xs
xsm
sm
md
lg

ตาบอด...ชีวิตไม่บอด “แฮ็ค-อังกูร ทองสุนทร”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลายคนอาจไม่คุ้นชื่อกับ “แฮ็ค-อังกูร ทองสุนทร” แต่น่าจะคุ้นหูมากขึ้นกับชื่อ แฮ็ค วงไอโอเนียน หนึ่งในสมาชิกผู้พิการทางสายตามากความสามารถ วันนี้จะมาพูดคุยถึงมุมมองชีวิตหลังม่านตาที่พร่ามัวและตัวตนของชายผู้ไม่เคยทิ้งฝัน

“ไม่ได้บอดเสียทีเดียว เรียกว่าเป็นผู้พิการทางสายตาประเภทหนึ่งซึ่งจริงๆ จะมีอยู่ 2 ประเภท คือบอดแบบไม่เห็นเลยกับอีกประเภทคือเห็นเลือนราง สาเหตุเกิดจากประสาทตาเสื่อมทั้ง 2 ข้างตั้งแต่อายุ 19 ปี เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมฝ่ายแม่ แต่ก็ไม่โทษพ่อหรือแม่ กลับรู้สึกเสียใจว่าเราจะสามารถทดแทนบุญคุณเขาได้อย่างไร”

หากไม่บอกก็คงไม่รู้ว่าหนุ่มวัย 32 คนนี้ตาบอด เพราะเขาสามารถใช้ชีวิตได้ราวกับเป็นคนปกติธรรมดาคนหนึ่งเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น การเดินที่ไม่ต้องใช้ไม้เท้าและนัยน์ตาโตสดใส แต่ใครจะรู้ว่าเขาและครอบครัวต้องเผชิญกับความเสียใจมากเพียงใด

แฮ็คเล่าว่าเมื่อพบว่าตัวเองประสาทตาเสื่อม ทั้งความคล่องตัว ความเชื่อมั่น ความตั้งใจ ความฝัน อนาคตที่วาดไว้ทุกสิ่งจบลง โดยแพทย์จากหลายสถาบันลงความเห็นว่าไม่สามารถรักษาได้ อาการจะทรงตัวอยู่เช่นนี้หรืออาจทรุดลงก็ได้ ไม่สามารถทำให้ดีขึ้นได้ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ปัจจุบัน

“เริ่มเป็นช่วงที่สอบเอนทรานซ์ ที่มีอาการว่าสายตาผิดปกติ ตอนนั้นคิดแค่ว่าแค่ตัดแว่นก็คงหาย แต่พอมาตรวจจริงๆ แล้วมันซีเรียส จากที่เคยคิดจะเรียนต่อด้านศิลปกรรมก็ต้องหยุดไป เริ่มสับสนกับชีวิตว่าข้างหน้าจะทำอย่างไรต่อ หลังเรียนจบแล้วก็อยู่บ้านเฉยๆ รักษาตัวอยู่ 7 เดือน ก่อนที่จะตัดสินใจกลับไปเรียนต่อ”

จากนั้นเขาเริ่มเรียนรู้การใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ด้วยการฟื้นฟูนาน 3 เดือนเรื่องการใช้ไม้เท้า การใช้อักษรเบรลในสังคมผู้พิการทางสายตา รู้จักเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกช่วยเหลือ ก่อนไปเรียนต่อด้านครุศาสตร์ร่วมกับผู้พิการทางด้านอื่นด้วย พร้อมกับพยายามยอมรับความจริงและทำให้ดีที่สุด

มองด้วยสมอง

ถึงแม้สายตาจะพิการ แต่แฮ็คกลับมองว่า “สมองยังมี” จึงสามารถคิดสร้างสรรค์ได้ ซึ่งก็รู้ตัวว่าชอบงานทางด้านศิลปะ ชอบฟังเพลง ร้องเพลง เขียนหนังสือ ดังนั้นอาชีพที่ใฝ่ฝันคือนักเขียน นักดนตรี หรืองานครีเอทีฟนั่นเอง

“ตอนนั้นก็คิดแบบมันจะเป็นไปได้ไง ใครจะยอมรับเรา เราไม่เหมือนคนอื่นเขา ทำงานได้ไม่เทียบเท่าคนอื่น คนหนึ่งอาจจะทำงานได้ 10 อย่าง เราอาจจะทำได้แค่ 5-6 อย่าง แต่ก็พยายามแสวงหาโอกาสมาเรื่อยๆ มีกิจกรรมที่ไหนก็ไป ทำงานค่ายศิลปะ พบผู้คนมากขึ้น ทำให้เขาเห็นว่าเราทำได้มากกว่าที่เขาเคยคิด ทำเพื่อพิสูจน์ตัวเองและเพิ่มความมั่นใจให้ตัวเอง”

นอกจากงานค่ายก็ยังเคยทำหนังสือทำมือขายกับกลุ่มเพื่อน สอนหนังสือไปด้วย เล่นดนตรีกับเพื่อนทั้งคนตาบอดและคนปกติ ทำทุกสิ่งอย่างที่จะสามารถแสวงหาโอกาสให้กับตัวเองได้ สั่งสมประสบการณ์และผลงานจนวันหนึ่งเมื่อโอกาสถูกหยิบยื่นเข้ามาก็สามารถนำไปใช้ได้

“ผ่านไประยะหนึ่งก็คิดว่าถ้าเรามัวแต่เปะปะอย่างนี้ต่อไป ไม่มีเป้าหมายก็คงไม่ดีแน่ ต้องทำอะไรสักอย่าง เคยคิดจะขายลอตเตอรี่ด้วยนะ แต่มันก็ไม่ใช่ฝันเรา ก็ทำในสิ่งที่เราเชื่อดีกว่า จนวันหนึ่งได้เจอกับพี่อุ้ม-สิริยากร พุกกะเวส ที่เคยทำเรียลิตีกับวงดนตรีคนตาบอดไอโอเนียนที่ผมอยู่ก็ได้พูดคุยกัน”

ต่อมาเขาได้พบโอกาสและเริ่มสานฝันด้วยการไปสมัครงานเป็นนักเขียนกับเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม จึงได้ทำงานในนิตยสาร DDT หนังสือดนตรีนอกกระแส ในคอลัมน์วิจารณ์เพลงชื่อ “สตูดิโอ้อวด” และคอลัมน์ส่วนตัวชื่อ “ดีเดย์”

โชคดีที่มองไม่เห็น?

คอมพิวเตอร์ถือเป็นสื่อที่ท้าทายมากสำหรับเขา ด้วยความกลัวและกังวลว่าจะสามารถเข้าถึงได้อย่างไรเมื่อการมองเห็นเลือนราง ซึ่งจากการที่ได้ฟื้นฟูและเรียนรู้จากสถาบันพัฒนาผู้พิการทางสายตาแห่งหนึ่ง สอนให้เขาใช้โปรแกรมต่างๆ โดยไม่ใช้เมาส์ ทุกคำสั่งใช้ผ่านแป้นพิมพ์ทั้งหมด

“คือเราก็ต้องจำว่าตรงไหน ฟ ห ก ด แต่ที่สำคัญคือต้องอาศัยโปรแกรมจอร์และตาทิพย์ในการทำงาน มันก็จะอ่านให้ฟังว่าเราพิมพ์อะไรไปบ้าง หรือในหน้าอินเทอร์เน็ต อีเมลมีอะไรเขียนไว้อย่างไรบ้าง ก็ทำมาเรื่อยๆ ต่อมา DDT มีการเปลี่ยนแปลง ทีมก็กระจัดกระจาย งานเข้าเลยทีนี้ แล้วเราจะทำอะไรในเมื่อโอกาสทางเลือกก็น้อยอยู่แล้ว”

หลังจากได้พูดคุยกันในทีมสุดท้ายเขาขออาสาทำงานด้านครีเอทีฟวิทยุในเครือเดิมประจำคลื่น 103.5 FM one เหมือนเป็นอีกโลกหนึ่งที่ต่างจากงานเขียนโดยสิ้นเชิง จนวันนี้ก็ร่วม 1 ปีแล้วในการได้ทำงานเป็นครีเอทีฟอย่างที่ฝันไว้ ภายใต้การเรียนรู้ ความช่วยเหลือและความเข้าใจ ทั้งงานและผู้ร่วมงาน

“ตอนนี้ที่ทำคือจะเกี่ยวกับเขียนสคริปต์ เกมวิทยุ คิดโปรเจกต์ เพื่อนก็มีความเข้าใจกันดี เครียดกับงานแต่ก็มีความสุข ก็เคยคิดว่าถ้าตาดีเราจะทำงานอะไร แต่ก็คิดว่าถ้าเราตาดีจะมีโอกาสอย่างนี้ไหม อาจจะไม่ได้มุ่งมั่นขนาดนี้ก็ได้ แต่ถ้าความฝันเดิมก็คงทำงานพวกออกแบบนิเทศศิลป์ครับ”

พร้อมกับบอกว่าวันนี้เขาภูมิใจในตัวเองในระดับหนึ่ง แต่มีอีกหลายสิ่งที่ยังต้องรู้ ต้องพัฒนาต่ออีกมาก ซึ่งตนเองไม่ใช่คนเก่ง แต่พยายามพัฒนาตัวเอง แสวงหาโอกาสและใช้ให้คุ้มที่สุด ซึ่งหลายคนที่มีโอกาสแต่กลับปล่อยไปก็มี

สีสันชีวิต

“ผมชอบเล่นโบว์ลิ่งมากนะ ก็ไม่ได้ถึงกับเก่งแต่มันเป็นกีฬาหนึ่งที่สามารถเล่นได้ เป็นกีฬาใหม่สำหรับคนตาบอดในประเทศไทย ส่วนตัวเริ่มมาจากไปนั่งดูเพื่อนๆ เล่น เขาชวนเล่นเราก็จะเล่นยังไงล่ะ แต่ก็พอเห็นรางๆ พินกับเลน ก็คือโยนลูกให้มันโดนล้มหมดก็พอหรือ เลยลองเล่นดู เออ! ก็โดนนี่ เล่นๆ ไปก็จับจังหวะได้ เราก็กลับมาชักชวนเพื่อนที่ตาบอดเล่นด้วย คัดตัวในระดับกีฬาแห่งชาติในกลุ่มคนตาบอด ไปแข่งกับมาเลเซียก็แพ้เขา(หัวเราะ) แต่มันก็เป็นโอกาส เป็นภารกิจตัวแทนคนไทย ตอนนี้ก็เป็นงานอดิเรกอย่างหนึ่ง”

แฮ็คยังชอบเที่ยวกับเพื่อนๆ เหมือนคนทั่วไป แต่จะมีอุปสรรคบ้างในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย จึงต้องไปกับเพื่อนที่เข้าใจกัน ช่วยเทกแคร์ช่วยเหลือในสิ่งที่ทำไม่ได้ อย่างเวลาเที่ยวกลางคืนก็จะพาเดินไปห้องน้ำ บอกทางเดิน ระวังพื้นที่ต่างระดับกันบ้าง

การพบเจอคนใหม่ๆ คือสิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างมีปัญหาอยู่บ้าง ด้วยภายนอกที่ดูเหมือนปกติทุกประการ แต่ภายในมีปัญหาเรื่องสายตา หลายคนที่ยังไม่รู้จักดีอาจมองว่าหยิ่ง เวลาทักหรือโบกมือให้ก็นิ่ง แต่พอมารู้ทีหลังว่าพิการทางสายตาก็ต้องมีอึ้งกันบ้าง เป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกันต่อไป

“เป็นแบบนี้ก็สะท้อนอีกมุมมองให้เราเหมือนกันนะ แต่ก็ไม่รู้ว่ามองแง่บวกไปไหม แต่เวลาเราเจอคนที่แสดงออกไม่เหมือนกัน บางคนก้าวร้าว หรือแบบอื่นต่างกันไป มันทำให้เรารู้สึกว่าทุกคนมันก็มีปัญหาเหมือนกันหมดแหละ แต่จะแสดงออกอย่างไรเท่านั้นเอง ก็เหมือนกับเราที่คนอาจมองว่าหยิ่งตอนแรกแต่ปัญหาข้างในเรื่องสายตาทำให้เราต้องแสดงออกให้คนเขาเห็นเขาคิดแบบนั้น”

กรอบความรัก

สำหรับแฮ็คแล้วการจะปิ๊งรักกับใครสักคนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย ในมุมมองของเขาทำให้รู้ว่าการจะรู้จักใครได้สักคน ไม่ใช่แค่การมองและอายคอนแทกต์ส่งสายตากัน

“เวลาไปเที่ยวเพื่อนเห็นสาวสวยเพื่อนก็จะ โหย..คนนั้นเจ๋งว่ะแฮ็ค เราก็เออ..ไม่รู้ว่ะ ไม่เห็นไงแต่ก็ไม่ได้คิดน้อยใจอะไร เพื่อนก็เล่าให้ฟังแค่รู้ว่าเป็นอย่างไรแต่นึกไม่ออกหรอก สำหรับผมการจะรู้จักใครสักคนจะต้องอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ในวงแคบลงมา คลุกคลี ได้ยินเสียง สัมผัส สื่อสารกัน จะเลือกจากกว้างๆ ไม่ได้เลย”

การจำกัดวงของพื้นที่และกลุ่มคนคือสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ครีเอทีฟหนุ่มได้รู้จักกลุ่มสาวๆ ได้ใกล้ชิดขึ้น ไม่สามารถปิ๊งตรงสเปกแล้วเข้าไปจีบได้เลย แต่ต้องผ่านการเรียนรู้นิสัยใจคอกันมาระดับหนึ่งก่อน กล่าวคือที่ผ่านมาส่วนใหญ่การจะมีความรักแบบคู่รักได้นั้นจะต้องผ่านความเป็นเพื่อนมาก่อนนั่นเอง

สำหรับมุมมองคำว่าแต่งงานของชายคนนี้ไม่ใช่มุมมองว่ามีเงินทองสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้เท่านั้น แต่กลับมองว่าเป็นหนึ่งในความเชื่อมั่นของคนในสังคม เป็นการบอกถึงความรับผิดชอบ บอกว่าโตขึ้นในอีกระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งเคยคิดที่จะแต่งงานมีครอบครัวเหมือนกัน แต่ตอนนี้ยังสนุกกับงาน การใช้ชีวิต รักตัวเอง รักเพื่อน แค่นี้ก็มีความสุขดี

“อยากให้ทุกคนมีฝัน เชื่อในความฝัน แสวงหาโอกาส รักษาโอกาสนั้นให้ดีที่สุด และทำให้มันเป็นจริงให้ได้”

รายงานโดย ทีมข่าว M-Lite
ภาพโดย พลภัทร วรรณดี


ประวัติ
ชื่อ-สกุล : อังกูร ทองสุนทร (แฮ็ค)
วันเกิด : 11 พฤศจิกายน 2521
การศึกษา : จบ ปวช.ด้านศิลปกรรม
วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล
มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต ครุศาสตร์ เอกการศึกษาพิเศษ
ผลงาน : สมาชิกวงดนตรีไอโอเนียน (Ionion) ในตำแหน่งนักร้องนำ
ปัจจุบันทำงานเป็นครีเอทีฟที่คลื่นวิทยุ 103.5 FM one

แอ็คกับโน้ตบุกคู่ใจ

ดวงตาที่หากไม่บอกก็ไม่รู้ว่ามองไม่เห็น

กำลังโหลดความคิดเห็น