xs
xsm
sm
md
lg

Music Shines : แสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข พลังและความตั้งใจ กับ ‘เพลงที่นานมาแล้วไม่ได้ฟัง’ / พอล เฮง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

paulheng_2000@yahoo.com

โลกข้างในที่กลั่นออกมากระทบกับภาวะภายนอก ถ้อยคำและเรื่องราวที่บอกเล่าออกมาผ่านเนื้อร้องและท่วงทำนองของดนตรียังเป็นสีสันที่สวยงามของนักเล่าเรื่องสมัยใหม่ผ่านพาหะทางดนตรีอยู่เสมอ

แสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข จะเป็นตัวแทนของวงการเพลงไทยร่วมสมัยในฐานะนักร้อง+นักเขียนเพลง (Singer+Songwriter) ที่ทำหน้าที่ตรงนี้อย่างเชื่อมั่นและดูดีเข้าท่าเข้าทีมากกว่าใครๆ ที่เดินบนเส้นทางสายนี้ในยุคสมัยเดียวกัน

บทพิสูจน์จากความต่อเนื่องและพัฒนาการของคนดนตรีที่ทำงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ เป็นเรื่องบ่งชี้ถึงศักยภาพและความกระตือรือร้นต่อแรงท้าทายและเย้ายวนที่จะนำงานของตัวเองออกสู่โสตของคนฟัง แม้ว่าสภาพแวดล้อมหรือบริบทของสังคมดนตรีและคนฟังเพลงเป็นอย่างไรก็ตาม

ถือเป็นเรื่องที่ดีและส่งสัญญาณว่า แม้จะมีวิกฤตของยอดขายของดนตรีและบทเพลงในแง่อัลบั้มเพลงที่เป็นฟิสิคอลในรูปแบบซีดีที่จับต้องได้ แต่มาสู่การดาวน์โหลดฟังฟรีผ่านโลกออนไลน์ แต่ยังมีคนดนตรีซึ่งตั้งมั่นที่จะผลิตงานดนตรีของตัวเองออกมา

อัลบั้ม ‘เพลงที่นานมาแล้วไม่ได้ฟัง’ มีจุดที่น่าสนใจอยู่ที่ชื่ออัลบั้มนั้นไปคล้องกับงานอัลบั้มชุดแรก ‘Million Ways To Write Part 1’ ที่มีชื่อเพลงว่า ‘ก่อนบทเพลงจะหมดความหมาย’ ซึ่งหมายถึงการแสดงหลักยืนของคนดนตรีที่ทำงานเพลงจากมันสมองของตัวเอง ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญามาบิดแผลงเป็นเพลงที่เกี่ยวกับความรัก เป็นนัยส่งถึงคนฟังต่อวิกฤตของวงการเพลงที่งานเพลงแทบจะทำยอดขายไม่ได้อีกแล้ว

ศรัทธาจากคนฟังเท่านั้น ที่จะทำให้พวกเขาอยู่ได้ ซึ่งต้องส่งพลังและความตั้งใจผ่านความมุ่งมั่นและซื่อตรงในการผลิตงานออกมาสู่ผู้ฟัง

หากวัดเชิงชั้นในฐานะศิลปะทางดนตรีและการซ่อนความหมายทางดนตรีผ่านบทเพลงที่ฟังผาดเผินก็รับรู้ได้ว่าเป็นเรื่องราวของความรักที่ดีและละมุนละไม มีการเรียบเรียงดนตรีที่ฟังง่ายทว่าซับซ้อนภายใต้ความนวลเนียนลื่นไหล ‘เพลงที่นานแล้วไม่ได้ฟัง’ ก็เปรียบเสมือนการส่งความรื่นรมย์ให้คนฟังผ่านเนื้อร้องและดนตรี รวมถึงซ้อนทับคมความคิดอีกชั้นหากมีการค้นหาว่า คนเขียนเพลงและนักร้องต้องการสื่อความหมายที่แท้จริงของตัวเองซึ่งซ่อนอยู่หลังเพลงรักเพลงนี้

