทั้งศูนย์คอลเซ็นเตอร์ และตู้แดงอิเล็กทรอนิกส์นี้

เสมือนเป็นกลวิธียิงปืนหนึ่งนัดได้นกสองตัว ด้านประชาชนเองก็ได้รับความรู้สึกปลอดภัย ด้านตำรวจก็ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบดังเช่นเคย

“แต่พอเราใช้ระบบไปสักระยะหนึ่ง ก็พบความจริงว่า ตำรวจนั้นไม่ได้เป็นคนเกเรทั้งหมด อาจจะมีคนเกเรอยู่สัก 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ก่อนหน้าเราไม่สามารถตรวจสอบการทำงานได้ ก็เลยกลายเป็นว่า 80 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือนั้นพึงพอใจ เพราะงานที่เขาทำมันออกมาอย่างชัดเจน เพื่อนไม่สามารถกินแรงได้ กลุ่มนี้ก็ค่อนข้างจะพอใจ”

ทั้งนี้หากละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลสมควร ก็จะมีการลงโทษลงทัณฑ์ในแบบของตำรวจ พล.ต.ต.คำรบ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยมก็มีรางวัลเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ

อย่างเดือนหนึ่งก็มีแรงจูงใจให้เขา อย่างใครที่ตรวจมากที่สุดในแต่ละเดือน ก็อาจจะเป็นการมอบค่าตัดเครื่องแบบไป 1 ชุด มีการประกาศเกียรติคุณ Best of The Month”

ก้าวเนิบช้า...มองประชาชนให้ทั่วถึง

ตามหลักการของการออกตรวจตามพื้นที่นั้นนอกจากไปเซ็นชื่อตามสถานที่ตั้งตู้แดง ตำรวจต้องพูดคุยกับชาวบ้านบริเวณนั้นอย่างน้อย 3-5 นาที ซึ่งเรียกหลักการนี้ว่า ‘STOP WALK AND TALK’ (หยุด เดิน และพูดคุย) เพื่อให้ตำรวจได้ทำรับทราบข้อมูลเบาะแสข่าวสารจากภาคประชาชน ตู้แดงอิเล็กทรอนิกส์นั้น จะฝากกันเซ็นชื่อหรือเซ็นเผื่อก็ไม่ได้ เพราะการทำงานนั้นเป็นการรูดบัตรประจำตัว

เลิศรัตน์ รตะนานุกูล รองกรรมการผู้จัดการสายงานขายและการตลาด บริษัท อินฟินิท อิเลคทริค ประเทศไทย จำกัด ที่ผลิตตู้แดงอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า ยุคเริ่มต้นนั้นใช้แถบแม่เหล็กในการทำงาน แต่เกิดปัญหาว่าสายตรวจบางคนอาจจะให้คนไปรูดบัตรแทน

“บริษัทจึงคิดค้นระบบใหม่เพื่อให้ใช้บัตรสแกนหรือแตะ ให้ไปอยู่ 3 นาทีเป็นอย่างน้อย แตะแล้วก็ต้องเดินตรวจดูก่อน ไม่ใช่ไปถึงแล้วแตะแล้วออกไป เราก็เลยมีการถ่ายรูป แตะแล้วส่งทั้งรูปพร้อมบัตรเข้ามาที่เซิฟร์เวอร์กลาง
“ระบบนี้ที่ทำให้ผู้บริหารตำรวจวางแผนเพื่อที่จะอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน อย่างที่ไหนหากเกิดเหตุบ่อย ก็ให้สายตรวจไปบ่อย ซึ่งตู้แดงอิเล็กทรอนิกส์นี้เริ่มใช้งานมา 4-5 ปี แล้ว”

ซึ่งขณะนี้ทั่วประเทศมีใช้ยังไม่ถึง 1,000 เครื่อง คือที่จังหวัดนนทบุรี 300 - 400 เครื่อง สมุทรปราการ 200 เครื่อง และมีที่อ่างทอง หัวหิน อยุธยา ลพบุรี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็จะมีการกระจายไปเรื่อยๆ ดูให้สอดคล้องกับอาชญากรรมที่เกิดในแต่ละท้องที่ และกำหนดการตรวจของสายตรวจและทำให้ประชาชนสบายใจมากขึ้น

