ถึงแม้ว่าความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับประเพณี 'วันสงกรานต์' ในสมัยนี้คนรุ่นใหม่จะเข้าใจว่าเป็นวันหยุด วันปีใหม่ไทย วันเล่นน้ำ วันแห่งความสุขที่ได้พบปะเพื่อนฝูง วันครอบครัว ไปเที่ยวที่ไหนๆ ก็เหมือนๆ กัน ดูไม่เห็นจะมีอะไรที่แตกต่าง ทั้งภาคเหนือ กลาง ใต้ อีสาน ที่ไหนๆ ก็เล่นสาดน้ำกันทั้งนั้น
แต่ทว่าหากมองลงไปลึกถึงประเพณีสงกรานต์ในแต่ละภูมิภาคทั้ง 4 ภาคของไทยนั้นมีอะไรที่แตกต่างกันอยู่ในรายละเอียด สิ่งที่ยึดถือและปฏิบัติ
ภาคเหนือ
สงกรานต์ทางภาคเหนือ หรือ ประเพณีปี๋ใหม่เมือง ที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ ของชาวเหนือ จะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า 'วันสังขารล่อง' ก็จะมีการทำความสะอาดบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล ส่วนในวันที่ 14 เมษายน เรียกว่า 'วันเนา' หรือ 'วันเน่า' ซึ่งเป็นวันที่ห้ามใครด่าทอว่าร้าย เพราะเชื่อว่าจะทำให้โชคร้ายไปตลอดทั้งปี ส่วนวันที่ 15 เมษายน เรียกว่า 'วันพญา' หรือ 'วันเถลิงศก' โดยวันนี้ชาวบ้านจะตื่นแต่เช้าทำบุญตักบาตรเข้าวัดฟังธรรม ก่อนที่จะมีการไปขอขมาญาติผู้ใหญ่ ส่วนวันที่ 16 เมษายน เรียกว่า 'วันปากปี' เป็นวันที่ชาวบ้านจะพากันไปสรงน้ำเจ้าอาวาสตามวัดต่างๆ เพื่อขอขมาคาราวะ ส่วนวันที่ 17 เมษายน เรียกว่า 'วันปากเดือน' และเป็นวันที่ชาวบ้านส่งเคราะห์ต่างๆ ออกไปจากตัวเพื่อปิดฉากประเพณีวันสงกรานต์ตามแบบล้านนา
ภาคอีสาน
สงกรานต์ภาคอีสาน นิยมจัดกันอย่างเรียบง่าย แต่เต็มไปด้วยความอบอุ่น โดยคนอีสานจะเรียกประเพณีสงกรานต์ว่า 'บุญเดือนห้า' หรือ 'ตรุษสงกรานต์' บางพื้นที่จะเรียกว่า 'เนา' และจะถือฤกษ์ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เวลาบ่าย 3 โมง เป็นเวลาเริ่มงานโดยพระสงฆ์จะตีกลองโฮมเปิดศักราช จากนั้นประชาชนก็จะจัดเตรียมน้ำอบหาบไปรวมกันที่ศาลาวัดเพื่อสรงน้ำพระพุทธรูป แล้วต่อด้วยการรดน้ำดำหัว ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติผู้ใหญ่ เพื่อขอขมาลาโทษจากนั้นก็จะเป็นการเล่นสาดน้ำสงกรานต์กัน
ภาคใต้
สงกรานต์ภาคใต้ ตามความเชื่อของประเพณีสงกรานต์แบบดั้งเดิมที่ภาคใต้แล้ว สงกรานต์เป็นช่วงเวลาแห่งการผลัดเปลี่ยนเทวดาผู้รักษาดวงชะตาบ้านเมือง พวกเขาจึงถือเอาวันแรกของสงกรานต์ (13 เมษายน) เป็น 'วันส่งเจ้าเมืองเก่า' โดยจะทำพิธีสะเดาะเคราะห์สิ่งไม่ดีออกไป ส่วน 'วันว่าง' (14 เมษายน) ชาวนครศรีธรรมราชจะไปทำบุญตักบาตรที่วัด และสรงน้ำพระพุทธรูป และวันสุดท้ายเป็น 'วันรับเจ้าเมืองใหม่' (15 เมษายน) จะทำพิธีต้อนรับเทวดาองค์ใหม่ด้วยการแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างสวยงามส่งท้ายสงกรานต์
ภาคกลาง
สงกรานต์ภาคกลาง เริ่มขึ้นในวันที่ 13 เมษายน เป็นวัน 'มหาสงกรานต์' วันที่ 14 เป็น 'วันกลาง' หรือ 'วันเนา' วันที่ 15 เป็นวัน 'วันเถลิงศก' ทั้ง 3 วันประชาชนจะประกอบพิธีทางศาสนา มีการทำบุญตักบาตร ปล่อยนกปล่อยปลา การทำบุญกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ การสรงน้ำพระ การขนทรายเข้าวัดก่อพระเจดีย์ทราย
อย่างไรก็ตาม ประเพณีสงกรานต์ ซึ่งเป็นประเพณีขึ้นปีใหม่ของไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในแต่ละภูมิภาคที่มีความแตกต่างและความเหมือนกันอยู่ในนั้น สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จึงจัดงานนิทรรศการ 'ร้อยนิทรรศน์ยลรัตนโกสินทร์ ชุด มหาสงกรานต์ 4 ภูมิภาค' เพื่อแสดงความแตกต่างและความสำคัญของประเพณีสงกรานต์ ขึ้นในวันที่ 12 เมษายน - 30 เมษายน พ.ศ. 2554
โดยจัดขึ้นที่...
วัดราชนัดดารามวรวิหาร วันที่ 12 เมษายน - 14 เมษายน พ.ศ. 2554
ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ วันที่ 12 เมษายน - 17 เมษายน พ.ศ. 2554
ห้องโถงอเนกประสงค์ อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ วันที่ 12 เมษายน - 30 เมษายน พ.ศ. 2554
'สงกรานต์' งานปีใหม่ไทยแตกต่างในความเหมือน
วิวัฒน์ เอื้อวงศ์วรานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์และการตลาด อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ พูดถึงประเพณีสงกรานต์ของไทยว่า หากจะมีประเด็นหลักที่เหมือนกันทุกๆ ภาคก็คือการทำบุญขึ้นปีใหม่ เพราะว่าสงกรานต์คือประเพณีปีใหม่ไทยเหมือนกัน
ส่วนความแตกต่างเป็นเรื่องของลักษณะเฉพาะที่อยู่ในรูปแบบต่างๆ กันนั้นก็มีอยู่มาก อย่างเช่นแต่ละภูมิภาคก็จะมีอะไรที่แตกต่างกันไป เช่น พระพุทธรูปประจำภาคที่ใช้บูชา ก็จะมีความแตกต่างกันตามพื้นที่ ตามค่านิยมหรือความนับถือของพื้นที่นั้น
“ภาคกลางก็จะเป็นพระพุทธรูปสิหิงค์ ซึ่งจะเห็นว่าทางกรุงเทพฯ เอง ก็จะมีการอัญเชิญมาประดิษฐานตรงศาลาว่าการกรุงเทพฯ เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำ ภาคอื่นก็มีเหมือนกัน พระพุทธรูปประจำภาค จริงๆ อย่างพระพุทธสิหิงค์เองก็มีแพร่หลายไปทั่วทุกภาค
