อุแว้...อุแว้ เสียงจากหลายชีวิตที่กำลังจะขับเคลื่อนอย่างช้าๆ บนโลกใบนี้ เสมือนเป็นเพลงบรรเลงของความโศกเศร้าเพราะรู้ถึงชะตากรรมอันโดดเดี่ยวที่ต้องเผชิญอย่างลำพัง ไม่เพียงเท่านั้นพวกเขายังถูกพรากบางอย่างจากห้วง 'ทุพพลภาพ' ตั้งแต่กำเนิด
หากความทุพพลภาพนั้นได้รับการดูแลจากผู้ให้กำเนิด ถือเป็นความโชคดีและเป็นสิ่งที่สามารถทำให้พวกเขายืนหยัดอยู่ในสังคมได้อย่างภาคภูมิ แต่ชะตากรรมอันโหดร้ายของผู้บริสุทธิ์ตัวน้อยที่ถูกทอดทิ้งอย่างความไร้ปรานี ซึ่งสถานที่ที่ทารกพิการถูกทิ้งมากที่สุดนั้นคือ โรงพยาบาล รองลงมาคือตามท้องถนน ฯลฯ ซึ่งพวกเขาก็กลายมาเป็นสมาชิกของสถานสงเคราะห์เด็กพิการไปโดยปริยาย
และสถิติของเด็กพิการที่ถูกทอดทิ้งนั้นก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้านสถานสงเคราะห์เองก็ต้องรองรับสมาชิกผู้ไร้เดียงสาที่เพิ่มขึ้น จนปริมาณของเด็กนั้นมากจนสถานที่และบุคลากรไม่เพียงพอ อย่างกรณีครูพี่เลี้ยงที่รับภาระดูแลเด็กเกินอัตราส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
กระทั่งคณะรัฐมนตรีหรือ ครม. อนุมัติให้เพิ่มการจ้างครูพี่เลี้ยงเด็กพิการกว่า 10,000 อัตรา เพื่อปฏิบัติงานช่วยเหลือดูแลเด็กพิการร่วมกับครูผู้สอนในโรงเรียนการศึกษาพิเศษ, ศูนย์การศึกษาพิเศษ, โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ และโรงเรียนที่จัดการเรียนร่วมทั่วประเทศ
สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงการไร้ความรับผิดชอบของพ่อแม่บางประเภทในสังคม ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นก็คงมีเพียงตราบาปที่ติดตัว แต่สำหรับเด็กพิการผู้ถูกทอดทิ้งนั้นต้องเผชิญวิบากกรรมถูกจองจำในความสงเคราะห์ของสังคมไปชั่วชีวิต
สถานการณ์เด็ก (พิการ)
เด็กพิการที่ถูกทอดทิ้งในประเทศไทยนั้น ถือว่าเข้าสู่ภาวะวิกฤติ นพ.ประจักษ์ เภตรากาศ ประธานมูลนิธิเด็กพิการบอกเล่าถึงสถานการณ์ของเด็กพิการในประเทศไทย ว่า
“เฉลี่ยแล้วเด็กพิการที่มีอยู่ในประเทศไทย มีอยู่ประมาณ 20 - 30 เปอร์เซ็นต์ของคนพิการทั้งหมดที่อยู่ในวัยเรียน โดยหลักการแล้ว ถ้าเราพูดถึงความพิการก็หมายถึงคนที่ทำกิจวัตรประจำวันบางอย่างไม่ได้เหมือนคนปกติ”
สิ่งหนึ่งที่เด็กพิการขาดโอกาสเป็นอย่างมากนั้น ก็คือการศึกษาที่เทียบเท่าคนปกติ ซึ่งการที่เขาจะทำกิจกรรมทางสังคมแบบคนทั่วไปย่อมเป็นปัญหา ในส่วนนี้จำเป็นต้องมีครูพี่เลี้ยงดูแล
“การที่เขาจะเข้าไปทำกิจกรรมทางสังคมอย่างการเรียนหนังสือนี่จะเป็นปัญหา เพราะระบบการศึกษาแบบทั่วไปออกแบบมาให้สำหรับคนที่ช่วยตัวเองได้ในระดับหนึ่ง ดังนั้นถึงแม้เด็กจะสติปัญญาดี ภาวะทางอารมณ์ดี แต่เด็กก็อาจจะมีความพิการทางร่างกายที่อาจจะช่วยตัวเองไม่ได้ ทำให้ขาดโอกาสในการศึกษา”
ในระบบการศึกษาของประเทศญี่ปุ่นครูจะทำหน้าที่สอน และทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงไปด้วย ซึ่งประจักษ์ยังยืนยันอยู่เสมอว่า สุดท้ายแล้วครู ยังคงเป็นคนที่มีบทบาทสำคัญต่อพัฒนาการของเด็กที่สุดเสมอ ไม่ว่าจะมีพี่เลี้ยงหรือไม่ก็ตาม
ในเงาครูพี่เลี้ยง
สังคมอาจตัดสินเรียกเด็กที่มีความบกพร่องว่า 'เด็กพิการ' แต่สำหรับคนกลุ่มหนึ่งพวกเขานั้นเป็น 'เด็กพิเศษ' ครูพี่เลี้ยงนั้นมีความสำคัญต่อการพัฒนาการของเด็กกลุ่มนี้เป็นอย่างมาก เพราะเป็นผู้ช่วยของครูผู้สอน ช่วยเกื้อกูลการเรียนรู้สู่เด็กพิเศษ
นฤมล เพชรน้อย รักษาการหัวหน้าฝ่ายวิชาการศูนย์การเรียนรู้พิเศษประภาคารปัญญา หน่วยงานภาคเอกชนสังกัดมูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อนแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เปิดเผยว่าศูนย์ฯ นี้จัดตั้งเพื่อฝึกอบรมพัฒนาการของเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาในระดับปานกลางและระดับหนัก
“ครูพี่เลี้ยงนั้นมีความสำคัญมาก ครูพี่เลี้ยงจะทำหน้าที่ช่วยครูผู้สอนดูแลเด็ก ซึ่งการที่มีครูพี่เลี้ยงก็จะดูแลในเรื่องช่วยการสอนได้อย่างใกล้ชิด สามารถเข้าถึงตัวเด็กได้มากขึ้น เพราะบางเรื่องครูผู้สอนนั้นไม่สามารถทำเองได้ทั้งหมดจำเป็นต้องมีพี่เลี้ยงค่อยช่วย”
สิ่งหนึ่งที่ครูพี่เลี้ยงพึงต้องมีคือนิสัยรักเด็ก ด้านหน้าที่ของครูพี่เลี้ยงนั้นก็จะค่อยดูแลให้เด็กช่วยเหลือตัวเองได้เบื้องต้น เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่สังคมภายภาคหน้า
“ครูพี่เลี้ยงที่นี่ส่วนมากจะรักเด็กอยู่แล้ว ก็เหมือนกับการเลี้ยงลูก เลี้ยงหลาน ดูแลกิจธุระส่วนตัวอาจจะพาเด็กเข้าห้องน้ำ สอนแต่งตัว ฯลฯ ทั้งหมดนี้เสริมสร้างทักษะช่วยเรื่องพัฒนาการของเด็กได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับตัวเด็กแต่ละคนด้วยว่ารับได้แค่ไหน อย่างบางคนอายุ 10 ขวบ เรียนมา 2 ปียังไม่สามารถแต่งตัวเองได้ ฯลฯ สำหรับเด็กที่ได้รับการฝึกอบรบแล้วเขาก็ช่วยเหลือตัวเองได้ในระดับหนึ่ง”
ส่วนสำคัญอีกอย่างที่ครูพี่เลี้ยงทุกคนต้องมีคือ ความรักผิดชอบ ความเสียสละ และความเอื้ออาทร เนื่องจากพัฒนาการของเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาหรือทางด้านอื่นนั้นช้ากว่าเด็กปกติ
นักเรียนพิการมาตรฐานการศึกษาบนเส้นด้าย
ลักษณะความพิการแต่ละอย่างนั้นมีผลกระทบต่อตัวเด็กที่แตกต่างกัน แต่เด็กกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลทั้งทางด้านร่างกายและส่งเสริมศักยภาพทางด้านจิตใจไปพร้อมๆ กัน
ณรงค์ ปฏิบัติสรกิจ ประธานมูลนิธิคนพิการไทย อธิบายถึงนโยบายเกี่ยวกับครูพี่เลี้ยงเด็กพิการของกระทรวงศึกษาธิการว่า ยังไม่มีความชัดเจนตามมาตรฐานสากลทั้งในเรื่องนโยบายและบุคลากร
ตัวอย่างเช่น ความมั่นคงทางวิชาชีพของครูพี่เลี้ยงซึ่งมีน้อยมาก เพราะบุคคลเหล่านี้ไม่ได้มีตำแหน่งประจำ แต่ทำงานตามสัญญาจ้าง และคิดค่าจ้างเป็นรายวันหรือรายชั่วโมง ดังนั้นจึงไม่มีคนที่จะเข้ามาทำงานด้านนี้อย่างจริงจัง
"กระทรวงศึกษาธิการไม่มีอัตราตรงนี้จริงจัง อย่างปกติเขาจะมีศูนย์การศึกษาพิเศษ จังหวัดละศูนย์ แล้วแต่ละจังหวัดก็จะมีอัตราการจ้างของตัวเอง และครูพวกนี้ดูแลเด็กแบบทั่วไป ถือเป็นครูประจำชั้นเท่านั้นและฐานะก็ไม่แน่นอน พอหมดสัญญาจ้างก็ต้องออก ดังนั้นพอเขาเห็นแบบนี้ หากมีที่อื่นดีกว่าเขาก็ไป ดังนั้นครูที่ได้รับการอบรมมาจึงขาดแคลนอยู่เรื่อยๆ"
เมื่อมาเทียบกับต่างประเทศ เด็กพิการในสังคมของไทยจึงอยู่ในสภาพที่น่าเป็นห่วง เพราะระบบวิธีการจัดการของประเทศที่เจริญแล้วนั้นดีกว่าไทยอยู่มาก อาทิ อัตราการจ้างครูซึ่งมีกำหนดไว้แน่นอน และแบ่งประเภทเด็กชัดเจน เช่น เด็กที่เป็นออทิสติกก็จะต้องมีผู้ดูแลอยู่ตลอดเวลา ขณะที่เด็กที่พิการทางร่างกายก็สามารถปล่อยได้
"ของเราเทียบกับคนอื่นเขาไม่ได้ ไม่ใช่เพราะปัญหาด้านคุณภาพ เพราะเรื่องนี้มันพัฒนากันได้ แล้วเราเองก็มีศูนย์อบรมแต่ปัญหาอยู่ที่วิธีจัดการ คือต้องเข้าใจก่อนว่าบ้านเรามีบุคลากรด้านนี้ไม่เพียงพอ ทั้งที่จริงๆ กองทุนการศึกษาสำหรับเด็กพิการก็มีเงินพอสมควร แต่ครูพี่เลี้ยงนั้นไม่มีความแน่นอนจะหมุนเวียนตลอดเวลา ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลไปถึงเด็ก เพราะครูที่ไม่คุ้นเคยกับเด็ก ไม่พัฒนาศักยภาพในตัวเอง ก็ย่อมจะไม่สามารถสอนหรือพัฒนาเด็กได้"
เพราะฉะนั้นทางออกของเรื่องนี้ จึงอยู่ที่รัฐจะมีความจริงจังกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น ณรงค์ กล่าวแนะว่าต้องเปิดตำแหน่งอัตราประจำให้แก่ครูพี่เลี้ยงเหล่านี้ เพราะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องความไม่ต่อเนื่องของครูพี่เลี้ยงได้
………
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่จะโอบอุ้มเด็กพิการให้ใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติที่สุด ก็คงเป็นโอกาสที่สังคมพร้อมใจกันหยิบยื่นให้พวกเขา เพราะความพิการนั้นไม่ได้เป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิตแต่อย่างใด แม้จะมีนโยบายจากภาครัฐในเรื่องอัตราครูพี่เลี้ยงเด็กพิการเพิ่มขึ้นให้เพียงพอ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีแต่ไม่ใช่ดีที่สุด เพราะกระบวนการทั้งหมดก็เป็นการแก้ปัญหาที่เหตุปลายสุด ไม่ใช่ต้นเหตุของการขาดแคลนครูพี่เลี้ยง เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาเด็กพิการที่ถูกทอดทิ้งในสังคมไทย จึงไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของสถาบันครอบครัวและความร่วมมือร่วมใจของคนในสังคม
เมื่อบางสิ่งขาดหายไป ฉันกลายเป็น 'เด็กพิการ' ขอแค่ให้พวกเขาพิการทางร่างกายหรืออวัยวะเพียงอย่างเดียว แต่อย่าปล่อยให้เด็กๆ เหล่านี้ต้องพิการทางจิตใจอย่างไม่มีทางแก้อีกเลย
>>>>>>>>>>
………
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK