xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิต ความคิด มุมมอง ของผู้ชายไม่ธรรมดา ‘สุชาติ ชวางกูร’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“...เหมันต์ที่ผ่านพ้นไป ผ่านไปพร้อมใบไม้บาน
ร่วงลงพลิ้วปลิวลู่ลงธาร ดูใบไม้วาร อ้างว้างเอกา...”
 

เป็นเวลาเกือบ 30 ปีแล้วที่เสียงเพลงเหมันต์ที่ผ่านพ้นไปก้องอยู่ในโสตประสาทของนักฟังเพลง

เช่นเดียวกับเจ้าของเสียงดังกล่าว ‘สุชาติ ชวางกูร’ นักร้องชายซึ่งเคยเป็นที่จับตามองมากที่สุดในวงการดนตรี จากเพลงฮิตนับ 10 เพลง ไม่ว่าจะเป็น ‘ใจรัก’, ‘ดวงฤดี’, ‘สายธาร’, ‘ภวังค์รัก’ ฯลฯ ก่อนที่จะหายหน้าหายตาไปจากวงการอย่างเงียบๆ เพื่อไปศึกษาต่อในต่างประเทศและทำในสิ่งที่ตัวเองใฝ่ฝัน

และเมื่อเขากลับมาอีกครั้ง พร้อมกับคอนเสิร์ตย้อนวัย ’วันวาน...แห่งความทรงจำ’ จึงขอถือโอกาสนี้ชักชวนผู้ชายเสียงเพราะคนนี้มาพูดคุยถึงชีวิตและมุมมองความคิด ซึ่งรับรองว่าไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน

สำหรับคุณ นิยามของผู้ชายที่ชื่อ ‘สุชาติ ชวางกูร’ เป็นอย่างไร

คงเป็นคนที่สบายๆ ตรงไปตรงมา คือถ้าคนไหนที่เข้าใจในสิ่งที่เราพูดก็จะชอบเรา ปากหมาดี (หัวเราะ) แต่คนไหนที่ชอบแต่มธุรสวาจา ก็จะไม่ชอบเรา คนไทยจะมองการพูดตรงๆ เป็นคนเลวเป็นคนร้าย ซึ่งเป็นทัศนคติที่ผิด คือเราจะชอบคนที่พูดจานิ่มๆ ถูกหรือผิดไม่รู้ ขอให้นิ่มไว้ก่อน

ที่สำคัญผมว่าผมเป็นคนจริงจัง อย่างการร้องเพลงก็เป็นคนตั้งใจร้อง เพราะฉะนั้นจะไม่มีทางเห็นผมไปร้องตามห้องอาหาร ตามสถานที่บันเทิงอย่างที่เขาทำกัน คือไม่ได้หมายความว่าทำแบบนั้นแล้วมันจะชั่วร้ายนะ แต่เราไม่ชอบ เราชอบร้องอะไรที่จัดขึ้นมาเพื่อให้เราตั้งใจไปร้อง แล้วคนก็ตั้งใจไปฟัง

อย่างนั้น เพลงที่ออกมาแต่ละเพลงจึงถือว่าสะท้อนตัวตนของคุณค่อนข้างมาก

ใช่ ผมว่าเสน่ห์ของเพลงผมนั้นอยู่ที่ความจริงใจ คือเวลาที่เราร้องอะไรมา เราก็เชื่อ มันมีความจริงใจอยู่ในนั้นนะ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเนื้อเพลง พวกทำนอง มันได้บอกความรู้สึกของคนแต่งเยอะมากเลย แล้วเรารู้สึกภาคภูมิที่ได้ถ่ายทอดออกมา และที่สำคัญแต่ละเพลงก็มีเรื่องราวที่ไม่เหมือนกันในแต่ละแง่มุม อย่างบางเพลงที่เราเห็นว่าเป็นเพลงรัก แต่มันยังมีทั้งแอบรักเขา รักแบบอกหัก รักแบบสมหวัง รักแบบคิดถึง รักเขานะแต่ไม่ยอมบอกให้เขารู้ รักแบบเพื่อน

ผ่านมาแล้วทุกแบบ

ก็เกือบแล้ว (หัวเราะ)

แต่ถ้าว่าไปแล้ว เพลงของคุณก็ถือว่าเก่าพอสมควร เมื่อมาเทียบกับยุคปัจจุบัน

ไม่หรอกครับ เพราะเพลงส่วนใหญ่ของผมเป็นเรื่องของความรัก แล้วความรักมันไม่มีคำว่าเก่า สังคมมันไม่มีหน่วยความจำนะ คืออะไรที่เราเคยจำ เคยโต พอวันหนึ่งเราก็หายไปจากสังคมนี้ เด็กที่เกิดขึ้นมาใหม่ก็จะไม่สามารถเอาประสบการณ์หรือความจำของเราไปดีลกับเขาได้ ก็ต้องเริ่มขึ้นมาใหม่ เรื่องความรักก็เหมือนกัน ต้องเรียนใหม่ ถูก ผิด ชั่ว ดี อยู่ตลอดเวลา

แสดงว่าก็มีความโรแมนติกอยู่ในตัวสูงเหมือนกัน

ใช่ (หัวเราะ) ผมว่าทุกคนมีแง่มุมนี้อยู่ทุกคนเพียงแต่เราจะยอมรับมันหรือเปล่าเท่านั้นเอง บางทีอาจจะไม่รู้สึกว่ามันโรแมนติกก็ได้ แต่เราไปเพราะความห่วงใยใครบ้างคน เช่น เวลาเราไปทำงานด้วยกัน ผมอยากจะรู้นะว่าเพื่อนเราทุกคนกลับถึงบ้านปลอดภัย

เห็นคุณเน้นเรื่องความจริงจังค่อนข้างมาก อะไรคือสาเหตุที่ทำให้คุณใส่ใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ

คงเป็นเพราะตอนเด็กๆ ผมชอบดูคอนเสิร์ตต่างประเทศมากมั้ง ซึ่งก็โอเคว่ารูปแบบก็มีหลากหลายนั่นแหละ แต่มีอยู่แบบหนึ่งคือร้องแบบจริงๆ จังๆ แล้วคนฟังเองก็ฟังแบบจริงๆ จังๆ ซึ่งผมว่าคนไทยเราขาดตรงนี้ เพราะอะไรเราก็ไม่จริงจัง เป็นนักเรียนก็ไม่เรียนอย่างจริงจัง เป็นครูก็ไม่เป็นครูอย่างจริงจัง เป็นนักการเมืองก็ไม่จริงจัง ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่แตกต่างกันอย่างมหาศาลระหว่างคนไทยกับสังคมตะวันตก เพราะเขามีระเบียบแบบแผน มีความจริงจังอย่างในสิ่งที่ทำ แม้แต่เวลาสนุกก็ยังสนุก

เพราะฉะนั้นเวลาดูคอนเสิร์ตคนไทยจึงไม่เต็มที่ไง เราไม่สามารถทำความเข้าใจกับคนๆ นี้ได้ถึง 2 ชั่วโมง เพราะเราไม่ได้มีความชื่นชมแบบจริงๆ จังๆ เราแค่คิดว่าคนนี้เก่ง คนนี้ดี เพราะการตลาด เพราะสื่อบอกคนนี้เป็นซูเปอร์สตาร์ เราก็เชื่อ โดยไม่ได้มีการพิสูจน์ว่าคนนี้เขาเป็นจริงๆ หรือเปล่า แต่ถ้าคุณไปดูเขา ก็จะมีคำถามเกิดขึ้นแน่ๆ ว่าเขาจริงหรือเปล่า เวลาเขาแสดงคอนเสิร์ตของลิปซิงก์หรือเขาร้องสด คือเราเคยขัดแย้งกับสื่อไหม เราไม่เคยคิด หรืออาจจะคิดแต่เราไม่กล้าพูด พอเราไม่พูด คนส่วนใหญ่ก็จะฟังความฝ่ายเดียวว่าคนนี้เป็นนักร้องซูเปอร์สตาร์

อย่างคุณจัดเป็นซูเปอร์สตาร์หรือเปล่า

เราเรียกตัวเองไม่ได้หรอก แล้วการที่จะไปสั่งให้บริษัทของตัวเองไปทำการตลาด เพื่อให้ทุกคนเรียกว่าเราว่าซูเปอร์สตาร์ ผมละอายใจ

แต่ก็ต้องยอมรับว่าในยุคหนึ่ง คุณเองก็ถือเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง

นั่นเป็นสิ่งที่สื่อเป็นคนมอบให้เราเอง เขาคิดเอง แต่ตอนนี้ที่เป็นปัญหา เพราะสื่อจำนวนหนึ่ง ซึ่งถือเป็นตัวนำๆ มีผลประโยชน์ทับซ้อน เลยไปลงข่าวว่าคนนั้นคนนี้เป็นซูเปอร์สตาร์ ซึ่งพอเป็นแบบนี้ตัวอื่นๆ ก็เลยวิ่งตามกันหมด โดยไม่มีการโต้แย้ง ซึ่งผมถือว่ามันทำให้สังคมของเราบอดทึบทางปัญญา

เมื่อสภาพสังคมเป็นเช่นนี้ คุณปรับตัวอย่างไร

ก็เป็นของเราแบบนี้แหละ (ยิ้ม) อย่างเวลาที่ต้องเข้าไปอยู่ในสังคมที่ไม่จริงจัง เราก็คุยกับเขาแบบเผินๆ ไม่ลงลึก และไม่พยายามจะเสียเวลากับเขาด้วย พอเสร็จแล้วเราก็บ๊ายบาย (ยกมือประกอบ)

แต่ระบบวงการเพลงในยุคนั้นก็น่าจะเป็นเยอะเหมือนกัน?
ใช่ (ตอบทันที) เราเห็นความไม่จริงจัง จนกลายเป็นบรรทัดฐานของสังคมไปแล้วไง ยกตัวอย่างเช่นคอนเสิร์ต บางคนที่รู้ว่าผมจะมีคอนเสิร์ต เจอหน้าก็จะถามเลยว่ามี เมื่อไหร่ ที่ไหน และรู้ไหมสิ่งที่เขาจะถามต่อคืออะไร

….ไม่ทราบ

มี Guest (แขกรับเชิญ) ไหม ซึ่งของเราไม่มี คือจริงๆ สำหรับผมการจะมีแขกหรือเปล่านั้น ไม่ใช่เรื่องชั่วช้าเลวร้ายสามานย์ แต่เราควรจะดูที่มาที่ไปของการมี Guest ด้วย อย่างคอนเสิร์ตที่มีนักร้องหลายๆ คนในตะวันตกหรือตามบรรทัดฐานของสังคมโลก ก็มีที่งานแจกรางวัล เช่นรางวัลแกรมมี่ หรืองานที่ทุกเพลงที่เราเล่นเพลงของอาจารย์แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ แล้วทุกคนที่มาร้องเพลงของอาจารย์แมนรัตน์หมดเลย แบบนี้โอเค แต่ถ้าเราไม่รู้จักเขาเลย แล้วให้ไปร้องได้ยังไง

เพราะระบบแบบนี้หรือเปล่าที่ทำให้ต้องหายไปจากวงการ

หลักๆ ผมไปเรียนนะ แต่เรื่องนี้ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งมากกว่า เพราะสมัยนั้นไม่แรงขนาดนี้

ยอมละทิ้งชื่อเสียงเพื่อไปเรียนต่อ ถามจริงๆ พอคิดย้อนกลับมา เสียดายไหม

ไม่ (ตอบทันที) ผมมองถ้าเรายังอยู่วันนี้ก็อาจจะมีเงินเป็นพันล้านก็ได้ แต่ก็จะไม่มีประสบการณ์ชีวิตหรือโลกทัศน์อย่างที่วันนี้มี ตอนที่เราอยู่ มันเหมือนเราอยู่ในกะลา แต่การจะเจริญเติบโตได้ เราต้องคิดนอกกรอบ ต้องมีประสบการณ์ให้ได้ เราถึงต้องแสวงหาด้วยการออกไปข้างนอก

แต่เมื่อกลับมาทุกอย่างก็ไม่เหมือนเดิม

ทุกอย่างเปลี่ยนหมดเลย แม้แต่จิตใจคน แต่เราก็ยังอยากกลับมานะ กลับมาสอนหนังสือ กลับมาถ่ายทอดความรู้ที่เรามี แล้วก็ทำบริษัทของเราเอง จะได้ทำระบบของเราเอง (หัวเราะ)

เป็นไปอย่างที่คิดไว้ไหม

โป๊ะเชะเลย เพราะเราจะได้เจอคนที่คุยกันรู้เรื่อง เหมือนบางคนที่เขาอึดอัดกับระบบตรงนี้ตรงนั้น เวลาเราคุยกัน มันจะตรงกันโดยบังเอิญ แบบที่เราไม่เคยสุ่มหัวหรือเตรียมอะไรไว้ก่อน

แล้วไม่อยากกลับมาเป็นนักร้องเหรอ

การเป็นนักร้องคือส่วนที่ทำให้เรามีวันนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของเรา ดังนั้นหากเรายังมีความสามารถอยู่ก็อยากจะร้อง แต่เมื่อถึงวันหนึ่งที่เราคิดว่าร้องไม่ไหวแล้ว ก็ต้องเลิก ซึ่งแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคน 70-80 ปีก็ยังร้องเพลงได้

พอสรุปได้ไหมว่าทั้งหมดนี้คือสาเหตุทำให้คุณตัดสินใจไปทำงานเพื่อสังคมมากขึ้น

ผมว่าถ้าเราไม่คิดมาก ก็อยู่กันแบบไปวันๆ เหมือนที่คนส่วนใหญ่เขาอยู่ แต่ถ้าเราคิดมันเป็นปัญหา ก็จะมีเรื่องที่ต้องแก้ไขอีกเยอะเลย บอกตรงๆ ตอนนี้ผมมีความรู้สึกเป็นห่วงทุกๆ อณู ทุกๆ องศา รอบตัวเรา 360 องศาหันมีปัญหาทุกองศา การที่ยังไม่มีใครเอาระเบิดมาถล่มใส่หัวเรา อย่าคิดว่ามันสงบนะ มันเพียงแค่รอวันปะทุเท่านั้นแหละ เพราะโครงสร้างบ้านเรามันผุมาก ถ้ามีนกสักตัวมาเกาะหลังคาบ้าน อาจตายกันทั้งหลังได้เลย ถ้าเราไม่แก้ไข

อย่างล่าสุด ตอนที่เกิดเหตุการณ์ไม่สงบในกรุงเทพฯ เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งตำรวจและประชาชนโดนฆ่าตายไปเยอะแยะ หลายคนที่เจ็บก็จะมาอยู่ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ เพื่อนผมที่ชื่อ ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัย ก็โทร.มาบอกว่า ไปเยี่ยมทหารกันไหม เราก็เลยโทร.หาอีกหลายคนเลย เช้าวันรุ่งขึ้นคนมาจากไหนก็ไม่รู้ มืดฟ้ามัวดิน บางคนก็เอาเงินมาร่วมทำบุญใส่ถุงพลาสติก เชื่อไหมวันนั้นวันเดียว 70,000 บาท และเราก็ให้แบ่งให้ทหารเท่าๆ กัน แล้วทุกวันจันทร์เราจะมีคนมาช่วยกันเยี่ยมทหาร จนอาการดีขึ้น

มาตอนหลังที่เขาต้องกระจายไปอยู่ตามตึกต่างๆ เราก็ยังไปเยี่ยม ซึ่งเราไปเจอตึกหนึ่งชื่อว่า ตึกมหาวชิราลงกรณ ชั้น 5 ซึ่งคนที่อยู่ตรงนั้นเป็นคนที่มีปัญหาเรื่องกระดูก แขนขาด ขาขาด ซึ่งบางคนก็บาดเจ็บจาก 3 จังหวัดชายแดนภายใต้ หรือแนวตะเข็บชายแดน ซึ่งคนเหล่านี้ไม่มีใครมาเยี่ยมเขาเลย นอกจากญาติพี่น้องเขา ก็เลยมีความรู้สึกว่าเราไม่ได้ทำหน้าที่นะ เขาต่างหากที่ทำหน้าที่ เราอยู่ในกรุงเทพฯ ไปทำงานได้ตามปกติ เพราะคนเหล่านี้ เราได้ตอบแทนอะไรเขาบ้าง แค่เดือนละครั้ง 2-3 ชั่วโมงมาเยี่ยมเขาได้ไหม ไม่ไปดูหนังสักเรื่องได้ไหม ไปอยู่กับเขา ตอบแทนบุญคุณเขา เราก็เลยชวนกันไปทุกเดือน ไปเลี้ยงข้าว จนถึงทุกวันนี้

นอกจากเรื่องการดูแลทหารแล้ว ยังมีโครงการอื่นอีกไหม

ตอนนี้พวกเรามีโครงการว่าหลังเกษียณจะซื้อที่สัก 500-600 ไร่ในนามมูลนิธิ โดยเราจะเอาเด็กแบเบาะที่พ่อแม่ไม่มีความสามารถในการเลี้ยงดู มาให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง โดยเราจะเป็นปู่ย่าตายายให้ เพราะเรามองว่าคนวัยเกษียณนั้นมีศักยภาพสูง มีความมั่นคงทางอารมณ์สูง ถ้าคุณเอาสิ่งที่เขามีทิ้งไปเฉยๆ ก็น่าเสียดาย เพราะฉะนั้นเอามาสร้างคนรุ่นต่อไปให้เป็นทรัพยากรของชาติดีกว่า

แสดงว่า ตอนนี้ตั้งใจจะเกษียณแล้ว?

ยัง (ตอบทันที) เมื่อวานนี้ผมยังรู้สึกว่าตัวเองอายุ 27 อยู่เลย (หัวเราะ)
.........

คอนเสิร์ต 'วันหวานแห่งความทรงจำ สุชาติ ชวางกูร' ณ โรงภาพยนตร์สกาล่า ในวันศุกร์ที่ 18 มีนาคม 2554 รอบ 19.00 น. - วันเสาร์-อาทิตย์ที่ 19-20 มีนาคม รอบ 13.00 น. และ 19.00 น. จองบัตรได้ที่ ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ ทุกสาขา สอบถามรายละเอียดที่ 02-262-3456 หรือ www.thaiticketmajor.com บัตรราคา 2,500 บาท 2,000 บาท และ 1,500 บาท
>>>>>>>>>>
……..
เรื่อง : สุทธิโชค จรรยาอังกูร
ภาพ : พงศ์ศักดิ์ ขวัญเนตร





กำลังโหลดความคิดเห็น