“ส่วนภาคอีสานก็จะเป็นหลวงพ่อพระใส ที่เป็นพระพุทธรูปอีกลักษณะหนึ่งซึ่งเป็นรูปแบบเฉพาะของแต่ละภูมิภาคนั้น แล้วก็นำมาประดิษฐาน แต่ละภูมิภาคก็จะมีประดิษฐานบนบุษบก ในการให้สรงน้ำพระพุทธรูป ซึ่งตัวบุษบกเองก็จะมีความแตกต่างกันในเชิงงานศิลปะที่ประดับ อันนี้ก็จะชัดเจน อย่างลักษณะเด่นเลยส่วนใหญ่ทางอีสานเขาก็มักจะมีรางพญานาคในการรดน้ำด้วย”
สำหรับตัวศิลปะที่ประดิษฐ์และตกแต่งบุษบกเองก็จะเป็นลักษณะของศิลปะเฉพาะทางภาคอีสาน ภาคกลาง เหนือ ภาคใต้ ซึ่งบุษบกก็จะมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน
“ทางภาคเหนือก็เป็นศิลปะทางล้านนา อย่างภาคใต้ก็จะเรียกบุษบกว่านมพระ ตรงนี้ในงานนิทรรศการเราก็จะมานำเสนอให้คนได้เห็นถึงข้อมูลเป็นเกร็ดความรู้ถึงการสรงน้ำพระพุทธรูป”
เครื่องหัตถกรรมบูชา
ถึงแม้จะมีความต่างในความเหมือน อย่างเรื่องของหัตถกรรม เรื่องของเครื่องบูชาแต่ละภาค ก็มีลักษณะเฉพาะ อย่างภาคเหนือก็แน่นอนว่าคนก็ค่อนข้างรู้จักเยอะ เช่น การใช้ใบส้มป่อยผสมในน้ำ แต่หากเป็นภาคกลาง ถ้าตามประเพณีเดิมก็จะเป็นน้ำอบ แล้วก็มีการทำแป้งพวง ดอกไม้ที่มาประดิษฐ์หรือมาประดับบริเวณที่มีการสรงน้ำ หรือการถวายบูชาพระก็จะเป็นไปตามพิมพ์นิยม
“ภาคกลางก็จะมีการประดิษฐ์ประดอยทำเป็นเครื่องแขวนได้ ภาคอื่นๆ ก็อาจจะลดทอนไปตามลักษณะของพื้นถิ่นเฉพาะ หรือตามแต่ละภูมิภาคนั้นๆ มี”
นอกจากนี้ ในรายละเอียดของประเพณีสงกรานต์เองก็มีเรื่องของกินเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งแต่ละภาคก็มีตัวขนมประจำเทศกาลสงกรานต์เองที่มีความนิยมแตกต่างกันออกไป
“หากเป็นภาคอีสานก็จะเป็นข้าวปุ้นหรือขนมจีน หรือข้าวต้มมัด ซึ่งจะเป็นข้าวต้มแบบไม่มีไส้ อย่างนี้เขาก็จะนิยมอยู่ในช่วงประเพณีสงกรานต์ อย่างภาคเหนือเรียกขนมจ็อก รูปทรงคล้ายกระจุก คล้ายขนมเทียนเหมือนของภาคกลางแต่เขาเรียกขนมจ็อก แต่ภาคกลางจริงๆ ก็เป็นข้าวแช่ เป็นอาหารในฤดูร้อน ส่วนภาคใต้ก็เป็นขนมโค คล้ายขนมต้มขาวทางภาคกลาง แต่วิธีการปรุงหรือผลิตก็แตกต่างไป ขนมโคก็มีการเติมน้ำปูนใสลงนวดไปกับแป้งด้วย”
อีกลักษณะเฉพาะของภาคใต้คือการแทงหยวก ที่นิยมทำช่วงสงกรานต์ งานกฐินงานบวช พวกนี้ งานฝีมือจากวัสดุที่หาง่าย ตัวหยวก ลวดลายโบราณ เป็นเรื่องของประเพณี
“ทางนิทรรศการก็นำมาแสดง ให้ความรู้เพิ่มเติม มีการแสดงหมุนเวียน แต่ละภาค ลักษณะของดนตรีก็มีความแตกต่างกัน เราก็นำมาจัดแสดงในอาคารให้ผู้ชมได้ชมหมุนเวียนไป ทั้งการละเล่น และการแสดงสาธิตด้วย” วิวัฒน์เล่า
สาเหตุของความต่าง
ความแตกต่างของประเพณี ในมุมของ วิวัฒน์ มองว่าเป็นเรื่องของสถานที่ เรื่องภูมิสถานที่ซึ่งแต่ละภาคมีความแตกต่างกัน ตัวธรรมชาติเองที่มีความแตกต่างกัน
“โดยทั่วไปสมัยโบราณในอดีตคนก็จะหยิบจับวัสดุธรรมชาติที่คนนำมาประดิษฐ์ใช้ในงานหรือเทศกาล ตามความเชื่อ ความแตกต่างคือสิ่งที่หาได้จากในพื้นที่เป็นตัวกำหนด สองก็คือความเชื่อทางบรรพบุรุษที่สืบต่อมา ทำให้รูปแบบการละเล่นหรือว่าดนตรีมีความแตกต่างกัน”
ส่วนเรื่องอาหารการกินก็แน่นอนว่า แต่ละท้องถิ่นค่อนข้างชัดเจนแตกต่างกัน ส่วนใหญ่ก็มาจากท้องถิ่น สิ่งหนึ่งที่มีเหมือนกันคือรูปแบบกิจกรรมที่คล้ายกัน ทุกภาคจะมีการสรงน้ำพระพุทธรูป มีการทำบุญก่อทรายและอะไรก็ตามที่เป็นการทำบุญเสริมสิริมงคล ขอพรจากผู้ใหญ่ นั่นคือสิ่งที่เหมือนกันแต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือรายละเอียดต่างๆ เช่น ดอกไม้ที่นำมาประกอบในการขอพร
“ภาคกลางก็อาจจะเป็นแค่มาลัย ภาคอีสานเป็นบายศรี ภาคเหนือก็เป็นเครื่องรดน้ำดำหัวเลย นี่คือความแตกต่างกันในเรื่องของรายละเอียด” วิวัฒน์อธิบายเพิ่มเติม
สำหรับในงานนิทรรศการจะมีการจัดแสดงให้เห็นความแตกต่างของสงกรานต์ทั้ง 4 ภูมิภาค เช่น เครื่องแต่งกายที่ว่าเหมือนกัน ในทางศิลปะก็มีความแตกต่างกัน สถาปัตยกรรม วัด หรือสิ่งที่ปรากฏในบุษบกเองมีความแตกต่างกัน หรือพวกอาหารที่ทำ เครื่องบูชาหรือเครื่องทรง ก็จะมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันออกไป
“แต่จริงๆ จุดหนึ่งที่คนไทยมีเหมือนกันคือ นิสัยที่มีความรื่นเริง ในทุกงานบุญ เราจะมีความรื่นเริงเข้ามา และการรื่นเริงก็จะมีกิจกรรม อาหารแล้วก็มีเรื่องความบันเทิงในเรื่องของดนตรี เครื่องดนตรีก็เป็นตัวหนึ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่างในงานเทศกาล
“ภาคกลางก็เป็นกลองยาว เถิดเทิง ภาคเหนือก็เป็นระบบซอ ล้านนา อ้อยอิง สนุกสนานคึกคัก ภาคอีสานเป็นเครื่องตีดีด คึกคัก ภาคใต้ก็เป็นกลองรำมะนา อิทธิพลจากทางใต้ ทางเหนือ อีสาน ก็ผสมปนกันไปตามแต่ละพื้นถิ่นของแต่ละภาคลงไป ซึ่งตรงนี้ที่ทำให้เกิดความรู้สึกแตกต่างและเป็นกลิ่นอายเฉพาะของแต่ละภาค”
……….
แล้ววันสงกรานต์ปีนี้ คุณไปร่วมประเพณีสงกรานต์ที่ภาคไหน หรือกลับบ้านเกิดในเทศกาลสงกรานต์ เหนือ-ใต้-กลาง-อีสาน-ออก-ตก ในฐานะคนไทยหัวใจเบิกบานถ้วนหน้า ในวันหยุดยาวพร้อมหน้าพร้อมตาสุขใจอบอุ่นกันทั้งครอบครัว
>>>>>>>>>>
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK