xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมต้อง 'ราบ 11' ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


‘ราบ 11’ หรือ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ กลายเป็นค่ายทหารที่ดังที่สุดไปแล้ว หลังจากที่ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ไปเยี่ยมเยือนบ่อยกว่าที่อื่น

แน่นอนว่าเหตุผลหนึ่งเป็นเพราะนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลบภัยอยู่ที่นั่น แต่การเมืองไทยเป็นเรื่องซับซ้อน นัยแห่งราบ 11 จึงอาจมีอะไรมากกว่าที่เราคิด มันอาจเป็นสัญลักษณ์หรือมีความหมายแฝงที่ลึกกว่าเราจะเข้าใจได้เพียงผิวเผิน

จึงควรอย่างยิ่งที่เราจะลองมาทำความรู้จักกับกองพันอันทรงเกียรติ ที่ได้รับการขนานนามว่า 'ทหารเสือราชินี' ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับเส้นทางการเมืองไทยมาอย่างลึกซึ้งยาวนาน และขุดคุ้ยเบื้องลึกเบื้องหลังของราบ 11 แห่งนี้ดูกันสักที

ประวัติศาสตร์แห่ง 'ราบ 11'

กรมทหารที่ถูกเอ่ยถึงและเรียกกันติดปากว่า 'ราบ 11' นี้ มีชื่อเสียงเรียงนามอย่างเป็นทางการว่า กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ซึ่งประวัติความเป็นมาตามที่ศูนย์ข้อมูลการเมืองไทย หรือThailand Political Base ระบุไว้นั้น ทำให้สืบย้อนได้ว่า เดิมที กรมทหารดังกล่าว ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่พิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์มาแล้วนับร้อยปี โดยทำหน้าที่เป็นหน่วยอารักขา และดูแลสถานการณ์ความปลอดภัย ความเรียบร้อยในรั้วรอบขอบเขตพระราชฐาน

กระทั่ง ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้ตั้งหน่วยทหารดังกล่าวขึ้นเป็นกองทหารเพื่อฝึกฝนตามรูปแบบของทหารอาชีพ เรียกว่า กองทหารรักษาพระบรมมหาราชวัง หรือกองทหารล้อมวัง โดยเครื่องแบบสีน้ำเงินที่สวมใส่ ก็ยึดถือตามรูปแบบเดิมของเจ้าหน้าที่กรมวัง

จากเจตนารมณ์ที่มีมานับแต่ดั้งเดิม จึงแสดงให้เห็นว่า กองทหารล้อมวัง หรือ กรมทหารราบ ที่ 11 ในปัจจุบัน มีความสัมพันธ์อันแน่นหนา และจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มาแล้วเนิ่นนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกาลต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารดำรงตำแหน่งเป็นพันเอกพิเศษประจำกรม ครั้นมกุฎราชกุมารทรงขึ้นครองราชย์ เป็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ในปี 2451พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนชื่อกรมทหารล้อมวัง เป็นกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ และยืนยงมาจวบจนปัจจุบัน

แม้ในกาลต่อมา อาจมีบางช่วงเวลาที่กรมทหารราบที่ 11 ถูกยุบ ถูกเปลี่ยนแปลงชื่อ และถูกปรับขนาดกองกำลังบ้าง กระนั้น ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็เป็นเพียงความเปลี่ยนแปลงชั่วครู่ยาม เพราะไม่ว่าอย่างไร กรมทหารราบ ที่ 11 รักษาพระองค์ ก็ยังคงยืนยงมาตราบทุกวันนี้


'ราบ 11' เกียรติภูมิที่สั่งสม

นอกจากมีภารกิจหลัก คือการถวายอารักขาองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ในทุกโอกาส รวมถึงรักษาความสงบภายใน ป้องกันและปราบปรามการก่อการไม่สงบ ระวังป้องกันที่ตั้งและบุคคลสำคัญในพื้นที่รับผิดชอบใจกลางกรุงเทพมหานคร คอยป้องกันประเทศจากการรุกรานภายนอกบริเวณแนวชายแดนไทย ทั้งยังต้องให้ความสำคัญกับปฏิบัติการทางจิตวิทยาและการช่วยเหลือประชาชน เสริมสร้างความสัมพันธ์ และความเข้าใจอันดีระหว่างทหารกับประชาชนแล้ว

ในประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่ผ่านมา กรมทหารราบที่ 11 ก็นับว่ามีบทบาทสำคัญไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ใดๆ อันนำไปสู่การบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ เมื่อนั้น กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ก็จะก้าวเข้ามาร่วมเป็นหนึ่งในกองกำลังหลักของการรักษาความมั่นคง

ดังในอดีตที่ผ่านมา กรมทหารราบที่ 11 เคยร่วมปราบปรามกบฏบวรเดชฯ ในปี พ.ศ. 2476, เคยร่วมรบในสงครามพิพาทอินโดจีน และสงครามมหาเอเชียบูรพา ในช่วงปี 2483-2488 ซึ่งเป็นยุคที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นผู้นำประเทศ ทั้งเคยร่วมปราบปรามกบฏวังหลวงในปี 2492 และร่วมปราบกบฏแมนฮัตตันในปี 2494

นอกจากนั้นในราวปี 2512 – 2520 กรมทหารราบที่ 11 ก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเข้าร่วมปราบปรามกองกำลังคอมมิวนิสต์ ที่รัฐบาลในขณะนั้น มองว่าเป็นภัยร้ายแรงของชาติ ทั้งยังให้การสนับสนุนในการส่งกองกำลังเข้าร่วมปราบปรามขบวนการก่อการร้ายในภาคใต้ หรือในพื้นที่รอยต่อตามแนวชายแดนภาคเหนือและภาคตะวันออก ที่ครั้งหนึ่งขบวนการคอมมิวนิสต์เคยใช้เป็นฐานที่มั่น

บุกราบ 11...แฝงนัย หรือ ไร้นัย

ไม่ว่าอย่างไร ความจริงข้อหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ เกียรติภูมิที่สั่งสมมาช้านาน ไม่อาจทำให้กรมทหารราบที่ 11 รอดพ้นหรือลอยตัวเหนือการตกเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการเมือง ณ ห้วงเวลานี้ เพราะแม้ไม่ต้องขบหาความหมายใดๆ ให้ลึกซึ้ง กรมทหารราบ 11 ก็ได้กลายเป็นศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย คอยให้ความอารักขา ดูแลท่านผู้นำประเทศ จนนำไปสู่การเผชิญหน้า (โดยละม่อม) กับกลุ่ม นปช. ที่มาชุมนุมกดดันนายกรัฐมนตรีถึงหน้ากรม ท่ามกลางการจับตาอย่างใกล้ชิดของคนในสังคม

ทั้งมีไม่น้อยที่ตั้งข้อสังเกตว่า การที่ผู้ชุมนุมเคลื่อนไหวไปกดดันถึงกองทัพ น่าจะแสดงนัยบางอย่างที่ลึกซึ้งยิ่งกว่าเพียงแค่ 'กดดัน' นายกฯ เช่นที่ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า

“เมื่อก่อน ม็อบสมัชชาคนจนจะเดินไปที่กระทรวงเกษตรฯ เดินไปที่ทำเนียบฯ แต่ในปัจจุบัน ม็อบไม่ได้เดินไปแค่ที่ทำเนียบฯ หรือกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ แต่เดินไปที่กองทัพ ซึ่งนี่อาจเป็นการแสดงให้รู้ว่า ปัญหาอยู่ที่กองทัพหรือเปล่า? ประชาชนเริ่มไม่พอใจกองทัพงั้นหรือ ทำไม? ”

เป็นทัศนะที่น่าขบคิดและสอดคล้องกับนักวิชาการบางคนที่มองว่า การเคลื่อนไหวไป ราบ 11 นั้น หาใช่เพียงเพราะเป็นที่พำนักชั่วคราวของนายกฯ แต่เพราะสถานที่ดังกล่าวเปรียบเสมือนฐานที่มั่นและเครือข่ายอิทธิพลที่แนบแน่นอย่างยิ่งกับประธานองคมนตรี ซึ่งเป็นบุคคลที่ นปช. กล่าวโจมตีอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

เช่นที่นักรัฐศาสตร์คนหนึ่ง สะท้อนความสำคัญและนัยเบื้องลึกที่แฝงอยู่กับ 'ราบ 11' ว่า

“พูดกันอย่างง่ายๆ กรมทหารราบ 11 ก็คือ 'ทหารเสือราชินี' ราบ 11 จึงเป็นสัญลักษณ์ เป็นภาพแทนของสายสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์และกองทัพ

“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคสมัยที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงนั้น พลเอกเปรมมีอิทธิพลอย่างสูงต่อกองทัพ มีอำนาจแผ่ขยายครอบคลุม ทั้งยังกระตุ้นให้กองทัพมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ราบ 11 จึงมีนัยของการเป็นสถานที่ที่คอยปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และพลเอกเปรมก็ถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้กรมทหารราบ 11 เป็นสัญลักษณ์ของการพิทักษ์สถาบัน กลายเป็นสายสัมพันธ์ที่มีมาอย่างแนบแน่นยาวนาน”

ขณะที่ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ก็มีมุมมองที่ไม่อาจมองข้าม เพราะเขาช่วยสะกิดเตือนการเชื่อมโยงหรือตีความไปต่างๆ นานาว่า อาจนำไปสู่การให้ความหมายที่บิดเบือนและไม่เป็นธรรมแก่ผู้ที่มิได้มีเจตนาดังกล่าว โดยเฉพาะในกรณีนี้ ศิโรตม์มองว่า

“การจะตีความอย่างลึกซึ้งซับซ้อนได้ถึงขั้นนั้น ผู้ที่ตีความก็ย่อมต้องมีความรู้ความเข้าใจในประวัติศาสตร์ทางการเมืองหรือความเป็นมาของราบ 11 เป็นอย่างดี ซึ่งผมว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเขาไม่ได้มีความเข้าใจในเรื่องนี้ ดังนั้น การไปเคลื่อนไหวกดดันที่ราบ 11 จึงไม่ได้มีนัยลึกซึ้งอะไรเลย เขาไปที่นั่นเพียงเพราะนายกรัฐมนตรีอยู่ที่นั่น ผมเชื่อว่า ถ้านายกฯ ไปอยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศ กลุ่มผู้ชุมนุมเขาก็ย้ายไปที่กระทรวงการต่างประเทศด้วย ผมไม่เห็นด้วยกับการตีความหรือมองหานัยอะไรทำนองนี้ เพราะมันเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนและเป็นเรื่องอันตรายมาก แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะโยงการชุมนุมมาเกี่ยวกับสถาบัน เป็นเรื่องที่ไม่ควร

“ผมว่าไม่ได้มีนัยอะไรลึกซึ้งหรอกครับ เพราะผมเชื่อว่าผู้ชุมนุมไม่ได้รู้หรือเข้าใจบริบททางการเมืองของ ราบ 11 เขาไปที่นั่น ก็เพราะนายกฯ อยู่ที่นั่น”

เป็นความเห็นที่สอดคล้องกับ ดร.เลิศชาย ศิริชัย อาจารย์ประจำสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งมองว่าการเคลื่อนพลของกลุ่ม นปช. ไปยังราบ 11 นั้น อาจเป็นเพราะสถานที่ดังกล่าวคือที่รวมอำนาจของการสั่งการ ทั้งการที่นายกฯ ไปเก็บตัวที่นั่นก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปกดดันรัฐบาลให้ยุบสภา

แต่ขณะเดียวกัน ดร. เลิศชาย ก็เพิ่มเติมว่า นั่นอาจเป็นการเดินเกมของแกนนำ นปช. ด้วย ที่อาจคาดการณ์ว่ารัฐบาลคงจะใช้ความรุนแรง หรือถ้ารัฐบาลไม่ใช้ความรุนแรง ก็ยิ่งช่วยสร้างพลังทางการต่อรองของผู้ชุมนุมให้เพิ่มมากขึ้น

ส่วนเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลไปตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบที่กรมทหารราบ 11 นั้น ดร.เลิศชัย ให้เหตุผลว่า อาจเป็นเพราะสถานที่ดังกล่าวถือว่าเป็นชัยภูมิในการตั้งรับที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯ เพราะตั้งอยู่นอกเมืองและมีพื้นที่กว้าง

“รัฐบาลคงมองว่าเป็นที่ที่ปลอดภัย เขาคงอ่านเกมออกว่าในที่สุดต้องเผชิญหน้ากัน และอาจจะมีการใช้ความรุนแรง ทางฝ่ายอำนาจรัฐเขาก็หาที่ที่ปลอดภัยที่สุด และที่ราบ 11 ก็คือที่ที่ปลอดภัย เพราะเป็นที่กว้าง กว่าจะเข้าถึงก็ยาก สนามบินก็พร้อม ทางหนีทีไล่ก็มีเยอะ เป็นที่ตั้งรับและเป็นสมรภูมิที่ดีที่สุด”

กระนั้น ดร. เลิศชาย ยังได้ตั้งข้อสังเกตทิ้งท้ายว่า การที่นปช. เดินทางมาที่กรมทหารราบที่ 11ก็เพราะเชื่อว่าที่นี่เป็นศูนย์รวมอำนาจที่แท้จริง เนื่องจากในความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลไม่ได้มีอำนาจอยู่ในมือ แต่มีทหาร และบุคคลที่นปช. เรียกว่า 'อำมาตย์' หนุนหลังอยู่

..........

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK

    ***หมายเหตุ***
 หลังจากบทความชิ้นนี้เผยแพร่ออกไป มีผู้อ่านเข้ามาท้วงติงเป็นอันมากเกี่ยวกับข้อมูลที่ผิดพลาดในประเด็นที่ว่า 'ราบ 11 คือ ทหารเสือราชินี' ทีมข่าว CLICK จึงขออภัยท่านผู้อ่านทุกท่านมา ณ ที่นี้
    ข้อมูลที่ถูกต้องคือ ทหารเสือราชินี นั้น เป็นสมญาของ กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ อันเนื่องมาจากในปี พ.ศ. 2519 สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานชื่อของค่ายกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ว่า 'ค่ายนวมินทราชินี' ทั้งทรงพระราชทานสมญาของ กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ว่า 'กรมทหารเสือนวมินทราชินี' ด้วยสมญาดังกล่าว กอปรกับเกียรติประวัติที่สั่งสมมา ทำให้กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ได้รับการขนานนามว่า 'ทหารเสือราชินี' สืบมานับแต่นั้น
               .............
 
กำลังโหลดความคิดเห็น