ณ ชั่วโมงนี้ เชื่อว่าถ้อยคำที่คนในบ้านเราพูดถึงกันบ่อยที่สุด ก็น่าจะเป็นคำว่า 'กระต่าย' นั่นก็เพราะว่าปีเก่าที่เพิ่งลาจากเราไปคือปีเสือ ส่วนปีใหม่ที่เพิ่งเดินทางมาเยือนเราไปหมาดๆ นั้น คือปีเถาะหรือปีกระต่ายนั่นเอง
เมื่อพูดถึงกระต่าย ใครๆ ก็คงจะนึกถึงภาพของสัตว์ตัวเล็กๆ หูยาวขนปุย เป็นภาพแรกเสมอ เพราะนั่นเป็นรูปลักษณ์ภายนอกที่คนเราเลือกจดจำเท่านั้น
ซึ่งเอาเข้าจริงๆ 'กระต่าย' มีมิติที่แตกต่างและหลากหลายไปกว่านั้นมาก ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง หรือในแง่มุมทางสังคมวัฒนธรรม หรือแม้แต่เรื่องของความเชื่อต่างๆ ที่อยู่เบื้องหลัง
และในวาระที่ปีนี้เป็นปีกระต่าย จึงพาไปสำรวจแง่มุมต่างๆ ของกระต่ายกัน
สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ากระต่าย
กระต่ายนั้นจัดอยู่ในไฟลัมของสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในวงศ์ Leporidae มีลำตัวขนาดเล็ก ขนปุย หูยาว พบในหลายแห่งของโลก มีสัตว์ 7 สกุลจัดอยู่ในวงศ์ของกระต่าย ที่พบอาศัยตามป่าทั่วไปในประเทศไทยมีชนิดเดียว คือ กระต่ายป่า (Lepus peguensis) ซึ่งมีขนสีน้ำตาล ใต้หางสีขาว ขุดดินเป็นโพรงอาศัย ส่วนที่นำมาเลี้ยงตามบ้านมีหลายชนิดและหลายสี แต่ที่พบมากจะเป็นสีอ่อนเช่นสีขาว เช่นชนิด Oryctolagus cuniculus
โดยกระต่ายนั้นถือได้ว่าเป็นสัตว์เลี้ยงอย่างหนึ่งของมนุษย์ (และบางครั้งมันก็เป็นอาหารด้วย เพราะเนื้อกระต่ายเป็นเนื้อที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลต่ำ) ซึ่งกระต่ายที่รู้จักกันมีแยกย่อยไปได้ถึง 45 สายพันธุ์ อีกทั้งมันยังเป็นสัตว์ที่ขยายพันธ์ได้เร็วมาก เพราะกระต่ายใช้เวลาตั้งครรภ์เพียงแค่ประมาน 30 วัน และตัวเมียตัวหนึ่งสามารถมีลูกได้ 20 - 40 ตัวต่อปีเลยทีเดียว
โดยทั่วไปกระต่ายตัวเต็มวัย สามารถกระโดดได้ไกลและสูงประมาณ 32 นิ้ว แต่จากสถิติโลกที่บันทึกไว้ กระต่ายบางตัวสามารถกระโดดได้สูงถึง 1 เมตร และไกลถึง 3 เมตรเลยทีเดียว ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลก เพราะนิสัยของกระต่ายนั้นเป็นสัตว์ที่ชอบออกกำลังกาย เพราะถ้ามันออกกำลังกายไม่เพียงพอ มันอาจจะเป็นโรคกระดูกพรุนได้
และสุดท้าย กระต่ายมันก็เหมือนกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่มีอายุขัยของมัน โดยเฉลี่ยแล้ว กระต่ายจะมีอายุอยู่ที่ประมาณ 8 - 10 ปี
ปีนี้ปีกระต่ายทอง
ตามการนับแบบจีน ในช่วงตรุษจีนที่จะมาถึงนี้ คือช่วงวันเวลาก้าวเข้าสู่ปีกระต่ายทอง กล่าวคือเป็นปีนักษัตร เถาะ ธาตุทองนั่นเอง ซึ่งการนับปีนักษัตรของจีนและการนับแบบไทยนั้นจะคล้ายกัน แตกต่างก็แต่เพียงวันเวลาของการเข้าสู่จุดเริ่มต้นปีเท่านั้นเอง
ซึ่งชื่อของปีเถาะ หรือปีกระต่ายนั้น มีการออกเสียงคล้ายคลึงกันในภูมิภาคแถบนี้ โดยชาวญวนและจีนฮกเกี้ยนออกเสียงว่า ถอ ส่วนจีนแต้จิ๋วออกเสียงว่า โถ ส่วนจีนแคะออกเสียงว่า ทู
ในความเชื่อแบบจีน ว่ากันว่าปีกระต่ายนั้นเป็นปีที่ชงกับปีระกาหรือไก่โดยตรง และชงแบบอ้อมๆ กับปีมะเมีย และปีชวด อีกทั้งมันยังส่งผลไม่ใคร่ดีนักต่อคนเกิดปีกระต่ายเอง ซึ่งในทุกปีคนที่มีดวงชงก็จะต้องตระเวนไปไหว้เจ้าแก้ชงแตกต่างกันไป ส่วนถ้าถือคติไทย คนเกิดปีกระต่ายก็ควรที่จะไหว้พระธาตุแช่แห้ง พุทธสถานศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองน่านซึ่งเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของปีเถาะนั่นเอง
ส่วนปีที่ทางโหราศาสตร์ว่าจะรุ่งในทุกเรื่องในปีเถาะก็คือปีจอที่เป็นคู่ซี้กับเถาะ กับปีมะแมซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในปีสามสมพงศ์ (เถาะ มะแม กุน) ส่วนปีกุนนั้นถึงแม้จะเป็นหนึ่งในสามสมพงศ์กับเขา แต่ปีนี้ทางโหราศาสตร์เขาว่าจะไม่เด่นเท่าใดนัก
กระต่ายกับความเชื่อและตำนาน
เมื่อพูดถึงกระต่าย ซึ่งเกี่ยวพันกับความเชื่อต่างๆ เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงเรื่องของกระต่ายที่อยู่ในดวงจันทร์เป็นแน่แท้ ซึ่งอันที่จริงไม่มีใครหรอกรู้ว่ากระต่ายกับพระจันทร์มาเกี่ยวข้องกันได้อย่างไรและเมื่อไร แต่ความเชื่อและตำนานในโลกตะวันออก ในเรื่องกระต่ายในดวงจันทร์นั้นมีอยู่หลายเชื้อชาติ
ชาวจีนเชื่อว่ามีกระต่ายตำยาอยู่บนดวงจันทร์ แต่ชาวญี่ปุ่นบอกว่าตำโมจิต่างหาก ส่วนชาวไทยใหญ่บอกว่ากระต่ายบนดวงจันทร์อาศัยอยู่ในเรือนแก้วที่มีหน้าต่าง 15 บาน พอถึงข้างขึ้นก็จะเปิดหน้าต่าง 1 บานจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ และปิดทีละบานในคืนข้างแรมจนถึงคืนแรม 15 ค่ำ นอกจากนั้นรูปกระต่ายในดวงจันทร์ยังเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดจันทบุรีอีกด้วย
ส่วนชาวตะวันตก (โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา) นั้น ไม่ค่อยจะมีความเชื่อในเรื่องของกระต่ายบนดวงจันทร์สักเท่าไหร่ อาจเป็นเพราะพวกเขาได้ลองขึ้นไปดูบนดวงจันทร์แล้วไม่พบกระต่ายสักตัว แต่เท้ากระต่าย (Rabbit’s foot) กลับกลายเป็นเครื่องรางนำโชคของพวกเขา ความเชื่อนี้เป็นของลัทธิวูดูที่แพร่เข้ามาผ่านพวกทาสจากแอฟริกาในยุคอาณานิคม โดยเจาะจงว่าต้องเป็นขาหลังด้านซ้ายเท่านั้น ทั้งนี้เพราะเชื่อว่ากระต่ายเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์และความตื่นตัวที่สามารถป้องกันมนต์ดำของแม่มดได้ ในอเมริกาความเชื่อนี้ถูกเติมแต่งขึ้นไปอีกว่า ถ้าจะให้ขลังมากยิ่งขึ้น จะต้องเป็นกระต่ายที่ได้จากการล่าด้วยกระสุนเงินในคืนวันศุกร์ที่พระจันทร์เต็มดวงและต้องยิงจากระยะไกล ทุกวันนี้ เดินเข้าไปตามบ่อนกาสิโนในลาส เวกัส ยังสามารถเห็นนักพนันพกขากระต่ายได้ทั่วไป
ส่วน ชนเผ่าโอจิบวี (Ojibwe) ในอเมริกากลาง ซึ่งเป็นชนเผ่าดั้งเดิมของทวีปอเมริกานั้น มีความเชื่อว่า จริงๆ แล้วกระต่ายถือเป็นเทพที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะเทพเจ้านานาโบโซ (Nanabozho) ที่มีตั้งชื่อให้แก่พืชและสัตว์ในช่วงที่มีการสร้างโลก มักปรากฏกายในรูปของกระต่าย ดังนั้นชนเผ่าโอจิบวีจึงมักจะวาดรูปกระต่ายลงในแผ่นหินด้วยสีแดง เพื่อทำการเคารพบูชา
ในจักรวรรดิแอซเท็ก ซึ่งอยู่ทางตอนกลางของเม็กซิโกในปัจจุบัน มีความเชื่อเรื่องของเทพกระต่ายอยู่เหมือนกัน ถึงกับมีการสร้างวิหารเซนต์ซอน โตต็อชติน (Centzon Totochtin) หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่าวิหารเทพกระต่าย 400 องค์ โดยมีเทพกระต่าย 2 องค์ชื่อ โอเมต็อชตลิ (Ometotchtli) เป็นประธาน
แต่กระนั้น กระต่ายที่มีความหมายในด้านลบก็มีปรากฏอยู่ในวัฒนธรรมตะวันตกเช่นกัน ดังเช่นในเมืองพอร์ตแลนด์ สหรัฐอเมริกานั้น เชื่อว่ากระต่ายเป็นตัวซวย เพราะก่อนหน้านี้มันมีอุบัติเหตุหินถล่มในเหมืองบ่อยครั้ง และก่อนที่หินจะถล่มลงนั้น คนงานเหมืองก็มักจะเห็นกระต่ายวิ่งออกมาจากโพรง
ในเทศกาลอีสเตอร์ ซึ่งเป็นเทศกาลฉลองวันฟื้นคืนพระชนมชีพของพระเยซู ก็มีกระต่ายเข้าไปเกี่ยวข้อง ทั้งนี้เป็นเพราะกระต่าย เป็นสัญลักษณ์ประจำพระองค์เทพธิดา Eostre ของพวกนอกรีตชาว Anglo-Saxons (ชนชาติเยอรมันที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่อังกฤษในสมัยโบราณ) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ และชีวิตใหม่
กระต่ายในวัฒนธรรมร่วมสมัยของบ้านเรา
กลับมาในบ้านเรากันบ้าง จริงๆ แล้วปีเถาะหรือปีกระต่ายนั้น ถือเป็นปีที่มีความมงคลยิ่งในบ้านเรา เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ นั้นประสูติในปีนักษัตรเถาะ (ปี พ.ศ. 2470) และนั่นก็ทำให้อาคารและถาวรสถานจำนวนมากในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มักจะมีชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่า ศศ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หอพักศศนิเวศ อาคารศศปาฐศาลา
ซึ่งคำว่า ศศ นี้มีที่มาจากในช่วงปี 2530 ทางจุฬาฯ ได้ขอพระราชทานนามสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ หลังจากนั้นไม่นาน พระองค์ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม "ศศินทร์" เป็นชื่อสถาบัน โดยมีที่มาจากคำในภาษาสันสกฤต 2 คำ ได้แก่ ‘ศศ’ หมายถึง กระต่าย ซึ่งเป็นปีนักษัตรที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชสมภพ และ ‘อินทร์’ หมายถึง หัวหน้าหรือผู้เป็นใหญ่ ดังนั้น ศศินทร์ จึงหมายความว่า หัวหน้าของเหล่ากระต่าย
นอกเหนือไปจากนั้น ในบ้านเรายังมีสิ่งที่ใช้กระต่ายเป็นชื่อเรียกอีกจำนวนมากไม่ว่าจะเป็น กระต่ายขูดมะพร้าว ที่เรียกว่ากระต่ายขูดมะพร้าวนั้นก็เพราะฟันที่ใช้ขูดเนื้อมะพร้าวมีลักษณะเป็นซี่ยาวเหมือนฟันกระต่าย อีกทั้งการทำโครงไม้ซึ่งใช้เสียบฟันขูดและนั่งเวลาขูดมะพร้าว มักทำเป็นตัวกระต่าย
ฟันกระต่าย ที่ใช้เป็นชื่อเรียกลักษณะของคนที่มีฟันบนสองซี่หน้าใหญ่และยาวกว่าซี่อื่นๆ
หรือจะเป็นการละเล่นกระต่ายขาเดียว ซึ่งเป็นการเล่นไล่จับประเภทหนึ่ง โดยผู้ที่ถูกเรียกว่าเป็นกระต่ายซึ่งจะยืนบนขาข้างเดียว งอเข่าขาอีกข้างไม่ให้เท้าสัมผัสพื้น จากนั้นก็กระโดดและเขย่ง เพื่อไล่จับคนอื่นๆ ให้สลับมาเป็นกระต่ายแทน
อย่างไรก็ตาม ภายหลังคำว่ากระต่ายขาเดียว หรือยืนกระต่ายขาเดียวนี้ ได้ถูกแผลงมาเป็นสำนวน ซึ่งแปลว่า การยืนยัน การเถียง การโต้แย้ง ด้วยเหตุผล หรือมุมมองจากตนเองฝ่ายเดียว และมักเป็นการแย้งที่ไม่สมเหตุสมผล รวมถึงมักจะเป็นการโกหก ปิดบังความจริง เพราะการยืนกระต่ายขาเดียว โอนเอน ไม่สมดุล ไม่มั่นคง ล้มได้เสมอ
ในหลายวัฒนธรรม กระต่ายคือสัญลักษณ์ของความสดใสร่าเริง แข็งแรง และความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นในวาระขึ้นปีใหม่ปีกระต่ายในปีนี้ จึงเปรียบเสมือนสัญลักษณ์แข็งแรง สดใสและร่ำรวยอุดมสมบูรณ์
>>>>>>>>>>>
………
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK