กลายเป็นประเด็นขึ้นมาทันทีทันใด หลังจากที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ได้จุดกระแส 'VOTE NO' หรือการกากบาทในช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนนในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอีกไม่นานนี้
โดยเหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งที่ถูกยกขึ้นมาเป็นหัวใจหลักก็คือ การบอยคอต 'นักการเมืองไทย' ที่ดูจะไม่มีประสิทธิภาพ และหลายๆ คนปราศจากความรับผิดชอบต่อหน้าที่ สังเกตได้จากการประชุมสภาฯ ซึ่งใช้เวลาเพียง 2 วันใน 1 สัปดาห์ แต่ก็ล้มแล้วล้มอีก จนหลายคนไม่เข้าใจว่าท่านผู้ทรงเกียรติเหล่านี้ เอาเวลางานไปทำอะไรกันหมด ถึงไม่ยอมทำหน้าที่ของตัวเองสักที
และยิ่งพิจารณาถึงบุคลากรที่เข้ามาสู่ในวงการการเมืองปัจจุบันนี้ ก็ยังพบอีกว่า 10 ปีก่อนกับ 10 ปีให้หลัง แทบจะหาความแตกต่างไม่ได้แม้แต่น้อย อย่างบางคนต่อให้ถูกตัดสิทธิ ก็ยังมีอิทธิพลการเมือง ชี้นิ้วสั่งลูกน้องได้เหมือนเดิม บางคนก็ส่งลูก ส่งหลาน ส่งสามี-ภรรยาเข้ามาทำหน้าที่แทนตัวเองก็มีอยู่ถมเถ ส่วนคนไหนไม่ถูกตัดสิทธิก็เปลี่ยนพรรค ตั้งพรรคใหม่เป็นว่าเล่น โดยหวังอยู่ลึกๆ ว่าจะสามารถลบล้างภาพเดิมๆ ที่ไม่ดีของตัวเองได้ พูดง่ายๆ ก็คือเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ ที่ทำอย่างไรก็คงจะให้กลายเป็นน้ำดีไม่ได้
เพราะฉะนั้น การกาช่องไม่ใช้สิทธิ จึงดูเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากที่สุดทางหนึ่ง แต่ทว่า ประเด็นหนึ่งที่ยังน่าสงสัยอยู่ถึงทุกวันนี้ ก็คือการทำเช่นนี้นั้นจะส่งผลหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้อย่างไรบ้าง เพราะเท่าที่ผ่านมา ดูเหมือนประโยชน์ของมันนั้นมีเพียงอย่างเดียว ก็คือการใช้แสดงอารมณ์ 'เซ็ง' ที่มีต่อนักการเมืองไทยนั่นเอง
[1]
หากจะว่าไปแล้ว สิทธิการไม่ประสงค์จะลงคะแนนนั้นปรากฏอยู่ในกฎหมายเลือกตั้งของไทยนมนานมาแล้ว แต่ว่ารูปแบบและลักษณะของการใช้สิทธินั้นแตกต่างจากปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง โดยหากใครต้องการใช้สิทธิประเภทนี้ จะต้องแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งว่า ไม่ประสงค์จะลงคะแนน แล้วคืนบัตรเลือกตั้งไป โดยเจ้าหน้าที่จะบันทึกข้อมูลของประชาชนผู้นั้นไว้ใช้สิทธิเรียบร้อยแล้ว แต่ปัญหาก็คือ การทำเช่นนี้ดูเหมือนจะเป็นการขัดต่อกระบวนการการเลือกตั้งที่จะต้องทำอย่างเป็นความลับอย่างสิ้นเชิง เพราะนอกจากจะไม่เป็นความลับแล้ว ยังต้องบังคับทำให้หลายคนต้องแสดงตัว ส่งผลให้บางคนที่ไม่อยากจะเปิดเผยตัวเลือกทำบัตรเสียแทนหรือไม่ยอมไปเลือกตั้งซะเลย
จนกระทั่งเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ก็ได้มีการระบุให้การเลือกตั้ง ถือเป็นหน้าที่ของคนไทย หากไม่ไปก็จะเสียสิทธิการเมืองบางประการ เช่น การลงสมัครรับเลือกตั้ง การถอดถอนบุคคลทางการเมือง หรือการเข้าชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมาย ดังนั้น เพื่อผ่าทางตันของปัญหาดังกล่าว พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พุทธศักราช 2541 จึงได้บัญญัติให้ในบัตรเลือกตั้งต้องมีช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนนไว้ด้วย
“การโหวตโนคือการไปใช้สิทธิไม่ลงคะแนน ในไทยนั้นมีการรณรงค์เรื่องแบบนี้มานาน เพราะในบ้านเรามีชนชั้นกลางจำนวนมาก โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือไปก็น้อยกว่าในชนบท ก็เลยเกิดคำถามขึ้นมาว่า การที่คนที่มีการศึกษาอย่างชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ นั้น ไม่ไปใช้สิทธิเป็นเพราะอะไร ซึ่งจากการสันนิษฐานพบว่าชนชั้นกลางนั้นมีความรู้ ได้รับข้อมูลข่าวสารเยอะ ก็ได้รู้พฤติกรรมของนักการเมืองมากกว่า จึงเกิดความเบื่อหน่ายการเมืองขึ้นมา ทำให้เขาไม่ออกไปใช้สิทธิ ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็เลยเกิดตัวเลือกของการโหวตโนขึ้นมา เพื่อให้คนที่เบื่อการเมืองไปแสดงเจตจำนงทางการเมืองของตนได้” ผศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองคณบดีคณะพัฒนาสังคมและ สิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ อธิบาย
ขณะเดียวการลงคะแนนช่องนี้ ยังถือเป็นการสะท้อนและแสดงสภาพการเมืองในขณะนั้นได้อย่างดีอีกด้วยว่า คุณภาพของการเมืองและนักการเมืองไทยนั้นเป็นอย่างไรเนื่องจากพรรคการเมืองทุกพรรคต่างไร้ความรับผิดชอบ ไม่มีข้อเสนอเชิงนโยบายที่เป็นรูปธรรมชัดเจน และเป็นระบบมากไปกว่าการหาเสียง ในขณะเดียวกัน ก็ไม่รังเกียจที่จะเสนอบุคคลที่สังคมไม่สามารถวางใจได้ให้เป็นตัวเลือกแก่ประชาชน จนมีผู้กล่าวว่า เราต้องเลือก ส.ส.และพรรคที่เลวน้อยที่สุด เพราะฉะนั้น หากมีคนจำนวนมากเกินพอสมควร คะแนนเหล่านี้ก็จะเป็นบทเรียนให้แก่พรรคการเมืองและนักการเมืองต้องหันไปปรับปรุงตนเองสำหรับการยอมรับของสังคมมากขึ้นในอนาคต
แน่นอนว่าความคิดเหล่านี้ ถือว่าตรงใจประชาชนจำนวนหนึ่งอย่างมาก เช่น วิทยา ชายหนุ่มวัย 29 ปีซึ่งกาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนแทบจะทุกครั้ง โดยอธิบายสาเหตุว่า รู้สึกเบื่อการเมืองและนักการเมืองไทยอย่างมาก เพราะมองไปไหน ก็ไม่เห็นคนที่น่าเลือกเลยแม้แต่คนเดียว แต่ก็ยังรู้สึกว่า จำเป็นต้องเลือกตั้ง ไม่กลัวจะถูกสิทธิบางอย่างที่อาจจำเป็นในอนาคต
"เลือกตั้งครั้งหลังๆ ผมจะกากบาทที่ช่องไม่ออกเสียง คือเรามีความรู้สึกว่าช่องนี้มันมีความหมายที่สามารถสะท้อนความคิดของประชาชนที่มีต่อการเมือง และเมื่อจำนวนผู้ลงคะแนนในช่องนี้มีปริมาณมากทางนักการเมือง ทางรัฐบาล ฯลฯ ก็ต้องพิจารณาตัวเอง มันเป็นอารยะขัดขืนที่ประชาชนมีต่อการเลือกตั้ง อย่างการเลือกตั้งครั้งหน้า ก็คงจะเหมือนเดิม เพราะผมมองว่าการเลือกใครสักคนเข้ามาตำรงตำแหน่งทางการเมืองอีก เอาเข้าจริงมันก็เป็นเพียงการคัดตัวนักแสดงละครน้ำเน่าเท่านั้นเอง”
