xs
xsm
sm
md
lg

เจาะเวลาหาอดีตประวัติศาสตร์ยุคใกล้ 60 ปี ลิ้นกับฟัน 'ไทย-เขมร'

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากบอกว่าเหตุปะทะระหว่างทหารไทยกับกัมพูชาในช่วงที่ผ่านมา ดูจะลุกลามและหนักหน่วงมากกว่าที่ใครจะคาดคิด คงจะไม่ผิด เพราะก่อนหน้านี้แม้จะมีการตรึงกำลังทหารทั้งสองฝ่ายและมีการปะทะบ้างประปราย แต่ก็ไม่ได้รุนแรงอะไรมากนัก

หากจะว่าไปแล้ว จริงๆ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ไทยกับกัมพูชามีปัญหาสู้รบกัน เพราะถ้าย้อนไปดูประวัติศาสตร์ ก็จะพบว่าความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชานั้นเกิดขึ้นมาตลอด ไมว่าจะเรื่องที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยกทัพไปยึดครองกัมพูชาในปี พ.ศ. 2136 หรือแม้แต่ยุคที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกรีธาทัพไปปราบศึกที่กรุงกัมพูชาถึง 3 ครั้ง 3 ครา

แต่อย่างที่ทราบ เรื่องพวกนั้นถือเป็นเหตุปกติในประวัติศาสตร์ ที่แต่ละประเทศจะต้องต่อสู้ชิงความเป็นใหญ่กันทั้งนั้น และคงที่ไม่สามารถอธิบายถึงปรากฏการณ์ในปัจจุบันที่เกิดขึ้นได้

เพราะจิ๊กซอว์ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้เป็นผลพวงของประวัติศาสตร์ปัจจุบัน ดังนั้นหากต้องการเข้าใจที่ชัดเจนให้มากขึ้น คงต้องพลิกปูมไปตั้งแต่ช่วงกัมพูชากลายเป็นประเทศเอกราชในปี 2492 เป็นต้นมา เพื่อมาดูความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนบ้านคู่นี้กันให้เห็นแบบชัดๆ ว่าตกลงแล้วจะเหมือนลิ้นกับฟันหรือขมิ้นกับปูนกันแน่

เปิดชนวนไทย-กัมพูชา

แม้จะเป็นความจริงที่ไทยกับกัมพูชาจะมีความสัมพันธ์แบบเพื่อนบ้านมานานร่วมศตวรรษ แต่เชื่อหรือไม่ว่า ความสัมพันธ์แบบเป็นทางการของทั้งคู่ เพิ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2493 หรือเมื่อ 60 ปีที่ผ่านมานี้เอง

เพราะอย่างที่ทราบว่าก่อนหน้านี้ กัมพูชาตกอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศฝรั่งเศส ส่งให้การติดต่อกันอย่างเป็นทางการนั้นไม่ปรากฏให้เห็นชัดเท่าที่ควร เพราะเวลาเกิดอะไรขึ้น ประเทศอารักขาอย่างฝรั่งเศส ก็คือผู้ดำเนินการทำให้ทุกอย่าง ตั้งแต่ทำสนธิสัญญา หรือแม้แต่การใช้แสนยานุภาพทางการทหารที่มีมากกว่าข่มขู่ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่การปะทะทั้งคารมและกำลังระหว่างไทยกับกัมพูชาจึงไม่ค่อยมีมากนัก

ไม่เพียงแค่นั้น ส่วนใหญ่ถือว่าอยู่ในทิศทางที่ดีด้วยซ้ำไป สังเกตได้จากการที่ไทยยอมให้พระบาทสมเด็จพระนโรดมสีหนุ กษัตริย์กัมพูชาในขณะนั้น ใช้ประเทศไทยเป็นฐานทางการเมืองในการเรียกร้องเอกราชจากประเทศฝรั่งเศสเสียด้วยซ้ำ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลังจากกัมพูชาได้รับเอกราช ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศจึงเติบโตอย่างรุดหน้า มีการจัดตั้งสถานทูต รวมไปถึงการค้าชายแดนที่ดูจะเติบโตอย่างเต็มที่

แต่หลังจากนั้น ดูเหมือน ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาจะเริ่มมีสั่นคลอนลง เมื่อปรากฏปัญหาเรื่องปราสาทพระวิหาร ซึ่งลุกลามไปถึงขั้นการเดินชุมนุมประท้วง และการปล้นสะดมทางชายแดนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่าโลกในขณะนั้นได้แบ่งออกเป็น 2 ค่ายคือโลกประชาธิปไตย และโลกสังคมนิยม โดยรัฐบาลไทยยุคนั้นเลือกจะยืนอยู่ในฝ่ายแรก ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาหนุนหลัง รวมทั้งต่อต้านรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ และสหภาพโซเวียตอย่างเต็มรูปแบบ แต่สำหรับสมเด็จฯ สีหนุแล้วกลับทรงเลือกเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศจีน สหภาพโซเวียต ยูโกสลาเวีย เชโกสโลวะเกีย และโปแลนด์ ซึ่งทั้งหมดอยู่ในค่ายคอมมิวนิสต์

จากการประกาศเลือกข้างอย่างชัดเจน รวมไปถึงความสัมพันธ์ที่ไม่สู้ดี ในกรณีปราสาทพระวิหาร แม้จะไม่เกิดสงครามนองเลือดขึ้นก็ตาม แต่นั่นคือชนวนสำคัญของการเปิดสงครามน้ำลาย ก่อนจบลงด้วยการที่กัมพูชาประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย ในเดือนพฤศจิกายน 2501

สงครามตัวแทน 'เสรี' กับ 'คอมมิวนิสต์'

การตัดความสัมพันธ์ครั้งนี้ ดูจะจริงจังและรุนแรงอย่างมาก เพราะทำทั้งสองประเทศที่อยู่ติดกันจะมองหน้าไม่ติดและไม่คบค้าสมาคมกันนานกว่า 30 ปี

วัชรินทร์ ยงศิริ นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่าความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการของสองประเทศในช่วงนั้นถือว่าเป็นศูนย์เลยว่าก็ได้ เพราะแทบไม่มีการติดต่อกันเลย ทั้งด้านการเมือง การค้า ตลอดจนความร่วมมือใดๆ ทำให้ความขัดแย้งที่เคยเป็นมาในอดีต โดยเฉพาะเรื่องพื้นที่แทบไม่เกิดขึ้นเลย

โดยความสัมพันธ์ที่ออกมาในช่วงนั้นจะปรากฏในรูปของกลุ่มประเทศมากกว่า เพราะประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคนั้นจะเป็นออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ ด้วยกัน คือกลุ่มประเทศอาเซียน อันประกอบด้วย ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ซึ่งทั้งหมดจะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย และมีสหรัฐอเมริกาให้การหนุนหลัง

ส่วนอีกค่ายก็คือกลุ่มประเทศอินโดจีนที่เคยตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสมาก่อน ประกอบด้วย เวียดนาม ลาว และกัมพูชา ซึ่งกลุ่มนี้จะปกครองด้วยระบอบสังคมนิยมและมีจีนกับสหภาพโซเวียต เป็นพันธมิตร

“ไทยเข้าทางฝ่ายโลกเสรี ส่วนกัมพูชา แม้จะมีสมเด็จฯ สีหนุเป็นกษัตริย์ แต่นโยบายก็ไม่ได้เป็นกลาง เพราะเอียงไปทางโลกสังคมนิยม ซึ่งถามว่าความขัดแย้งออกมาชัดเจนหรือไม่ ก็คงไม่ออกมาโดยตรง แต่มาในรูปของการเป็นฐานอีกฝั่งหนึ่งมากกว่า”

ปรากฏการณ์หนึ่งที่เห็นได้ชัด ถึงสงครามตัวแทนลักษณะนี้ ก็คือสงครามเวียดนาม ในช่วงปี 2500-2518 ซึ่งไทยเลือกจะยอมให้ตัวเองเป็นฐานทัพสำคัญของประเทศสหรัฐอเมริกา ในการต่อสู้กับทหารกองโจรของเวียดนามเหนือ ขณะที่กัมพูชาซึ่งมีความแนบแน่นกับเวียดนามเหนือก็เลือกใช้ข้อดีของตัวเองในเรื่องชัยภูมิ เปิดโอกาสให้เวียดกงผ่านดินแดนเพื่อเข้าไปแทรกซึมในเวียดนามใต้ได้ ซึ่งแม้งานนี้จะไม่มีการอนุญาตอย่างชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร แต่นี่ก็คือเครื่องบ่งชี้ได้ดีถึงประเทศต่างๆ ว่าเป็นเช่นใด

ไทยในยุคสงครามเขมร

แม้บทบาทในเชิงสงครามตัวแทนจะยืดเยื้อและยาวนาน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเป็นไปของกัมพูชาในย่อมต้องเกี่ยวข้องกับไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยเฉพาะในปี 2521 ที่รัฐบาลเวียดนามตัดสินใจส่งกองกำลังของตัวเองไปยึดอำนาจรัฐบาลเขมรแดง จนส่งผลให้กัมพูชาแตกย่อยออกเป็น เขมรแดง เขมรเสรี เขมรกลุ่มสมเด็จฯ นโรดมสีหนุ และเขมรกลุ่มเฮง สัมริน ที่เป็นรัฐบาลหุ่นเชิดของเวียดนามผลที่ตามมา นอกจากเขมร 3 กลุ่มแรกจะรวมตัวจัดตั้งเป็นรัฐบาลพลัดถิ่น เพื่อต่อสู้กับรัฐบาลเวียดนาม แน่นอนเรื่องนี้คงจะไม่เกี่ยวกับประเทศไทยเลย หากในช่วงนั้นไม่มีชาวเขมรมากกว่า 500,000 คนหนีตายเข้ามาอาศัยในแผ่นดินไทย ตามแนวตะเข็บชายแดน โดยเฉพาะในจังหวัดปราจีนบุรี

สุรพงษ์ ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูตไทยหลายประเทศ เล่าถึงบทบาทของไทยในช่วงนั้น ก็คือการสนับสนุนรัฐบาลพลัดถิ่นของเขมร 3 ฝ่ายว่าเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะไทยถือว่าการที่เวียดนามเข้ามารุกรานอธิปไตยของอีกประเทศหนึ่งถือว่าผิดหลักกฎบัตรของสหประชาชาติ และกฎหมายระหว่างประเทศ

ไม่เพียงแค่นั้น รัฐบาลเวียดนามยังมีนโยบายไล่ล่ากลุ่มต่อต้าน ทำให้เกิดการรุกล้ำในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพราะส่วนใหญ่คนเหล่านี้ก็จะไปกระจุกอยู่ในพื้นที่ชายแดน จึงเป็นเหตุให้เกิดการปะทะที่รุนแรงขึ้นมาตลอด

เช่นกรณีตัวอย่างเดือนมิถุนายน 2523 ทหารเวียดนามจะรุกล้ำเข้ามายังบ้านโนนหมากมุ่น อำเภอโคกสูง จังหวัดปราจีนบุรี (ปัจจุบันคือจังหวัดสระแก้ว) จนเกิดการปะทะระหว่างทั้งทหารทั้งสองฝ่าย จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต ร่วม 200 ชีวิต โดยเป็นทหารไทย 22 นาย และทหารเวียดนามอีก 180 กว่านาย

“ถ้าเทียบกับยุคเขมรแดงปกครอง กับเวียดนามปกครอง ต้องยอมรับยุคเวียดนามถือว่ามีปัญหามากกว่าเยอะ เพราะช่วงนั้นเวียดนามก็จะไล่บี้ๆ ซึ่งพวกนี้จะหนีเข้ามาฝั่งไทย แน่นอนว่าเราก็ต้องรับด้วยเหตุผลทางด้านมนุษยธรรม มันจนก่อให้เกิดค่ายผู้ลี้ภัยเยอะแยะเลย แต่ที่หนักสุดก็คือปฏิบัติการทางทหารของเวียดนามก็ทำอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งพอยิงอาวุธปืนใหญ่ กระสุนก็ต้องตกมาฝั่งไทย ชาวบ้านก็ต้องได้รับผลกระทบ บาดเจ็บ เสียชีวิต ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาทั้งทางด้านความมั่นคง สังคม และเศรษฐกิจเลยทีเดียว

“แต่ถ้าสมมติเวียดนามไม่ได้รุกรานกัมพูชา เราก็อยู่กับเขมรแดง ซึ่งเป็นระบอบที่เราไม่ชอบ แต่มันก็ยังพูดจาอะไรกันได้ และคนก็ไม่ได้หนีมาฝั่งไทย เพราะมันไม่ได้เกิดการสู้รบอะไรกัน”

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นยังคงต่อเนื่องยาวนานนับสิบๆ ปี โดยทั้งฝ่ายเขมร 3 ฝ่ายและเวียดนาม โดยเฉพาะไทย ซึ่งเป็นบุคคลนอก ก็ต้องมาเผชิญกับความสูญเสียทั้งบุคลากร อาวุธยุทโธปกรณ์ และงบประมาณอีกนับถ้วน

ด้วยเหตุนี้เอง ไทยจึงได้ค้นหายุทธวิธีในการรับมือครั้งนี้ จากบทความเขมรต้องการอะไรกรณีฟ้อง UN ว่าไทยรุกราน ของ ว.ร. ฤทธาคนี ใน Manger Online ระบุว่าไทยได้เลือกใช้วิธีทำเขตกันชน ซึ่งเคยทำได้ผล ทั้งด้านประเทศพม่าที่ใช้ชนกลุ่มน้อยในพม่าเป็นกันชน หรือเขตแดนด้านตะวันออก ในห้วงสงครามอินโดจีนที่ใช้เขมรเสรีบ้าง เขมรแดงบ้าง ลาวเสรีหรือวังเปาบ้าง ให้เป็นเขตกันชนเพื่อหยุดยั้งการขยายอาณาเขตของคอมมิวนิสต์เวียดนาม โดยครั้งนั้นรัฐบาลไทยยอมให้เขมรแดงใช้บริเวณปราสาทพระวิหารเป็นที่หลบซ่อนและเก็บอาวุธ รวมทั้งไทยทำหน้าที่ประสานการช่วยเหลืออีกด้วย

ไม่เพียงแค่นั้น รัฐบาลยังใช้ความได้เปรียบใช้เรื่องชัยภูมิที่บริเวณช่องบก อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งอยู่สูงกว่าพื้นที่ของกัมพูชามาก และอยู่ไม่ห่างจากปราสาทพระวิหาร เป็นฐานกำลังสำคัญในการป้องกันปรระเทศ ซึ่งผลจากการดำเนินการครั้งนี้ แม้จะต้องสูญเสียทหารไทยมากถึง 109 นายแต่ก็สามารถขับไล่กองกำลังเวียดนามออกจากแผ่นดินไทยได้เป็นผลสำเร็จ และทำให้ในที่สุดเวียดนามก็ตัดสินใจถอนตัวออกจากสงครามไป ในปี 2530

หลังจากเหลือแต่เพียงเขมรเพียวๆ ในที่สุดทั้ง 4 ฝ่ายก็ตัดสินใจที่เริ่มเจรจา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกฝ่ายวางอาวุธและจัดการเลือกตั้ง แต่ดูเหมือนว่างานนี้ไม่สัมฤทธิผลเนื่องจากเขมรแดงเองไม่อยากวางอาวุธ เพราะกลัวว่าเวียดนามจะไม่หยุดจริงและอาจจะมีการกวาดล้างเขมรแดงได้ จึงปฏิเสธการลงนามสนธิสัญญาที่กรุงปารีส พร้อมกับยังเคลื่อนไหวอยู่ตามพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา เรื่อยมา

จนกระทั่งปี 2539 พล พต หัวหน้าขบวนการเขมรแดงก็ตัดสินใจยุติการทำงานของกลุ่มลงอย่างเป็นทางการ และมีการทำข้อตกลงสันติภาพกับรัฐบาลกัมพูชาในขณะนั้น จึงเป็นเหตุให้พื้นที่รอยต่อระหว่างไทยกับกัมพูชาได้เปลี่ยนสถานะจากความเป็นพื้นที่กันชนของฝ่ายต่อต้าน มาเป็นพื้นที่ชายแดนอย่างเต็มรูป

ไม่เพียงแค่นี้ อดีตสนามรบแห่งนี้ ยังถูกแปรสภาพมาเป็นสนามการค้าที่คราครั่งไปด้วยบ่อนคาสิโนจำนวนนับไม่ถูกถ้วนที่เรียงรายอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดน รอให้คนไทยไปเสี่ยงโชค จนถึงทุกวันนี้
.........

แม้ตลอด 60 ปีมานี้ ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา ดูจะลุ่มๆ ดอนๆ ทั้งจากปัญหาเรื่องพื้นที่ซึ่งเกิดขึ้นมาตั้งแต่ครั้งที่กัมพูชายังเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส หรือความขัดแย้งภายในประเทศซึ่งลุกลามมาสู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ไทยโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นผลของการสะสมความไม่เข้าใจกัน และการไม่ยอมทำอะไรให้ชัดเจนตั้งแต่แรก

แม้จะผ่านมาแล้วหลายรัฐบาล ตั้งแต่ยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม จนถึงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่ปัญหาเดิมๆ ก็ยังคงอยู่และลุกลามมาเป็นระเบิดลูกใหญ่ที่พร้อมจะระเบิดได้ทุกเมื่อ
>>>>>>>>>
………..

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK







กำลังโหลดความคิดเห็น