ช้างได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ประจำชาติไทย มีความผูกพันกับประวัติศาสตร์ไทยมายาวนาน แต่คนไทยกลับให้ความสำคัญน้อยลง จนกระทั่งวันนี้ช้างไทยกลับมาโดดเด่นได้ด้วยศิลปะการวาดภาพของช้างนั่นเอง
วันนี้คุณลายทองเหรียญ มีพันธุ์ ประธานมูลนิธิพระคชบาล วังช้างอยุธยา แล เพนียด ผู้รักช้างจากใจจริงจะมาพูดคุยถึงเรื่องช้างๆ และทางเดินกว่าจะเป็นศิลปินช้างได้ต้องผ่านอะไรมาบ้าง
“สถานการณ์ช้างในปัจจุบันคือคนให้ความสนใจ มีความรักช้างแต่เหมือนบูชาไว้บนหิ้งแต่ไม่ได้รับผิดชอบดูแลเท่าใดนัก วันช้างไทยก็จะควรจะนึกถึงความเป็นบุญคุณของช้างรบ ซึ่งช้างที่รบเป็นช้างดุไม่อย่างนั้นคงไปรบให้เราไม่ได้ แต่ทุกวันนี้ช้างดุกำลังถูกยิงทิ้ง ส่วนช้างที่เชื่องก็คือช้างงาน”
คุณลายทองเหรียญเล่าให้ฟังถึงสภาพของช้างต่อสังคมไทยทุกวันนี้ และยอมรับว่าช้างจะเป็นที่สนใจขึ้นมาได้แต่ละครั้งนั้น มักจะเป็นข่าวในทางลบอย่างช้างล้ม ถูกรถชน เหยียบระเบิด เดินหากินในเมืองกรุงบ้าง
รวมทั้งกระแสความสำคัญที่ถูกลดลงไปด้วยกระแสหมีน้อยแพนด้า จนถึงกับต้องลงทุนเพนท์ตัวช้างเป็นลายแพนด้าเพื่อเรียกร้องให้คนไทยกลับมารักษ์ช้างดังเดิม หรือเพนท์เป็นลายเสือเพื่อตอบรับกระแสสังคมที่นับวันยิ่งห่างไกลออกไปทุกที
“ช้างไทยถ้าเพนท์ลายกนกไปใครจะมาดู เดี๋ยวนี้ต้องเพนท์เป็นแพนด้า ซึ่งถ้าเป็นลายกนกเราก็เพนท์ทุกที ไปออกแสดงงานมรดกโลกต้องเพนท์ทั้งตัว”
แต่ในวันนี้ช้างไทยมีความสามารถกว่าที่คิด และสามารถทำให้เป็นที่ประจักษ์รู้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติว่า ช้างไทยก็เป็นศิลปินได้เหมือนกัน
“คือเริ่มแรกเราก็ต้องหัดให้เขาใช้งวงจับพู่กัน จุ่มสี แล้วก็เอามือลากงวงไป แต่เราก็ต้องคัดช้างด้วยตั้งแต่ตอนหัดจับพู่กัน ถ้าเขาไม่วาด ตาก็จะไม่ได้มองที่พู่กัน ซึ่งช้างสามารถแยกประสาทได้อยู่แล้ว ตาอาจจะมองนกมองอย่างอื่นแต่งวงคือวาดตวัดไปได้เรื่อยๆ ถ้าเป็นอย่างนี้เราก็จะไม่สอนต่อ ก็ต้องให้เวลาศึกษาคัดเลือก เด็กบางคนอาจถูกพ่อแม่บังคับให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ตามที่เขาอยากให้ทำ แต่ช้างมีความพิเศษกว่า”
พร้อมกับบอกด้วยว่าการจะฝึกช้างให้วาดรูปได้จะต้องมีควานช้างที่มีความรู้และความสามารถทางศิลปะเพื่อมาฝึกสอนช้างด้วย ซึ่งหากช้างไม่มีสมาธิหรือไม่สนใจเรื่องการวาด เท่ากับเป็นการถูกบังคับให้วาดก็อาจจะเหนื่อยเปล่าทั้งคู่ จึงต้องมีการคัดเลือกช้างที่จะมีแววเป็นศิลปินได้
ช้างจะวาดรูปได้จะต้องมีการออกคำสั่งและสอน โดยช้างจะมีความสามารถในการขีดเขียนอยู่แล้วแต่ยังเป็นระดับของการจดบันทึกตามคำบอก อยากได้แบบไหนก็ต้องฝึกและบอกให้ทำตาม ไม่สามารถสร้างสรรค์คิดเองได้ แต่เมื่อได้สัมผัสกับงานนานในระดับหนึ่งแล้วก็สามารถเรียนรู้และสร้างสรรค์เองได้บ้างเหมือนกัน
ส่วนเรื่องของการเลือกสีนั้น แม้ว่าช้างจะไม่สามารถแยกสีด้วยโทนสีได้ แต่สามารถแยกได้ด้วยอุณหภูมิสี เห็นน้ำหนักของสีว่าความเข้มแค่ไหนคือเขียวใบไม้ หรือเป็นงานที่ควานช้างให้ฝึกวาดอยู่เป็นประจำ ช้างก็จะจดจำได้ว่าสีไหนเป็นสีของอะไรบ้าง โดยสีที่ใช้จะเป็นสีน้ำพลาสติกหรือเป็นสีน้ำมันตามแต่ออเดอร์งาน
“ช้างที่จะมาเพนท์สีได้จะต้องฉลาดที่สุด มีความร่วมมือสูงสุด น่ารักที่สุด สมองปราดเปรื่องที่สุด ช้างที่วาดรูปก็เช่นเดียวกัน เขาเป็น 1 ใน 100 เป็น 1 ใน 1,000 การดูแลเขา ควานก็ต้องชั้น 1 เช่นกัน เราต้องดูแลเขาอย่างดีที่สุด”
ความสามารถของช้างไทยนับว่าเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ช้างจะสามารถหารายได้เลี้ยงตัวเอง ซึ่งผู้ที่สนใจภาพวาดของช้างส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติมากกว่าชาวไทย บางภาพราคาสูงถึง 5,000 บาท แต่ก็ขายได้ในจำนวนน้อยต่อเดือน
สุดท้ายอาจได้แต่หวังว่าคนไทยจะหันกลับมามอง สนใจสัตว์ประจำชาติดังเดิม ไม่ได้ให้อยู่แต่บนหิ้งหรือให้ความสำคัญแต่เพียงลมปากเท่านั้น
รายงานโดย ทีมข่าว M-Lite