นั่นคือความทดท้อในการทำงานเพลงและดนตรีที่ดี (เต็มความสามารถความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง) ออกสู่ท้องตลาดคนฟัง แม้ได้รับผลตอบรับที่ดี แต่ผลตอบแทนทางด้านรายได้แทบจะเอาตัวเองไม่รอดในอาชีพนี้ ซึ่งสอดรับกับการเป็นภาคต่อในความหมายของชื่อเพลงจากงานชุดที่แล้ว ‘ก่อนบทเพลงจะหมดความหมาย’ สำหรับคนฟังและคนทำงานเพลงในโลกธุรกิจดนตรีที่แสนโหดร้าย

แสตมป์-อภิวัชร์ ถือว่าเป็นคนดนตรีที่จริงจังมากคนหนึ่ง โดยวัดได้จากการทำงานผ่านอัลบั้มของเขาเองในฐานะนักร้อง+นักเขียนเพลง เขาเป็นรู้จักในวงกว้างผ่านบทเพลงฮิต ‘ความคิด’ ที่ถูกนำไปเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง ‘ณ ขณะรัก’ (A moment in June) โดยก่อนหน้านั้นเขาเป็นหนึ่งในสมาชิกของวงร๊อคทริโอ เซเว่น ซีน (7thscene) ซึ่งออกอัลบั้มมาในชื่อเดียวกับวง และได้รับรางวัลศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยมสีสัน อวอร์ดส ในปี 2551 ก่อนที่จะแยกย้ายกันไปตามวิถีทางของตัวเอง

ปัจจุบัน นอกจากทำงานเพลงของตัวเองแล้ว แสตมป์-อภิวัชร์ ยังถือได้ว่านักแต่งเพลงมือทองของยุคนี้ที่คนอยากใช้บริการมากที่สุดคนหนึ่ง ทั้งงานเพลงโฆษณา การเป็นแขกรับเชิญหรือฟีเจอริ่ง และให้เขาเขียนเพลงให้ บทเพลงฮิตในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมาในวงการเพลงกระแสหลักหรือไทยพ๊อพย่อมมีเพลงของเขาติดอันดับต้นๆ

เพลงยอดเยี่ยมที่ได้รับผ่านรางวัลต่างๆ ของบทเพลงเหล่านี้ที่เขาเขียนและแต่งให้คนอื่น ‘น้ำตา’ ของ เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ เพลง’เงินล้าน’ ของวงโมเดิร์นด๊อก เพลง’ราตรีสวัสดิ์’ ของ ฟักกลิ้งฮีโร่ ฯลฯ ซึ่งในแง่คนเขียนเพลงของยุคสมัย ของเมืองไทยในชั่วโมงนี้ น่าจะมีเขาติดอยู่แน่นอนทั้งในแง่เพลงฮิตและเพลงที่ได้รับรางวัลจากเวทีต่างๆ ประจำปีของเมืองไทย

จุดที่น่าสังเกตอีกอย่าง ที่สะท้อนถึงความช่างคิดที่ซับซ้อนอยู่พอสมควรของแสตมป์-อภิวัชร์ นั่นก็คือการออกงานเป็น ‘อีพี’ ออกมา ตั้งแต่อัลบั้ม ‘Million Ways To Write Part 1’ จนถึงอัลบั้มชุดนี้ ‘เพลงที่นานมาแล้วไม่ได้ฟัง’ เหมือนจะต้องการบอกกับคนฟังกลายๆ ว่า บทเพลงและดนตรีที่ดีซึ่งออกมาจากหัวใจคนทำงานอย่างกลั่นกรองดีที่สุดในช่วงเวลาหนึ่งแล้ว ไม่จำเป็นต้องเยอะด้วยปริมาณหรือทำตามมาตรฐานแบบ 10 เพลงหรือมากกว่านั้น แต่อยู่ที่คุณภาพของตัวงานที่เหมาะสมและกำลังพอดีของการทำงานมากกว่า และขนาดที่พอเหมาะของเขาก็คือ 5-8 เพลง ที่รีดมันสมองออกมาอย่างเต็มที่แล้ว

