หลายคนเชื่อว่าอาหารจานเด็ดที่ทุกเล่มต่างการันตีว่าเป็นสุดยอดในปฐพี คงหนีไม่เกินหน้าเนื้อสวรรค์ที่เรียกว่า 'สุนัข' หรือ 'หมา' ไปได้
โดยว่ากันว่า เนื้อสุนัขมีฤทธิ์เป็นยาโด๊ปชั้นยอดที่เพียงรับแค่บริโภคเข้าไปนิดหน่อย รับรองว่า ดึ๋งดั๋งเกินคำบรรยาย แถมยิ่งหากกินในช่วงอากาศหนาวๆ เช่นนี้ พนันได้เลยว่า ร่างกายจะกระปรี้กระเปร่า หายหนาวเป็นปลิดทิ้ง
จึงไม่ต้องแปลกใจเลยที่ทำไม ช่วงนี้หลายๆ พื้นที่จึงเกิดเหตุการณ์สุนัขล่องหนไปอย่างปริศนา
อย่างที่วัดพระยาแช่ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ซึ่งจากเดิมเคยมีสุนัขจรจัดวิ่งขวักไขว่อยู่ร่วม 400 ตัว แต่ทุกวันนี้กลับเหลือเพียง 100 ตัวเท่านั้น ซึ่งเจ้าอาวาสก็มั่นใจว่า คงต้องมีมือดีที่ไหนแอบลักสุนัขไปรับประทานอย่างแน่นอน เพราะเคยเห็นแรงงานพม่า 2 คนมาจับสุนัขที่วัดเลี้ยงไว้ แล้วก็กลับมาจับเรื่อยๆ จนเกือบจะหมดวัดแล้ว
เจออย่างนี้เข้าไป ก็ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า ตกลงแล้ว เนื้อสุนัข มันมีอะไรเด็ดกันนักหรือ เพราะต้องยอมรับความจริงที่ว่า สังคมไทยโดยส่วนใหญ่เป็นสังคมที่ไม่ยอมรับการกินเนื้อสุนัขหรือเนื้อหมาอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะเหมือนกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก แต่ก็ปฏิเสธความจริงจากข่าวที่เกิดขึ้น และสภาพแวดล้อมที่มีคนในหลายภูมิภาคของเมืองไทยเองนิยมชมชอบกินเนื้อหมา โดยเฉพาะในหน้าหนาวที่เชื่อสรรพคุณในทางยา โดยเฉพาะยาจีนซึ่งเป็นที่มาที่ไปของค่านิยมทางยาโป๊ว
จึงไปเปิดโลกของคนกินเนื้อหมาว่ามีที่มาและฝังรากลึกเพียงใด ไม่ใช่อยู่ดีๆ ปรากฏการณ์กินหมาจะโผล่มาทันที แต่เป็นเรื่องชาติพันธุ์ที่สืบทอดวัฒนธรรมประเพณีกันมายาวนาน แต่เป็นส่วนน้อยในสังคมไทยก็เพียงเท่านั้นเอง
กิน 'สุนัข' เรื่องเก่าแต่โบราณ
“การกินสุนัขจริงๆ แล้วก็ถือเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งมันมีมานานแล้ว หลักฐานก็มีให้เห็นอย่างในจีน บริเวณสุสานของจิ๋นซีฮ่องเต้ ที่มีรูปปั้นอยู่มากมายนั้น ก็มีรูปปั้นของสุนัขอยู่รวมกับรูปปั้นของหมู เป็ดไก่ ที่ใช้เป็นอาหาร ซึ่งตรงนี้ คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างชาวจ้วง ชาวอาข่า ก็กินกัน”
คำอธิบายสั้นๆ ของ ดนัย ชาทิพฮด อาจารย์จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร แต่กลับเป็นภาพสะท้อนได้อย่างดีว่า จริงๆ แล้ว การบริโภคสุนัขไม่ใช่เรื่องที่ไม่มีที่ไปที่มา แต่สืบทอดมานมนานมากกว่าพันๆ ปีแล้ว แถมยังแพร่หลายไปดินแดนต่างๆ ทั่วทวีปเอเชียอีกด้วย
โดยเฉพาะประเทศที่เชื่อกันว่า เป็นต้นกำเนิดของการกินหมาก็คือ เกาหลีใต้ ซึ่งจะนิยม 'หมาดำ' มากเป็นพิเศษเพราะคนที่นั่นเชื่อว่า หากกินมากๆ จะช่วยบำรุงผิวพรรณให้สดใสเปล่งปลั่ง โดยมีตลาด 'โมราน' ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากกรุงโซลเท่าใดนัก เป็นเแหล่งขายเนื้อหมาที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งภายในจะมีสุนัขทุกขนาด ทุกอายุ ทุกประเภทนับร้อยชีวิตถูกขังกรงไว้เรียบร้อย รอให้ผู้บริโภคมาชี้นิ้วสั่งว่าจะตัวไหนที่จะโชคร้าย ถูกนำไปทำ ซุปเนื้อสุนัข หรือ ดันโกกิ-จัง อาหารขึ้นชื่อของประเทศ
ส่วนอีกที่ซึ่งมีประวัติยาวนานไม่แพ้กันก็คือ ประเทศ 'จีน' ที่ถือว่ามีการกินสุนัขอย่างเป็นล่ำเป็นสันอย่างมาก เพราะนอกจากจะนำมาเนื้อสุนัข ขึ้นโต๊ะสุดหรูเวลาแล้วรับแขกบ้านแขกเมืองแล้ว คนที่นั่นยังเชื่ออีกว่า หากการนำเนื้อสุนัขมาตุ๋นกับยาสมุนไพรจะช่วยบำรุงร่างกายดีแข็งแรง โดยอาหารจานเด็ดสุด คงหนีไม่พ้น 'เนื้อหมาต้มแกงเต่า' ซึ่งได้รับเสียงร่ำลือมานานแสนนาน
ส่วนในแคว้นสิบสองปันนา ก็มีวัฒนธรรมการกินสุนัขที่ไม่เป็นรองแผ่นดินแม่แม้แต่น้อย สังเกตได้จากมีเนื้อสุนัขวางขายในตลาดสด โดยมีหัวสุนัขเป็นเครื่องการันตีว่าจริงแท้แน่นอน ไม่ได้แอบเอาเนื้ออื่นๆ ให้เสียรสชาติชัวร์
ขณะที่ดินแดนเอเชียอาคเนย์เอง ก็อย่าเพิ่งนึกว่าไม่มี เพราะเจอแค่เวียดนามแห่งเดียวก็ทำให้คนรักหมาถึงกับหนาวๆ ร้อนๆ กันแล้ว เพราะแค่กรุงฮานอยแห่งเดียวมีภัตตาคารอาหารเนื้อสุนัขเรียงรายนับไม่ถ้วน แต่ที่เด็ดสุดคือตลาดค้าเนื้อหมาที่ใหญ่ที่สุดโลก ที่เรียกว่า 'ตลาดบั๊กฮา' ซึ่งรับรองว่าหากต้องการจะนำเนื้อหมาไปทำอะไรที่นี่มีหมด
ขณะที่ประเทศพื่อนบ้านอย่าง ลาว ก็มีจานเด็ดอย่าง หมาปิ้งที่ดูจะคล้ายหมูหันซะมากกว่า ปรุงพร้อมเครื่องใน กินกับข้าวเหนียว ส้มตำ รับรองว่าแซบอย่าบอกใคร ส่วนเมืองไทยนั่นก็อย่างที่รู้ว่า ชุมชนท่าแร่ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร นั้นถือเป็นศูนย์กลางเนื้อหมาที่ใหญ่ที่สุด และหยัดยืนมานานกว่าร้อยปีแล้ว
เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เป็นการบ่งบอกได้อย่างดีว่า การบริโภคสุนัขไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่หรือเป็นเรื่องที่สังคม (แบบเดิมๆ) รังเกียจแม้แต่น้อย แต่เป็นการขยายวัฒนธรรมในพื้นที่ต่างๆ รูปแบบหนึ่ง
เช่นจากเกาหลีใต้มาจีน จากจีนมาเวียดนาม จากเวียดนามมาสู่ลาว รวมไปถึงในชุนชนท่าแร่เองส่วนใหญ่ก็มีบรรพบุรุษมาจากเวียดนาม ซึ่งบริโภคเนื้อสุนัขเป็นปกติอยู่แล้ว
แต่ทว่า อะไรล่ะที่ทำให้ทัศนคติเรื่องนี้เปลี่ยนแปลงไปชนิดจากหน้ามือเป็นหลังเท้าไปได้อย่างเหลือเชื่อ
'สัตว์เลี้ยง' หรือ 'อาหาร'?
อิทธิพลจากโลกตะวันตก คือคำตอบที่อธิบายเรื่องนี้ได้ดีที่สุด
ดนัยชี้ให้เห็นว่า แม้ภาพลักษณ์ที่ชอบกินของสกปรก จะสร้างความน่ารังเกียจจนมนุษย์ไม่กล้ากิน แต่นั่นไม่เท่ากับชุดความคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสุนัขของคนยุโรปและเอเชียที่แตกต่างกัน
เพราะต้องยอมรับความจริงอยู่อย่างว่า วัตถุประสงค์ในการเลี้ยงสุนัขของคนแต่ละแห่งนั้นไม่เหมือนกัน อย่างในเมืองหนาวสุนัขคือ เพื่อนที่ไปล่าสัตว์ด้วยกัน หรือไม่เป็นสัตว์ที่ใช้เฝ้าบ้าน ขณะที่ในคนเอเชียไม่ได้มีภาพเช่นนั้น ซึ่งพอคนเอเชียเปิดรับความคิดเช่นนี่ ทัศนคติจึงเปลี่ยนแปลงไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“หลายคนมองว่ากระบวนการที่ให้ได้มาซึ่งอาหารนั้น เป็นเรื่องของความรุนแรง แต่ถ้ามองอย่างนั้น การกินหมูหรือวัวหรือไก่ก็ต้องเป็นอย่างนั้นเช่นกัน แล้วเหตุใดทำไมเราจึงรู้สึกกับกระบวนการนำเอาหมามาเป็นอาหารเท่านั้น
“อย่างแรกเลยก็คือเรื่องของชุดความคิดที่ว่าหมาคือเพื่อน คือสัตว์เลี้ยง ซึ่งแนวคิดคนละอย่างกับ จีน เขมร ไทย เวียดนาม เพราะที่นั่นต่างก็กินหมากันทั้งนั้น อย่างไทยใหญ่และชนเผ่าก็กินเหมือนกัน”
ดังนั้นผลที่ตามมาอย่างแน่นอน ก็คือภาพเชิงลบที่คนทั่วไปในปัจจุบันมองไปคนที่ยังบริโภคเนื้อสุนัขอยู่ ซึ่งแน่นอนว่า เป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยนกลับไปให้เหมือนเดิมได้
แต่นั่นก็นำมาสู่คำถามต่อไปว่า สรุปแล้วอะไรคือเสน่ห์ของเนื้อสุนัขนั้นคืออะไรกันแน่ ถึงได้มัดตามัดใจคนจำนวนหนึ่งได้แน่นหนาถึงเพียงนี้
กินแบบไหนถึงจะอร่อย
ปัจจัยที่สำคัญที่สุด ก็คงต้องยกให้เรื่องรสชาติที่แสนอร่อย จนคนเรียกว่า 'เนื้อสวรรค์' ซึ่งหากเทียบแล้วก็คงเหมือนกับกรณีของทุเรียนที่ใครชอบก็ชอบไปเลย ส่วนใครเกลียดก็เกลียดเข้ากระดูกดำ
อย่าง เสก หนุ่มสกลนคร ที่แม้จะไม่เป็นคนท่าแร่ แต่ก็เป็นอีกคนที่หลงใหลกับเนื้อสุนัขพันธุ์ไทยแท้ เพราะเนื้อนิ่ม แน่น หวานและอร่อยกว่าสุนัขพันธุ์ฝรั่งตัวเล็กเป็นไหนๆ
“เคยกินหลายเมนูนะ ชอบลองมากกว่า ทั้งเนื้อ เครื่องใน เอามาทำต้มยำ ย่าง แดดเดียว หรือเป็นลูกชิ้นก็มีหมดแหละ แต่เราชอบเอามาทำเป็นเมนูพื้นบ้านตามแบบฉบับของเราเอง อย่างต้มแซ่บก็อร่อยไปอีกแบบนะ”
ซึ่งราคาก็ถือว่าไม่แพงเท่าไหร่ ถ้าซื้อเป็นตัวมาชำแหละเองก็ไม่เกิน 500 บาท แต่หากของไม่มีก็หันไปเล่นงานสุนัขจรจัดหน้าตาน่ากินที่เดินเพ่นพ่านผ่านไปผ่านมาหน้าวงเหล้านั่นเอง
ที่สำคัญ บางทีหากไม่บอกว่า นี่คือเนื้อหมา หลายๆ คนอาจจะนึกว่ากำลังคิดเนื้อธรรมดาอยู่ด้วยซ้ำ
“รสชาติมันไม่ต่างกับอย่างพวกเนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อควาย มันอยู่ที่การทำว่าเราจะนำไปทำอาหารประเภทไหนด้วย ก็เหมือนเนื้อตากแห้งมันก็มีความเหนียว ครั้งแรกถ้าเรากินเข้าไปไม่มีทางรู้แน่นอน” ต้อง ช่างภาพหนุ่มเปิดเผยประสบการณ์การลิ้มลองเนื้อสุนัขเป็นของตัวเอง
นอกจากเรื่องรสชาติแล้ว กระบวนการปรุงก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งสำหรับเมืองไทยแล้ว การนำไปตุ๋นคือวิธีที่นิยมที่สุด เพราะเรื่องนี้เป็นอิทธิพลมาจากประเทศจีนนั่นเอง ส่วนรองลงมาก็จะเป็นการนำไปทอดกรอบ ทำเนื้อแดดเดียว ซึ่งหนุ่มสกลนครก็ยืนยันว่าหอมชวนกินมากกว่าเนื้อประเภทอื่นเสียอีก
“มันมีวิธีการที่หลากหลาย เหมือนกับการทำจากเนื้อสัตว์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการอบ การย่าง วิธีการกินมันเป็นเรื่องของวัฒนธรรมการประกอบอาหารและความชอบ อย่างที่สิบสองปันนาก็นิยมการอบ ส่วนที่เวียดนามนี่มีทั้งอบ ทั้งย่าง ทั้งตุ๋น แต่การที่คนส่วนมากมักจะมีภาพของการตุ๋นอยู่ในหัว ก็เพราะว่าเขาเอาเนื้อหมาไปผูกติดกับสรรพคุณทางยา คนที่อยู่ในที่สูงเขานิยมกินของตุ๋นเพราะมันร้อนมากกว่า” ดนัยอธิบายให้ฟัง
และที่ถือว่าเป็นยอดเซียนสุดๆ ก็คือสรรพคุณทางยา ซึ่งสามารถสร้างพลังให้แก่ร่างกายได้ สังเกตได้จากที่เวลาอากาศหนาวๆ คนจำนวนมากจะไม่รอช้าที่จะจับสุนัขมารับประทาน ซึ่งแน่นอนว่า เรื่องนี้ไม่มีใครยืนยันว่า จริงเท็จประการใด เพราะถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครพิสูจน์เรื่องนี้สักที
………
แม้เรื่องการกินสุนัขจะเป็นสิ่งที่สังคมส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนไทยรับไม่ได้ ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือเสี้ยวหนึ่งของความแตกต่างทางวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นปกติวิสัยของโลกใบนี้ ซึ่งแน่นอนว่า การที่จะบอกว่าสมควรหรือไม่นั้น คงไม่สามารถมองลอดแว่นและความรู้สึกของใครเพียงคนเดียวกันได้
แต่ต้องมอง ไปถึงบริบทของสังคมด้วยว่าที่ไป-ที่มาเช่นใด และนั่นก็อาจจะทำให้ทุกคนเข้าใจโลกใบนี้และความคิดของผู้คนได้มากขึ้นว่ามีอะไรซับซ้อนกว่าที่เป็นอยู่มากก็เป็นได้
>>>>>>>>>>
……..
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : วรวิทย์ พานิชนันท์