ถูกกล่าวหามานานว่าเป็นแดนสนธยา สำหรับกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง
เพราะนอกจากจะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์นับหลายหมื่นล้านบาทแล้ว ยังมีเรื่องนำของหนีภาษีเข้าประเทศ ซึ่งว่ากันว่าลักลอบกันเป็นล้านๆ บาท เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทำไมปีหนึ่งๆ ตัวเลขสินบนและรางวัลนำจับที่รัฐบาลจะต้องจ่ายให้เจ้าหน้าที่ถึง 2,000 ราย คิดเป็นเงินก็สูงถึง 800-1,000 ล้านบาท
แน่นอนว่า ตรงนี้ก็คงจะว่าใครก็ไม่ได้ เพราะตัวพระราชบัญญัติศุลกากร ที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2469 หรือเมื่อ 84 ปีก่อน (สมัยนั้นประเทศไทยเปลี่ยนปีใหม่ตอนเดือนเมษายน) ได้กำหนดอัตราส่วนรางวัลนำจับสำหรับเจ้าหน้าที่ทั้งกรมศุลกากรเองหรือตำรวจซึ่งให้เบาะแสเอาไว้ 25 เปอร์เซ็นต์ของอัตราค่าปรับที่ประเมิน และคนทั่วไป 30 เปอร์เซ็นต์ โดยทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้มีการกำหนดอัตราขั้นต่ำต่อคดีไว้อีกต่างหาก
และจากตัวเลขที่สูงลิบลิ่วนี้เอง ทำให้ประชาชนเกิดข้อสงสัยนานัปการว่า งานนี้จะเข้าข่ายเจ้าหน้าที่ชงเอง-กินเอง หรือเปล่า เพราะเรื่องนี้คนที่รู้ดีที่สุดคงหนีไม่พ้นคนกันเอง และถ้าจะพูดกันถูกกว่านั้น เรื่องนี้ก็ถือเป็นหน้าที่ของกรมศุลกากรด้วยซ้ำที่จะต้องป้องกันไม่ให้มี ไม่ใช่มารอหวังเงินนำจับทีหลังไม่ใช่หรือ
ด้วยกระแสที่รุมกระหน่ำมานาน ในที่สุด ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ก็เลยต้องรีบเข้าไปจัดแจงปรับภาพลักษณ์ด้วยการนำเรื่องการแก้ไขกฎหมายชราฉบับนี้เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พร้อมเสนอแก้รางวัลสินบนของเจ้าหน้าที่จาก 25 เปอร์เซ็นต์เป็น 15 เปอร์เซ็นต์ โดยกำหนดเพดานไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อคดี ส่วนคนทั่วไปก็ยังอัตราส่วนเท่าเดิม แต่กำหนดเพดานไว้ที่ 10 ล้านบาทต่อคดีเท่านั้น
แต่อย่างว่า แม้เรื่องนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม แต่ในความจริงแล้ว ภาพอันชวนสงสัยของหน่วยงาน รวมทั้งเงินรางวัลก้อนมโหฬารก็ไม่ได้หายไปไหน เพราะฉะนั้นงานนี้ก็เลยต้องมาเปิดที่ไป-ที่มาของเรื่องรางวัลนำจับให้เห็นกันแบบชัดๆ ว่าเป็นอย่างไรกันแน่ และมีกระบวนการอย่างไร
[1]
หากจะว่าไปแล้ว จริงๆ เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยเฉพาะในภาคธุรกิจ ซึ่งพูดถึงมานานแล้ว อย่างเช่นคำให้สัมภาษณ์ของ กิตติพงษ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เมื่อ 2 ปีก่อนที่ระบุว่า ระบบนี้ถือเป็นปัญหาสำคัญต่อการค้าการลงทุนของประเทศ เพราะอาจถูกใช้เป็นช่องทางการเรียกรับผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากส่วนแบ่งที่เจ้าหน้าที่จะได้รับมีสัดส่วนสูงมาก
"ผมขอยกตัวอย่างกรณีการนำเข้าเหล็กซิลิกอน ถ้าผู้นำเข้าทุกรายยอมเสียค่าปรับ จะเป็นเงินทั้งสิ้น 3,000 ล้านบาท กฎหมายบอกว่าเงินสินบนนำจับทั้งหมด 55 เปอร์เซ็นต์ จะเท่ากับ 1,650 ล้านบาท จะตกเป็นของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง และเงินดังกล่าวไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ด้วย ใหญ่กว่าประมวลรัษฎากรอีก อีกทั้งบริษัทผู้นำเข้าสามารถนำเบี้ยปรับเงินเพิ่มของกรมศุลกากรมาตัดเป็นค่าใช้จ่ายได้ คือหากบริษัทเสียภาษี 30 เปอร์เซ็นต์ บริษัทก็นำเงิน 3,000 ล้านบาทดังกล่าวมาหักภาษีได้ 900 ล้านบาท จึงเหลือเงินเข้ารัฐเพียง 450 ล้านบาท หรือแค่ 15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น"
จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ที่ผ่านมาถึงมีแรงกระทุ้งดังๆ มาจากภาคธุรกิจต่างๆ ไปยังกระทรวงการคลังให้ปรับเปลี่ยนระบบนี้ หรือไม่ก็ยกเลิกไปเลยก็ได้ แต่ดูเหมือนสุดท้ายเรื่องนี้จะไม่ได้รับความสนใจจากภาครัฐเท่าที่ควร
ซึ่งหากให้คาดเดาสาเหตุว่า เป็นเพราะอะไร ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของ 'ผลประโยชน์'
ไม่ต้องไปไกลถึงเรื่องรางวัลนำจับ เอาแค่เรื่องค่าน้ำชาหรือรับสินบนก็ยังแฝงอยู่ในทุกขั้นตอนของระบบอยู่แล้ว ไม่เชื่อก็ลองฟังเรื่องเล่าของนักธุรกิจสาวซึ่งคุ้นเคยกับระบบศุลกากรและคนที่ชอบเลี่ยงภาษีเป็นอย่างดีดูก็ได้ เพราะเธอได้ย้ำชัดๆ เลยว่าการนำเอาสินค้าต่างๆ เข้าประเทศแบบไม่ยอมเสียเงินแม้แต่บาทเดียว ที่หลายคนนึกว่าจะซับซ้อนและมีหลายขั้นตอน แต่ในความจริงแล้วกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้นแม้แต่น้อย
“ของแบบนี้มันไม่ได้มีขั้นตอนอะไรมากหรอก มันอยู่ที่เส้นสายแล้วก็กำลังเงินมากกว่า กรณีแรก ถ้าเป็นคนมีเส้นสาย เขาก็จะบอกผู้มีอำนาจตั้งแต่ต้นแล้วว่า จะมีการเอาของเข้ามา ให้ละเว้นการตรวจหรือตรวจข้ามๆ ไปได้ไหม ซึ่งตรงนี้ก็อาจจะมีการจ่ายค่าดำเนินการให้เป็นรายเดือน หรือแล้วแต่จะตกลง
“แต่ถ้าเป็นการสุ่มตรวจเจอ ก็จะมีการตกลงผลประโยชน์กันตรงนั้นเลย คือมีค่าใช้จ่ายนิดหน่อยก็สามารถผ่านไปได้ บอกได้เลยว่าของแบบนี้มันอยู่ที่เพาเวอร์ซึ่งเป็นทุนเดิมว่ามีมากแค่ไหน บางคนซื้อของเข้ามาอย่างถูกต้องเสียภาษีทุกบาททุกสตางค์ แต่เอาของออกมาไม่ได้ก็มี ต้องให้คนที่มีเพาเวอร์โทร.ไปเคลียร์ ไม่นานก็เอาออกมาได้”
พอเห็นกันแล้วใช่ไหมว่า แค่เงินก้อนเล็กและผิดกฎหมายยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แล้วสำหรับเงินก้อนใหญ่ที่ถูกกฎหมายล่ะ มีหรือที่จะปล่อยไปได้
อย่างคำตอบของ ยรรยง ตั้งจิตต์กุล นายกสมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศไทย ที่มองว่าเรื่องนี้แบ่งได้เป็น 2 กรณี หากมองในแง่ดีก็ถือว่าสร้างแรงจูงใจให้ทุกฝ่ายร่วมกันตรวจสอบความถูกต้องของระบบการเสียภาษี แต่อีกมุมหนึ่งก็คือ ด้วยสัดส่วนที่สูงเกินไป ทำให้เกิดช่องว่างหาผลประโยชน์ของผู้ที่เกี่ยวข้องได้เหมือนกัน
“บางครั้งการให้รางวัลนำจับเยอะเกินไป มันก็เกิดช่องที่จะหาเหตุในการเสียภาษีไม่ถูกต้อง นำไปสู่การจับผิดเพื่อหวังผล ซึ่งผู้เข้าแจ้งเบาะแสจะมาจากกลุ่มที่หลากหลาย บางทีเป้าหมายในการแจ้งอาจต่างกันไป ตั้งแต่คู่แข่งทางการค้า ประชาชนที่พบเหตุพฤติกรรมชิปปิ้ง หรือตัวเจ้าหน้าที่เองก็ได้”
โดยบุคคลเหล่านี้อาจรู้ข้อมูลจากภายใน จากเอกสารที่ทางกรมศุลกากรมีอยู่ และสามารถมาตรวจสอบย้อนหลังได้ หรือกรณีผู้นำเข้าตรวจพบเองว่าเสียภาษีไม่ถูกต้องก็แจ้งเสียเอง หรืออีกวิธีก็อาจใช้หน่วยข่าวกรองของกรมศุลกากร เข้าไปตรวจสอบเอง
“อาจมีการแจ้งเรื่องในรูปแบบบัตรสนเท่ห์ส่งเรื่องไปที่กรมศุลกากรโดยไม่ระบุชื่อ หรืออาจโทร.มาแจ้งว่ามีการทำผิด ส่วนนี้เขาอาจต้องการปกปิดตัวเอง เพราะอาจก่อผลกระทบได้ ไม่เปิดเผยตัว แต่ทางเจ้าหน้าที่ก็อาจจะใส่ชื่อใครไปแทนก็ได้ ถ้าเหตุเป็นจริงรางวัลนำจับก็อาจกลายเป็นของบุคคลที่จับมาใส่ชื่อ ก็เป็นได้ที่จะเอาเงินตรงนั้นมาแบ่งกันเอง การดำเนินงานของราชการต้องมีการระบุชื่อผู้แจ้ง”
[2]
เห็นถึงปัญหาและความจริงที่เกิดขึ้นกับระบบศุลกากรมาตลอดกันแล้ว คราวนี้ก็ลองหันไปพูดคุยกับคนแก้ปัญหากันบ้างว่า เขามีมาตรการอย่างไรบ้าง และกฎหมายฉบับใหม่จะสามารถพลิกโฉมระบบนี้ได้อย่างไร
ประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมศุลกากร อธิบายถึงวัตถุประสงค์ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไว้ว่า เกิดขึ้นก็เพื่อลดข้อครหาและผลประโยชน์ทับซ้อน และถือเป็นการวางมาตรฐานให้เทียบเท่ากับต่างประเทศอีกด้วย
“ในประเทศที่เจริญแล้ว ปกติจะมีรางวัลสินบนนำจับ แต่เขามีการจำกัดว่าไม่เกินเท่าไหร่ อย่างอเมริกาก็มี ไม่เกิน 5 ล้าน 10 ล้าน ถ้าคิดเป็นเงินไทยแล้วนะ ในประเทศรอบๆ บ้านเรา อย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย ก็ยังมีเรื่องของสินบนรางวัลกันอยู่ เพียงแต่ว่าถ้ามีมากเกินไปก็ไม่ดี เราไม่ต้องการให้เปลี่ยนจากขาวเป็นดำ เราป้องกันไม่ให้มีการกลั่นแกล้ง ซึ่งเป็นไปตามภาคเอกชนที่มีการร้องเรียนมาว่าทำให้เกิดการกลั่นแกล้งกันได้”