สำหรับอัลบั้ม ‘เพลงที่นานมาแล้วไม่ได้ฟัง’ ก็ถือได้ว่าเป็นอีพีที่บรรจุเพลงไว้ 8 บทเพลง เมื่อดูจากปกอัลบั้มที่เป็นภาพวาดอิลาสสเตทหรือภาพประกอบอัลบั้มที่นำมาเป็นปกอัลบั้มฝีมือของ ฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ ซึ่งมีความละเอียดที่พยายามโชว์มุมมองของมวลรวมความคิดให้หมดจดภายในภาพเดียว เพื่อสะท้อนแนวความคิดหลักของอัลบั้มที่แสตมป์-อภิวัชร์ อธิบายถึงแนวทางของเพลงในอัลบั้มว่า เป็นรูปแบบที่ของบทเพลง โฟล์กร็อกแบบกรุงเทพมหานคร ที่สะท้อนวิถีชีวิตของคนเมืองที่มีแต่ความทะเยอทะยานสู่ความเป็นตะวันตก โดยเนื้อหาของแต่ละเพลงเน้นไปทางการเล่าเรื่อง

ซึ่งภาพปกอัลบั้มก็สามารถตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี

จุดเด่นหรือจุดแข็งของแสตมป์-อภิวัชร์ ที่เสนอผ่านตัวตนของเขาคือ การเขียนเนื้อร้อง ในอัลบั้มชุดนี้ก็ยังรักษามาตรฐานการเขียนเพลงในฐานะนักเล่าเรื่องที่มีประเด็นง่ายๆ รอบตัวแต่มีมิติลึกซึ้งแยบคายไว้พอสมควร ทั้งการตั้งชื่อเพลงและในตัวเนื้อหาของเพลงเอง แต่ก็มีจุดอ่อนที่พยายามหนีอย่างไรก็มีกลิ่นอยู่อบอวลในบางเพลงก็คือ แนวทางการเขียนเพลง ความคิด เนื้อหา และทางคำ รวมถึงการลงท้ายประโยคเพลง ท่อนต้น ท่อนเชื่อม ท่อนฮุคละม้ายและสลัดสไตล์เพลงของ บอยด์-ชีวิน โกสิยพงษ์ ซึ่งถือเป็นต้นแบบในการเขียนเพลงของเขาไปไม่ได้เสียที รวมถึงงานเพลงในชุดนี้มีบทเพลงปิดท้ายอัลบั้ม ‘สองยกกำลังยี่สิบ’ ที่มีบอยด์ โกสิยพงษ์ เป็นคนเขียนเพลงก็ยิ่งทำให้เห็นการอยู่ภายใต้ร่มเงาที่ต้องรอเวลาอีกสักนิดจึงจะผ่านพ้นไป

ในอัลบั้มชุดนี้จะเห็นได้ถึงความพยายามอย่างยิ่งยวดในฐานะคนเขียนเพลงที่ต้องการสร้างมุมมองและสายตาที่แตกต่างออกไปจากเพลงพ๊อพกระแสหลัก ดึงเรื่องราวรอบตัวพื้นฐานที่คุ้นชินแสนธรรมดาแต่คนมองข้ามมาเล่า แต่ใส่ประเด็นหรือเนื้อสารที่ลึกซึ้งและดูคมคายซ้อนซับให้คิดต่อแบบกระทบใจ โดยเฉพาะความคิดที่อิงไปในทางพุทธศาสนา เด่นชัดในบทเพลง ‘แอนิเมชั่น’ พยายามเสนอมุมมองที่เท่และเก๋ของคนรุ่นนี้แต่ดำดิ่งไปถึงขั้นปลงอนิจจัง หรือบทเพลง ‘Karma’หรือ กรรม ที่ยังอิงอยู่กับแนวคิดนี้

จากความพยายามที่จะเด่นเด้งและเสนอถึงมุมมองที่แปลกแตกต่างแหวกออกไป แต่กลายเป็นจุดอ่อนเพราะความล้นในวิธีคิดที่พยายามส่งสัญญะและอุปมาอุปไมยจนฟังตามแล้วเหนื่อย ไม่ดูผ่อนคลายตามที่อยากจะให้เป็น ซึ่งพยายามขับเน้นทำเรื่องซีเรียสให้เป็นความรื่นรมย์ในตัวเพลง ซึ่งความจริงแล้วมุมมองแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ บทเพลงอิงหลักธรรมในยุคเก่าลูกกรุงหรือโอลดี้ก็มีบทเพลงแฝงหลักธรรมในเชิงนี้ที่เนียนนุ่มลุ่มลึกกว่ามากมาย

ภาพดนตรีในอัลบั้มชุดนี้ถือว่าได้มาตรฐานในแนวทางที่มีพื้นฐานของบทเพลงแบบพ๊อพร๊อคที่มีกลิ่นอายของอาร์แอนด์บี อะคูสติคพ๊อพ ฮิพฮอพ อยู่เช่นเคยเหมือนกับงานชุดแรก รวมถึงมีบทเพลงบัลลาดที่เสนอมุมมองลุ่มลึกสะเทือนสะท้านบาดลึกเข้าไปในอารมณ์อยู่เช่นเดิม ทีมดนตรีและการเรียบเรียงเสียงประสานอยู่ในเกณฑ์ที่ดีเยี่ยม แต่บางเพลงก็ดูล้นเหลือหรือพยายามโชว์ของจนมากเกินไป

โดยเฉพาะบทเพลงนำอัลบั้มที่ชื่อเดียวกับอัลบั้ม ‘เพลงที่นานมาแล้วไม่ได้ฟัง’ ถือเป็นความพยายามที่เกินเลยในการที่จะสร้างความจดจำทางดนตรีด้วยรูปแบบของออร์เคสเตชั่นเข้ามาคือ การนำดนตรีคลาสสิคเข้ามาปูบรรยากาศของเพลงให้ดูอลังการเป็นการโชว์มิติของดนตรี แต่เนื่องด้วยตัวเพลงและความคิดหลักของเพลงไม่ค่อยสอดรับสักเท่าไหร่ในการโชว์ส่วนนี้ ทำให้ฟังแล้วยืดยาวน่าเหนื่อยล้าจนทำลายพลังที่มีในตัวเพลงจนหมดสิ้น

เสียงร้องของแสตมป์-อภิวัชร์เอง ในฐานะของนักร้อง-นักแต่งเพลงที่เข้าใจอารมณ์เพลงมากที่สุด ก็ทำได้ดีอยู่แล้ว ไม่มีปัญหาในการตีความการร้อง แต่น่าจะมีการพัฒนาทักษะการใช้เสียงให้หลากมิติกว่านี้ เพราะบทเพลงทั้งหมดที่ร้องออกมาเมื่อฟังรวดเดียวดูคล้ายๆ กันไปทั้งหมด ขาดกลเม็ดและการออกแบบทางเสียงที่ช่วยเพิ่มเสน่ห์ให้ตัวเพลงให้เพิ่มพูนขึ้น

การนำแขกรับเชิญมาฟีเจอริ่งหรือร้องร่วมก็เช่นกัน เป็นกลเม็ดแบบเดิมๆ ที่เฝือหู โดยเฉพาะการทำงานร่วมกันกับฟักกลิ้งฮีโร่ หรือบอยด์ โกสิยพงษ์ ซึ่งไม่ได้เป็นการตอกย้ำถึงสายสัมพันธ์ทางดนตรีแต่ออกไปในทางตันเสียมากกว่า

แต่อย่างที่ว่า ด้วยพลังและความตั้งใจ รวมถึงมาตรฐานที่อยู่ในระดับสูงของตัวแสตมป์-อภิวัชร์เอง งานชุดนี้ถือเป็นงานที่ดีได้มาตรฐาน แต่ในฐานะคนสร้างสรรค์งานที่หมกมุ่นอยู่ตัวเองและสัมพันธภาพดนตรีแบบเดิมๆ ทำให้เกิดการผลิตซ้ำ แม้พยายามจะฉีกหาแรงทะเยอทะยานทางดนตรีในแบบออร์เคสตร้ามาช่วยเสริมปรุงแต่งก็ตาม

แม้จะโชว์ถึงความนิ่งอยู่มือในการทำเพลง แต่ความสดในความคิดกลับหายไปอย่างสิ้นเชิง ไม่มีความน่าตื่นเต้น เมื่อมาผนวกกับดนตรีและมุมมองของการเขียนเนื้อหาของเพลงที่พยายามจนล้นเหลือเกินความจำเป็นทำให้เสน่ห์ของแสตมป์-อภิวัชร์ลดทอนลงไป เหลือแต่พลังและความตั้งใจที่จะทำงานที่ดีที่สุดออกมา ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีแต่น่าเสียดาย...กับความพยายามที่ดูเหมือนจะมากจนเกินไป

หลักพุทธศาสนาว่าเอาไว้ว่า ทางสายกลาง ‘มัชฌิมาปฏิปทา’ คือหนทางที่ดีที่สุดของมนุษย์ ไม่ตึงหรือหย่อนจนเกินไป แสตมป์น่าจะลดทอนความกระหายอยากทางดนตรีที่ล้นเหลือและความกดดันทางการเขียนเนื้อร้องที่ต้องโชว์กึ๋นโชว์ความฉลาดออกมา น่าจะต้องควบคุมให้พอดีเพื่อจะได้งานที่เหมาะสมลงตัวอย่างปล่อยวางและสบายอารมณ์
>>>>>>>>>>
………

บทเพลงในอัลบั้ม ‘เพลงที่นานมาแล้ว ของ แสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข

1.แอนิเมชั่น
2.บ้านเล็ก
3.ครั้งสุดท้าย
4.ผีเสื้อ
5.เพลงที่นานมาแล้วไม่ได้ฟัง
6.Karma (feat. ฟักกลิ้ง ฮีโร่)
7.ภาษาไทย
8.สองยกกำลังยี่สิบ (feat. ตู่ ภพธร, ฟักกลิ้ง ฮีโร่)
>>>>>>>>>>>>>

……..
ฟังมาแล้ว

Dreams / Neil Diamond

เก๋าโก๋เก็บอีกราย ที่แสดงถึงเชิงชั้นและทักษะทางดนตรีที่เชี่ยวชำนาญอย่างหาตัวจับยาก โดยเฉพาะการขับร้องที่แสดงถึงความเจนจัดในการขับเน้นอารมณ์เพลงอย่างเข้าถึงและมีความเฉพาะตัวสูง พิสูจน์ได้จากเกือบ 50 ปีที่ผาดโผนอยู่ในวงการ ด้วยยอดขายรวมทั้งหมด 125 ล้านก็อปปี้ทั่วโลก

อัลบั้มชุดนี้ว่าไปแล้วก็ถือเป็นงานของคนสูงวัยรำลึกความหลังวันชื่นคืนสุข ซึ่งระยะหลังนักร้องและนักดนตรีระดับอาวุโสที่มีชื่อเสียงระดับโลกต่างนิยมกันเป็นอย่างมาก นีล ไดมอนด์ ก็เลือกหยิบบทเพลงในยุคร๊อคที่ขึ้นเป็นดนตรีกระแสหลักในอดีต ที่เขาชื่นชอบและลุ่มหลงมาคอฟเวอร์ โดยการตีความใหม่และทำดนตรีในรูปแบบที่ตัวเองถนัดในแบบ อดัลท์ คอนเทมโพรารี่, โวคอล พ๊อพ และซอฟต์ ร๊อค

14 บทเพลงในอลับั้มชุดนี้ล้วนเป็นเพลงฮิตที่อยู่เหนือกาลเวลาของศิลปินต่างๆ ซึ่งมีความดีโดดเด่นอยู่แล้ว แต่นีล ไดมอนด์ นำมาขับร้องในแบบของตัวเอง ที่ได้อารมณ์ละเมียดละไมอ่อนโยนทว่าอบอุ่น ซึ่งไม่เสียบุคลิกเพลงต้นฉบับแต่ได้สุนทรีย์แบบใหม่ที่น่าฟังไปอีแบบ