แต่ทว่า แม้จะมีการรณรงค์ และมีผู้มาลงคะแนนไม่ประสงค์จะลงคะแนนในระบบบัญชี 544,731 หรือ 1.82 เปอร์เซ็นต์ และระบบเขตเลือกตั้ง 1,010,236 คน หรือ 3.38 เปอร์เซ็นต์ของผู้มาใช้สิทธิ แต่นั่นดูจะเป็นเรื่องยากที่จะสร้างแรงสั่นสะเทือนให้แก่วงการการเมืองได้ เพราะตัวกฎหมายได้กำหนดประโยชน์เปิดช่องไว้เพียงเล็กๆ ว่าหากในเขตใดมีผู้สมัครเพียงคนเดียว ก็จะต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของผู้มาใช้สิทธิเท่านั้นเอง
[2]
จุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดที่ทำให้คนเริ่มตั้งคำถามกับประโยชน์คงช่องนี้อย่างจริงจัง คงหนีไม่พ้นการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ ชาติไทย และมหาชนตัดสินใจบอยคอตการเลือกตั้ง หลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ในขณะนั้นตัดสินใจยุบสภาโดยไม่มีเหตุผล
ซึ่งในครั้งนั้นมีการรณรงค์ให้โหวต 'VOTE NO' กันอย่างหนัก ซึ่งผลสุดท้ายมีผลลงคะแนนโนโหวตมากถึงเกือบ 10 ล้านเสียง แต่ปัญหาก็คือ ผลที่ออกมาไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก เว้นแต่ภาคใต้บางเขต ซึ่งเข้าตามตัวบทกฎหมายพอดี เพราะต้องยอมรับว่าบางเขต เช่น กรุงเทพมหานคร ผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยมีคะแนนน้อยกว่า ผู้ไม่ประสงค์จะเลือกใครกว่าเท่าตัว แต่ก็ยังถือว่าได้รับเลือก เพราะในเขตนั้นมีผู้เข้าร่วมแข่งขัน หรือบางเขตก็ได้คะแนนเกิน 20 เปอร์เซ็นต์มานิดหน่อย ซึ่งผลที่ออกมาสะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ถึงจะกาช่องนี้ไปก็ไม่มีผลอะไรมากนัก
ที่สำคัญยังสร้างความรู้สึกเบื่อหน่ายให้แก่ประชาชนจำนวนมากเช่น มนชัย พนักงานบริษัทเอกชน ที่ตัดสินใจนอนหลับทับสิทธิมาแล้วหลายหน โดยเขาให้เหตุผลง่ายๆ แต่โดนใจว่า ไม่รู้จะเลือกใครดี เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะลงคะแนนหรือไม่ไป ผลสุดท้ายก็ไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก แถมบางครั้งยังรู้สึก เสียเวลาอีกด้วย
“การที่เราจะไปเลือกตั้ง หรือไปการช่องไม่ลงคะแนน ผมว่ายังไงผลก็ออกมาเหมือนกันคือ เราไม่เลือกใคร เพราะฉะนั้นเราก็ไม่ต้องไปก็ได้ แต่ถ้าใครอยากจะใช้สิทธิแต่เป็นสิทธิและเป็นเสียงที่ไม่ลงคะแนนเสียงให้ใครและมากาช่องโหวตโนก็ไม่ว่ากัน ผมว่ามันไม่ต่างกันเท่าไหร่”
จากปัญหาดังกล่าว หลายฝ่ายต้องกลับมานั่งคิดว่า เป็นเพราะอะไร แน่นอนว่าจุดสำคัญอย่างหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ ก็คือการไม่ได้วางแผนมาตั้งแต่ขั้นแรกว่า ช่องนี้จะทำอะไรได้บ้าง เนื่องจากประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกๆ ที่มีการระบุช่องนี้ลงไปในบัตรเลือกตั้ง ทำให้ไม่เกิดความชัดเจนในประเด็นนี้เลยแม้แต่น้อย
“เคยมีความพยายามของกลุ่มองค์กรต่างๆ พอสมควรในการขอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้ เช่น ถ้าคะแนนเสียงที่ ส.ส. ได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิก็น่าจะมีการจัดเลือกตั้งรอบ 2 โดยเอาคนที่มีคะแนนเสียงสูงสุดสองสามคนแรกมาโหวตกันอีกทีหนึ่ง” รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรการมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตยอธิบาย
อย่างไรก็ดี ภายหลังที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และมีการร่างกฎหมายเลือกตั้งขึ้นใหม่ด้วย ก็พบว่ามีการแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนนี้บาง โดยเฉพาะประเด็น 20 เปอร์เซ็นต์ สำหรับกรณีที่ไม่มีการแข่งขันว่า ผู้สมัครจะต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่าคนที่กาช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนนด้วย ไม่เช่นนั้นก็ต้องเลือกตั้งใหม่ ส่วนเขตที่มีการแข่งขันกันผลปรากฏว่า แพ้โนโหวตนั้นไม่ได้มีการแก้ไขแต่อย่างใด
[3]
เมื่อปัญหายังไม่ได้รับการคลี่คลาย สิ่งที่สำคัญที่ต้องนำมาฉุกคิดกันต่อ ก็คือ ทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้มีความหมายแล้วเป็นเครื่องมือสำคัญที่ประชาชนจะใช้เป็นอำนาจต่อรองทางเมืองกับบรรดานักการเมืองได้
ซึ่งในจุดนี้ รศ.สมชัย มองว่าคงถึงเวลาแล้วที่จะต้องสร้างกลไกอะไรบางอย่างขึ้นมา เพื่อรองรับอย่างจริงจัง โดยเฉพาะกระบวนการด้านกฎหมายที่จะต้องมีความชัดเจนว่าจะมีแนวทางการปฏิบัติตัวเช่นใด เวลาเกิดสถานการณ์ต่างๆ ขึ้น
“จริงๆ แล้วเราต้องมีกลไกมาดูเรื่องนี้ เช่น ถ้าคะแนนเสียงได้ไม่ถึงครึ่งก็ต้องจัดเลือกตั้งใหม่ เมื่อเลือกตั้งใหม่แล้วคะแนนเสียงยังเหมือนเดิมอยู่ก็อาจต้องจัดเลือกตั้งครั้งที่ 3 โดยให้มีการเปลี่ยนตัวผู้สมัคร คือต้องมีกลไก เพียงแต่ว่ากลไกดังกล่าวยังไม่มีใครออกแบบว่าควรเป็นอย่างไร มันมีรายละเอียดเยอะพอสมควร”
แต่ทั้งหมดนี้ ก็ใช่ว่าไม่มีตัวอย่างเลย เพราะจากข้อเสนอดั้งเดิมของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ก็ได้ยกกระบวนการในบางประเทศขึ้นมา เช่น หากพรรคการเมืองหรือนักการเมืองใด ผ่านการเลือกตั้งโดยได้รับคะแนนเสียงไม่ถึงสัดส่วนหนึ่งที่สมเหตุผล ซึ่งอาจกำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์ได้ตามแต่สถานการณ์การเมืองของแต่ละประเทศซึ่งไม่เหมือนกัน ก็จะไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งอีก
ซึ่งหากประเทศไทยสามารถกำจัดจุดอ่อนตรงนี้ออกไป การเลือกตั้งก็จะมีความหมายมากกว่า การมีส่วนร่วมแค่ 2 นาที และคะแนนทุกคะแนนที่มาจากประชาชนก็ย่อมจะสะท้อนความคิดของประชาชนได้มากกว่าที่เป็นอยู่
อย่างไรก็ตาม โอกาสที่ประเทศไทยจะก้าวไปถึงจุดนั้น ก็คงเป็นเรื่องลำบาก โดยเฉพาะในยุคที่คนซึ่งครองอำนาจอยู่ในรัฐสภายังพอใจอยู่ใต้ระบบเดิมเช่นนี้
แต่นั่นก็ไม่ได้เครื่องหมายที่แสดงว่า อนาคตจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย เพราะหากประชาชนร่วมไม้ร่วมมือในการผลักดัน ทางออกก็ย่อมปรากฏขึ้นมาอยู่เสมอ
>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK