xs
xsm
sm
md
lg

มหา'ลัย หรือศูนย์การค้า นักศึกษา คือ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
 
มหาวิทยาลัยเอกชนทางเลือกหนึ่งของผู้ที่ต้องการศึกษาในคณะที่ตนเองใฝ่ฝัน หรือไม่ว่าจะเหตุผลใดก็ตามที่ทำให้หลายคนมั่นใจและไว้วางใจที่จะเข้ามาศึกษาหาความรู้ในมหาวิทยาลัยเอกชน บางครั้งกลายเป็นค่านิยมแฝงของกลุ่มนักศึกษาวัยรุ่นของการเลือกสถานศึกษาในแต่ละแห่ง จนบางทีไม่รู้ตัวเลยว่าได้ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มธุรกิจอย่างหนึ่งให้แก่พ่อค้าที่เป็นบุคคลตำแหน่งสูงจำนวนหนึ่งในสถานศึกษานั้น โดยผ่านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่หลายคนคิดไม่ถึง แทนที่จะมองถึงความสำคัญของมาตรฐานการศึกษากลับกลายเป็นว่าเพื่อการค้าทางธุรกิจ
 

จากการที่นักศึกษามหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งได้ออกมาร้องเรียนกับผู้สื่อข่าวและหน่วยงานภาครัฐ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ในกรณีของความไม่ชอบมาพากลของวิชาเรียนในคณะดนตรี (School of music) โดยมีการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบมาตรฐานหลักสูตรการศึกษาและอาจารย์ผู้สอนของคณะดนตรี หลักสูตรนานาชาติ ทั้งอุปกรณ์การเรียนภายในคณะว่ามีประสิทธิภาพเทียบเท่าหลักสากลหรือไม่? และที่สำคัญคือการเก็บค่าเล่าเรียนต่อเทอมในจำนวนที่ไม่น้อยเมื่อเทียบกับสิ่งที่ผู้เรียนได้รับ เรื่องที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องครั้งนี้เป็นเหตุผลให้ต้องกลับมาย้อนคิดถึงมาตรฐานของมหาวิทยาลัยเอกชนกันอีกครั้ง

เรียนเอกชน-ทุนสูงลิ่ว
อย่างที่ใครหลายคนเคยพูดกันไว้ว่า “การศึกษาคือการลงทุน” ความหมายของประโยคดังกล่าวยังใช้ต่อกันมาหลายยุคหลายสมัยประหนึ่งเดียวกันกับความจริงที่เป็นนิรันดร คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่ว่าจะศึกษาเล่าเรียนอะไรก็ตามต้องมีเงินทุนสนับสนุนทั้งสิ้น ค่านิยมของคนไทยยังคงยึดอยู่กับมหาวิทยาลัยภาครัฐอย่าง จุฬาลงกรณ์ ธรรมศาสตร์ และเกษตรศาสตร์ แต่เมื่อลูกหลานเอนทรานซ์ไม่ติดจึงมีทางออกอยู่สองทางคือไม่เรียนมหาวิทยาลัยเปิดอย่างรามคำแหงก็เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน

จากเหตุการณ์ที่นักศึกษามหาวิทยาลัยเอกชนมีการร้องเรียนข้างต้น ประเด็นหลักคือค่าหน่วยกิตที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตร ซึ่งผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ในช่วงระหว่างปรับเปลี่ยนหลักสูตรยังจะต้องเรียนเพิ่มในบางรายวิชา ตัวอย่างเช่น จากหลักสูตรเดิมนักศึกษาเรียนไป 142 หน่วยกิต แต่หลักสูตรใหม่ จะต้องเรียนเพิ่มเป็น 158 หน่วยกิต เนื่องจากมีบางรายวิชาที่เทียบโอนไม่ได้ ทำให้ผู้ปกครองจะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายอีก 16 หน่วยกิต หน่วยกิตละ 1,600 บาทโดยประมาณ ซึ่งอัตราไม่เท่ากันทุกรายวิชาขึ้นอยู่กับคณะที่เรียน ดังนั้นค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้นโดยประมาณ 25,600 บาท และตัวนักศึกษาจะต้องเสียเวลาเรียนเพิ่มขึ้น ทำให้เสียโอกาสในการทำงาน เป้าหมายในการทำงานหลังจากจบการศึกษาก็ถูกปรับเปลี่ยนตาม และเมื่อนักศึกษานำประเด็นเหล่านี้เข้าร้องเรียนต่อผู้บริหารก็ไม่ได้รับการจัดการแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด เพียงแต่รออย่างมีหวังตามคำรับปากว่าจะดำเนินการตรวจสอบ

ค่าหน่วยกิตมหาวิทยาลัยเอกชนก็เป็นที่รู้ดีกันอยู่แล้วว่าแพงขนาดไหนเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยภาครัฐ จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้ชี้แจงค่าหน่วยกิตของแต่ละมหาวิทยาลัยเอกชนไว้ในบางส่วน อย่างเช่น มหาวิทยาลัยรังสิต ค่าเล่าเรียนตลอดหลักสูตรชั้นปี 1 ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนอยู่ระหว่าง 48,000 - 500,000 บาท ขึ้นอยู่กับคณะ ทั้งนี้คณะทันตแพทยศาสตร์ ค่าเล่าเรียนสูงสุด 500,000 บาท (เฉพาะชั้นปี 1) และตลอด 6 ปี คณะทันตแพทยศาสตร์ต้องจ่ายถึง 3,000,000 บาท และยังมีค่าบำรุงอื่นๆอีก ด้านมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เก็บค่าหน่วยกิตรายวิชา หน่วยกิตละ 1,400-3,000 บาท ขึ้นอยู่กับคณะที่เรียน เช่นคณะนิเทศศาสตร์ หน่วยกิตละ 2,500 บาท นอกจากนี้ยังมีค่าบำรุงอื่นๆ เช่นค่าบำรุงสโมสรนักศึกษา ค่าบำรุงห้องสมุด ฯลฯ

ส่วนมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ค่าหน่วยกิตอยู่ระหว่าง 1,200 - 1,400 บาท ขึ้นอยู่กับเลือกเรียนคณะใด สาขาอะไร นอกจากนี้ยังมีค่าเล่าเรียนตลอดปีการศึกษาอยู่ระหว่าง 49,600 - 73,750 บาท ตามหลักสูตร ค่าเล่าเรียนตลอดหลักสูตร 4 ปี เฉลี่ยอยู่ที่ระหว่าง 193,500-295,000 บาท และมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ค่าหน่วยกิตอยู่ระหว่าง 800 - 2,500 บาท ขึ้นอยู่กับเรียนคณะอะไร ทั้งนี้อัตราค่าเล่าเรียนตลอดหลักสูตรประมาณ 163,000 - 649,300 บาท โดยคณะการแพทย์แผนจีน ค่าเล่าเรียนสูงสุด 649,300 บาท เลยทีเดียว

ค่าเรียนเงินล้าน
จะเห็นได้ว่ามหาวิทยาลัยเอกชนแต่ละแห่งมีค่าเล่าเรียนที่สูงพอๆกัน และที่สังเกตเห็นเป็นพิเศษคือ มหาวิทยาลัยรังสิตคณะทันตแพทยศาสตร์ หลักสูตร 6 ปี ต้องจ่ายถึง 3,000,000 บาท และเริ่มเข้าเรียนชั้นปีที่ 1ค่าเล่าเรียนสูงสุด 500,000 บาทเลยทีเดียว เฉลี่ยอยู่ที่ 350,000 บาท/เทอม ซึ่งถือว่าเป็นคณะที่แพงที่สุดเป็นอันดับ 1 ของมหาวิทยาลัยภาคเอกชน อันดับ 2 เป็นวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตเช่นกัน ค่าเล่าเรียน 175,000 บาท/เทอม และนอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยเอกชนอีกประมาณ 20 แห่งซึ่งอยู่ในต่างจังหวัด ค่าหน่วยกิต/ปีการศึกษาก็จะลดลงตามเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ ซึ่งค่าหน่วยกิตนั้นจะเฉลี่ยอยู่ที่ 500-1,500 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคณะที่เรียน ค่าบำรุง และค่าธรรมเนียมอื่นๆอีกด้วย
 

นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งย่านบางเขน บอกกับทีมงาน M-feature ว่า “ตนเรียนอยู่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เสียค่าหน่วยกิตละ 2,000 บาท และค่าบำรุงการศึกษาประจำปี ปีละ 3,200 บาท ค่าบำรุงการศึกษาภาคปกติ ภาคละ 2,300 บาท ค่าบำรุงการศึกษาภาคฤดูร้อน ภาคละ 1,800 บาท ค่าอุบัติเหตุปีละ 200 บาท นอกจากนี้ยังเรียกเก็บค่าธรรมเนียมยิบย่อย เริ่มตั้งแต่ค่าสมัครสอบคัดเลือกเข้าเป็นนักศึกษา คนละ 200 บาท ค่าขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา คนละ 500 บาท ค่าทำบัตรประจำตัวนักศึกษา บัตรละ 150 บาท ค่าคู่มือนักศึกษาเล่มละ 200 บาท และค่าอะไรต่อมิอะไรอีกจิปาถะ ซึ่งเราก็ต้องยอมจ่ายเพราะเข้ามาเรียนถึงขนาดนี้แล้ว”

เมื่อเทียบกับคณะสถาปัตย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งค่าเรียนคณะนี้แพงที่สุดในมหาวิทยาลัยภาครัฐทั้งหมด คือ 1,500 บาท/หน่วยกิต เห็นได้อย่างชัดเจนว่าราคาถูกกว่ามหาวิทยาลัยเอกชนข้างต้นมาก และนอกจากนี้ในเรื่องการลงทะเบียนเรียนถ้าลงช้ากว่าที่มหาวิทยาลัยกำหนดต้องเสียค่าปรับ มหาวิทยาลัยเอกชนส่วนใหญ่ปรับเป็นรายวันเลยทีเดียวประมาณ50 บาท/วัน ซึ่งทุกอย่างมีเวลาจำกัด ถ้าลงทะเบียนช้ากว่ากำหนดก็ต้องเสียค่าปรับตามที่มหาวิทยาลัยประกาศไว้
 

ผู้ปกครองหลายคนยอมจ่ายค่าเล่าเรียนที่สูงลิ่วแบบนี้ด้วยความเต็มใจ บางรายต้องกู้เงินมาเพื่อหวังจะให้ลูกหลานที่ส่งเสียให้เรียนกอบโกยจากวิชาชีพที่ได้มานี้ในอนาคต อย่างเช่นทันตแพทย์ ซึ่งตอนนี้กลับกลายเป็นอาชีพธุรกิจอย่างหนึ่งที่สามารถทำรายได้ดีอย่างเป็นกอบเป็นกำ จึงไม่ผิดที่ใครหลายคนจะส่งลูกหลานเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเอกชน ถึงแม้รู้ว่าจะต้องเสียเงินมากมายขนาดไหนเพราะคิดว่ามันคุ้มทุนกันและสามารถโกบโกยกำไรในระยะยาวได้จริง ตรงตามประโยคข้างต้นที่พูดกันว่า “การเรียนคือการลงทุน” นั่นเอง

นักศึกษาคือลูกค้า
มหาวิทยาลัยเอกชนไม่ได้มีเฉพาะลูกหลานคนมีเงินไปเรียนเท่านั้น ผู้บริหารมหาวิทยาลัยยังเล็งเห็นถึงกลุ่มนักศึกษา หรือเรียกว่า “ลูกค้า” ซึ่งเป็นคนกลุ่มที่มีฐานะอยู่ในระดับชนชั้นกลางที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มเม็ดเงินให้ในอนาคตได้ โดยมีกระบวนการทำการตลาดเพื่อให้เกิดการชักชวนที่จะเข้ามาเป็นลูกค้าในมหาวิทยาลัยอย่างง่ายดาย
 

มหาวิทยาลัยเอกชนแต่ละแห่งมีกลวิธีในการรับสมัครนักศึกษาที่ต้องการเข้ามาเรียนในแต่ละคณะที่แตกต่างกันไป อย่างเช่นมหาวิทยาลัยเอกชนที่เน้นด้านการบริหารธุรกิจแห่งหนึ่ง ได้แจกโน้ตบุ๊คสำหรับนักศึกษาที่เข้าใหม่ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อศึกษาเนื้อหาวิชาบนเว็บไซต์ ซึ่งลักษณะการลงทุนของสถาบันการศึกษาเอกชนในแบบเดียวกันนี้ ทีมงาน M-feature ได้สำรวจพบหลายแห่งทั้งภายในกรุงเทพฯและปริมณฑล
 

ล่าสุดมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งได้ร่วมมือกับบริษัท Digitron สนับสนุนการจัดตั้ง Apple Authorised Campus Experience Center ภายในมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้การใช้ผลิตภัณฑ์ของ Apple ในราคาพิเศษสำหรับทางมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะ ทั้งนี้ยังให้การสนับสนุนโครงการเพื่อการศึกษาต่างๆ อีกด้วย โดยการแจก iPad ให้แก่นักศึกษาใหม่ โดยทั้งสองฝ่ายทั้งมหาวิทยาลัยและบริษัทดังกล่าวมีแต่วินกับวินเท่านั้น ซึ่งเป็นการเริ่มต้นเก็บฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ต่อไป 
 
 
นอกจากนี้การโฆษณา และประชาสัมพันธ์มีให้เห็นทั้งในจอโทรทัศน์ และนิตยสารหนังสือพิมพ์ โดยการใช้ดาราวัยรุ่นที่กำลังเป็นที่นิยม หรือเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยนั้นๆเป็นตัวพรีเซ็นเตอร์ให้กับมหาวิทยาลัย และยังมีการใช้สื่อเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอีกทางหนึ่งคือสื่อโลกออนไลน์อย่าง Facebook เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่มหาวิทยาลัยเอกชนเผยแพร่ข่าวสารเชิญชวนนักศึกษาให้เกิดสนใจและเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ไว้วางใจเข้ามาศึกษาเล่าเรียนในอนาคต

คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเอกชนจะบอกว่ามองนักศึกษาเป็นลูกค้าก็คงไม่ผิด เนื่องจากได้วางแผนสนับสนุนเงินลงทุนก้อนโตไปกับการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์องค์กร ซึ่งเขามั่นใจว่าจะสามารถคืนทุนให้ได้ในอนาคต

ซุปเปอร์มาร์เกตคนมีเงิน
ค่าเล่าเรียนที่สูงลิ่วของมหาวิทยาลัยเอกชนจำนวนหนึ่งซึ่งส่วนมากจะตั้งอยู่ในเมืองใหญ่ เพราะด้วยเหตุปัจจัยที่ส่งเสริมเกื้อกูลกันตามสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมเมือง ในแต่ละพื้นที่ย่อมแตกต่างกัน ค่าครองชีพตามเมืองใหญ่จึงสูงกว่าในชนบทหลายเท่าตามสภาพการเงินที่เดินสะพัดกว่า จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่กลุ่มพ่อค้าเข้ามาทำธุรกิจในสถานศึกษาเพื่อตวงรายได้จำนวนไม่น้อย

การเข้ามาของศูนย์การค้าภายในมหาวิทยาลัย เนื่องจากการเห็นช่องทางที่สามารถสร้างรายได้มหาศาล โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชน ไม่ผิดที่จะเห็นซุปเปอร์มาเกตทั้งรายใหญ่และรายเล็กเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วตามแรงผลักดันทางเศรษฐกิจของสังคมคนเมือง

เมื่อตีความหมายเชิงนัยมหาวิทยาลัยที่เห็นกลับกลายเป็นซูปเปอร์มาเกต ซึ่งมีอาจารย์เป็นสินค้า ขายวิชาความรู้ให้กับลูกค้าที่เป็นนักศึกษา นี่เป็นความจริงในสังคมจากค่านิยมที่เปลี่ยนไป สถาบันการศึกษาชื่อดังไม่ต่างอะไรกับซุปเปอร์มาเกตชั้นหรูเลิศ โลกในยุคทุนนิยมคนมองกันที่วัตถุที่ปัจจัยภายนอก เชื่อมโยงสู่การศึกษาในมหาวิทยาลัย คนที่เรียนในมหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าหรือที่มีระดับในสังคม เพื่อแสดงถึงภาพลักษณ์ที่ดูดี มีฐานะ มีชาติตระกูลที่ดี การใช้รถยนต์ยี่ห้อแพงขับมาเรียน หรือแม้แต่การหิ้วกระเป๋ายี่ห้อดังราคาแพงก็กลายเป็นภาพลักษณ์หนึ่งของนักศึกษามหาวิทยาลัยที่เป็นเสมือนศูนย์การค้าสถานที่ที่ซื้อขายความรู้กัน

หลักสูตรมาตรฐานจริงไหม?
การเติบโตของมหาวิทยาลัยได้เกิดขึ้นในระยะ10 ปีหลังมานี้ ทั้งมหาวิทยาลัยภาครัฐและเอกชนรวม 170 แห่ง ซึ่งบางมหาวิทยาลัยกระจายการศึกษาในรูปแบบวิทยาเขต อย่างเช่นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯซึ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้ชื่อมหาวิทยาลัยเดียวกันแต่แทบจะมีทุกเขตในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ดังนั้นการบริหารจัดการภายใต้การควบคุมของสภามหาวิทยาลัยจึงเป็นสิ่งที่ยาก เมื่อมีรูปแบบการดำเนินงานที่แตกต่างกัน ต่างคนต่างบริหารจัดการ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลุกขึ้นเพื่อปรับเปลี่ยนคุณภาพการศึกษาไทยให้เป็นมาตรฐานโลกโดยไม่คำนึงถึงการแสวงผลกำไรเป็นหลักในการพัฒนา

มีคำกล่าวหนึ่งของ ศ.ดร.สิทธิชัย โภไคยอุดม นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ได้กล่าวในงานเสวนาเรื่อง การประยุกต์แนวคิดการบริหารธุรกิจกับการบริหารมหาวิทยาลัย ในการประชุมทางวิชาการของที่ประชุมกรรมการสภามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ทกสท.) นั้นได้สะท้อนถึงภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเอกชนในปัจจุบันเป็นอย่างดี

“แนวคิดทางธุรกิจนำมาประยุกต์ใช้ได้กับการบริหารงานมหาวิทยาลัยรัฐเกือบทุกเรื่องยกเว้นความคิดที่เรื่องการทำกำไร หากคิดจัดการศึกษาเพื่อกำไรเมื่อไร ก็เท่ากับเป็นการทำร้ายสังคม เจ้าของมหาวิทยาลัยเอกชนต้องผลิตบัณฑิตที่มีคุณธรรมและคุณภาพ โดยจ้างอาจารย์ประจำมาสอนให้ได้100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่อาจารย์พิเศษ เพราะอาจารย์พิเศษก็ต้องการแค่เงินพิเศษเท่านั้น อีกทั้งเพื่อให้นักศึกษาสามารถเข้าพบอาจารย์ประจำได้ตลอดเวลา เกิดการสอนเชิงมีคุณภาพ”

ทางสภามหาวิทยาลัยได้เล็งเห็นถึงปัญหาในระบบการศึกษา โดยเน้นเรื่องคุณภาพการศึกษาเป็นสำคัญ จึงได้จัดการประชุมทางวิชาการขึ้นเมื่อต้นเดือนก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างกันของสภามหาวิทยาลัย และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อจัดระเบียบการปฏิบัติงานของสภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งให้มีการดำเนินงานที่เป็นมาตรฐานในรูปแบบเดียวกัน และผลักดันให้ สกอ.ยกมาตรฐานวิชาการและหลักสูตรอุดมศึกษาให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น

ดร.ชุมพล พรประภา ประธานที่ประชุมกรรมการสภามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย กล่าวว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาของประเทศและได้พยายามแก้ไขกันมาตลอดคือเรื่องคุณภาพการศึกษา แม้ว่าจะมีการปฏิรูปการศึกษาผ่านมา 10 ปีแล้ว แต่คุณภาพการศึกษาทุกระดับยังไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะอุดมศึกษาที่มีมหาวิทยาลัยเกิดใหม่มากมาย ทำให้ไม่สามารถควบคุมคุณภาพได้ ซึ่งทางแก้ส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่คุณภาพของครู อาจารย์ แต่ความจริงแล้วหัวใจของการปฏิรูปฯ คือการบริหารจัดการ ถ้าระบบบริหารดี คุณภาพก็จะดีตามมา และตัวขับเคลื่อนคุณภาพที่สำคัญคือ สภามหาวิทยาลัย

การพัฒนามาตรฐานการศึกษาในอนาคตจะบรรลุเป้าหมายอย่างไร อนาคตจะเป็นผลพิสูจน์ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคม การที่จะก่อเกิดการพัฒนาระดับชาติต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ฉะนั้นทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจึงควรร่วมมือกันเพื่อปรับเปลี่ยนให้เกิดการพัฒนาที่ดียิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สิ่งนั้นจึงจะถือว่าเป็นผลสำเร็จอีกก้าวหนึ่งโดยที่ทุกฝ่ายเห็นประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญไม่ใช่ประโยชน์ส่วนตนเพื่อการค้าเป็นหลัก หรือหวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว
 




ค่าหน่วยกิต และค่าเล่าเรียนสูงสุด 5 อันดับแรกของมหาวิทยาลัยเอกชน (ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา)
มหาวิทยาลัยรังสิต ค่าเล่าเรียนหลักสูตรชั้นปีที่ 1 อยู่ที่ 48,000-500,000 บาท ขึ้นอยู่กับคณะที่เรียน
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ค่าหน่วยกิต 1,400-3,000 บาท
มหาวิทยาลัยสยาม ค่าหน่วยกิต 1,000-3,500 บาท
มหาวิทยาลัยปทุมธานี ค่าหน่วยกิต 900-3,000 บาท
มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ค่าหน่วยกิต 800-2,500 บาท ซึ่งอัตราค่าเล่าเรียนของแต่ละมหาวิทยาลัยขึ้นอยู่กับคณะ และสาขาที่เรียน
 




 

ข่าวโดย  Manager Lite/ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์

 

มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งแจกไอแพดให้แก่นักศึกษาใหม่



กำลังโหลดความคิดเห็น