Songs from the Underground Ep / Linkin Park

งานเพลงสำหรับแฟนพันธุ์แท้และแฟนพันธุ์ทรหดของวงนู เมทัล ที่ผสมดนตรีระหว่างความเป็นแร๊พ เมทัล เข้ากับอัลเทอร์เนทีฟ เมทัล ให้เข้ากับตลาดเพลงกระแสหลักของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ได้อย่างเข้าถึง

บทเพลงทั้ง 8 เพลงในชุดนี้เป็นงานที่รวบรวมจากเพลงพิเศษที่ทำให้แฟนคลับโดยเฉพาะ รวมถึงงานในแบบเดโม และแสดงสด มีลักษณะของการทดลองและความฟุ้งพล่านอยู่พอตัว แต่ไม่ทิ้งบุคลิกดนตรีที่แฟนๆ ชอบ ถือเป็นอัลบั้มที่น่าสนใจสำหรับคนทั่วไปไม่น้อย

ถือว่าเป็นการรวมเพลงที่กระจัดกระจายให้อยู่ในที่เดียว เพื่อแสดงให้เห็นถึงอารมณ์และความรู้สึกที่เปลี่ยนผ่านไปของการทำงานดนตรีของตัวเองในบางมิติได้ดี ซึ่งเป็นบทเพลงที่ดิบและออกมาจากสัญชาติญาณในช่วงเวลาหนึ่ง

Chess Pieces : The Very Best of Chess / รวมเพลง

เป็นอัลบั้มรวมเพลงที่รวบรวมเอาบทเพลงหลายสไตล์และอารมณ์เพลงของดนตรีผิวสีอเมริกันหรือแบล๊ค มิวสิค จากบลูส์ถึงดู-วอบ, ร๊อคแอนด์โรลถึงอาร์แอนด์บี, พ๊อพถึงโซลและแจ๊ซ เพราะชีส เรคคอร์ด เป็นค่ายเพลงแห่งยุคสมัย ซึ่งเป็นอีกที่หนึ่งที่นำดนตรีสกุลแอฟริกัน-อเมริกันพัฒนาสู่หูของความยอดนิยมในโลกดนตรีกระแสหลักได้ ถือเป็นการวิวัฒน์ทางดนตรีที่ถูกบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ของวงการดนตรีโลก

ซีดี 2 แผ่นคู่ที่บรรจุเพลงแน่นเอี๊ยดถึง 48 บทเพลง ผ่าน 25 ปีของการดำเนินกิจการ ตั้งแต่ก่อตั้งในปี 1950-1975 (พ.ศ.2493-2518) ที่หยุดไป แค่ดูรายชื่อเพลงจากนักร้องและวงดนตรีอย่าง Muddy Waters, Chuck Berry, Etta James, Bo Diddley, Sonny Boy Williamson, Little Walter และอีกมากมาย ก็แทบจะซู้ดปากด้วยความชื่นชม เพราะศิลปินเหล่านี้ถือเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจต่อคนรุ่นเดียวกันและคนรุ่นหลังให้ทำดนตรีและต่อยอดมาถึงปัจจุบัน

ดนตรีมวลรวมแบบดั้งเดิมของอาร์แอนด์บี ยุคต้นของดนตรีโซลและกอสเปล และต้นธารของร๊อคแอนด์โรล รวมถึงแจ๊ซในบางเสี้ยวของวงการเพลงอเมริกันถูกนำมาย่อให้ฟังในรวมเพลงชุดนี้ส่วนหนึ่งแล้ว

21st Century Breakdown / Green Day

มหากาพย์ทางดนตรีร็อคร่วมสมัยของยุคนี้ พ็อพพังค์ โอเปร่า ที่วางแนวความคิดรวบยอดเล่าเรื่องราวแบบคอนเซ็ปต์อัลบั้ม โดยแบ่งเป็น 3 องก์ ‘Heroes and Cons’, ‘Charlatans and Saints’, และ ‘Horseshoes and Handgrenades’ ผ่านตัวละครพระนางวัยรุ่น คริสเตียนกับกลอเรีย ที่อยู่ในสังคมเมืองสมัยใหม่ของอเมริกา

