xs
xsm
sm
md
lg

สังคมแบ่งข้าง จีวรแบ่งสี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ยืนยันได้เลยว่า ความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่เกิดขึ้น ถึงขนาดดึงเอาพระสงฆ์องคเจ้า (หรือนักบวช) เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งแบบที่พระเต็มใจและแบบไม่รู้อีโหน่อีเหน่ จะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะในเมืองไทยหรือที่ไหนๆ ในโลก

ผลการศึกษาวิจัยเรื่อง ‘ทำไมพระสงฆ์ส่วนใหญ่เลือกฝ่ายเสื้อแดง’ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์การศึกษาหัวหิน ที่เปิดเผยออกมาด้วยการแบ่งสี-ป้ายสีให้พระเสร็จสรรพว่าใครเป็นเหลือง-เป็นแดง เช่น พระราชธรรมนิเทศ หรือ พระพยอม กลฺยาโณ เป็นพระเสื้อแดง ส่วน พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือ ว.วชิรเมธี เป็นพระเสื้อเหลือง ดูจะทำให้วงการสงฆ์ร้อนๆ หนาวๆ ไปตามๆ กัน ซึ่งสังคมก็ไม่ค่อยเข้าใจนักถึงวัตถุประสงค์ของงานศึกษาชิ้นนี้

ประเด็นเรื่องพระสงฆ์กับการเมืองถูกพูดถึงมาตลอดว่าเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งยังไม่เคยมีคำตอบที่ชัดเจน แต่ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา สิ่งที่ชัดเจนก็คือพระยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเสมอ

อย่างในประเทศศรีลังกา พระสงฆ์ถือเป็นแกนในการกอบกู้เอกราชจากอังกฤษ หรือในยุคที่ได้รับเอกราชแล้ว ช่วงที่การเมืองมีความขัดแย้งสูง พระสงฆ์ศรีลังกาถึงกับเป็นตัวตั้งตัวตีในการวางแผนลอบสังหารผู้นำประเทศก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว หรือในจีนการต่อต้านราชวงศ์ชิงของพระวัดเส้าหลินก็เป็นตำนานที่คนไทยคุ้นเคยกันดีผ่านภาพยนตร์

ใกล้ตัวเข้ามาอีก เมื่อสองสามปีก่อน พระสงฆ์พม่าก็ยังต้องออกจากวัดเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นแกนให้แก่ประชาชนชาวพม่าต่อต้านเผด็จการทหาร ซึ่งจบลงด้วยการสาดกระสุนและความตาย ในประเทศไทยเอง สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ต้องนับว่าพระองค์ทรงเป็นกลไกที่สำคัญในการสร้างรัฐชาติในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6

1.

แต่ในยุคการเมืองแบ่งสี วัดและพระก็ถูกป้ายสีไปโดยปริยาย ทั้งที่ก็เป็นแค่การรับกิจนิมนต์ตามปกติ หรือต่อให้มีการเอนเอียงก็เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ยาก เช่น เมื่อ 26 กรกฎาคม 2552 วัดแก้วฟ้า ย่านบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานพิธีสะเดาะเคราะห์ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในวันคล้ายวันเกิด เพื่อต่อชะตา งานนี้พระวัดแก้วฟ้าก็ออกมาบอกว่าการจัดพิธีดังกล่าวทางวัดไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งและวัดไม่ได้เห็นแก่เงิน ซึ่งที่ผ่านมามีประชาชนหลายรายมาต่อว่าถึงการจัดงานดังกล่าว หรือวัดหัวลำโพงที่ถูกใช้เป็นสถานที่จัดงานทำบุญ 100 วันวีรชนคนเสื้อแดง ที่เสียชีวิตหลังเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553

และที่ผ่านมาวัดธรรมกายก็ถูกเหมารวมให้เป็นวัดเสื้อแดง ล่าสุด คนเสื้อแดงได้มีการชุมนุมบริเวณลานดินทางเข้าวัดพระธรรมกาย อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2554 เพื่อรำลึกเหตุการณ์ปะทะกับทหาร บริเวณสถานีไทยคม ช่วงเดือนเมษายนปีที่แล้ว โดยกรณีดังกล่าว พระสนิทวงศ์ วุฑฒิวังโส รองผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร ฝ่ายประชาสัมพันธ์ วัดพระธรรมกาย ได้ชี้แจงว่า บริเวณดังกล่าวไม่ใช้พื้นที่ของวัดพระธรรมกาย รวมทั้งการชุมนุมกันของกลุ่มคนเสื้อแดงในครั้งนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกาย และทางวัดขอยืนยันว่าไม่มีผู้ชุมนุมเข้ามาในเขตพื้นที่ของวัดพระธรรมกายแต่อย่างใด ดังนั้น ทางวัดพระธรรมกาย จึงขอแจ้งเพื่อทำความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ทางวัดไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่ประการใดของการชุมนุมดังกล่าว

ขณะที่ทางฝั่งเสื้อเหลืองนั้น ก็ชัดเจนว่ามีเครือข่ายสันติอโศกเป็นทั้งผู้ชุมนุมและผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ ทั้งยังคอยอำนวยความสะดวกด้านอาหารการกิน

2.

“ก็คงถอนตัวออกมา เพราะอุดมการณ์ไม่ตรงกัน โดยเนื้อแท้แล้วเราเป็นอะไรจะให้เปลี่ยนก็คงลำบาก มันขัดแย้งกับอุดมการณ์”

ฆราวาสผู้ศรัทธาในพุทธศาสนาอย่าง นริศรา เสริมกิจการ ผู้ไปทำบุญที่วัดดังย่านรังสิตทุกอาทิตย์ กล่าวแสดงความคิดเห็นในเรื่องจุดยืนทางศาสนาและการเมือง หากวัดที่ตนนับถือเห็นต่างกับเธอในเรื่องการเมือง

โพลสำรวจนี้เป็นการรวบรวมความคิดเห็นที่สะท้อนความจริงของเมืองพุทธ ความจริงที่ว่าศาสนากับการเมืองไม่สามารถแยกตัวออกจากกันได้ นริศราเชื่อว่าแต่เดิมสังคมเชื่อว่าไม่ควรเอาศาสนาหรือภิกษุมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพราะเป็นสมณะที่สูงควรค่าแก่การเคารพบูชา และเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปการเปิดใจรับก็เป็นสิ่งที่พึ่งปฏิบัติ

“มันเป็นเรื่องที่จะบอกว่าไม่สมควรก็ได้ ศาสนามันเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองไม่ควรเอาการเมืองมาเกี่ยวข้อง แต่ในยุคนี้คือยุคที่เราต้องเปิดรับ จริงๆ ศาสนามันเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองนานแล้ว ศาสนามันคือส่วนหนึ่งของสังคมเป็นที่ที่รับรู้และแบ่งปันสร้างอุดมคติ สื่อให้ประชาชนชนรู้ไปเลยจะได้เลือกศรัทธาตามอุดมการณ์ของแต่ละคน เวลาที่เปลี่ยนไปมันทำให้คนต้องปรับตัวและเปิดรับ”

สมณะเพาะพุทธ จนฺทเสฏฺโฐ หรือ ท่านจันทร์ แห่งสำนักสันติอโศก มองผลการสำรวจพระเสื้อเหลือง-เสื้อแดงว่าไม่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย และถือเป็นการอธิบายปรากฏการณ์จริงในสังคมให้ออกเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

"แม้ไม่ทำโพล คนก็เชื่อแบบนี้อยู่แล้ว จริงๆ เรื่องนี้ ศ.ดร.สมภาร พรมทา แห่งศูนย์พุทธศาสตร์ศึกษาเคยเล่าให้ฟังว่า พระส่วนใหญ่เป็นเสื้อแดง เหตุผลก็คือพระส่วนใหญ่เป็นคนชนบท มีวัฒนธรรมแบบชนบท คนเสื้อแดงเองส่วนมากก็เป็นคนชนบท และเนื่องจากสังคมพระเป็นสังคมแบบปิด เมื่อหลงเชื่อสิ่งใดก็จะเชื่อสิ่งนั้นตลอด สังเกตได้จากข้อมูลที่ออกมา พระในเขตภาคอีสานกับภาคเหนือจะฝักใฝ่กลุ่มเสื้อแดงสูงมาก ขณะที่ภาคใต้ก็จะน้อยลง นั่นเป็นข้อบงชี้ว่าพระกับชาวบ้านก็คือๆ กัน แน่นอนว่าเรื่องนี้คงปฏิเสธความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับคนในพื้นที่ไม่ได้"

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่า จากกระแสการเมืองที่รุนแรงเช่นนี้มีผลต่อการที่จะเข้าวัดไหนเช่นกัน ซึ่งสำหรับสันติอโศกน่าจะเห็นชัดที่สุด เพราะที่ผ่านมาดูเหมือนจะเลือกต่อสู้ร่วมกับคนเสื้อเหลือง

สันติอโศกเป็นกรณีที่ชัดเจนกรณีหนึ่ง ที่ความขัดแย้งทางการเมืองทำให้ญาติโยมหายไปไม่ต่ำกว่า 70 เปอร์เซ็นต์

"ปริมาณคนที่ลดลงเป็นสิ่งที่อาตมากำลังหาคำตอบอยู่ ซึ่งมองได้ว่าเป็นความล้มเหลวของสันติอโศก แต่อีกมุมก็ถือเป็นประชาธิปไตยได้เหมือนกัน เพราะเราไม่ผูกมัด ไม่ล่อคนและยอมรับความเห็นต่าง ท่านพ่อโพธิรักษ์จะบอกว่า ความสามัคคีคือความเห็นต่างแบบพอเหมาะ เพราะฉะนั้นคุณจะเป็นเสื้อแดงก็ได้ เสื้อเหลืองก็ได้ ไม่มีเลยก็ได้ ไม่เป็นไร อย่างอาตมาเองก็ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม ซึ่งท่านไม่ว่าอะไร มีคนเคยถามอาตมาเรื่องนี้บนเวทีเสื้อเหลือง อาตมาก็บอกไปว่า ไม่ว่าพระจะเป็นเสื้อแดงหรือเสื้อเหลือง คุณใส่บาตรไปเถอะ ไม่จำเป็นต้องแบ่งแยก มันจะไปกันใหญ่"

3.

“ในเชิงการเมืองนั้น หน้าที่ของพระก็คือการให้ธรรม ให้ปัญญา ชี้ทางที่ถูกต้อง เป็นผู้นำทางปัญญา สมัยก่อน พระพุทธเจ้าก็ให้ธรรมะแก่เหล่ากษัตริย์ต่างๆ นี่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนธรรมดากับพระ”

สยาม ราชวัตร อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนากับสถานการณ์ปัจจุบัน ให้มุมมองในเรื่องของความเกี่ยวข้องระหว่างพระกับการเมือง นอกจากนี้เขายังมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไว้อย่างน่าสนใจว่า

“เรื่องโพลที่ออกมานั้น มันเป็นมุมมองของคนอื่นที่มองไปยังพระ โดยพระท่านจะเป็นเช่นนั้นหรือเปล่าก็ไม่รู้ แท้แล้ว ท่านอาจจะมีแนวคิดของท่านที่ต้องการชี้ให้เห็นอะไรบางอย่าง เท่าที่ผมฟังอาจารย์พยอม ท่านก็ไม่ได้เป็นสีแดง เพราะว่าก็มีบางอย่างที่ท่านเห็นด้วย และหลายอย่างท่านก็ไม่เห็นด้วย อาจารย์ ว. ก็เหมือนกัน แต่ประชาชนทั่วไปเหมาเอาเองว่าท่านเป็นสีนี้สีนั้น ความคิดแบบนี้เป็นเรื่องอันตราย เพราะพระท่านเป็นบุคคลสาธารณะ

“บทบาทแท้ๆ ของพระ คือการทำให้ประชาชนมีสติปัญญา และนำปัญญาเหล่านั้นไปใช้กับบ้านเมืองอีกที แต่ทุกวันนี้คนมองบทบาทของสงฆ์ผิดไปมาก ถ้าเราเอาศรัทธาที่มีไปสร้างปัญญา มันจึงจะเป็นเรื่องที่มีประโยชน์”

สุดท้ายแล้ว พระก็เป็นปุถุชนคนหนึ่ง ไม่แปลกที่จะมีความคิดเห็นทางการเมืองหรือแม้แต่ร่วมเคลื่อนไหว สังคมต่างหากที่น่าจะต้องมองหากติการ่วมเพื่อไม่ให้การแสดงออกทางการเมืองของพระสงฆ์เลยเถิดก้าวร้าวจนเกินงาม ฟากประชาชนเองก็ต้องเรียนรู้การใช้ชีวิต-จิตใจอย่างสมดุล ไม่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองจนบ่อนเซาะศาสนา หรือป้ายสีให้พระ หรือด่าทอพระเพียงเพราะท่านคิดเห็นไม่ตรงกับเรา

>>>>>>>>>

เรื่อง: ทีมข่าว CLICK
ภาพ: ทีมภาพ CLICK



กำลังโหลดความคิดเห็น