ด้าน พ.ต.ต. พล พื้นพรม สารวัตรป้องกันปราบปราม สภ.เมืองนนทบุรี เล่าให้ฟังถึงระบบการออกตรวจของสายตรวจ ที่ในปัจจุบันมีการนำเอาจุดตรวจอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ ซึ่งตั้งแต่มีการทดลองใช้เกิดขึ้น ก็พบว่า มีผลดีตามมาในหลายๆ ด้าน

“ตั้งแต่มีจุดตรวจอิเล็กทรอนิกส์ การที่จะไปเช็กที่จุดแทนกันนั้นก็ทำไม่ได้แล้ว เพราะที่จุดมีกล้องถ่ายรูปอยู่ มันจะไปแทนกันไม่ได้ จะเห็นเลยว่าประชาชนอุ่นใจมากขึ้น อาชญากรรมลดลง ผู้บังคับบัญชาเองก็ทำงานสะดวกมากขึ้น เพราะไม่ต้องคอยมากวดขันในเรื่องนี้”

ตำรวจ...เพื่อประชาชน?

จากการพัฒนาตู้แดงอิเล็กทรอนิกส์ น่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของตำรวจและการเข้าถึงประชาชนของเจ้าหน้าที่ตำรวจให้มีมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่ก็เหมือนเป็นการบังคับว่า ตำรวจจะต้องเข้าพบปะกับประชาชน ผศ.ดร.ศรีสมบัติ โชคประจักษ์ชัด อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แสดงทัศนะว่า

"ตู้แดงฯ มันก็มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ในทางที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง บางหน่วยก็บอกว่า มีประโยชน์ เพราะทำให้คนเห็นว่าตรงนี้ตำรวจเข้ามาตรวจ แต่บางหน่วยก็มองว่าทำโจรรู้ว่า เวลาไหนตำรวจจะมาตรวจ แต่ถ้ามองให้ลึกๆ ก็จะพบว่าเขามีความตั้งใจที่ดี เพราะหน้าที่ของตำรวจก็คือการตรวจตราพื้นที่ ต้องการออกมาดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนว่าเดือดร้อนไหม ต้องมาแวะเวียนพูดคุยกับชาวบ้าน ดังนั้นการที่ผู้บริหารให้มีตู้แดงก็เพราะน่าจะเป็นอยากให้ตำรวจได้ออกมาตรวจและพบปะประชาชน ส่วนถามว่าการปฏิบัติจริงๆ มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง”

อย่างไรก็ตาม การจะมองว่าที่ต้องมีตู้นี้ออกมา เพราะตำรวจหย่อนประสิทธิภาพนั้น คงไปสรุปเช่นนั้นไม่ได้ เพราะจริงๆ เรื่องนี้คงต้องดูไปถึงโครงสร้างและการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในพื้นที่ว่าเป็นเช่นใด และมีกำลังเพียงพอต่อการเข้าไปดูแลในพื้นที่จุดต่างๆ หรือไม่

ชาวบ้านย่านตลาดบางศรีเมือง จังหวัดนนทบุรี อย่าง นนทิยา คะสุดใจ เปิดเผยว่าการที่มีตู้แดงอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาติดตั้งในพื้นที่ทำให้ตนรู้สึกปลอดภัยยิ่งขึ้น เพราะได้พบตำรวจบ่อยขึ้นหากมีเหตุการณ์ไม่สงบก็สามารถได้รับความช่วยเหลืออย่างมันท่วงที

“อย่างเมื่อก่อนเห็นตู้แดงแบบเก่า เห็นแต่ตู้นะ ไม่ค่อยเห็นตำรวจ คือบางทีเวลาของเรากับเขาอาจไม่ตรงกัน แต่พอมีตู้แดงอิเล็กทรอนิกส์ก็เห็นตำรวจเขามาประจำ เขาก็ทักทายชาวบ้านทั่วไป ก็ทำให้รู้สึกปลอดภัยขึ้น ยิ่งเวลากลับบ้านค่ำๆ ได้พบตำรวจก็รู้สึกอุ่นใจ ปลอดภัยขึ้น”
.........

ก็ไม่ทราบแน่ชัดว่าท้ายที่สุดแล้ว 'ตู้แดงอิเล็กทรอนิกส์ (E - Red box)' นั้นจะเป็นเครื่องมือในการทำงาน หรือเป็นเพียงของเล่นของตำรวจไทย ...แต่อย่างหนึ่งก็นำความศรัทธาของประชาชนบางส่วนกลับมาได้อีกครั้ง
>>>>>>>>>>

………
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : พงศ์ศักดิ์ ขวัญเนตร




กำลังโหลดความคิดเห็น