ถือเป็นพัฒนาการก้าวเล็กๆ ที่สะท้อนถึงความเป็นเฮฟวี่ เมโลดิค พังค์ ที่สวยงามอีกโสตหนึ่งด้วย ซึ่งตอกย้ำถึงความชัดเจนกล้าหาญอันเปี่ยมไปด้วยความทะเยอทยานอย่างแรงกล้า รวมถึงความสนุกสนานภายใต้ความอึกทึกครึกโครม ที่ต่อจากงานชุด ‘American Idiot’ ซึ่งประสบความสำเร็จมาแล้วอย่างท่วมท้น
………

ดนตรีในสวน ‘บ้านสินเจริญ’ โชว์เพลงทอล์คโชว์

สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม สานต่อโครงการ ‘จิตสำนึกรักเมืองไทย ก้าวเข้าสู่ปีที่ 3’ น้อมนำพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ได้ทรงพระราชทานแก่คนไทยเรื่องความรัก ความสุข และ การทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด มาเป็นแนวทางในการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมเยาวชนและครอบครัวคนไทยตลอดปี 2554 นี้

กิจกรรมดนตรีในสวน เริ่มต้นขึ้นทุกเย็นวันอาทิตย์ตั้งแต่เดือน ธันวาคม 2553 - มกราคม 2554 โดยการนำวงดนตรีเล็กๆไปตระเวนบรรเลงเพลง เพื่อเติมเต็มความสุขของคนกรุงเทพ ณ สวนรมณียนารถ, สวนหลวงพระราม๘, สวนสันติภาพ และสวนวชิรเบญจทัศ หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อสวนรถไฟ

สำหรับในวันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2554 นี้ เป็นการแสดงครั้งพิเศษที่สุด กับบรรยากาศเพลงรักในสวนสีเขียวที่จะมาเติมเต็มความรู้สึกชุ่มชื่นในหัวใจ ด้วยการแสดงดนตรีเปิดสวน โดย วงเยาวชน กับเพลงรักแบบสร้างสรรค์หลายรูปแบบ ต่อด้วย การประชันแซกโซโฟน ของ 2 นักดนตรีพี่น้อง อ.นภดล และ อ.ประเสริฐ ฉิมท้วม แห่งวง ‘แซก บราเธอร์ส’ และ เพลิดเพลินไปกับการแสดงโซโล ฮาร์โมนิก้า โดย น้องโน้ต ราชวินิต เยาวชนไทยฝีมือฉกาจ ตบเท้าต่อเนื่องความบันเทิงกับ ครอบครัวศิลปินอารมณ์ดี ‘สินเจริญ บราเธอร์ส’ ที่ครั้งนี้ 3 หนุ่มจะควงแขนคุณพ่อคุณแม่ร่วมร้องเพลง และพูดคุยสร้างบรรยากาศแห่งความสุขให้อบอวลในสวนรถไฟ ร่วมกับ วงบิ๊กแบนด์ จากดุริยางค์ทหารบก

นอกจากนั้นยังได้นำผลงานภาพวาด ภาพถ่าย และหนังสั้นเยาวชนที่ได้ร่วมโครงการฯในปีที่ 1 และ 2 มาจัดแสดง พร้อมทั้งเปิดรับสมัครเยาวชนเข้าร่วมโครงการ ‘จิตสำนึกรักเมืองไทย ปี 3’ ซึ่งแสดงออกถึงความรักที่มีต่อชาติไทยผ่านทาง ศิลปะ ดนตรี และมัลติมีเดีย

ชมดนตรีในสวนและกิจกรรมต่างๆ ในวันอาทิตย์ ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2554 ตั้งแต่เวลา 13.00-19.00น. ณ สวนวชิรเบญจทัศ(สวนรถไฟ) ฟรี! ตลอดงาน

สำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่สนใจร่วมกิจกรรมในโครงการ ‘จิตสำนึกรักเมืองไทย ปี 3’ สามารถติดตามความเคลื่อนไหว และชมภาพบันทึกกิจกรรมดนตรีในสวน ทั้ง 9 ครั้ง ได้ ที่เว็บไซต์ www.tam-d-me-kwam-sook.tv
>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>
กำลังโหลดความคิดเห็น