xs
xsm
sm
md
lg

'ชูการ์ไกลเดอร์' สัตว์เลี้ยงบินได้ ตัวละแสน!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชูการ์ไกลเดอร์ หรือจิงโจ้บิน
 
 
ผู้ที่นิยมเลี้ยงสัตว์คงไม่มีใครไม่รู้จัก “ชูการ์ไกลเดอร์” สัตว์เลี้ยงน่ารัก ที่ขณะนี้ได้กลายเป็นสัตว์เลี้ยงยอดฮิต ติด 1 ใน 10 ของคนที่นิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงไว้เป็นเพื่อนยามเหงา คุณคงอยากรู้แล้วใช่ไหมว่าอะไรกันนะ? ที่ทำให้หลายคนคลั่งไคล้ในความน่ารักของเจ้าสัตว์เลี้ยงตัวนี้ วันนี้ทีมงาน m-petจะพาคุณไปท่องอาณาจักรสัตว์เลี้ยงบินได้ และสัมผัสความน่ารัก ขี้อ้อนของเจ้า ชูการ์ไกลเดอร์ แบบตัวเป็นๆกันเลย

ปัจจุบันนี้จะเห็นได้ว่า สัตว์เลี้ยงที่หากินกลางคืนอย่างชูการ์ไกลเดอร์ กำลังเป็นที่นิยมของคนเมือง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไม่มีเวลามาใส่ใจสัตว์เลี้ยงมากนัก แต่ชูการ์สามารถตอบโจทย์ความต้องการของคนเลี้ยงได้ เนื่องจากวิถีการดำรงชีวิต และลักษณะนิสัยของสัตว์ประเภทนี้ ได้เข้ากันกับไลฟ์สไตล์ของคนในสังคมปัจจุบันได้ดี แค่เวลาเพียงไม่นานเจ้าชูการ์ก็เข้ามาโดดโลดเล่นในกระเป๋าของคนรักสัตว์เป็นจำนวนมาก

มารู้จักชูการ์กัน
ชูการ์ไกลเดอร์ (sugar glider) เรียกสั้นๆว่า “ชูการ์” หลายคนรู้จักในชื่อ “จิงโจ้บิน” เนื่องจาก ชูการ์เป็นสัตว์ที่มีกระเป๋าหน้าท้องสำหรับเลี้ยงดูลูกอ่อน อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับ หมีโคอะลา และจิงโจ้ ชูการ์มาจาก 2 แหล่งคือประเทศออสเตรเลีย และประเทศอินโดนีเซีย หมู่เกาะปาปัวนิวกินี แต่ในออสเตรเลีย ถือว่าเป็นสัตว์สงวนไม่สามารถนำออกมาได้
สิทธิพล วิสูตร เจ้าของฟาร์มสัตว์เลี้ยง “เอกชูการ์” บอกว่า ฟาร์มของเราจะเป็นสายพันธุ์ที่มาจากอินโดนีเซีย ซึ่งแต่เดิมนั้นอายุตามธรรมชาติของชูการ์สามารถอยู่ได้เพียง 4-5 ปี เนื่องจากอาจโดนสัตว์ใหญ่คุกคามจับไปเป็นอาหารแต่เมื่อคนนำมาเลี้ยงที่บ้าน ถ้าให้อาหารถูกต้องตามโภชนาการแล้ว สามารถอยู่ได้ถึง 15-22 ปี (ในต่างประเทศ) แต่สำหรับคนเลี้ยงชูการ์ในไทยนั้นอายุสัตว์เลี้ยงจะสั้นกว่าเพราะชอบให้อาหารตามใจคนเลี้ยง คือคนกินอะไรก็ให้อันนั้น อายุก็จะสั้นลงอยู่ได้ประมาณ 7-8 ปีเท่านั้นเอง

ชูการ์เป็นสัตว์กลางคืน และเป็นสัตว์สังคม ชอบอยู่เป็นฝูงประมาณ 6-30 ตัว ตอนกลางคืนจะออกหากิน ส่วนกลางวันจะใช้เวลาเพื่อนอนหลับ ชูการ์มีพังผืดด้านข้างลำตัวตั้งแต่ข้อมือไปจนถึงข้อเท้าทั้งสองข้าง จึงสามารถร่อนได้ไกลถึง 80-150 เมตรจากบนต้นไม้สูง เมื่อตัวโตเต็มที่จะมีขนาดเท่ากับฝ่ามือ ลักษณะสีที่มีอยู่จริงในตามธรรมชาติจะมีสีเดียว คือสีเทาดำ ซึ่งเป็นสีเทาแถบดำผ่านกลางลำตัว รอบตา จมูก ใบหู รอบปากและหางมีสีดำ มีนัยน์ตาเป็นสีดำประกาย ที่เห็นสีอื่นๆนอกจากนี้จะเป็นสีจากลักษณะยีนส์ที่ผิดไปจากพันธุกรรมหลัก หรือเป็นยีนส์ด้อยนั่นเอง เช่นผิวสีเผือก เป็นลักษณะที่ผิดปกติซึ่งชูการ์ที่มีสีนี้จะไม่ค่อยแข็งแรงนัก

สัตว์เลี้ยงขี้อ้อน
ชูการ์เป็นสัตว์ที่มีนิสัยขี้อ้อน ชอบอยู่ติดกับเจ้าของตลอดเวลา และสามารถพกพาไปไหนมาไหนได้สะดวก คนเลี้ยงหลายคนจึงชอบลักษณะนิสัยที่น่ารักแบบนี้ของมัน ชูการ์สามารถตอบสนองและเล่นกับคนเลี้ยงได้ง่าย เนื่องจากเป็นสัตว์สังคม และชอบอยู่เป็นกลุ่มในฝูงมากกว่าที่จะอยู่อย่างโดดเดี่ยว
“ชูการ์ เขาจะเข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่เพราะว่าเขาจะหากินกลางคืน ไม่ว่าคุณจะไปเรียนหรือไปทำงานกลับมาตอนกลางคืนเขาก็ตื่นพอดีจึงมีเวลาปฎิสัมพันธ์กันได้ และการตอบสนองกับมนุษย์มันจะไม่เหมือนกับหนูแฮมสเตอร์หรือกระต่าย ซึ่งสัตว์จำพวกนั้นเชื่องจริงแต่ระดับของไอคิวจะต่ำ คุยด้วยไม่รู้เรื่อง ถ้าเรื่องไอคิวชูการ์เขาวัดมาแล้วว่าสูงกว่าแมว และสามารถเข้าใจคำสั่งบางคำสั่งได้ ซึ่งแมวมีไอคิวใกล้เคียงกับกระต่ายแต่รู้เรื่องมากกว่า ลักษณะเด่นๆของชูการ์คือเป็นสัตว์ขี้อ้อน ชอบอยู่กับเจ้าของ ชอบมุด ซุก ไต่ตามตัว คล้ายๆแมว

ชูการ์เมื่ออยู่กับคนเลี้ยงแล้ว เขาจะเชื่องง่ายมาก แต่บางคนเลี้ยงไม่เชื่องก็มีเพราะให้อาหารอย่างเดียวไม่เคยเล่นไม่เคยดูแล เพราะชูการ์เป็นสัตว์สังคมเขาต้องการการมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบระหว่างกัน โดยส่วนใหญ่ชูการ์จะไม่กัดเจ้าของมีแต่จะงับเล่นๆ หยอกเจ้าของ แต่มีบางตัวที่เลี้ยงไม่เชื่อง เมื่อเราทำอะไรไม่ถูกใจก็มางับบ้างแต่เป็นลักษณะที่งับแล้วปล่อย ไม่ได้ทำให้เราบาดเจ็บ เพียงแต่เพื่อบอกให้เจ้าของรู้ว่าไม่พอใจเท่านั้น”

สัตว์เลี้ยงใหม่ของคนรักสัตว์
คุณเอกบอกว่า ลูกค้าที่ติดต่อเข้ามาขอซื้อจะทราบจากการโฆษณาขายผ่านทางเว็บไซต์ในอินเตอร์เน็ต ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ซึ่งแต่ก่อนเป็นกลุ่มคนที่เลี้ยงสัตว์จำพวกกระรอก กระแต แต่ตอนนี้เปลี่ยนมาเลี้ยงชูการ์มากขึ้นเพราะอย่างแรกคือสัตว์จำพวกกระรอก กระแตเป็นสัตว์ผิดกฎหมาย จึงเป็นการลักลอบเลี้ยงแต่ชูการ์เป็นสัตว์เลี้ยงที่ถูกกฎหมายไม่ว่าจะเป็นทั้งของไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ เนื่องจากเป็นสัตว์ที่แพร่พันธุ์ค่อนข้างง่ายไม่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ อย่างที่สองคือสามารถตอบสนองกับมนุษย์ได้ง่ายกว่า และอย่างที่สามคือเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์คนปัจจุบัน เพราะมันเป็นสัตว์หากินกลางคืน จึงเหมาะสำหรับคนทำงานออฟฟิศที่อาศัยอยู่ตามคอนโดฯ
“ตอนนี้จะมีลูกค้าเข้ามาดูทุกวัน ถ้าเฉลี่ยแล้วจะขายได้ประมาณวันละ 1 ตัว ซึ่งแล้วแต่ช่วง ที่นี่ส่วนใหญ่จะส่งตลาดต่างประเทศมากกว่า เนื่องจากเขาจะเข้ามาซื้อชูการ์ในเมืองไทย เพราะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดและน่าจะเป็นอันดับ 1 ของโลกเลย ในการเพาะพันธุ์ชูการ์ เนื่องจากคนไทยมีความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยง ประกอบกับสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย อาหาร ผลไม้ที่หลากหลาย และแมลงที่หาได้มากมายในเมืองไทย ทำให้เราได้เปรียบกว่าประเทศอื่น จึงสามารถเพาะเลี้ยงเพื่อการส่งออกได้”
ในปัจจุบันนี้ประเทศที่เลี้ยงชูการ์มากที่สุด เป็นประเทศสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ซึ่งเมืองไทยส่งชูการ์ไปขายที่ญี่ปุ่นประมาณ 70-80% นอกจากนั้นจะเป็นประเทศจีน ไต้หวัน และตะวันออกกลาง ส่วนประเทศในแถบยุโรปกำลังอยู่ในช่วงติดต่อ และดำเนินการเรื่องการส่งสินค้า

ชูการ์ตัวละแสน
เห็นตัวเล็กแค่นี้ แต่รู้ไหมว่าราคาไม่เบาเลยทีเดียว เจ้าของฟาร์มเอกชูการ์ บอกว่า “สีเผือกตาดำ (รูซิสติก) หรือสีขาว ราคาเริ่มที่ตัวละ 70,000 บาท ส่วนสีเผือกตาแดง 150,000-200,000 บาท ส่วนสีนอมอลธรรมดา ตัวผู้จะขายตัวละ 1,400 บาท ส่วนตัวเมีย 1,700 บาท นอกจากนี้มีสีโมเสก (Mosaic) ลักษณะเป็นสีด่างๆ ทั่วตัว ราคา 75,000-80,000 บาท และสี ไวท์-เฟลช (White Face) ลักษณะจะแตกต่างจากตัวธรรมดานิดหน่อย คือตรงรอบขอบตา รอบปาก รอบหู คือจะมีหน้าขาวทั้งหมด ซึ่งราคาจะขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจตลาดโลก”

ข้อแตกต่างกันระหว่างตัวผู้กับตัวเมีย จึงทำให้มีราคาขายที่ไม่เท่ากัน คือตัวผู้จะมีต่อมกลิ่นอยู่ที่หัว มีไว้เพื่อปล่อยกลิ่นเรียกตัวเมียมาผสมพันธุ์ พอโตเต็มที่หัวจะมีลักษณะล้านนิดๆ ส่วนตัวเมียจะมีกระเป๋าหน้าท้องเหมือนจิงโจ้และจะเลี้ยงลูกในกระเป๋าหน้าท้องนั้น ตัวเมียสามารถให้ลูกจึงขายต่อได้ ดังนั้นคนจึงนิยมเลี้ยงตัวเมียมากกว่า ชูการ์ที่สามารถขายให้แก่ลูกค้าจะมีอายุประมาณ 2เดือน 3 อาทิตย์ ถึง3 เดือน เป็นต้นไป

อาหารที่เลี้ยงสำคัญที่สุด
“ฟาร์มเอกชูการ์” เลี้ยงชูการ์อยู่ทั้งหมด 400 กว่าคู่เลยทีเดียว ชูการ์เป็นสัตว์ที่ต้องการพื้นที่ ดังนั้นกรงขั้นต่ำต้องมีขนาดประมาณ 1x1 เมตร เพื่อที่จะมีพื้นที่เล่น และสามารถออกกำลังกายได้ ควรเลี้ยงใส่กรงละคู่ และเลี้ยงตั้งแต่สองตัวขึ้นไปซึ่งต้องมีกรงที่ขนาดใหญ่ขึ้นตามจำนวนที่เลี้ยง ไม่ควรเลี้ยงตัวเดียว เพราะเป็นสัตว์ที่ชอบอยู่เป็นฝูงมากกว่าอยู่ตัวเดียว “ชูการ์จะออกมากินอาหารในตอนดึกประมาณหลังเที่ยงคืนไปแล้ว จนถึง 7 โมงเช้าซึ่งก่อนไปทำงานเราสามารถให้อาหารตอนหกโมงเช้าได้ ถ้าตื่นก็จะกินอาหารนิดๆหน่อยๆ พอกลับมาช่วงกลางคืน ประมาณ 2 ทุ่มก็สามารถให้อาหารอีกครั้งได้”

“ทางเราจะเน้นเรื่องความสะอาด และเรื่องอาหาร อาหารนี้แต่เดิมตามธรรมชาติ ชูการ์นั้นจะกินน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ และแมลง เราจึงเอามาประยุกต์โดยการให้ผลไม้ และแมลงที่ใช้เลี้ยงสัตว์ทั่วไป เช่นจิ้งหรีด หนอกนก อีกอย่างหนึ่งอาหารที่นี่จะเป็นสูตรเฉพาะที่คิดค้นขึ้นมาเอง ประยุกต์จากงานวิจัยของต่างประเทศ ออกแบบสำหรับชูการ์โดยเฉพาะ ซึ่งส่วนผสมจะมียางไม้ เกสรผึ้ง น้ำผึ้ง โยเกิร์ต และแมลง

คนเลี้ยงทั่วไป หลักๆควรให้ผลไม้เพราะจะมีวิตามิน และให้แมลงบ้างเล็กน้อย อย่างเช่นแอบเปิล นำมาหั่น 4 ส่วน ให้วันละ 1 ชิ้น และมีอาหารโปรตีนเช่นนมถั่วเหลือง นมโยเกิร์ต 1 ช้อน เนื้อไก่ ไข่ และแมลงหมุนเวียนกันไป โปรตีนจะให้น้อยมาก เช่นแมลงวันละ 2-3 ตัวเท่านั้นเอง แต่คนทั่วไปส่วนใหญ่เขาจะเลี้ยงด้วยซีลีแล็ก เพราะราคาถูกแต่การกินซีลีแล็กเป็นประจำจะทำให้ขาดโปรตีนและเป็นโรคอ้วนได้ แต่ที่นี่จะใช้นมเอสบีแล็ก (Esbilac) ซึ่งเป็นนมทดแทนนมแม่สำหรับสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมในช่วงอายุ 4 เดือนแรกก่อนหย่านม และช่วงอายุประมาณ 3 เดือนครึ่ง ควรให้ผลไม้ควบคู่ไปด้วย เมื่อกินผลไม้มากขึ้นจึงลดมื้อของนมลง จนสามารถเลิกนมได้เองและกินผลไม้แทน”

ข้อควรระวังในการเลี้ยง
ชูการ์เป็นสัตว์เลี้ยงตัวเล็ก บางทีจึงต้องระมัดระวังในการเลี้ยงดู ถึงแม้ว่าชูการ์เป็นสัตว์ที่ไม่เฉามือ และขี้เล่น แต่ด้วยลักษณะนิสัยที่ชอบคลุกคลีอยู่กับคน จนบางครั้งเจ้าของอาจเผอเรอไม่ระวังเจ้าตัวเล็กได้ แม้กระทั่งการติดเชื้อโรคจากคน หรืออาหารการกินที่เป็นอันตรายต่อชูการ์ คนเลี้ยงจึงควรศึกษาให้ดีก่อน ก่อนที่เจ้าชูการ์ต้องจากไปก่อนวัยอันควร

“ชูการ์เป็นสัตว์กินจุ ถ้าเจ้าของให้เยอะขนาดไหนก็กินเท่านั้น บางตัวถ้าไม่ควบคุมการกินจะอ้วนกลมส่งผลต่ออายุเฉลี่ยจะสั้นลง ซึ่งชูการ์จะชอบอาหารที่มีรสหวาน จึงเป็นที่มาของชื่อ “ชูการ์” ที่แปลว่าหวานนั่นเอง ข้อควรระวังในเรื่องการกินอย่างหนึ่ง คือชูการ์เป็นสัตว์ที่แพ้นมวัว ไม่สามารถกินนมวัวได้ โอกาสตายมีสูงถึง 90%เลยทีเดียว”

ชูการ์ตัวเล็กจะสามารถติดเชื้อโรคจากคนได้ง่าย วิธีการทำความสะอาด โดยปกติแล้วชูการ์จะทำความสะอาดตัวเองโดยการเลีย แต่ถ้ามันสกปรกมาก หรือมีกลิ่น คนเลี้ยงสามารถเอาสำลี หรือกระดาษทิชชูชุบน้ำอุ่นเช็ดตัวได้ และเช็ดตัวให้แห้ง อย่าใช้ไดร์เป่าแรงเกินไปเพราะอาจทำให้หูเป็นแผลได้ เพราะชูการ์จะมีหูที่บางมาก และเมื่อมีอายุประมาณ 3-4 เดือนจึงจะสามารถตัดเล็บได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เล็บข่วนคนเลี้ยง

“ผู้ที่นำไปเลี้ยงสามารถปล่อยไว้ในห้องได้ ส่วนใหญ่จะแนะนำให้ลูกค้านำชูการ์ออกมาจากกรงเพื่อเล่นกับเขาและปล่อยให้เขาออกกำลังกายซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก ยิ่งถ้าชูการ์อยู่ตัวเดียว ถ้าคนเลี้ยงไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเขาเลย สัตว์จะเกิดอาการเครียด ถึงขนาดกัดหางตัวเองขาด หรืออาจจะกัดท้องตัวเองแตกตายเลยทีเดียว ดังนั้นควรเลี้ยงเป็นคู่จะดีกว่า จะได้เป็นเพื่อนเล่นกัน

ปัญหาส่วนมากคือเขาจะขี้อ้อน ชอบอยู่กับคน ชอบซุก บางทีแอบมานั่งตามซอกขาแล้วคนเลี้ยงไม่รู้แล้วทับขึ้นมาก็ทำให้ตายได้ โอกาสที่ชูการ์ตายจึงเกิดมาจากเจ้าของทับเยอะมาก บางทีปล่อยออกมาเล่นแล้วเราหลับก็ไปทับเขา มีกรณีหนึ่ง คนเลี้ยงไม่ได้ปิดประตูห้องน้ำแล้วชูการ์เข้าไปเกิดตกลงไปในชักโครก คนเลี้ยงมาเข้าห้องน้ำไม่ได้เปิดไฟ เมื่อกดชักโครกชูการ์ก็หายไปเลยลงชักโครกไป ดังนั้นการตายของชูการ์จึงเกิดจากความบกพร่องของเจ้าของ (Human Error) ส่วนใหญ่ชูการ์จึงไม่ได้ตายด้วยตัวของเขา หรือโรคภัยของเขาเองเลย”

การผสมพันธุ์
ชูการ์ที่มีความพร้อมที่จะผสมพันธุ์ ตัวผู้ต้องมีอายุ 1 ปี ส่วนตัวเมียอายุ 8 เดือน ระยะเวลาการตั้งท้องประมาณ 16 วัน และจะคลอดออกมาตัวประมาณเท่าเม็ดถั่วเขียว จากนั้นลูกน้อยจะคลานเข้ากระเป๋าหน้าท้องแม่เองตามสัญชาตญาณ และเลี้ยงลูกอยู่ในกระเป๋าหน้าท้องนาน 2 เดือนหลังคลอด ซึ่งในกระเป๋าหน้าท้องนี้จะสามารถเลี้ยงลูกได้ถึง 4 ตัว เพราะด้านในมีเต้านมอยู่ทั้งหมด 4 เต้าด้วยกัน

“ส่วนใหญ่โดยเฉลี่ยประมาณ 70-80% ชูการ์จะคลอดลูกประมาณ 2 ตัว ที่เหลือจะเป็นตัวเดียวส่วน 3 ตัวจะน้อยมากแต่ก็มีบ้าง แต่ 4 ตัวในเมืองไทยยังไม่มีจะมีในต่างประเทศ ของอเมริกาและออสเตรเลีย”

ความพิเศษของกระเป๋าหน้าท้องจะมีแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่คอยทำความสะอาดตัวลูกน้อยของเขา ในปีหนึ่งชูการ์สามารถตั้งท้องได้ถึง 2-3 ครอก ถ้าร่างกายมีความสมบูรณ์แข็งแรงเพียงพอ ก็จะมีความพร้อมในการผสมพันธุ์ได้อย่างต่อเนื่อง



คนไหนสนใจอยากเลี้ยงสัตว์เลี้ยงขี้เล่นอย่างเจ้า “ชูการ์ไกลเดอร์” ไว้เป็นเพื่อนยามว่าง สามารถติดต่อโดยตรงได้ที่คุณเอก “ฟาร์มเอกชูการ์” ซอยรามคำแหง 170 โทร.08-9495-7160 อีเมล : aek_pc72@hotmail.com หรือทางเว็บไซต์ www.sgloverclub.com
 
 
 
 
 

ข่าวโดย  M-Lite / ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ 
ภาพโดย พงศ์ศักดิ์ ขวัญเนตร



คุณเอก สิทธิพล   วิสูตร กับชูการ์ไกลเดอร์



กำลังโหลดความคิดเห็น