อย่างไรก็ตาม การจะยกเลิกระบบนำจับไปเลยคงเป็นไปไม่ได้ เพราะถือเป็นแรงจูงใจสำคัญในการทำงาน แม้บางครั้งคนนั้นจะเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากร ซึ่งถือเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบไม่ให้เกิดปัญหาโดยตรงก็ตาม
“ถ้าคนที่นำเข้าถูกต้องก็เสียเปรียบในการขายจากคนที่เลี่ยงภาษี เราต้องเหลือรางวัลบ้าง เช่น น้ำมันเถื่อน สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ จับพวกมาเฟียทั้งหลาย แต่เมื่อลดลงมาแล้วมากไหม เมื่อเฉลี่ยกันแล้วได้คนละไม่มาก พอเป็นแรงจูงใจให้ทำงาน ไม่ทำให้รวย แต่เป็นแรงจูงใจ หากยกเลิกไม่ให้มีรางวัลนำจับและสินบนแล้วอาจจะเกิดปัญหา เพราะประเทศไทยแวดล้อมไปด้วยประเทศที่กำลังพัฒนาจึงมีความเสี่ยงที่ของหนีภาษีจะเข้ามามาก
“ส่วนเรื่องรางวัลของเจ้าหน้าที่ ผมยอมรับว่าเป็นหน้าที่ แต่เราก็ต้องบาลานซ์พอสมควร คงไม่มีใครอยากออกไปปราบปรามหรือจับกุม มีแต่อยากนั่งในเคาน์เตอร์ เงินเดือนเท่ากันกับคนเสี่ยงจับ คนเสี่ยงจับจะคุ้มหรือเปล่า”
อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกประเทศจะต้องมีรางวัลแบบนี้ เพราะบางประเทศที่ร่ำรวยและมีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องภาษีที่เข้มข้นก็ไม่มีเช่นกัน โดยเขาได้ยกตัวอย่าง ประเทศเนเธอร์แลนด์ซึ่งเก็บภาษี 50-60 เปอร์เซ็นต์ และหากใครเลี่ยงก็ต้องติดคุกทันที ซึ่งหากมาเทียบกับสภาพสังคมในประเทศไทยแล้วก็ถือว่าแตกต่างมาก
แต่ทั้งนี้ประสงค์ก็ยังยืนยันว่า แม้กฎหมายนี้จะออกมาหรือเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ปฏิบัติงานก็ไม่รู้สึกเท่าไหร่ เพราะทำงานกันเต็มที่ และไม่มีใครทำงานในลักษณะชงเอง-กินเองอย่างแน่นอน
“ไม่มีแล้วในโลกวันนี้ อีกสิ่งหนึ่งในปี 2558 ภาษีจะเหลือ 0 เปอร์เซ็นต์ทั้งหมด เพราะฉะนั้นเงินรางวัลก็จะหายไปทั้งหมดไม่มีเหลือแล้วละครับ แต่ว่าระหว่างที่มีภาษี เราก็ต้องทำพวกนี้”
........
แม้เงินพันล้านบาทจะดูไม่มากนักเมื่อเทียบกับเงินทั้งหมดในประเทศนี้ แต่นี่ก็คือ เรื่องตัวเลขของเงินนำจับและสินบนก็คือจุดที่สะท้อนถึงความล้มเหลวในระบบธรรมาภิบาลของสังคมไทยว่า ไม่ว่าเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ก็มีคนจ้องจะหาผลประโยชน์อยู่เสมอ
แน่นอนว่า ทางออกของปัญหาซึ่งดูเหมือนจะเป็นนามธรรมสักหน่อย แต่ก็เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้นั่นคือ หากทุกคนต่างเลือกรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตัวเองอย่างซื่อตรง ประเทศชาติก็คงไม่ต้องมานั่งเสียเงินเสียทองแบบนี้ไปตั้งนานแล้ว
>>>>>>>>>>
……..
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK